ปกิณณกธรรม ตอนที่ 250


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๕๐

    สนทนาธรรม ที่ วัดธาตุทอง

    เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๕


    ผู้ฟัง คิดว่าพระธรรมลึกซึ้ง จะเริ่มต้นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ไง เดี๋ยวนี้ก็ฟัง ไม่เข้าใจก็ถาม ก็คุยกัน ก็สนทนากันให้เข้าใจขึ้น เป็นธรรมดา เป็นธรรมดาจริงๆ ทำไมจะไปคิดถึงตรัสรู้ ไปคิดถึงอะไร อะไรอย่างนั้น สิ่งที่มีไม่เคยฟัง เราไปฟังวิชาไหน ใครพูดที่ไหน เราก็ฟังได้ จากสิ่งที่เราไม่เคยรู้ เราก็เข้าใจในแนวคิดของเขาที่เขาสอน นี่ก็คือฟัง แล้วก็ดูสิว่า เข้าใจไหม ก็เป็นเรื่องที่ตรงความจริงหรือเปล่า

    ผู้ฟัง คิดว่าต้องเริ่มจากการฟังก่อน

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง ฟังเท่าไรก็ยังไม่พอ ที่อาจารย์เคยพูด

    ส. “พอ” หมายความว่าอย่างไร เป็นพระอรหันต์

    ผู้ฟัง คิดว่าท่านก็ยังฟังอยู่เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ใช่ แล้วอย่างไร ตัดสินใจว่าอย่างไร วันนี้

    ผู้ฟัง ส่วนใหญ่จะเป็นไปกับความต้องการ

    ท่านอาจารย์ ถามว่าตัดสินใจว่าอย่างไรวันนี้

    ผู้ฟัง อยากจะประจักษ์สภาพธรรม อยากประจักษ์ความเป็นนามเป็นรูป ถ้าเกิด ดับ

    ท่านอาจารย์ ไม่ถึงเลย อยาก ตัวโตเลย บังมิด สนิทแน่น สภาพธรรมขณะนี้กำลังเกิดดับ ไม่มีใครรู้ว่าอะไรทำให้ไม่ประจักษ์ อวิชชา และโลภะ มีครบ แล้วก็จะทำอย่างไรให้ประจักษ์ เป็นไปไม่ได้ จนกว่าจะจางลงไป ความไม่รู้ต้องลดลงไป ความต้องการด้วยความเป็นเรา ต้องลดลงไป เพราะรู้ว่า ไม่มีเรา ถ้าเป็นเราแล้วต้องการได้ ก็ รีบๆ ต้องการกันเสีย จะได้ประจักษ์อริยสัจ แต่ว่าไม่มีอะไรที่จะเป็นไปได้ด้วยความต้องการ แต่ต้องเพราะเหตุปัจจัย ถ้าไม่มีการฟังไม่มีการพิจารณา ไม่มีการค่อยๆ เข้าใจขึ้น เรื่องที่จะประจักษ์สภาพธรรมที่กำลังเกิดดับขณะนี้ก็เป็นอันว่าไม่ต้องคิดเลยผิด

    ผู้ฟัง การคิดอย่างนี้ส่วนใหญ่คิดไปแล้ว บางคนอาจจะท้อถอย

    ท่านอาจารย์ ทำไมท้อ ไม่เห็นเป็นไรเลย จากไม่รู้แล้วมาได้รู้วันนี้ ก็ดีใจแล้ว ดีใจจากที่ไม่เคยรู้เลย แล้วได้รู้ แค่นี้ วันหลังเราก็รู้อีก ฟังอีกเราก็รู้อีก สบายๆ ไม่เห็นจะท้ออะไร ถ้าไม่รู้สิท้อ นี่รู้ ฟังแล้วก็รู้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ถ้าบอกให้ไปทำอะไรที่แปลกประหลาดพิสดาร จะยากเสียกว่าอีก

    ผู้ฟัง ขอบพระคุณ

    ท่านอาจารย์ แค่ฟังนี่ ลำบากไหม

    ผู้ฟัง ในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมทั้งหมด ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่มีใครบังคับบัญชา เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย

    ท่านอาจารย์ แค่นี่จริงหรือเปล่า ที่พูดมาทั้งหมด ถึงตรงนี้ จริงหรือเปล่า

    ผู้ฟัง จริง

    ท่านอาจารย์ จริง

    ผู้ฟัง ในเมื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว จะต้องไปยุ่งอะไรกับธรรมด้วย ไม่ปล่อยให้เหตุปัจจัยเขาปรุงแต่งไปตามเรื่องของเขา

