ปกิณณกธรรม ตอนที่ 264


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๖๔

    สนทนาธรรม ที่ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จ.พิษณุโลก

    พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔


    ผู้ฟัง พอฟังแล้วให้คำตอบตัวเองไม่ได้ว่า ทำไมถึงไม่ให้ผู้หญิงบวช แล้วผู้หญิงถูกยกย่องอยู่แล้ว แต่ทำไมต้องจำกัดว่าเป็นผู้ชายบวช หมายถึงถ้าไม่คิดในแง่ของการศึกษาพระธรรม ในแง่ของการบวชเป็นพระ

    ท่านอาจารย์ ขอเชิญคุณสุภีร์

    สุภีร์ เพราะว่าการที่จะประพฤติปฏิบัติในเพศของบรรพชิต ซึ่งต่างจากเพศของคฤหัสถ์ เพศของคฤหัสถ์มีเครื่องอำนวยความสะดวกมากมาย อาหารก็สะดวกสบาย แต่เพศบรรพชิต อาหารก็หาลำบาก สิ่ง ต่างๆ เครื่องนุ่งห่ม อะไรทุกประการก็ลำบากมาก ฉะนั้นผู้ที่จะบำเพ็ญวัตรปฏิบัติในเพศบรรพชิตที่บริบูรณ์ได้ ต้องมีจิตใจที่เข้มแข็งมาก แล้วก็ต้องมีกำลังกายที่เหมาะสม มีจิตใจที่เข้มแข็ง ก็คืออยู่ในกาลสมัยที่สามารถบรรลุธรรมได้ แล้วก็ต้องมีความอดทนในเรื่องของร่างกาย จึงจะสามารถที่จะประพฤติวัตรปฏิบัติให้ถูกต้องตามธรรมวินัยได้ ฉะนั้นเพศหญิงเป็นเพศที่อ่อนแอ จึงไม่สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติให้เต็มได้ ในเมื่อตอนหลังๆ ยุค หลังๆ ที่ไม่มีปัญญาพอ เมื่อผู้หญิงบวชเข้าไปแล้ว ต้องลำบากมากในการเป็นอยู่ เพราะว่ามีอันตรายมาก เพราะเหตุว่าเป็นคนที่ร่างกายอ่อนแอ อาจจะมีพวกบุรุษ พวกอะไรต่างๆ คนที่ไม่ดีก็มีมากมายในบ้านเมือง ก็อาจจะทำร้ายได้ อะไรได้ ก็ต้องอยู่ในสถานที่ที่พระภิกษุอยู่ อันนี้เป็นเหตุผลที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ต้องการให้บวช เพราะเหตุว่า เป็นเพศที่อ่อนแอเหมือนกับว่าบ้านเรือนไหนที่มีผู้หญิงมาก มีคนอ่อนแอมาก โจรก็สามารถที่จะเข้าไปปล้นได้ หรือนาข้าวมีหนอน มีอะไรที่คอยชอน คอยไช คอยเจาะอยู่ ข้าวกล้าก็ไม่สมบูรณ์ ไม่บริบูรณ์ พระธรรมวินัยนี้ก็เช่นเดียวกัน ถ้ามีเพศสตรีที่ไปบวช ก็จะเป็นเช่นนั้น ถ้าทุกท่าน ค่อยๆ พิจารณาก็จะสามารถเห็นได้

