ปกิณณกธรรม ตอนที่ 253


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๕๓

    สนทนาธรรม ที่ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จ.พิษณุโลก

    พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔


    ท่านอาจารย์ การศึกษาพระธรรมทำให้เป็นผู้ตรง ตรงต่อการที่จะรู้ว่า เข้าใจธรรมระดับไหน แล้วจะเข้าใจยิ่งขึ้นได้อย่างไร หรือว่าก่อนที่ศึกษายังไม่ได้เข้าใจพระธรรมเลย จนกระทั่งได้ฟังพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ จึงเริ่มที่จะเข้าใจพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    วันนี้มีคำว่า “ธรรม” ซึ่งไม่เปลี่ยนทั้ง ๓ ปิฎก ความหมายเหมือนเดิม คือ เป็นสิ่งที่มีจริง แต่ว่าการใช้คำว่า ธรรม จะหลากหลายขยายต่อไปอีกมาก ตามสภาพความเป็นจริงของธรรมนั้นๆ เพราะว่าจิตของใครเวลานี้เหมือนกันหรือเปล่า ไม่เหมือน คนหนึ่งๆ ก็มีจิตเกิดดับ ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้นับไม่ถ้วน เฉพาะเดี๋ยวนี้ วันนี้ก็ต่างกันไปแล้ว เพราะฉะนั้น สภาพของจิตหลากหลายมาก แต่ก็ทรงแสดงโดยประมวลเป็นประเภทๆ ให้ได้เข้าใจว่า จิตที่เป็นอกุศลมีเท่าไร จิตที่เป็นกุศลมีเท่าไร จิตที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล แต่เป็นผลของกุศล และอกุศลมีเท่าไร

    จิตอยู่ที่ไหน อยู่ที่ตัวทั้งหมดเลย ทุกประเภท แต่ไม่เคยรู้เลย เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้ก็คงจะหาจิตเจอว่า จิตเป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่างสัณฐานใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่เป็นสภาพที่สามารถเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก ต่อไปนี้ถ้ามีคำถามว่า จิตอยู่ที่ไหน คงไม่ยากที่จะตอบ ใช่ไหม แต่ว่าจิตไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วดับไปทุกขณะ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มีข้อสงสัยเรื่องจิตไหม ถ้าไม่มีจะได้ต่อไปเรื่องเจตสิก

    ผู้ฟัง จาก ๘ รูป ทำให้เราเห็น ๗ รูป

    ท่านอาจารย์ ในชีวิตประจำวัน ต้องขออนุโมทนา คือดีใจที่มีผู้ทักท้วง เพราะเหตุว่าแสดงว่าฟัง สนใจ ด้วย เพราะว่าพูดถึงตา หู จมูก ลิ้น กาย ใช่ไหม ตา ๑ รูป หู ๑ รูปคือเสียง จมูก ๑ รูปคือกลิ่น รส ๑ รูป เป็น ๔ แล้วใช่ไหม ทางกาย ๓ รูป ที่เราใช้คำว่าธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ทั้ง ๔ ธาตุซึ่งเป็นรูปธรรม เป็นมหาภูตรูป เป็นรูปที่เป็นใหญ่เป็นประธาน รูปอื่นจะมีไม่ได้ ถ้าไม่มีรูป ๔ รูปนี้ เพราะฉะนั้น รูป ๔ รูปนี้เป็นรูปที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุดินที่นี่หมายความถึงลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง เป็นธาตุดิน ลักษณะที่เย็นหรือร้อนเป็นธาตุไฟ ลักษณะที่ตึงหรือไหวเป็นธาตุลม ลักษณะที่เกาะกุมเอิบอาบซึมซาบเป็นลักษณะของธาตุน้ำ ซึ่งไม่ปรากฏทางกาย มหาภูตรูป ๓ จะปรากฏทางกาย รวมอีก ๔ รูป เป็น ๗ รูป ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ก็คุ้นหูนี่ ไม่ยากอะไรเลย พระอภิธรรมนี้ไม่ยากเลย ธรรมก็ไม่ยากเลย ปรมัตถธรรมก็ไม่ยากเลย มีอยู่ทุกขณะพิสูจน์ได้ เพียงแต่ชื่ออาจจะใหม่ แล้วก็ความเข้าใจเรื่องสภาพธรรม อาจจะไม่เหมือนกับที่เคยเข้าใจมาก่อน แต่ว่าตามความจริงเป็นอย่างนี้ แล้วเราติดรูปไหนมาก แต่ละคนก็รู้ดี บางคนติดรูปทางตามาก บางคนติดรูปทางลิ้นมาก ให้อะไรก็ให้ได้ แต่อาหารที่อร่อยไม่ยอมให้ใคร ขอรับประทานคนเดียว เพราะติดในรสนั้น ก็เป็นเรื่องจริง เป็นสิ่งซึ่งเป็นชีวิตของแต่ละคนตามความเป็นจริงที่เริ่มจะเข้าใจในความเป็นธรรม และในความเป็นอนัตตา มีใครรู้รูปอื่นเกิน ๗ รูปนี้บ้าง มีไหม ธรรมเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ในชีวิตประจำวัน มีใครรู้รูปเกิน ๗ รูปนี้บ้าง ที่รบราฆ่าฟันกัน ต้องการอะไร ที่มีการประพฤติทุจริตต่างๆ เพราะอะไร ความต้องการในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส สำหรับ ๓ รูปใช้คำว่า โผฏฐัพพะ เป็นคำใหม่ จะจำก็ได้ ไม่จำก็ได้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดาก็จะใช้ คำว่า สัมผัส แต่จริงๆ แล้วใช้คำว่า โผฏฐัพพะ คุณสุภีร์จะช่วยให้ความหมายคำนี้

