ปกิณณกธรรม ตอนที่ 294


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๙๔

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

    พ.ศ. ๒๕๔๒


    อ.อรรณพ ในที่นี้อธิบายดังนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลายพวกเธอมีกายสงัดอยู่ในสูญญาคารเพื่อพอกพูนจิตตวิเวก คือ ฌาน ถ้าประชุมกันบางครั้ง ครั้นพวกเธอประชุมกันอย่างนี้ พึงให้ธัมมีกถาที่เกี่ยวด้วยอนิจลักษณะเป็นต้นแห่งสภาวธรรม มีขันธ์เป็นต้น เป็นไปโดยเป็นอุปการะแก่กัน และกัน อันนี้จะต้องเป็นสติปัฏฐานแน่ เพราะเกี่ยวกับสภาวธรรม

    ท่านอาจารย์ การอ่าน หรือการศึกษาธรรมต้องเป็นความเข้าใจให้ถูกต้อง เพราะเหตุว่าตามระดับขั้นของแต่ละบุคคลไม่ใช่ได้ฌานเสมอ คนที่ไม่ได้ฌานแล้วนิ่ง จะให้ทุติยฌานเกิดก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าไม่ถึงระดับขั้นนั้น กำลังเป็นการอบรมเจริญปัญญา ซึ่งแต่ละคนก็สามารถที่จะรู้การสะสมของตนเองตามความเป็นจริง ไม่ใช่เมื่ออ่านข้อความนี้แล้วจะนิ่งอย่างพระอริยะได้ต่อเมื่อเป็นทุติยฌาน ก็ไม่ใช่ ก็ตามกำลังของปัญญาในขณะนั้น

    ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก การศึกษาต้องพิจารณาให้ตรงตามความเป็นจริง อย่างรอบคอบ แล้วก็จะทำให้ไม่สับสน ถ้าเพียงแต่ศึกษาตัวอักษร ก็จะเกิดความสงสัยว่า ถ้าคนที่ไม่ได้ฌานจิตถึงทุติยฌาน แล้วจะนิ่งแบบพระอริยะได้อย่างไร หรือแม้กระนั้น ขณะที่นิ่งอย่างนั้น ก็ไม่ใช่ประโยชน์ที่แท้จริง ใครก็ตามที่ได้ถึงทุติยฌาน แล้วก็นิ่งอย่างทุติยฌาน แต่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง ก็ออกจากสังสารวัฏไม่ได้ เป็นพระอริยบุคคลไม่ได้ แม้ว่าจะได้ถึงฌานขั้นสูงที่สุด คือ ทั้งรูปฌาน และอรูปฌาน

    อ.สมพร ธรรมที่อบรม สำหรับพวกเราต้องเป็นธรรมที่สัปปายกถา คือต่างจากภิกษุ ในสมัยก่อนนั้นภิกษุท่านตั้งอยู่ในที่เงียบสงัด ท่านเจริญสมถกรรมฐานส่วนมาก แล้วก็เจริญวิปัสสนากรรมฐาน เรียกว่า สัปปายกถาสำหรับท่าน แต่สัปปายกถาของผู้ที่ไม่ได้ออกบวช ที่ครองเรือนอยู่นี้ ต้องถือตามแนวที่ท่านอาจารย์เคยแนะนำว่า ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะว่าสัปปายกถาอย่างนี้ สัปปายกถา แปลว่า กถาที่เหมาะสม สำหรับพวกเรา สำหรับพวกฆราวาสซึ่งหาที่สงัดไม่ได้ ไม่เหมือนภิกษุออกบวชแล้ว ไม่มีเรือน นั่นส่วนหนึ่ง แต่พวกเรานี้อยู่ในบ้าน จะต้องใช้สัปปายกถาที่เหมาะสมตามที่กล่าวนั้น

