ปกิณณกธรรม ตอนที่ 243


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๔๓

    สนทนาธรรม ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา

    พ.ศ. ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น อนุสัยต้องมี แล้วต้องไม่ใช่ปริยุฏฐานะ เพราะว่าต้องดับด้วยมรรคจิต

    ผู้ฟัง ไม่ค่อยเข้าใจคำเมื่อกี้ว่า ไม่ได้ระดับอะไร

    ท่านอาจารย์ ปริยุฏฐานกิเลส กิเลส มี ๓ ระดับ

    ผู้ฟัง เพราะว่าถ้าเป็นเจตสิก จะต้องทำงานทุกครั้ง

    ท่านอาจารย์ เมื่อเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง เมื่อเกิดขึ้น เป็นเจตสิกที่ไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ ไม่เกิด ที่ติดอยู่ในจิตเลย แล้วจะดับได้ด้วยโสดาปัตติมรรค สกทาคามีมรรค อนาคามิมรรค อรหัตมรรค พอดับหมดแล้ว กิเลสนั้นๆ จะไม่เกิดเลยตามระดับขั้นของปัญญา ถ้าไม่มีอนุสัย หมอไม่ต้องดับเลย ไม่ต้องมีโสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตมรรค ไม่ต้องมีเลย เพราะไม่มีอนุสัย

    ผู้ฟัง นี่ก็เป็นเช่นเดียวกันกับทางกุศล ใช่ไหม อาสยะ

    ท่านอาจารย์ ทางกุศลอันอื่น เขาไม่เรียกอนุสัย เขาเรียกเฉพาะกิเลสที่ต้องดับด้วยมรรคเท่านั้น

    ผู้ฟัง ทางกุศลก็สะสมได้

    ท่านอาจารย์ เหมือนกันมีทั้ง ๒ อย่าง มีทั้งกุศล ทั้งอกุศล

    ผู้ฟัง ไม่มีใครพูดถึง ไม่ได้นอนเนื่อง

    ท่านอาจารย์ เขาไม่ได้ใช้คำเท่านั้นเอง เขาพูดถึงกิเลสเมื่อไร เขาก็พูดถึงอนุสัยกิเลส แต่เวลาพูดถึงกุศล เขาจะไปใช้คำอนุสัยได้อย่างไร

    ผู้ฟัง แต่มี คือลักษณะมีเหมือนกัน นอนเนื่องเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ต้องมี ต้องสะสมสืบต่ออยู่ในจิต เป็นบารมี เป็นอะไรก็แล้วแต่ เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยทั้ง ๒ ฝ่าย ทั้งกุศล ทั้งอกุศล