    ท่านอาจารย์ การบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยบุคคลไม่ได้จำกัดเพศ และไม่ได้จำกัดกาลด้วย เพราะฉะนั้น ผู้ที่ได้ฟังพระธรรมในครั้งพุทธกาล ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง ที่บวชก็มี ที่ไม่บวชก็มี ไม่ใช่ว่าต้องบวชเสมอไป หรือถึงแม้ว่าในสมัยนี้ถึงไม่บวชเลย ทั้งชายทั้งหญิงที่อบรมเจริญปัญญาก็รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับการสะสมของแต่ละคน ที่เราจะมีความเห็นถูกเพิ่มขึ้น เราก็คงจะต้องความเข้าใจว่า เรามีความเห็นผิดอะไรที่ยังเหลืออยู่บ้างที่จะต้องทิ้งไปก่อน แล้วเราถึงจะรับสิ่งที่ถูกต้องเพิ่มขึ้นได้ เพราะว่าถ้าเรายังมีความเห็นผิดเหลืออยู่ เราก็ยังเก็บความเห็นผิดๆ นั้นไว้ แล้วความเห็นถูกก็ไม่สามารถที่จะเจริญได้ เพราะว่าความเห็นถูกต้องไม่เหมือนกับความเห็นผิด ธรรมถ้าเอาบุคคลเอาชื่อออก เป็นธรรมล้วนๆ จะสะดวกต่อการที่จะเข้าใจ

    ผู้ฟัง เรื่องการจงกรม พิเศษอย่างไรถึงแยกมา เรียกว่า การจงกรม เพราะว่าต้องมีพิเศษแน่ เพราะอ่านในพระไตรปิฎกโดยมาก บางคนมองลงมาจากภูเขา เห็นพระจุดตะเกียง จงกรมกันไปกันมา แสดงว่าพระทำปฏิบัติกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ คำนี้มาจากภาษาบาลี ขอเชิญคุณสุภีร์

    สุภีร์ คำว่า จงกรม มาจากภาษาบาลีว่า ก ม ก ม ก ม แปลว่า เดิน เดิน เดิน ก้าว ก้าว ก ม ก ม เวลาสำเร็จรูปทางไวยากรณ์ เป็น จัง-กะ-มะ ภาษาไทยเราแปลทับศัพท์มาว่า จงกรม ก็มาจากคำว่า ก ม ก ม คือก้าว ก้าว ก้าวหลายที ก้าวไปก้าวมา ในภาษาบาลี ถ้าเป็นการเดินไปจะเรียกว่า คะ-มะ-นะ แปลว่าการเดินไป ถ้าเป็นการเดินกลับมาเรียก อา-คะ-มะ-นะ การเดินกลับมา ที่เราบอกว่า คมนาคม มาจากคำว่า คมนะ บวกกับ อาคมนะ แปลว่าการไปการมา ทีนี้ถ้าเป็นการเดินซ้ำเดิมบ่อยๆ เดินซ้ำ เดินบ่อยๆ ว่าไม่ได้เดินไป ไหน ก็เดินธรรมดาอยู่นั่นแหละ ผลัดเปลี่ยนอริยาบถ หรืออาจจะเหนื่อย อาจจะเจ็บหลัง เดินอยู่แถวๆ นั้นแหละ เรียกว่าเดิน จงกรม คือการเดินกลับไปกลับมาตามลำดับ ไม่ได้เร็วนัก ไม่ได้ช้านัก ตามธรรมดาของแต่ละคน บางคนอาจจะเดินเร็วก็ได้ แล้วแต่ อาจจะเดินช้าก็ได้ แล้วแต่ เรียกว่าการเดินจงกรม