    ผู้ฟัง ลักษณะของธรรมที่ปรากฏ ถ้าคนที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังอะไรเลย ก็จะต้องศึกษาคำว่า ลักษณะของสภาพธรรมก่อนว่า ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละชนิด แต่ละประเภทคืออย่างไร แล้วลักษณะของสภาพธรรมนี้เราจะศึกษาได้จากลักขณาทิจตุกะ หรือว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจว่า ธรรม ก็จะรู้ว่า ธรรมต้องมีลักษณะให้รู้ได้ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่ว่าได้ยินชื่อธรรม แล้วก็ไม่รู้ว่าธรรมอยู่ที่ไหน มีลักษณะอย่างไร ถ้าเข้าใจคำว่า ธรรม หมายความว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีลักษณะที่ปรากฏให้รู้ได้ เช่นในขณะนี้กำลังเห็น ธรรมมีปัจจัยเกิดขึ้นไม่ว่างเว้นเลยขึ้นอยู่กับว่า ขณะใดที่สามารถจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมได้ โดยรู้ลักษณะของสภาพที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่เพียงแต่ฟังเรื่องลักขณาทิจตุกะว่า ธรรมนี้มีลักษณะอย่างนี้ มีกิจอย่างนี้ มีอาการปรากฏอย่างนี้ มีเหตุใกล้ให้เกิดอย่างนี้ นั่นคือเรื่องจำทั้งหมด แต่ว่าลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมปรากฏให้ศึกษาว่า ตรงกับที่ได้ฟังมาหรือเปล่า เช่น ในขณะนี้ทางตา กว่าจะเข้าใจจริงๆ ด้วยความมั่นคงว่า เป็นธรรม สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นธรรม ถ้าเข้าใจว่าธรรมคือสิ่งที่มีจริง ปรากฏให้รู้ได้ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ การฟังธรรมให้เข้าใจพร้อมกับสัญญา ที่จำในสิ่งที่เข้าใจมั่นคงขึ้น เช่นธรรม คือ สิ่งที่กำลังปรากฏ ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง ทางตาที่กำลังเห็น ต้องมีสัญญาความจำที่มั่นคงว่า เป็นธรรมก่อนอื่น แล้วก็ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏก็มีจริงๆ คือกำลังปรากฏในขณะนี้ให้เห็น ถ้าไม่มีจริง ก็ไม่มีใครสามารถจะเห็นธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ได้ แต่เพราะเหตุว่าธรรมมีลักษณะจริงๆ ปรากฏจริงๆ ทางตาในขณะนี้เป็นลักษณะของธรรมอย่างหนึ่ง กว่าเราจะเข้าใจจริงๆ ว่า เป็นธรรม ทั้งหมดก็ต้องเริ่มจากการฟังแล้วการพิจารณาในเหตุผล จนกว่าจะเข้าใจด้วยความจำที่มั่นคง แล้วก็จะมีการระลึกศึกษาจนกว่าจะปรากฏชัดว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา ตามปกติที่เคยเห็นมา ไม่ใช่แต่เฉพาะวันนี้ ตั้งแต่เกิด ชาตินี้ และชาติก่อนๆ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็คือในขณะนี้เองที่กำลังปรากฏ แต่เมื่อไม่รู้ว่า เป็นธรรม ก็จะต้องฟังพระธรรม แล้วก็ค่อยๆ พิจารณาจนกระทั่งมีความเข้าใจจริงๆ ว่า เป็นธรรม แล้วจึงจะมีการระลึกที่จะศึกษาให้เข้าใจยิ่งขึ้น ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ จนประจักษ์แจ้งจริงๆ ในความหมายของคำว่า ธรรม เพราะเหตุว่าไม่ใช่สิ่งที่เราเคยยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นแต่เพียงสิ่งที่มีจริง ลักษณะหนึ่งซึ่งสามารถจะปรากฏโดยกระทบกับจักขุปสาท จึงปรากฏได้ ถ้าไม่กระทบกับจักขุปสาท แม้สิ่งนั้นมีจริง สีสันวัณณะต่างๆ แสงสว่างต่างๆ เหล่านี้มีจริง แต่ก็จะปรากฏไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้กระทบกับจักขุปสาท

