ปกิณณกธรรม ตอนที่ 277


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๗๗

    สนทนาธรรม ที่ บริษัทเดลี่กูดส์ จำกัด ถ.สุขสวัสดิ์ เขตราชบูรณะ

    มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๒


    ท่านอาจารย์ สุขทุกข์อยู่ที่จิตนี้ ขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้นไม่เป็นทุกข์ แต่พอจิตเป็นทุกข์ เรารู้เลยว่า จิตนี้เป็นอกุศล

    ถ. ในการที่เราเข้ามาสู่พระธรรม ที่อยากจะเรียนรู้ อยากจะรับฟังเกี่ยวกับพระธรรม ที่เราแสวงหากันอยู่ทุกวันนี้ ในการเรียนนั้นในเรื่องของหนังสือ เราจะเห็นปริจเฉท ๑ ถึง ๙ ที่เราเรียนได้ คือในการเรียน ส่วนในการปฏิบัตินั้นที่บอกว่า การเจริญภาวนานั้น คือการต้องปฏิบัติ ไม่มีขั้นจาก ๑ ถึง ๙ จาก ๒ ถึงอะไร จากตรงไหนถึงตรงไหน อยู่ที่ความเข้าใจ จนกว่าเราจะเข้าใจแล้ว เราจึงลงมือ อย่างนั้นหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ เมื่อเข้าใจแล้ว จะไม่มีเราที่จะลงมือ ถ้าเข้าใจจริงๆ สติปัฏฐานมีปัจจัยจะเกิดจึงเกิด เหมือนกับได้ยิน ถ้าไม่มีหู ได้ยินเสียงกระทบกัน ได้ยินก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีความเข้าใจมั่นคงจริงๆ ก็ไม่มีการระลึกลักษณะของสภาพธรรม ทั้งๆ ที่เราเรียนเรื่องธรรม เราพูดเรื่องธรรม เราพูดเรื่องจิต เราพูดเรื่องเจตสิก เราพูดเรื่องรูป ซึ่งขณะนี้ก็เป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป แต่สติปัฏฐานก็ไม่ได้ระลึก เพราะเหุตว่า ปัจจัยยังไม่พร้อม ยังไม่เป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่ง เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นสัมมาสติต้องเป็น อนัตตา เลือกอารมณ์ไม่ได้ เลือกเวลาไม่ได้ ไม่มีเราที่จะทำ ถ้าเกิดมีความรู้สึกว่า เราจะระลึก ขณะตรงที่เราจะระลึก นั่นผิด แต่เวลาที่สัมมาสติระลึก ขณะนั้นปัญญารู้ว่าขณะนั้นเป็นสัมมาสติ เราไม่ได้ตั้งใจ เหมือนได้ยิน เราก็ไม่ได้ตั้งใจ แต่เมื่อมีเหตุที่ได้ยิน ได้ยินก็เกิด

    เพราะฉะนั้น เมื่อมีเหตุ เหตุที่สัมมาสติจะเกิด สัมมาสติก็เกิด แล้วเราก็รู้ด้วย ขณะนั้นเป็นสัมมาสติ จริงๆ เพราะว่าไม่มีเราที่จะไปทำ ตรงกับที่เราเรียนมาว่า ไม่มีเรา ก็ต้องไม่มีเรา

    ผู้ฟัง หมายความว่า ไม่มีการลงมือ ไม่มีการเริ่มต้นใดๆ ทั้งสิ้น

    ท่านอาจารย์ ไม่มีการเอาไปใช้ ไม่มีการเอาไปทำทั้งสิ้น เพราะว่าปัญญาเขาจะรู้ว่า ไม่ใช่เรื่องทำ เป็นเรื่องเข้าใจ

    ผู้ฟัง เข้าใจได้มากเท่าไร ก็จะเกิดขึ้นเอง

    ท่านอาจารย์ แน่นอน นั่นคืออนัตตาแล้ว ปัญญาก็คือเข้าใจถูก ถ้าเข้าใจถูกก็ไม่ทำให้ผิด

