ปกิณณกธรรม ตอนที่ 260


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๖๐

    สนทนาธรรม ที่ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จ.พิษณุโลก

    พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔


    ผู้ฟัง ผมใคร่เรียนถามเป็นข้อสงสัย จากที่ท่านอาจารย์บรรยายเรื่อง สติปัฏฐาน ๔ ผมก็นึกถึงว่า สำนักต่างๆ ไม่ว่าฆราวาสหรือบรรพชิต ที่เปิดวิปัสสนากรรมฐาน ไปถึงก็ใส่ชุดขาว ทำพิธีในสำนักใคร สำนักมัน ๑๐ วันบ้าง ๑๕ วัน ๗ วันบ้าง มันจะผิดเพี้ยนหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ สอนสำหรับคนไม่รู้ ถูกต้องไหม คนไม่รู้สอนคนไม่รู้ให้ไม่รู้ต่อไป หรือว่าสอนให้คนเข้าใจถูกจนกระทั่งเป็นความเห็นถูกเพิ่มขึ้น ต้องเป็นผู้ตรง รู้อะไรบ้าง จากการนุ่งขาวใส่ขาว ใส่สีอื่นไม่รู้หรือ ขณะนี้ตั้งหลายสี ใส่อะไรก็ได้ แต่สามารถที่จะฟังพระธรรม กษัตริย์ลิจฉวีไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคหลายสี เครื่องฉลองพระองค์ ไม่ได้จำกัดว่าเราจะบริสุทธิ์เพราะสี หรือว่าปัญญาของเราจะเกิดเพราะสี ใส่สีขาวแต่ใจขณะนั้นกำลังโกรธ กำลังโลภ แล้วสีขาวมีประโยชน์อะไร มีสำนักหนึ่งเป็นสำนักที่บวชชีพราหมณ์ก็เชิญดิฉันไปพูดธรรม ดิฉันจะรับไปทุกแห่งที่เชิญ เพราะว่าผู้เชิญต้องการฟัง แต่สิ่งที่ดิฉันจะพูดต้อง พูดตามความเป็นจริง ตรงตามพระธรรม เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะพูดเรื่องของศีล ๘ ของผู้ที่นุ่งขาวห่มขาวที่เป็นชีพราหมณ์ ดิฉันถามบุคคลนั้นว่าทำไมถึงใส่สีขาว คือต้องมีเหตุผล เพื่ออะไรจึงถาม เพื่อให้คิดให้พิจารณาให้เกิดปัญญาของตัวเอง ไม่ใช่ว่าไปที่ไหน ใครให้ทำอะไรก็ทำ แต่ไม่มีปัญญาเลย แล้วไปทำไม ไปเพื่อไม่มีปัญญา หรือว่าไปเพื่อมีปัญญา เพราะฉะนั้น เมื่อจะใส่สีขาวก็ต้องถามเหตุผลว่า ทำไมถึงใส่สีขาว ท่านผู้นั้นก็ตอบว่า รักษาศีล ๘ ดิฉันก็ถามว่า รักษาศีล ๘ ใส่สีอื่นได้ไหม เป็นปกติได้ไหม และเรื่องของการรักษาศีล ส่วนใหญ่คนจะลืมจุดประสงค์ ทำไมถือศีลมากขึ้น บางคนก็คิดว่าศีลมากก็เป็นที่เคารพจากสถานภาพของการใส่เสื้อผ้า ก็เห็นว่าเป็นผู้ที่มีศีลตั้ง ๘ คงจะเป็นที่นับถือ แต่สำหรับผู้นั้นเองที่จะรักษาศีลมากหรือน้อย ต้องเป็นผู้ตรง เพื่อความขัดเกลากิเลสของตนเอง อย่างพระภิกษุท่านสละอาคารบ้านเรือน วงศาคณาญาติ ลองคิดถึงที่บ้าน ท่านมีทรัพย์สมบัติอะไรบ้าง อาหารก็เป็นจานหลากหลาย บางท่านก็เป็นเศรษฐีมั่งมีเงิน ๘๐ โกฏิ กี่โกฏิก็แล้วแต่ จานเงินจานทองท่านก็สละไปเพื่อบาตรที่เป็นที่ใส่อาหาร ท่านสละความติดข้อง สละลาภ สละยศ สละเกียรติ สรรเสริญต่างๆ วงศาคณาญาติ ความสนุกสนานจากการคบหาสมาคมกับ มิตรสหายทั้งหลาย ในสมัยนั้นก็มีการเที่ยวเตร่ไปดูมหรสพ อย่างท่านพระสารีบุตรกับพระมหาโมคคัลลานะ ท่านก็เป็นตระกูลเศรษฐี แต่ว่าขณะที่กำลังดู ท่านก็เกิดจิตที่สะสมมารู้ว่า คนที่กำลังหัวเราะให้เราดู โศกเศร้าให้เราดู ไม่ช้าเขาก็ตาย แม้ตัวเองก็ต้องตายจากโลกนี้ไป เพราะฉะนั้น จะได้อะไรจากความเพลิดเพลินเพียงเล็กน้อยในขณะนั้น ฉันใด ท่านเหล่านั้นเป็นผู้มีปัญญาจึงสามารถสละ สละจริงๆ สละแล้วจะกลับมารับอีกได้ไหม จริงใจหรือเปล่า ถูกต้องหรือเปล่า ถ้าสละ แล้วก็รับอีก อย่างดิฉันเคยไปที่วัด ๑ มีพิธีบวช พอบวชเสร็จ อุบาสกอุบาสิกาก็ตั้งแถว ๒ ข้าง ผู้ที่เป็นภิกษุใหม่ก็เดินมา อุ้มบาตรมาด้วย ๒ ข้างทางนั้นก็ใส่เหรียญเงิน สตางค์ แล้วแต่จะมากจะน้อย ดังก๊องแก็งๆ ไปตลอด เพิ่งสละ แต่ทันทีที่สละเสร็จ ก็กลับมารับอีก นี่แสดงว่าอะไร ไม่เข้าใจจุดประสงค์ว่า ศีลมีเพื่ออะไร จาก ๕ ของคฤหัสถ์ไปสู่ถึง ๒๒๗ ข้อ เป็นการขัดเกลาอย่างละเอียดมาก ผู้ที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะทรงบัญญัติได้ แม้ท่านพระสารีบุตรก็บัญญัติไม่ได้ ไม่ใช่วิสัยของสาวก ความละเอียด ความที่สะสมมาอย่างวิจิตร จิตกำเริบบ้าง จิตเปลี่ยนแปลงบ้าง เดี๋ยวเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวเป็นอย่างนั้น ก็จะทำให้บุคคลนั้นหันกลับเข้ามาสู่ความเจริญของอกุศลได้ มากกว่าความเจริญทางกุศล

