ปกิณณกธรรม ตอนที่ 286


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๘๖

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

    พ.ศ. ๒๕๔๐


    ผู้ฟัง ดิฉันอ่านหนังสือของอาจารย์ด้วย อยากจะทราบว่าเราจะปฏิบัติตนอย่างไร เวลาอยู่กับ บ้าน อยู่กับชีวิตประจำวัน ที่จะให้เราได้เดินทางเข้าสู่วิปัสสนา

    ท่านอาจารย์ คุณวีระยุทธ์ก็เปลี่ยนแปลงภายในหนึ่งเดือน โดยยังไม่ได้ไปสำนักไหนเลย แต่เพราะเข้าใจธรรม เข้าใจเรื่องกรรม ผลของกรรม ก็ทำให้รักษาศีล ๕ แล้วก็ไม่ทำอกุศลกรรม

    ผู้ฟัง ดิฉันเคยไปปฏิบัติที่สำนักวิปัสสนาก็ได้ความรู้ว่า ให้เรารู้ตัวอยู่ตลอดเวลาว่า เราจะเดิน จะนั่ง จะยืน จะนอน อะไรอย่างนี้ จะใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้กำลัง เห็น มีจริงๆ แล้วก็ดับ ถ้าปัญญาเข้าใจถูก ก็ละการยึดถือว่าเป็นตัวเราที่เห็น แต่ตราบใดที่ยังไม่ได้เข้าใจถูกต้องอย่างนี้ ทุกครั้งที่เห็นก็ยังเป็นเรา ทุกครั้งที่คิดก็ยังเป็นเรา ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็เป็นเรา ก็เป็นเราไปตลอด ไม่สามารถที่จะหมดการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเราได้ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา แต่เป็นความต้องการที่จะรู้ที่จะเห็น แต่ว่าไม่รู้ว่า ปัญญารู้อะไร ถ้ารู้ว่าปัญญารู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ก็ฟังจนกระทั่งเข้าใจ แล้วปัญญาจะค่อยๆ เจริญขึ้น ทำหน้าที่ของปัญญา เหมือนกับขณะนี้จิตกับเจตสิกก็ทำหน้าที่ของจิต เจตสิก เจตสิกทุกชนิดมากมายกำลังเกิดขึ้น แต่เราไม่รู้ ไม่รู้เลยก็เป็นเรา แต่ถ้ารู้ก็เป็นเจตสิกไม่ใช่เรา เป็นจิตไม่ใช่เรา แม้แต่ความรู้สึกก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เรา คือทุกอย่างในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เราทั้งนั้น ต้องค่อยๆ เข้าใจ จะเข้าใจดีหรือว่าจะไปทำดีกว่า

    ผู้ฟัง ทั้งเข้าใจ และอยากทำ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจแแล้วจะไม่ทำ มีแต่เข้าใจขึ้นๆ แล้ว ละความคิดที่จะทำ เพราะว่าไม่มีเราอีกเลยที่จะทำ ยิ่งเข้าใจก็ยิ่งไม่มีเรา เมื่อไม่มีเราก็ไม่มีความคิดที่จะทำ เพราะว่าเข้าใจจริงๆ

    ผู้ฟัง ขณะนี้ยังไม่ค่อยเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ก็ฟังต่อไป