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่รู้คำแปลของคำไหนก็คิดว่า คำนั้นศักดิ์สิทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์เพราะไม่รู้ว่า คืออะไร อย่างคำว่าจงกรม แต่ว่าตามความเป็นจริง ถ้ารู้ความหมาย ก็เป็นธรรมดา ใช้คำว่าเดินในภาษาไทย จังกรม กรม ก้าวไปก้าวไป ก็คือเดิน ไม่ใช่ก้าวเดินแล้วก็หยุดนั่ง มีสติยืน มีสตินอน เพราะว่าการเป็นพระภิกษุ เพื่อที่จะอบรมเจริญปัญญา ถึงการรู้แจ้ง ธรรม ถึงความเป็นพระอรหันต์ด้วย ถ้าไม่บวชก็สามารถที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ก็ได้ แต่ว่าเมื่อบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว ที่จะมีชีวิตอยู่อย่างคฤหัสถ์อีกต่อไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นจุดมุ่งหมายของผู้ที่จะบวช คือต้องถึงความเป็นพระอรหันต์ หรือเพื่อให้ถึง แต่จะถึงหรือไม่ถึง ไม่ใช่เรื่องบังคับ แต่มีจุดมุ่งหมายว่า ไม่ใช่เพียงเพื่อ พระโสดาบัน เพราะว่าถ้าเป็นพระโสดาบันไม่ต้องบวชก็ได้ เป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี ก็ไม่ต้องบวช แต่ถ้าถึงความเป็นอรหันต์แล้ว จะมีชีวิตอย่างคฤหัสถ์ไม่ได้ ก็เป็นเรื่องที่ว่า ชีวิตของบรรพชิตก็ต้องเป็นเรื่องที่ต่างจากคฤหัสถ์ คฤหัสถ์คงจะมีอริยาบถตามอัธยาศัย นั่งบ้าง นอนบ้าง ยืนบ้าง เดินบ้าง ทำกิจธุระต่างๆ บ้าง แต่บรรพชิตท่านไม่ต้องหุงหาอาหารเลย ไม่ต้องทำกิจการงานเลย ท่านมีกิจ ๒ อย่าง คือ คันถธุระกับวิปัสสนาธุระ คันถธุระ คือการศึกษาพระธรรมให้เข้าใจถูกต้อง วิปัสสนาธุระ คือเมื่อศึกษา และประพฤติปฏิบัติตาม นี่คือ ๒ กิจ หน้าที่ของบรรพชิต เพราะว่าท่าน นอกจากจะเกื้อกูลบุคคลอื่นจากความรู้ของท่าน การอบรมเจริญปัญญาของท่านเอง ท่านก็จะต้องอบรมเจริญปัญญาให้ถึงความเป็นพระอรหันต์ด้วย ถ้ามีความเข้าใจว่า จังกรม หรือ จงกรม คือการเดินปกติธรรมดา ไม่สงสัยอีกแล้ว ใช่ไหม ว่าจะต้องทำท่าทำทางพิเศษ หรือว่าเดินแบบพิเศษ ถ้าพิเศษ ขณะนั้นไม่ใช่ พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้มีการกระทำใดๆ ที่ผิดปกติ ถ้าผิดปกติเมื่อไร รู้ได้ไหมว่าเพราะอะไร จึงผิดปกติ พอผิดปกติ อะไรทำให้ผิดปกติ

    ผู้ฟัง มีอวิชชา ความไม่รู้จริงตามธรรมชาติของชีวิต

    ท่านอาจารย์ แล้วทำไมต้องผิดปกติ ไม่รู้ก็ไม่รู้ แต่นี่ทำให้ผิดปกติด้วย

    ผู้ฟัง ความเคยชิน เพื่อน

    ท่านอาจารย์ ปกติคือชิน แต่นี่ไม่ใช่ทำอย่างที่เคย เป็นสิ่งที่ไม่ปกติ เดินก็ไม่ปกติ ทำไมถึงเกิดเดินไม่ปกติ อยู่ดีๆ นั่งธรรมดา เดินธรรมดา พูดธรรมดา แล้วก็เกิดทำอะไรที่ไม่ปกติขึ้นมา เพราะอะไร เดินก็เดินแปลกๆ ไม่เป็นปกติ เพราะอะไร ทำไมไปทำอย่างนั้นขึ้นมา