    ทุกคนต้องเป็นผู้ตรงต่อตัวเอง ถ้าเราจะรักษาศีลเพื่อขัดเกลา ท่านพระสารีบุตร ท่านมีความรู้สึก แล้วท่านแสดงความรู้สึกของท่าน เหมือนกับท่านกล่าวสีหนาทอย่างผู้ที่มีปัญญา หรือผู้ที่มีความเป็นใหญ่ว่า ตัวท่านเปรียบเหมือนคนจัณฑาล ซึ่งหมายความว่าเป็นผู้ที่ใครจะลบหลู่อย่างไรก็ได้ เปรียบเหมือนผ้าเช็ดทุลี ผ้าเช็ดธุลี ภาษาไทยเราคือ ผ้าขี้ริ้ว แต่ว่าคนที่มีความสำคัญตน ที่ไม่มีปัญญาก็จะต้องการเป็นผ้าไหม ธงสูงๆ ยกขึ้นเด่นๆ แต่ท่านพระสารีบุตรเปรียบตัวท่านว่า เหมือนผ้าเช็ดธุลี ไม่มีความหวั่นไหว ไม่ว่าท่านจะได้รับสิ่งใดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ได้รับกระทบวาจาใดหรือการกระทำอย่างใด ท่านไม่หวั่นไหว นั่นจึงจะเป็นผู้ที่สละ แต่ว่าผู้ที่ไปเพื่อจะรับเงินทองกลับมา หรือว่าเพื่อเกียรติยศ เพื่อลาภ อันนั้นไม่ได้สละเลย