    ผู้ฟัง สมมติว่าคนที่เป็นพระอรหันต์ ก็คืออยู่ในโลกที่แบบอย่างนี้ไม่ได้ มันกิเลสมากมายเลย

    ท่านอาจารย์ กิเลสอยู่ที่ไหน

    ผู้ฟัง อยู่ที่ตัวเรา

    ท่านอาจารย์ อยู่ที่จิต ถ้าจิตนั้นไม่มีกิเลส ใครก็จะไม่ทำให้จิตนั้นเศร้าหมองหรือเกิดเป็นอกุศลไม่ได้ พระอรหันต์ทุกองค์ไม่มีการอยู่ครองเรือน เพราะว่าไม่ใช่วิสัยของผู้ที่หมดกิเลสที่จะอยู่ครองเรือน แต่พระอนาคามีอยู่ได้ เมื่อมีความจำเป็นที่จะอยู่ท่านก็อยู่ ไม่ได้หมายความว่าท่านต้องเป็นพระภิกษุ มีคฤหัสถ์ที่เป็นพระอนาคามีอยู่ในเพศของคฤหัสถ์ แต่ว่าไม่เกี่ยวข้องกับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส

    ผู้ฟัง การรู้เท่าทันกิเลสถือว่ามีปัญญา ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ธรรมไม่มีการถือ เพราะถือ ถือว่ากุศลเป็นอกุศล หรือถือว่ากุศลเป็นอกุศลก็ได้ แต่ถ้าธรรม เป็นอย่างไร ก็ต้องเป็นอย่างนั้น

    ผู้ฟัง เช่นถ้าเรารู้ว่า เรากำลังมีอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่นี้

    ท่านอาจารย์ ใครๆ ก็รู้ มีใครบ้างที่ไม่รู้ว่า กำลังโกรธ มีใครบ้างไม่รู้ว่าโกรธ

    ผู้ฟัง แสดงว่าตอนนั้น ถือว่ามีสติ

    ท่านอาจารย์ ถือได้อย่างไร ถืออีกแล้ว ความจริงต้องเป็นความจริง อย่าใช้คำว่า ถือ ถือ หมายความว่าเราคิดเอาเอง ถูกหรือผิดไม่ทราบ ที่ถูกคือต้องเข้าใจว่า ธรรมขณะนั้น เป็นอย่างไร ตรงต่อความจริงของธรรมในขณะนั้น

    ผู้ฟัง ขณะนั้น ก็หมายความว่า เราจะรู้เท่าทันกิเลส

    ท่านอาจารย์ ทำไมเราถึงต้องไปคิดเรื่องปัญญา เพราะเราอยากมีปัญญาหรือเปล่า เพราะว่าถ้าพูดถึงโกรธ คนที่โกรธก็รู้ว่ากำลังโกรธ มีใครบ้างที่ไม่รู้ แล้วจะบอกว่าตรงนั้นเป็นปัญญาหรือเปล่า แสดงว่าอยากจะให้เป็นหรืออย่างไร แข็งนี่แข็งไหม รู้ว่าแข็ง อย่างนี้เป็นปัญญาหรือเปล่า ต้องตรง เป็นหรือไม่เป็น รู้ว่าแข็งเป็นปัญญาไหม

    ผู้ฟัง ไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ ไม่เป็นก็ไม่เป็น รู้ว่าโกรธ เป็นปัญญาไหม ตราบใดที่เป็นเรา เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่รู้ว่าเป็นธรรม ขณะนั้นก็ไม่ใช่ความเห็นถูก

