ปกิณณกธรรม ตอนที่ 245


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๔๕

    สนทนาธรรม ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา

    พ.ศ. ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ แต่ทุกคนหวังสุข แล้วทีนี้เหตุของความสุขกับเหตุของความทุกข์ เรามีเฉพาะเหตุที่จะให้เกิดสุขเท่านั้นหรือ หรือว่ามีเหตุให้เกิดทุกข์ด้วย อย่างเพื่อนฝูงของเรา บางคนก็เจ็บปวดร้ายแรง เข้าโรงพยาบาล วันหนึ่งจะเป็นเราได้ไหม หรือว่าเราไม่มีสิทธิเขามีสิทธิเท่านั้น ไม่มีทางที่ใครจะรู้เลยว่า ข้างหน้าแม้จะหนึ่งขณะจิตอะไรจะเกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดแล้วรู้ ว่าที่เกิดมาได้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ของแต่ละคนต่างๆ กันตามการสะสมของแต่ละคน เราก็จะเริ่มเป็นคนที่มีความเข้าใจคนอื่น แล้วก็มีความเห็นใจ แล้วก็สามารถที่จะช่วยให้เขาเกิดปัญญาเท่าไร เราก็จะทำ เพราะเหตุว่าคนที่มีความทุกข์ เพราะไม่มีปัญญา ถ้ามีความสุขแต่ไม่มีปัญญา ก็สุขไปโดยที่ไม่รู้ความจริง

    ที่สำคัญที่สุด เคยพูดถึงว่า ในความมืดสนิทน่ากลัวไหม ความมืดสนิทมีได้ไหม หรือว่าจะสว่างอย่างนี้ไปตลอด มืดสนิทมีได้ ลองคิดถึงตอนที่ จอห์น เอฟเคเนดี้น้อยเขาขับเครื่องบินไปกลางทะเล มืดสักแค่ไหน แต่มืดกว่านั้นยังมี เพราะขณะนั้นยังมีการเห็นความมืด แต่ถ้าไม่มีตาเลย ที่จะรู้ว่า มีแสงสว่างกระทบ ความมืดนั้นจะยิ่งสักแค่ไหน ในความมืดอย่างนั้น ถ้ามีปัญญาก็ไม่เป็นทุกข์ เพราะรู้ว่าคืออะไร แต่ถ้าไม่มีปัญญา สว่างๆ อย่างนี้ เราก็กลัวนั่นกลัวนี่ เดี๋ยวเราจะไม่สบาย เดี๋ยวเราจะเป็นทุกข์ เดี๋ยวเราจะอะไร คือมีเราเป็นแกนกลาง เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ซึ่งยากนักยากหนาที่จะสละความเป็นเรา แล้วถ้ามีเรามากเท่าไร ก็มีความเห็นแก่ตัวมากเท่านั้น ยิ่งลึกลงไปอีก แล้วตัวนี้ต้องการแต่ความสุข ใครมาแผ้วพานเราทางตา ทางหูทางจมูกไม่ได้เลยสักอย่างเดียว รักตัว หวงตัว ระวังตัว ที่จะให้ไม่มีใครมาทำให้ เดือดร้อนเป็นทุกข์ แต่ทุกคนก็หนีไม่พ้น คือว่าต้องแล้วแต่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในแต่ละวัน ถ้าเรารู้อย่างนี้เราก็เบาใจ ทุกอย่างที่จะเกิด มันต้องมีเหตุ ไม่ใช่อยู่ดีๆ มาถามว่า ทำไมต้องเป็นเรา คำตอบคือต้องเป็นเรา เพราะเราได้กระทำเหตุที่สมควรที่จะสิ่งนั้นจะเกิดขึ้นกับเรา เหมือนกับเวลานี้ใครจะสุขจะทุกข์ก็ตามแต่ ก็เพราะเขาได้ทำเหตุที่สมควรแก่สุข และทุกข์นั้นๆ สุขทุกข์นั้นๆ ก็เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ จะเกินเหตุไปไม่ได้เลย เราใส่เกลือเท่าไรก็เค็มเท่านั้น จะให้เค็มเกินเกลือที่เราใส่ หรือน้อยกว่าเกลือที่เราใส่ก็ไม่ได้ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

