ปกิณณกธรรม ตอนที่ 269


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๖๙

    สนทนาธรรม ที่ บริษัทเดลี่กูดส์ จำกัด ถ.สุขสวัสดิ์ เขตราชบูรณะ

    มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๒


    ท่านอาจารย์ อย่างที่เราถามกันว่า จิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล หมายความว่า คำถามของเราไม่ได้รู้สภาพจิต จึงได้ถามเพียงชื่อ และเรื่องราวว่า อย่างนั้นเป็นกุศล หรืออย่างนี้เป็นอกุศล แต่เวลาที่สภาพจิตอย่างไรเกิด สติสัมปชัญญะระลึกแล้วรู้ ขณะนั้นลักษณะของจิตที่เป็นกุศลต่างกับจิตที่เป็นอกุศล แล้วเป็นอกุศลประเภทไหน กามฉันทะ หรือพยาบาท หรือวิจิกิจฉา หรืออะไรที่เป็นนิวรณ์ทั้งหมด เพราะอกุศลทั้งหมดเป็นนิวรณ์ ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาจริงๆ แล้วคนในครั้งโน้นที่อบรมเจริญสมถภาวนา ท่านเหล่านั้นเห็นโทษของโลภะ แต่เราเห็นโทษของโลภะหรือเปล่า แต่เราต้องการ ต้องการละ ขณะนั้นเป็นโลภะก็ไม่รู้ แต่ถ้าเรานั้นสามารถที่จะรู้ว่า เพียงเห็นเป็นอกุศลแล้ว ติดแล้ว เพียงได้ยินก็ติดข้องแล้ว เร็วมาก แล้วก็บางเบามาก เพราะเหตุว่าเรามักจะเห็น อกุศลหยาบๆ ใหญ่ๆ พอเห็นใครที่เขาโกง ทุจริต เราก็บอกว่าเขามีโลภะมาก แต่ว่าพอเห็นแล้วชอบ ยังไม่ทันรู้ตัวเลยว่า เป็นโลภะ บางคนเขาก็เดินไปตามถนน แล้วเขาบอก อันนั้นสวยดี เป็นโลภะ แต่ก่อนที่จะสวยดี โลภะเท่าไรแล้ว ก็ไม่ทราบ ทันทีที่ลืมตาตื่นขึ้นมา ก็มีความติดข้อง ซึ่งผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนาถูกต้องในครั้งโน้น ที่จิตจะสงบ จนถึงขั้นระดับของอัปปนาสมาธิ ท่านต้องเห็นโทษของโลภะ แล้วรู้ว่าถ้าตราบใดที่ยังมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือแม้เพียงการคิดนึกเรื่องราวของสิ่งต่างๆ เหล่านี้ จิตก็ไม่สงบ

    ท่านรู้ลักษณะของจิตที่เป็นกุศล ซึ่งต่างกับอกุศล แล้วรู้ว่าการที่จะตรึกนึกถึงสิ่งที่ทำให้จิตสงบเป็นกุศล ต้องอาศัยสภาพธรรมที่ตรึก คือ นึกบ่อยๆ ในสภาพธรรมที่ทำให้จิตเป็นกุศล ไม่ใช่ไปนึกอะไรก็เป็นกุศลไปหมด ไม่ได้ อย่างเห็นซากศพซึ่งเป็นอสุภกรรมฐาน คนนั้นต้องเป็นผู้ตรงว่า เห็นแล้วกลัว หรือว่าเห็นแล้วปัญญามี ขณะนั้นจิตจึงสงบได้ แต่ถ้าปัญญาไม่มี จิตไม่สงบ เพราะฉะนั้น ท่านสามารถที่จะรู้สภาพของจิต แล้วก็ขณะใดที่จิตเป็นอกุศล ปัญญาก็รู้ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล แล้วก็ตรึกอย่างไรกุศลจิตจะเกิด จนกระทั่งจิตของท่านเป็นกุศลขึ้น เป็นกุศลขึ้น เป็นกุศลขึ้นในอารมณ์ ในสภาพของอารมณ์ คือสิ่งที่จิตรู้ที่ทำให้สงบ