    ผู้ฟัง อกุศล

    ท่านอาจารย์ อกุศลอะไร โลภะ ตัวนี้อยู่ด้วยตลอดเวลา ถ้าไม่มีความต้องการอย่างหนึ่งอย่างใด จะทำให้ผิดปกติไหม แต่พอทำรู้เลยเพราะต้องการอย่างหนึ่งอย่างใดจึงผิดปกติ เห็นยากว่าเป็นโลภะ แต่ถ้าไม่เห็นโลภะ ก็ละโลภะไม่ได้ ถ้าละโลภะไม่ได้ ก็จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ถึงการประจักษ์แจ้งนิพพานไม่ได้ ต้องละโลภะ ขณะนี้สภาพธรรมกำลังเกิดดับ แต่อวิชชาหุ้มห่อมิดชิดเลย เพราะความไม่รู้ แล้วโลภะก็ปิดกั้นด้วย ก็ทำให้ยากต่อการที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม การศึกษา การเข้าใจธรรมทีละเล็กทีละน้อยจะทำให้ค่อยๆ คลายอวิชชา ความไม่รู้กับโลภะ เพราะว่ารู้เมื่อไรก็ต้องตรงกันข้ามกับความไม่รู้

    ผู้ฟัง พอดีเคยอ่านหนังสือ เขาอ้างจากในคัมภีร์วิสุทธิมรรคว่า เวลาเดินไป ยกขา พอจะถึงรูปที่ยกขาก็ดับไปแล้ว ก็จะเหลือรูปที่กำลังก้าวไปจะมี ๖ ระยะ ที่อธิยายไปนี้ แล้วก็เราจะตัดสินอย่างไรดี

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ยกขาเลย รูปดับหรือเปล่า นี่คือความมั่นคง ความเข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง รูปที่เป็นสภาวะรูป มีลักษณะของตนๆ เอง ที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้น มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ แล้วสิ่งที่จะต้องจำ คือ ระหว่างจิตเห็นกับจิตได้ยิน ขณะนี้ มีจิตเกิดดับคั่นเกินกว่า ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น ใครจะประจักษ์การดับของรูป ต้องเป็นปัญญาที่อบรม แล้วก็สามารถที่จะรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรม และ รูปธรรม คือเริ่มต้น เป็นลำดับขั้นของปัญญาที่เจริญขึ้น ไม่ใช่ไม่มีความรู้อะไรเลย แล้วไปประจักษ์ว่า ยกขานี้รูปดับ ยกเท้าตรงนั้นรูปดับ หรืออะไรอย่างนั้น แต่ผู้ที่รู้จริง ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎกทั้งหมด เพราะฉะนั้น พระไตรปิฎก คือ ปัญญาของผู้ที่รู้แล้ว และรู้จริงๆ แล้วก็รู้ทั่ว แต่ผู้ที่เริ่มที่จะศึกษา เริ่มฟัง เริ่มเข้าใจ ปัญญาจะถึงระดับนั้นไหม ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องยกเท้าเลย ถึงไม่ยกเท้าเดี๋ยวนี้รูปก็กำลังเกิดดับ แต่ทรงแสดงไว้ว่า ปัญญาของใครที่จะรู้อย่างนั้น อย่างท่านพระสารีบุตร เจตสิกที่เกิดกับจิต เช่นวิตกเจตสิก ท่านสามารถที่จะรู้การเกิดการตั้งอยู่ การดับไป

    เพราะฉะนั้น เราเป็นพระสารีบุตรหรือเปล่า หรือเป็นผู้ที่รู้แล้วหรือเปล่า ที่พออ่านตำราก็จะทำให้เหมือนท่านเหล่านั้น แต่จะทำไม่ได้เลย เป็นเรื่องของปัญญาที่จะค่อยๆ เข้าใจถูกในปัญญาของผู้ที่รู้แล้ว ประจักษ์แล้ว จนกระทั่งเป็นปัญญาของเราเอง ค่อยๆ เป็นปัญญาของเราทีละเล็กทีละน้อยเพิ่มขึ้น บางคนบอกว่า ไม่ต้องทำอะไรเลย มีแล้วข้อความในพระไตรปิฎก ไม่ต้องไปอบรมอะไรอีก ท่านบอกว่า เป็นนามเป็นรูป เราก็รู้ตามนั้นว่า เป็นนามเป็นรูป นั่นคือรู้ตามขั้นฟัง แต่ว่ายังคงเป็นปัญญาของผู้ที่รู้แล้ว ไม่ใช่ของผู้ที่กำลังเริ่มฟัง และเริ่มที่จะค่อยๆ อบรม