    สุภีร์ คำว่าโผฏฐัพพะ หมายถึงรูปที่กระทบได้ทางกาย ซึ่งทางกายเราจะมีกายปสาทอยู่ทั่วร่างกายเลย ฉะนั้นรูปที่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว เวลากระทบ ถ้าสมมติว่า เราเอามือไปกระทบที่โต๊ะ ที่เราเรียกกันว่าโต๊ะ ก็จะมีแข็ง นี่แหละเรียกว่า โผฏฐัพพะชนิด ๑ คือรูปที่สามารถกระทบได้ทางกาย กายปสาท กายปสาทจะซึมซาบ อยู่ทั่วร่างกายเลย

    ท่านอาจารย์ เคยมีใครตัวร้อนบ้างไหม ธาตุไฟ ถ้าไม่มีกายปสาท จะรู้ในลักษณะร้อนไหม เพราะว่ากายปสาทซึบซาบอยู่ทั่วตัวทั้งภายใน และภายนอก

    ผู้ฟัง ที่มีรูปทางกาย ๓ รูป ทีนี้ก็แยกออกเป็น ดิน น้ำ ลม ไฟ คือไม่เข้าใจตรงที่ว่า กาย ๓ รูป ๓ รูปนี้เป็นอะไร แล้วออกมาเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ ตรงไหน

    ท่านอาจารย์ มหาภูตรูป คือรูปใหญ่ๆ ซึ่งเป็นประธานของรูปทั้งหมด ถ้า ๔ รูปนี้ ไม่เกิด รูปอื่นก็เกิดไม่ได้เลย มหาภูตรูปมี ๔ ธาตุดิน ภาษาบาลีใช้คำว่า ปฐวีธาตุ ได้แก่ลักษณะที่อ่อน หรือแข็ง ธาตุน้ำ อาโปธาตุ ได้แก่ลักษณะที่ซึมซาบหรือเกาะกุมเอิบอาบ ทำให้รูปที่เกิดร่วมด้วยติดกันเกาะกุมไว้ คือ อาโปธาตุ ธาตุน้ำ ธาตุไฟมีลักษณะ ๒ อย่าง เย็นหรือร้อน ธาตุลมก็มีลักษณะ ๒ อย่าง ตึงหรือไหว นั่นเป็นลักษณะของธาตุลม เพราะฉะนั้นรูปที่จะปรากฏทางกายมีเพียง ๓ รูป คือ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุน้ำซึ่งเกาะกุมรูปอยู่ด้วยกันไม่ปรากฏ คือ ไม่กระทบกับกายปสาท ส่วนที่กระทบกายปสาทได้ มีแต่เฉพาะธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม รวมเป็น ๗ รูป ถ้าพูดถึงแต่ละรูปต้องเป็น ๗ แต่ถ้าพูดถึงทางกายต้องเป็น ๓ รูป เคยตัวเย็น มือเย็น เท้าเย็น เป็นเราเย็นหรือเปล่า หรือว่าเป็นรูปเย็นที่เกิด เพราะปัจจัย ทำไมเดี๋ยวนี้ไม่เย็น พอถึงเวลารูปเย็นก็เกิดขึ้น เมื่อมีปัจจัยของรูปเย็นที่จะเกิด รูปร้อนก็เหมือนกัน ทั้งๆ ที่เป็นรูปไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย แต่ก็ยึดถือรูปนั้นว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้น จึงมีคำว่า อุปาทานขันธ์ การยึดถือสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับว่าเป็นเรา เป็นที่ตั้งของความยึดถือ แต่ยังไม่กล่าวถึงขันธ์จนกว่าจะกล่าวถึงปรมัตถธรรม ๔ ครบเสียก่อน ตอนนี้เป็นเรื่องของจิต