    ท่านอาจารย์ ใครไปยุ่งกับธรรม ไม่มีใครไปยุ่งกับธรรมเลย ฟังแล้วเข้าใจต่างหาก ไม่มีใครไปยุ่ง ขณะนี้ใครไปยุ่งกับธรรม ไม่เห็นมีใครไปยุ่งกับธรรมเลย แค่ฟัง แล้วก็เข้าใจ ไม่ได้ไปยุ่งกับธรรม ยุ่งไม่ได้

    ผู้ฟัง จะต้องไปศึกษาทำไม ในเมื่อเหตุปัจจัยเขาทำเรื่องของเขาเองแล้ว

    ท่านอาจารย์ โง่กับฉลาด จะเอาอย่างไหน รู้กับไม่รู้ จะเอาอย่างไหน

    ผู้ฟัง เอาไม่โง่ดีกว่า

    ท่านอาจารย์ ไม่โง่ ทำอย่างไรถึงจะไม่โง่ได้ โง่แล้ว แล้วทำอย่างไรถึงจะไม่โง่ได้ มีวิธีที่จะไม่โง่ไหม

    ผู้ฟัง เมื่อเหตุปัจจัยมันปรุงแต่งให้ไม่รู้มาก่อน

    ท่านอาจารย์ มีวิธีที่จะไม่โง่ไหม มีหนทางที่จะไม่โง่ ไหม

    ผู้ฟัง ตามหลักพระพุทธศาสนา มี

    ท่านอาจารย์ แล้วอย่างไร ถึงมีเราก็ไม่ได้ไปยุ่ง เราฟัง เราศึกษา เราอบรมเจริญปัญญา ถ้าไม่ฟังสิ ไปยุ่งกับธรรมแน่ๆ เลย

    ผู้ฟัง ก็แสดงว่าในสังคมที่เดี๋ยวนี้ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ไปแต่ไปยุ่งกับธรรมทั้งนั้นเลยหรือ

    ท่านอาจารย์ ใช่ เพราะไม่รู้ อยากจะเป็นอย่างนั้น อยากจะเป็นอย่างนี้ นี่ก็ยุ่งแล้ว ใช่ไหม อยากจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ยุ่งหรือเปล่า อยากจะประจักษ์การเกิดดับ ยุ่งหรือเปล่า ไปยุ่งกับธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ถ้าจะพูดว่ายุ่งก็ได้ เพราะมีความอยากเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ นั่นแหละยุ่ง

    ผู้ฟัง ยุ่งด้วยความไม่รู้ แล้วก็ยุ่งเพื่อจะประจักษ์แจ้งอริยสัจ ถือว่ายุ่งเหมือนกันเลยหรือ

    ท่านอาจารย์ ไม่มีใครจะไปยุ่งแล้วประจักษ์แจ้งได้ หนทางประจักษ์แจ้งไม่ใช่หนทางไปยุ่งกับธรรม

    ผู้ฟัง อย่างนั้นผู้ที่จะไปยุ่งกับธรรม ไม่มีทางรู้ธรรมเลย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง มีเราที่ไปยุ่ง เพราะว่าถ้าเข้าใจว่าเป็นธรรม หนทางที่รู้จริงๆ ว่าเป็นธรรมคืออย่างไร เพียงแต่พูดว่าเป็นธรรม แต่ใครกำลังพูด เวลานี้ก็เป็นธรรมทั้งหมดเลย กำลังคิด กำลังเห็น กำลังได้ยิน ทุกอย่างเป็นธรรม แต่ว่าไม่รู้ในลักษณะที่เป็นธรรม ตรงนี้ จะต้องเข้าใจความหมายของสติ กับ สติปัฏฐาน แต่ว่าถ้ายังไม่มีความเข้าใจธรรมโดยละเอียด ไม่ต้องไปยุ่งกับสติปัฏฐาน หรืออะไรเลย

    ผู้ฟัง เข้าใจธรรมที่ละเอียด หมายความว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เขาใจขึ้นในลักษณะที่เป็นนามธรรม รูปธรรม เวลานี้