    ผู้ฟัง เป็นเพราะว่า เพิ่งจะมาเป็นครั้งแรกก็ได้

    ท่านอาจารย์ มีหลายท่านที่ฟังมาแล้ว ๒๐ - ๓๐ ปี ก็ยังคงฟังต่อๆ ไปอีก

    คำว่า ไม่พัก ไม่เพียร ถ้าเราจะฟังเผินๆ แล้วคิดว่าเข้าใจแล้วๆ แต่ว่าถ้าเราจะพิจารณา จากชึวิตของเราตามความเป็นจริง ในขณะนี้ กำลังพักหรือเปล่า ที่กำลังฟังธรรม ไม่ได้พัก เพราะว่าถ้าพัก คือ จม ไม่สนใจเลย เป็นอนัตตา บางคนบอกว่า ไม่ต้องทำอะไร เพราะเป็นอนัตตา สรุปไปเลย หมายความว่าไม่มีการที่จะพัฒนา ไม่มีการอบรม ไม่มีการที่จะทำสิ่งใดทั้งสิ้น แต่ต้องฟังธรรมด้วยความละเอียดจริงๆ ไม่พัก เพราะว่าถ้าพักก็คือจม ไปเที่ยวเพลิดเพลินสนุกสนาน แต่ว่าขณะนี้ทุกคนอยู่ที่นี่ คงจะไม่ทราบว่าทั้งหมดเป็นจิต และเจตสิกทั้งนั้น เป็นเจตสิกที่เป็นโสภณเจตสิกเวลาที่กุศลจิตเกิด ไม่ได้พัก แต่ว่าไม่ได้เพียรด้วย เพราะเหตุว่าถ้าเพียรก็นั่งทำอะไรในห้อง จดจ้องดูโน้นดูนี้ อยากจะประจักษ์การเกิดดับของนามรูปซึ่งเป็นหนทางที่ผิด แต่ว่าด้วยปัญญาที่เห็นชอบตามความเป็นจริง มีความมั่นคงในสัจธรรม เมื่อธรรมเป็นอย่างไร พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ ทรงแสดงอย่างนั้น เราก็ต้องฟังด้วยดี ว่าธรรมเป็นธรรม เมื่อเป็นธรรม ก็ไม่ใช่ใครทั้งหมด ไม่ใช่ของใครด้วย เหมือนกับธาตุแต่ละชนิด ซึ่งมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป แล้วสิ่งที่เกิดแล้วดับ จะเป็นของใคร ไม่สามารถจะเป็นของใครได้เลย เพราะสิ่งที่ดับ ดับเลย ไม่กลับมาอีก ทุกรูปตั้งแต่เกิด จนกระทั่งถึงเมื่อกี้นี้เอง ที่ดับก็ดับไปเลย แล้วก็มีเหตุปัจจัย แล้วแต่ว่ารูปนั้นจะเกิดเพราะกรรม หรือว่ารูปนั้นจะเกิดเพราะจิต รูปนั้นจะเกิดขึ้นเพราะอุตุ หรือว่ารูปนั้นจะเกิดขึ้นเพราะอาหาร แม้แต่รูปก็มีปัจจัยที่จะให้เกิดขึ้น นามธรรม ทั้งจิต เจตสิก ก็ต้องเกิดเพราะมีเหตุปัจจัย

    เรื่องที่ฟัง ธรรมเป็นธรรม เป็นอนัตตา ต้องไม่ลืมแล้วก็ต้องเข้าใจว่าการที่มีปัญญารู้อย่างนี้ ทำให้ไม่ไปเพียรทำอย่างอื่น ที่ไม่ใช่การอบรม ความรู้ความเข้าใจถูกในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จึงเป็น มัชฌิมาปฏิปทา

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นก็กล่าวได้ว่าต้องใช้เวลา เราต้องไม่คิดถึงเรื่องเวลาเลย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะถ้าคิดถึง เราเกิดมาแล้วแสนโกฏิกัปป์ อวิชชาด้วย กิเลสทั้งหลายด้วย หนาแน่น ฉาบทา ไม่ให้สามารถที่จะเห็นความจริงของสภาพธรรม ต้องอาศัยพระปัญญาที่ทรงตรัสรู้ระดับขั้นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงสามารถที่จะตรัสรู้สภาพธรรมในขณะนี้ แล้วทรงแสดงความจริงของธรรมว่าเป็นธรรม เป็นธรรมเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับ ทรงเทศนามากมายตลอด ๔๕ พรรษาเพื่อให้เราที่ฟังวันนี้ เท่าไร ๔ วัน ๒ ครั้ง ๓ เดือน ไม่พอเลยที่จะเข้าใจความลึกซึ้งของธรรม

