ปกิณณกธรรม ตอนที่ 299


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๙๙

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

    พ.ศ. ๒๕๔๓


    ผู้ฟัง แต่คำถามที่จะลึกลงไป ถ้าสติปัฏฐานเกิด รู้สภาพตามความเป็นจริง แต่ในขณะนั้นก็หมายความว่า ต้องละความไม่ดีไปด้วย หรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ละความไม่รู้

    ผู้ฟัง ละความไม่รู้ไปหมดเลย

    ท่านอาจารย์ ไม่หมด ค่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย อย่าเพิ่งใจร้อน ใจเร็ว ถ้าเราอ่านพระไตรปิฎก แล้วเราก็เห็นว่าบางท่านเพียงได้ฟัง ท่านก็เป็นพระโสดาบัน หรือพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี เป็นพระอรหันต์ เราก็คงคิดว่า ไม่ยาก แค่ฟังดีๆ ก็คงจะเป็นได้ แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้นเลย การที่จะไถ่ถอนเยื่อใยความเป็นเราออกจากสภาพธรรม ซึ่งเป็นเรามานานแสนนาน เช่นเห็น กำลังเห็น เป็นเราเห็น ถ้าไม่มีปัญญาที่รู้ชัดรู้จริงในลักษณะของสภาพธรรม ไม่สามารถที่จะละความเป็นเราเห็นได้ ก็ยังคงเป็นเราเห็น ไม่ใช่เป็นธาตุรู้ชนิดหนึ่งซึ่งสามารถที่จะเห็น คือ รู้ว่าที่กำลังปรากฏในขณะนี้มีลักษณะอย่างนี้เพราะเห็นอย่างนี้ จึงรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏได้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้เป็นอย่างนี้

    นี่คือการที่จะค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ อบรม แล้วก็ปัญญาจะเกิดไม่เร็ว แต่สำหรับผู้ที่อบรมเจริญปัญญามามาก จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่เพียงความรู้ว่าเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ยังต้องสะสมปัญญาที่จะเห็นโทษ เห็นภัย สามารถที่จะละ สละ ความเป็นเรา จากเห็นที่กำลังเห็นในขณะนี้ได้ เมื่อถึงกาลเวลาที่ผู้นั้น ได้อบรมปัญญาพร้อมที่สามารถจะสละได้ แต่ถ้ายังไม่อบรมเจริญปัญญาพอ ไม่สามารถที่จะรู้ในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม วิปัสสนาญาณไม่เกิด แล้วจะให้ไปเป็นพระอริยบุคคล ก็เป็นไม่ได้

    ผู้ฟัง สติ และปัญญา รู้สึกที่ผ่านๆ มันจะไปรู้เรื่องสมมติบัญญัติ สติไม่ระลึกไปถึงปรมัตถ์ไประลึกตัวอะไรอยู่ ตัวสัญญา พอตัวสัญญา ตัวมานะ ตัวทิฏฐิ อย่างนี้เป็นต้น เป็นเพราะว่า เราไปยึดว่าเป็นตัวเรา ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ลักษณะของสัญญา หรือ นึกถึงชื่อ นึกถึงเรื่อง

    ผู้ฟัง นึกถึงชื่อ บางครั้งก็ไม่ต้องพูดออกมา มันนึกอยู่ในจิต คิดนึกอยู่ในจิตนึก

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นปัญหา เพราะว่าโดยมากฟังเรื่องของสติปัฏฐาน ทุกคนก็คอยว่าเมื่อไรสติปัฏฐานจะเกิด ซึ่งความจริงไม่ใช่เป็นเรื่องคอย โลภะอยู่ตรงนั้น