    เพราะฉะนั้น ต้องมีความเข้าใจจริงๆ ว่า การที่จะใส่สีขาว ใส่ทำไม หวังอะไรหรือเปล่า ท่านผู้นั้นตอบว่า ท่านรักษาศีล ดิฉันก็ถามว่า สีอื่นรักษาศีลได้ไหม ท่านก็บอกว่าได้ แล้วดิฉันก็ถามซ้ำว่า แล้วทำไมใส่สีขาว ท่านบอกว่าเพราะสวยดี คำตอบอย่างนี้ก็มาแล้ว เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ใครจะทำตามใคร เราเกิดมาในโลกคนเดียวแล้วก็เราจะต้องตามคนอื่นที่ผิด หรือว่าเราเป็นผู้ที่จะฟังพระธรรม ความเห็นถูก แล้วช่วยให้คนอื่นเห็นถูก ในเมื่อเรามีความเห็นถูกแล้ว เราก็คงจะไม่เก็บความเห็นถูกของเราไว้คนเดียว แต่ก็คงจะช่วยเผยแพร่ความเห็นถูกนั้นต่อไปด้วย

    การที่เราจะทำอะไร ขอให้เป็นผู้ที่มีเหตุผล มีการซักถามจนกระทั่งเกิดปัญญาของเราเอง ไม่ว่าจะได้รับคำบอกเล่าว่า ให้ทำอย่างนี้ ให้ทำอย่างนั้น เพราะอะไร ทำไม ปัญญารู้อะไร ถ้าไม่ทำอย่างนั้น ปัญญารู้ได้ไหม ขณะนี้เดี๋ยวนี้ยังไม่ทำอะไรเลย ปัญญาเกิดขึ้นได้ไหม เพียงแค่ฟัง ปัญญาเกิดขึ้นได้ไหม ในครั้งพุทธกาลมีผู้ที่ไปเฝ้าฟังพระธรรมกำลังฟัง เมื่อจบเทศนาเป็นพระโสดาบัน ต้องไปเปลี่ยนเสื้อผ้าหรือเปล่า ต้องไปสู่ที่หนึ่งที่ใดหรือเปล่า แต่เมื่อมีปัญญาเกิดขึ้นปัญญาก็ทำหน้าที่ของปัญญา อย่างอื่นจะทำหน้าที่ของปัญญาไม่ได้

