ปกิณณกธรรม ตอนที่ 247


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๔๗

    สนทนาธรรม ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา

    พ.ศ. ๒๕๔๕


    ผู้ฟัง ผมยังมองไม่เห็นผลประโยชน์ที่ว่า ถ้าเกิดผมทราบว่าอันนั้นเป็นธรรม จริง แต่ว่าไม่ใช่เป็นเรา ช่วยอะไรให้กับตัวเรา

    คำถามของคุณปีเตอร์ว่า ธรรมก็เป็นธรรมนั่นแหละ เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ว่าเป็นธรรม แล้วก็ยังเป็นเราอยู่ ก็ไม่เห็นจะต่างกัน รู้ว่าเป็นธรรม แต่ก็รู้ว่าเป็นเรา ก็จะมีอะไรที่ต่าง ต่างก็คือว่า ถ้ารู้ว่าเป็นเรา ผิดหรือถูก ทั้งๆ ที่เป็นธรรม แต่ถ้าคิดว่าธรรมเป็นเรา ความคิดว่าธรรมเป็นเรา ผิดหรือถูก ต้องผิด ใช่ไหม

    เพราะฉะนั้น เราต้องเป็นผู้ที่ตรง คือรู้ว่าเป็นธรรม ก็ต้องไม่ใช่เรา รู้ว่าเป็นธรรมแล้วก็เห็นว่าเป็นเรา ก็ไม่เห็นเป็นอะไร จะถือธรรมว่าเป็นเรา ก็ไม่เห็นว่าเป็นอะไร จะมีอะไรที่ต่างกัน ใช่ไหม ต่างกันตั้งแต่เริ่มต้น คือ ความเห็นถูกกับความเห็นผิด คนเราถ้าเห็นผิด วาจาก็ผิด คำพูดนี่ผิดแน่นอน การกระทำก็ผิด แต่ถ้าเห็นถูก คำพูดก็ถูก การกระทำก็ถูก ทุกอย่างจะถูกหมด ปัญญาคือความเห็นถูกจะไม่นำไปในทางผิด จะไม่นำไปในทางอกุศล แต่เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง จากเมื่อไม่ใช่เรา ไม่มีเรา แต่เป็นธรรมก็จะไม่ยึดถือในความเป็นเรา แต่ที่เราเดือดร้อนกันทุกวัน เพราะเรายึดถือธรรมว่าเป็นเรา ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเพราะความยึดถือว่าเป็นเรา ทุกอย่างเพื่อเรา เพื่อคนอื่น หรือเพื่อเรา ลึกลงไปทุกอย่างเพื่อเราหรือเพื่อใคร

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างคนไทยพูดว่า ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง

    ท่านอาจารย์ ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง เป็นคนที่รู้เหตุหรือเปล่า เจริญเหตุหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่คิดอะไรเลย คนประเภทนี้

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่รู้อะไรเลย นี่คนละทาง ทางนี้เป็นทางรู้ แต่รู้จิรงๆ ว่าเป็นทางที่ละเอียดลึกซึ้งมาก ยากมากที่จะละ เพราะฉะนั้น ก็ค่อยๆ อบรมเจริญเหตุคือการละความไม่รู้จนกระทั่งค่อยๆ รู้ขึ้น แล้วปัญญาเขาก็ทำหน้าที่ของเขา เราทำอะไรไม่ได้เลย ไม่มีเรา มีสภาพธรรมที่เป็นกุศลกับอกุศล โลภะกับอโลภะเป็นเจตสิก โลภะก็ติดข้อง อโลภะเขาไม่ติดข้อง เขาสามารถสละได้ โทสะเขาก็หยาบกระด้าง อโทสะเขาก็อ่อนโยน มีเมตตาได้ เพราะฉะนั้น สภาพธรรม ๒ อย่าง ต่างกัน แล้วยิ่งปัญญากับอวิชชาแล้ว ยิ่งต่างกันมากเลย คือปัญญาสามารถที่จะเห็นถูกจนกระทั่งประจักษ์แจ้งความจริงว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เป็นธรรมเพียงฟัง แต่เป็นธรรมโดยประจักษ์แจ้งว่า แท้ที่จริงแล้วเราหลงรักยึดถือติดข้องในธรรมว่า เป็นเรา ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น ความทุกข์จะมากมายสักแค่ไหน ตราบใดที่ยังมีเราอยู่ แต่ถ้ารู้จริงๆ ว่า ไม่ใช่เรา ก็เป็นธรรมที่เกิดแล้วก็ดับทั้งนั้นเลย ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ว่าจะสุข จะทุกข์ จะอะไรก็เป็นธรรมที่เกิดแล้วก็ดับ ความที่จะไปทำอะไรที่มันตรงกันข้าม กับความคิดเห็นถูกอย่างนี้ก็เป็นไปไม่ได้ แต่เป็นสิ่งที่ไม่ใช่เพียงขั้นฟัง ต้องถึงขั้นประจักษ์แจ้ง