    เพราะฉะนั้น จะเห็นความต่างของสภาพธรรม ๒ อย่าง นามธาตุไม่ใช่รูปธาตุ โดยสิ้นเชิง โดยเด็ดขาด โดยประการทั้งปวง นามธาตุซึ่งเป็นสภาพรู้จะกลายเป็นรูปซึ่งไม่รู้อะไรไม่ได้ แล้วรูปซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ ก็จะกลับกลายเป็นรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ไม่ได้ รูปก็เป็นรูป นามก็เป็นนาม แต่ที่ร่างกายของแต่ละคน ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ขอใช้คำก้าวหน้าไปนิดหนึ่ง แต่ก็อาจจะเคยได้ยิน ให้ชินหูไว้ก่อนก็ได้ เป็นภูมิที่มีทั้งนามธรรม และรูปธรรม ทั้ง ๒ อย่าง มีอยู่ในภูมิ ๔ ภูมิ ซึ่งไม่มีรูปเลย คือ อรูปพรหมบุคคลในอรูปพรหมภูมิ เป็นด้วยกำลังของอรูปฌาน เพราะฉะนั้น ภูมิอื่นๆ ก็จะมีนามธรรม และรูปธรรม มี ๑ ภูมิที่ไม่มีนามธรรมเลย คือ อสัญญสัตตาพรหม เป็นผลของการอบรมเจริญฌานจนกระทั่งถึง ปัญจมฌาน ให้เข้าใจเรื่องของธรรม นามธรรม รูปธรรม

    นามธรรมเป็นจิตซึ่งเกิดขึ้นเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ขณะใดที่จิตเกิดจะไม่รู้อะไรได้ไหม ไม่ได้ เพราะว่าลักษณะของธาตุชนิดนี้เป็นสภาพรู้ เมื่อลักษณะของธาตุชนิดนี้เป็นสภาพรู้ ทุกครั้งที่เกิดต้องรู้ ทางภาษาบาลีจะมีคำว่า อารัมมณะ หมายความว่าสิ่งที่จิตรู้ เมื่อจิตเป็นสภาพรู้ สิ่งที่จิตกำลังรู้ ภาษาบาลีใช้คำว่า อารัมมณะ หรือ อาลัมพนะ ถ้ามีจิต ไม่มีอารัมมณะ หรือ อาลัมพนะ ได้ไหม ไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่จิตรู้ ภาษาไทยใช้คำว่าอารมณ์ เราตัดข้างหลังออกหมดเลย แทนที่จะพูด อารัมมณะ ก็เป็นอารมณ์ แต่ว่าอารมณ์จริงๆ ในภาษาไทยที่ใช้กันไม่ถูกตามพระพุทธศาสนา แต่เป็นปลายเหตุ เช่น บอกว่าวันนี้อารมณ์ดี หมายความว่าอย่างไร เห็นดี ได้ยินดี ได้กลิ่นดี ลิ้มรสดี รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสดี จิตใจสบายดี ก็บอกว่าอารมณ์ดี แต่อารมณ์จริงๆ ต้องเป็นสิ่งที่จิตกำลังรู้ เสียง ขณะนี้มี เสียงใดที่จิตรู้ เสียงนั้นเป็นอารมณ์ของจิตที่ได้ยินเสียง แต่เสียงที่จิตไม่รู้ ขณะนั้นถึงเป็นเสียงก็ไม่ใช่อารมณ์ เพราะฉะนั้น คำว่าอารมณ์ต้องคู่กันกับจิต ต่อไปนี้เวลาพบกัน รู้แล้ว ใช่ไหม อารมณ์คืออะไร อารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้ ถ้ามีจิตแล้วไม่มีอารมณ์ไม่ได้ ถ้าจิตได้ยินเกิด อะไรเป็นอารมณ์ของจิต ได้ยิน จิตได้ยินเกิด เสียงเป็นอารมณ์ของจิตได้ยิน ถ้ากลิ่นปรากฏ กลิ่นเป็นอารมณ์ของจิตอะไร ของจิตที่รู้กลิ่น ขณะนั้นต้องมีสภาพรู้ กลิ่นจึงปรากฏได้ ถ้าไม่มีสภาพรู้ กลิ่นปรากฏไม่ได้เลย