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าง ไม่ใช่ไม่มีปัญญา ต้องประกอบด้วยปัญญาที่สามารถจะรู้ ลักษณะของจิตด้วย นั่นจึงจะเป็น สมถภาวนา นี่คือ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สอบทานได้กับพระไตรปิฎก มีเหตุมีผลที่จะทำให้เราสามารถเข้าใจทุกคำที่เราได้ยินอย่างถูกต้อง พอเขาบอกว่าสงบ เราสงบไปด้วย โดยเราไม่รู้ว่า สงบคืออะไร สงบจะเกิดได้อย่างไร จะมั่นคงขึ้นได้อย่างไร เพราะอะไร ไม่มีคำอธิบาย ไม่มีเหตุผล มีแต่เรื่องทำด้วยโลภะ หรือด้วยความต้องการ ถ้ามีความต้องการ แล้วก็ไปนั่งทำด้วยความต้องการ อาจารย์กับศิษย์ก็ช่วยกันไป ทำกันไป พอเกิดว่างๆ ดีใจติดข้อง ชอบไปอีก คือไม่มีพระธรรมเป็น สรณะ

    ถ. ยังข้องใจอยู่ว่า มองดูอย่างท่านปัญจวัคคีย์ ท่านก็สำเร็จอภิญญาโดยใช้สมาธิ โดยไม่มีพระธรรม

    ท่านอาจารย์ ท่านปัญจวัคคีย์ องค์แรก คือ ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ บรรลุมรรคผลหลังจากที่ฟังธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

    ผู้ฟัง เพราะว่าท่านมีสมาธิที่ดี แล้วท่านถึงจะได้วิปัสสนา อย่างนั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นมีการฟังเข้าใจ สำคัญที่สุดคือเข้าใจ ขณะนี้ไม่ต้องห่วงเรื่องสมาธิ ถ้าศึกษาแล้วจะทราบว่า สมาธิ หรือ เอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะ ใครจะไม่ให้เอกัคคตาเจตสิกเกิดไม่ได้เลย เป็นสภาพธรรมที่ต้องเกิดกับจิต มีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า พระปัญจวัคคีย์ขณะนั้นไม่ได้ไปเจริญฌาน หรืออะไรเลย แต่ฟังพระธรรม แล้วเมื่อจบเทศนาก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน

    ผู้ฟัง สมัยที่พระพุทธเจ้าที่ยังไม่ตรัสรู้ ท่านก็ไปเรียนกับพวกปัญจวัคคีย์

    ท่านอาจารย์ ปัญจวัคคีย์เป็นศิษย์ที่อุปัฏฐาก ระหว่างที่บำเพ็ญทุกรกริยา มี ๕ รูปด้วยกัน เป็น ปัญจวัคคีย์ คือว่าพวกนี้มี ๕ คน

    ผู้ฟัง ๒ องค์ ใช่ไหม อาฬารดาบส และอุทกดาบส

    ท่านอาจารย์ ปัญจวัคคีย์ ๕ องค์ อาฬารดาบสกับอุทกดาบส แต่จากการที่ได้สะสมบารมีมา ทรงทราบว่า ไม่ใช่หนทาง

    ผู้ฟัง หมายความว่า ทำสมาธิที่ได้มาก็ได้มาจาก ๒ ดาบสนี้ เสร็จแล้วพระองค์ท่านถึงมาเจริญวิปัสสนา

    ท่านอาจารย์ แต่ ๒ ดาบส ไม่ทราบ คิดว่านั่นคือการหมดกิเลส ถึงกับขอให้พระพุทธเจ้าเป็นอาจารย์สอน

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ หมายความว่า ผมหมายความว่า สมาธิไม่จำเป็นจะทำ

    ท่านอาจารย์ สมาธิไม่ได้ทำให้เกิดปัญญา เพราะว่าถ้าเกิดปัญญา ท่านอาฬารดาบส ต้องเกิดปัญญาแล้ว ต้องมีผู้ที่ตรัสรู้ก่อน

    ผู้ฟัง มี ๒ ส่วน คือ สมถภาวนากับมีวิปัสสนาภาวนา สมถะ นี้ไม่ทำให้เกิดปัญญา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ปัดเรื่องอาฬารดาบสออกไป พอถึงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่ตรัสรู้จะทรงแสดงพระธรรมได้ไหม