    เชื่อมั่นคงอย่างนี้หรือยัง ที่จริงเป็นแต่เพียงเริ่มต้นของคำว่า “ธรรม” ให้รู้จักจริงๆ ว่าสิ่งที่มีจริงทั้งหมด ระหว่างที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ไม่ใช้คำอะไรเลย ไม่ต้องมีคำอะไรเลย มีธรรมปรากฏเหมือนเดี๋ยวนี้ แต่สามารถที่จะประจักษ์แจ้งความจริงว่า ขณะนี้สภาพนี้คืออะไร เกิดขึ้นเพราะอะไร แล้วก็ทรงรู้เหตุที่จะให้เกิดมากมายมหาศาล แม้ว่าจะเกิดขึ้นเพียงขณะเดียวสั้นๆ แต่ก็สามารถที่จะประจักษ์แจ้งได้ด้วย พระสัพพัญญุตญาณเหนือบุคคลอื่นใดทั้งหมด แต่ของเราทั้งๆ ที่กำลังเห็นอย่างนี้ เราต้องเริ่มต้นกันใหม่ว่า นี่เป็นธรรม ธรรมไม่ได้อยู่นอกตัว ที่นี่ไม่มี ไม่มีตา ไม่มีหู ไม่มีจมูก ไม่มีลิ้น ไม่มีกาย ไม่มีใจจะคิดนึก ก็เหมือนท่อนไม้ คิดนึกก็ไม่มี เห็นก็ไม่มี ได้ยินก็ไม่มี แต่ว่าเป็นไปไม่ได้เลย เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านี้จำเป็นต้องมีตามเหตุตามปัจจัย ใครสร้าง คุณมัณฑนา ที่มีจริง ใช่ไหม ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าของคุณมัณฑนาเป็นธรรม หรือเป็นคุณมัณฑนา

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ใช่ อันนี้ตอบได้อย่างง่ายๆ เลย แต่ว่าเราต้องเข้าใจมากกว่านั้นอีก

    นี่เพียงหน้าหนึ่ง หรือคำหนึ่งคำแรก ใช่ไหมว่า ธรรมคืออะไร เพราะว่าทุกคนฟังธรรม เรียนธรรม แสวงหาธรรม ปฏิบัติธรรม แต่รู้จริงๆ หรือเปล่าว่า ธรรมคืออะไร

    การฟังพระธรรมที่จะให้เข้าใจจริงๆ ต้องเริ่มต้นตั้งแต่คำแรก แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ในห้องนี้มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมบ้าง คุณหนึ่ง ไม่มีใช่ไหม เสียงเป็นธรรมหรือเปล่า คิดนึก ทุกอย่างเลย ทุกขณะเลย เป็นธรรม