    ตลอดชีวิตมา มีจิตกับอารมณ์ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่เราสนใจในอารมณ์ ลืมว่าต้องมีจิต ซึ่งเป็นสภาพรู้ที่ต้องเกิด แล้วก็กำลังรู้สิ่งนั้น มิฉะนั้นสิ่งนั้นก็ปรากฏไม่ได้ คุณสุภีร์ช่วยให้ความหมายของคำว่า อารัมมณะ กับ อาลัมพนะ

    สุภีร์ คำว่า อารัมมณะ หรือ อาลัมพนะ โดยอรรถ โดยคำอธิบาย ท่านอาจารย์ก็ได้ให้ความหมายไปแล้วว่า คือสิ่งที่จิตรู้นั่นเอง แต่โดยศัพท์ก็คือคำว่า อารัมมณะ หมายถึงสิ่งที่มายินดีของจิต จิตนี้จะไม่ยินดีที่ไหน เกิดขึ้นก็ต้องรู้อารมณ์ ฉะนั้นจึงใช้คำว่า อารัมมณะ หรือ อาลัมพนะ หมายถึงสิ่งที่เป็นที่มายินดีของจิต ถ้าจิตเกิดต้องมีอันนี้แหละเป็นที่ยินดีของจิต เรียกว่า อารัมมณะ หรือว่า อาลัมพนะ

    ท่านอาจารย์ เริ่มเห็นความต่างของภาษาไทย ที่เราใช้กับความหมายจริงๆ ในพระพุทธศาสนา จะแปลเอาเองตามใจชอบไม่ได้เลย ต้องศึกษาจึงจะเข้าใจได้ถูกต้อง นกมีจิตไหม มีเพราะนกก็เห็น นกก็ได้ยิน นกก็ต้องคิด เห็นในน้ำได้ไหม ปลา แล้วคนล่ะ อะไรก็ตาม ธาตุเห็นเกิดที่ไหน บนสวรรค์ ในท้องฟ้า เห็นได้ไหม ก็ได้ นี่คือธรรม นี่คือปรมัตถธรรม นี่คืออภิธรรม ความจริงต้องเป็นความจริงเปลี่ยนไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง อย่างนี้ดอกไม้ก็มีจิต ใช่ไหม เพราะว่าดอกไม้ก็มีธาตุรู้ เวลาที่แมลงมาเกาะ

    ท่านอาจารย์ ไม่รู้ ไม่มีกายปสาท สิ่งใดที่ปรากฏ สิ่งนั้นจะเป็นนามธรรม ไม่ได้ ปรากฏให้เห็นทางตา เป็นแต่เพียงสิ่งที่มีจริง จากการตรัสรู้ทรงแสดงว่า สภาวรูป รูปที่มีจริงๆ มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ๑๗ ขณะนี้เร็วมาก เพราะขณะนี้ทุกคนเข้าใจว่าทั้งเห็นด้วย ทั้งได้ยินด้วย ทั้งคิดนึกไปด้วย แต่จิตที่เห็นกับจิตที่ได้ยินไกลกันเกินกว่า ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น ทางวิทยาศาสตร์จะบอกว่า รูปมีอายุเท่าไร เซลล์จะมีอายุเท่าไรก็ตามแต่ แต่ไม่เท่าพระปัญญาคุณที่ตรัสรู้ การเกิดดับจริงๆ จิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปๆ หนึ่งก็ดับ ขณะนี้รูปกำลังเกิดดับด้วย