    การฟังของเราคือทราบว่า พระพุทธศาสนา มี ๓ ขั้น ปริยัติ กำลังศึกษาเรื่องราว ฟังเรื่องราวของสภาพธรรม ทั้งๆ ที่ตัวจริงของธรรมก็กำลังเกิดดับตามเหตุตามปัจจัย แต่ไม่ประจักษ์การเกิดดับ ไม่ประจักษ์ว่าเป็นธรรม แต่รู้เข้าใจว่าเป็นธรรม แต่ยังไม่ประจักษ์ตัวธรรมแท้ว่า นี่แหละตัวนี้เป็นธรรม ตัวนั้นก็เป็นธรรม ทั้งหมดในวันหนึ่งๆ ก็คือธรรม อันนี้ยังไม่ประจักษ์ เพราะฉะนั้น ถ้าเราพูดว่า ทุกอย่างเป็นธรรม เราจะหยุดเพียงแค่นี้ไม่ได้ หมายความว่าเรายังไม่ตรงต่อธรรม ถ้าเราตรงต่อธรรม คือ เราจะต้องอบรมเจริญปัญญาจนประจักษ์อย่างที่เราพูด

    ประโยชน์ของการเรียนคือความเห็นที่ถูกต้อง แล้วจริงๆ เป็นเราหรือเปล่า ไม่เป็นก็ต้องให้ตรง ให้ถึงอย่างนั้นได้ ถึงได้แน่นอน แต่ว่าไม่เร็วอย่างที่รีบร้อน แต่ต้องเป็นการอบรมเจริญปัญญาจริงๆ พอปัญญาเกิดเราจะไม่รู้หรือว่า นี่เป็นความเห็นที่ถูก ความเข้าใจที่ถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะอะไร เพราะขณะนั้นมีสติแล้ว สติสัมปชัญญะ แน่นอน ที่กำลังเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง เป็นไปได้ไหม ถ้าเกิดเรายังคิดว่า เป็นเรา แต่ว่ารู้ ละความทุกข์ ความจริงเป็นไปได้ไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นไปได้ขั้นคิด

    ผู้ฟัง ขั้นคิด

    ท่านอาจารย์ ขั้นคิดเป็นไปได้ เพราะฉะนั้น มี ๓ ขั้น ขั้นฟังเข้าใจ แล้วก็ขั้นคิดไตร่ตรอง แล้วขั้นอบรมปัญญาถึงการประจักษ์แจ้งว่า ไม่ใช่เราจริงๆ แต่ละขั้นต้องอาศัยกัน ถ้าเราจะคิดเอง คิดไม่ออก เพราะเราไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เมื่อฟังแล้วเราคิดตาม พิจารณาได้ถูกต้อง แล้วอบรมจนกระทั่งสามารถประจักษ์แจ้งได้จริงๆ เป็นทีละขั้น ขั้นนี้ขั้นฟัง แล้วต่อไปก็ขั้นคิด แล้วต่อไปก็ขั้นเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ปรากฏให้เข้าใจ กำลังเห็นในสิ่งที่กำลังปรากฏ ปรากฏเพื่อให้เข้าใจให้ถูก แต่ถ้าไม่รู้ก็ปรากฏให้เข้าใจผิด

    ผู้ฟัง พยายามให้เข้าใจถูกก็ได้ ไม่ได้คิดตาม

    ท่านอาจารย์ บางทีเข้าใจถูกว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง ในสิ่งที่ความเคยชิน ที่เคยเห็นมา

