ปกิณณกธรรม ตอนที่ 254


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๕๔

    สนทนาธรรม ที่ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จ.พิษณุโลก

    พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔


    ท่านอาจารย์ เวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับ ๑ ขณะ ปฏิสนธิจิตขณะเดียวสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน จิตขณะต่อไปเกิดไม่ได้ทำปฏิสนธิกิจ ไม่ได้สืบต่อจากปฏิสนธิจิต แต่กรรมทำให้จิตซึ่งเป็นผลของกรรมเดียวกับที่ทำให้ปฏิสนธิเกิดสืบต่อ ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้น เพราะฉะนั้น จิตขณะที่ ๒ ต่อจากปฏิสนธิจิต จึงทำภวังคกิจ ที่เราใช้คำว่า ภวังค์ๆ ต้องหมายความว่า ขณะนั้นไม่ได้รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่คิดไม่ฝัน ไม่อะไรทั้งหมด คือนอนหลับสนิทจริงๆ อารมณ์ใดๆ ก็ไม่ปรากฏ ขณะนั้นชื่ออะไรก็ไม่รู้ อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ พ่อแม่พี่น้องวงศาคณาญาติก็ไม่รู้หมด ในขณะที่เป็นภวังค์ แต่เมื่อตื่นก็มีการเห็น มีการจำ มีการรู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร ก็เป็นเรื่องเป็นราว จนกระทั่งคืนนี้ก็เหมือนเดิม คือไม่รู้อะไรอีก เวลาที่เป็นภวังค์ ทั้งวันที่ผ่านมาก็ดับไป ดับไป ไม่เหลืออะไรเลย ทุกชาติ เราจะไปรู้สึกอย่างนี้ตอนที่เราจะจากโลกนี้ไปว่า เราไม่สามารถที่จะเอาทรัพยสมบัติใดๆ พี่น้องวงศาคณาญาติ ลาภ ยศ ตามไปได้เลยสักอย่างเดียว เพราะเหตุว่าขณะนั้นสิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ ทุกอย่างต้องอยู่ในโลกนี้ กรรมก็ทำให้เกิดในภพต่อไป แล้วแต่ว่าจะเห็น ได้ยิน อะไรต่อไป เหมือนจากโลกก่อนมาสู่โลกนี้ ก็มีการเห็นการได้ยินของโลกนี้ เพราะฉะนั้น เวลาที่จิตเป็นปฏิสนธิจิต เป็นภวังคจิต ไม่รู้อารมณ์ใดๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อีกขณะหนึ่ง คือ จุติจิต จิตที่ทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ จิต ๓ อย่าง ๓ กิจนี้ ไม่รู้อารมณ์ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รู้แต่อารมณ์ของปฏิสนธิ อารมณ์เดียวกัน ซึ่งเป็นอารมณ์ใกล้จุติของชาติก่อน