    ผู้ฟัง จะขอเรียนถามท่านอาจารย์ให้อธิบายความหมายของพระสัพพัญญุตญาณ และพระทศพลญาณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ท่านอาจารย์ ย่อที่สุดคือปัญญาเหนือบุคคลอื่นใด แล้วเราไม่มีโอกาสจะรู้ เราพูดทศพลญาณ ญาณ ๑๐ ญาณ ทศ แปลว่า ๑๐ พล แปลว่ามีกำลัง พระญาณที่มีกำลังเหนือบุคคลอื่นใด ๑๐ ประการ เราเรียกชื่อได้ เราอ่านหนังสือได้ แต่ไม่รู้ว่าคืออะไร เพราะฉะนั้น การที่เราจะศึกษาธรรม เริ่มจากความรู้ของเราก่อนว่า เมื่อเราฟังแล้ว เรารู้อะไร เข้าใจอะไร แล้วเราถึงจะค่อยๆ เข้าใจไปถึงอันนั้นได้ แต่ต้องเริ่มจากการที่เราเข้าใจเองว่า เราเข้าใจได้มากน้อยแค่ไหน แล้วก็อย่างทศพลญาณโดยชื่อ พระญาณที่มีกำลัง ๑๐ ประการ ซึ่งไม่ใช่ของบุคคลอื่น ไม่สาธารณะทั่วไปกับใครเลย นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ลองคิดดู ใครรู้บ้างว่า เป็นธรรม ตั้งแต่เกิดมา ถ้าไม่ได้ฟังจริงๆ เราจะไม่รู้เลยว่า ขณะนี้เป็นธรรม เพราะธรรมหมายความถึงทุกสิ่งที่มีจริง สิ่งที่มีจริงทั้งหมดเป็นธรรม ใครก็เปลี่ยนลักษณะของธรรมไม่ได้เลย เพราะธรรมที่มีจริงซึ่งใครเปลี่ยนลักษณะไม่ได้ คุณไพฑูรย์เรียกว่าอะไร จำได้ไหม ปรมัตถธรรม มาจาก คำว่า ปรม อัตถ ธรรม ธรรมก็คือธรรม อัตถ ทีนี้หมายความถึงลักษณะ ปรม คือ ความยิ่งใหญ่ หมายความว่าใครก็เปลี่ยนลักษณะนั้นไม่ได้เลย ความโกรธเกิดขึ้นหยาบกระด้าง ใจไม่เหมือนปกติ และประทุษร้ายด้วย ไม่มีใครชอบความโกรธ เกิดร่วมกับความรู้สึกเสียใจ โทมนัส ขณะนั้นจิตใจไม่เป็นสุขแน่ ขณะที่โกรธเกิดขึ้น แล้วใครก็จะเปลี่ยนลักษณะโกรธให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ นั่นคือปรมัตถธรรม

    นอกจากคำว่าธรรมแล้ว หมายความถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างๆ เป็นอย่างนั้นเปลี่ยนไม่ได้ เป็นปรมัตถธรรม แล้วสำหรับพระไตรปิฎกมี ๓ พระวินัยปิฎก พระสุตตันปิฎก พระอภิธรรมปิฎก มีพระปรมัตถปิฎกไหม ไม่มี แต่ใช้คำว่าพระวินัยปิฎก ส่วนใหญ่ถ้าอ่านแล้วจะเกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติ ของพระภิกษุ แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีอย่างอื่น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องข้อประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุ เราอ่านได้ไหม อ่านแล้วเป็นอย่างไร ถ้าอ่านแล้ว เห็นความละเอียดของกายวาจา เราจะไม่รู้เลยว่า กายวาจาของเราวันหนึ่งๆ ไปทางไหน ไปทางที่ควรหรือไปทางที่ไม่ควร แต่ถ้าอ่านพระวินัยแล้ว เราจะมีกายวาจาที่งดงามขึ้นแน่นอน ถ้าเรารู้ว่า เป็นสิ่งซึ่งเราประพฤติปฏิบัติตามได้ แม้ว่าเป็นสิ่งที่บัญญัติไว้สำหรับพระภิกษุให้ปฏิบัติในเพศของบรรพชิต เพราะว่าเพศของบรรพชิตต้องต่างกับคฤหัสถ์ ถ้าไม่มีการขัดเกลาเลยจะละกิเลสได้อย่างไร เพราะฉะนั้น กายวาจาที่จะละอกุศลแม้เพียงเล็กๆ นิดๆ หน่อยๆ ยังไม่ถึงการดับให้หมดเลย ก็มีบัญญัติไว้ ถ้าเราเป็นคนที่ศึกษาตัวเอง เราจะรู้เลยว่า คำพูดของเราเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม อย่างคนในบ้านเรามีตั้งหลายคน คนหนึ่งก็พูดดีกับคนที่ช่วยเหลืองานในบ้าน เราก็รู้เลยว่า จิตเป็นอย่างไร ถ้าจิตเป็นอย่างหนึ่ง วาจาก็เป็นอย่างนั้น ถ้าจิตเป็นอีกอย่างหนึ่ง วาจาก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง เราก็สามารถที่จะรู้ได้ แม้เพียงได้ยินเสียง ก็ส่องไปถึงใจได้ว่า ใจขณะนั้นเป็นอย่างไร