    ถ้าศึกษาเรื่องของอริยสัจ ๔ ต้องทราบว่า โลภะเป็นสมุทัยที่จะทำให้เกิดสังสารวัฏ ไม่รู้จบสิ้น ตราบใดที่ยังไม่เห็นโลภะ แล้วก็ยังไม่ละโลภะ เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องละเอียด ที่ต้องทราบว่า ไม่ใช่ว่าเราอยากให้เป็นอย่างนั้น เราอยากให้เราดี เราอยากให้เราไม่มีอกุศลใดๆ เลย นั่นคือความเป็นตัวตนซึ่งเหนียวแน่น แล้วก็ลึกมาก ไม่ว่าจะต้องการสิ่งที่ดี คือเพื่อตัวเอง ก็ยังมีความเป็นตัวเราอยู่ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่การสละละความเป็นตัวเราได้ จนกว่าจะได้ฟังพระธรรม แล้วมีความเข้าใจจริงๆ ในเรื่องของสภาพธรรมซึ่งเป็น อนัตตา

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เราไปรอไปคอยว่า เมื่อไรสติปัฏฐานจะเกิด คนที่ตาบอดหรือมองไม่เห็น ก็คอยว่า เมื่อไรจะมองเห็น ก็นั่งคอยไป ก็ไม่มีเหตุปัจจัยที่จะให้เห็น จนกว่าจะมีปัจจัยที่จะทำให้เห็น คือรักษาตา แล้วก็สามารถที่จะมีปสาทที่จะทำให้จิตเห็น เกิดขึ้นได้ จิตเห็นจึงจะเกิดได้

    ทุกอย่างตามเหตุตามปัจจัย ขณะใดที่สติปัฏฐานไม่เกิด ก็ทราบได้ว่า เป็นความจริง ยังไม่มีปัจจัยที่สติปัฏฐานจะเกิด แล้วจะให้สติปัฏฐานเกิดได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ไปฝืน ไปเร่ง ไปพยายามที่จะบังคับให้สติปัฏฐานเกิด แต่ว่ารู้ได้ว่า ที่สติปัฏฐานไม่เกิด เพราะว่าความเข้าใจในสภาพธรรม ยังไม่พอ ยังไม่เป็นสัญญาที่มั่นคง ว่าขณะนี้ทุกอย่างเป็นธรรม สติสามารถจะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ เพราะฉะนั้น ก็จะไม่มีความสนใจด้วยความเป็นเราที่พยายามจะหาวิถีทางทุกอย่าง ที่จะไปเร่งให้สติปัฏฐานเกิด เหมือนอย่างกับชาวนาที่จะปลูกข้าว พยายามที่จะเร่งใส่ปุ๋ยใส่น้ำ ในที่สุดก็ตาย เพราะว่าไม่ใช่การที่จะปลูกข้าวจริงๆ ที่จะไปทำโดยวิธีนั้น เรื่องของปัญญาก็เช่นเดียวกัน ไม่มีใครไปเร่งปัญญาได้ว่า ให้สติปัฏฐานเกิด ให้ระลึก ให้ศึกษา ให้มีความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมเร็วๆ แต่ว่าเป็นการที่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นโลภะ เป็นความต้องการซึ่งกั้น ถ้ายังคงมีความต้องการอย่างนี้ สติปัฏฐานก็ไม่เกิด แล้วก็ยังมีบางคนซึ่งก็หลงกล แล้วแต่ว่าโลภะจะให้ทำอะไร ก็ทำทุกอย่าง เพื่อที่จะให้สติปัฏฐานเกิด แต่ขณะนั้นไม่ใช่เป็นการอบรมปัญญาให้เข้าใจ ให้รู้ในลักษณะของสภาพธรรม แม้การฟังเพียงวันละเล็ก วันละน้อย แต่ฟังด้วยความเข้าใจจริงๆ เวลาสติปัฏฐานเกิด ก็ไม่ต้องไปตื่นเต้นยินดีว่า สติปัฏฐานเกิดแล้ว แต่ว่าจะห้ามก็ไม่ได้ เพราะบางคนบอกว่า เขาตื่นเต้น เขายินดีที่สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า ตัวตนยังมากแค่ไหน เพียงสติปัฏฐานเกิดครั้งหนึ่ง นิดๆ หน่อยๆ ก็ดีใจ ใครดีใจ ดีใจทำไม ดีใจเรื่องอะไร ในเมื่อสภาพธรรมมีปัจจัยก็เกิด แล้วก็ดับไป