    ผู้ฟัง มีดอกไม้บางประเภทที่กินแมลง อ้าปาก แมลงบินลงไปแล้ว มันจะปิดล็อคแมลงไว้ ก็เลยอยากจะตีความว่าดอกไม้ที่กินแมลงมีกายปสาทหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ กายปสาทต้องเกิดจากกรรมเป็นปัจจัย ต้นไม้ชนิดไหนเกิดจากกรรม มีไหม จักขุปสาท ใครมองเห็นบ้าง จักขุปสาทเป็นรูปที่อยู่กลางตา ถ้าเห็นขณะใด ไม่ใช่เห็นจักขุปสาทเลย เห็นสีสันวัณณะ สิ่งที่สามารถปรากฏทางตา แต่ตัวจักขุปสาท เป็นรูปพิเศษ ซึ่งมีลักษณะสามารถกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตา คือ สีสันวัณณะ หรือ แสงสว่าง หรืออะไรก็ตาม ที่ขณะนี้กำลังปรากฏ จะกระทบกับจักขุปสาทได้ แต่กระทบกับโสตปสาทไม่ได้ เช่นเดียวกับเสียง จะกระทบหน้าผาก กระทบกายปสาท จะกระทบจมูกไม่ได้ แต่จะกระทบรูปๆ หนึ่งซึ่งเป็นโสตปสาท เป็นรูปที่อยู่กลางหู มองไม่เห็นอีกเหมือนกัน แต่ว่าสามารถจะกระทบกับเสียงได้

    เวลาที่พูดถึงจักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท เป็นรูปที่มองไม่เห็นเลย แต่มีจริง เพราะขณะนี้กำลังประทบกับรูป แล้วจิตก็เกิดขึ้นโดยอาศัยปสาทรูปนั้นๆ ปสาทรูปทั้งหมดต้องเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน เพราะฉะนั้น บางคนตาบอดตั้งแต่เกิดก็มี หรือภายหลังตาก็บอดได้เมื่อกรรมให้ผลที่จะไม่ทำให้จักขุปสาทเกิด ขณะนี้ทุกคนมีกรรมเป็นปัจจัย ที่ทำให้จักขุปสาทเกิดไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงกาลซึ่งกรรมจะไม่ทำให้จักขุปสาทเกิดเมื่อไร เมื่อนั้นคือตาบอดทันที ใครก็ห้ามไม่ได้ ใครก็สร้างรูปนี้ไม่ได้ นอกจากรรมเป็นสมุฏฐาน