    ผู้ฟัง เข้าใจขณะนี้ที่ฟังท่านอาจารย์ด้วย ใช่ไหม พร้อมกันนั้นก็มีการพิจารณาถึงเรื่องราวที่ฟัง เพราะว่ามีในส่วนของพระอภิธรรมเอง ก็มีอะไรที่ต้องศึกษามาก เพราะว่าดิฉันเองเท่าที่ศึกษามาบ้าง คือถ้าหากว่าไม่มีความรู้เกี่ยวกับพระอภิธรรมเลย ไม่เข้าใจตรงนี้เพิ่มมากขึ้น ถ้าหากว่าท่านอื่นไม่เข้าใจตรงธรรมในส่วนละเอียด การที่จะมาให้เข้าใจถึงเดี๋ยวนี้ก็ยาก ที่เราจะเข้าใจ มันเข้าใจทีละน้อยได้ แต่ว่าด้วยความอยากจะรู้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ต้องรู้ว่า การศึกษาธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดแล้วก็มีธรรมตัวจริง ข้อสำคัญที่สุดคือมีธรรมตัวจริง แต่เราเรียนเรื่องราวของธรรมตัวจริงนั้น จนกว่าเราจะรู้ว่าตัวจริงๆ กำลังมีเมื่อไร ที่มีการปรุงแต่งให้สติปัฏฐานเกิด จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น คือ ลักษณะที่เป็นสภาพรู้ หรือว่าลักษณะที่ไม่ใช่สภาพรู้ ค่อยๆ ไปทีละเล็กละน้อย แต่ไม่ได้หมายความว่า ด้วยความต้องการที่อยากจะรู้มาก จนกระทั่งรอวันรอคืน เมื่อไรจะเกิด ตอนนี้จะเกิดไหม เราไปอยู่ตรงนั้นถ้าจะดี หรือว่า อ่านตรงนี้อีกหน่อย แล้วสติปัฏฐานจะเกิด นั่นคือความหวัง หรือความต้องการ ไม่ใช่การละคลาย

    หนทางเป็นหนทางที่ยาวนาน เพราะถ้าเราจะทราบว่า เราติด มากมายสักแค่ไหน โดยที่เราไม่รู้ตัวเลยว่า นี่คือเครื่องกั้น เฉพาะแค่ทางตา เราติดมากมายเหลือเกิน สิ่งที่ปรากฏทางตา ต้องเป็นสีนั้นสีนี้ วันนี้เราส่องกระจกกี่ครั้ง เราดูอะไรๆ ก็ทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นอะไรนิดๆ หน่อยๆ แม้แต่จะอย่างนี้ เรารู้หรือเปล่า ว่าเราติดสี เฉพาะสีอย่างเดียว ทางตาที่ปรากฏ ก็ติดเสียมากมายเหลือเกิน แล้วก็ทางหูไปอีก ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย โดยเฉพาะทางใจที่เป็นเรื่องราวต่างๆ เป็นตัวเราทั้งวัน เรื่องราวของเราทั้งวัน

    เพราะฉะนั้น กว่าจะรู้ว่า เมื่อไรที่ความรู้จะค่อยๆ คลายความไม่รู้ ทางตา ละความสงสัย อย่างที่วันก่อนพูด พอบอกว่าเห็นคน ไม่เห็นมีใครสงสัยเลย แต่บอกว่าเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา สงสัยไหม เป็นอย่างไร ซึ่งความจริง จริงแน่นอนเลย เห็นต้องเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วก็ยังมีความจำ ความคิดนึกเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตาอีกยาวมากเลย ไม่ใช่วันนี้วันเดียว ทุกวันมาแล้วกี่ชาติ

    เพราะฉะนั้น กว่าเราจะเข้าใจสภาพธรรมจนกระทั่งสติปัฏฐานค่อยๆ เกิด คงจะไม่ได้เกิดทันทีติดต่อกันรวดเร็วมากมาย นอกจากผู้นั้น ถึงกาลที่ได้ฟังกถานิดเดียว สภาพธรรมก็สามารถที่จะปรากฏกับปัญญาซึ่งประจักษ์จริงๆ ในความเป็นจริงของสิ่งที่ฟัง เพราะแม้ขณะนี้ มีคิดในเสียงที่ได้ยิน มีเห็นด้วยในสิ่งที่ปรากฏ แค่นี้แยกหรือยัง แค่นี้เองยังไม่แยก จะไปประจักษ์ความจริงของการเกิดดับของสภาพธรรมได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจจริงๆ ว่าความรู้จะเพิ่มขึ้นซึ่งคลายความต้องการ แต่ว่าคลายยากมาก เพราะเหตุว่าแม้แต่เพียงสติเกิด ก็หวังแล้ว อยากแล้ว จนกระทั่งรู้จริงๆ ว่า อริยสัจที่ ๒ คือ ละ ถ้าไม่ละคือกั้น