    ผู้ฟัง ภวังคจิต หรือ ปฏิสนธิจิตในเวลาขณะที่เราหลับ แสดงว่าตอนนี้จิตจะไม่มีการดับ

    ท่านอาจารย์ เกิดดับ ธรรมเปลี่ยนไม่ได้ จิตแต่ละขณะ ไม่ว่าจิตของใคร เมื่อไร จะมีอนุขณะ ขณะย่อยๆ ๓ ขณะ คือ อุปาทขณะ คือ ขณะที่เกิด ฐีติขณะ คือ ขณะที่ยังไม่ดับ และภังคขณะ คือขณะที่ดับ ๓ อย่างนี่จะแสดงไว้เลยว่า รูปประเภทไหนจะเกิดขณะไหนของอนุขณะของจิต แต่ว่าจิตทุกขณะ ไม่ว่าจิตของใคร จิตของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มี ๓ อนุขณะ อุปาทขณะเกิด ไม่ใช่ขณะดับ ไม่ใช่ขณะตั้งอยู่ ฐีติขณะ ไม่ใช่ขณะเกิด ไม่ใช่ขณะดับ ภังคขณะ คือขณะดับ ไม่ใช่ขณะเกิด ไม่ใช่ขณะที่ตั้งอยู่ แม้ว่าจะมีอายุสั้นมาก รวดเร็วมากอย่างไร ก็ยังมีอนุขณะ ๓ ขณะ นี่คือจิตของทุกคนเวลานี้ซึ่งไม่รู้ตัวเลย แต่ว่าความจริงเป็นอย่างนี้ พิสูจน์ได้ ด้วยการศึกษาค่อยๆ เข้าใจขึ้น แต่ว่าจะต้องอบรมเจริญปัญญารู้แจ้งอริยสัจธรรมตามกำลังของปัญญาที่สะสมมา เพราะฉะนั้นเวลานี้เราเกือบจะไม่ทราบเลยว่า ความคิดของเรารวดเร็วขนาดไหน สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ถ้าเพียงไม่มีความคิดเกิดต่อ จะไม่มีอะไรสักอย่าง นอกจากสิ่งที่ปรากฏเป็นสีสันต่างๆ แต่พอมีการคิดนึกถึงรูปร่างสัณฐาน จำได้เลย คนนี้ชื่ออะไร แล้วเรื่องราวต่างๆ ก็ตามมา เพราะฉะนั้น เราก็มีการคิดนึกจากสิ่งที่เห็น ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วแค่หลับตา สิ่งที่กำลังปรากฏไม่เหลือเลย ถูกไหม เป็นความจริงหรือเปล่า เวลาที่หลับตา สีต่างๆ ไม่เหลือ จะเหลือก็เพียงสีเดียวอาจจะเป็นสีคล้ำๆ สีหม่นๆ หรือสีอะไรก็แล้วแต่แสง ใช่ไหม ทำไมเราไม่ว่าเป็นคน แสงสว่างหรือสีต่างๆ ทำไมไม่ว่าเป็นคน แต่พอลืมตา เพียงแค่สี แต่หลากหลายต่างจากขณะที่หลับตา ก็ทำให้เกิดความคิดนึก ความจำว่า เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้

    เราเอาคนจากสิ่งที่ปรากฏ เอาเรื่องราวต่างๆ เหมือนเราดูโทรทัศน์ ก็ไม่มีคนสักคน ทำไมมีเรื่องมากมาย หรือหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ก็แค่ดำๆ ขาวๆ แต่ออกมาเป็นประธานาธิบดี สภาผู้แทนราษฎร เป็นอะไรหมด จากสิ่งที่ดำๆ ขาวๆ เพราะฉะนั้น จะแลเห็นได้ความต่าง แท้ที่จริงแล้วมีสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่หลังจากนั้นความคิดของเรามากมายมหาศาล เอามาจากเพียงสิ่งที่ปรากฏทั้งนั้น

    เพราะฉะนั้น จะว่าไปก็เหมือนกับเราอยู่ในโลกของความคิด เป็นสภาพรู้ล้วนๆ แต่ว่าเวลาที่สภาพรู้นั้นเกิดขึ้นเห็น ต้องอาศัยจักขุปสาท แล้วจักขุปสาทอยู่ตรงไหน กลางตาเล็กนิดเดียว นิดเดียวจริงๆ แต่พอกระทบ ที่ใช้คำว่า อายตนะ คือ การประชุมกันของสิ่งที่ปรากฏทางตา จักขุปสาท และสภาพอื่น ซึ่งเป็นอายตนะ ขณะนั้นจิตเห็น ก็เกิดขึ้นเห็น แล้วก็ดับไปเลย ขณะที่ได้ยิน ไม่ใช่ขณะที่เห็น แล้วจิตจะเกิดขึ้นซ้อนกัน ๒ ขณะ ๓ ขณะไม่ได้เลย จิตของแต่ละคนจะเกิดขึ้นเพียง ๑ ขณะ เพราะเหตุว่าจิตทุกขณะ ตัวจิต สภาพจิต เป็นอนันตรปัจจัย คำว่าปัจจัย ที่นี่หมายความถึงสิ่งที่สามารถจะทำให้สภาพธรรมอื่นเกิด ถ้าเป็นอนัตรปัจจัย คือเมื่อจิตนั้นดับไปแล้วเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อไม่มีระหว่างคั่นเลย เพราะฉะนั้น จิตจะเกิดขึ้น ๒ ขณะพร้อมกัน ไม่ได้ เพราะว่าจิตขณะต่อไปจะเกิดต่อ เมื่อจิตขณะก่อนดับไปแล้ว จิตขณะต่อไปจึงจะเกิดได้ เพราะฉะนั้น แต่ละคนก็จะมีจิตเกิดขึ้นเพียงขณะเดียว ถ้าแสดงโดยปัจจัย จะมีชื่อต่างๆ ต่อจากนี้ไปสังเกตเวลาฟังสวดได้เลย นัตถิปัจจัย ก็จะเป็นปัจจัยให้มี ต่อเมื่อสภาพธรรมนั้นไม่มีแล้ว หรือปราศไปแล้ว หรือหมดไปแล้ว หรืออนันตรปัจจัยก็มี สมนันตรปัจจัยก็มี เริ่มจะคุ้นหูกับคำว่าปัจจัย แล้วต่อไปเวลาที่ศึกษาก็คือเดี๋ยวนี้เอง สภาพธรรมเดี๋ยวนี้ แต่เมื่อไม่รู้ก็คิดว่า ก็เกิดขึ้นเป็นธรรมดา แต่ความจริงสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้น ผู้รู้ๆ ว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร

    ผู้ฟัง จิตที่เคลื่อนพ้นไปแล้วเป็นจุติจิต

    ท่านอาจารย์ จิตไม่มีขา ไม่มีแขน เกิดแล้วดับ ทันทีที่ทำหน้าที่ คือ กิจหน้าที่ของจิต แล้วดับ อย่างจิตเห็น แค่เห็นแล้วดับ จิตได้ยินก็แค่ได้ยินเสียงแล้วดับ จิตทุกขณะเกิดขึ้นทำหน้าที่เฉพาะของจิตนั้นๆ แล้วก็ดับ

    ผู้ฟัง กรณีเรื่องตายแล้วฟื้น เป็นเรื่องจริงหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ไม่ตายสิ ถ้าตายแล้วฟื้นไม่ได้ ตายคือจุติจิตเกิดแล้วดับ ทำหน้าเคลื่อนพ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ จะกลับมาเป็นบุคคลนี้อีกไม่ได้เลย แต่ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อ แล้วแต่ว่าจะเกิดในภพไหนภูมิไหน หลับแล้วตื่นไหม สลบแล้วฟื้นไหม แล้วตายแล้วตื่นได้ไหม ตายแล้วฟื้นได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจว่าอาจจะเข้าใจว่าตาย แต่จุติจิตยังไม่เกิด ถ้าจุติจิตเกิดเมื่อไร ไม่มีทางที่จะกลับมาเป็นบุคคลนี้อีกต่อไป

    ผู้ฟัง จิตจะตามเราไปทุกภพทุกชาติ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ จิตไม่ตาม

    ผู้ฟัง จิตไม่ตาม แต่ทำไมถึงว่า เมื่อเวลาเราทำกรรมใด มันจะส่งผลไปที่ภพอื่นชาติอื่น

