ปกิณณกธรรม ตอนที่ 248


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๔๘

    สนทนาธรรม ที่ วัดธาตุทอง

    เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญคือให้ทราบว่าทางตา พวกวิถีจิตต่างๆ ซึ่งเกิดแต่ละวาระ เช่นทางตาที่กำลังเห็นมีจิตที่เป็นวิถีหลายประเภท และก็หลายขณะ ไม่ใช่มีแต่เฉพาะจักขุวิญญาณจิตเท่านั้น ยังมีจิตอื่นซึ่งเกิดต่อด้วย แต่เราไม่มีโอกาสจะทราบลักษณะ แล้วก็กิจการงานของจิตต่างๆ เหล่านั้น เพราะเหตุว่าเป็นไปเพียงขณะเดียวอย่างรวดเร็ว เช่น จักขุวิญญาณจิตจะเกิด ๒ ขณะในวาระหนึ่งเป็นไปไม่ได้เลย เวลาที่รูปมีอายุ ๑๗ ขณะ กระทบกับจักขุปสาทรูปซึ่งมีอายุ ๑๗ ขณะ เกิดก็ล่วงไปแล้ว ๑ ขณะ แล้วก็ยังกระทบกับภวังค์ เป็นอดีตภวังค์ แล้วก็ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ ปัญจทวาราวัชชนะ จักขุวิญญาณจิต ให้เห็นว่า จิตที่เกิดขึ้นทำกิจแต่ละขณะนี้สั้นมากทีเดียว อย่างจักขุวิญญาณที่เราคิดว่า กำลังเห็นตลอดเวลา แท้ที่จริงเพียงขณะจิตเดียว และเมื่อจักขุวิญญาณจิตดับ สัมปฏิจฉันนจิตก็เกิดขึ้นขณะเดียวเท่านั้น แล้วใครจะรู้ลักษณะของสัมปฏิจฉันนจิต หรือว่าจิตซึ่งเกิดต่อ ซึ่งทำกิจเพียงขณะเดียว

    นี่แสดงให้เห็นว่าต้องเป็นปัญญาของผู้ที่ตรัสรู้จริงๆ ที่สามารถที่จะแสดงให้เห็น ให้เข้าใจได้ว่า การเห็นซึ่งเราคิดว่าสืบต่อนานมาก ให้เห็นอายุที่สั้นของจิต ซึ่งเราคิดว่าแต่ละคนมีอายุยืนยาวมาก แต่ความจริงจิตทุกขณะมีอายุเท่ากัน คือ อุปาทขณะ ฐีติขณะ ภังคขณะ ไม่ว่าจะเป็นจิตในมนุษย์ หรือว่าเกิดเป็นสัตว์ตัวเล็กตัวน้อย หรือว่าเป็นเทพ เป็นพรหมก็ตาม จักขุวิญญาณหรือจิตอื่นๆ จะมีอายุที่สั้นแสนสั้น

    เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะพิจารณาให้เห็นลักษณะจริงๆ ของจิต เพื่อที่จะได้เห็น ความเป็นอนัตตา แม้แต่จักขุวิญญาณจิตที่กำลังเห็นในขณะนี้ เราก็อาจจะคิดว่ามีความสำคัญเหลือเกิน แต่ความจริงให้ทราบว่าจักขุวิญญาณจิตต้องเกิดตามเหตุตามปัจจัย สัมปฏิจฉันนะก็ต้องเกิดตามเหตุตามปัจจัย ใครจะรู้หรือไม่รู้ จะให้มีแต่จักขุวิญญาณ หรือคิดว่าเพียงจักขุวิญญาณเท่านั้นที่เห็นในขณะนี้ก็ผิด เพราะเหตุว่าจักขุวิญญาณสั้นมาก แล้วสัมปฏิจฉันนะซึ่งเป็นวิบากจิตก็ต้องเกิดสืบต่อตามเหตุตามปัจจัย เพราะเหตุว่ากรรมทำให้วิบากจิตทั้งหลายเกิดสืบต่อกัน แต่ในความรู้สึกของเราซึ่งไม่รู้ ความจริงของสภาพธรรม ตัวสำคัญคือความติดในวิบากจิต เช่น จิตที่เห็นสิ่งต่างๆ หรือจิตที่ได้ยินเสียงต่างๆ ให้ทราบว่า แท้ที่จริงแล้วถ้ารู้ความจริงว่า เป็นผลของกรรมซึ่งต้องเกิดทำกิจการงานยับยั้งไม่ได้ เพียงแต่ละขณะเท่านั้น แล้วก็ซ้ำไปซ้ำมาในสังสารวัฏ ซึ่งเห็นมานานแสนนาน ถึงใครจะจุติ ปฏิสนธิเกิดอีก ก็เห็นอีกสืบต่ออย่างเร็วมาก เพราะฉะนั้น ทำกิจเห็นสืบต่อมานานแสนนาน บ่อยแสนบ่อยในสังสารวัฏ ก็เป็นสิ่งซึ่ง เราควรจะได้ทราบความจริงว่า แท้ที่จริงความติดหรือความต้องการซึ่งเป็นกิเลสวัฏ ต่อจากวิบากวัฏ ทำให้สังสารวัฏไม่สิ้นสุด เพราะฉะนั้น การที่เราจะศึกษาเรื่องความละเอียดของจิต เพื่อให้เข้าใจความไม่ใช่ตัวตน เพื่อที่จะให้สติปัฏฐานมีการระลึกได้มากขึ้นหรือว่าบ่อยขึ้น

    ผู้ฟัง แต่ในขณะนี้เรายังไม่สามารถระลึกรู้ลักษณะของสัมปฏิจฉันนจิตได้ก็ไม่เป็นไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ในขณะนี้ไม่มีทาง เพราะว่าเพียงชั่วขณะเดียว จะสั้นสักแค่ไหน เวลานี้เหมือนกับว่าจิตเห็นกับจิตได้ยินพร้อมกัน ทำไมถึงเสมือนอย่างนั้นได้ ก็เป็นเพราะว่าความรวดเร็วของจิต แต่ให้ทราบว่าไม่ใช่ความรวดเร็วของจิต ๒ ดวงหรือ ๒ ขณะ แต่ความรวดเร็วของจิตมากมายกว่านั้น เพราะเหตุว่าในระหว่างจิตเห็นกับจิตได้ยิน ก็จะต้องมีจิตอื่นเกิด แม้แต่ในวาระเดียวกันเมื่อจักขุวิญญาณจิตดับ ก็ต้องมีสัมปฏิจฉันนจิตเกิด เพราะฉะนั้น ไม่มีทางที่ใครจะไปรู้เรื่องของสัมปฏิจฉันนจิตได้

    ผู้ฟัง คำว่า “พิจารณา” จะมี ความหมายมากน้อยประการใด เป็นการแสดงถึงการปฏิบัติด้วยหรือเปล่า การพิจารณา

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องมีตั้งแต่ขั้นฟัง แล้วก็สิ่งที่เราได้ยินได้ฟัง ถึงแม้ว่าเป็นคำธรรมดา แต่ลักษณะของสภาพธรรมนั้นยากต่อการที่จะเข้าใจหรือเปล่า ไม่ใช่พอฟังแล้วก็เข้าใจได้ ประจักษ์แจ้งสภาพธรรม หรือสิ่งที่เรากำลังพูดได้เลยทันที เพราะฉะนั้น เวลาที่ได้ยินคำว่า พิจารณา ก็หมายความว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ได้ยินได้ฟังแล้ว ต้องไตร่ตรอง ต้องคิดจนกระทั่งเป็นความเข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น เพราะว่าอย่างบอกว่า ขณะนี้มีสิ่งที่มีจริงๆ แค่นี้ คนใหม่ๆ ก็งง สิ่งที่มีจริงๆ อะไร ก็ดูมันมีทั้งนั้น แต่ไม่รู้ว่าอะไรจริง