    ผู้ฟัง ชีวิตในปัจจุบันในทุกขณะ เป็นทุกข์

    ท่านอาจารย์ คิดว่าเป็นทุกข์ แต่ตัวทุกข์ปรากฏหรือยัง

    ผู้ฟัง ยังไม่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ แต่คิดว่าเป็นทุกข์ ใช่ไหม มันไม่เหมือนกัน

    ผู้ฟัง บางครั้งเรามีทุกขเวทนา บางครั้งเราอาจจะถูกแมลงกัด

    ท่านอาจารย์ หายามาทา

    ผู้ฟัง บางทีก็รบกวน เกิดความไม่สบายใจขึ้นมา

    ท่านอาจารย์ แล้วจะเอาอย่างไรกับสังสารวัฏ ไม่ให้ยุงกัด ไม่ให้มีอะไรมาไต่ตอมหรืออย่างไร

    ผู้ฟัง จะแนะนำอย่างไรดี

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วเป็นเราที่คิด ถ้าเอาเราไม่ออก ยังเป็นเราอยู่ คิดอย่างไรๆ ก็ได้แค่นี้ ทำไมต้องไปคิดเรื่องทุกข์เหมือนกับบังคับ พยายามที่จะให้เข้าไปใกล้อริยสัจธรรม บางคนก็อาจจะบอกว่าคิดก็ให้คิดเรื่องนี้ แต่มันไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น เราทำอะไร ในเมื่อจริงๆ แล้วปัญญาจะต้องสามารถรู้ จริงๆ ในลักษณะแต่ละอย่างๆ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง ถ้าสามารถจะรู้ได้จริงๆ ว่าเห็นขณะนี้เป็นสภาพรู้ที่เฉพาะเห็น พอถึงทางหู เป็นสภาพรู้อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ปะปนกันเลย เห็นกับได้ยินไม่ปะปนกัน เกิดต่างขณะ แล้วก็ห่างไกลกันด้วย แต่ว่าความรวดเร็วก็ทำให้เห็นเหมือนกับว่าพร้อมกัน หน้าที่ของเราคือ ฟังให้เข้าใจ จนกระทั่งมีการค่อยๆ รู้ คือสติเกิด ตามรู้ลักษณะของสภาพธรรม มีลักษณะจริงๆ ปรากฏ แล้วขณะนั้นเรารู้ว่า ต่างกับหลงลืมสติ เราจะรู้เลยว่า ถ้าสามารถจะตามรู้ได้ ทุกอย่าง ลองดูว่า เป็นธรรมทั้งหมด ใช่ไหม แต่ว่าสติเขาไม่ได้เกิดอย่างนั้น เพราะว่าเขาไม่ได้มีกำลังพอ มีตัวอยากเข้ามาแซงอยู่ตลอดเวลา

    ผู้ฟัง กว่าจะค่อยๆ สังเกตว่า มีสติกับหลงลืมสติ ตรงนี้ก็ยาก ลำบากมากๆ ทีเดียว

    ท่านอาจารย์ ถ้ารู้เมื่อไรก็คือ ตั้งต้นเมื่อนั้น

    ผู้ฟัง จะมีการสังเกตอย่างไร ในลักษณะที่สังเกตลักษณะที่มีสติกับหลงลืมสติ

    ท่านอาจารย์ ตอนนี้มีลักษณะใดที่ปรากฏบ้าง

    ผู้ฟัง มีลักษณะแข็ง

    ท่านอาจารย์ แข็ง นั่นแหละ คือขณะที่กำลังรู้ลักษณะนั้น นั่นแหละ คือ สติ

    ผู้ฟัง รู้ได้เฉพาะที่สนทนาธรรมกับท่านอาจารย์ ปกติอยู่บ้านก็ลืม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าสติเกิดไม่บ่อย ตั้งกี่ชาติมาแล้วที่เรามีแต่โลภะ โทสะ โมหะ กับความเป็นเรา พอถึงชาตินี้จะให้เราเก่งมาก สติรู้ไปหมดได้อย่างไร