    ผู้ฟัง เรื่องตัวสติ สติระลึกรู้ในสิ่งที่เป็นโสภณเท่านั้น ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง จะเป็นด้านโลกียะ เอาไปใช้ไม่ได้ ผิดใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ คือว่า เจตสิก แบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม อัญญสมานาเจตสิก เกิดกับ กุศลจิตก็ได้ อกุศลจิตก็ได้ วิบากจิต กิริยาจิตได้หมด ทุกประเภท นี่คือ อัญญสมานาเจตสิก โดยศัพท์ หมายความ่ว เจตสิกเหล่านี้เสมอกันกับเจตสิก และจิตอื่นซึ่งเขาเกิดร่วมด้วย ถ้าเขาเกิดกับโสภณเจตสิก เขาก็เป็นโสภณด้วย คือถ้าขณะนั้นจิตนั้นเป็นกุศล อัญญสมานา ทั้งหมดเป็นกุศล เป็นกุศลด้วย เพราะเหตุว่ามีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย อีกกลุ่มก็คือ อกุศลเจตสิก มีชาติเดียว เมื่อเกิดเมื่อไร เป็นวิบากไม่ได้ เป็นกิริยาไม่ได้ ต้องเป็นอกุศล อย่างเดียว ส่วนโสภณเจตสิก เป็นได้ทั้งวิบากจิต กิริยาจิต กุศลจิต ได้ ๓ ชาติ เพราะฉะนั้น สติ ถ้าไม่ใช่สติปัฏฐานแล้ว ไม่มีทางรู้ลักษณะของเจตสิกทั้งหลายตามความเป็นจริง แต่อาจจะรู้โดยความเป็นเรา เช่น เวลาโกรธ ลักษณะที่โกรธ มี แต่เป็นเรา ไม่รู้ว่าเป็นเจตสิก แล้วก็ไม่สามารถที่จะแยกได้ว่า เป็นจิต หรือเป็นเจตสิก

    สติมีหลายขั้น ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ไม่ว่าจะเป็นในทางหนึ่งทางใดทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในความสงบของจิต ขณะใดที่จิตเป็นกุศล ขณะนั้นต้องมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะว่ากุศลจิตจะเกิดต้องมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๙ ประเภท ๑๙ ดวง อย่างน้อย จะขาดดวงหนึ่งดวงใดใน ๑๙ ดวงไม่ได้ เวลาที่จิตเกิดระลึกเป็นไปในการให้ ขณะนั้นไม่ใช่เรา แต่เพราะสติระลึกได้ ควรจะให้ สิ่งนั้นสิ่งนี้ เพื่อประโยชน์แก่คนอื่น เพราะฉะนั้น เวลาที่ศึกษาธรรม แล้วเกิดกุศลจิตให้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ให้ทราบว่าสติระลึกเป็นไปในการให้ เวลาที่จะวิรัติทุจริต ก่อนศึกษาเป็นเราที่วิรัติที่เว้น แต่พอศึกษาแล้ว ถ้าวิรัติเจตสิกไม่เกิด ขณะนั้นจะไม่เป็นกุศล จะไม่มีการวิรัติ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่จิตไม่สงบ โกรธ แต่พอระลึกได้ว่า ไม่มีประโยชน์เลย น่าสงสาร หรือว่าควรที่จะเห็นใจ ควรที่จะเข้าใจคนนั้นมากกว่า ขณะนั้นก็เป็นสติที่ระลึกเป็นไปในความสงบของจิตที่จะไม่โกรธ ที่จะมีเมตตา ถ้าขณะใดที่สภาพธรรมขณะนี้ ปรากฏ แล้วสติระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถ์ แล้วค่อยๆ เข้าใจ เริ่มเข้าใจ นี่คือ ภาวนา ขณะนั้นก็เป็นสติปัฏฐาน ซึ่งถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด แม้สภาพนามธรรม รูปธรรมจะเกิดก็ไม่มีการรู้ว่าเป็นนามธรรมอะไร เป็นรูปธรรมอะไร เพราะฉะนั้น สติจึงจำปรารถนาในที่ทั้งปวง ซึ่งมีคนบอกว่าแปลอย่างอื่นก็ได้ ไม่ได้แปลว่า จำปรารถนา แต่หมายความว่าเป็นประโยชน์ในที่ทั้งปวง

    ผู้ฟัง อย่างเช่น ถ้าเราใส่บาตรแล้วอธิษฐานขอ สมมติว่าเป็นรางวัลที่ ๑ อย่างนี้ การใส่บาตรนั้นเป็นกุศล หรือไม่เป็นกุศล