    ท่านอาจารย์ นั่นไม่ใช่ความเข้าใจถูกในสิ่งที่ปรากฏ สิ่งที่ปรากฏไม่ใช่เรื่องราวอะไรเลย มีเรื่องอะไรในสิ่งที่ปรากฏบ้างคะ แต่พอคิดมี คุณปีเตอร์อ่านหนังสือพิมพ์ใช่ไหม สีดำๆ ขาวๆ ทำไมเป็นประธานาธิบดี ทำไมเป็นอิรัก อิหร่าน ทำไมเป็นอะไรตั้งมากมาย จากสิ่งขาวๆ ดำๆ ตัวหนังสือเหลี่ยมๆ กลมๆ แค่นั้น เป็นเรื่องเป็นราวฉันใด ทางตากำลังเห็นก็เป็นอย่างนี้ แค่นี้กลายเป็นคนเป็นอะไรตั้งมากมาย เรื่องราว จากคิดทั้งนั้น แต่สิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าเข้าใจจริงๆ ก็คือเข้าใจว่าอย่างไร เข้าใจอย่างไรในสิ่งที่ปรากฏ นั่นแหละถึงจะเรียกว่าบางคราวเข้าใจถูก ก็ต้องถูกตามความเป็นจริงของสิ่งที่ปรากฏ เพราะส่วนใหญ่เราจะเอาความคิดของเราเข้าไปแทรก แล้วเอาตำรับตำราบางเล่มที่เราอ่าน หรือข้อความบางตอนที่เราได้รับฟัง แต่ว่าข้อความเหล่านั้นเป็นพระธรรมหรือเปล่า หรือว่าเป็นความคิดของแต่ละบุคคล ถ้าเป็นความคิดของแต่ละบุคคล ไม่มีทางที่จะเห็นถูกในสภาพธรรมที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง สัญญาที่มั่นคงเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสติปัฏฐาน สัญญามั่นคงแบบไหน

    ท่านอาจารย์ สัญญาเป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกชนิด ทุกขณะ ตั้งแต่เกิดจนตาย ถ้าจิตเกิดแล้วจะไม่มีสัญญาเจตสิกเกิดไม่ได้เลย ต้องมีสัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น สัญญามีทั้งจำผิด และจำถูก มีทั้งกุศล และอกุศล ถ้าไม่ฟังเรื่องธรรมแล้ว เราจะเอาสัญญาอะไรมาเป็นเหตุใกล้ ให้สติสัมปชัญญะเกิด เพราะฉะนั้นเพียงแค่ได้ยินว่าสัญญาที่มั่นคง เรารู้แล้ว ต้องเป็นสัญญาที่มั่นคงจากการฟังธรรม และเข้าใจ ไม่ใช่สัญญาอื่น มิฉะนั้นสติปัฏฐานจะระลึกลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้ได้อย่างไร ถึงแม้ไม่กล่าว แต่ความหมายต้องเป็นอย่างนั้นแน่นอน เหมือนกับสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกมีหลายระดับ กำลังฟังธรรม ขณะนี้เข้าใจ ก็เป็นปัญญาเจตสิก เป็นสัมมาทิฏฐิ แต่ไม่ใช่สัมมาทิฏฐิในมรรคมีองค์ ๘ ที่เกิดร่วมกับสัมมาสติในมรรคมีองค์ ๘ ถ้าระดับนั้นก็คือว่าระลึกลักษณะของธรรม ไม่ใช่เพียงพอธรรมปรากฏก็เป็นเรื่องเป็นราว แต่พอมีธรรมปรากฏก็รู้ลักษณะ ระลึกลักษณะไม่ใช่ระลึกเรื่อง รู้ลักษณะที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง อันนั้นเป็นสัญญาอันหนึ่งใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ สัญญาเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภท แล้วแต่ว่าจิตนั้นเป็นอะไร ถ้าไม่ได้ฟังธรรม จะเอาสัญญาที่เข้าใจธรรมมาจากไหน