    ชีวิตของเราตั้งแต่เกิดจนตาย ทั้งนามธรรม และรูปธรรม จากการตรัสรู้ทรงแสดงไว้โดยละเอียด ถ้าไม่มีพื้นฐานความรู้เรื่องธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา สติปัฏฐานไม่สามารถจะเข้าใจได้ การอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมก็เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าปัญญาต้องเป็นไปตามลำดับขั้นจริงๆ เพราะว่าในพระศาสนาจะมีสุตตมยปัญญา ปัญญาที่สำเร็จจากการฟัง ฟังแล้วก็คิด แล้วก็พิจารณา เข้าใจเมื่อไร ขณะนั้นเป็นปัญญา ไม่ใช่เรา แต่เป็นเจตสิก เป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดกับจิต พร้อมกับจิต ทันทีที่จิตเกิด ก็จะมีนามธรรมอีกชนิดหนึ่ง ชื่อว่า เจตสิก ใช้คำว่า เจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ต้องเกิดกับจิต เพราะฉะนั้น จิตจะไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่ได้ หรือเจตสิกจะไม่มีจิตเกิดร่วมด้วยก็ไม่ได้ เพราะว่าทั้ง ๒ อย่างอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น เป็นปัจจัยโดยหลายปัจจัย เวลาที่ไปฟังสวด เวลาที่ได้ยินคำว่าปัจจัย จะได้ยินคำว่า เหตุปัจจโย อารัมมณปัจจโย เป็นเรื่องของปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมในชีวิตประจำวัน เกิดขึ้นแต่ละปัจจัย เช่น จิตเป็นนามธาตุ ธาตุชนิดหนึ่ง ไม่มีเจ้าของ เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้นรู้ สิ่งที่ถูกรู้เป็นอารมณ์ คือ เป็นสิ่งที่จิตรู้ เพราะฉะนั้น อารมณ์นั้นแหละเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จิตเกิดขึ้น ชื่อว่าเป็นปัจจัย โดยเป็นอารมณ์ เป็นอารัมมาณปัจจัย นี่เป็นสิ่งที่ไม่ยากเกินกว่าที่เราจะเข้าใจได้ ถ้าเข้าถึงความเป็นอนัตตา เข้าถึงความเป็นธรรม เข้าถึงความเป็นสิ่งที่มีจริงๆ แต่ว่าไม่สามารถจะมีใครไปเปลี่ยนแปลง ไปสร้าง ไปดลบันดาลได้ แต่ว่าต้องเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย มิฉะนั้นแล้วเราจะเจริญสติปัฏฐาน ทำไม มรรคมีองค์ ๘ ทำทำไม มีอะไร อบรมไปทำไม ถ้าไม่มีการที่จะรู้ความจริงว่า เพราะธรรมเป็นอย่างนี้ จึงต้องอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้ความจริงอย่างนี้ โดยขั้นฟังขั้นแรก สุตตมยปัญญา แล้วเวลาที่เราไม่ได้ยินได้ฟัง อย่างวันนี้ กลับไปบ้าน คิดถึงธรรมสักคำไหม คิดถึงคำว่า อารัมมณะ สักหน่อยหนึ่งไหม คิดถึงรูป ๗ รูปที่เกิดปรากฏในชีวิตประจำวัน คิดได้แล้ว ใช่ไหม ไตร่ตรอง ค่อยๆ เข้าใจความเป็นอนัตตา เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีนามธรรม รูปธรรม จะมีเราไหม จะมีสัตว์ บุคคลใดๆ ไหม รูปธรรมอะไรก็ไม่มีเลย โลกก็มีไม่ได้ แต่เพราะเหตุว่ามีรูปธรรม และมีนามธรรม จึงมีโลกในหลายความหมาย สิ่งที่เราใช้กันบ่อยๆ คำที่เราใช้ เราใช้โดยที่เราไม่เข้าใจลักษณะที่แท้จริงของสิ่งนั้น เพียงแต่เราคิดประมาณตามความคิดของเรา ตามความหมายที่เราคาดคะเนเท่านั้นเอง