    ผู้ฟัง จะเป็นการกระทำหมู่พวกหรือเปล่า เช่นให้มันเหมือนกัน ในระบบนั้นเป็นที่หนึ่ง

    ท่านอาจารย์ ทำไมอนัตตาอยู่ที่ไหน ถ้ามีพวกก็คือมีคน ไม่ใช่เป็นปรมัตถธรรม ถ้าเป็นผู้ที่มีปัญญาท่านก็อยู่ร่วมกัน ท่านผู้ที่มีความเห็นผิด ท่านก็อยู่ร่วมกันกับความเห็นต่างๆ แต่เราเกิดมา เรามีสิทธิ มีโอกาสที่จะพิจารณาไตร่ตรองเรื่องของความเห็น เป็นเรื่องเฉพาะตัว เราจะไปก้าวก่ายความเห็นของคนอื่นไม่ได้ ถ้าคนอื่นมีความเห็นอย่างนั้น เขาสะสมมาที่จะเห็นอย่างนั้น คิดอย่างนั้น แต่ถ้าเรามีความเห็นที่เป็นเหตุผลพร้อมที่จะให้ความจริง พร้อมที่จะให้คนอื่นเข้าใจทุกแง่มุม ทุกประการ แสดงว่าความเห็นนั้นถูกต้อง แต่ถ้าถามแล้วตอบไม่ได้ หรือไม่ได้คำตอบที่ถูกต้อง หมายความว่า ความเห็นนั้นยังไม่สมควรที่จะเชื่อ หรือว่าเข้าใจว่าถูกต้อง เพราะว่าเวลาที่ถามเพื่อความเข้าใจ ก็ไม่สามารถที่จะให้คำอธิบายได้ อาจจะมีคำถามว่า แล้วจะทำอย่างไรดี ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ได้คำตอบตอนนี้ว่า ต้องกลับไปศึกษาทุกอย่างที่อาจารย์แนะนำ หนังสืออาจารย์ที่มอบให้ เกิดปัญญาแล้วค่อยซึมไป ในองค์กรในชุมชน ในสังคมที่เราอยู่ให้เขาคล้อยตามเรา

    ท่านอาจารย์ เราจะอยู่โดดเดี่ยวด้วยความเห็นถูก ด้วยความเป็นคนดี ด้วยความถูกต้อง หรือเราจะไม่โดดเดี่ยว โดยพลอยเป็นไปด้วย ถ้าทุกคนเป็นโจร เราจะโดดเดี่ยวที่จะไม่เป็นโจร หรือว่ายอมเป็นโจรไปด้วย นี่คือแต่ละคนมีสิทธิ แล้วจริงๆ ความเป็นเพื่อน เป็นคุณธรรม เป็นธรรมฝ่ายดี ภาษาบาลีใช้คำว่า มิตต หรือเราใช้คำว่า “เมตตา” เมตตา มาจากคำว่า มิตร หมายความถึงความเป็นเพื่อน ความเป็นเพื่อนที่นี้ หมายความว่าไม่ใช่ศัตรู เพราะฉะนั้น ไม่วาใครจะมีความเห็นอย่างไร เราไม่เป็นศัตรู แต่มีความเป็นมิตรที่จะช่วยเกื้อกูลเมื่อมีโอกาส แต่ถ้าไม่มีโอกาส อย่าไปทำสิ่งนั้นเลย เพราะเหตุว่าไม่มีประโยชน์ ต่อเมื่อไรเราคิดว่าเป็นประโยชน์ เราทำ แต่ไม่มีประโยชน์ก็ไม่ทำ แต่ไม่ใช่ไปคัดค้านผู้ที่มีความเห็นผิดในขณะที่เขากำลังเห็นผิด แต่ว่าถ้าสามารถที่จะค่อยๆ เป็นมิตร แล้วก็ช่วยชี้แจงด้วยเหตุผล ก็แล้วแต่ว่าเขาสะสมมาที่จะพิจารณาด้วยความถูกต้อง หรือว่าเขายังคงเชื่อถือเหมือนเดิม เพราะว่าเรื่องความเชื่อ ไม่ใช่ว่าเราสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขความคิด หรือความเชื่อของใครได้ ในพระไตรปิฎกก็มี ข้อความเรื่องพราหมณ์ผู้หนึ่งก็พยายามเอาดินไปถมพวกเหว พวกอะไรที่เป็นบ่อจะให้เต็ม ซึ่งคนที่เห็นก็รู้ว่า มันเป็นไปไม่ได้เลย มีใครในโลกที่สามารถจะไปทำสิ่งที่เป็นเหวเป็นบ่อ อะไรพวกนี้ ให้มันเต็มราบเรียบเสมอกันทั้งหมด เป็นไปไม่ได้ฉันใด ความเห็นของแต่ละคนก็เหมือนกัน บางคนครอบครัวหนึ่ง พ่อแม่ ลูกอีก ๗ - ๘ คน คนละวัดหมด ช่วยไม่ได้ แต่ว่าแต่ละคนก็มีโอกาส ที่แล้วแต่ว่าถ้าจะได้เกื้อกูลใครเมื่อไร โดยที่ว่าต้องรู้ว่า สามารถทำได้ จึงควรทำ แต่ถ้าไม่สามารถจะทำได้ ก็แล้วแต่ การสะสมของแต่ละบุคคล คงยังไม่ถึงเวลาที่ท่านเหล่านั้นจะพิจารณาธรรมด้วยความละเอียด แต่อีกอย่างหนึ่งอาจจะไม่มีโอกาส เพราะว่าบางคนแสวงหาสัจธรรมที่ถูกต้อง ที่จริง แต่ไม่มีโอกาสพบ ก็เป็นได้ แต่ถ้ามีโอกาสแล้ว ก็ควรที่จะเปรียบเทียบพิจารณา ว่าสิ่งใดถูกต้อง แล้วก็ควรถือเอาสิ่งที่ถูก สิ่งที่ผิดรีบทิ้งไปเถอะ อย่าเก็บไว้เลย ยิ่งเก็บไว้ก็ยิ่งชิน แล้วก็ทิ้งยาก โดยเฉพาะบางคนติดในหมู่คณะ เขาก็ไม่ยอมจากไป ทั้งๆ ที่เขามีความเห็นถูก แต่ว่าเมื่อหมู่คณะมีความเห็นผิด เขารักหมู่คณะ เขาก็ยังอยู่กับความเห็นผิด แล้วความเห็นถูกของเขาจะไม่มั่นคง ถ้าเขาไม่ศึกษา และไม่อบรมปัญญา ความเห็นถูกให้เจริญขึ้น แต่ไม่มีความเป็นศัตรูกับคนอื่น และมีความเข้าใจด้วยว่า เรื่องของความคิดเป็นเรื่องธรรมดาที่สะสมมา ที่จะคิดผิดเห็นผิด หรือว่าจะคิดถูกเห็นถูก