    ผู้ฟัง อันนั้นนับว่าเป็นสัญญาที่มั่นคง

    ท่านอาจารย์ สัญญาที่มั่นคง คือสัญญาที่เข้าใจธรรมอย่างมั่นคงว่า ขณะนี้เป็นธรรม สติจึงจะระลึกขณะนี้ เพราะว่าเป็นธรรม ถึงแม้ไม่ได้กล่าว โดยเหตุผลต้องเป็นอย่างนั้นแน่นอน จะเป็นอื่นไปไม่ได้ หรือแม้แต่สมาธิ สัมมาสมาธิ ไม่ใช่สมาธิอื่น ไม่ใช่ไปนั่งทำสมาธิอื่นแล้วมาเข้าใจลักษณะของนามธรรมรูปธรรม ไม่ใช่ ต้องสัมมาสมาธิที่เกิดร่วมกับสัมมาสติ พร้อมด้วยสัมมาทิฏฐิที่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมจากการฟัง จากการเข้าใจ จากการฟังอย่างมั่นคง ก็เป็นปัจจัยให้สัมมาสติระลึกพร้อมกัน สัมมาสมาธิ สัมมาทิฏฐิ สัมมาวายามะ อันอื่น ไม่ต้องมีใครไปทำอะไรเลย อย่างในขณะนี้กำลังเห็น ไม่ต้องมีใครไปทำอะไรกับเจตสิก ๗ ดวงให้เกิดขึ้น ขณะเห็น เจตสิกก็เกิดพร้อมจิตแล้ว ๗ ประเภท เวลาที่โทสะเกิด ก็ไม่ต้องมีใครไปทำให้อวิชชาเกิด ก็ต้องมีโมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ เกิดแล้ว ไม่มีใครต้องไปทำอะไรสักอย่างเดียว เพราะฉะนั้น เวลาที่ สัมมาสติเกิด ก็ไม่ต้องมีใครไปทำให้สัมมาวายามะเกิด ไม่ต้องไปพากเพียรอะไรต่างหาก เพราะขณะนั้นสติเกิด ก็ต้องมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยแล้ว แล้วก็มีสัมมาสมาธิเกิดร่วมด้วยแน่นอน ไม่มีใครไปทำอะไร เป็นหน้าที่ของมรรคแต่ละองค์

    ผู้ฟัง คนที่เขาศึกษาธรรมเป็นกลุ่มๆ เขาก็คิดว่าเขารู้ถูก อะไรจะเป็นเครื่องบอกว่าเราถูก เขาไม่ถูก

    ท่านอาจารย์ ธรรมบอก ธรรมที่กำลังปรากฏนี่แหละ บอกตั้งแต่คำแรกเลย ถ้ารู้จักธรรม รู้ว่าขณะนี้เป็นธรรม การรู้จักต้องรู้อะไร ขณะนี้เป็นธรรมที่ทุกคนเสียงเดียวกัน เห็นเป็นธรรมหรือเปล่า ได้ยินเป็นธรรมหรือเปล่า เพราะฉะนั้น เวลารู้จะรู้อะไร เวลาประจักษ์จะประจักษ์อะไร