    ถ้าเพียงแต่เราได้ยินแค่นี้ เราต้องคิดนานมากกว่าเราจะเข้าใจ แล้วก็ต้องพิจารณาด้วย อย่างบอกว่าขณะนี้จริงหรือเปล่า แค่นี้ก็ต้องคิดอีกว่า ขณะนี้ คือไม่รู้ว่าตรงไหน เมื่อไร เพียงแค่ขณะนี้อะไรจริง แค่นี้เราก็ต้องคิดแล้ว ถ้าไม่พิจารณาจะตอบได้ไหม ขณะนี้อะไรจริง เห็นนี้จริงไหม พอแนะนิดหนึ่งให้คิดว่า เห็นจริงไหม เพราะว่าทีแรกหาไม่ถูก ไม่รู้จะไปหาอะไร ขณะนี้อะไรจริง เหมือนกับคำถามนี้ใหม่มาก คิดไม่ออก แต่ถ้าบอกว่าขณะนี้เห็น กำลังเห็น จริงไหม มีจริงๆ หรือเปล่า ได้ยินมีจริงๆ หรือเปล่า คิดนึกมีจริงๆ หรือเปล่า ทีนี้ตอบได้หมดเลย ว่าทุกอย่างที่กำลังมี อย่างเห็นได้ยินพวกนี้จริงทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริงเป็นธรรม เริ่มเข้ามาสู่ความเข้าใจลักษณะของสิ่งที่มีจริงว่า สิ่งที่มีจริงที่ใช้คำว่าเป็นธรรม หรือว่าเป็นธาตุ ธาตุ ธา-ตุ หมายความว่า เป็นสิ่งที่มีโดยที่ไม่มีใครสร้าง ไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่ว่าสิ่งนี้มีปัจจัยก็เกิดขึ้น ถ้าไม่มีปัจจัยก็ไม่เกิด ขณะนี้ใครโกรธบ้าง มีไหม มีหรือไม่มี มี เพราะฉะนั้น นี่ก็แสดงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงๆ ในขณะนี้จะเกิดปรากฏว่ามี ต่อเมื่อมีเหตุหรือมีปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น จึงเป็นธรรม และก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร

    ถ้าได้ฟังอย่างนี้ แล้วก็เริ่มศึกษาพระไตรปิฎก ก็จะทราบได้เลยว่า ทุกอย่างที่มีจริง พระพุทธเจ้าตรัสรู้ว่า สิ่งนั้นเป็นธรรม ซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีใครสามารถบันดาลให้เกิดขึ้นตามใจชอบ แต่ว่าเมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น แล้วโกรธ ทำไมไม่อยู่ตลอดเวลาอยู่ตลอดเวลาได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้ ทรมาน

    ท่านอาจารย์ ทุกสิ่งที่เกิดดับหมดเลยทันที แต่เร็วมาก นี่คือคำที่เราได้ยินบ่อยๆ สัพเพ สังขารา อนิจจา หรือภาษาไทยเราก็บอกสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง สังขารที่นี่ไม่ได้หมายความถึงเฉพาะร่างกาย อย่างที่เราเคยเข้าใจว่า ร่างกายของเราเห็นชัดๆ เลย ตอนเป็นเด็กก็เกิดมาอย่างหนึ่ง ค่อยๆ เจริญเติบโต ค่อยๆ แก่ ค่อยๆ เจ็บ ค่อยๆ เป็นโรคภัยต่างๆ แสดงว่าเห็นความเปลี่ยนแปลง แต่จริงๆ แล้วทุกอย่างที่เกิด ดับทันที เร็วมาก เราจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม แต่ผู้ที่ตรัสรู้ทรงแสดงไว้แน่นอนว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิด สิ่งนั้นดับเร็ว แต่ว่าสิ่งที่ดับ ดับจริงๆ ไม่มีเหลือ เป็นปัจจัยให้สิ่งอื่นต่อไป เกิดสืบต่อ จนกระทั่งไม่เห็นว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดดับ เพราะทุกอย่างที่เกิด ดับเร็วมาก แล้วก็เกิดสืบต่อเร็วมาก แล้วก็ดับเร็วมากอยู่ทุกขณะ จนกระทั่งไม่ปรากฏว่าดับ นี่คือตั้งแต่เกิดจนถึงเดี๋ยวนี้ ทุกอย่างเกิดดับเร็วมาก เชื่อไหม