    ผู้ฟัง ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะอุบัติ ยกตัวอย่าง อุทกดาบส หรืออาฬารดาบสก็ได้ ฤาษีอื่นๆ ก็มากมาย ที่อาจารย์พูดว่า ผู้ที่จะสมถะ ทำให้จิตสงบ ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญา เห็นโทษของโลภะ เห็นโทษของโทสะ แต่ก่อนหน้านั้น มีผู้ที่ทำสมาธิจนกระทั่งได้ฌาน ได้อภิญญา โดยที่เข้าใจผิดว่า การทำสมาธิเพื่อจะไปถึง ปรมาตมัน อาตมัน หรือถึงพระผู้เป็นเจ้า หรืออะไรก็ตามแต่ ก่อนพระพุทธเจ้าอุบัติ พวกนี้ไม่ได้เห็นโทษของโลภะ ไม่ได้เห็นโทษของโทสะ แต่จิตเขาก็สงบระดับหนึ่ง ได้ฌานได้ถึงอัปปนา

    ท่านอาจารย์ ต้องเห็นโทษ

    ผู้ฟัง ต้องเห็นโทษด้วยหรือ

    ท่านอาจารย์ ต้องกุศลด้วย ต้องเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ไม่อย่างนั้นจะอบรมเจริญสมถภาวนาไม่ได้ เพราะเหตุว่ารูปาวจรจิต หรือแม้แต่อัปปปนาสมาธิ หรืออุปปจารสมาธิ ต้องเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์โดยตลอด

    ผู้ฟัง แต่ตอนที่เขาไปนั่งทำสมาธิ จุดมุ่งหมายเขาไม่ได้มี

    ท่านอาจารย์ อย่างน้อยมีปัญญาระดับที่เห็นโทษของโลภะ ถึงจะเจริญสมถภาวนา ถ้าไม่เห็นโทษ ไม่ต้องเลย เพราะเหตุว่ายิ่งมีรูปเสียง กลิ่น รส ที่น่าพอใจเท่าไร ก็สบายดีแล้ว

    ผู้ฟัง บุคคลทั่วไปมานั่งทำสมาธิ ก็เสียเวลา เสียประโยชน์เปล่า

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าไม่รู้ว่า สมถภาวนาคืออะไร เขาเพียงแต่ว่าไม่ชอบโทสะ เวลาที่ไม่ชอบโทสะ เขาจึงอยากจะนั่ง เพื่อที่จะไม่ได้เกิดโทสะ แต่ถ้าถามถึงเรื่องโลภะ เขาไม่เห็นโทษเลย นี่คือความต่างกันของคนสมัยโน้น กับคนสมัยนี้

    ผู้ฟัง เท่าที่ฟังความคิดของคุณอุดม จะเข้าใจว่า เพราะว่าพระพุทธเจ้าไปเรียน สมาธิก่อนจึงได้วิปัสสนา เพราะฉะนั้น สมาธิก็คือบาทของวิปัสสนา

    ท่านอาจารย์ คนละเรื่องเลย คือว่า ความสงบเป็นความสงบ เพราะฉะนั้น ในครั้งโน้นก็มีผู้ที่ได้บำเพ็ญสมถภาวนา แล้วก็เป็นผู้ที่ถึงฌานมาก แต่พวกที่ได้ฌานนั่นเองไม่ใช่ว่าจะได้วิปัสสนา เพราะเหตุว่าถ้าไม่ได้มีการฟังพระธรรม และอบรมเจริญสติปัฏฐาน เรื่องของฌานก็เรื่องของฌานไป แต่ว่าถ้าเมื่อไรบุคคลเหล่านั้นได้ฟังพระธรรม และทรงแสดงหนทางว่า หนทางที่จะรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ คือ รู้สภาพที่เป็นทุกขลักษณะ ที่เป็นอริยสัจที่กำลังเกิดดับ มีหนทางเดียว เพราะเหตุว่าขณะนี้สภาพธรรมเป็นอย่างนั้น ใครจะรู้หรือไม่รู้ สภาพธรรมก็เป็นอย่างนั้น เรากำลังบอกว่า ขณะนี้สภาพธรรมเกิดแล้วก็ดับ จิตเกิดขึ้นเห็นแล้วก็ดับ จิตเกิดขึ้นได้ยินแล้วก็ดับ สภาพธรรมเป็นอย่างนี้ ได้ฟังอย่างนี้ ใครจะประจักษ์อย่างนี้ หรือไม่ประจักษ์เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลไป แต่ความจริงก็คือความจริง เมื่อทรงตรัสรู้แล้วก็ทรงแสดง โดยที่พวกที่อบรมเจริญสมถภาวนา ไม่มีโอกาสที่จะรู้อย่างนี้เลย ถ้าไม่ฟัง