    ผู้ฟัง คำว่า อาสยะ แปลว่าอะไร

    ท่านอาจารย์ อาสยะ คือ อัธยาศัย เอาชีวิตจริงๆ เราสงสัยไหมในสภาพธรรม ตอนนอนหลับสนิท หมอสงสัยอะไรหรือเปล่า ไม่สงสัย แต่พอตื่น ความสงสัยมาจากไหน อยู่ดีๆ มันก็โผล่ขึ้นมา เป็นความสงสัย เป็นโลภะ อะไรอย่างนี้ แล้วโลภะ ความติดข้อง หรือโทสะ ความขุ่นเคืองใจ หรือวิจิกิจฉา ความสงสัย จะหมดได้ไหม ใช่ไหม ทุกคนต้องหาสาเหตุ ถ้ามีทุกข์ ต้องหาสาเหตุว่า ทุกข์นั้นเกิดจากอะไร ถ้ามีสภาพธรรมต้องรู้ว่าสภาพธรรมที่เกิด เกิดจากอะไรด้วย แล้วก็หมอก็ลองคิดดูก็แล้วกัน เราไม่ใช้คำว่า “อนุสัย” ไม่ใช้ชื่อนี้เลย แต่ตอนนอนหลับสนิท เราไม่ได้สงสัย เราไม่ได้มีความเห็นผิด เราไม่ได้มีความติดข้อง ไม่มีความต้องการอะไรเลยในขณะที่หลับสนิท ไม่รู้ว่าเราชื่ออะไร อยู่ที่ไหน เพราะอะไรๆ ก็ไม่ปรากฏให้ติดข้อง อะไรๆ ก็ไม่ปรากฏให้ขุ่นเคือง แต่พอตื่นขึ้นมาแล้วมีความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรม ความสงสัยนี้มาจากไหน นี่ประการ ๑ ซึ่งผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่รู้เลย ไม่สามารถจะไปเสาะหาเหตุได้ว่า ความสงสัยมาจากไหน แล้วความสงสัยคนธรรมดาก็จะไม่คิดว่า แล้วจะหมดได้อย่างไร โทสะจะหมดได้อย่างไร เพียงแต่ว่าอยากหมด อยากไม่มีโทสะ แต่โลภะ ความติดข้องในรูปสวยๆ ในเสียงเพราะๆ ในรสอร่อยๆ ไม่เคยคิดที่จะอยากละเลย แล้วก็ไม่ใช่สาธารณะกับผู้ที่เป็นปุถุชนด้วย ไม่ใช่สาธารณะทั่วไปกับผู้ที่เป็นพระโสดาบัน ต้องสาธารณะเฉพาะพระสกทาคามี ที่ท่านจะอบรมเจริญปัญญาที่จะละความติดข้อง คนธรรมดาอย่าไปเสียเวลาทำ อย่าไปเสียเวลาคิด ไม่มีทางสำเร็จที่ปุถุชนจะไม่มีความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เพราะเหตุว่าพระโสดาบันท่านดับเพียงความเห็นผิด เพราะไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมเท่านั้น ส่วนกามาราคานุสัย ความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แม้พระโสดาบัน พระสกทาคามีก็มี เพราะฉะนั้น คนที่สามารถที่คิดจะดับโลภะ โทสะ แล้วก็ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ต้องเป็นพระสกทาคามี คนอื่นไม่ต้องคิด เสียเวลา จะดับได้หรือ ปุถุชน ดับไม่ได้

    เราต้องศึกษาธรรมตามระดับขั้น อย่างเราเวลาที่นอนหลับ ไม่มีสภาพของอกุศลใดๆ เกิดขึ้นเลย แต่พอตื่น อกุศลมาเพียบ มาจากไหน แล้วดับได้ไหม ถ้าไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ไม่มีใครสามารถที่จะดับได้ พวกมีสติปัญญามากหน่อย สามารถที่จะเห็นโทษของความติดข้องทันทีที่เห็น เราพอใจที่จะเห็น อย่างไรๆ บางคนก็บอกว่า อารัมมณะเป็นที่มายินดีของจิต แล้วโทสะถ้าขณะนั้นเป็นอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ ใช่ไหม จะยังคงเป็นที่มายินดีของจิตหรือเปล่า เวลาพูดถึงจิต เราจะไม่พูดถึงเจตสิกใดๆ เลย ไม่พูดถึงความติดข้องหรือความขุ่นเคือง แต่พูดเฉพาะตัวจิตว่า เขาขาดอารมณ์ไม่ได้

    อารมณ์เป็นที่มายินดีของจิต ในอีกพยัญชนะหนึ่ง เพราะเหตุว่าเขาขาดไม่ได้เลย จิตเขาต้องมีอารมณ์ จึงกล่าวว่าอารมณ์เป็นที่มายินดีของจิต ไม่พูดถึงเจตสิกเลย เพราะฉะนั้น เราจะเห็นได้จริงๆ ว่า การศึกษาธรรมของเรา เรากำลังศึกษาพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจากพระอภิธรรมปิฎก พระมหากรุณาคุณจากพระสุตตันตปิฎก พระบริสุทธิคุณจากพระวินัยปิฎก แต่ทั้ง ๓ ปิฎกจะเห็นทั้ง ๓ คุณธรรมได้ด้วย ไม่ใช่เฉพาะปิฎกหนึ่งปิฎกใด