    ผู้ฟัง จริง คือ ความอยากก็อยากรู้ รู้ฟังมาว่าอยากไปก็เท่านั้น ไม่รู้ ไม่รู้อะไรแน่เลย มันก็สลับกันไป สลับกันมา

    ท่านอาจารย์ ถึงได้ว่ายากไง

    ผู้ฟัง แล้วก็ต้องมีวิริยะมาก

    ท่านอาจารย์ ใช่ เพราะฉะนั้น คนที่ฟังพระธรรมแล้วก็จะเข้าใจความหมายของ ขันติ ซาบซึ้งเลย เป็นตบะอย่างยิ่ง อดทนไม่มีอะไรจะอดทนเท่ากับอดทนที่จะศึกษาให้เข้าใจสภาพธรรม อดทนที่สัมมาสติจะเกิด จะระลึก อดทนที่ปัญญาจะค่อยๆ รู้ค่อยๆ เข้าใจ อดทนจนกว่าจะมีปัญญาที่มากขึ้น จนสามารถที่จะละคลายความไม่รู้ไปเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง แล้วขณะที่สติไม่เกิด เราจะทำอย่างไรดี

    ท่านอาจารย์ นั่นน่ะสิ

    ผู้ฟัง ลืมมากเลย

    ท่านอาจารย์ โลภะเขาทำอยู่เวลานี้ เราจะทำอย่างไรดีนั่นคือโลภะ เขาทำหน้าที่ของเขาแล้ว

    ผู้ฟัง อย่างนี้เราก็เพลินไปเรื่อยๆ ดีกว่า

    ท่านอาจารย์ ไม่เห็นตัวไง เพราะฉะนั้น ถึงต้องอยู่ในสังสารวัฏไป ออกไม่ได้ เพราะตัวนี้ ตัวโลภะนี่แหละ เพราะไม่เห็นโลภะเลย แค่คำถามที่ว่า นั่งอยู่เฉยๆ ตอนนี้จะทำอะไร นั่นก็คือโลภะแล้ว รู้ตัวไหม ไม่รู้เลย

    ผู้ฟัง ไม่รู้ตัวเลย

    ท่านอาจารย์ โลภะมาโดยไม่รู้เลย ไม่มีทางรู้เลย นอกจากสติสัมปชัญญะ และปัญญา ถึงจะรู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรม ขณะใดที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นมีโลภะ ที่ใดมีโลภะ ที่นั้นไม่มีปัญญา ถ้าที่ใดมีปัญญา โลภะจะอยู่ตรงนั้นไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง ลักษณะปัญญาตรงนี้ ปัญญารู้อะไร

    ท่านอาจารย์ รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง แล้วมันเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ รูปธรรมไม่สามารถจะรู้อะไรได้ จะเป็นนามธรรมไม่ได้ แต่มีนามธรรมที่กำลังรู้รูปธรรม

    ผู้ฟัง ฟังมาก็เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ฟังไปอีก จับด้ามมีด เวลาจะถามที ก็เอาด้ามมีดมาจับ จับไมโครโฟนไป จนกว่าไมโครโฟนจะสึก

    ผู้ฟัง มันไม่รู้เสียที

    ท่านอาจารย์ นั่นสิ ปัญญาของเรากับอวิชชาของเรา อันไหนมันมาก

    ผู้ฟัง ทราบว่ามันมาก

    ท่านอาจารย์ แล้วตัวตนกับโลภะ ก็ทำหน้าที่อยู่ตลอดเวลาอย่างนี้

    ผู้ฟัง นี่ไม่รู้ตัว

    ท่านอาจารย์ ใช่ ก็บอกให้รู้ไงว่า ขณะนี้ที่กำลังถามอย่างนี้ คือโลภะเกิดแล้วทำหน้าที่แล้ว หน้าที่อยาก หน้าที่ต้องการ เขาจะไม่บอกหรอกว่า ฉันมาแล้ว หรือฉันอยู่แล้ว อยู่ตลอด มารวดเร็ว ทันทีที่กุศลจิตไม่เกิด แล้วก็ไม่ใช่โทสะ ไม่ใช่โมหะ นั่นคือโลภะตลอด