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดแล้วดับ เจตสิกที่เกิดกับจิตดับพร้อมจิต แล้วเจตนาเจตสิกเป็นกรรมปัจจัย เป็นสภาพที่จงใจตั้งใจที่เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง เพราะฉะนั้น เวลาที่จิตดับไปแล้วก็จริง แต่ความจงใจตั้งใจที่ได้จงใจตั้งใจแล้ว ก็เป็นปัจจัยหนึ่งชื่อว่ากรรมปัจจัย ที่จะทำให้จิตขณะต่อไปเกิด เป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้น เวลาที่เราพูดเรื่องกรรม และผลของกรรม ถ้าเราไม่ศึกษาเราก็ใช้ความคิดของเรา แต่ถ้าศึกษาแล้วจะทราบว่า เมื่อนามธรรมเป็นกรรม ผลของกรรมนั้นก็ต้องเป็นนามธรรมด้วย คือจิตจริงๆ แล้วก็ขอกล่าวถึงจิต ๔ ชาติ คือ กุศล ๑ เป็นชาติหนึ่งเกิดมาเป็นกุศล อีกชาติหนึ่งคือ อกุศล เกิดเป็นอกุศล ทั้ง ๒ อย่างเป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบากจิต คือจิตที่เป็นผล และอีกชาติหนึ่งคือ กิริยาจิต จิตที่ไม่ใช่เหตุ และไม่ใช่ผล เพราะฉะนั้น จิต ๔ ชาติ คือ กุศล ๑ อกุศล ๑ วิบาก ๑ กิริยา ๑ เราควรจะทราบด้วยที่เราพูดเรื่องกรรมกับวิบาก ขณะไหนเป็นผลของกรรม ขณะแรกที่สุดคือปฏิสนธิจิต จิตที่เกิดขณะแรก เป็นผลของกรรม หนึ่ง เพราะว่าแต่ละคนทำกรรมไว้มากมาย แต่เราเลือกกรรมได้ไหมว่า ให้กรรมนี้ให้ผล ไม่มีทางเลย แล้วแต่กรรมใดพร้อมที่จะให้ผลเกิดขึ้นก็เกิดสืบต่อจากจุติจิต ทำกิจปฏิสนธิ นั่นเป็นขณะแรกของวิบาก คือผลของกรรมทำให้เกิด แต่ละคนเป็นอย่างนี้ เพราะกรรมทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดเป็นอย่างนี้ เมื่อกรรมทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ปฏิสนธิจิตเป็นวิบาก เป็นผลของกรรม ตัวจิต และเจตสิกที่เกิดร่วมกันเป็นประเภทวิบาก คือเป็นผลของกุศล และอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว หลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว ภวังคจิตก็เป็นวิบาก ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้น ยังไม่ให้ตาย ให้เป็นอย่างนี้ จนกว่าวันไหนหมดกรรม ที่ภาษาไทยใช้คำว่า ถึงแก่กรรม หมายความว่าสิ้นสุดกรรมนั้นแล้ว จะเป็นบุคคลนี้ต่อไปอีกไม่ได้ โดยจุติจิตเกิดทำหน้าที่เคลื่อนพ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ แต่ระหว่างยังไม่ตาย ยังมีผลของกรรมด้วย คือขณะใดที่เห็น ขณะนี้ที่กำลังเห็นเป็นวิบากจิต ขณะที่ได้ยินเป็นวิบากจิต ขณะที่ได้กลิ่นเป็นวิบากจิต ขณะที่ลิ้มรสเป็นวิบากจิต ขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเป็นวิบากจิต เพราะฉะนั้น เรารู้กรรม และผลของกรรม เวลาที่วิบากจิตเกิด ป่วยไข้ได้เจ็บ สุขหรือทุกขเวทนา เป็นกายวิญญาณ เป็นผลของกรรมที่ให้ผล ทำให้ความรู้สึกเจ็บปวด หรือความรู้สึกสบายเกิดขึ้น เรารู้เลย ใครทำ เราเองไม่ใช่คนอื่นเลย ถ้ามีโจรผู้ร้ายยิง ฟันแทง หรือว่าในพระไตรปิฎก ใช้คำว่า ใบเลื่อย เลื่อยอวัยวะแขนขา ถ้าผู้ใดโกรธผู้นั้นไม่ใช่สาวกของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าเป็นผู้ที่ไม่รู้เรื่องกรรม และผลของกรรม ถ้าคนนั้นไม่ได้กระทำกรรมนั้นมา ไม่มีทางที่สิ่งนั้นจะเกิดกับเขาได้เลย ไม่มีเหตุที่จะทำให้ผลอย่างนั้นเกิด