    นี่คือการฟังด้วยความเข้าใจ แล้วก็ให้ทราบว่า ที่ศึกษาทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นพระไตรปิฎก หรืออรรถกถา ก็เพื่อให้ศึกษาลักษณะแท้จริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    อ.อรรณพ พอเข้าใจไหมว่า ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตามีลักษณะอย่างไร ตอบได้ไหม อาจารย์เพิ่งพูดไปเดี๋ยวนี้ สิ่งที่ปรากฏทางตา ลักษณะของเขาคือกระทบจักขุปสาท ในขณะนี้จริงๆ อย่างนี้มีไหม สิ่งที่ปรากฏทางตากระทบจักขุปสาท จักขุวิญญาณเกิด มีผัสสะ ก็เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วถ้าเผื่อฟังไป ฟังไป สติมีกำลังขึ้นมาก็ระลึกรู้ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญที่สุดที่จะไม่หลงทาง ในพระพุทธศาสนาคือว่า มีความเข้าใจให้ถูกต้องว่า สิ่งที่ทำให้เราเกิด แล้วก็วนเวียนไปในสังสารวัฏไม่รู้จบ คือ โลภะ หรือตัณหา ซึ่งเป็นความติดข้อง ถ้ายังไม่เห็นลักษณะของโลภะ ความติดข้อง ก็ละไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็จะทำให้เรา ไม่ว่าจะฟังธรรม หรือว่าอ่านศึกษาก็ตาม แต่ถ้าไม่ใช่ผู้ที่ละเอียด จะหลงทางตามโลภะทันที คือต้องการที่จะเห็นชัด หรือว่าเป็นการอบรมความรู้ความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม แล้วก็มีความละเอียดที่จะรู้ว่า ต่างกับที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อน ไม่เคยรู้มาก่อน

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นการละความไม่รู้ ความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่ใช่ต้องการอะไรซึ่งเกินวิสัย ซึ่งขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ คือ ทางตาเห็น แต่อยากจะว่า ทำอย่างไรถึงจะสามารถที่จะประจักษ์ชัดในความเกิดขึ้น และดับไป นี่ไม่ใช่วิสัย เพราะเหตุว่าเป็นตัวตน เป็นความต้องการอย่างยิ่ง ซึ่งไม่เข้าใจเลยว่า ความไม่รู้มีมากเท่าไร ความติดข้องในสภาพธรรมในแสนโกฏิกัปป์จนถึงขณะนี้มากเท่าไร แล้วก็จะค่อยๆ จางลง ใช้คำว่า “จางลง” ด้วยปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรม ตั้งแต่ขั้นการฟังยิ่งฟังก็ยิ่งจะรู้ว่า ต้องเป็นการอบรมความรู้ความเข้าใจให้ตรง ให้ถูก เพื่อละความต้องการ ไม่ใช่เพื่อฟังแล้วยิ่งต้องการ หรือว่าหาทางที่ต้องการ ที่จะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม ซึ่งขณะนั้นไม่ใช่ความรู้

    การตั้งจิตไว้ชอบ ต้องด้วยปัญญาที่สะสมมาแล้วในอดีต จากการฟัง แล้วก็พิจารณาแล้วก็เข้าใจจริงๆ ว่า สภาพธรรมแม้ปรากฏก็เป็นสิ่งที่เห็นยาก เพราะลึกซึ้ง ที่จะเห็นว่าเป็นธรรม เพียงเห็นว่าเป็นธรรม ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย แต่เป็นสิ่งที่มีจริงลักษณะต่างๆ ที่ปรากฏแต่ละทาง คือ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็มีลักษณะอย่างนี้ สิ่งที่ปรากฏทางหูก็อีกลักษณะหนึ่ง เป็นธรรมอีกอย่างหนึ่ง ตลอดไปจนถึงทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนกว่าจะรู้ทั่วจริงๆ ว่าเป็นธรรมทั้งหมด ละความไม่รู้ ละความต้องการ ที่จะไปถึงการเกิดดับ โดยที่ปัญญาไม่รู้ความละเอียดของสภาพธรรมในชีวิตประจำวัน