    เพราะฉะนั้น ต้องฟังคำสอนของผู้ที่ตรัสรู้ ผู้ใดที่เคยอบรมเจริญสมถะมาก่อน แล้วก็ฟังคำสอน ต้องเริ่มอบรมเจริญสติปัฏฐาน ถ้าไม่มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ปัญญาจะคลายความไม่รู้ในลักษณะที่เป็นนามธรรม รูปธรรมซึ่งไม่ใช่เรา ไม่ใช่เราเลย แต่เป็นธรรม เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น จากการฟัง ก็ยังจะต้องมีปัจจัย คือ สังขารขันธ์พอที่สัมมาสติจะระลึก แล้วเมื่อระลึกแล้ว ต้องศึกษาตัวจริงๆ คือสภาพธรรมเดี๋ยวนี้ให้เข้าใจลักษณะที่ต่างกัน ซึ่งเป็นนามธรรมก็เป็นนามธรรม รูปธรรมก็เป็นรูปธรรม คือต้องตั้งต้นใหม่ อบรมใหม่ จนกว่าปัญญาจะพร้อม และเมื่อถึงกาลที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็ไม่ได้หมายความว่า จะประกอบด้วยฌานตามที่เคยได้ แล้วแต่จะมีฌานจิต หมายความว่าองค์ของฌานเกิดร่วมด้วย หรือไม่มีองค์ของฌานเกิดร่วมด้วย ก็ตามกำลังของการสะสม แต่ว่าต้องตั้งต้นศึกษาลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่อาศัยสมาธิระดับนั้น พอถึงเวลาแล้ววิปัสสนาก็เกิดเลย เป็นไปไม่ได้ ที่จะไม่รู้เรื่องของนามธรรม รูปธรรมในขณะนี้ แล้วก็จะไปประจักษ์การเกิดดับ

    ผู้ฟัง ความเข้าใจของผม คือทำสมาธิให้มีสติตั้งมั่นที่ดี การทำวิปัสสนา ก็จะดีกว่าที่จะมาทำแบบตอนขณะที่ไม่มีสมาธิที่ดี

    ท่านอาจารย์ นี่คือความต้องการอันดับ ๑ โดยที่ไม่รู้เลยว่า เรื่องละ จะละตรงนี้ได้อย่างไร แล้วถ้าไม่ใช่ปัญญา อะไรๆ ก็ละไม่ได้

    ผู้ฟัง ผมต้องการแค่เบื้องต้น

    ท่านอาจารย์ โดยมากถ้าไม่ศึกษาจริงๆ เราจะถูกหลอก คือเข้าใจว่าสมาธิเป็นสติ ถ้าสามารถที่จะตอบได้เมื่อไรว่า สติไม่ใช่สมาธิ เมื่อนั้นเริ่มเข้าใจ อย่างที่เราใช้คำว่าใช้สติ เอาสติ หรือจะทำสติ หรือเจริญสติก็ตามแต่ ถ้ายังไม่รู้ลักษณะของสติ ทั้งหมดเป็นโมฆะ เราไปเอาสภาพธรรมอย่างหนึ่ง คือ สมาธิ มาเปลี่ยนชื่อใหม่ ว่านี่เรากำลังจะทำสติ เอาสมาธินั่นแหละมาทำสติ แต่เรายังไม่รู้ความต่างกันจริงๆ ของสติกับสมาธิ ซึ่งไม่เหมือนกันเลย และไม่ใช่ธรรมอย่างเดียวกันด้วย เพราะฉะนั้น สติเป็นสติ สมาธิเป็นสมาธิ ถ้าเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่เจริญสมาธิปัฏฐาน คำนี้มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก เฉพาะสติเท่านั้นที่เป็นสติปัฏฐาน ที่เป็นมรรคมีองค์ ๘ ไม่ใช่สมาธิปัฏฐาน ไม่ใช่สัญญาปัฏฐาน ไปจำวัดแล้วมาคิดก็ไม่ใช่