    สติปัฏฐาน ยังกล่าวถึงไม่ได้ ใช่ไหม นอกจากจะรู้พื้นฐานว่า สติเป็นปรมัตถ์ แล้วเป็นธรรม ฝ่ายดี แล้วก็มีหลายระดับ เริ่มต้นตั้งแต่ธรรม คือ กุศลมีหลายระดับ ในหนังสือบุญกริยาวัตถุที่นำมาด้วยมีบุญถึง ๑๐ อย่าง ไม่ใช่สิ่งที่เราจะต้องให้ซึ่งเป็นทานเท่านั้น เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าไม่ใช่การให้ แต่สิ่งที่เหนือการให้ก็มี เพราะเหตุว่าบางคนไม่ค่อยคำนึงถึงศีล ความประพฤติทางกายทางวาจา คิดถึงแต่เพียงวัตถุที่จะให้ ด้วยความหวังว่าต้องให้ ถ้าไม่ให้เราจะไม่ได้บุญ เราจะไม่มีอะไรเป็นผลตอบแทนข้างหน้า แต่คิดอย่างนั้นไม่ถูก เพราะว่าบุญจริงๆ เป็นการขัดเกลาความตระหนี่ เพราะว่าทุกคนเห็นแก่ตัว เมื่อมีตัวก็มีความรักตัว เมื่อมีความรักตัว ทุกอย่างก็ทำเพื่อตัว แต่ถ้าเรามีความเข้าใจถูกต้อง ทุกคนเกิดมาชั่วคราว โลกนี้ก็เหมือนที่พักชั่วคราว ใครจะพักที่ไหน โรงแรมอะไร หรือว่าอย่างไรก็แล้วแต่บุญกรรม แต่ก็ต้องจากโลกนี้ไป เพราะฉะนั้น ในระหว่างที่พักชั่วคราว เราก็จะมีความเข้าใจว่า ถ้าคนอื่นเขากำลังมีความต้องการสิ่งที่เราสามารถจะให้เพื่อความสุขของเขาได้ เพื่อประโยชน์ของเขา การให้จริงๆ คือการให้ด้วยการช่วยบุคคลอื่นให้พ้นจากความทุกข์ หรือว่าเพื่อประโยชน์แก่บุคคลนั้น โดยที่ไม่ต้องไปคำนึงว่า เราจะได้อะไร ถ้าคำนึงถึงเราได้อะไร ก็เป็นความคิดเพื่อตัวอีกนั่นแหละ ให้เพื่อตนเอง แต่นี่ให้เพื่อความสุขของคนอื่น ให้เพื่อประโยชน์สุขของคนอื่น เพราะฉะนั้น นี่จึงจะเป็นกุศลจริงๆ เป็นธรรม ขณะนั้นมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย เราจะรู้หรือไม่รู้ ขณะเห็นขณะเดียวมีเจตสิก ๗ ประเภทเกิด ขณะที่เป็นอกุศล ก็จะมีเจตสิกที่เป็นอกุศลเจตสิกเกิด ขณะที่เป็นจิตดีที่เป็นกุศล ก็จะมีโสภณเจตสิกเกิดอย่างน้อยที่สุด ๑๙ ประเภท ไม่รู้เนื้อรู้ตัวเลย ให้ทานเพียงแค่นี้ โสภณเจตสิก และเจตสิกอื่นตั้งเท่าไร เฉพาะโสภณเจตสิกนี่ก็ ๑๙ แล้ว