    เรื่องการที่จะประจักษ์สภาพธรรมได้เมื่อไร อย่างไร มีวิธีอะไรบ้างที่จะทำให้รู้ได้เร็ว หรืออะไรอย่างนั้น แสดงให้เห็นว่า ผู้นั้นหลงทางตามโลภะ โดยที่ไม่รู้ตัวเลย

    พระธรรมทั้งหมดจะเกื้อกูล โดยทรงแสดงไว้ว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงนั้น เพื่อรู้ และละ ต้องรู้จึงจะละได้ ถ้าไม่รู้ก็ไม่ละ เพราะฉะนั้น ไม่มีการที่จะไปถามหาทางอื่นที่จะทำให้สามารถที่จะไปรู้โน้น รู้นี่ แต่เป็นการฟังด้วยดี แล้วก็พิจารณาให้เข้าใจว่า สภาพธรรมแม้มีจริง เพียงแต่ให้เข้าใจ และเห็นจริงว่า เป็นธรรม ก็ยาก แต่ว่าอาศัยการฟัง ค่อยๆ พิจารณา ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ก็จะทำให้ค่อยๆ จางความไม่รู้ลงไปทีละเล็กทีละน้อย สภาพธรรมจึงจะปรากฏตามความเป็นจริงได้

    ผู้ฟัง ผู้ฟังใหม่ๆ ก็จะอบรมทางตาแล้ว ใหม่ๆ คงจะต้องศึกษาไปเรื่อยๆ ก่อนจนถึงขั้นนามรูปปริจเฉทญาน ผมว่าพอจะระลึกได้ว่า รูปกับนามนี่ คงจะเป็นคนละอย่างจริงๆ หรือจะเป็นอย่างอื่น ผมก็ยังไม่ถึงขั้นนั้น ทั้งรูปทั้งนาม จะสังเกตอย่างไร ตรงนี้ก็ยังเป็นประเด็นอยู่ ผมก็ต้องถามอย่างนี้ก่อน

    ท่านอาจารย์ ผู้ฟังที่จะอบรมเจริญปัญญาทางตา

    ผู้ฟัง เป็นอนัตตา

    ท่านอาจารย์ เป็นอนัตตา แล้วทำไมทางตา ทำไมจะอบรมเจริญปัญญาทางตาเมื่อเป็นอนัตตา

    ผู้ฟัง เพราะว่า คำถามเบื้องต้น ก็เห็นสนทนากันทางตา

    ท่านอาจารย์ คนอื่นคงจะไม่เกี่ยว หมายความว่า ผู้ฟังจะได้รับฟัง มีโสตปสาทก็มีเสียงกระทบ แต่ว่าเมื่อเสียงกระทบได้ยินแล้วต้องพิจารณา เป็นเรื่องของผู้ฟังโดยเฉพาะแต่ละบุคคล ไม่เกี่ยวกับคนอื่น คนอื่นจะพูดอะไรก็ได้ แต่คนฟังคิด พิจารณาความถูกต้องว่า ถ้ามีผู้ฟังที่จะอบรมเจริญปัญญาทางตา เป็นอนัตตา หรือเป็นอัตตา

    อ.อรรณพ การเจาะจงที่จะเจริญสติปัฏฐานทางตาก็ดี ทางหูก็ดี อย่างนี้เป็นอัตตาหรืออนัตตา สภาพธรรมจะเกิดขึ้นต้องมีเหตุมีปัจจัย เขาเกิดขึ้นเพราะเหตุ เพราะปัจจัย แล้วสติคุณจะระลึก หรือไม่ระลึกก็ต้องมีเหตุมีปัจจัยที่จะระลึก แล้วแต่สภาพธรรมใดจะปรากฏ เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานทางตานี้ อันนี้เป็นอัตตา สติปัฏฐาน ไปเจาะจงที่จะเจริญทางใดทางหนึ่งไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ผู้ฟังจะเจริญสติปัฏฐานทางตา ใช้คำว่า จะ ด้วย