    ผู้ฟัง เชื่อ

    ท่านอาจารย์ เชื่อ เพราะอะไรถึงเชื่อ

    ผู้ฟัง เพราะเป็นความจริง

    ท่านอาจารย์ ทำไมว่าเป็นความจริง

    ผู้ฟัง เวลาโกรธ แล้วเวลาหาย ก็หายไปเลย

    ท่านอาจารย์ ไม่กลับมาอีก

    ผู้ฟัง ไม่กลับมาอีก นอกจากรอบข้างทำให้เกิด หูได้ยินในสิ่งที่ขัดหู ก็จะเกิดอีก เพราะว่าตัดไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แล้วรอบข้าง หมายความว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง ลูกหลาน

    ท่านอาจารย์ แล้วลูกหลานนั้นคืออะไร

    ผู้ฟัง ลูกก็คือคำพูดลูก ไปมองกิริยาลูก คิดว่าลูกรังเกียจ คิดไปเอง แล้วก็คิดโกรธ มันบอกไม่ถูก

    ท่านอาจารย์ ความจริงที่เราคิดหรือเข้าใจว่าเป็นลูก เป็นหลาน เป็นเพื่อน เป็นคน ก็เพราะเหตุว่าเรามีตาเห็น แล้วก็มีหูได้ยินเสียง มีจมูกได้กลิ่น มีลิ้นลิ้มรส มีกายรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส มีใจคิดนึก ทั้งหมดที่เห็น ที่ได้ยิน มารวมเป็นเสียงลูกหลาน แต่ความจริงถ้าไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ลูกหลานไม่มี ไม่มีความคิดนึกว่าเสียงนั้นเป็นอะไร แต่เพราะเหตุว่าความไม่รู้ของเรา ที่เราว่ารอบข้าง ต้องหมายความถึงตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าไม่มีตาหูจมูกลิ้นกายใจ จะมีลูก มีหลานไหม ไม่มีความคิดว่าจะมีลูกมีหลาน สิ่งที่ปรากฏรอบกายก็เป็นสัตว์ บุคคล ต่างๆ เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นญาติ เป็นเพื่อน แล้วเราก็เกิดความพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง จากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ถ้ารู้จริงๆ ว่า สิ่งที่เกิด มีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับ ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ทั้งเห็นก็ดับไปแล้ว ขณะที่ได้ยินก็ไม่ใช่ขณะที่เห็น ขณะที่เจ็บก็ไม่ใช่ขณะที่คิด ลักษณะที่เจ็บกับคิด คนละอย่าง ก็แสดงให้เห็นว่า ที่เคยเป็นเราทั้งหมดทุกอย่าง แท้ที่จริงก็เป็นธรรมแต่ละชนิด ไม่มีเจ้าของ ไม่ใช่ของใครซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า อนัตตา หมายความว่าไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ก็ตรงกับ อนิจจัง ไม่เที่ยง สิ่งที่ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน เพราะฉะนั้น จะเป็นสุขจริงๆ ไม่ได้เลย เกิดมาทำหน้าที่แต่ละอย่างๆ ชั่วขณะ ปรากฏชั่วขณะนิดๆ หน่อยๆ แล้วก็ดับไปหมด ไม่มีอะไร เหลือ จะกล่าวว่าเป็นสุขจริงๆ ไม่ได้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ แล้วก็เป็นอนัตตา ตรงกับคำที่เราใช้เสมอ ๓ คำ “ไตรลักษณ์” อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยากฟังอยากเรียนไหม หรือว่าแย่ ไม่เอาแล้ว ตัวตนก็ไม่มี

    ผู้ฟัง อยากฟัง เป็นคนชอบอ่านหนังสือธรรม อ่านเรื่องเวรกรรม ชอบไปซื้อหนังสือ ตายแล้วไปไหน ทำบุญแล้วใครได้รับ แต่ความโกรธมันดับไม่ได้ สับสนแล้วทรมาน

