ปกิณณกธรรม ตอนที่ 273


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๗๓

    สนทนาธรรม ที่ บริษัทเดลี่กูดส์ จำกัด ถ.สุขสวัสดิ์ เขตราชบูรณะ

    มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๒


    ท่านอาจารย์ เมื่อปฏิสนธิจิตเกิด ทุกอย่างที่เกิดแล้วดับ จิตต่อไปไม่ได้ทำกิจปฏิสนธิ แม้ว่าจะเป็นผลของกรรมเดียวกัน กรรมประเภทเดียวกัน เป็นจิตชนิดเดียวกัน แต่เมื่อไม่ได้ทำปฏิสนธิกิจซึ่งสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน เมื่อไม่ได้ทำปฏิสนธิกิจ ก็ทำภวังคกิจ หมายความว่าดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ไว้ ยังไงก็ไม่ให้ตาย อย่างไรก็ตายไม่ได้ เพราะว่าการจะเกิดหรือการจะตายเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้น เวลาที่กรรมทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ๑ ขณะแล้วดับ กรรมก็ยังทำให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ ทำภวังคกิจ จนกว่าจะถึงขณะที่ รู้สึกตัว ระหว่างนั้นจะไม่รู้สึกตัวเลย เป็นจิตที่รู้อารมณ์โดยไม่อาศัยทวารหนึ่งทวารใด ทั้งสิ้น ไม่มีตา ถ้าเกิดในครรภ์ ไม่มีหู แล้วยังไม่คิดนึกด้วย เพราะเหตุว่าเป็นเพียงผลของกรรม เป็นวิบากจิต ซึ่งเมื่อเป็นผล หมายความว่า พร้อมที่จะต้องเกิด ผลทุกอย่างต้องมาจากเหตุ เราทำกรรมไว้มาก แต่ว่ากรรมใดจะเป็นปัจจัยพร้อมที่จะให้ปฏิสนธิจิตเกิด ก็เลือกไม่ได้ นี่คือความเป็นอนัตตาตั้งแต่ต้น

    เมื่อเราเกิดแล้ว ไม่มีการรู้สึกตัวเลย เพราะไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้คิดนึกอะไรทั้งสิ้น เหมือนตอนที่เรานอนหลับสนิท ไม่มีใครรู้ว่าชื่ออะไร อยู่ที่ไหน มีภรรยา สามี ลูก มีทรัพย์สมบัติ บ้านอะไรก็ไม่รู้ ขณะนั้นก็ไม่รู้ใดๆ ทั้งสิ้น แต่วาระแรกที่รู้สึกตัว โลภะเกิด นี่แสดงให้เห็นว่าทุกคนปฏิเสธไม่ได้เลย เพียงแต่ว่าไม่รู้ลักษณะของความติดข้องว่า มีตั้งแต่อย่างหยาบจนกระทั่งถึงอย่างละเอียด ปัญญาตรงกันข้ามกับโลภะ แล้วใครสามารถที่จะละความติดข้อง ซึ่งเมื่อเกิดก็ติดแล้ว แล้วก็ติดมาเรื่อยๆ ทุกวัน ทุกอย่าง ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เต็มไปด้วยโลภะ เพราะฉะนั้น จึงเป็นสมุทัย เป็นเหตุที่จะให้เกิดทุกข์ เกิดสังสารวัฏอยู่เรื่อยๆ ปัญญาเท่านั้น ที่สามารถจะดับโลภะ แต่ว่าก่อนที่จะดับหมดถึงความเป็นพระอรหันต์ ก็ต้องดับตามลำดับขั้น คือดับ โลภะ ความติดข้องที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด ความเข้าใจผิด

    นี่แสดงให้เห็นว่าถ้าไม่มีการศึกษา ไม่มีความเข้าใจจริงๆ เราจะต้องมีความเห็นผิด ไม่อย่างหนึ่งก็อย่างใด เพราะบางคนก็อาจจะเห็นผิดว่า ไม่มีบุญ ไม่มีบาป กรรมไม่ให้ผล ตายแล้วก็สูญ หรือบางคนก็อาจจะคิดว่า บุญไม่มีผลเลย ให้ไปก็ยิ่งหมด หรืออะไรอย่างนี้ ซึ่งมีโอกาสหรือมีส่วนที่จะเป็นไปได้ ด้วยความเห็นผิด จากการที่คุยกันกับเพื่อนๆ ที่ยังไม่ได้ศึกษาธรรม เขาก็จะมีความเห็นต่างๆ กัน ตายแล้วก็ต้องสูญไป เพราะฉะนั้น ก็สนุกสนานเสียให้เต็มที่ชาตินี้