    เวลาที่เราอ่านหนังสือพิมพ์ พบสิ่งที่เป็นข่าวร้ายต่างๆ ตามหน้าหนังสือพิมพ์ ให้ทราบว่า ถ้าเขาเหล่านั้น ไม่ได้ทำกรรมที่จะให้ผลอย่างนั้นเกิด ใครก็ทำกรรมอย่างนั้นให้ไม่ได้ ไม่ทราบใครอ่านเรื่องคนที่ติดอยู่ในลิฟท์ ๓ ชั่วโมงบ้างหรือเปล่า หนังสือพิมพ์ก็ลงข่าว ติดอยู่ที่คอหรือไง ความวิจิตรของกรรมที่จะให้ผลขณะไหนเมื่อไร ไม่มีใครทำ แล้วกรรมก็ทำได้วิจิตรจริงๆ จะให้ผลแบบไหน ใครลองคิดดู กี่คนจะเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นก็แนบเนียนที่สุด ทำได้ตามกำลังความวิจิตรของกรรมนั้นๆ เวลาที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดจะเกิดขึ้นทำให้เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ เป็นผลของอกุศลกรรม ถ้าเห็นสิ่งที่น่าพอใจ เป็นผลของกุศลกรรม แล้วทุกคนก็อยากที่จะได้ผลของ กุศลกรรมทั้งหมดเลย ทุกวัน แต่ว่าแล้วแต่กรรม เมื่อไรที่ได้สิ่งที่น่าพอใจ ก็รู้ว่าเพราะกรรมที่ได้ทำมา แต่สิ่งนี้ก็ไม่เที่ยง สักครู่หนึ่งก็อาจจะเป็นผลของอกุศลกรรมก็ได้ อย่างเวลารับประทานอาหารอร่อยๆ ประเดี๋ยวเผ็ดพริก ประเดี๋ยวก็มีก้อนกรวดเล็กๆ หรืออะไรก็ได้ก็ให้เห็นว่า ไม่มีใครสามารถที่จะทำให้จิตชนิดไหนเกิดได้เลย นอกจากเหตุในอดีตที่ได้ทำแล้ว ถึงกาลที่จะให้ผลเมื่อไร ผลนั้นก็ต้องเกิด ก็เป็นผู้ที่มั่นคงในกรรม และ ผลของกรรม แล้วก็ไม่ใช่เป็นผู้ที่เลื่อนลอย คือพูดไปเฉยๆ ว่า แล้วแต่กรรม แล้วผลของกรรมก็คิดไปต่างๆ นานา แต่ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดที่จะรู้ว่า ผลของกรรม คือ ขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยิน ขณะที่ได้กลิ่น ขณะที่ลิ้มรส ขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะรูปที่จะเป็นทางให้ผลของกรรมเกิด คือ วิบากจิตเกิด รูปนั้นๆ เกิดจากกรรม กรรมทำให้ตาเกิดขึ้น หู จมูก ลิ้น กายเกิดขึ้นเป็นทางรับผลของกรรม มีใครคิดเองเรื่องเจตสิกบ้างหรือยัง เป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่ง มีจริงๆ แล้วก็ต้องเกิดกับจิตแล้วก็ดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต ถ้าจะมีจิตโดยไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่ได้เลย หรือจะมีเจตสิกเกิดโดยไม่มีจิตเกิดร่วมด้วยก็ไม่ได้ จิตหนึ่งขณะจะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อย ๗ ประเภท

    สุภีร์ ความหมายของเจตสิก ภาษาบาลีมีว่า เจตสิ นิยุคตัง เจตสิกัง คือ สิ่งที่ประกอบกับจิต สิ่งที่ประกอบกับจิตคือเกิดด้วยกัน เกิดที่ที่เดียวกัน เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน แล้วก็รู้สิ่งเดียวกันด้วย นี้เป็นความหมายของเจตสิก ในภาษาบาลี มาจากคำว่า เจตสิ นิยุคตัง เจตสิกัง สิ่งที่ประกอบร่วมกับจิต ชื่อว่า เจตสิก

    ท่านอาจารย์ ภาษาไทยใช้คำว่า จิต แล้วยังแถมคำว่า ใจ ด้วยใช่ไหม จิตใจ คนนี้ใจดี เจตสิกดี เกิดร่วมกับจิต คนนี้ใจร้าย คนนี้เมตตา ล้วนแต่เป็นลักษณะของเจตสิกทั้งนั้นเลย เพราะเหตุว่าจิตเป็นเพียงสภาพที่รู้ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ การเห็น การได้ยินพวกนี้ เป็นหน้าที่ของจิต ซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ แต่หน้าที่อื่นๆ เป็นหน้าที่ของเจตสิกแต่ละอย่าง เพราะฉะนั้น เวลาที่เราพูดถึงคนแต่ละคน เขามีจิตจริง แต่ว่าจิตของเขาหลากหลายตามเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ความโกรธ เป็นจิตหรือเจตสิก เป็นเจตสิก ชื่ออื่นทั้งหมดเป็นเจตสิกหมดเลย กรุณา เป็นจิตหรือเจตสิก เป็นเจตสิก เพราะว่าจิตเป็นเพียงธาตุรู้หรือสภาพรู้ สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏ คือรู้แจ้งในอารมณ์เท่านั้น เหมือนพระราชา แล้วก็มีอำมาตย์ทำหน้าที่ต่างๆ วิตกเจตสิก ภาษาไทยใช้คำว่า วิตก กังวลเดือดร้อน ไม่สบาย แต่วิตกเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่ตรึก หรือคิด หรือจรดในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดตามประเภทตามสภาพของเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมด้วย แต่คนก็บอกว่า จิตคิด ใช่ไหม แต่ถ้าไม่มีเจตสิกเหล่านั้นทำหน้าที่ ก็จะไม่มีสภาพของจิตคิดเรื่องต่างๆ คิดถึงสิ่งที่ไม่ดีได้ไหม คิดแล้วเป็นทุกข์ คิดแล้วเป็นสุข ก็แล้วแต่วิตกเจตสิกขณะนั้นจะตรึก หรือจะนึกถึงเรื่องใด แต่ถ้ากล่าวรวม ก็พูดถึง จิตเป็นหัวหน้าเป็นประธาน แต่ว่าความจริงแล้วก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย มีอีกคำหนึ่งในภาษาบาลี คือคำว่า จิตตุปาท หมายความถึงขณะหนึ่งที่จิตเกิดขึ้น ซึ่งก็ต้องรวมเจตสิกด้วย เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่ได้ยินว่าจิต ก็ต้องหมายด้วยว่า ขณะนั้นก็มีเจตสิกอื่นๆ เกิดพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน ดับพร้อมกันด้วย