    ผู้ฟัง เป็นผู้มีปกติเจริญสติ

    ท่านอาจารย์ เป็นผู้มีปกติ คือมีสติเกิดเป็นปกติ ไม่ใช่เราทำ ถ้าขณะนี้เห็น เป็นปกติหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นปกติ

    ท่านอาจารย์ ทำเห็นไม่ได้ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ทำไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นปกติอย่างนี้ สติเกิดเข้าก็รู้ตามปกติอย่างนี้ รู้ว่ามีธาตุรู้ซึ่งเป็นมนินทรีย์ เป็นใหญ่เลย ใหญ่ที่นี้ หมายความว่าไม่มีอย่างอื่นมาเจอปน คิดดูว่าใหญ่ขนาดไหน อะไรๆ ก็ไม่มี หมดเลยเหลือแต่สภาพที่เป็นใหญ่จริงๆ ไม่มีอะไรทั้งโลกไหนๆ ก็ไม่มี มีแต่ธาตุรู้ซึ่งเป็นใหญ่ในขณะนั้น เพราะไม่มีอะไรเหลือ มีแต่ธาตุรู้หรือสภาพรู้ที่เป็นใหญ่ ที่มีอยู่เฉพาะอย่างนั้น จะกว้างสักแค่ไหน เพราะว่าเป็นธาตุรู้ซึ่งไม่มีขอบเขตเลย ไม่มีอะไรจะไปกั้น ถ้ากั้นก็คือรูปธรรม แต่นี่ไม่ใช่รูปธรรม ถ้าอยู่ตรงนี้ ตรงนี้คือรูปธรรม แต่ธาตุรู้ไม่ใช่ตรงนี้ แต่เป็นธาตุรู้ที่สามารถจะรู้ลักษณะนั้นได้

    ผู้ฟัง ขณะที่สติ มีสติเกิดบ้าง มีการระลึกศึกษาลักษณะที่เป็น อาจจะเป็นรูปธรรมบ้าง นามธรรมบ้าง อยากจะเรียนถามว่า ถ้าหากว่าขณะนั้นรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม ตอนนั้นเราจะรู้รูปธรรมได้ไหม

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดขึ้นรู้ที่ละอย่าง ไปรู้ ๒ อย่าง มันก็ไม่ถูกแล้ว จะรู้ชัดก็ไม่ได้ อย่างหนึ่งอย่างใด ก็ไม่ชัด

    ผู้ฟัง รู้ก็นิดเดียว แล้วก็ลืมไปตั้งนาน

    ท่านอาจารย์ ก็ทำอย่างไร ถามคำถามที่จะต้องถามบ่อยๆ ว่า อวิชชากับกุศล หรือปัญญา อย่างไหนมาก ที่ผ่านมาแล้วทั้งหมดรวมทั้งวันนี้ด้วย แล้วเราจะไปทำอย่างไรได้กับสิ่งที่มันมีมาก จะไปลดโดยวิธีไหน นอกจากปัญญาเกิด แล้วลดฮวบฮาบทันทีก็ไม่ได้

    ผู้ฟัง มันยากที่จะรู้มาก

    ท่านอาจารย์ ก็ใช่ ถึงต้องฟังธรรมไปเรื่อยๆ ไง ยากก็คือยาก แต่ค่อยๆ รู้ขึ้นได้

    ผู้ฟัง การที่จะเอาเราออก ท่านอาจารย์หมายถึงชั่วขณะที่เรามีสติพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏอยู่ในขณะนั้น ซึ่งเป็นเพียงแค่ขณะเดียว เพราะฉะนั้น ตรงนั้นคือการที่จะเอาตัวตนออกมาเพียงชั่วขณะนั้น เท่านั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นปัญญาที่เจริญขึ้น เพราะว่าขณะนั้นเป็นปัญญาระดับไหน ที่ว่า มรรคมีองค์ ๘ จะขาดสัมมาสติไม่ได้เลย จะขาดสัมมาทิฏฐิไม่ได้เลย ใช่ไหม ต้องมีความเห็นถูก ถ้าไม่มีความเห็นถูกว่า มีลักษณะของสภาพธรรม สติก็ไม่เกิด แล้วก็ไม่ระลึกลักษณะนั้น เพราะฉะนั้น ชั่วขณะที่สติเกิดแล้วก็ มีลักษณะนั้นกำลังเป็นอารมณ์ กำลังใส่ใจที่จะศึกษา ปัญญาตรงนั้นเราจะรู้เลยว่าระดับไหน