    เพราะฉะนั้น ก็ไม่ต้องไปทำอะไรทั้งหมดโดยไม่เกิดปัญญา โดยไม่เข้าใจธรรม แต่ว่าเมื่อค่อยๆ เข้าใจธรรมขึ้น ก็จะไม่ไปทำอะไร เพราะรู้ว่าขณะนี้เป็นสภาพธรรมที่เกิดตามปัจจัย

    ผู้ฟัง จะขอถามอีกเรื่องว่า เรื่องของการวิรัติทุจริต มีการวิรัติทุจริตของพระโสดาบันกับปุถุชน มีความแตกต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ต้องต่างกันแน่นอน เพราะว่าปุถุชนวิรัติเพราะยังเป็นเรา

    ถ.. หมายความว่าเวลาที่เราบอกว่า เรากลัวกรรมตามสนอง เราก็เลยไม่ทำ บาป อันนั้นก็ยังผิดอยู่ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ยังเป็นตัวตนอยู่ ยังไม่หมดความเป็นเรา เราดี เราถือศีล เรามีปัญญา คือทั้งหมดเป็นเราไปหมด ตราบใดที่ไม่ใช่พระโสดาบัน ไม่ใช่พระอริยบุคคล ยังไม่เห็นธรรมตามความเป็นจริงของธรรม ต่อเมื่อใดที่เห็นธรรมตามความเป็นจริงของธรรม ก็รู้ตัวเองตามความเป็นจริง อย่างพระโสดาบันท่านไม่ได้เข้าใจผิดว่าท่านเป็นพระสกทาคามี พระอนาคามี หรือพระอรหันต์ พระอริยทุกท่าน ท่านมีความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง

    พระโสดาบันท่านประจักษ์แจ้งความจริงของลักษณะของสภาพธรรม ดับความเห็นผิดทั้งหมด ละความสงสัยในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ท่านรู้ว่าโลภะ เป็นสิ่งที่มีจริงเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ตัวท่านอีกต่อไป แต่โลภะมีเหตุปัจจัยก็เกิด โทสะมีเหตุปัจจัยก็เกิด เพราะปัญญาของท่านเห็นความจริงระดับนี้ แต่สูงกว่าระดับขั้นของปุถุชน แต่ไม่ถึงระดับขั้นของพระสกทาคามี พระอนาคามี หรือพระอรหันต์

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ แม้แต่ หิริ โอตตัปปะ ความละอายต้องมีต่างขั้นกันด้วย อย่างปุถุชนไม่มีความละอายเรื่องความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมเลย ไม่รู้ก็ไม่รู้ ไม่เห็นละอายตรงไหน ไม่รู้ก็คือไม่รู้ แต่ถ้าหิริโอตตัปปะเกิด น่าอาย เต็มไปด้วยความไม่รู้ ไม่รู้มาแสนนาน แล้วเมื่อไรจะรู้เสียที ยังไม่อายอีก ก็คือไม่รู้ต่อไปอีก แต่ถ้าเริ่มที่จะละอายเห็นว่า ควรจะรู้ ควรจะเข้าใจสภาพธรรม ก็จะมีการฟังพระธรรมด้วยดี พิจารณาด้วยดี นี้ก็คือระดับขั้นหนึ่งของกัลยาณปุถุชน คือยังรู้ว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แล้วก็เริ่มที่จะศึกษาจนกว่าจะถึงความเป็นพระโสดาบัน