    ท่านอาจารย์ ถามแล้ว ใช่ไหม ให้คิดเอง และให้ตอบ ขณะใส่บาตรเป็นการให้ เพื่อประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่น เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง เป็นกุศล

    ท่านอาจารย์ ขณะที่คิด อยากจะถูกล๊อตเตอรรี่รางวัลที่ ๑ อยาก เป็นกุศลหรืออกุศล เป็นอกุศล ไม่ต้องไปถือเลย ความจริงเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น เมื่อพิจารณา เข้าใจ สำหรับการสนทนาธรรมจะมีประโยชน์มาก ถ้าเรารู้สึกว่าเรา ทุกคนสบายๆ เป็นการพักผ่อน ได้มาฟังธรรม ได้มาพบกัน มีอะไรที่จะสนทนา ที่มีประโยชน์ ก็จะได้สนทนากัน ไม่อยากจะให้เป็นเรื่องเคร่งเครียด หรือว่าเป็นหลักวิชามากเกินไป แต่ให้มีความสบายใจ เบาใจ เป็นกันเอง แล้วก็สนทนาธรรมกันจริงๆ

    สำหรับเรื่องของสติปัฏฐาน ไม่ใช่เรื่องของกาลเวลา ที่เราจะบอกว่า เรามีเวลาจำกัดว่า อยากจะให้เราได้เจริญสติมากๆ ให้แล้วเสร็จภายในเท่านี้ เท่านั้น แต่ว่าเป็นเรื่องของการฟังพระธรรมให้เข้าใจ อันนี้สำคัญมากที่สุด เพราะเหตุว่าสำหรับอริยสัจธรรม มี ๓ รอบ เราลืมไม่ได้เลย คือ รอบที่ ๑ ให้มีความเข้าใจจริงๆ ว่า สภาพธรรมที่เป็นทุกขสัจ หรือต่อไปสำหรับผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล คือ ทุกขอริยสัจจะ เพราะท่านได้ประจักษ์ในลักษณะของสภาพที่เป็นทุกข์แล้ว ทุกขสัจ จะไม่ใช่อย่างอื่นเลย ซึ่งเราก็คงจะต้องเตือนกันด้วยพระธรรมตลอดเวลาว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ คือ ทุกขสัจ หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย จะไปรู้อย่างอื่นก็ไม่ได้ แล้วจะให้สภาพธรรมที่เกิดแล้วในขณะนี้ เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นเพื่อให้เรารู้ก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ที่เราจะไม่ลืมคือว่า มีสภาพธรรมอยู่ตลอดเวลา จริงๆ ตั้งแต่เกิดจนตาย เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ สติ จะระลึกเมื่อไร ก็เป็นเรื่องที่เมื่อมีปัจจัยของสติ ที่จะเกิดระลึก สติก็ระลึก ถ้าเป็นในลักษณะนี้ จะเบาใจมาก จะไม่ไปหวังรอ จะไม่ไปนั่งคิดว่าสติเกิดน้อย เมื่อไรจะเกิด จะต้องไปหาอุบาย หรือว่าฟังอะไรที่จะเร่งรัดสติ นั่นไม่ใช่เลย นั่นเป็นธรรม เครื่องเนิ่นช้า เพราะเหตุว่าขณะนั้นเป็นความหวังเสียแล้ว โลภะซึ่งเป็นสมุทัย ถ้าไม่เห็นจริงๆ ละไม่ได้เลย เพราะว่าเขาจะติดตามอยู่ตลอด ในธรรมซึ่งเป็นเหตุที่จะให้เกิดสังสารวัฏ จะไม่ขาดสมุทัยเลย ไม่ว่าจะเป็นสังสารวัฏ คือการเกิดในอบายภูมิ ในสุคติภูมิ หรือว่าในรูปพรหมภูมิ ในอรูปพรหมภูมิ เป็นเพราะยังมีโลภะอยู่ทั้งนั้น

    แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่เห็นตัวนี้จริงๆ เราก็จะถูกโลภะพยายามต้อนไปเรื่อยๆ ว่า ให้ไปอย่างนั้น ให้ไปอย่างนี้ ลืมว่าขณะนี้ เป็นสภาพธรรมแล้ว ที่ถ้ามีความเข้าใจเพียงพอ สติเกิดแล้วก็ระลึก และเวลาที่ระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม อาศัยความเข้าใจจากการฟังมาแล้ว จะช่วยทำให้ขณะนั้นค่อยๆ เข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ หรือเป็นรูปธรรม ซึ่งมี ๒ อย่างเท่านั้นเอง แต่เวลานี้ สภาพธรรมเกิดแล้วก็ดับ เร็ว ผ่านไปขณะนี้ จิตเท่าไร เจตสิกเท่าไร รูปเท่าไร หมดไปแล้วทั้งนั้น แต่ว่าเมื่อสติไม่ได้ระลึก ไม่มีทางเลยที่จะรู้ แต่พอสติระลึกนิดหนึ่ง ลักษณะสภาพธรรมนั้นปรากฏสั้นมาก แล้วสภาพธรรมอื่นอีกมากมายก็เกิดต่อ ในขณะที่หลงลืมสติ ยังไม่สามารถที่จะเห็นชัดจริงๆ ว่า แต่ละอย่างที่ปรากฏเป็นธรรม

    นี่เป็นเหตุที่ว่าต้องใช้กาลเวลาที่นานพอสมควร พอสมควรนี้ก็แล้วแต่ พอสมควรที่ปัญญาจะอบรมจนกระทั่งสามารถที่จะรู้ ในลักษณะของนามธรรม ซึ่งเราก็ได้ยินได้ฟัง ชินแสนชินว่าเป็นสภาพรู้ เป็นแต่เพียงสภาพธรรม ที่ไม่มีรูปร่างสัณฐาน ไม่ใช่เจตสิก จิต ไม่ใช่เจตสิก แล้วเจตสิกก็ไม่ใช่จิตด้วย จนกว่าลักษณะของจิตซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ล้วนๆ จะปรากฏ ในลักษณะของสภาพซึ่งเป็นธาตุรู้อย่างเดียว แล้วเมื่อนั้นเราก็จะเห็นความต่างกันว่า แท้ที่จริงแล้วสภาพรู้ เพราะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ทำให้เราไม่สามารถจะเห็นตัวสภาพรู้ล้วนๆ แต่เห็นโลภะ ความพอใจบ้าง หรือว่าเห็นโทสะ ความขุ่นเคืองใจบ้าง ในวันหนึ่งๆ ก็สลับอยู่เรื่อยๆ เดี๋ยวโลภะ เดี๋ยวโทสะ แต่ว่าถ้าไม่มีกำลัง เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าขณะนั้นเป็นโลภะ อย่างเวลาที่เราอาจจะตื่น เอื้อมมือไปหยิบสิ่งหนึ่งสิ่งใด ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดธรรมดาๆ นี้ ไม่มีใครรู้เลยว่า ขณะนั้นเป็นสภาพของจิตที่มีความต้องการเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ที่ยากคือว่าทั้งจิต และเจตสิกเกิดรวมกัน แต่เวลาที่ปัญญาจะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม ต้องประจักษ์ทีละอย่าง คือจิตก็จิต เจตสิกก็เจตสิก