    ท่านอาจารย์ เพราะว่ามีเรา ถึงได้มีทุกข์

    ผู้ฟัง ใช่ ใช่

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นสภาพธรรม ซึ่งใครก็บังคับบัญชาไม่ได้ มีเหตุ ถ้าเราหยั่งรู้ถึงเหตุ เราจะเบาขึ้น สบายขึ้น เพราะเหตุว่าจริงๆ แล้วทุกอย่างใครจะห้ามไม่ให้เกิดได้ ไม่มีใครต้องการสภาพที่ไม่ดี แต่ว่าสิ่งนั้นก็เกิดมีเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีใครต้องการกลิ่นไม่ดี สีสันไม่ดี เสียงไม่ดี แต่สิ่งต่างๆ เหล่านั้นก็เกิด เพราะฉะนั้น ก็บังคับไม่ได้เลย แต่เกิดแล้วก็หมดไป เกิดแล้วก็หมดไป เพราะฉะนั้น ถ้ารู้ความจริงอย่างนี้ว่า ไม่มีเราเลยสักขณะเดียว มีแต่สภาพธรรม เพียงเข้าใจคำว่า ธรรม ต้องไตร่ตรองแค่ไหน คุณทศพร นี่คือความหมายของพิจารณา ถ้าฟังแล้วไม่เข้าใจ เพราะว่าเราพิจารณาไม่พอ แต่พอพิจารณามากขึ้น เข้าใจมากขึ้น เราก็รู้ว่า ความเข้าใจนั้นมาจากการไตร่ตรอง การคิดการพิจารณาสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แล้วต้องเป็นอย่างนี้ตลอด เพราะว่าพระธรรมไม่ใช่สิ่งที่จะเข้าใจง่ายๆ เป็นของธรรมดา แต่ลึกซึ้ง อย่างการเกิดดับของสภาพธรรม ใครว่าไม่จริง แม้ว่าจะกล่าวว่าจริง แต่ก็ยังไม่ประจักษ์ ก็แสดงว่าต้องมีปัญญาหรือความรู้เพิ่มขึ้นมากขึ้นจนถึงระดับขั้นที่สามารถประจักษ์แจ้งได้

    ผู้ฟัง การไตร่ตรอง การพิจารณาที่จะเป็นปัญญาถึงการประจักษ์ได้ไหม

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าประจักษ์คืออะไร

    ผู้ฟัง คือการรู้แจ้ง

    ท่านอาจารย์ ประจักษ์ คือ เห็น เห็นจริงๆ เห็นด้วยปัญญา ไม่ใช่คิด คิดอย่างไรก็ไม่เห็น เพราะว่ากำลังนึกถึงคำ นึกถึงเรื่อง ไม่ใช่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเป็นจริงอย่างนี้ สภาพธรรมกำลังเป็นจริงอย่างนี้ ไม่ต้องใช้คำอะไรเลย แต่ว่ามีความเข้าใจถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง แล้วก็ทีละอย่างด้วย จนกระทั่งขณะนั้นสามารถเห็นสภาพธรรมนั้น ตามความเป็นจริง เป็นปัญญาที่เห็น ไม่ใช่เป็นปัญญาขั้นคิด หรือแค่คิด คิดอย่างไร ลองดูสิ ขณะนี้สภาพธรรมเกิดดับ แล้วคิดอย่างไรที่จะไปประจักษ์การเกิดดับ คิดอย่างไรๆ ก็ไม่ประจักษ์