    ผู้ฟัง จริงๆ แล้ว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตรงนี้อาจารย์ก็สั่งสอนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ต้องอบรม ระลึกรู้สภาพธรรม แต่ว่าขณะนี้ เราจะมาวิเคราะห์กัน ถึงทางตาว่า จะสังเกตอย่างไร รูปธรรม นามธรรม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เรื่องสังเกตอย่างไร เรื่องฟังพระธรรมให้เข้าใจว่า เป็นธรรม ให้เข้าใจจริงๆ ว่า เป็นธรรม เพียงธรรมคำเดียว ฟังเข้าใจว่า เป็นธรรม แต่ที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นธรรมนั้น นั่นอีกขั้นหนึ่ง

    ผู้ฟัง อาจารย์เสนอว่า ถ้าเป็นธรรมอย่างเดียวนี่ ก็ต้องค่อยๆ ศึกษาตรงนี้ก่อน

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    อ.อรรณพ ต้องฟังให้ดีด้วย จะเจริญไม่ได้

    ผู้ฟัง ทางตาเอง ผมก็พยายามพิจารณา

    อ.อรรณพ พยายามก็ไม่ได้ พยายามทางตาก็ไม่ได้ จะเจริญทางตาก็ไม่ได้

    ผู้ฟัง ถ้าเราไม่รู้ถึงแนวทางเบื้องต้น แล้วอบรม ผมว่าจะยิ่งยากกว่า

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นผู้ละเอียด เพราะเหตุว่าพระธรรมละเอียด โดยเฉพาะอริยสัจ ๔ ละเอียดหมดทั้ง ๔ อริยสัจ แม้แต่มรรคสัจก็ละเอียด ไม่ใช่ว่าไม่มีความเข้าใจ แล้วก็จะไปพยายาม แต่เป็นเรื่องการฟังผู้ที่เป็นสาวกต้องฟัง เป็นพหุสูตร ฟัง จำ เข้าใจในสิ่งที่ฟัง จำในสิ่งที่เข้าใจ

    ผู้ฟัง อาจารย์เคยพูดในวิทยุว่า ต้องสนทนาด้วย

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    อ.สมพร ผมเพิ่มเติมอีกนิดหนึ่ง ก็เคยกล่าวไว้แล้ว การที่เห็นสีครั้งหนึ่งทางตา มนสิการทางมโนทวารว่า ธรรมทั้งหลายไม่ใช่อัตตา มีปัจจัยประชุมกัน ๔ อย่างพร้อมกัน จึงเกิดการเห็นขึ้นครั้งหนึ่งทางตา มนสิการทางมโนทวาร ขณะที่เห็นแล้วก็มนสิการ ทางมโนทวาร เพราะว่าทางจักขุทวารกับมโนทวารเกิดคู่กันเสมอ เมื่อเห็นแล้ว ก็ มนสิการทางมโนทวารว่า ธรรมทั้งหลายเกิดจากปัจจัย การที่จะเห็นได้ เพราะปัจจัย ๔ อย่างประชุมกันครั้งหนึ่งแล้วก็เห็นครั้งหนึ่ง ก็ดับไป จิตนั้นดับไป แต่ว่าปัจจัยที่ให้เห็น สีเป็นต้นยังไม่ดับ มีกำลังต่อไปอีก ๑๗ ขณะ ปัจจัย ๔ อย่างประชุมพร้อมกัน ต้องพร้อมกัน จึงเกิดการเห็น ถ้าไม่พร้อมกันก็ไม่มีการเห็น ปัจจัย ๔ อย่าง ๑. สี ๒. ตา ๓. แสงสว่าง ๔. ปัญจทวาราวัชชนะ หรือมนสิการก็ได้ เมื่อปัจจัย ๔ อย่างนี้ประชุมพร้อมกันแล้วจึงเกิดการเห็นขึ้นครั้งหนึ่ง นี่ทางตา แต่ว่าเรามนสิการทางมโนทวาร