    เพราะฉะนั้น จะเห็นความต่างกันได้จริงๆ ว่า เจตสิกแต่ละอย่างไม่ใช่จิตเลย แล้วจิตก็ไม่ใช่เจตสิกด้วย ธรรมที่ได้ฟังมาทั้งหมด ที่เราฟังมาตั้งแต่ต้น ว่า ปรมัตถธรรม มี ๔ คือ ๑.จิต ๒.เจตสิก ๓.รูป ๔.นิพพาน ๑ ทั้งนั้นเลย ใช่ไหม เจตสิกก็หนึ่ง คือเป็นประเภทหนึ่งต่างหาก จิตก็หนึ่ง คือไม่ปนกันกับเจตสิกเลย รูปก็อีกหนึ่ง ไม่ปนกันเลย เมื่อสภาพธรรมปรากฏตามความเป็นจริงกับปัญญาที่ประจักษ์แจ้ง ไม่ผิดจากที่ได้ยินได้ฟังมา ตั้งแต่ต้นจนกระทั่งถึง แม้ขณะไหนๆ ก็ตามที่ฟังพระธรรม ก็จะเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า เรื่องของสภาพธรรม เป็นจริงอย่างไร ปัญญาจะต้องค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจ จนกว่าจะประจักษ์ปรากฏตามความเป็นจริงอย่างนั้น แต่ก็ไม่ต้องห่วง สบายๆ ที่ว่า อย่าให้เป็นโลภะพาไป ข้อสำคัญที่สุดคือตัวนี้ ตัวสมุทัย แม้จะบอกว่าขณะนี้สภาพธรรมไม่ใช่เรา เกิดขึ้นแล้วดับไป ทุกอย่างเป็นทุกขอริยสัจ เป็นทุกขสัจ แต่ถ้ายังไม่มีความเข้าใจ เพราะสติไม่เกิด ไม่ระลึก ก็ไม่มีทางที่จะรู้ลักษณะที่ต่างกันของปรมัตถธรรม ทั้ง ๓ ซึ่งเกิด

    เพราะฉะนั้น ก็อาศัยสติค่อยๆ เกิด ค่อยๆ เข้าใจขึ้น แล้วก็จะรู้ตามความเป็นจริงว่า ทุกขสัจ ไม่ใช่เรา ต้องไปทำเลย แต่เป็นปัญญาอย่างเดียว ซึ่งต้องอบรมจนกว่าจะรู้จริงๆ พร้อมกับสติที่ระลึก แสดงให้เห็นว่า อาศัยการฟังแล้วเข้าใจ จะทำให้โลภะ ไม่เข้ามา ทำให้เราเนิ่นช้ามากกว่านี้ แต่ถ้าไม่ฟังด้วยความแยบคาย โลภะซึ่งเป็นสมุทัยก็เป็นเครื่องเนิ่นช้าด้วย เพราะเหตุว่าทำให้เราไขว้เขวไปด้วยความต้องการ ที่อยากจะให้เป็นอย่างนั้น หรืออยากจะให้เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ต้องเห็นอริยสัจทั้ง ๓ รอบ คือ ทั้งขั้นฟัง ก็รู้จริงๆ ว่า สภาพธรรมที่กำลังเกิดในขณะนี้ไม่เที่ยง จึงเป็นทุกข์ แล้วก็สมุทัย คือความต้องการนั่นเอง ตราบใดที่มีความต้องการ ขณะนั้นไม่ทำให้รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเครื่องเนิ่นช้าต่อไป กว่าจะไปถึงนิพพาน ซึ่งเป็นการประจักษ์แจ้ง ก็แสดงให้เห็นว่า เป็นหน้าที่ของปัญญาอย่างเดียว ไม่ใช่หน้าที่ของใครทั้งสิ้น ถ้ารู้ว่าเป็นหน้าที่ของปัญญา ตัวตนก็จะไม่ไปพยายามทำอย่างอื่น เพราะรู้ว่าเป็นเรื่องของปัญญาที่จะต้องฟังให้เข้าใจ อบรมพร้อมสติ ยากไหม ยากแสนยาก แต่ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แน่นอน แต่ต้องอาศัยขันติ ความอดทนเป็นตบะอย่างยิ่ง ถ้าไม่มีความอดทน ไม่มีทางถึง ไม่ว่าอะไรทั้งนั้น โดยเฉพาะเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา

    ผู้ฟัง ในส่วนที่ว่า อาจารย์กล่าวถึงความอดทน มันอดทนถึงระดับอย่างไร ขันติ แปลว่า อดทน อดทนที่จะให้สติเกิด