    นี่ก็ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด แล้วก็ไม่ประมาท เป็นผู้ที่ตรงว่า นั่นคือสิ่งที่จริง แต่ว่าปัญญาอบรมอย่างไร ถึงสามารถที่จะประจักษ์อย่างนั้นได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่ตรงตั้งแต่ขั้นต้น หมดความสงสัยเรื่องจังกม หมดความสงสัยเรื่องยกเท้าแล้วก็รูปดับหรือเปล่า ไม่ยก รูปดับหรือเปล่า ดับ ดูเหมือนว่าท่านรู้อะไรกัน เราก็จะทำให้รู้อย่างท่าน แต่เป็นเรื่องทำ ซึ่งไม่มีทางที่จะรู้ได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องอบรม แล้วเห็นความต่างของปัญญา ของผู้ที่รู้แล้วกับผู้ที่เริ่มที่จะเข้าใจถูก ผู้นั้นก็เป็นผู้ตรง แล้วถ้าเป็นปัญญาที่ประจักษ์ลักษณะสภาพธรรมจริงๆ ก็ไม่ผิดกันเลย แต่ต้องเป็นปัญญาของเราเอง ไม่ใช่ไปรู้ตามที่ท่านแสดงไว้ ไม่ใช่ไปเอาปัญญาของท่านมารู้ หรือว่าไปเอาปัญญาของท่านมาละกิเลสของเราก็ไม่ได้ ต้องเป็นปัญญาความรู้ของเราเมื่อไร ก็ค่อยๆ คลายความไม่รู้ที่สะสมมาทีละเล็กทีละน้อยไปเรื่อยๆ เรื่องจังกรมก็หมดข้อสงสัยแล้ว ต่อไปนี้จะเดินหรือเปล่า เดินแบบไหน ปกติหรือไม่ปกติ เพราะอะไร สิ่งที่น่าคิด ถ้าพระวิหารเชตวัน ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่นาน แล้วก็มีพระภิกษุเป็นจำนวนมาก ถ้าพระภิกษุเหล่านั้น ท่านเดินอย่างนี้ คนเห็นจะคิดอย่างไร ปกติหรือไม่ปกติ หรือที่นี่มีการกระทำอะไรที่ไม่เป็น ปกติ บางคนจะเดินแบบนี้ต้องปิดประตูห้องไม่ให้ใครเห็น เพราะว่ากลัวคนอื่นหัวเราะ หรือว่ากลัวคนอื่นว่า ผิดปกติ

    ผู้ฟัง ผมทราบบทสรุป ถ้าหากเราไปติดรูปแบบที่เราเคยดู เคยเห็น เคยศึกษามา เราไปติดตัวนั้น ผมได้รับความรู้จากอาจารย์หรือสิ่งต่างๆ ที่เราเคยอ่านมา เคยดูมา เคยเห็นรูปแบบนั้นมันไม่ถูก ตามทัศนะของปรมัตถ์ เราต้องมาศึกษาปรมัตถ์แบบของอาจารย์ใหม่ ไม่ทราบว่าผมมองอย่างนี้ หรือสรุปอย่างนี้ ถูกหรือผิด