    ผู้ฟัง อย่างเช่นการเห็น เขาก็คิดว่า เห็นเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะเกิดขึ้นมาเองได้ ก็ต้องมีเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ ก็นั่งคิดเรื่องของเห็น แต่ไม่รู้ลักษณะซึ่งเป็นธาตุรู้ ฟัง ทราบได้ว่า มีสภาพธรรม ๒ อย่าง สภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น แข็ง กลิ่น รส พวกนี้ไม่รู้อะไรเลย แต่ว่าขณะใดที่มีสภาพที่เห็น ก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตา แสดงให้เห็นว่าสภาพที่รู้ สีสันวัณณะเป็นอย่างนี้ แต่ตัวสีสันวัณณะไม่รู้เลย แล้วก็เสียงก็เหมือนกัน มีสภาพที่ได้ยินเสียง เสียงจึงปรากฏ ถ้าไม่มีสภาพได้ยินเสียง เสียงก็ปรากฏไม่ได้เลย ลักษณะที่ต่างกันที่ปรากฏ โดยที่ไม่มีสิ่งอื่นรวมอยู่ในที่นั้น แม้แต่ความคิดนึกก็ไม่รวมอยู่ในที่นั้นๆ เลย เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า ความเข้าใจเรื่องของสิ่งที่มีจริงๆ มีตั้งแต่ขั้นการฟัง แต่ฟังสักเท่าไร แต่ไม่สามารถที่จะประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งเป็นอย่างนั้นจริงๆ ก็ไม่ใช่ปัญญาที่สามารถที่จะรู้ความจริงได้ เป็นแต่เพียงขั้นคิด คิดอย่างไรก็ไม่ประจักษ์ว่า ธาตุรู้เป็นอย่างไร ขณะนี้ที่กำลังเห็น โดยที่ไม่ต้องมีคำใดๆ เลย แต่สามารถที่จะตามรู้ลักษณะของสภาพนั้นได้ว่า ลักษณะนี้เป็นอย่างนี้ เป็นเรื่องที่ต้องฟังให้เข้าใจจริงๆ แล้วต้องรู้ว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ไม่ใช่คิด คิดใครก็คิดได้ บางคนก็เข้าใจว่า ประมวลความคิด แต่การตรัสรู้ไม่ใช่การคิด ก็น่าแปลก สภาพธรรมก็มีจริงๆ ทำไมจะไปคิดว่าไปคิดให้เข้าใจสภาพนี้

    ผู้ฟัง คงจะเอาจากพยัญชนะญาณที่ใน ปฏิสัมภิทามรรค จากสุตตมยญาณ ก็ให้ความหมายว่า ปัญญาที่เกิดจากการศึกษาเล่าเรียน จากการฟังแล้วทรงจำเอาไว้

    ท่านอาจารย์ จำเป็นสัญญาที่ใครก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะว่าเกิดกับจิตทุกขณะ ขณะที่เข้าใจก็มีความจำในสิ่งที่เข้าใจด้วย พระพุทธเจ้าทรงแสดงสติปัฏฐานว่า เป็นหนทางเดียว แล้วเข้าใจคำนี้ว่าอย่างไร สติปัฏฐานนี่คิดหรือ ลักษณะของสติไม่ใช่คิด วิตกเจตสิก ตรึก แต่สติไม่ใช่คิด สติเป็นสภาพที่รู้ลักษณะที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ แล้วก็เห็นความต่าง เข้าใจความต่างของธรรม ๒ อย่าง คือสภาพหนึ่งเป็นสภาพรู้ แล้วอีกสภาพหนึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ซึ่งมีอยู่ตั้งแต่เกิดจนตาย เพราะว่ามีสภาพรู้ หรือที่เราใช้คำว่าจิต จิตสามารถจะรู้ จะเห็น จะคิด จะนึกได้ทุกอย่าง แต่ว่าจิตจะเกิดตามลำพังไม่ได้ ต้องมีสภาพธรรมอื่นซึ่งเป็นนามธรรมซึ่งเกิดกับจิตด้วย ถ้าสอนแค่นี้ แล้วสามารถรู้การเกิดดับได้ก็แปลกมากเลย ทำอย่างไร แล้วจะเข้าใจลักษณะของสติปัฏฐานไหม เพราะว่าสติปัฏฐานไม่ใช่ฟังเรื่องราว ถ้าฟังเรื่องราวก็เป็นสุตตมยญาณ ซึ่งเป็นปัญญาที่สำเร็จจากการฟัง หมายความว่าฟังเข้าใจว่าหนทาง มี ที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม แต่หนทางนั้นต้องเป็นสติปัฏฐาน ไม่ใช่หนทางอื่น ถ้าไม่พิจารณาก็ไม่สามารถจะเข้าใจคำนี้ได้ แต่ถ้าพิจารณาเข้าใจคำนี้ ก็สามารถที่จะรู้ความต่างของปัญญาขั้นคิด ขั้นพิจารณา ว่าเป็นปัญญาที่ไม่ใช่ภาวนามยญาณ ไม่ใช่การอบรมความรู้ลักษณะของสภาพธรรมจนกระทั่งประจักษ์แจ้งได้ ลองคิดถึง แล้วอยู่ดีๆ คิดไปคิดมาจะประจักษ์ลักษณะของนิพพานได้ไหม เพราะว่าสติปัฏฐาน เป็นหนทางที่จะรู้แจ้งอริยสัจ ๔ อริยสัจที่ ๑ ทุกขอริยสัจจะ การเกิดดับสภาพธรรมเป็นทุกข์ ต้องประจักษ์การเกิดดับ จนกว่าจะคลายความยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตน ไม่มีความต้องการสังขารธรรมทั้งหลายอีกต่อไป จึงหันไปสู่สภาพซึ่งไม่เกิดดับ สามารถประจักษ์ด้วยโลกุตตรปัญญา เพราะฉะนั้น ขั้นคิดจะเป็นโลกุตตระไม่ได้ อย่างไรก็เป็นโลกุตตระไม่ได้ ในคำนำของหนังสือพระไตรปิฎกตามที่มีผู้ที่อ่าน เขาบอกว่า การที่จะอ่านพระไตรปิฎกก็ควรจะอ่านคำนำด้วย เขาก็เห็นว่า มีข้อความว่า สภาพธรรมไม่สามารถที่จะประจักษ์หรือรู้แจ้งได้ด้วยการคิด ถ้าสอบถามผู้ที่คิดว่า ถ้าคิดแล้ว รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ผู้นั้นตอบว่า เขาหมายความถึงนิพพานอย่างเดียว ได้อย่างไร นี่แสดงว่าการฟังนี้ สุตตมยญาณมีหรือเปล่า นี่เป็นเรื่องที่ประมาทการฟังพระธรรมไม่ได้เลย เพระว่าพระไตรปิฎก หรือคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องศึกษาไม่ใช่เพียงอ่าน แล้วก็จะเข้าใจได้ ถ้าเพียงอ่านเข้าใจได้ ใครอ่านจบก็จบเลย แต่นี่ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ต้องพิจารณาจนเป็นความเข้าใจ จริงๆ แม้แต่ในการอบรมเจริญปัญญา ที่ว่าปัญญาขั้นรู้ ไม่ใช่แจ้งจริงๆ ไม่ใช่ปัญญาขั้นคิด คิดอย่างไรก็มีนิพพานเป็นอารมณ์ไม่ได้ จะคิดอย่างไรให้มีนิพพานเป็นอารมณ์