    ถ้ามีใจเด็ดเดี่ยวมั่นคงที่จะเข้าใจธรรมว่า เป็นธรรม แล้วเป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ชีวิตก็จะเป็นไปตามปัจจัย แล้วก็ปัญญาสามารถที่จะรู้การสะสมของปัจจัยของแต่ละคนได้ตามความเป็นจริง มิฉะนั้นความเป็นตัวตนหรือความต้องการก็จะไปบังคับ ไปเบี่ยงเบน ไปพยายามทำอย่างอื่น ซึ่งไม่สามารถที่จะรู้ปัจจัย ตามปกติในชีวิตประจำวันซึ่งเป็นความจริง

    ก็ต้องเป็นผู้ที่อดทน ใจเย็น ไม่ใช่แบบที่ว่า ทอดทิ้งธุระ แต่หมายความว่า เป็นผู้ที่รู้เหตุปัจจัยจริงๆ ว่า ต้องมีความรู้ ความเข้าใจเพิ่มขึ้น แล้วถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้อง สติก็เกิด แล้วเวลาที่สติเกิด ก็จะรู้ว่า ขณะที่หลงลืมสติต่างกับขณะที่สติเกิด แล้วก็จะรู้ว่า เมื่อเวลาที่สติเกิดเพียงเล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ ยังไม่รู้ชัดถึงความต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม แต่ลักษณะของธรรมปรากฏกับสติ เวลาที่สติเกิด สติระลึกที่ลักษณะนั้น แล้วค่อยๆ อบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อยโดยที่ว่า ไม่หลงกลโลภะ

    ผู้ฟัง สติ และปัญญา แม้กระทั่งกุศลหรืออกุศลที่มันเบาบาง ก็ยังรู้ไม่ค่อยมันไม่ค่อยชัด

    ท่านอาจารย์ อกุศลวันหนึ่งๆ แต่ก่อนนี้มาก แล้วก็ไม่เคยเห็นเลย แต่เวลาฟังธรรม เริ่มค่อยๆ เห็น มานะก็ค่อยๆ รู้ โลภะก็ก็ค่อยๆ รู้ อวิชชาก็ค่อยๆ รู้ ว่ามีจริงๆ ขณะไหนบ้าง นี่ก็เป็นผลของการฟัง การเข้าใจธรรม รู้ขึ้นใช่ไหม จากการฟัง

    ผู้ฟัง ก็เข้าใจขึ้น แต่รู้เข้าใจ แต่มันรู้สึกว่า ใจร้อนไปหน่อย

    ท่านอาจารย์ ตอนที่พระผู้มีพระภาคทรงได้รับคำพยากรณ์จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ทีปังกร คนที่ได้ยินได้ฟัง ดีใจว่า ถ้าเขาไม่สามารถรู้อริยสัจธรรมในสมัยของพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า เขายังมีโอกาสที่จะได้ฟังธรรมจากท่านสุเมธดาบสซึ่ง จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า โคดม หรือ โคตมะ ซึ่งระหว่างนั้นต้องพบพระผู้มีพระภาคอีก ๒๔ พระองค์ รวมทั้งพระทีปังกรด้วย เป็นเวลาที่นานเท่าไร แต่เขาก็ไม่ได้เดือดร้อน แล้วเขาก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ถ้าอบรมจริงๆ อยู่ที่ว่าเราอบรมปัญญาด้วยการที่ว่า เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ได้ยินได้ฟังก่อน เมื่อใดที่มีปัจจัยที่สติปัฏฐานจะเกิดระลึก เพราะเข้าใจถูกในสภาพธรรม เพราะฉะนั้น สติ เป็นสัมมาสติที่ระลึกไม่ผิด เพราะว่าระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วก็ปัญญาจะค่อยๆ น้อมไปที่จะรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมทีละเล็กทีละน้อยเพิ่มขึ้น จนกว่าจะถึงความสมบูรณ์ ประจักษ์แจ้งในธาตุของนามธรรม และรูปธรรม ซึ่งไม่ใช่ตัวตน แต่ว่าเป็นธาตุต่างๆ