    ท่านอาจารย์ สิ่งหนึ่งซึ่งทุกคนจะลืมไม่ได้ คือทุกอย่างไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ความเห็นผิดไม่มีใครอยากมี แต่ก็มีความเห็นผิดมากมายในโลก ใครจะแก้ความเห็นผิดมากมายเหล่านั้น ให้หมดได้ก็เป็นเรื่องที่ว่า ต้องมีความมั่นคง ในความเป็นอนัตตา โลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ทรงพยากรณ์ถึงความเสื่อม จนถึงการที่พระศาสนาจะอันตรธานไม่เหลือ แต่ยังไม่ถึงยุคนั้น ใกล้ที่จะถึง เพราะฉะนั้น การใกล้ที่จะถึง ก็แสดงให้เห็นว่า ใกล้อย่างไร คำสอนหรือการเข้าใจคำสอนก็จะเปลี่ยนแปลงไป ใครจะไปฝืนโลกหรือกระแสของโลก หรือสิ่งที่จะเกิดขึ้น เป็นไปไม่ได้เลย แต่ตราบใดที่คำสอนยังมีอยู่ แล้วผู้นั้นเป็นผู้ที่ไม่ประมาทคำสอน คำสอนที่ลึกซึ้งจะเปลี่ยนให้ไม่ลึกซึ้งไม่ได้ สิ่งที่จะต้องอบรมด้วยความอดทนจริงๆ จะต้องอบรมด้วยความอดทนจริงๆ ถ้ามีความเข้าใจถูกอย่างนี้ เราก็เป็นผู้ที่ไม่ไปคิดว่าเราจะต้องไปทำให้เกิดปัญญามากๆ วันนี้ ทั้งๆ ที่ปัญญากว่าจะเกิดได้ ต้องอบรม ที่มีคำกล่าวว่า ถ้าเราจะทำนา แล้วเรามานั่งคำนวณ กว่าข้าวจะสุก ต้องใช้น้ำเท่าไร เราก็ทุ่มเทไป ผลคือข้าวตาย เพราะว่าไม่ใช่สิ่งที่เราสามารถาจะดลบันดาลได้ หรือทำได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของแต่ละคนซึ่งเป็นผู้ที่ตรงขึ้น และตรงต่อพระธรรมวินัยด้วย สิ่งใดที่เป็นคำสอนที่ถูกต้อง เราเป็นผู้ตรงต่อคำสอน ไม่คำนึงถึงองค์กร หรือบุคคล หรือใครๆ แต่ถ้าสามารถจะช่วยได้ เราก็พร้อมที่จะช่วย แต่ที่จะให้แก้ไขให้ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นไปตามที่ถูกที่ต้องทั้งหมด ความผิดใดๆ ในโลกก็ต้องไม่มี นี่เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น สังคมที่แก้ไม่ได้ เพราะเหตุว่าเกี่ยงให้คนอื่นแก้ อย่างเป็นต้นว่า หลายคน ก็จะบอกว่าทางพระพุทธศาสนาประเสริฐ ดีที่สุด แก้ปัญหาทุกปัญหาได้ ไม่ว่าจะปัญหาเศรษฐกิจ หรือปัญหาศีลธรรม หรืออะไรก็ตาม ควรเรียน ผู้ที่พูดอย่างนี้ เรียนหรือเปล่า เห็นไหม สรรเสริญทุกประการ แล้วก็บอกว่าต้องแก้ด้วยพระพุทธศาสนา ต้องมีการอบรมเจริญปัญญา ต้องปฏิบัติ แต่ผู้ที่กล่าวเรียนหรือเปล่า ตราบใดที่ผู้นั้นไม่เรียนด้วยตัวเอง คนอื่นก็เช่นเดียวกัน ก็พูด ก็สรรเสริญ แต่ไม่มีการเรียนเลย เพราะฉะนั้น สังคมคือแต่ละหน่วยของชีวิต เราก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ละคนก็เป็นส่วนหนึ่ง ถ้าแต่ละส่วนศึกษาธรรม ไม่มีปัญหาเลย ไม่ต้องไปเกี่ยงว่าคนอื่นศึกษา แล้วเราไม่ศึกษา แต่ถ้าจะช่วยสังคม ช่วยให้มีการเข้าใจธรรมก็คือ เราศึกษา แล้วต่อจากนั้นแต่ละคนคือตัวเอง จะได้มีการศึกษา แต่ว่าให้คนโน้นศึกษา แต่ตัวเองไม่ศึกษา ก็ไม่มีทางสำเร็จได้ ช่วยตัวเอง ช่วยไหวไหม มีกำลังใจพอหรือเปล่า