    เพราะฉะนั้น ต้องเป็นการศึกษาโดยละเอียดจริงๆ แล้วต้องรู้ว่า ถ้าไม่ศึกษาโดยละเอียดเราก็เข้าใจผิดได้ อย่างสติกับสมาธิ ยังคิดว่าเป็นอันเดียวกัน หรือยังคิดว่าใช้ ๒ ชื่อ คือพอเป็นสมาธิไปๆ ก็เป็นสติ แต่ถ้าสามารถที่จะบอกได้ว่า สติไม่ใช่สมาธิ อันนั้นคือเริ่มเข้าใจถูก ถ้ายังไม่เข้าใจ เราก็ศึกษาให้เข้าใจขึ้น จนกว่าจะมีความเข้าใจ แต่เรื่องทำ ไม่ใช่เรื่องเราทำแน่นอน ปฏิปัตติ เป็นสภาพธรรมที่ถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมที่ละหนึ่งอย่างในขณะนี้โดยสติ และมรรคองค์อื่นนั่นเองที่เกิดร่วมกัน แล้วเรื่องสมาธิก็ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะว่าสมาธิเกิดกับจิตทุกขณะอยู่แล้ว แต่ว่าสมาธิ มี ๒ อย่างที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง คือ มิจฉาสมาธิกับสัมมาสมาธิ ถ้าเราแยกยังไม่ออก เราเข้าใจว่าเป็นสัมมาสมาธิ แต่ความจริงเป็นมิจฉาสมาธิได้ ตราบใดที่เรายังไม่รู้ว่า สัมมาสมาธิคืออย่างไร มิจฉาสมาธิคืออย่างไร ถ้าสามารถบอกได้ว่า มิจฉาสมาธิคืออย่างไร นั่นคือเรามีสัมมาสมาธิ ถ้าตอนนี้เรายังบอกไม่ได้ระหว่างมิจฉาสมาธิกับ สัมมาสมาธิ หมายความว่ายังเป็นมิจฉาสมาธิอยู่ จนกว่าเมื่อไรบอกได้ว่า มิจฉาสมาธิคืออย่างไร เมื่อนั้นคือรู้จักสัมมาสมาธิ

    ผู้ฟัง ฟังท่านอาจารย์มาตั้งแต่ต้นก็เข้าใจว่า ในขณะที่เราไปนั่งสมาธิ เรากำลังเห็นโทษของโทสะ ซึ่งกำลังเดือดร้อนวุ่นวายหรือกังวลใจ ถ้าไปนั่งแล้วรู้สึกสงบ ตามความเข้าใจของผม ทีนี้ท่านอาจารย์บอกว่า เห็นโทษของโทสะ แต่ไม่เห็นโทษของโลภะ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ปัญญา เขามีโลภะในความต้องการ เขามีโทสะในความไม่สงบของจิต ความวุ่นวาย ต่างๆ โทมนัสหรือความรู้สึกที่เป็นทุกข์

    ผู้ฟัง อยากให้อาจารย์ช่วยชี้ตรงนี้นิดหนึ่ง เพราะว่าที่ผมหนีความวุ่นวายแล้วไปนั่งสมาธิ มันก็ไม่มีโลภะอะไร ตามความเข้าใจของผม ถ้าคิดง่ายๆ แบบนั้น ที่ไปนั่งแล้วเป็นโลภะอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าเรียนวิถีจิต จะทราบได้เลยว่า หลังจากที่เห็นแล้ว จิตจะต้องเป็นกุศลหรืออกุศล แล้วมีใครจะตอบได้บ้างว่า พอเห็นแล้วเป็นกุศล