    ผู้ฟัง ทำอย่างไรถึงจะไม่ต้องคิดว่าจะต้องปฏิบัติ ฟังอย่างไร ท่านอาจารย์จะเน้นย้ำตรงนี้อีกครั้ง เพราะว่าผู้ฟังก็อาจจะเปลี่ยนไปบ้าง

    ท่านอาจารย์ บางคนจะคิดถึงแต่เรื่องปฏิบัติ เพราะว่าเป็นยุคปฏิบัติ ไปที่ไหนบางคนก็คิดว่า ไปปฏิบัติ แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าเราศึกษาโดยละเอียด เราก็จะทราบได้ว่าจริงๆ แล้วเป็นเรื่องของปัญญา ซึ่งปัญญาจะเกิดขึ้นโดยการไปทำ โดยที่ว่าไม่มีความเข้าใจอะไรเลย เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    การศึกษา หรือว่าการที่จะเกิดความรู้ความเข้าใจก็ต้องเป็นไปตามลำดับ ไม่ว่าวิชาการใดๆ ทั้งสิ้น ต้องเป็นไปตามลำดับจริงๆ ในเรื่องของธรรมก็เช่นเดียวกัน เพียงได้ฟังว่า ทุกอย่างเป็นธรรม มีความเข้าใจนิดหนึ่ง ขณะนี้ว่าทุกอย่างไม่เว้น สิ่งใดก็ตามที่มีจริงๆ ที่ปรากฏ ขณะนี้ที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังคิดนึก สุขทุกข์ต่างๆ ทั้งหมดเป็นธรรม ก็มีความเข้าใจคำว่า ธรรมซึ่งเป็นธาตุ แล้วก็เข้าใจว่า พระธรรมที่ทรงแสดง คือ การตรัสรู้ความจริงของธรรม ทั้งหมดว่า เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา

    นี่คือผู้ที่ได้อบรมเจริญปัญญาจนรู้จริงๆ อย่างนี้ แต่สำหรับผู้ที่เริ่มฟังจะให้รู้จริงๆ อย่างนี้ทันที เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะเราไม่เคยชินกับการที่จะเข้าใจสภาพธรรม เพราะเราไม่ได้อบรมปัญญาที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยตนเอง ต้องอาศัยการฟังจากผู้ที่ได้ตรัสรู้แล้ว เมื่อได้ทรงแสดงธรรมโดยละเอียดจริงๆ ก็เริ่มจะเห็นว่า พระไตรปิฎกทั้ง ๓ ปิฎก คือ ทั้งพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก ทรงแสดง ทรงบัญญัติ โดยพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยพระปัญญาที่ทรงบำเพ็ญจนกระทั่งตรัสรู้ แต่ไม่ใช่ว่า ให้เราไปรู้หมดตามนั้นทุกอย่าง เมื่อฟังเราก็ต้องมีการไตร่ตรองพิจารณาว่า เราจะรู้อะไรได้ แค่ไหน ตั้งแต่ขั้นการฟัง เพียงเริ่มฟัง ก็ต้องรู้ว่า ปัญญาของเราจะไม่ไปรู้ปัญจทวาราวัชชนจิต หรือจักขุวิญญาณจิต สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต ชวนจิต แต่ทรงแสดงโดยใคร โดยผู้ที่ทรงตรัสรู้อย่างนี้

    เราก็สามารถที่จะเข้าใจตัวเองได้ว่า ขณะที่ฟัง ปัญญาของเราเพียงเริ่มได้ยินได้ฟังสิ่งซึ่งไม่เคยได้ยินได้ฟังมาจากผู้อื่นเลย ไม่ว่าจะเป็นนักปราชญ์ นักจิตวิทยา ก็จะไม่แสดงเรื่องของจิต เจตสิก รูป โดยละเอียด ทั้งๆ ที่สภาพธรรมเหล่านี้ มี เกิดขึ้นปรากฏก่อนการตรัสรู้ แต่ก็ไม่มีผู้ใดจะรู้ได้ว่าเป็นธรรม จนกว่าจะมีผู้ตรัสรู้แล้วทรงแสดง