    ผู้ฟัง การปฏิบัติธรรม การเดินจงกรม ยังเป็นส่วนหนึ่งหรือไม่ หมายถึงว่าการเดินในลักษณะปกติ ยังเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติธรรมหรือไม่ คิดว่าหลายๆ ท่านในที่นี้เคยปฏิบัติธรรม แล้วต้องมีขั้นตอนหนึ่ง เดินจงกรม แต่เป็นอย่างช้าๆ เมื่อมาฟังท่านพูดที่นี่ ขณะนี้ หมายถึงว่า การเดินจงกรมอยู่หรือเปล่า เพียงแต่ว่าอย่าให้มันช้า ยังต้องทำอยู่ไหม ถ้าเราจะปฏิบัติธรรม

    ท่านอาจารย์ ทำไม เพราะว่าเราก็เดินกันอยู่แล้วไม่ใช่หรือ หรือเราไม่เคยเดิน เราต้องมาเดิน ข้อสำคัญ ที่สุดจากการฟังธรรม ต้องเป็นผู้ละเอียด แล้วไม่ลืมว่า ธรรมในขณะนี้เกิดขึ้นเพราะอะไร เห็นขณะนี้เกิดแล้ว ได้ยินขณะนี้เกิดแล้ว คิดนึกขณะนี้เกิดแล้ว แม้แต่ปฏิสนธิจิตขณะแรกก็เกิดแล้ว แล้วหลังจากที่ปฏิสนธิจิตขณะแรกก็ไม่มีใครไปสร้างไปทำ แต่ก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด ทุกอย่างให้ทราบว่าไม่มีเราทำ ไม่มีใครทำ แต่เป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิด เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจจริงๆ เดี๋ยวนี้ ธรรมพิสูจน์เลย ทางตาที่กำลังเห็น มีแล้ว ต้องไปทำอะไรอีกหรือเปล่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน กาย ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้ามาจากไหน ถ้าไม่ใช่เพราะกรรมเป็นปัจจัยให้เกิดรูป แม้แต่สภาพที่อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว เราจะเรียกว่า จักขุปสาท โสตปสาท กายปสาท หรือจะเรียกอะไรก็ตาม ไม่ใช่ตัวเราที่ทำ มีพร้อมกับปฏิสนธิจิต กรรมทำให้ปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นผลของกรรม เป็นจิตชาติวิบากเกิดขึ้นพร้อมเจตสิก และกัมมชรูป เพราะฉะนั้น เราเลือกรูปตอนเราเกิดได้ไหม ขณะที่เกิดมีรูปเกิดแล้วร่วมด้วยในครรภ์ของมารดา ครั้งแรกที่ปฏิสนธิจิตเกิด มีรูป ๓ กลุ่มหรือ ๓ กลาป เกิดเพราะกรรม ไม่ใช่เราไปทำให้เกิด และธาตุไฟซึ่งมีอยู่ในรูป ๓ กลุ่มก็ต่างกันตาม กรรม รูปนี้เกิดขึ้นเพราะกรรม เพราะฉะนั้น รูปอื่นๆ ซึ่งทยอยเกิดสืบต่อตามมา ก็ทำให้รูปร่างสัณฐานของสัตว์ที่มีกรรมนั้นๆ เป็นไปตามกรรม จะตัวเล็กเท่ามด ตัวใหญ่เท่าช้าง แต่ว่าตอนเกิดเหมือนกันหมด คือ ปฏิสนธิจิต พร้อมเจตสิก และกัมมชรูป แต่ว่ากรรมที่ทำให้รูปเกิดสืบๆ ต่อกันมา ก็ทำให้เป็นสัตว์ บุคคล สูงต่ำ ดำขาว อะไรก็แล้วแต่ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ทั้งกาย ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า เราก็ไม่สามรถที่จะทำอะไรได้เลย นอกจากระลึกรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้ เป็นรูปธรรม ที่ไม่ควรจะยึดถือว่าเป็นของเรา หรือเป็นเรา หรือเที่ยง