    ผู้ฟัง ทีนี้เราก็ไม่ประจักษ์สักที

    ท่านอาจารย์ เรารู้หนทางไหมว่า ประจักษ์ ไม่ใช่เราประจักษ์ แต่เป็นการอบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะประจักษ์ ไม่ใช่เราประจักษ์ ไม่ใช่เราไปทำให้ประจักษ์ เพราะขณะนั้นเป็นเรา ไม่ใช่ธรรม เป็นเราไปแล้ว ทั้งๆ ที่เรียนว่า เป็นธรรม พอถึงเวลาอยากประจักษ์ก็เป็นเราไปเสียอีกแล้ว เพราะฉะนั้น ก็ไม่ตรงตามความเป็นจริง ในพระไตรปิฎก โลภะธาตุ โทสะธาตุ มัจฉริยะธาตุ ทุกอย่างธาตุหมดแล้ว ปัญญารู้อย่างนั้นหรือเปล่า ถ้าปัญญาไม่รู้อย่างนั้น รู้อะไร ถ้ารู้อย่างอื่น จริงไหม หรือไม่จริง แล้วรู้เมื่อไร รู้เมื่อเกิดปรากฏ ถ้าไม่เกิดปรากฏ ไปรู้อะไรที่ไม่ปรากฏ มีสภาพธรรมเป็นเครื่องที่จะบอกได้ว่า ผิดหรือถูก ขณะนี้มีธรรม แต่ไม่อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ธรรมที่ปรากฏ ๖ ทาง แล้วไปรู้อื่น ผิดหรือถูก การประจักษ์แจ้งไม่ใช่ปัญญาระดับขั้นฟัง และคิด สติปัฏฐานไม่ใช่การคิด เพราะขณะคิดเป็นธรรมที่คิด เป็นจิต เจตสิกที่คิด ไม่ใช่เป็นสติที่ระลึก ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง มีคนบอกว่า อะไรๆ ก็รอเหตุปัจจัย เป็นคนขี้เกียจ ไม่ทำอะไร บ้างก็บอกว่า ทำอะไรสักอย่าง ถ้าไม่เช่นนั้น ก็เหมือนคนไม่พยายาม

    ท่านอาจารย์ ขณะที่พูดอย่างนั้น เห็นสักกายทิฏฐิหรือเปล่า ความเป็นตัวตน ความเป็นเรา เห็นไหม เรามีปัจจัยเพียงแค่ฟัง แล้วจะให้เรามีปัจจัยไปรู้แจ้งอริยสัจธรรม หรือ ในเมื่อปัญญาเรายังไม่ได้อบรมไปตามลำดับ จนกว่าจะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่จะรู้ว่า หลงลืมสติต่างกับสติสัมปชัญญะอย่างไร ปัญญาระดับนี้ก็ไม่มีแล้ว แล้วจะให้เราไปรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้อย่างไร นี่ไม่ใช่ว่า เป็นเรารอ ไม่ใช่มีตัวเราที่รอ แต่เป็นความเข้าใจเรื่องของปัจจัยโดยถ่องแท้ ว่าทุกอย่างต้องเกิดเพราะเหตุปัจจัยแน่นอน แล้วอย่างนี้ผิดหรือถูก แล้วจะศึกษาเรื่องปัจจัยทำไม จะกล่าวเรื่องปัจจัยทำไม ถ้าไม่เข้าใจปัจจัยของขณะนี้ ถ้าสติสัมปชัญญะเกิดก็รู้ว่า ต้องมีเหตุปัจจัย คือเพื่อที่จะไม่มีเราจนกระทั่งประจักษ์แจ้งว่า ไม่มีเราเหมือนอย่างที่บอกว่า ขณะที่แข็งกำลังปรากฏ เราอยู่ตรงไหน ไม่มีอะไรปรากฏเลย เวลาแข็งปรากฏ เราอยู่ที่ไหน มีแต่แข็ง กับสิ่งที่กำลังปรากฏ มีแข็งกับรู้แข็งเท่านั้นจริงๆ ตรงนั้น เราตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้ามีไหม ขณะที่แข็งกำลังปรากฏ ต้องไม่มี นี่ถึงจะเป็นความเห็นถูก แต่ถ้ามีอยู่เพราะอัตตสัญญา ยังจำไว้ เพราะฉะนั้น เมื่อความจริงคือไม่มี การประจักษ์แจ้งคือต้องไม่มี เพราะฉะนั้น จึงจะละคลายความเป็นเราได้ เพราะไม่มีอะไรเหลือ มีแต่รู้แข็งกับแข็ง แล้วอันไหนเป็นเรา

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ความพยายามชอบในมรรคมีองค์ ๘

    ท่านอาจารย์ เขาเกิดเองกับสัมมาสติ สัมมาทิฏฐิ สัมมาวายามะ ไม่ใช่มีเราต่างหากไปทำความเพียรชอบขึ้นมาอีกอันหนึ่ง ด้วยความเป็นเรา ถ้าด้วยความเป็นเรา ไม่มีทางละเรา แล้วก็ไม่ใช่มรรคด้วย ไม่ใช่หนทางด้วย แล้วอย่างนั้นก็ไม่ลึกซึ้งด้วย จะลึกซึ้งอย่างไร ของธรรมดาๆ นี่แหละลึกซึ้ง คือขณะที่แข็งปรากฏ อย่างอื่นไม่ปรากฏ ถูก แล้วเมื่อไร จะประจักษ์อย่างนี้ ทางมโนทวารไม่มีอะไรเลย นอกจากแข็งกับสภาพที่รู้แข็ง ตรงทุกอย่างกับความเป็นจริง