    เพราะฉะนั้น ศึกษาพระวินัยมีประโยชน์มาก ทำให้เราได้เข้าใจ แม้แต่การรับประทาน การเก็บเข้าของ การอะไรทุกอย่าง ทำไมถึงสอนอย่างนั้น ละเอียดอย่างนั้น เพราะว่าใครจะสอนเราเท่าพระพุทธเจ้า พ่อแม่สอนเราอย่างหนึ่งจริงตั้งแต่เด็ก พอเราโตแล้วท่านก็ไม่ได้สอนอะไรอีก แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ายังสอนพระภิกษุให้ประพฤติปฏิบัติอย่างนั้นต่อไป ถ้าไม่ประพฤติปฏิบัติก็ผิด จะต้องปลงอาบัติ มีการสำนึกตนว่า ปฏิบัติในสิ่งที่ไม่สมควรแก่เพศบรรพชิต ถ้าเป็นบรรพชิตต่อไปก็ต้องรู้สึกตัว แล้วทำให้ถูก นั่นคือพระวินัยบัญญัติ ดับกิเลสได้ไหม คุณกิตติ ศึกษาพระวินัยบัญญัติ ไม่พอเลย เพียงเรื่องของกายวาจา แต่ทีนี้วันหนึ่งๆ เราก็ไม่ได้มีแค่เพียงกายวาจา เท่านั้นที่เป็นพระวินัยบัญญัติสำหรับพระภิกษุ ซึ่งคฤหัสถ์ก็อ่านได้

    สำหรับพระสุตตันตปิฎกก็แสดงถึงสมัยที่พระพุทธเจ้ายังไม่ปรินิพพาน เสด็จไปที่ไหน แสดงธรรมกับใคร เรื่องอะไร ซึ่งผู้ฟังเพียงฟังนิดเดียวสามารถเห็นพระปัญญาของพระพุทธเจ้าได้ เพราะว่าท่านเหล่านั้นสะสมมามาก เช่นพูดถึงเรื่องความโลภ ความติดข้อง คนนั้นรู้เลยว่าเขามี พอพูดถึงเรื่องความโกรธ คนนั้นก็รู้อีกว่าเขามี พอพูดถึงเรื่องการไม่รู้ลักษณะของธรรมหรือไม่รู้จักธรรม คนนั้นก็รู้อีกว่าเขามี เพราะฉะนั้น เขาฟังธรรมด้วยความเข้าใจจริงๆ ในธรรม เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสเพียงแค่เรื่องโลภะ โทสะ โมหะ สรรเสริญ ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เพราะว่าส่วนใหญ่คนต้องการเอา ต้องการได้ ไม่ใช่ต้องการละ แล้วน่ากลัวสักแค่ไหน ได้ไม่จบ เอาไม่จบ มีใครจบบ้างไหม ได้อะไรมา พอไหม ไม่เคยพอเลย ต้องการอยู่ตลอดไป แต่หนทางของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ากลับกัน เพราะเหตุว่าถ้าเราหวังได้ แล้วเราไม่ได้สิ่งที่เราหวัง เราเป็นทุกข์ เราหวังเกิด แล้วก็ไม่แก่ พอแก่ก็เป็นทุกข์ พอเจ็บก็เป็นทุกข์ ก่อนจะตายก็เป็นทุกข์อีก เพราะรู้ว่าอย่างไรๆ ก็ต้องตาย แต่หนทางของพระพุทธเจ้าไม่ใช่อย่างนั้น ให้รู้ตามความเป็นจริงว่า ทุกอย่างต้องเป็นอย่างนี้ จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้