    นี่คือประโยชน์ของการระลึกรู้ลักษณะของรูป ที่เคยยึดถือว่าเป็นของเรา หรือเป็นเราตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า เพราะฉะนั้น ปัญญาที่เกิดพร้อมสติที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม เลือกธรรมไม่ได้เลย ทุกอย่างเป็นธรรมอยู่แล้ว พร้อมแล้ว มีแล้วทุกประการ เพียงแต่ว่าเมื่อระลึกก็ค่อยๆ เข้าใจถูกในลักษณะนั้นว่า สภาพนั้นเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม เพื่อที่จะละความเป็นเรา หรือของเรา ขณะที่กำลังนั่งอย่างนี้ ยังไม่ต้องทำอะไร ก็มีรูปเกิดแล้ว มีจิต เจตสิกเกิดด้วย แล้วเราจะไปทำอะไร นอกจากรู้ตามความเป็นจริง โดยเข้าใจว่าขณะใดที่สัมมาสติเกิด จะมีลักษณะอย่างไร ขณะที่หลงลืมสติ ต่างกับขณะที่สัมมาสติไม่ได้เกิดอย่างไร นี่คือปัญญาโดยตลอด จุดประสงค์ของสติ และปัญญาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรม ๔ ซึ่งไม่มีเราเลย ในอริยสัจธรรม ทุกขลักษณะไม่ใช่เรา แต่เป็นลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม สมุทัยสัจก็เป็นโลภะ สภาพที่ติดข้องก็ไม่ใช่ของเราอีก แล้วแต่ว่ามีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นเมื่อไร นิพพานเป็นของเราหรือเปล่า หรือว่ามรรค คือสติปัฏฐานที่เกิด ก็แล้วแต่ว่าถ้าไม่เคยได้ยินได้ฟังมาเลย ก็ไม่มีปัจจัยที่สติระดับนี้ ที่เป็นสติปัฏฐานจะเกิด

    เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดแล้วก็ดับ ทำให้ปัญญาเจริญขึ้นเพื่อละความไม่รู้ เพื่อละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เพื่อประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม ถ้าไม่มีความรู้เลย เราจะให้สติเกิด ไปทำสติมาเพื่ออะไร ปกติ นามธรรมรูปธรรมทำอยู่แล้ว นามธรรมเกิด ก็ทำหน้าที่ของนามธรรม แม้แต่มือที่เคลื่อนไหวไปก็ด้วยกุศลจิต หรืออกุศลจิต เท้าที่ก้าวไปก็ด้วยกุศลจิต หรืออกุศลจิต ไม่มีเราต่างหากที่จะไปทำอะไรได้ แต่ว่าสภาพธรรมเกิดแล้วก็ทำหน้าที่ของสภาพธรรมนั้น ถ้าปัญญายังไม่เกิดก็รู้ไม่ได้ แต่ถ้าปัญญาเกิด ปัญญานั่นเองเป็นสภาพที่เห็นถูกเข้าใจถูก ในลักษณะของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง ถ้าดูตามพระไตรปิฎกก็จะมีแต่ละหมวดต่างๆ แยกกันไปเป็นแต่ละบรรพ อย่างเช่นการกำหนดในกาย เช่น เขาจะยกว่า คัจฉันโตวา คตฉาปีติ ปชานาติ เมื่อเดินอยู่ ก็รู้ชัดว่า เราเดินอยู่

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง แต่บอกว่าให้เดินผิดปกติ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ถ้าเราระลึก ระลึกเดินนี่

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าขณะที่เดิน ถ้าสัมมาสติเกิด ก็มีลักษณะของนามธรรม หรือรูปธรรมซึ่งปัญญาต้องรู้ก่อนว่า รูปธรรมไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ถ้ากระทบกายมีลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหวเท่านั้น

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 97
    23 มี.ค. 2567