    เมื่อเป็นพระโสดาบันแล้ว ความละอาย หิริของท่าน ก็มากกว่าระดับขั้นของปุถุชน เพราะเห็นว่าเป็นธรรม แต่ว่าท่านก็ยังมีโลภะ โทสะ แล้วท่านก็มีสติปัฏฐานเกิดเพราะเหตุปัจจัย ระลึกรู้ แล้วก็เริ่มที่จะเห็นความน่ารังเกียจของโลภะอย่างหยาบ ซึ่งปุถุชนไม่มีทางจะเห็น เพราะว่าปิดไว้หนาแน่นด้วยความเป็นตัวตน ด้วยความเป็นเรา เพราะฉะนั้น แม้แต่หิริ โอตตัปปะ หรือว่า กุศลธรรมทั้งหลายก็ต่างขั้นกัน

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ก็พยายามที่จะมีเมตตา มีความอนุเคราะห์กับพวกผู้ฟังมาตลอด โดยเฉพาะคำว่าฟัง หรือคำว่าได้ยิน ๒ คำมีความต่างกันมาก เพราะฉะนั้น ปัจจุบันนี้เราจะเป็นผู้ฟัง หรือว่าเราจะเป็นผู้ได้ยินธรรม ก็สุดแล้วแต่ แต่อย่างไรก็ตาม ข้อปฏิบัติต่างๆ นี้ ถ้าไม่อาศัยความเข้าใจที่ถูกต้องว่า เป็นผู้มีปกติอบรมเจริญความรู้ และความเข้าใจ ก็ยังจะต้องคิดว่า วิธีอย่างนี้ยาก รู้สึกจะได้ผลช้าเกินไป แต่ถ้ามีข้อปฏิบัติที่จะมีการนำไปเอาจริงเอาจัง หมายความว่าหลีกเร้นจากภาระหน้าที่แล้วก็ไป ถามว่านั่นเป็นชีวิตปกติของท่านหรือเปล่า อันนี้เป็นสิ่งที่ผมคิดว่า ถ้าท่านผู้ใดยังข้องใจอะไร ยังมีโอกาสซักถามท่านอาจารย์ หรือว่าท่านผู้บรรยายทั้งหมดก็ได้

    ท่านอาจารย์ ตลอดชีวิตมา ไม่ทราบว่านานแสนนานเท่าไรแล้ว เคยทราบไหมว่าเป็นธรรม แล้วก็จะไปเข้าห้องปฏิบัติ สามารถจะรู้ได้ภายใน ๗ วัน หรือว่า ๑๐ วัน หรือจะเป็น ๑๐ เดือน ๑๐ ปี มีเวลาเท่าไรก็แล้วแต่ เป็นไปได้ไหม ในเมื่อพระสาวกทั้งหลาย แสนกัป เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องตรงเรื่องจริง ว่าเมื่อมีความไม่รู้ แล้วจะค่อยๆ รู้ขึ้นได้โดยวิธีไหน ถ้าไม่มีความรู้ ความไม่รู้ซึ่งเป็นต้นเหตุของกิเลสทั้งหลายจะหมดไปได้อย่างไร มุ่งที่จะไปละโลภะ โทสะ โดยไม่เกิดปัญญา เป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าถ้าไมีโมหะ มีอวิชชา โลภะก็ต้องมี โทสะก็ต้องมี กิเลสอื่นๆ ก็ต้องมี

    เพราะฉะนั้น แทนที่จะไปคิดถึงสิ่งที่เกินความหวัง ที่จะไปเกิดปัญญาอย่างรวดเร็ว แล้วก็จริงๆ โดยที่ว่ายังไม่รู้เลย ว่าปัญญารู้อะไร คนที่ไป ถามดู จะตอบได้ว่าไม่รู้ ถ้าสามารถที่จะบอกได้ว่าปัญญา รู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เมื่อยังไม่มีเหตุปัจจัยที่จะให้มีการเข้าใจ หรือว่าศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะเหตุว่าไม่มีปัจจัยพอ ใครจะไปทำอะไรได้ อย่างเสียง ถ้าไม่กระทบหู แล้วจะบอกว่าให้ได้ยิน ก็เป็นไปไม่ได้