    ผู้ฟัง จากการที่กุศลหรืออกุศลของเราเกิดวันๆ หนึ่ง แล้วเราก็พอจะรู้ได้ว่า อะไรมันเกิดมากกว่ากัน แล้วอย่างนี้เราก็คงจะเดาอนาคตเราได้ว่า น่าจะมีสิทธิไปอบายมากกว่าไปสุคตินี้ ใช่ไหม เพราะว่าวันๆ หนึ่งกุศลเกิดน้อยมาก

    ท่านอาจารย์ ที่เรารอดมาเกิดภูมินี้ได้ มาอย่างไร

    ผู้ฟัง มาเพราะผลของกุศล

    ท่านอาจารย์ ใช่ เพราะฉะนั้น ก็ทำกุศลไป ก็ไม่ประมาท เพราะว่าถ้ายังไม่เป็นพระโสดาบันก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดในอบายภูมิ

    ผู้ฟัง สูงมาก

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ประมาท ก็เรายังมาได้ ก็เราทำกุศลต่อไป มาแล้วนี่ ก็ทำดีต่อไปอีก เพราะฉะนั้น น่ากลัวอกุศลมากเลย แล้วน่ากลัวอกุศลกรรมด้วย ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามต้องรู้ว่าอันตราย

    ผู้ฟัง ที่พี่สุภัสสรว่า วันๆ หนึ่งมีแต่ทุกข์ ถ้าเผื่อเกิดถูกหวยสักร้อยล้าน สิบล้าน ก็ไม่เห็นจะทุกข์เลย หรือว่าได้กินของอร่อยๆ ดูหนังแบบสนุกๆ อะไรอย่างนี้ ไม่เห็นความทุกข์เลย

    ท่านอาจารย์ ตอนนั้นลืมคิด

    ผู้ฟัง ตอนนั้นไม่ได้คิด แต่จริงๆ แล้วพอมันหมดไปแล้ว มันก็เริ่มรู้แล้วว่า มันไม่ใช่สุข เป็นทุกข์ ทีนี้จะแป๊บเดียวมันก็หาย ไม่ ไม่ใช่ กำลังเล่าให้ฟังว่า จริงๆ แล้วดีใจแป๊บเดียว แล้วก็หมดแล้ว

    ผู้ฟัง ก็ยังมีสุขด้วย

    ผู้ฟัง ก็มี

    ผู้ฟัง แสดงว่าโลกนี้ก็ยังไม่โหดร้ายทีเดียว ก็ยังน่าอยู่

    ท่านอาจารย์ ขอโทษ คือว่า ในโลกของเรา เรามีทุกข์ และสุขด้วยความไม่รู้ เราจะไปบังคับให้เรามีแต่ทุกข์ทั้งวัน เป็นไปไม่ได้ หรือเราจะบังคับให้เรามีสุขทั้งวัน เป็นไปไม่ได้ ต้องตามเหตุตามปัจจัย อะไรจะเกิด คือรู้ความจริงว่า มีปัจจัย เป็นอนัตตา เราบังคับบัญชาไม่ได้ แล้วก็ต้องรู้ด้วยว่า ต่อให้ไปคิดว่าเป็นทุกข์ ไม่ใช่การรู้ทุกข์ ไม่อย่างนั้นเราก็จะไปนั่งคิดแต่เรื่องทุกข์ อย่างนั่งนี้ก็เมื่อย เอาละ เดี๋ยวก็หิว มันก็เป็นเรื่องที่มันไม่จำเป็นที่จะต้องไปทำอย่างนั้น หรือคิดอย่างนั้น แต่ที่จะต้องอบรมคือ ปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรม เราใช้คำว่า ธรรม แล้วธรรมแต่ละอย่าง เขาก็มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะฉะนั้น สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะนั้น คือขณะที่สภาพนั้นปรากฏ รู้ลักษณะนั้น ขณะที่สภาพนั้นปรากฏ ขณะนั้นคือสติที่เกิด

    ผู้ฟัง แสดงว่าขณะที่รู้ทุกข์นั้นเป็นโสมนัสเวทนา หรืออุเบกขาเวทนา ไม่ใช่เป็นโทมนัสเวทนา

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ถ้าเป็นปัญญาแล้วไม่เกิดกับโทมนัสแน่ ถ้าเป็นปัญญา