    เวลาที่ศึกษาธรรมให้รู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า ปัญญาของเราระดับไหน ตั้งแต่เริ่มฟัง แล้วหลังจากที่ฟังแล้วเป็นปีๆ ปัญญาความรู้ความเข้าใจของเราเพิ่มขึ้น โดยสามารถที่จะเข้าใจเรื่องที่ได้ยินได้ฟัง หรือว่าเริ่มที่จะรู้ว่า ขณะนี้เดี๋ยวนี้เป็นธรรมจริงๆ หลังจากที่ฟังมานานแล้ว ก็หลงลืมไปบ้าง แล้วอ่านตำรับตำราบ้างว่า ขณะที่จะระลึกได้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นธรรม เสียงที่ได้ยินเป็นธรรม สภาพที่กำลังได้ยินเป็นธรรม ทุกอย่างเป็นธรรมแต่ละอย่าง

    เมื่อได้ยินได้ฟังสิ่งใดตั้งแต่ต้น ไม่ลืมที่จะต้องประกอบกันด้วย เช่น ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ก็จะทำให้เราไม่ไปฝืน หรือไปพากเพียร หรือว่าไปเร่งที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม หรือให้วิปัสสนาญาณเกิดภายใน ๖ เดือน ภายใน ๑ ปี หรือว่าภายในชาตินี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปด้วยความหวัง แต่ความหวังอย่างนั้นไม่ใช่ปัญญา ไม่ใช่เป็นการรู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพที่กำลังปรากฏ ซึ่งขณะนี้พิสูจน์ความรู้ของเราได้ ว่าเมื่อได้ยินได้ฟังว่า ทุกอย่างเป็นธรรม เป็นความเข้าใจขั้นฟัง เพราะว่าสติยังไม่เกิด ยังไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ จนกระทั่งรู้ว่าเป็นธรรม

    การฟังก็ฟังด้วยความอดทน ด้วยการที่ว่าไม่คิดว่าจะปฏิบัติ แต่ว่าเป็นการอบรมความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น แล้วก็ไม่ว่าเรียนเรื่องอะไร ก็ให้เข้าใจจริงๆ เช่น สังขารขันธ์ ได้แก่ เจตสิก ๕๐ เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ เวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์ เป็นสภาพความรู้สึกซึ่งเกิดกับจิตทุกขณะ สัญญาเจตสิกเป็นสภาพจำ เป็นสัญญาขันธ์ เกิดกับจิตทุกขณะเหมือนกัน ส่วนเจตสิกอื่นๆ ทั้งหมด แม้สติ และปัญญาก็เป็นสังขารขันธ์ ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ก็จะไม่มีเราที่ไปทำ แต่รู้ว่า ขณะนี้เองธรรมเกิดแล้วปรากฏ เพราะมีปัจจัยที่จะให้เกิดขึ้น มีสังขารขันธ์ปรุงแต่งที่จะเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลต่างๆ ก็ทำให้เราคลายความคิดที่ว่า จะไปทำ หรือว่าจะไปต้องการอะไร แล้วก็จะมีความเข้าใจธรรมละเอียดขึ้น การเข้าใจธรรมละเอียดขึ้น จะช่วยทำให้มีสัญญาความจำที่มั่นคงในความเป็น อนัตตาของธรรม ซึ่งจะทำให้มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่มาก ทีละเล็กทีละน้อย แต่ก็รู้ว่า นี่เป็นหนทาง เพราะว่าแม้สภาพธรรมมี แต่ถ้าสติไม่ระลึก ปัญญาก็ไม่สามารถจะรู้ความเป็นธรรม ของสภาพที่เป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรมได้ ก็ต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ สนทนา ค่อยๆ พิจารณาไป แล้วศึกษาความละเอียดของของธรรมที่ปรากฏในพระไตรปิฎก แม้ใน อัจฉริยสูตร และอรรถกถา ก็เป็นเรื่องที่พิจารณาได้ว่า เป็นเรื่องที่ต้องอบรมเจริญปัญญาเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง สภาพธรรมที่เห็นได้ยากเพราะลุ่มลึก กับ สภาพธรรมที่ลุ่มลึก จึงเห็นได้ยาก