    ถ้าไม่มีเหตุปัจจัย คือ ไม่มีความเข้าใจเลย แล้วก็บอกว่าให้ไปทำวิปัสสนา แล้วก็จะเกิดปัญญา เป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อถ้าคนนั้นเชื่อก็คือว่า คนนั้นไม่รู้ว่าปัญญารู้อะไร แล้วไม่รู้หนทางด้วยว่า จะอบรมเจริญความรู้ความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ได้อย่างไร ก็เป็นเรื่องที่แต่ละคนก็ต้องฟังแล้วก็พิจารณาในเหตุในผล แต่จะไม่มีคำบอกว่าอย่า เพราะว่าเป็นไม่ได้ที่จะบอกใครอย่างนั้น

    ผู้ฟัง จากที่ดิฉันได้ฟังเทปของท่านอาจารย์แล้ว การเริ่มเข้าใจนิดๆ ทำให้ดิฉันรู้สึกว่า มีความรู้มากขึ้น อย่างเรื่องง่ายๆ ถ้าเราจะไปเยี่ยมใครตามโรงพยาบาล มาถึงจะเป็นลักษณะของจิตที่เป็นโทมนัส เป็นลักษณะของจิตที่เศร้าสร้อยมากเวลามาเยี่ยมใครตามโรงพยาบาล แล้วนี้ก็ฟังเทปของ ท่านอาจารย์ก็บอกว่าจิตขณะนั้นเป็นอกุศล มันเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น จิตที่เป็นอกุศลก็ต้องเป็นจิตที่ไม่ดี แต่พอมาฟังท่านอาจารย์แล้ว อาจารย์ก็บอกว่า อันนั้นเราต้องเชื่อเรื่องกรรมของเขา เป็นผลของกรรมของเขาที่เขาต้องเป็นอย่างนั้น แทนที่เราจะไปเศร้า ทำให้เป็นโทสะ ควรจะเจริญกุศล เช่น ช่วยเหลืออะไรเขาได้ตามที่สมควร จุดตรงนี้ นิดเดียว ทำให้ดิฉันเข้าใจว่า เมื่อมาฟังท่านอาจารย์แล้วเล็กๆ น้อยๆ ทำให้เราเข้าใจเรื่องที่เราเข้าใจ ไม่รู้เลยว่า เข้าใจผิด คิดว่าดีแล้ว จะต้องโทมนัส บางคนไม่ได้สนิทเท่าไร แต่พอเห็นเขาเจ็บ จะต้องเศร้าไปกับเขาถึงขณะนี้ ญาติสนิทมิตรสหายที่เจ็บ เราก็พยายามเข้าใจว่า นั่นเป็นเรื่องกรรมของเขา ตรงนี้ทำให้ดิฉันมีจิตใจสบายขึ้น จะเรียนให้ทราบว่า ความเห็นส่วนตัวก็คือตรงนี้ ดีกว่าที่จะไปนั่ง นั่งแล้วก็นึกคิดไปเอง ไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร ก็เบลอไป นึกคิดไปเรื่อย บางทีก็ไปคุยกับเทวดาต่างๆ ซึ่งทำให้หลงลืมสติได้ อันนี้ฝากตรงนี้ แค่นี้

    จิต กับนามธรรม มีความหมายเหมือนกัน แต่พอมาฟังอีกทีบอกว่า พระนิพพานไม่ใช่จิต แต่เป็นนามธรรม ตรงนี้ ท่านอาจารย์กรุณาแยกแยะให้เห็นว่ามันต่างกันอย่างไร จิตกับนามธรรม

    ท่านอาจารย์ อันนี้มีในหนังสือปรมัตถธรรมสังเขป ถ้าใครอยากจะค้นคว้าก็ไปอ่านทบทวนอีกได้ แต่ขอให้ทราบว่า ปรมัตถธรรมมี ๔ จำนวน ๔ ไม่มากเลย แต่ต่อไปจะกว้างออก จะกว้างออก เป็นอายตนะ ๑๒ เป็นธาตุ ๑๘ เป็น ปฏิจจสมุปบาท เป็นอริยสัจ เป็นธรรมทั้งหมดในพระไตรปิฎก แต่ไม่พ้นจาก จิต เจตสิก รูป นิพพาน