    ผู้ฟัง ไม่ทราบจะเป็นความเข้าใจผิดหรือเปล่าว่า ถ้าสติปัฏฐานเกิด ก็คือไม่สงสัยในทวารหนึ่ง เช่น ทางหู ไม่สงสัยว่า ระลึกศึกษาอย่างไร แต่พอถึงทางตา สงสัยว่าจะระลึกศึกษาอย่างไร จะเป็นไปได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่า ความสงสัย สงสัยหมดทุกอย่าง ในขณะที่ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าสติเริ่มระลึกศึกษาลักษณะของสภาพธรรมใด ความสงสัยในสภาพธรรมอื่น ซึ่งสติยังไม่เกิด ยังไม่ได้ระลึก ยังไม่ได้ศึกษา ต้องมี

    ผู้ฟัง แต่หมายถึงว่า การระลึกศึกษานี้ ถ้าสติปัฏฐานทางหูเกิด ทางตาไม่เคยเกิด ก็เลยสงสัยว่า สติปัฏฐานทางตาจะเกิดอย่างไร

    ท่านอาจารย์ จะเกิดอย่างไร ก็เหมือนอย่างทางหูเกิดอย่างไร

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น อย่างที่เมื่อครู่นี้ออกมาถามว่า สติปัฏฐานทางหูไม่สงสัย หรือว่าความเข้าใจสภาพธรรมทางหูไม่สงสัย แต่ว่าทางตาสงสัยว่าจะพิจารณาอย่างไร

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า คนนั้นไม่รู้ลักษณะของสติที่เกิดว่า เป็นอนัตตา มีปัจจัยจึงได้เกิด แล้วขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่มีสติต่างกันอย่างไร การศึกษาธรรม อย่าข้าม แล้วอย่าคิดว่า รู้แล้ว ที่รู้แล้วทั้งหมดก็อาจจะมาตั้งต้นหาความละเอียดของสิ่งที่เข้าใจว่ารู้แล้วว่า แท้ที่จริงที่ว่ารู้แล้ว รู้อะไร รู้จริงๆ หรือเปล่า หรือเพียงแต่ฟัง แล้วคิดว่าเข้าใจหมดแล้ว

    ผู้ฟัง การกระทบของรูปกับรูป ซึ่งทางตาก็คือ สีกระทบกับจักขุปสาท แต่สำหรับตัวดิฉันเองจะรู้ลักษณะของการกระทบดีมากๆ ก็ทางกายวิญญาณ คือ ทางกาย กายปสาท ขณะนั้นจะระลึกเข้าใจลักษณะของการกระทบได้ดี เพราะว่ามันชัดเจน มันมีรูปกระทบรูปจริงๆ แต่สำหรับทางตา บางทีไม่ค่อยเข้าใจว่า อะไรกระทบอะไร เพราะว่า สี ก็ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร จักขุปสาทก็ยังไม่เคย

    ท่านอาจารย์ คุณพันทิพา สี ไม่เข้าใจว่าเป็นอย่างไร หมายความว่าเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง สีปรากฏเป็นสี คือ ความสว่าง เรารู้ว่าเป็นรูป แต่ลักษณะของการกระทบไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ที่เราใช้คำว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา จะหมดความสงสัยไหมในขณะนี้

    ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏทางตานี้เข้าใจ เพราะว่าปรากฏ ที่เรียนถามนี้ ลักษณะของการกระทบ จะเรียนถามอันนี้ ซึ่งจะปรากฏรู้สึกถึงลักษณะการกระทบทางตา หรือทางหู เป็นบางครั้ง คือ เวลาที่มีแสงสว่างจ้าๆ หรือในขณะที่เราอยู่ในที่มืด แล้วมีแสงสว่างจ้ามากระทบตา ก็จะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับว่า มีสีกระทบตา ตอนนั้นว่ามีการกระทบ หรือการได้ยินเสียงดังๆ แล้วก็กระทบหู ตอนนั้นจะมีความเข้าใจ มันมีลักษณะเหมือน การกระทบเหมือนกับทางกาย ก็จะเรียนถามว่า นี่คือการศึกษาเกี่ยวกับการกระทบของรูปกับรูปทางปสาทต่างๆ ใช่หรือไม่ คืออันนี้ก็เป็นเพียงการระลึกศึกษา ไม่ใช่เป็นสติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรมต้องเข้าใจอรรถ พยัญชนะด้วย แม้แต่คำว่า กระทบ ที่ทรงแสดงว่ามี สภาพธรรมที่กระทบได้ หมายความถึงลักษณะของสภาพธรรมสามารถจะกระทบ เช่น จักขุปสาทกับรูปารมณ์ หมายความถึงสิ่งที่ปรากฏทางตากระทบกับจักขุปสาทได้ โสตปสาทก็กระทบกับเสียง เสียงสามารถจะกระทบโสตปสาทได้ คือแสดงถึงสภาพธรรมที่สามารถกระทบ แต่ไม่ได้หมายความว่า ให้ใครไปรู้ลักษณะกระทบ หรืออาการกระทบ เพราะเหตุว่าขณะนี้สภาพธรรมทั้งหมด มากมายหลากหลาย นับไม่ถ้วน แต่ว่าถ้าทรงแสดงโดยประมวล คือว่า มีสภาพธรรมที่ต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือลักษณะหนึ่งเป็นนามธรรม อีกลักษณะหนึ่งเป็นรูปธรรม นี่คือการตั้งต้น

    เพราะฉะนั้น เวลาที่อบรมเจริญปัญญาต้องตั้งต้นตรงตามที่ได้ศึกษาด้วย มิฉะนั้นก็จะสับสน คือ ไปรู้การกระทบหรือไปรู้อะไร แต่ความจริงเมื่อตั้งต้นทราบว่า มีสภาพธรรม ๒ อย่างซึ่งมีลักษณะที่ต่างกัน คือ สภาพธรรมอย่างหนึ่งนั้นไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ฟัง พิจารณา เริ่มเข้าใจ เริ่มพิสูจน์ว่า เป็นจริงอย่างนั้นหรือไม่ อย่างสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ ไม่รู้อะไรเลย แต่ว่าเห็นเป็นสภาพธรรมที่เป็นธาตุรู้ คือสามารถที่จะเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ ฉันใด จากการศึกษาที่เริ่ม เวลาที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็จะต้องอบรมจากการสามารถที่จะรู้ความต่างกัน ของลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม เพราะว่ารูปธรรมก็มีมาก นามธรรมก็มีมาก

    นี่โดยการฟัง แต่โดยลักษณะแท้จริง ที่จะปรากฏว่า ธาตุที่เป็นนามธรรม ไม่เกี่ยวข้องกับรูปธรรมใดๆ ทั้งสิ้น ไม่เกี่ยวข้องในที่นี้หมายความว่า ไม่ใช่รูปชนิดหนึ่งชนิดใด แล้วลักษณะของรูปก็ไม่ใช่นามชนิดหนึ่งชนิดใด ไม่ว่ารูปที่จะมองเห็นหรือมองไม่เห็นก็ตาม รูปก็ยังคงเป็นรูป ไม่ใช่นามธรรม

    ถ้าศึกษาโดยลำดับอย่างนี้ อบรมเจริญปัญญาอย่างนี้ ก็จะเข้าใจว่า ที่พูดว่าลักษณะกระทบ กับเข้าใจเรื่องการกระทบ ผิดกัน เพราะฉะนั้น เวลาที่ศึกษาว่า มีรูปที่สามารถกระทบกันได้ ๑๐ รูป นี่เป็นการฟัง เข้าใจว่า มีการกระทบได้ เช่นเสียงกระทบกับหูได้ กระทบกับรูปอื่นไม่ได้ กลิ่นกระทบกับจมูก ฆานปสาทได้ กระทบกับรูปอื่นไม่ได้

    นี่คือความเข้าใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ไปรู้การกระทบ เพราะเหตุว่าต้องรู้ลักษณะที่ปรากฏ ซึ่งต่างกันเป็นามธรรม หรือรูปธรรมก่อน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 97
    23 มี.ค. 2567