    ถ้ามีความเข้าใจถูกต้อง ความทุกข์ของเราก็น้อยลง เป็นเรื่องละทั้งหมด ถ้ามีคนบอกว่าทำอย่างนี้แล้วจะรวย เอาไหม พระธรรมสอนอย่างนี้หรือเปล่า ถ้าศึกษา เรารู้เลย นี่ไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสอนเหตุของความลำบากยากจน ทรงสอนเหตุของความร่ำรวยด้วย แต่ไม่ได้บอกว่า ถ้าสวดมนต์แล้วจะรวยหรืออะไรอย่างนี้ อันนั้นต้องไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าเราสวดมนต์ เราก็อยากหวัง ถ้าท่านบอกให้หวังรวย เราก็หวังรวย พอรวยแล้ว เราก็ชอบ ชอบแล้วก็สวดอีกๆ แล้วก็เป็นอย่างนั้นอีก ติดไปเรื่อยๆ แล้วเมื่อไรเราจะเอาความติดข้องของเราออกไปได้ ใครอยากติดมากๆ บ้างไหม แต่เห็นไหม พอไม่รู้ก็ต้องติด เราเลยรู้หนทางจริงๆ ว่า ถ้าไม่ใช่ปัญญาแล้ว อะไรๆ ก็ไปละโลภะไม่ได้ ก็มีชีวิตตามปกติ แต่มีความเข้าใจธรรมถูกต้องขึ้นตามเหตุ และตามผล ไม่ใช่ต้องไปทำอะไรให้ลำบากไปทุกข์ยาก ไปอะไร ซึ่งมันก็ไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่ทำไปเพราะหวังอย่างนั้น หวังอย่างนี้

    ผู้ฟัง ขณะนี้ท่านอาจารย์ก็พูดถึงเรื่องกรรม คือ เหตุที่กระทำไป การเกิดเป็นมนุษย์ หรือการเกิดในสุคติภูมิ ง่ายหรือยาก ยากมากๆ เลย ใช่ไหม เคยฟังเรื่องเต่าตาบอดที่ทุกๆ ร้อยปีโผล่หัวมาทีที่ในมหาสมุทร แล้วมีห่วง แล้วมีลมพายุที่พัดห่วงนั้น ทิศเหนือ ทิศใต้ ตะวันออก ตะวันตก แล้วกว่าเต่าจะโผล่หัวมาอยู่ในใจกลางห่วง ทุกๆ ๑๐๐ ปี เต่าตาบอดด้วย อันนั้นคือโอกาสที่เราจะได้มาเกิดในมนุษยภูมิอีกที

    เพราะฉะนั้น ยากแสนยาก คนที่ไม่รู้คิดว่า เกิดมาเป็นมนุษย์ง่ายแสนง่าย แต่ความจริงยากแสนยาก เราควรเข้าใจประโยชน์ของกุศลทั้งปวง ประโยชน์ของการอบรมเจริญปัญญา เพื่อที่จะเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งเห็นโทษภัยของสังสารวัฏ ที่ยาวนานเหลือเกิน

    จะขอเรียนถามท่านอาจารย์ต่อ ผู้ที่ไม่เห็นความสำคัญในการศึกษาพระธรรม แล้วก็ยังอาจจะไม่ทราบว่าปัญญาคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร มีความสำคัญอย่างไร แต่บุคคลนั้นก็เป็นคนดีโดยพื้นฐาน คือว่าชอบให้ทาน แล้วรู้ว่าการประพฤติ ทางกายวาจาที่ดี เป็นสิ่งที่ควรทำ แต่บางที่ก็ทำไม่ได้เสมอไป เพราะว่าเรายังมีกิเลสอยู่ แต่ก็ยังไม่เห็นประโยชน์ของปัญญาสักที ท่านอาจารย์มีข้อแนะนำอย่างไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ ยากแน่นอน แต่ถ้าคิดถึงว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นใคร แล้วใครมีโอกาสจะได้เจอ อย่างที่คุณแจ๊คพูดถึงเรื่องเต่าตาบอด คือสมัยที่กว่าเราจะได้เกิดเป็นมนุษย์ เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เราถอยหลังกลับไปแสนโกฏิกัปป์ เราไม่รู้ว่าเราเป็นอะไรมาบ้าง กว่าจะได้เป็นมนุษย์ยาก แล้วเมื่อเป็นมนุษย์แล้ว ยังมีแอกอีกชนิดหนึ่งลอยไปลอยมา คือ การที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงอุบัติ เพราะว่าในสมัยที่พระพุทธเจ้าไม่อุบัติ มี ไม่ใช่ว่าจะอุบัติมากมายหลายพระองค์โดยรวดเร็ว อย่างพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ตรัสรู้เมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปี แล้วก็พระศาสนาจะเสื่อมค่อยๆ หมดสิ้นไป เพราะไม่มีใครศึกษา ไม่มีใครเข้าใจ มีพระไตรปิฎกจริง มีพระอรรถกถาจริง แต่เราอ่านไม่รู้เรื่อง ก็เหมือนเราอ่านตำราแพทย์ เราไม่ได้เรียนตำราแพทย์มาเลย เราก็อ่านออกว่า คำนี้เขียนว่าอะไร อ่านว่าอะไร แต่เราจะไม่รู้เรื่อง ฉันใด ถ้าเราไม่ศึกษาพระธรรม เราก็จะไม่เห็นความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเห็นแต่พระพุทธรูปที่บ้าน ที่วัด แต่ความเป็นพุทธะ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ มากมายแค่ไหน จะค่อยๆ รู้เมื่อเรียน เมื่อค่อยๆ เข้าใจพระธรรมขึ้น ก็จะรู้ว่าผู้นี้เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงแสดงธรรมให้เราเกิดปัญญา สามารถเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของเราแต่ละวัน แต่ละขณะถูกต้องขึ้น