    ปัญญาของเราจะไปเท่าของพระองค์ เป็นไปไม่ได้ เรากำลังเริ่มที่จะเห็นการห่างกันมาก ระหว่างการตรัสรู้กับที่เริ่มฟัง ผู้ที่เริ่มฟัง เพียงฟังตามที่ทรงแสดงให้สามารถจะเข้าใจได้ แต่ว่าคนฟังจะเข้าใจได้แค่ไหน อย่างแสดงเรื่องของอนุสัย คนฟังจะเข้าใจได้แค่ไหน แต่คิดได้ว่า เวลาที่ขณะนี้เกิดโลภะขึ้น มาจากไหน ถ้าไม่มีพืชเชื้อ อย่างหมอเป็นหมอก็ต้องรู้ว่า มีเชื้อโรค ใช่ไหม ยังไม่ได้ปรากฏอาการ แต่มีเชื้อ เพราะฉะนั้น อนุสัยก็เหมือนอย่างนั้น เพียงแต่เราไม่รู้เลย พวกที่เขามีปัญญาก่อนการตรัสรู้ เขารู้ว่า ทันทีที่เห็นติดแล้ว ต้องการเห็น ต้องการยินดีในการเห็น ถึงแม้ว่าสิ่งนั้นไม่เป็นที่น่ายินดี แต่ต้องการเห็น มีใครบ้างที่เห็นแล้วไม่ต้องการเห็น มีใครบ้างที่ได้ยินแล้วไม่ต้องการได้ยิน เพราะฉะนั้น แม้แต่เพียงเห็นก็มีความต้องการที่จะเห็นแล้ว แล้วยิ่งต้องการเห็นสิ่งที่ดีๆ ขวนขวายหาสิ่งที่ดีๆ อันนั้นก็ยิ่งเป็นความต้องการที่เพิ่มขึ้น อันนี้ก็แสดงให้เห็นว่า เราเป็นผู้ที่เริ่มฟัง แล้วก็เริ่มเข้าใจเท่าที่จะเข้าใจได้ อย่างน้อยที่สุดใครแสดงเรื่องอนุสัย แล้วใครใช้พยัญชนะคำว่า อนุสยะ สยะ คือ นอน อนุ แปลว่าตาม ตามนอนในจิตทุกขณะ จนกว่าจะถึงโสดาปัตติมรรคจิตเมื่อไร ก็ดับพืชเชื้อของกิเลสนั้นๆ เมื่อเป็นพระโสดาบันแล้ว หลังจากที่โสดาปัตติผลจิตดับ โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยจะไม่เกิดอีกเลย ทั้ง ๔ ประเภท

    เพราะฉะนั้น แม้ในขณะนี้ เราก็ไม่สามารถจะรู้อนุสัยได้ เหมือนคนที่เขาทำสมถภาวนา ถึงรูปฌาน อรูปฌาน เขาก็ไม่รู้ว่ามีอนุสัย เขาคิดว่าเขาหมดกิเลสแล้วด้วยซ้ำไป เพราะว่าขณะใดที่อกุศลธรรมไม่เกิด เขาก็เข้าใจผิด คิดว่าเขาไม่มี แต่พระพุทธเจ้าทรงทราบว่ามี แล้วก็มีหนทางที่จะดับอนุสัยด้วย เราไม่เรียกคำนี้ก็ได้ หมอไม่อยากเรียกคำว่าอนุสัยก็ได้ แต่สภาพนั้นมีไหม เท่านั้นแหละ เราจะได้ไม่ต้องมามีปัญหาเรื่องชื่อ อนุสัยมีหรือไม่มี เป็นอะไร หรือจะอย่างไร แต่ว่าสิ่งนี้ที่มี แล้วก็เป็นปัจจัยให้มีกิเลส เกิดขึ้น สิ่งนี้ที่เป็นปัจจัยให้กิเลสเกิดขึ้น ถ้าจะดับกิเลสก็ต้องดับสิ่งนั้น คือสิ่งที่เป็นพืชเชื้อให้กิเลสเกิด ถ้าดับพืชเชื้อแล้ว กิเลสก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น โสดาปัตติมรรคจิต ไม่ได้ดับจิตที่เป็นอกุศลที่เกิดแล้ว เพราะไม่ต้องดับ อกุศลจิตก็ดับ แต่ดับอนุสัยคือพืชเชื้อ หมอจะไม่ใช้คำว่าอนุสัยก็ได้