    ปัญญาก็มีหลายระดับ ปัญญาที่สำเร็จจากการฟัง แล้วพิจารณา แล้วก็เข้าใจถูกต้อง ขณะใดที่เข้าใจถูก เห็นถูก ไม่ใช่เรา เป็นธรรมชนิดหนึ่ง เกิดแล้วดับ เข้าใจแล้ว เดี๋ยวก็ลืมแล้ว ไปคิดถึงเรื่องอื่นแล้ว จนกว่าจะได้ฟังอีกเมื่อไร ปัญญาก็ค่อยๆ เจริญขึ้น ค่อยๆ เข้าใจเพิ่มขึ้น นอกจาก สุตตมยปัญญา จิตตมยปัญญาแล้ว ก็มี ภาวนามยปัญญา คือ การอบรมอีกระดับหนึ่ง ที่สามารถจะทำให้ประจักษ์แจ้ง ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับเป็นพระอริยบุคคลได้ ไม่ใช่มีแต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระอริยสาวกด้วย เพราะฉะนั้น ทุกคน พุทธบริษัท คิดว่าน่าจะเป็นอริยสาวกไหม หรือว่าไม่ต้องเป็น เป็นก็ได้ ไม่เป็นก็ได้ หรือยังไง ฟังแล้วมีประโยชน์ ที่รู้ว่าเราไม่รู้ เราควรจะรู้ขึ้น ถ้าเรารู้ขึ้น รู้ขึ้น ประโยชน์สูงสุด ก็คือสามารถรู้จริงๆ ในสิ่งที่กำลังพูดถึงว่าเป็นอนัตตา มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง อย่างจิต ขณะแรกที่เกิด ถ้าไม่มีจิตเกิดก็ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ก็เป็นแต่เพียงเนื้อ อาจจะเป็นเนื้องอกหรืออะไรก็ได้ แต่ที่จะเป็นสัตว์เป็นบุคคลได้เพราะมีจิตเกิดขึ้น พร้อมกับกัมมัชรูป หมายความว่ารูปซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน มิฉะนั้นแต่ละคนจะมีรูปร่างไม่ต่างกัน แต่เพราะว่ากรรมวิจิตรต่างกันมาก แม้รูปก็ต่างกันไปเพราะกรรม แล้วเพราะปฏิสนธิจิตด้วยว่า ปฏิสนธิจิตเป็นผลของกรรมอะไร ถ้าเป็นผลของกุศลกรรมก็เกิดในสุคติภูมิ เช่นบนสวรรค์ ในสวรรค์ หรือว่าในมนุษย์ภูมิก็เป็นผลของกุศลกรรม แต่รูปก็ยังต่างกันอีก ใช่ไหม ยังมีกรรมเล็กกรรมน้อยอีกจะให้ผลเมื่อไร ทางไหน อย่างไหน ก็ละเอียดมากเลย แต่ให้ทราบว่า ต้องมีจิตขณะแรกเกิดขึ้น ขณะหลังๆ จึงจะสืบต่อมาจนถึงขณะนี้ได้ จิตขณะแรกที่เกิด ภาษาบาลีใช้คำว่า ปฏิสนธิจิต หมายความว่า สืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน จุติจิต คือจิตที่ทำให้เคลื่อนพ้นจากความเป็นบุคคลในชาตินั้น จะเป็นบุคคลนั้นต่อไปอีกไม่ได้เลย จิตขณะสุดท้ายของทุกชาติ ชื่อว่า จุติจิต เพราะว่าทำกิจเคลื่อนพ้นจากสภาพความเป็นบุคคลนั้น แต่จิตเกิดดับสืบต่อไม่มีระหว่างคั่นเลย ตั้งแต่เกิดจนถึงเดี๋ยวนี้ฉันใด เวลาจุติจิตดับ กรรมหนึ่งก็ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อทันที เพราะฉะนั้น ก็มีการที่เราเคยเป็นหนึ่งบุคคลใดในชาติก่อนซึ่งไม่สามารถจะรู้ได้ แต่สามารถจะรู้ได้ในชาตินี้ ซึ่งปฏิสนธิจิตเป็นผลของกุศลกรรมทำให้เกิดเป็นมนุษย์ แต่ว่าปฏิสนธิจิตของแต่ละคนก็ยังวิจิตรต่างกันไป เหมือนความคิดของแต่ละคนในวันนี้ซึ่งต่างกัน เพราะฉะนั้น เวลาที่กรรมจะให้ผลก็ประมวลมา ซึ่งแล้วแต่ว่ามีปัจจัยที่จะให้สภาพธรรมใดเกิดขึ้น ในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ในชาตินั้น

    ผู้ฟัง จิตขณะหลับสนิทกับขณะฝัน มีความแตกต่างกัน หรือเหมือนกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ แตกต่างกัน เพราะว่าถ้าใช้คำว่าหลับสนิท เวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิดขณะนั้น ขอเทียบให้ฟังว่า ไม่รู้อะไรเลย ขณะแรกที่จิตเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไร เกิดบนสวรรค์ก็ไม่รู้ เกิดในนรก เกิดเป็นพรหม ก็ไม่รู้ เพราะว่าขณะนั้นไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด แต่จิตมีอารมณ์สืบเนื่องมาจากใกล้จุติของชาติก่อน ด้วยอำนาจของกรรมหนึ่งเป็นปัจจัย ทำให้จิตใกล้จะตายมีอารมณ์นั้น แล้วเมื่อจุติจิตดับแล้ว ปฏิสนธิจิตก็มีอารมณ์เดียวกับจิตใกล้จะจุติของชาติก่อน ด้วยเหตุนี้อารมณ์นั้นจึงไม่ปรากฏในโลกนี้เลย เพราะว่าไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับ ๑ ขณะ ปฏิสนธิจิตขณะเดียวสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 97
    23 มี.ค. 2567