    ท่านอาจารย์ อดทน รู้ว่า ธรรมเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ เพราะว่าคนที่เพิ่งฟังธรรมทุกคน จะบอกว่า ธรรม ยากเหลือเกิน แม้แต่ในขั้นที่จะเข้าใจ เพราะฉะนั้น เมื่อยากแล้ว หันหลังให้เสีย คงจะง่ายดี คือไม่ฟัง แล้วก็ไม่เห็นจะต้องมาลำบากที่จะต้องมารู้เรื่องจิต เจตสิกอะไรเลย ทำไมถึงจะต้องมาอดทนฟังให้เข้าใจ เพราะว่าบางคนที่ได้ยินได้ฟัง พอได้ยินเรื่องภาษาบาลี หรือจิต เจตสิก เขาบอกยากไม่ฟังเลย ยาก ไม่ฟังเลย เพราะไม่มีความอดทน แต่ยาก แล้วอดทนที่จะฟังจนกว่าจะเข้าใจ นี่คือความอดทน ต้องอดทนจริงๆ แล้วเมื่อมีความเข้าใจแล้วเป็นปัญญาที่ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ยิ่งฟังยิ่งเข้าใจขึ้น ถ้าไม่เคยฟังเรื่องปรมัตถธรรม ไม่มีการระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้น กว่าจะรู้ ต้องฟังแล้วก็ต้องพิจารณาจนกว่าจะเข้าใจ นี่คือความอดทนตั้งแต่เริ่มรู้ว่า พุทธศาสนา คือ คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็รู้แล้วว่า ไม่ใช่คำสอนของคนธรรมดา ไม่ใช่เรื่องธรรมดา แต่เป็นเรื่องซึ่งยากแสนยาก ที่คนอื่นจะกล่าว จะแสดง หรือว่าจะทรงเทศนาไว้มากมายตั้ง ๔๕ พรรษา

    ถ้าเป็นของง่ายๆ ก็ไม่ต้องถึง ๔๕ พรรษา แต่เพราะเหตุว่ายากอย่างนี้ แม้ว่าเมื่อตรัสรู้ใหม่ๆ จะน้อมพระหฤทัยที่จะไม่ทรงแสดง แต่ผู้ฟังซึ่งมีความอดทน หรือว่ามีการสะสมมาแล้ว ก็สามารถที่จะค่อยๆ รับฟังไตร่ตรองจนกระทั่ง ประจักษ์สภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริงได้ ในครั้งโน้นตลอดมา จนถึงในสมัยนี้ก็ยังมีผู้ที่มีความอดทนที่จะฟัง นี่คือความอดทน

    ผู้ฟัง ในความอดทนที่กล่าว ผมยังมีความนึกคิดไปว่า ความอดทนคือฟังมาตั้งนานแล้ว สติไม่แกิดเสียที

    ท่านอาจารย์ นั่นโลภะ

    ผู้ฟัง โลภะ เพราะฉะนั้น ก็ต้องพิจารณาดูก่อน แต่ถ้าเผื่อไม่ทราบว่าโลภะเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า ความอดทนอยู่ตรงไหน

    ท่านอาจารย์ ก็ถูกโลภะพาไปทั้งวัน ก็ไปหาทางอื่นด้วยโลภะ เพราะฉะนั้น ธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้ารู้ว่าทรงแสดงเพื่อละ จะรู้เลยว่า ขณะที่กำลังอยาก หรือต้องการนั้นผิดแล้ว ผิดหนทางแล้ว แล้วฝืน ไม่ตรงธรรมด้วย ฝืนคำที่ได้ตรัสไว้ว่า รู้แล้ว ละ

    เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่ยังไม่เข้าใจก็ฟังก่อนให้เข้าใจ เมื่อเข้าใจยังไม่พอ ก็เข้าใจขึ้นอีกเรื่อยๆ เป็นเรื่องของความรู้จริงๆ และความรู้เท่านั้นที่จะทำกิจละได้ ตัวตนละอะไรไม่ได้เลย ถ้าไม่มีความรู้สภาพธรรมใดที่จะละกิเลส นอกจากปัญญาแล้วไม่มีอวิชชา ก็ละกิเลสไม่ได้