    ผู้ฟัง เมื่อกี้นี้ตอนต้นที่ท่านอาจารย์บอกว่า หวัง หวัง หรือแม้แต่สติปัฏฐาน เกิดขึ้นครั้งเดียวก็ยังดี เราก็ห้ามมันไม่ได้เพราะความหวังก็เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ถูกที่เขาคิดอย่างนั้น เพราะมีปัจจัยที่จะคิด แต่เป็นหนทางถูกหรือเปล่า

    ผู้ฟัง แต่มันก็เกิดได้ เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เกิดได้เป็นธรรม แต่ปัญญาต้องรู้

    ผู้ฟัง ตามรู้

    ท่านอาจารย์ ปัญญาต้องรู้

    ผู้ฟัง เพราะมันเกิดแล้ว

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ทุกอย่างจะเป็นความคิดวิจิตรพิสดารอย่างไรก็ตามแต่ มีปัจจัยเกิดคิดอย่างนั้น แล้วก็ต้องละความเป็นเรา คือเพียงแค่คิดแล้วก็หมด ไม่ใช่ไปตามให้คิดต่อๆ ไปด้วยความเป็นเรา

    ผู้ฟัง ถึงเราจะคิดอย่างไรก็ตาม

    ท่านอาจารย์ ต้องมีปัจจัย ต้องมีปัจจัยจึงคิดอย่างนั้น เราจะไปพยายามคิดอย่างอื่นให้วิจิตรพิสดาร แต่ไม่มีเหตุปัจจัยให้จิตคิดวิจิตรพิสดาร มันก็คิดไม่ออกว่า วิจิตรพิสดารนั้นคิดอย่างไร แต่ถ้าเขาเกิดวิจิตรพิสดารขึ้นมา ก็คือมีปัจจัยให้วิจิตรพิสดารอย่างนั้น จะจากโลกนี้ไปเมื่อไรไม่รู้เลย แล้วสิ่งที่มีประโยชน์ที่สุดเราจะไปรู้สิ่งที่เราไม่รู้ พยายามไปอ่าน ไปคิด หรือว่าเราจะรู้สิ่งที่มีในขณะนี้

    ผู้ฟัง มีอยู่ในพระไตรปิฎกไหม

    ท่านอาจารย์ มี ไปค้นดูได้ ถ้าอยากรู้ แต่เราจะค่อยๆ ให้เขาเห็นประโยชน์ไหมว่าขณะนั้น คือ เพียงคิด พูดอย่างนี้ซ้ำไปซ้ำมา ๕ ปี ๑๐ ปี จนกว่าเพียงคิด จะรู้จริงๆ ว่าขณะนั้นคือคิด แล้วก็หมด อย่างไหนจะมีประโยชน์กว่า

    ผู้ฟัง เรื่องธรรม ถ้าเผื่อเราทราบว่า อันนั้นเป็นธรรม อะไรเป็นเครื่องวัดว่า ถูกหรือผิด ที่เราจะสามารถเกิดขึ้นได้

    ท่านอาจารย์ มีใครพ้นจากธรรมได้ไหม ทั้งวัน

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ไม่มี ธรรมก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ความคิดความเข้าใจของเราถูกต้องตรง ตามลักษณะของธรรมนั้นๆ หรือเปล่า อย่างข้อที่ว่า สิ่งใดที่ปรากฏ สิ่งนั้นต้องเกิด ถูกไหม แต่ยังไม่ประจักษ์การเกิด สิ่งที่เกิดแล้วก็ดับ ไม่เที่ยง ก็ยังไม่ได้ประจักษ์การดับ แต่ว่าสิ่งนั้น คือ เกิดแล้วดับแน่นอน นั่นคือความจริง เพราะฉะนั้น ความจริงสามารถพิสูจน์ได้ สิ่งใดที่จริง ไม่ใช่เท็จ ไม่ใช่สิ่งที่ไม่มี เพราะฉะนั้น จึงสามารถอบรมเจริญปัญญาที่จะพิสูจน์ว่าเป็นอย่างนั้นจริง