    เพราะฉะนั้น โอกาสหายากมาก แล้วก็ห่วงที่ ๓ คือ ได้มีโอกาสได้ฟังธรรม เป็นมนุษย์ เกิดในสมัยพระพุทธเจ้า แต่เป็นพวกเดียรถีย์ ในพระไตรปิฎกมีมากมายเลย ผู้ที่มีความเห็นอื่น ไม่เห็นตรงตามที่ทรงแสดง ไม่เห็นคุณค่าของพระพุทธเจ้าเลย มีอาจารย์ท่านหนึ่งไม่ยอมไปเฝ้า แม้ว่าจะอยู่ใกล้สักเท่าไรก็ไม่ไป กลัวลูกศิษย์ลูกหาก็คงจะว่าถ้าได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ยอมเป็นผู้ที่มีความเห็นผิดต่อไป เพราะฉะนั้น ในกาลไหน เราเกิด เรามีชีวิตอยู่ไม่นานเลย ไม่ถึง ๑๐๐ ปี ส่วนใหญ่ จะเกินร้อยไปก็ไม่มาก แล้วไปไหน ตอนนี้ไม่รู้เลย เหมือนกับว่าเรามาสู่โลกนี้ เรามาจากไหน ก็ไม่มีใครบอกได้ แต่มาแล้วเพราะกุศลกรรม กุศลกรรมมี ๒ อย่าง กรรมที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา กับกรรมที่ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น อย่างทาน ศีล ที่ให้โดยเราไม่รู้เหตุว่าขณะที่ให้เป็นจิตใจที่ดีงาม เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เรามีจิตใจที่ดีงามทั้งวันหรือเปลา มากหรือน้อย นี่เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลซึ่งจะรู้จักตัวเองว่า วันหนึ่งๆ ถ้าเขารู้จักตัวเขา คนที่คิดว่าให้ทานมาก ความจริงน้อย เพราะว่าอกุศลเกิดมากกว่านั้นมากมาย ถ้าเขารู้ตัว โอกาสของทานอย่างวันนี้กี่ครั้ง อาทิตย์นี้มีหรือเปล่า เดือนหนึ่ง ปีหนึ่ง ก็แล้วแต่แต่ละบุคคล แต่อกุศลทุกขณะที่เห็น เพราะชอบเห็น ต้องการเห็น อยากเห็น ทุกขณะที่ได้ยินก็เกิดแล้ว ไม่ติดข้องพอใจในเสียงเพราะๆ ก็ไม่ชอบใจในเสียงที่ไม่น่าฟัง อาจจะเป็นเสียงติเตียน หรือเสียงอะไรที่ไม่น่าฟังทั้งหมด เราก็อยู่กับโลภะ โทสะ โมหะทั้งวัน เหมือนเจ้าของบ้าน นานๆ แขกคือกุศลก็มาสักทีหนึ่ง แล้วแขกกุศล ใครมาบ่อยหรือไม่บ่อย บางทีบ้านนี้ไม่มีแขกที่เป็นกุศลเลยจนตายไปก็ได้ แต่นั่นยังเป็นกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา เพราะไม่ได้ฟังธรรม แต่ถ้าเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา จะรู้คุณค่าของพระธรรมตามที่เราได้คิดว่า คนไทยก็คงจะสวดมนต์พอสมควร อิติปิโส ภควา สรรเสริญแล้ว แม้เพราะเหตุนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ถ้าเราไม่ศึกษาธรรม แม้เพราะเหตุไหน แม้เพราะเหตุนี้ ถ้าพูดไปเฉยๆ บางที อิติปิโส ก็ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไรด้วยซ้ำไป แต่ต่อไปนี้จะทราบ อิติปิโส แม้เพราะเหตุนี้ แม้เพราะเหตุนี้ แม้เพราะเหตุนี้พระผู้มีพระภาคทรงเป็นพระอรหันต์ ที่แม้เพราะเหตุนี้ทรงเป็นพระอรหันต์ ต่อเมื่อเราฟังพระธรรม จึงรู้ว่าคนที่มีกิเลสสอนอย่างนี้ไม่ได้ ต้องเป็นคนที่หมดกิเลสแล้ว แล้วหมดกิเลสโดยปัญญาสามารถดับกิเลส เพราะว่าบางคนเพียงระงับ อย่างพอโกรธ บางคนก็หาตำรา บอกหน่อยทำอย่างไร นับ ๑ ถึง ๑๐ บางทีคนที่บอกเด็ก โกรธ เด็กก็บอกนี่ไง นับ ๑ ถึง ๑๐ ก็ง่ายๆ แต่มันไม่ได้ผล ที่ว่าจะไม่โกรธอีกเลย มันก็เพียงแค่ชั่วคราวที่คิดออก ทั้งๆ ที่ผิดก็ยังโกรธอยู่ต่อไปก็ได้ เพราะว่ามีเชื้อของความโกรธที่จะเกิดต่อไป แต่ความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ดับเชื้อของกิเลสหรืออกุศลทุกชนิด ไม่ให้เกิดอีกเลย จึงเป็นพระอรหันต์