    ผู้ฟัง เวลาหลับไม่สงสัย หมายความว่านอนหลับนี่ อนุสัยมันก็หลับด้วย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ อนุสัยไม่เกิดเลย ต้องเข้าใจว่าอนุสัยไม่เกิด แต่เป็นปัจจัยให้กิเลสเกิดขึ้น หรือเป็นปัจจัยให้สภาพธรรมที่เป็นอกุศลเกิดขึ้นทำหน้าที่ตามพืชเชื้อของปัจจัยนั้นๆ ถ้าเรายังคงมีกามาราคานุสัย พระโสดาบัน พระสกทาคามี ยังมีกามาราคานุสัย พระโสดาบันตื่น ท่านก็ชอบสิ่งสวยๆ งามๆ เสียงเพราะๆ รสอร่อยๆ เพราะยังไม่ได้ดับพืชเชื้อของกามาราคานุสัย กาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    ผู้ฟัง ที่เป็นอารมณ์ของภวังคจิต ทำไมถึงไม่ได้ทำให้อนุสัย มันเปลี่ยนเป็นปริยุฏฐานะ

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ ขณะเพราะว่าขณะนั้น เขาทำกิจภวังค์ เป็นวิบากจิต ไม่ใช่วิถีจิต

    ผู้ฟัง วิบากจิตเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จิตจะแยกเป็นประเภทใหญ่ๆ ๒ อย่างก็ได้ จำแนกจิตได้หลายนัย ประเภท ๑ ไม่ใช่วิถีจิต ได้แก่ปฏิสนธิจิตขณะแรกที่เกิด ภวังคจิตขณะที่ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หลับสนิท แล้วขณะสุดท้าย คือ จุติจิต ไม่ต้องอาศัยทวารก็เกิดขึ้นทำหน้าที่ได้ แต่จะไม่รู้อารมณ์ของโลกนี้เลย เมื่อไม่มีอารมณ์ปรากฏ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน จะมีกิเลสเกิดได้อย่างไร แต่เมื่อเห็น ได้ยิน กิเลสมาจากไหน ธรรมต้องไตร่ตรองหลายๆ แง่ หลายๆ มุม จนกระทั่งเป็นความเข้าใจที่สอดคล้องกัน ถ้ายังคงติดอยู่ตรงนั้นตรงนี้ก็ไม่สอดคล้อง เหมือนอย่างว่าทำไมมีอกุศลเกิดได้ ถ้าไม่มีพืชเชื้อ เพราะว่าปฏิสนธิจิตมี ถ้าปฏิสนธิจิตไม่มีอนุสัยกิเลส เกิดไม่ได้เลย เหมือนอย่างจุติจิตของพระอรหันต์ ไม่มีอนุสัยกิเลส เพราะฉะนั้น หลังจากนั้นไม่มีจิตอื่นเกิดสืบต่อได้เลย

    ผู้ฟัง เรื่องหลับแล้ว ไม่มีสงสัย หลับแล้วไม่มีอกุศลจิต แล้วถ้าฝันเป็นเรื่องเป็นราว เขาของชนิดว่า มีข้อสงสัยที่ติดพันมาจากชีวิตในช่วงกลางวัน หลับฝันไปเลยว่า เช่นบางคนมีทะเลาะ อะไรกัน ฝันแล้วสงสัยว่าทำไมเป็นตัวฉัน

    ท่านอาจารย์ วิถีจิต คือ จิตที่อาศัยทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ เพราะเหตุว่าจิตเป็นนามธาตุซึ่งเกิดแล้วต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้น ขณะแรกของชีวิตหรือชาติหนึ่ง จิตขณะแรกคือปฏิสันธิจิต หมายความถึงจิตที่เกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ขณะนั้นไม่ใช่วิถีจิต คือ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก จิตที่ไม่ต้องอาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์แต่ละทาง เป็นจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต เป็นวิถีมุตตจิต ถ้าเป็นภาษาบาลี หมายความถึงจิตที่ไม่ใช่วิถี แต่วิถีจิตเขาต้องมีทาง เช่น ต้องมีจักขุปสาท จิตเห็น จึงจะเกิดขึ้น และรู้ว่า ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาอย่างนี้ หรือว่าขณะที่เสียงปรากฏ ก็หมายความว่าต้องมีโสตปสาท เพราะเสียงจะกระทบตาไม่ได้ จะกระทบกายไม่ได้ จะกระทบจมูกไม่ได้ ต้องกระทบรูปซึ่งมีลักษณะพิเศษซึ่งเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน สามารถที่จะกระทบเสียง เพราะฉะนั้นโสตปสาทรูป กรรมเป็นปัจจัยให้เกิดดับ เกิดดับ พร้อมที่เสียงกระทบเมื่อไร ก็จะทำให้จิตที่เป็นผลของกรรมเกิดขึ้น ได้ยิน แล้วแต่ว่าเป็นเสียงที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ

    จิตที่อาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้นเป็นวิถีจิต เพราะว่าไม่ใช่ขณะเดียว จะมีจิตที่เกิดสืบต่อรู้อารมณ์นั้น เพราะอารมณ์หนึ่งที่เป็นรูปจะมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น เมื่อรูปดับ วิถีจิตก็หมด แต่ว่าระหว่างที่รูปยังไม่ดับ จิตที่เกิดสืบต่อแล้วรู้รูปเดียว ทางเดียวกัน เป็นวิถีจิต

    เพราะฉะนั้น ก็มีจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต อย่างพอเกิดขึ้นมาขณะแรกดับเลย แล้วกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ก็ทำให้ภวังคจิต คือ จิตชนิดเดียวกันเลยกับปฏิสนธิ เป็นบุคคลนั้น ก็ต้องเป็นบุคคลนั้นไปจนกว่าจะตาย เพราะฉะนั้น จิตที่เกิดสืบต่อ แม้ว่าเป็นจิตประเภทเดียวกัน เจตสิกประกอบเท่ากัน เป็นผลของกรรมเดียวกัน แต่เพราะไม่ได้ทำกิจสืบต่อ จากจุติจิต จึงไม่ชื่อว่าปฏิสนธิจิต แต่ทำภวังคกิจ ดำรงภพชาติ จนกว่าจิตที่เป็นวิถีจะเกิด วิถีจิตคืออาศัยทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจ

    เวลาฝัน ใจที่สะสมเรื่องราวที่ปรากฏในวันนั้นทั้งวัน ทางตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง อาจจะรับประทานอร่อยๆ แล้วก็ไปฝันก็ได้ หรือว่าที่สะสมมาในชาติหนึ่งชาติใดทั้งหมด สัญญา ความจำ ก็จะเป็นปัจจัยทำให้มโนทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตแรก เราต้องรู้ว่า วิถีจิตแรกเกิดก่อน แล้ววิถีหลังๆ ถึงจะตามมาได้ มโนทวาราวัชชนจิต หรืออีกชื่อหนึ่งในความหมายธรรมดา คือ เกิดรู้สึกตัวทางใจนึกคิดขึ้นมา ขณะที่นึกคิด แล้วแต่ว่าคิดอะไร กุศลจิตก็เป็นไปในเรื่องที่คิด มโนทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตแรก เราต้องรู้ว่า วิถีจิตแรกเกิดก่อน แล้ววิถีจิตหลังๆ ถึงจะตามได้ เพราะฉะนั้น มโนทวาราวัชชนจิต หรืออีกชื่อหนึ่งในความหมายธรรมดา คือ เกิดรู้สึกตัวทางใจนึกคิดขึ้นมา ขณะที่นึกคิด แล้วแต่ว่าคิดอะไร กุศลจิตก็เป็นไปในเรื่องที่คิด หรืออกุศลจิตก็เป็นไปในเรื่องที่คิด เป็นความฝัน ก็เป็นวิถีจิต ต้องแยกจิตที่ไม่ใช่วิถีกับจิตที่เป็นวิถีก่อน

    ๖ ทาง ทางรู้อารมณ์มี ๖ ทาง แม้แต่ขณะนี้ เห็นกับคิด แยกกัน เห็นทางตา คิดทางใจ แต่สืบต่อกันได้

    โลกนี่สว่างกี่ทาง มีทาง ๖ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่โลกสว่างทางไหน ใน ๕ ทาง สว่างทั้ง ๖ ทาง หรือว่าสว่างกี่ทาง ทางนี้คือทวาร มี ๖ ทาง ทางตา เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ทางหูได้ยินเสียง ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายรู้เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็งที่กระทบกาย ทางใจก็คิดนึก