    ผู้ฟัง ต้องรอให้เกิดถึงทราบว่า

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่รอ รอย่างไรก็ไม่ประจักษ์ ต้องอบรมเจริญปัญญา เพราะว่าปัญญาเท่านั้นที่จะประจักษ์แจ้งได้ เวลานี้ทุกวันเรามีอวิชชา ทั้งที่สภาพธรรมก็ปรากฏ แล้วทำไมไม่รู้ นี่กำลังเกิดดับอยู่ เพราะไม่ใช่ปัญญา จึงรู้ไม่ได้ แต่ถ้าเป็นปัญญาที่ค่อยๆ เข้าใจขึ้น อบรมขึ้นเจริญขึ้น ก็จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เมื่อมีเหตุ ผลต้องมี แล้วปัญญาเจริญได้ โลภะ มีตั้งแต่น้อยที่สุดจนถึงมากที่สุดได้ฉันใด สภาพธรรมทุกอย่างก็ตั้งแต่น้อยที่สุด จนกระทั่งถึงใหญ่ที่สุดได้ฉันนั้น ปัญญาที่จะเริ่มเข้าใจกับปัญญาที่อบรม จนกระทั่งประจักษ์แจ้ง คนละระดับ แต่จากความเข้าใจทำให้เจริญขึ้น เติบโตขึ้น จนสามารถที่จะเข้าใจถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับได้

    ผู้ฟัง ถ้าเราจะทราบได้ ก็ต้องรอให้เกิด

    ท่านอาจารย์ ไม่รอ อบรมเจริญปัญญา เพราะว่ามีอวิชชา ปัญญาจะทำให้อวิชชา ค่อยๆ ลดน้อยลง