    ผู้ฟัง ถึงแม้ว่าจะมีทุกข์เวทนาด้วย แต่ว่าขณะเกิดที่รู้ทุกข์เป็นอุเบกขาหรือโสมนัส

    ท่านอาจารย์ กุศลจะไม่เกิดกับโทมนัส กุศลจะเกิดกับโสมนัสหรืออุเบกขา นี่ไงเราถึงจะต้องเรียน ถ้าไม่เรียนเราก็สับสน

    ผู้ฟัง เรื่องที่การเจริญสติปัฏฐาน ถ้าเกิดสติปัฏฐานเกิดหรือว่าไม่เกิด ความคิดเขาอาจเปลี่ยนแปลงไปได้หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ คือว่าการฟังธรรมแต่ละคนจะเข้าใจแค่ไหน อย่างไร ถูกหรือผิดเป็นเรื่องที่เราจะรู้ได้จากการกระทำ และคำพูด เพราะว่าถ้าเป็นความเห็นถูกก็ต้องสอดคล้อง ตั้งแต่ต้น จะต้องมีการเข้าใจถูกต้องว่า ขณะนี้มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ แล้วปัญญาไม่สามารถจะรู้หรือ ถ้าปัญญาไม่สามารถจะรู้สภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนี้ แล้วปัญญาจะไปรู้อะไร เพราะฉะนั้น ปัญญาจริงๆ ต้องรู้อะไร ในเมื่อสิ่งนี้เผชิญหน้าอยู่ แล้วหนทางที่จะรู้ก็ทรงแสดงไว้ พระพุทธเจ้าตรัสรู้หรือเปล่า เมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้วทรงแสดงหนทาง ให้ผู้อื่นรู้ด้วยหรือเปล่า ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะรู้หรือเปล่า พระอริยสาวกทั้งหลายรู้หรือเปล่า

    หนทางคือสติปัฏฐานเป็นหนทางที่จะทำให้รู้ ก็ต้องศึกษาให้เข้าใจ เพราะฉะนั้น เรามีความรู้ของเราแค่ไหน แล้วเราก็จะรู้ได้ว่า ถ้าเป็นความเห็นที่ไม่ถูกหรือไม่ตรง จะเป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่ลองพิจารณาว่าขณะนี้มีสภาพธรรมจริงๆ แล้วความไม่รู้ก็มีจริงๆ และความรู้ก็มีจริงๆ ได้ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีแต่ความไม่รู้ไปตลอด หรือว่าใครๆ ก็จะมีปัญญาโดยที่ว่าไม่ได้ฟัง ไม่ได้ศึกษา ไม่ได้อบรม แต่สิ่งที่มีจริงนี้แหละ ความไม่รู้คืออย่างไร ความรู้คืออย่างไร ในสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ถ้าคนที่สติปัฏฐานเขาเกิดแล้ว เขาจะมีโอกาสที่จะเบี่ยงเบนไป หันเหไป ปฏิบัติหรือนับถือลัทธิอื่นอีกไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่เป็นอย่างนั้น ถ้าสติปัฏฐานเกิด หมายความว่าก่อนจะรู้เรื่องสติปัฏฐาน ต้องมีการพิจารณาเข้าใจลักษณะของสติ สติที่เป็นขั้นทาน ขั้นศีล ไม่ใช่สติสัมปชัญญะ ในขณะที่ให้ทานครั้งหนึ่ง มีทั้งศรัทธา มีทั้งสติ มีทั้งหิริ มีทั้งโอตตัปปะ มีอโลภะ มีอโทสะ มีอโมหะ มีตัตตรมัชฌัตตตา มีเจตสิกอีกที่จะต้องเกิดอีกถึง ๑๙ ประเภท ในขณะที่กุศลจิตเกิดขณะหนึ่งๆ ทั้งๆ ที่ทุกคนก็ให้ทาน วิรัติทุจริตเป็นประจำ แต่ไม่เคยรู้สภาพจิตขณะนั้นว่า เป็นจิตที่ต่างจากอกุศลเพราะอะไร เพราะว่ามีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ต้องมีการฟัง แล้วต้องการเข้าใจความต่างของสติกับ สติสัมปชัญญะ ถ้าไม่เข้าใจตรงนี้ สติปัฏฐานก็ไม่เกิด

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 97
    22 มี.ค. 2567