    ผู้ฟัง ถ้าไม่รู้ตรงนี้ ไปนั่งแล้วเป็นโลภะ ก็เท่ากับเราได้ย้ายอารมณ์ คือไม่ชอบอกุศลที่เป็นโทสะ แล้วไปเอาอกุศลตัวใหม่ซึ่งเป็นโลภะ แล้วผมก็ไปนั่งเจริญโลภะ เจริญให้มันตั่งมั่น ให้อะไรต่ออะไร ถ้าเราไม่รู้ความจริงอย่างนี้ก็เป็นมิจฉาสมาธิ

    ท่านอาจารย์ รู้ด้วยตัวของเราเอง ถึงฟังมาก็ยังไม่ชัดเจนจนกว่าจะประสบด้วยตัวเราเอง ด้วยความเข้าใจ ว่าความเข้าใจของเราสามารถที่จะพิจารณาเห็นความต่างกันหรือเปล่า

    ผู้ฟัง สมาธิช่วยรักษาโรคได้ จึงอยากให้อาจารย์อธิบายด้วยแยกเป็น ๒ ประเด็น ประเด็น ๑ ที่บอกว่า ทางแพทย์บอกว่านั่งสมาธิแล้วมันจะช่วยบำบัดรักษาโรค อะไรอย่างนี้ ความเครียดได้นั่นคือ ข้อที่ ๑ ข้อที่ ๒ หลังจากผมเลิกนั่งสมาธิแล้ว โทสะมันรุนแรงกว่า อันนี้มันอาจจะเป็นเฉพาะผม หรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ขอตอบข้อ ๒ ก่อน เพราะเหตุว่าดูเป็นปัญหาเหมือนกับว่า สมาธิ จะดี ระหว่างที่เป็นสมาธิ โทสะน้อย แต่ว่าพอไม่เป็นสมาธิแล้ว โทสะมาก

    ผู้ฟัง ข่มอยู่ มันข่มอยู่เท่านั้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะเห็นความจริง หรือจะเห็นความข่มไว้ ถ้าความจริงคือแต่ละขณะที่เกิดมีเหตุปัจจัยสะสมมา ที่จะทำให้เราเห็นความจริงว่า ยังมี แล้วก็ยังเป็นอย่างนั้น แม้แต่พระโสดาบันก็มีโทสะ เราเป็นใคร ต้องทราบ แล้วทุกอย่างที่เกิดมีเหตุปัจจัยให้เห็นธรรมเป็นธรรม เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นกิเลสประเภทใดก็ตาม ปัญญาสามารถจะรู้ความจริงได้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่เรา ข้อสำคัญที่สุดคือความรักตัว ก็อาจจะทำให้พอใจที่โทสะน้อย บางคนก็เลยยังติดสมาธิอยู่ เพราะเหตุว่าทำให้เขาไม่มีความรู้สึกที่ ขุ่นมัว ไม่สบายใจ แต่ว่าถ้าเป็นผู้มีปัญญา ต้องอาจหาญร่าเริงที่จะรู้ว่า นั่นเป็นความจริงหรือเปล่า ขณะนั้นเป็นสภาพธรรม ไม่ใช่เรา กว่าจะไม่ใช่เรา ก็จะต้องเป็นปัญญาที่ ค่อยๆ อบรมสะสมจริงๆ ซึ่งจะเป็นผู้กล้าที่จะรับความจริงว่า ความจริงเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าเราเป็นคนที่ดีมาก กิเลสอะไรก็ไม่มี ไปนั่งข่มเอาไว้แล้วก็มีความติดข้อง มีความพอใจ แต่ไม่รู้ว่าขณะนั้นคือโลภะ ความติดซึ่งเป็นสมุทัยซึ่งจะต้องละ ตราบใดที่ยังไม่ละสมุทัย ตราบนั้นสังสารวัฏก็จะหมดสิ้นไม่ได้ ออกจากกรงของสังสารวัฏไม่ได้เลย ทุกขณะที่แต่ละภพชาติมี ก็เพราะเหตุว่ายังมีโลภะเป็นปัจจัย

    ผู้ฟัง ถูกต้อง แต่ว่าความรู้สึกว่า มันก็ยังได้ในระดับหนึ่ง หมายถึงสมาธิ ไม่ใช่ว่าเสีย นั่งไปแล้วไม่ได้ประโยชน์ใดๆ เลย แต่ได้ในระดับหนึ่ง เป็นระดับที่ข่มจิตได้ขณะจิตหนึ่ง แต่ไม่ใช่เสมอไป