    ผู้ฟัง ก็คงจะคิดไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่มีทาง คิดอย่างไรจะประจักษ์การเกิดดับของจิต

    ผู้ฟัง ก็ไม่ได้อีก

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ได้อีก คิดอย่างไรจะประจักษ์การเกิดดับของรูป ก็ไม่มีทางเลย

    ผู้ฟัง การคิดพิจารณาธรรมที่ได้เรียน อันนี้เป็นปัจจัยที่ให้สติเกิดแน่นอน

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า การฟังธรรม เพื่อเข้าใจ ความเข้าใจว่า ธรรมมีจริงๆ และคืออะไร แล้วปัญญานี้คืออะไร ระดับไหน ภาษาไทยใช้คำว่า ปัญญา แต่บางคนก็ไม่ทราบว่าปัญญารู้อะไร แต่ปัญญาเจตสิกหรือสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่เป็นปัญญา ไม่ใช่ชื่อปัญญา หรือเรียกปัญญา โดยไม่รู้ว่าตัวปัญญาคืออะไร แบบสติ ถ้าไม่มีสติก็หกล้ม เดินข้ามถนนก็ถูกรถทับ อย่างนี้ก็ไม่ได้ศึกษาธรรม เพราะฉะนั้น กว่าเราจะเข้าโรงเรียนอนุบาล นี่เข้าหรือยัง เข้าแล้วหรือ เดี๋ยวนี้เขามีชั้นเตรียมอนุบาลด้วย แล้วพระธรรม สักแค่ไหน ขนาดโรงเรียนอนุบาล ไม่มีอะไรเลย ก.ไก่ ข.ไข่ ยังต้องเตรียมกัน เตรียมอนุบาล แต่พระธรรมที่ตรัสรู้ ทรงแสดงความจริงที่มีอยู่จริงๆ ทั้งหมด ต้องอาศัยการฟังก่อน ฟังแล้วต้องคิดไตร่ตรอง หมายความว่าเป็นผู้ที่ละเอียด รอบครอบ และรู้ว่าการรู้แจ้งสภาพธรรม ที่จะเป็นพระอริยสาวก หรือว่าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ ต้องไม่ใช่เพียงแค่คิด มีที่ไหนบอกไว้ แค่คิดก็เป็นพระอริยบุคคลได้