    สำหรับนิพพานเป็นสภาพธรรม อีกอย่างหนึ่งมีจริง แต่นิพพานปรมัตถ แต่ถ้าใช้คำว่าปรมัตถ์ ก็หมายความว่าเป็นสภาพธรรมต่างประเภทกัน เช่นจิตไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป ไม่ใชนิพพาน มี ๔ อย่างจริง ที่เป็น ๔ เพราะต่างกัน ไม่ใช่อย่างเดียวกันเลย จิตไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป ไม่ใช่นิพพาน เจตสิกไม่ใช่จิต ไม่ใช่รูป ไม่ใช่นิพพาน รูปไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่นิพพาน นิพพาน ไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป

    สภาพธรรมก็มีที่ต่างกันใหญ่ๆ แยกได้หลายอย่าง ถ้าจะแยกโดยสภาพธรรมที่เกิดกับไม่เกิด จิต เจตสิก รูป เป็นสภาพธรรมที่เกิด นิพพานไม่เกิด เพราะฉะนั้น จิต เจตสิก รูป เป็นธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นสังขารธรรม ธรรมทั้งหลายที่จะเกิด ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยจะเกิดลอยๆ ขึ้นมาไม่ได้เลย คนที่ไม่รู้ก็ไม่รู้ ก็คิดว่าเกิดขึ้นมาเอง แต่คนที่รู้สามารถรู้ถึงเหตุปัจจัยทั้งขณะที่เป็นปัจจุบัน และอดีตเหตุปัจจัยด้วย รู้ลึกลงไปอย่างนั้น

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ต้องศึกษาจริงๆ ให้ทราบว่า แม้ว่าจะได้ยินคำว่าจิต เจตสิก รูป นิพพาน ปรมัตถธรรม ๔ ก็ต้องแยกประภทให้ถูกต้องว่า จิต เจตสิก รูป เป็นปรมัตถธรรมที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดแล้วก็ดับ ส่วนนิพพานตรงกันข้าม ไม่มีปัจจัย ไม่เกิด ไม่ดับ เพราะฉะนั้น โดยศัพท์ก็จะต่างกัน คือ จิต เจตสิก รูป เป็นสังขาร หรือเราจะใช้คำว่าสังขารธรรม ก็คงจะได้ เพื่อให้เข้าใจความต่างว่า ต่อไปจะมีคำว่าสังขาร หรือสัง-ขา-ระ อีกหลายความหมาย แต่ความหมายที่กว้างที่สุด สัง-ขา-ระ ในความหมายว่า เป็นธรรมที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งให้เกิด

    จิตเกิดเพราะมีปัจจัยปรุงแต่ง จิตที่เกิดเพราะมีโลภะเกิดร่วมด้วย ก็อย่างหนึ่ง จิตที่เกิดเพราะมีโทสะเป็นเหตุทำให้เกิดขึ้นก็อีกอย่างหนึ่ง จิตเห็นก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นจิตประเภทหนึ่ง จิตได้ยินก็เป็นธรรมอีกประเภทหนึ่ง

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่าจิตทั้งหมดมี ๘๙ ชนิด หรือ ๘๙ ประเภท หรือ ๑๒๑ ประเภทโดยพิเศษ แต่จิตเป็นจิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป แล้วก็ไม่ใช่นิพพาน