    เพราะฉะนั้น จะสว่างกี่ทาง ทางเดียวเท่านั้น ทางตา พอหลับตา อย่างอื่นปรากฏได้หมดเลย กลิ่นก็ปรากฏได้ เสียงก็ปรากฏได้ อ่อนแข็งก็ปรากฏได้ แต่แสงสว่างปรากฏไม่ได้ ถ้าไม่มีจักขุปสาท

    ผู้ฟัง แล้วทางใจล่ะ

    ท่านอาจารย์ ทางใจคือคิดนึก คิดนึก เรานอนหลับก็คิดได้ เพราะฉะนั้น ฝันคือคิด แต่คิดเหมือนกับสิ่งที่เราเคยเห็น เหมือนกับฝันเห็นเลย ถ้าเราเคยเห็นงู เราก็ฝัน ในฝันเหมือนเห็นงู เห็นพ่อแม่ เห็นเพื่อนฝูง เห็นอะไรได้หมดเลย เพราะความจำ จึงเหมือนเห็น แต่ไม่ใช่เห็น เหมือนเห็น แต่ไม่ใช่เห็น เพราะเห็นขณะนี้อาศัยจักขุปสาท สิ่งทีปรากฏทางตาเดี๋ยวนี้จึงปรากฏได้ ถ้าเกิดตาบอดเดี๋ยวนี้ หมดเลย สิ่งที่ปรากฏทางตา ปรากฏไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราจะเข้าใจความหมายของสิ่งที่ปรากฏ เมื่อตายังไม่บอด สิ่งที่กำลังปรากฏคืออย่างนี้ พอตาบอดก็คือสิ่งนี้ไม่ปรากฏ เราจำได้ ตาบอดทันที เราจำได้เลย แต่ว่าไม่ใช่เห็น

    ผู้ฟัง ถ้าโลกสว่าง ทางธรรมที่บอกใจสว่าง ไม่ใช่ทางใจ เพราะคนตาบอดก็สามารถจะเห็นโลกสว่างทางใจ

    ท่านอาจารย์ อันนี้เป็นคำเปรียบเทียบ อย่างปัญญาคือแสงสว่าง เพราะเหตุว่าในความมืดสนิท น่าตกใจไหม ไม่มีอะไรเหลือเลย มืดจริงๆ น่าตกใจ แต่ถ้ามีปัญญา แม้มืดอย่างนั้นก็รู้ว่า ขณะนั้นคืออะไร สว่างยิ่งกว่าแสงสว่าง เพราะสามารถที่จะเข้าใจสิ่งซึ่งแม้ปรากฏ ขณะที่สว่างก็ไม่รู้ตามความเป็นจริงว่าคืออะไร ก็เป็นการเปรียบเทียบเท่านั้นเองว่า ไม่มีแสงสว่างใดเสมอด้วยปัญญา เพราะสามารถที่จะเห็นทุกอย่างถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรม เพราะที่เราเห็น ไม่ใช่ตามความเป็นจริง เพราะสภาพธรรมเกิดแล้วดับ เราไม่เห็น เมื่อเกิดดับแล้วก็มีสภาพธรรมที่เกิดสืบต่อรวดเร็วเหลือเกินมากมาย เราก็รวมกันไว้ว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ไม่เห็นตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ปัญญาเท่านั้นที่จะเห็นได้ตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง การศึกษาปรมัตถธรรม เกี่ยวกับอนัตตา ใช่ไหม ที่สอนเรื่องอนัตตา เราแยกอย่างไรกับสมมติบัญญัติ บางทีบอกว่า อนัตตา แต่นี่ตัวเรา นี่ตัวเขา นอกจากปัญญาแล้ว ใช้อะไร เพราะเห็น ฟังแล้ว มันสับสน ไปคู่ด้วยกัน ในขณะเดียวกันมันไม่ใช่ตัวเรา มันไม่ใช่ แต่ขณะเดียวกัน เราต้องนึกว่ามันอย่างนั้น จิตอย่างนี้ อะไรอย่างนี้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เราทราบว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ธรรม ธรรมต้องเป็นสิ่งซึ่งมิใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นเรา เหมือนอย่างธรรมกับธาตุ ความหมายเดียวกัน จะใช้คำว่าธาตุ ธา–ตุ หรือจะใช้คำว่าธรรม ความหมายเหมือนกันเลย ถ้าเป็นธาตุ มันจะเป็นเราได้อย่างไร ธาตุก็เป็นธาตุ แข็งก็เป็นแข็ง กลิ่นก็เป็นกลิ่น ไม่ใช่เราเลย เพราะฉะนั้น ธรรม คือสิ่งที่มีจริง คือตอนนี้เอาตัวเราออกไปก่อนให้หมดเลย เอาแต่ธรรมว่าเป็นสิ่งที่มีจริง ทุกอย่างที่มีจริง ทรงตรัสรู้ว่า เป็นธรรม เป็นธาตุแต่ละลักษณะ แต่ละลักษณะ ซึ่งธาตุที่ปรากฏ เราลองค่อยๆ คิดดู เพราะเกิด ถ้าไม่เกิดจะปรากฏไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น อย่างเราเคยคิดว่า เราเห็นโต๊ะ โต๊ะนี้อยู่ตั้งนาน ไม่เห็นมีใครทำให้มันเป็นโต๊ะขึ้นมาได้ เหมือนกับมีอยู่แล้ว แต่ทรงแสดงว่า แข็งที่ปรากฏต้องเกิดจึงกระทบกับกายปสาท แล้วจิตที่รู้แข็ง กายวิญญาณจึงเกิดได้