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมเห็นได้ยากเพราะลุ่มลึก คือ ขณะนี้สภาพธรรมมีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับ เห็นยากไหม กำลังเกิดดับในขณะนี้ เพราะความลุ่มลึก จึงเห็นยากว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ เป็นธรรมที่ไม่ใช่เรา แล้วยังมีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับด้วย นี่คือความจริง ซึ่งเพียงฟังก็พอจะค่อยๆ ไตร่ตรองรู้ว่าเป็นจริงอย่างนั้น เห็นไม่ใช่ได้ยิน แล้วจะพร้อมกันไม่ได้ด้วย เพราะฉะนั้น สภาพธรรมหนึ่งเกิดแล้วก็ดับ สภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้นแล้วก็ดับ นี้คือความที่ลุ่มลึก จึงเห็นยาก ว่าสภาพธรรมจริงๆ คือ ไม่มีเรา แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะให้ธรรมชนิดใดเกิด ธรรมชนิดนั้นก็เกิดแล้วก็ดับด้วย

    ส่วนธรรมที่เห็นยากเพราะลุ่มลึก คือ นิโรธสัจกับมรรคสัจ นิโรธสัจจะ คือลักษณะของพระนิพพานซึ่งตรงกันข้ามกับสภาพธรรมที่เกิดดับ เพราะฉะนั้น ก็ยิ่งเห็นยากแน่นอน เพราะความลุ่มลึก ไม่ใช่สิ่งที่มี แล้วก็ลุ่มลึก แล้วเราก็เห็นไม่ได้ ส่วนมรรค คือหนทางที่จะอบรมเจริญปัญญาก็เช่นเดียวกัน ฟังดูเหมือนง่าย เป็นหนทางละ แต่หนทางละ จะรู้เมื่อไร ถ้าปัญญาไม่เกิด ก็ตามโลภะไปตลอดในสังสารวัฏ ไม่ว่าจะอยากที่จะเป็นอะไร จะเป็นคนดี เพราะความยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน อยากจะเป็นรูปพรหมบุคคลในรูปพรหมภูมิ เพราะโลภะมีความต้องการที่จะให้เป็นอย่างนั้น เพราะไม่รู้ความจริงว่า สภาพธรรมเกิดแล้วก็ดับไป

    การที่จะเห็นจริงๆ ว่าหนทางไม่ใช่ตามโลภะไป แต่ว่าทวนกระแสของการที่เคยต้องการทั้งหมด ถ้าเป็นผู้ที่ยังอยู่ในกามภูมิ ซึ่งเป็นไปด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ออกจากความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะไม่ได้ ใครที่บอกว่าออกได้ ไม่จริง คนนั้นยังไม่รู้ว่า ติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะมากมายสักแค่ไหน

    แต่ว่าสามารถที่จะอบรมเจริญความเห็นถูกต้อง ในลักษณะของความติดข้อง ในลักษณะของธรรมทุกอย่าง จนกระทั่งประจักษ์ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่เป็นการให้ไปทำ แต่ว่าปัญญาจะเกิดได้ตามลำดับ โดยขั้นการฟัง แล้วก็พิจารณาไตร่ตรอง จนกระทั่งสามารถที่จะเป็นปัจจัยให้มีการระลึกได้ ตรงตามที่ได้ฟัง แล้วก็อบรมความรู้ลักษณะของสภาพธรรมตัวจริงๆ ซึ่งกำลังเกิดดับทำหน้าที่ของแต่ละสภาพธรรมในขณะนี้ จนกว่าจะประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน ซึ่งเป็นการรู้ที่สมบูรณ์ทั้ง ๔ อริยสัจ