    นิพพานเป็นวิสังขารธรรม ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง วิ ปราศจาก หรือว่าไม่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิด เราแยกได้อย่างนี้ จิต เจตสิก รูปเป็นสังขารธรรม นิพพานเป็นวิสังขารธรรม หรือจะใช้คำว่า จิต เจตสิก รูป เป็นสังขตธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดก็จริง แต่ที่เกิดปรุงแต่งแล้วจึงเกิด ขณะที่เกิดหมายความว่าปรุงแต่งแล้ว เป็นสังขต จึงเกิดแล้วก็ดับ ส่วนนิพพานเป็นอสังขต เพราะฉะนั้น นิพพานก็เป็นวิสังขาร และก็เป็นอสังขต แล้วในบรรดาของสังขารธรรม ๓ คือ จิต เจตสิก รูป ซึ่งเกิด ก็แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ รูปเป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเลย ไม่สามารถจะรู้อะไรเลย นั่นเป็นลักษณะของรูปธรรม ส่วนนามธรรมนั้นมี ๒ อย่าง คือ จิต และเจตสิก ไม่ใช่หมายความว่า นามธรรมเป็นจิต แต่จิตเป็นนามธรรม เจตสิกเป็นนามธรรม เพราะฉะนั้น นามธรรมที่เกิดมี ๒ อย่าง คือ จิตกับเจตสิก ซึ่งต้องเกิดพร้อมกันแล้วก็ดับพร้อมกัน

    ผู้ฟัง ผมขอทราบว่าอารมณ์ของพระนิพพานนั้นเป็นบัญญัติอารมณ์ได้หรือไม่ ข้อ ๑

    อันที่ ๒ อารมณ์ของพระนิพพานนั้น เป็นอารมณ์ภายในหรือภายนอก อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ปรมัตถธรรม มี ๔ คือ จิต ๑ เจตสิก ๑ รูป ๑ นิพพาน ๑ เพราะฉะนั้น นิพพานเป็นบัญญัติไม่ได้ ถ้าพูดถึงอารมณ์ ไม่ทราบอารมณ์ภายใน อารมณ์ภายนอกจะหมายความว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง อารมณ์ภายนอก ยกตัวอย่างที่ผมฟังเทปของอาจารย์เมื่อกี้นี้ว่า อาจารย์ได้พูดถึงเถรีคาถาว่า เมื่อท่านกำลังต้มน้ำผักดอง แล้วน้ำผักดองนั้นมันแห้ง ก็ได้บรรลุธรรมถึงขั้นพระอนาคามี ทีนี้น้ำผักดองที่ว่า อาจจะมีตัวอย่างอื่น มันเป็น อารมณ์ที่อยู่ มันเป็นอารมณ์ภายนอก ตัวอารมณ์ภายนอกนี้จะมาระลึกรู้สึกตัว มีสติ ทำให้เกิดมีปัญญาได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก่อนที่จะกล่าวถึงว่า พระนิพพานเป็นอารมณ์ภายในหรือภายนอก ขอเขิญอาจารย์สมพรช่วยให้ความหมายอารมณ์ภายในภายนอก

    สมพร ก่อนอื่นที่จะกล่าวถึงว่า อารมณ์ เรากล่าวถึงปรมัตถธรรม ๔ ก่อน อันไหนเป็นผู้รู้อารมณ์ อันไหนเป็นอารมณ์ อารมณ์ทั้งหมดก็มี ๔ อย่าง คือ รูปเป็นอารมณ์ จิตเป็นอารมณ์ เจตสิกเป็นอารมณ์ นิพพานเป็นอารมณ์ ผู้รู้อารมณ์นั้น คือ จิตกับเจตสิกเท่านั้น ผู้รู้อารมณ์ นิพพาน อารมณ์ของนิพพานไม่มี เพราะว่านิพพานเป็นอารมณ์ของจิต ทีนี้จิตมีอารมณ์ได้ทั้งภายใน และภายนอก ที่ถามว่า พระนิพพานนั้นเป็นอารมณ์ภายในหรือภายนอก นิพพานไม่ได้อยู่ในภายใน เป็นของภายนอก เพราะว่าพระนิพพานไม่เกิดขึ้น และไม่ดับ เมื่อจิตเจริญขึ้นจนกระทั่งถึงมรรคจิตแล้ว นิพพานก็ปรากฏ เพราะฉะนั้น นิพพานซึ่งปรากฏเป็นอารมณ์นั้น จัดว่าเป็นพหิทธารมณ์ คืออารมณ์ภายนอก ไม่ใช่ภายใน และไม่ได้อยู่ในบุคคลทุกคน ถ้ามีอยู่ในบุคคลทุกคนแล้ว ปุถุชนก็มี อารมณ์พระนิพพานได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ทราบผู้ฟังที่นี่ มีความเข้าใจพอสมควร ที่จะฟังเรื่องนี้หรือเปล่า แต่คิดว่าถ้ามีผู้ที่สนใจก็พอที่จะสนทนากันต่อได้ในเรื่องนี้ เพราะเหตุว่าแม้แต่เรื่องความสงบของจิต ก็ไม่ใช่เพียงเรื่องของการที่เราจะทำสมาธิ แล้วคิดว่าจิตสงบ