    ผู้ฟัง จิตเกิดหนึ่งครั้ง จะมีเจตสิกร่วมด้วยอย่างน้อย ๗ ประเภท ยกตัวอย่างมีอะไรบ้างใน ๗ ประเภทนี้

    ท่านอาจารย์ ขอเชิญคุณสุภีร์

    สุภีร์ เจตสิกมีมากมายหลายประการด้วยกัน เจตสิกที่เกิดร่วมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต ดับพร้อมจิต เหล่านี้มี ๕๒ ประเภทด้วยกัน ที่ได้กล่าวไปแล้วว่า เวลาจิตเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง อย่างย้อยที่สุดมีเจตสิกประกอบร่วมด้วย ๗ ประเภท ซึ่งจริงๆ แล้ว เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ประเภท เจตสิกที่เกิดอย่างน้อย ๗ ประเภท เรียกว่า สัพพจิตสาธารณเจตสิก สัพพะ แปลว่า ทั้งหมด จิต คือ จิตนั่นเอง ที่เราศึกษาไปแล้วว่าเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ สัพพจิตสาธารณะ ก็คือ ทั่วไป สัพพะ-จิต-สาธารณะ เจตสิก คือเจตสิกที่ทั่วไปแก่จิตทุกดวง คือเกิดกับจิตทุกดวง เวลาจิตดวงใดเกิดขึ้น อย่างน้อยต้องมีเจตสิก ๗ ประเภทนี้เกิดร่วมด้วย เรียกว่า สัพพจิตสาธารณเจตสิก มี ๗ ประเภทด้วยกัน ซึ่งทั้ง ๗ ประเภท ขอกล่าวย่อๆ มี ผัสสเจตสิก เจตสิกที่กระทบกับอารมณ์ เวลาเราเห็น จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการเห็น ผัสสเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยทำหน้าที่กระทบกับสิ่งที่จิตเห็น เวทนาเจตสิกทำหน้าที่รู้สึกกับอารมณ์ ต่อไปประเภทที่ ๓ สัญญาเจตสิก สัญญาเจตสิก เป็นการจำอารมณ์ จำสิ่งที่ปรากฏ อย่างตาเห็น สิ่งที่ปรากฏทางตา จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏทางตา สัญญาเจตสิกเกิดขึ้นจำ จำสิ่งที่ปรากฏทางตา เอกัคคตาเจตสิก เป็นเจตสิกที่ตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด เวลาเราเห็นก็มีเจตสิกอันนี้ทำหน้าที่ตั้งมั่นในสิ่งที่เห็นนั้น ที่เราเรียกกันว่า สมาธิๆ คือ เอกัคคตาเจตสิกนั่นเอง ซึ่งเอกัคคตาเจตสิกเป็น ๑ ในสัพพจิตสาธารณเจตสิก คือเกิดกับจิตทุกดวง ทุกประเภทเลย เพราะฉะนั้น เอกัคคตาเจตสิกคือสมาธิที่เราใช้กัน ที่เราบอกว่า สมาธิ อะไรต่างๆ คือเจตสิกดวงนี้ คือ เอกัคคตาเจตสิก ประเภทที่ ๕ เจตนาเจตสิก เจตนาเจตสิก ท่านอาจารย์ได้กล่าวไปแล้วว่า เวลาเราตั้งใจจะทำอะไร นี่เป็นเจตนา เจตนา นี่แหละเป็นกรรม แต่ว่าเจตนาเจตสิกเป็นสัพพจิตสาธารณเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง ฉะนั้นเวลาเห็น เจตนาก็เกิดร่วมด้วย แต่เจตนาที่จะให้ผลต่อไป คือเกิดร่วมกับกุศล และอกุศล เป็นการจงใจตั้งใจที่จะทำกุศล อกุศล นี่เป็นประเภทที่ ๕ เจตนาเจตสิก เจตนาเป็นกรรม คือ เจตสิกนั่นเอง เวลาเรากล่าวถึงกรรม คือกล่าวถึงเจตสิกประเภทหนึ่ง ที่เรียกว่า เจตนาเจตสิก ต่อไปเป็นเจตสิกประเภทที่ ๖ ที่อยู่ในนี้ คือ ชีวิตินทริยเจตสิก ชีวิตินทริยเจตสิก เป็นเจตสิกที่หล่อเลี้ยง หรือว่าบำรุงจิตเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยให้ทำหน้าที่ครบ คือว่าอย่างที่ท่านอาจารย์กล่าวไปแล้วว่า จิตมีอนุขณะ ๓ อนุขณะ มีขณะอุปาทเกิดขึ้น ฐิติตั้งอยู่ ภังคะดับไป ชีวิตินทริยเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เขาหล่อเลี่ยงให้จิต และเจตสิกเกิดร่วมด้วยนั้นทำหน้าที่ ให้ครบทั้ง ๓ อนุขณะนั้น นี่เป็นประเภทที่ ๖ ต่อไปประเภทที่ ๗ มนสิการเจตสิก เจตสิกที่ใส่ใจในอารมณ์ เวลาเห็น จิตเห็นทำหน้าที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการเห็น มนสิการเจตสิกทำหน้าที่ใส่ใจในสิ่งที่เห็น ทั้ง ๗ ประเภท เรียกว่า สัพพจิตสาธารณเจตสิก เจตสิกที่เกิดกับจิตทุกๆ ประเภทเลย มี ๗ ประเภท