    เพราะฉะนั้น เราก็คือนามธรรมรูปธรรมซึ่งเกิดขึ้นทำกิจการงานหน้าที่ แต่ว่าด้วยความไม่รู้ จึงเป็นเราทั้งหมด สติก็เป็นเรา โลภะก็เป็นเรา โทสะก็เป็นเรา ความจริงไม่ใช่เรา สติเป็นโสภณเจตสิก ถ้ารู้อย่างนี้ ก็มีเครื่องวัดว่า ขณะใดที่จิตใจไม่เป็นไปในทาน ในศีล ในความสงบ คือ ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ หรือว่าในการอบรมเจริญปัญญา ขณะนั้นต้องเป็นอกุศล เดินข้ามถนน เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ต้องยอมรับตามความเป็นจริง เป็นอกุศล ถ้าเป็นสติปัฏฐานได้ไหม ขณะที่กำลังข้ามถนน เป็นสติปัฏฐาน ได้ไหม เป็นทานได้ไหม ขณะข้ามถนนเป็นทานได้ไหม เกี่ยวกับทานหรือเปล่า แต่ถ้าทำทางให้คนข้าม เป็นทานได้ ใช่ไหม

    กุศลมีหลายอย่าง แต่ถ้าจะพูดถึงสติปัฏฐาน ขณะที่กำลังเดินข้ามถนน สติปัฏฐานเกิดได้ไหม ทานไม่ได้ ขณะนั้น ได้หรือไม่ได้ ได้ เมื่อไร คำตอบต้องชัดเจน ทุกคำตอบต้องไล่ไปจนกระทั่งถึงปัญญา แต่ถ้าเพียงตอบ อาจจะเพราะจำ หรืออาจจะเพราะคิดในเหตุในผล แต่ว่าต้องถามต่อไปอีกว่า ได้เมื่อไร