    ผู้ฟัง สภาพความเข้าใจที่จะเกิดขึ้น ผมฟังแล้ว ทราบว่าไม่ใช่เป็นเราเข้าใจ คือเป็นหน้าที่ เป็นสภาวะธรรมที่เกิดขึ้นเข้าใจ เข้าใจนี่ก็จะมีความรู้สึกว่า จะอดทนไปเท่าไร ถึงจะได้เข้าใจสักที

    ท่านอาจารย์ ต้องเห็นตัวโลภะจริงๆ ถึงจะละโลภะได้ ไม่อย่างนั้นก็อยู่กับโลภะทั้งวัน ทั้งเดือน ทั้งปี โลภะ เขาไม่พาไปเที่ยว ก็โลภะพามาคอยว่าเมื่อไรจะเข้าใจธรรม

    ผู้ฟัง ขณะที่ไม่เข้าใจเสียที เกิดความโกรธขึ้นมาอย่างนี้ว่า

    ท่านอาจารย์ โลภะเป็นเหตุให้เกิดโทสะ ไม่มีโลภะ โทสะก็ไม่เกิด รู้สึกว่า ปัญหาค้างใจมานานหรือเปล่า หรือว่าเพิ่งจะเกิด เพราะว่าถ้าได้ฟังธรรมมานาน ก็คงจะได้ยินเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน แล้วก็สงสัยว่า ขณะที่กำลังรู้เรื่อง รู้สิ่งที่ปรากฏว่าเป็นอะไร ขณะนั้นจะเจริญสติปัฏฐานได้ไหม หรือว่า สติปัฏฐานจะเกิดได้ไหม ใช่ไหม

    ทีนี้ถ้าเราจะพูดถึงชีวิตประจำวันจริงๆ เพราะว่าหลายคนอาจจะฟังไม่ทัน หรือเรื่องทวารว่า แยกกันอย่างไร แต่ว่าพูดอย่างธรรมดาๆ อย่างนี้ โดยหลักที่ไม่ลืมว่า ถ้าไม่มีสภาพรู้ในโลกนี้เลย อะไรๆ ก็ปรากฏไม่ได้ทั้งนั้น ที่จะคิดว่าเป็นคน หรือที่จะเห็น หรือที่จะได้ยิน หรือที่เป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ เป็นไปไม่ได้เลย ถ้าไม่มีสภาพรู้ อันนี้ถูกต้องไหม

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า เพราะมีสภาพรู้ สภาพรู้เป็นธาตุที่รู้ทุกอย่าง ไม่มีอะไรเลยซึ่งจิตจะรู้ไม่ได้ แม้แต่นิพพาน ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้น ไม่ใช่สี ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่กลิ่น ไม่ใช่รส แต่จิตสามารถที่จะรู้แจ้งในลักษณะของสภาพนั้นได้ แสดงให้เห็นถึง สภาพซึ่งเป็นธาตุรู้ สามารถที่จะรู้ได้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นธาตุรู้ที่รู้ทุกอย่าง ทางตา มีตาไว้สำหรับกระทบกับสี ตาไม่เห็น สีไม่เห็น แต่ธาตุรู้ สามารถที่จะรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นอย่างไร สีสันวัณณะต่างๆ เป็นอย่างไร นี่คือสภาพของธาตุรู้ ซึ่งเราจะต้องศึกษาพิจารณาจนกว่าจะเข้าใจจริงๆ ถึงสภาพนี้ จนกระทั่งสามารถจะประจักษ์ได้ว่า ธาตุนี้มีจริงๆ แล้วเป็นธาตุที่สามารถจะรู้ได้ทุกอย่าง ทางหู ถ้าไม่มีธาตุรู้เกิดขึ้น มีเสียงเพราะเหตุว่าถ้ามีของแข็งกระทบกัน เสียงก็เกิด แต่ถ้าไม่มีธาตุรู้เลย ไม่มีการได้ยินเลย เสียงก็เป็นเสียง

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 97
    23 มี.ค. 2567