    ท่านอาจารย์ แล้วก็พอใจ

    ผู้ฟัง แล้วก็พอใจ

    ท่านอาจารย์ แล้วก็เป็นเรา แล้วก็เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง ถูกต้องเลย แต่ก็พอใจในระดับหนึ่งว่า แต่เมื่อเราไม่เคยได้เลย

    ท่านอาจารย์ นี่แหละ คือตัวนี้ที่จะต้องละ ถ้ายังไม่เห็นว่าโลภะเป็นสมุทัย ไม่มีทางที่จะรู้แจ้งธรรมอีกอย่างหนึ่ง คือ นิพพาน

    ผู้ฟัง ได้แค่นั้น ไม่ก้าวหน้า

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องเห็นว่า ไม่ใช่ปัญญา ในพระธรรมมีข้อความที่ว่า แม้อกุศลจิตเกิด แต่รู้ ก็ยังดีกว่าผู้ที่มีกุศลจิตเกิด แต่ไม่รู้ เพราะการรู้จะทำให้เราสามารถที่จะละความไม่รู้ได้

    ผู้ฟัง ทีนี้ถึงแม้ว่าจะมีสมาธิ ถ้าบุคคลคิดว่า สมาธิเป็นสุข อย่างนี้ก็ผิดแล้ว ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นไม่มีโทสะ

    ผู้ฟัง ไม่ หมายความว่าบุคคลเห็นว่า การนั่งสมาธิแล้วสงบ แล้วก็คิดว่าเป็นสุข วันหนึ่งๆ ก็ไปนั่งสมาธิทุกวัน เห็นว่าเป็นสุข การเห็นอย่างนี่ถือว่าเห็นผิด ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ความรู้สึกของเขาอาจจะไม่มีโทสะ แค่อุเบกขาเฉยๆ คนก็ชอบ หรือถ้ามีโสมนัส คนก็ชอบ แต่ว่าขณะนั้นเป็นความติดข้องเป็นโลภะ ไม่ได้หมายความว่าเป็นกุศล

    ผู้ฟัง ผมฟังแล้วยังสับสนอยู่ อย่างจะให้วิเคราะห์ศัพท์ ชีวิตคืออะไร ให้มันง่ายๆ สั้นๆ อะไรอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่น ถ้าว่าง่ายคงจะเป็นไปไม่ได้ แต่ว่าค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ พิจารณาตาม ต้องเป็นความที่ถูกต้องที่สุด เพราะว่าจากการตรัสรู้ ไม่ว่าใครจะอธิบายชีวิตในเชิงวิทยาศาสตร์ หรือเคมี สสาร อะไรก็แล้วแต่ นั่นก็เป็นเรื่องของผู้ที่ยังไม่ได้ตรัสรู้จริงๆ

    ถ้าพูดถึงชีวิต มี ๒ อย่าง ชีวิตรูปกับชีวิตนาม ซึ่งได้ยินอย่างนี้ เราต้องเข้าใจ คำว่า นามธรรมกับรูปธรรมก่อนว่า ๒ อย่างมีจริงๆ แต่เป็นสภาพที่มีลักษณะต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยเด็ดขาด รูปเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย นี่เป็นคำจำกัดความ ไม่ว่าเราจะมองเห็นหรือมองไม่เห็นก็ตามแต่ อย่างเสียงปรากฏทางหู เสียงไม่ใช่นามธรรม เสียงไม่ใช่สภาพรู้ เสียงมีลักษณะที่สามารถกระทบกับโสตปสาท สภาพรู้ คือได้ยินเสียงสามารถที่จะรู้ว่าเสียงนั้นมีลักษณะอย่างไร นั่นคือนามธรรม เพราะฉะนั้น ในขณะนี้มีทั้งนามธรรม และรูปธรรม นามธรรมเป็นสภาพรู้ ซึ่งไม่มีรูปร่างใดๆ เลยทั้งสิ้น ไม่มีรูปสักรูปเดียว ไม่ว่าจะรูปละเอียด หรือรูปหยาบ หรือรูปอะไรก็ตามแต่ จะเป็นนามธรรมไม่ได้ จะรวมอยู่ในนามธรรมไม่ได้ นามธรรมไม่ใช่รูปธรรม แต่เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเมื่อเกิดขึ้นก็สามารถที่จะรู้สิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ เช่น ทางตาในขณะนี้ ถ้ามีคนตาย ไม่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเลย แม้ว่าเขาจะเพิ่งตาย มองดูก็ยังไม่เน่าเปื่อย ก็มีลูกตา แต่ว่าไม่สามารถจะเห็นได้