    ผู้ฟัง คิดว่า ทุกขณะที่มีจิตเกิดดับ ก็ระลึกถึงกุศลได้

    ท่านอาจารย์ แต่ทีนี้พูดถึง สติปัฏฐาน เราจากขั้นทานมาสู่ขั้นศีลก่อนก็ได้ คือความประพฤติทางกาย ทางวาจา ที่ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนเลย คำพูดที่น่าฟังกับคำพูดที่ไม่น่าฟัง คนได้ยินรู้สึกต่างกันไหม ถ้าคุ้นเคยกับการพูดไม่น่าฟัง สะสมไป วาจาเป็นวาจาที่ไม่ดีที่ทำให้คนอื่นไม่สบายใจ แต่ถ้าเปลี่ยน เพราะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล แล้วคำพูดก็น่าฟังขึ้น ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป กุศลก็เจริญได้ ในขณะที่พูดหรือทางกายก็เจริญได้ อันนี้มีในหนังสือบุญกิริยาวัตถุ คงจะกลับไปอ่านกันเอง แต่ถ้าเป็นสติอีกระดับหนึ่งซึ่งไม่ใช่เรื่องกาย เรื่องวาจา เป็นเรื่องจิตใจ เพราะว่าวันหนึ่งๆ เราไม่ได้พูดก็มี ใช่ไหม เราไม่ได้พูดตลอดเวลา การกระทำทางกายของเราก็ไม่ได้มีตลอดเวลา แต่ใจมีตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ใจที่มีตลอดเวลา ถ้าไม่มีปัญญาก็ไม่สามารถจะรู้ได้ ว่าใจที่มี เป็นกุศล หรือว่าเป็นอกุศล หรือว่าเป็นวิบาก หรือว่าเป็นกิริยา แต่เวลาศึกษาแล้ว จะรู้จักชื่อของจิตแต่ละขณะเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่รู้จักตัวจิตสักขณะเดียว

    สติปัฏฐานต่างกับสมถภาวนา เพราะว่าสมถภาวนาเป็นผู้ที่มีปัญญาที่เห็นว่า แม้ไม่เป็นไปในทาน ในศีล แต่จิตของเราเวลาคิดถึงคนอื่น คิดแบบไหน คิดแบบรังเกียจ คิดแบบเมตตา คิดแบบประทุษร้าย หรือคิดอย่างไร เพราะว่าใจที่คิดถึงคนอื่นจะคิดด้วยเมตตา หรือกรุณา หรือมุทิตา หรืออุเบกขา หรือว่าตรงกันข้าม ผู้นั้นต้องมีปัญญาที่จะรู้ว่า จิตขณะที่เป็นกุศล จิตที่ดีงามคิดอย่างไร แล้วจิตที่ไม่ดีงามคิดอย่างไร เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปัญญาจริงๆ ในครั้งพระผู้มีพระภาคหรือก่อนการตรัสรู้ สามารถจะรู้ได้ว่า พอเห็นแล้ว หลังเห็นแล้วทันทีจิตเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล นี่คือเริ่มจะเข้าใจความหมายของสติอีกระดับหนึ่ง ที่เป็นสติสัมปชัญญะ ต้องประกอบด้วยความรู้ มีสิ่งที่ปรากฏให้เข้าใจทันที แต่ถ้าไม่มีการฟังที่เข้าใจ เห็นแล้วก็ตลอดไปเลย ดอกไม้ก็สวย อาหารก็อร่อย ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปด้วยความติดข้อง แต่ผู้มีปัญญาเพียงเห็น แค่เห็นดับไป ท่านรู้เลย จิตเศร้าหมองแล้ว เพราะขณะนั้นเป็นอกุศล