    ในโลกของธรรมจะไม่มีอะไรที่มีอยู่ยั่งยืนเลย แต่จะมีจิตทีเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ เพราะว่าจิตเป็นสภาพธรรมที่ลึกลับน่าอัศจรรย์มากเลย ในฐานะที่เป็นนามธาตุล้วนๆ ไม่มีรูปใดๆ เจือปน ใดๆ เลยทั้งสิ้นในจิต เป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ ซึ่งลองคิดดูว่า ถ้าเอารูปออกให้หมด ทั้งสี ทั้งเสียง ทั้งกลิ่น ทั้งรส ทั้งอะไรหมดที่เป็นรูปออกหมด ก็จะมีธาตุรู้ หรือสภาพรู้ เพราะฉะนั้น เขาจะเป็นสิ่งซึ่งไม่มีลักษณะของรูปใดๆ เจือปนเลยทั้งสิ้น แล้วตัวจิตเหมือนกับไฟซึ่งร้อน เขาก็มีคุณลักษณะของเขาอย่างหนึ่ง จะเผาให้ไหม้ หรือจะทำให้อบอุ่น ก็เป็นลักษณะของธาตุไฟ แต่ลักษณะของจิต เขาเป็นอนันตรปัจจัยในตัวเขาเอง คือทันทีที่ดับจะเป็นปัจจัยให้จิตอื่นเกิดสืบต่อทันที อนันตร คือไม่มีระหว่างคั่น

    ตั้งแต่เกิดจนตาย หรือตั้งแต่เกิดจนถึงเดี๋ยวนี้ จิตที่ว่าเป็นของเราเปลี่ยนแปลงเกิดดับอยู่ตลอดเวลา ไม่มีสักขณะเดียวซึ่งไม่ดับ ขณะนี้ไม่ใช่ตอนเกิดแน่ๆ ขณะนี้ไม่ใช่ตอนภวังค์แน่ๆ ขณะนี้ที่เห็นเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่เห็นเมื่อวานนี้แน่ๆ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วก็ดับ ที่เราไปฟังพระสวดศพ อนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย เหตุปัจจัยโย อารัมมณปัจจัยโย พวกนี้คือสภาพธรรมให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เกิดขึ้นซึ่งละเอียดมาก แม้แต่ว่าเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ก็ทรงแสดงปัจจัยที่จะทำให้นามธรรมประเภทนั้นเกิด หรือว่ารูปธรรมประเภทนี้เกิด โดยกี่ปัจจัย ไม่ใช่ปัจจัยเดียว เพียงชั่วเร็วแสนเร็วยิ่งกว่ากระพริบตา จิตเกิดดับนับไม่ถ้วน ทรงแสดงถึงสภาพนามธรรม และรูปธรรมซึ่งเป็นปัจจัยซึ่งกัน และกัน