    ท่านอาจารย์ ขอทบทวนมาถึงเจตสิกแล้ว อยู่ที่ตัวทุกคนหรือเปล่า ที่ไหนมีจิตที่นั่นต้องมีเจตสิกอย่างน้อยที่สุด ๗ ประเภท แต่จริงๆ แล้วมีมากกว่านั้น ๗ ประเภท เฉพาะจิต ๑๐ ดวงเท่านั้น แสดงว่าในจิตทั้งหมดที่มี ๘๙ ประเภทหรือ ๑๒๑ ประเภท เฉพาะจิต ๑๐ ดวงมีเจตสิกแค่ ๗ นอกจากนั้นมีมากกว่านี้ ก็ลองคิดดูถึงสภาพธรรมที่อาศัยกัน และกัน เกิดขึ้น และดับไปชั่วขณะที่แสนสั้น แต่ก็ยังต้องมีสภาพธรรม ที่ต้องอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น แม้ว่าเป็นนามธรรม จะขาดเจตสิกหนึ่งเจตสิกใดใน ๗ ประเภทนั้นไม่ได้เลย

    ทุกคนมีความรู้สึกใช่ไหม เดี๋ยวนี้รู้สึกอย่างไร ที่ตัว ตอบได้ไหม รู้สึกอย่างไร ไม่ใช่คนอื่น รู้สึกอย่างไร มีความรู้สึก ๕ อย่าง คือ รู้สึกเฉยๆ อย่างหนึ่ง รู้สึกโสมนัส ดีใจเป็นสุข ทางใจอย่างหนึ่ง และโทมนัส ขุ่นเคืองไม่พอใจอย่างหนึ่ง สุขกายที่กาย เป็นความรู้สึกที่เป็นสุขสบาย หรือว่าทุกข์กายอีกอย่างหนึ่ง รวมความแยกเป็นทางใจ และทางกาย ถ้ารวมกันก็เป็น ๓ คือ สุข ๑ ทุกข์ ๑ อุเบกขาหรืออทุกขมสุข ๑

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 97
    23 มี.ค. 2567