    ด้วยเหตุนี้ในสมัยนั้น ผู้ที่มีปัญญาจึงมีสติสัมปชัญญะ เพราะรู้ว่าถ้าจิตไม่น้อมคิดถึงสิ่งที่ทำให้จิตสงบ เป็นกุศล วันหนึ่งๆ ก็มีแต่อกุศลทั้งนั้น แต่ถ้ารู้ว่าอารมณ์ใด สิ่งใดที่จิตระลึกแล้ว จิตจะสงบจากอกุศล ท่านเหล่านั้นก็จะตรึก มีสภาพของจิตที่ตรึกถึงอารมณ์นั้นบ่อยๆ จนกระทั่งจิตสงบขึ้น สงบขึ้น สงบขึ้น พร้อมด้วยปัญญา จึงสามารถจะรู้ว่า คำว่าสงบที่นี่ ไม่ใช่นั่งเฉยๆ ไม่ใช่จ้องที่หนึ่งที่ใดไม่ให้จิตฟุ้งซ่านไปสู่อารมณ์อื่น ทางอื่น ขณะนั้นเป็นลักษณะของสมาธิ แต่ไม่ใช่กุศล แต่ว่าลักษณะของสมาธิมี ๒ อย่าง มิจฉาสมาธิกับสัมมาสมาธิ อย่างที่พูดถึงเมื่อวานนี้ มิจฉาสมาธิ คือจิตที่ตั้งมั่นที่อารมณ์เดียวบ่อยๆ แต่ขณะนั้นไม่มีปัญญาที่จะรู้สภาพจิต แต่เข้าใจว่า เพราะไม่เห็นอย่างอื่น ไม่ได้ยินเสียงอื่น ไม่ได้คิดเรื่องอื่น ขณะนั้นก็เข้าใจว่า สงบแล้ว แต่ความจริงชอบไหมตรงนั้น ชอบที่จะให้จิตตั้งมั่นอยู่ที่หนึ่งที่ใดหรือเปล่า ถ้าชอบเป็นอะไร ลืมเพื่อนสนิท ไม่เคยจากไปเลย เพื่อนคนนี้ใกล้ชิด ถึงแม้ไม่มีใครเลย แต่ก็ต้องมีคนนี้อยู่ด้วย โลภะ ความติดข้อง ความต้องการ ความหวัง ทุกสิ่งทุกอย่าง คือ สภาพธรรมซึ่งเป็นนายช่างเรือน สังสารวัฏจะไม่หมดสิ้นไปเลย อย่างคำที่เป็นปฐมอุทานที่ว่าได้พบนายช่างเรือนแล้ว ต่อไปนี้นายช่างเรือนก็ไม่สามารถที่จะสร้างเรือน คือ สังสารวัฏให้อยู่ต่อไปได้ในสังสารวัฏ

    เรามีโลภะ ก็ไม่เห็นโลภะ แล้วยังชอบโลภะด้วย โลภะกระซิบอยู่ตลอด ให้ทำอะไรก็ทำทันที ตามไปเลย ให้นั่งอย่างนั้น ให้แต่งตัวอย่างนี้ หรืออะไรก็แล้ว แต่อยู่ภายใต้ความครอบงำของโลภะทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น โลภะก็จะเปลี่ยนจากทางตาไปหาทางหู ไปหาทางจมูก ไปหาทางลิ้น ไปหาทางกาย ไปหาแม้ทางใจว่า อย่าให้ไปคิดเรื่องอื่นด้วยโลภะ ให้จดจ้องอยู่ตรงนี้ เพราะชอบที่จะเป็นอย่างนั้น นั่นคือมิจฉาสมาธิ แต่ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ ปัญญาสามารถรู้สภาพจิตว่า ขณะนั้นเป็นความติดข้อง เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ไม่มีปัญญา ขณะนั้นเป็นโลภะ เป็นมิจฉาสมาธิ ไม่ใช่สติ แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปัญญา จริงๆ ที่รู้ว่า หลังจากเห็นแล้วก็เกิดอกุศลรวดเร็วเหลือเกิน ไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัวก็เกิดแล้ว เหมือนอย่างต้นยาง เพียงสะกิดนิดเดียว น้ำยางก็ไหลออก เพราะว่าเต็มอยู่ในที่นั้นแล้ว เพราะฉะนั้น ของเรา กิเลสเต็ม ลืมตาก็มาแล้ว พอได้ยินก็มาแล้ว พอได้กลิ่นก็มาแล้ว พร้อมที่จะหลั่งไหลออกไป ซึ่งธรรมใช้คำว่า อาสวะ อาจจะคงเคยได้ยิน การหมักดองจนกระทั่งพร้อมที่จะไหลไปสู่อารมณ์ต่างๆ ด้วยความติดข้อง เพราะฉะนั้น ถ้ามีปัญญาสูงกว่านั้นอีกระดับหนึ่ง ซึ่งต้องเป็นการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงมีคำว่า สติปัฏฐาน เพื่อที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ในขณะนี้เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 97
    23 มี.ค. 2567