    นี่เป็นสิ่งที่เห็นยากว่า นี่เป็นหนทาง เพราะว่าบางคนคิดว่า นี่เป็นหนทางหรือ เหมือนกับว่าไม่ใช่หนทาง ใช่ไหม ต้องไปทำอะไรขึ้นมารู้ นั่นก็แสดงว่า คนนั้นไม่สามารถที่จะเห็นได้จริงๆ ว่า อะไรปิดกั้นปัญญาไม่ให้เห็นสภาพธรรมขณะนี้ตามความเป็นจริง อวิชชา ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม และความติดข้อง ความต้องการ ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏเป็นเครื่องกั้นไม่ให้ปัญญาเจริญขึ้น

    ถ้ายังมีการต้องการผล ต้องการทำ ขณะนั้นก็เป็นการปิดกั้น ไม่ให้ปัญญาสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะว่าถ้ามีความต้องการเกิดขึ้น ต้องการจะทำ ขณะนี้สภาพธรรม เกิดแล้วปรากฏแล้วตามปกติ ตามเหตุตามปัจจัย แต่เมื่อไม่มีการระลึก ไม่มีการรู้ การเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งเกิดดับอย่างเร็วมาก แต่หวังที่จะไปทำอย่างอื่น ก็เป็นการที่จะปิดกั้นไม่ให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริงได้

    เป็นเรื่องที่ละเอียด แล้วก็ค่อยๆ พิจารณาดูว่า ถ้าเป็นหนทางที่ถูกต้องคือสามารถ ที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ถูกต้องทีละเล็กทีละน้อย

    ผู้ฟัง มีชาวบ้านมากมายที่ดิฉันต้องออกไปพบปะอยู่เรื่อยๆ ดิฉันอยากช่วยเขา แต่ไม่สามารถจะทำได้เลย เพราะเขายังยึดสิ่งเหล่านี้อยู่มากเลย

    ท่านอาจารย์ ความจริงการคิดที่จะช่วยคนอื่น ทุกคนก็มีมากบ้างน้อยบ้าง ลองคิดถึงผู้ที่จะบำเพ็ญพระบารมีเพื่อที่จะตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องมีความคิดนี้ คือต้องมีความคิดว่าทำอย่างไร จะช่วยผู้อื่นให้สามารถที่จะรู้ธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว ไม่ใช่เป็นแต่เพียงพระปัจเจกพุทธเจ้า หรือว่าเป็นพระสาวกเท่านั้น

    จะเห็นได้ว่า ความคิดของแต่ละคน ในทางที่ต้องการจะช่วยเหลือคนอื่นมี แต่ว่าจะช่วยได้แค่ไหน แม้แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ทรงอนุเคราะห์ผู้ที่ได้สะสมปัญญามาแล้วในอดีตทั้งนั้นเลย ที่จะทำให้บุคคลเหล่านั้นสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม แล้วสำหรับผู้ที่มีความเห็นผิดซึ่งสะสมมามาก ก็ไม่เคยแม้แต่จะไปเฝ้าเพื่อที่จะฟังธรรม ในอดีตฉันใด ปัจจุบัน และในอนาคตก็ฉันนั้น เรามีความเมตตา มีความเป็นมิตร มีความหวังดี แต่ที่จะกระทำได้คือว่า เมื่อผู้ใดต้องการฟัง ต้องการเข้าใจ เราก็สามารถที่จะช่วยเหลือได้ ทั้งในเรื่องของหนังสือ หรือว่าในการสนทนา หรือว่าการพูดคุยกัน หรือการแสดงธรรมในที่ต่างๆ นั่นก็เป็นทางที่จะช่วยให้ผู้ที่สะสมมาที่จะเข้าใจได้ แต่ถ้าเขาไม่ได้สะสมมาเลย ก็ไม่มีใครสามารถจะบันดาลให้เขาได้มาฟังธรรม หรือว่าได้พิจาณาได้ถูกต้อง เพราะการฟังธรรม เราก็ทราบว่า การศึกษาธรรม หรือการฟังธรรมโดยผิวเผิน โดยไม่รอบคอบ บุคคลนั้นก็จะไม่ได้รับความถูกต้องในธรรมเลย แต่ว่าจะมีความเข้าใจผิด มีการปฏิบัติผิด สิ่งที่ทำอยู่ไม่ตรงตามที่ได้ทรงแสดงไว้

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 97
    23 มี.ค. 2567