    ถ้าเป็นเรื่องของการอบรมเจริญภาวนาจริงๆ ต้องเป็นเรื่องของปัญญาระดับที่เห็นโทษของอกุศลจริงๆ แต่ว่าถ้าเรายังไม่มีความรู้ หรือว่ายังไม่มีการที่จะเห็นโทษของอกุศลถึงขั้นนั้น การกล่าวถึงเรื่องของสมถภาวนา หรือเรื่องของพระนิพพานซึ่งอยู่ไกล ก็เป็นเรื่องที่ยากที่จะเข้าใจได้ แต่ว่าถ้าเราสามารถที่จะเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อยก็ได้ อย่างอุปสมานุสสติ เป็นอารมณ์หนึ่งในอนุสติ ๑๐ นี้ก็ต้องสาวไปตั้งแต่ต้นแล้ว เพราะฉะนั้น ไม่อยากที่จะให้มีการจับกลางๆ ครึ่งๆ ของอันโน้นอันนี้ เพราะว่าผู้ฟังที่นี่ก็คงจะมีทั้งใหม่ และเก่า แล้วก็อาจฟังวิทยุมาบ้างมาก แต่ว่าเรากำลังพูดถึงเรื่องอนุสติ ที่ไหน แล้วเราก็จะพูดถึงความละเอียดของอนุสติที่นั่นก็ได้

    สมพร พูดเรื่องอุปสมานุสสติ เราก็พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง อุปสมานุสสติ แปลว่า ระลึกถึงคุณพระนิพพาน แต่แท้จริงมันอย่างนี้ อุปสมานุสสติ ระลึกถึงความสงบ ความสงบอื่นยิ่งกว่าพระนิพพานไม่มี ความสงบอันนั้นของปุถุชน คิดเอา คิดถึงความสงบไม่ประสบพระนิพพานจริงๆ เมื่อไรบรรลุมรรค เมื่อนั้นจึงมีนิพพานเป็นอารมณ์ ขณะที่เราระลึกถึงในอนุสติ ๑๐ ในข้อ ๑ ที่บอกว่า อุปสมานุสสติ นั้นแปลว่าความสงบ คือสงบอย่างยิ่ง แล้วก็การสงบอย่างยิ่งนั้น นอกจากนิพพานไม่มี เพราะฉะนั้น การระลึกอันนั้นท่านก็เลยบอกว่า ระลึกถึงคุณของพระนิพพาน พระนิพพานยังไม่ปรากฏ

    ถ. ทุกๆ คน ยังไม่มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ หรือยังไม่รู้ว่าลักษณะของพระนิพพานตามที่ปรากฏจริงๆ ไม่รู้ ก็รู้แต่เรื่องราวของพระนิพพาน ชื่อพระนิพพาน แต่ว่าในอนุสติ ๑๐ ท่านจัดเป็น ๑ ใน ๑๐ ท่าน

    จัดไว้สำหรับบุคคลอย่างเราหรือเปล่า

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 97
    23 มี.ค. 2567