    จิตนี้น่าอัศจรรย์มาก เป็นธาตุรู้เป็นสภาพรู้ ซึ่งต้องเกิดขึ้นรู้ จะยับยั้งไม่ให้ธาตุนี้เกิดได้ไหม นี่คืออนัตตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา หรือไม่ใช่ของใคร เสียงที่ดับ ได้ยินที่ดับ เป็นเราได้ยินต่อไปอีกหรือเปล่า

    สิ่งใดที่เกิดดับ หรือสิ่งใดก็ตามซึ่งเกิดแล้วดับแล้ว จะเป็นของใคร มันก็เป็นของใครไม่ได้เลย เราก็เริ่มจะเข้าใจความหมายของธรรมทั้งหลายหรือธรรมทั้งหมด

    สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทุกอย่างเป็นอนัตตา ไม่มีเจ้าของ ไม่ใช่ของใคร บังคับบัญชาไม่ได้ แล้วแต่เหตุปัจจัย เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป จะบังคับไม่ให้เกิดสืบต่อก็ไม่ได้ ทุกอย่างที่บังคับไม่ได้ ก็คืออนัตตา

    ถ้าปัญญาเราไม่ได้รู้อย่างนี้ ก่อนการศึกษาธรรมเป็นเราเต็มที่เลย แต่พอศึกษาธรรม ความเข้าใจขั้นศึกษา คือเข้าใจว่า พระพุทธเข้าทรงตรัสรู้ความจริง ซึ่งไม่มีใครปฏิเสธได้เลย ทุกคำที่ตรัสจะเป็น ๒ หมายความว่าจะเปลี่ยนเป็นอีกอย่าง หนึ่งไม่ได้ จาก ๑ แล้วจะไปเป็น ๒ ไม่ได้ ๑ ต้องเป็น ๑ ลักษณะอย่างนี้ต้องเป็นอย่างนี้ จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ รูปต้องเป็นรูป รูปจะไปเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นามธรรมต้องเป็นนามธรรม จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ทั้งหมดคือมีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับ อย่างแข็งที่เรากระทบ ฟังดูด้วยการพิจารณาตามความเข้าใจ เชื่อได้ว่า ต้องเกิด ถ้าไม่เกิดไม่ปรากฏ แล้วก็ดับด้วย แต่เมื่อไม่ประจักษ์ก็คิดว่ามันเป็นไปได้อย่างไร แต่ถ้าคิดดู ในนี้มีอากาศธาตุแทรกคั่นละเอียดยิบเลย แล้วแต่ละกลุ่มเกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วแต่ว่ารูปที่นี่มีอุตุเป็น สมุฏฐาน ความเย็นความร้อนเป็นสมุฏฐาน หรือว่ารูปนั้นมีกรรมเป็นสมุฏฐาน รูปนี้มีจิต เป็นสมุฏฐาน รูปนั้นมีอาหารเป็นสมุฏฐาน ถ้าพูดถึงสมุฏฐานกับธรรม ไม่มีใครทำอะไรได้เลย กรรมเป็นปัจจัยทำให้รูปเกิด รูปที่เกิดเพราะกรรม จะเปลี่ยนเป็นรูปที่เกิดเพราะจิตไม่ได้ เพราะมีกรรมเป็นสมุฏฐาน กำกับตายตัวทั้งหมด ยิ่งศึกษาก็คือทั้งหมดเป็นอนัตตา แม้ว่าเราไม่สามารถประจักษ์ความเป็นอนัตตาได้ เพราะว่าปัญญายังไม่ถึงระดับนั้น แต่เริ่มเข้าใจถูก ความเห็นถูกแต่ละภพแต่ละชาติจะค่อยๆ สะสม จนกระทั่งพอฟังธรรมเราเข้าใจเลยว่าเป็นธรรม แล้วธรรมตลอดวันตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำ กี่วันกี่คืนก็เปลี่ยนลักษณะของธรรมไม่ได้เลย พอเกิดโกรธ เป็นธรรม มีจริงๆ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 97
    22 มี.ค. 2567