    ลักษณะของการเห็น คือรู้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นอย่างนี้ทางตา ลักษณะนั้นคือนามธรรม ซึ่งมี ๒ อย่าง จิต กับ เจตสิก แล้วชีวิตนาม คือ เจตสิก ซึ่งต้องเกิดกับจิตทุกขณะ รักษาจิตให้ดำรงคงสภาพที่เกิดขึ้น ทำกิจการงาน หน้าที่แล้วก็ดับ นั่นคือชีวิตนาม ซึ่งเราก็พอจะรู้ได้ว่า ที่เราใช้คำว่า ชีวิตๆ เราใช้กับสิ่งซึ่งมีความรู้สึก สามารถที่จะคิดนึกได้ แต่เพราะผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่สามารถที่จะแสดงโดยชัดเจน เป็นนามธรรมประเภทไหน เป็นนามธรรม คือจิต ซึ่งเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้อารมณ์ หรือว่าเป็นเจตสิกซึ่งเป็นสภาพนามธรรมอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งต้องเกิดกับจิตทุกขณะ

    ในทางพระพุทธศาสนาที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ จะมีจิตเกิดขึ้นโดยไม่มีเจตสิกเกิดไม่ได้เลย แล้วเจตสิกหนึ่งซึ่งต้องเกิดกับจิตทุกขณะคือ ชีวิตินทริยเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่รักษาสภาพธรรมที่เกิดร่วมกันไม่ให้ดับ ยังคงดำรงอยู่ชั่วขณะที่ตั้งอยู่ นั่นคือชีวิตนาม สำหรับชีวิตรูป คือรูปซึ่งเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน รูปอื่นซึ่งไม่ได้เกิดจากกรรม จะไม่มีชีวิตรูป เช่น ต้นไม้ใบหญ้า เรามองเห็นว่าเจริญเติบโตจากเม็ดมาเป็นกิ่งเป็นก้านพวกนั้นโดยอุตุ คือความเย็น ความร้อน ที่สม่ำเสมอ เพราะว่าแม้บางแห่งจะไม่ใช้ดินเลย ต้นไม้ก็เกิดได้ เพียงแต่ความเย็น ความร้อนที่เป็นอุณหภูมิที่พอเหมาะพอดี

    สำหรับรูปต้นไม้ใบหญ้าไม่ได้เกิดจากกรรม ไม่มีชีวิตรูปรวมอยู่ในกลาป คือในกลุ่มของรูปอย่างละเอียดที่เล็กที่สุดซึ่งแยกออกจากกันอีกไม่ได้ ในทางพระพุทธศาสนาไม่ได้ใช้คำว่า เซลล์ เหมือนอย่างกับวิทยาศาสตร์ หรือทางโลก แต่ว่าจะพูดให้เข้าใจได้ว่า รูปที่เราเห็น ไม่ว่าจะใหญ่โตมโหฬาร เช่น ภูเขา หรือแผ่นดินก็ตามแต่ แท้ที่จริงมีอากาศธาตุแทรกคั่นอย่างละเอียดยิบ พร้อมที่จะแตกสลายเป็นอณูเล็กๆ เท่าไรก็ได้ การที่เราเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งดูเหมือนว่าใหญ่ แข็งแรง มั่นคง เป็นเหล็กเป็นอะไรก็แล้วแต่ แท้ที่จริงแล้วจะมีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่อย่างละเอียด จนถึงรูปที่แยกจากกันอีกไม่ได้ เรียกว่า กลาป หรือ กะ-ลา-ปะ หนึ่ง

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 97
    23 มี.ค. 2567