    ความจริงมีพระอริยบุคคลที่ดับกิเลสมี ๔ ขั้น ไม่ใช่ว่าจากความเป็นปุถุชนก็ไปเป็นพระอรหันต์เลย ขั้นที่ ๑ เป็นพระโสดาบัน อาจจะชินหู แต่ว่าคิดว่าแบบพระอรหันต์ เพราะว่าคนมักจะบอกว่า ฉันไม่ใช่พระโสดาบัน เพียงแต่ว่าท่านไม่ใช่พระอรหันต์ เพราะว่าเขาคิดว่าต้องไม่โกรธ ไม่โลภ ไม่หลง ไม่อะไรเลยทั้งสิ้น แต่พระโสดาบันเพียงแต่ว่าอบรมเจริญปัญญา รู้แจ้งสภาพธรรมที่เป็นอริยสัจธรรม ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดง ดับความเห็นผิด ความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ทรงแสดงว่า สภาพธรรมเกิดจึงปรากฏ

    เราค่อยๆ ฟังไปทีละนิด แม้ว่าเราไม่ประจักษ์การเกิดเลย แต่เหตุผลมีไหมว่า สภาพธรรมที่ปรากฏเพราะเกิด ถ้าไม่เกิดจะปรากฏได้อย่างไร ต้องเกิดแล้วปรากฏ แล้วดับ เพราะฉะนั้น กว่าจะประจักษ์เกิด สภาพธรรมที่ปรากฏเกิดแล้วดับ จะยากสักแค่ไหน แต่จริง ทรงแสดงเหตุผลประการต่างๆ ให้เห็นถูกต้องตามความเป็นจริงว่า เป็นอย่างนั้น อย่างนั้น อย่างนั้น

    แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเริ่มเห็นพระคุณ แล้วก็ยังพระธรรมอีก ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ คุณมัณฑนา เคยพูดไหม เคยสวดใช่ไหม คำแปลก็คือ มีพระธรรมเป็นสรณะ แต่พระธรรมจะเป็นสรณะ พระพุทธเจ้าจะเป็นสรณะ พระสงฆ์จะเป็นสรณะได้อย่างไร ถ้าไม่ใช่อริยะ อริยะ คือผู้ประเสริฐ ที่ภาษาไทยเราใช้คำว่า อารยะ มาจากคำว่าอริยะ แต่ประเสริฐคนละอย่าง อารยธรรมก็ประเสริฐทางโลก โลกชอบสิ่งใหม่ๆ ที่วิจิตร อะไรที่ใครทำให้วิจิตรขึ้นมาก็สรรเสริญ รางวัลที่ ๑ รางวัลชมเชย ก็แล้วแต่จะประดิษฐ์อะไรที่ใหม่ขึ้นมา นั่นทางโลก เป็นอารยะทางโลก ความเจริญทางโลก แต่ความเจริญทางจิตใจ ทางธรรม ต้องเป็นเรื่องของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ความเจริญทางด้านวัตถุ แต่ว่าเป็นความเจริญที่จะทำให้ผู้นั้นสามารถที่จะดับกิเลส ไม่เกิดอีกเลย เป็นขั้นๆ อย่างพระโสดาบันท่านก็ดับความเห็นผิด ความไม่รู้ในการเกิดดับของสภาพธรรม แต่ท่านก็ยังมีโลภะ โทสะ โมหะ จะเกิดอีกอย่างมากเพียง ๗ ชาติ ฟังแล้วไม่อยากเป็น ใช่ไหม เกิดอีก ๗ ชาติ ดูสิ เราหมดสนุก หมดอะไรๆ ไปตั้งมากมาย แค่ ๗ จะพออย่างไร ประเดี๋ยวก็ชอบ ประเดี๋ยวก็ชอบ ประเดี๋ยวก็ชอบ แค่ ๗ ใช่ไหม เหมือนไม่อยาก แต่ไม่ต้องกลัว ไม่ถึง ไม่ถึงแน่นอน ถ้าเรายังยากจะเกิด แล้วก็ไม่ยาก จะเป็นพระโสดาบัน ไม่มีทางถึง เพราะว่าไม่ใช่ถึงด้วยความอยากหรือไม่อยาก แต่ถึงด้วยการอบรมเจริญปัญญาถึงระดับที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมหรือยัง ถ้ายังไม่ถึง ไม่ต้องไปพยายามไขว่คว้า เหมือนกับมดตัวเล็กอยู่ข้างล่าง แล้วภูเขาหิมาลัยอยู่ข้างบน คนละเรื่องเลย แต่ถ้าค่อยๆ เดิน ค่อยๆ อบรมไปทีละชาติ ๒ ชาติ ปัญญานั่นแหละที่จะทำให้เราบ่ายหน้าไปสู่ทางที่จะดับกิเลส แล้วก็ค่อยคลายความติดข้องในความเป็นเรา ในการที่จะยังมีเราต่อไป

    ผู้ฟัง อยากให้ท่านอาจารย์แสดงถึง เรื่องอริยสัจธรรม อริยสัจ ๔ และความสำคัญของอริยสัจ ๔ ให้พวกเราทราบ

    ท่านอาจารย์ นี่ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ถ้ารู้ว่าเป็นธรรมเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป นั่นก็คือทุกขอริยสัจธรรม ก็เป็นประการที่ ๑ แล้วก็ความที่เราต้องการทุกสิ่งทุกอย่าง ยังไม่อยากจะไปรู้สภาพธรรมก็มี ใช่ไหม อย่างเมื่อกี้นี้ พอเราออกพ้นห้องนี้ ความรู้ธรรมตามเราไปหรือเปล่า เห็นไหม ทันทีที่ก้าวพ้นประตู คุณซีว่าอย่างไร ความรู้ธรรมตามไปด้วยหรือเปล่า

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 97
    22 มี.ค. 2567