    ผู้ฟัง โทษของโลภะ เราควรสังเกต คิดพิจารณาไตร่ตรองบ่อยๆ ถึงโทษของเขา ทั้งโลภะ ทิฏฐิ มานะ เป็นเครื่องเนิ่นช้า เป็นปฏิปักษ์ต่อปัญญาอย่างไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ อย่างอวิชชา เรารู้ไหมว่า ชื่อมี แต่เมื่อไร ที่เป็นอวิชชา ทุกขณะที่จิตเป็นอกุศล จะต้องมีอวิชชานี้แน่นอน และอวิชชาที่เราพอจะรู้ได้ คือกำลังเห็น เข้าใจถูก ว่าเป็นธรรมหรือเปล่า ถ้าไม่เข้าใจว่า ขณะนั้นเป็นปัญญาหรือเป็นอวิชชา ไม่ไกลตัวเลย ปฏิจจสมุปบาท หรืออะไรก็แล้วแต่ อวิชชาก็ไม่ไกล สภาพธรรมก็ปรากฏทั้งวัน ก็ไม่รู้ทั้งวัน เพราะฉะนั้น อวิชชาก็คือ อวิชชาในสิ่งที่กำลังปรากฏ ปัญญาก็คือปัญญา เข้าใจถูกในสิ่งที่ปรากฏ เพราะว่าเราไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะนี้เป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะปัจจัยจริงๆ อย่างเห็นอย่างนี่ ถ้าตาบอดไม่มีจักขุปสาท เห็นก็เกิดไม่ได้เลย เราไม่เคยคิดเลย เพราะเหตุว่าเรามีเห็นอยู่ตลอด แต่ถ้าคิดว่า สักวันหรือเดี๋ยวนี้ก็ได้ ถ้าเกิดตาบอดไป สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาจะปรากฏไม่ได้เลย เมื่อนั้นจะรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็แค่เห็น ไม่ใช่คิด เพราะว่าถ้าตาบอด สิ่งนี้ไม่ปรากฏเลย ยังไม่ต้องไปพูดเรื่องคิด พูดถึงสิ่งนี้ที่กำลังปรากฏ แต่กว่าเราจะรู้ว่าเป็นอย่างนี้ ขณะใดที่เราหลงลืม ขณะนั้นก็คืออวิชชา ที่ไม่เข้าใจจริงๆ ว่า นี่เป็นธรรม ที่เพียงเกิดแล้วก็ปรากฏเมื่อกระทบจักขุปสาท จึงมีการเห็นเกิดขึ้นชั่วขณะแล้วก็ดับไป นี่คืออวิชชา แล้วก็เพราะความไม่รู้ เราติดทันที เห็นมีใครบ้างที่ไม่อยากเห็น เหมือนอย่างจิต มีอารมณ์ อารัมมณะ หมายความว่า สิ่งที่ถูกจิตรู้ เป็นที่มายินดีของจิต เพราะจิตจะปราศจากอารมณ์ไม่ได้เลย เมื่อมีจิตต้องมีอารมณ์ ความที่เขาคุ้นเคยกัน การที่จะต้องมีพร้อมกัน การที่ต้องรู้สิ่งนั้น ก็คือสิ่งนั้นเป็นที่มายินดีของจิต จิตจึงเกิดขึ้น มีสิ่งนั้นเป็นอารมณ์ นี่ก็คือ แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าอะไรจะกระทบตา เกิดความพอใจ กระทบหู พอใจ ทุกคนเห็นแล้วก็อยากเห็น ได้ยินแล้วก็อยากได้ยิน ถ้าไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเลย จะอยากอะไร แต่เมื่อมีสิ่งนี้ จึงอยากในสิ่งนี้ อย่างรูปขันธ์ รูปมีทั้งหมด ๒๘ รูป แต่รูปที่ปรากฏในชีวิตประจำวันจริงๆ ๗ รูป ในพระไตรปิฎก ใช้คำว่า โคจร หรือ วิสยะ หรือบางทีก็ใช้ โคจรวิสยรูป หมายความถึงรูปที่ปรากฏเป็นประจำ แค่ ๗ เราก็ติดเสียหนักหนา ติดสิ่งที่ปรากฏทางตามาก ใครว่าน้อย ทุกอย่างต้องสวย เป็นที่พอใจไม่ว่าจะเป็นผมเป็นหน้า เป็นทรัพย์สิ่งของใดๆ ทั้งนั้นที่ปรากฏแก่ตา ติดทันที อย่างนี้ ฉาบทา เนิ่นช้า นี่เฉพาะในเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ถ้าเป็นในเรื่องความเห็นผิด จะเนิ่นช้าสักเท่าไหน ตราบใดไม่มีความเห็นถูกเกิดขึ้น ความเห็นผิดนั่นก็ยิ่งลึก และยิ่งแน่นขึ้น เป็นอุปาทาน เป็นทิฏฐุปาทาน การยึดมั่นในความเห็น ทำไมเราไม่ทิ้งความเห็นผิด เพราะเราติดในความเห็นนั้นมานานแสนนาน

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นสิ่งที่ทิ้งยาก แม้ว่าจะเห็นผิดก็ยังทิ้งยาก อย่างบางคนเขาก็ฟังธรรม แล้วเขาก็รู้ว่า ธรรม ก็คือปัญญาที่สามารถรู้ถูก เข้าใจถูกในสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ แต่เขาก็ไปนั่งทำสมาธิ แล้วอย่างนี้อย่างไร ฉาบทาหรือเปล่า โลภะฉาบทาไม่ให้เห็นถูก แล้วยังมีอุปาทานยึดมั่นในสิ่งนั้นด้วย ก็เป็นเรื่องที่ถ้าเรารู้จักตัวเราจริงๆ อย่างที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโดยละเอียดยิบ เราจะรู้ว่า มันคือสิ่งที่ยากมากเลยทั้งสกปรก ทั้งเน่า ทั้งอะไรสารพัดอย่างด้วยอกุศล แล้วกว่าจะรักษาสภาพของจิตที่มากด้วยอกุศล ให้ค่อยๆ จางจากอกุศล จึงจะไม่มีที่เนิ่นช้าได้ เพราะเหตุว่าอย่างที่คุณแจ๊คกล่าวถึง เป็นเราโดยตัณหา โดยมานะ โดยทิฏฐิ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 97
    22 มี.ค. 2567