    แข็งเป็นธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง หนูไม่เข้าใจคำถาม

    ท่านอาจารย์ ธรรมคือทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงๆ แล้วก็ไม่ใครบันดาลได้ อย่างแข็งใครทำขึ้นมาได้ ไม่ได้ สิ่งที่มีจริง จริงเมื่อไร เมื่อเกิดขึ้น ถ้าไม่เกิด เราก็ไม่รู้ว่า สิ่งนั้นมีจริงๆ อย่างเสียง ถ้าเสียงไม่เกิด เราก็ไม่รู้ว่าเสียงมีจริง แต่พอเสียงเกิดแล้ว มีการได้ยินเสียง ก็รู้ว่าเสียงมีจริงๆ คิดนึกมีจริงๆ ไหม คิดนึก เห็นล่ะ เห็นมีจริงๆ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เห็น เห็นมีจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม ใช้คำว่าธรรม หรือใช้คำว่าธาตุก็ได้ หมายความว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของ อย่างตา เรายึดถือว่าเป็นตาของเรา แล้วทำไมบางคน เดี๋ยวๆ ก็ตาบอดได้ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาเลย แม้แต่ตาเกิดขึ้นอย่างไร แล้วจะดับไปวันไหน ไม่เกิดอีก เราก็ยังไม่รู้ แปลว่าเราไม่สามารถจะรู้ว่า อะไรจะเกิดขึ้นสักอย่างเดียว นั่นคือความหมายของธรรม ซึ่งเป็นอนัตตา มีปัจจัยก็เกิดขึ้น แค่นี้เราก็ต้องคิด วันนี้เราคิดทั้งวัน ทั้งคืนก็ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีเป็นธรรมหมด ความจำเป็นธรรม หรือเปล่า

    ผู้ฟัง น่าจะเป็น

    ท่านอาจารย์ ทำไมน่าจะ เพียงแค่น่าจะ

    ผู้ฟัง เพราะว่าเป็นความจริง

    ท่านอาจารย์ ถ้าจริงก็ต้องเป็น ไม่ต้องสงสัย ลังเลอีกต่อไป ต่อไปนี้มีความมั่นใจว่าการศึกษาธรรม คือศึกษาทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงๆ ให้เข้าใจขึ้น สิ่งที่มีจริงศึกษาได้หมดเลย เราจะไป ศึกษาอะไร ถ้าไม่ศึกษาสิ่งที่มีจริงๆ ลองคิดดู แล้วสิ่งที่มีจริง แล้วเราไม่ศึกษา แล้วเราบอกว่าเรามีปัญญา เราไปรู้อะไรทีมีไม่จริงทั้งนั้นเลย ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ ก็ต้องสามารถรู้สิ่งที่มีจริงๆ ถูกต้องตามความเป็นจริงของสิ่งนั้น

    แม้แต่คำว่า ปัญญา ลักษณะของปัญญา เราก็ยังไม่รู้เลยว่า ถ้าปัญญาแล้วต้องรู้อะไร ต้องรู้สิ่งที่มีจริง แล้วสิ่งที่มีจริง เราต้องรู้จนกระทั่งแจ่มแจ้งจึงจะชื่อว่าเป็นความถูกต้อง ถ้าเพียงฟังแค่นี้ ก็ได้เข้าใจมานิดเดียว แต่ยังไม่พอ ต้องฟังอีก เข้าใจเพิ่มขึ้นอีก เวลานี้จำเป็นธรรม โกรธเป็นธรรมหรือเปล่า ตอนนี้ไม่ลังเลเลย รส หวานๆ เค็มๆ เปรี้ยวๆ เป็นธรรมหรือเปล่า

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 97
    22 มี.ค. 2567