    ผู้ฟัง สมมติบุคคลนี้ ตัวผมนี้ไม่ตายเข้าสู่ภวังค์

    ส. เวลานี้ก็มีภวังค์ ยังไม่ต้องตายก็มี

    ผู้ฟัง ระหว่างวาระจิตสุดท้าย จุติจิตเคลื่อนที่ แล้วก็ปฏิสนธิ แต่ระหว่างอยู่ ภวังค์ เมื่อกี้อาจารย์ ใช้คำว่า จนกว่าผู้นั้นจะระลึกรู้สึกตัว

    ท่านอาจารย์ จนกว่าจะรู้สึกตัว

    ผู้ฟัง จนกว่าจะรู้สึกว่า ซึ่งมีโลภะเข้ามา

    ท่านอาจารย์ เป็นมโนทวาร

    ผู้ฟัง อะไรเป็นแรงผลักดันให้เขาจนกว่าจะรู้สึกตัว

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ว่าจะรู้สึกตัวเร็วหรือช้า

    ผู้ฟัง ไม่มีอะไร

    ท่านอาจารย์ ไม่มีการนับว่า ๑ ขณะแล้วถึงจะรู้สึก ๒ ขณะแล้วถึงจะรู้สึกตัว พระโพธิสัตว์ต่างจากบุคคลอื่น นี่แสดงให้เห็นถึงความละเอียดมาก เพราะฉะนั้น เวลานี้เราไม่ต้องสนใจเลยว่า ภวังค์เท่าไร แต่เราจะค่อยๆ เรียน ค่อยๆ รู้ แล้วเมื่อกี้ที่ว่า บุคคลไม่มี ที่จะต้องเข้าไปสู่ความเป็นอย่างนั้น แต่หมายความว่าจิตเกิดขึ้นทีละหนึ่ง ขณะ แล้วก็ทำหน้าที่ของจิตแต่ละขณะ เพราะฉะนั้น ต้องทราบจุดประสงค์ ทุกท่านที่นี่ ไม่ใช่เรียนเพื่อ ลาภ ไม่ใช่เรียนเพื่อยศ คือ การนับถือ สักการะ สรรเสริญ หรือแม้แต่คำชมว่าเก่ง หรือดี หรือเข้าใจ หรืออะไรอย่างนั้น แต่เรียนเพื่อเข้าใจสิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น และเมื่อเป็นความรู้ที่ถูกต้อง ความรู้นั้นจะละความไม่รู้ ซึ่งเป็นพื้นฐานของอกุศลทั้งหมด เพราะฉะนั้น ผู้นั้นเป็นผู้รู้เอง ฟังแล้วเข้าใจแค่ไหน ยังไม่ต้องข้ามไปเรื่องอื่นเลย เอาเพียงสิ่งที่เคยได้ยินได้ฟัง แล้วก็เข้าใจหรือไม่เข้าใจในสิ่งนี้ เพราะว่าจะต้องกล่าวไปตามลำดับ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง เราค่อยๆ เข้าใจ ท่านอาจารย์ได้อธิบายว่า เมื่อจุติจิต จิตครั้งสุดท้ายที่ออกจากร่างนั้น

    ท่านอาจารย์ นี่แสดงให้เห็นว่าหน้าที่ของจิตแต่ละอย่างต่างกัน จุติจิต คือ จิตที่ทำให้สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ แต่ไม่ต้องไปไหน เกิดแล้วดับ คือ พรากหรือพ้นจากความเป็นบุคคลนี้ แต่ไม่มีแขน มีขา มีมือที่จะไปดึงไปพราก ให้เข้าใจจริงๆ ว่า นามธรรมเป็นนามธรรม เมื่อเป็นขณะสุดท้าย ก็ขณะสุดท้ายจริงๆ คือสิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ แม้ว่าจะใช้ภาษาอย่างไร แต่ต้องเข้าใจ นี่เป็นสิ่งที่เราเริ่มเห็นความสำคัญของความเข้าใจว่า ต้องพิจารณาแล้วเข้าใจ เพราะฉะนั้น การศึกษาทั้งหมดเป็นสิ่งที่ดี แต่เราต้องมีจุดประสงค์ว่าเราต้องตั้งจิตไว้ชอบ อย่างที่ได้กล่าวไว้ตอนต้นว่า ศึกษาทำไม เพื่ออะไร เพื่อเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังว่า ตรงกับสภาพธรรมที่กำลังปรากฏไหม ศึกษาพระอภิธรรม พระอภิธรรมไม่ได้อยู่ในหนังสือ แต่ทุกขณะที่เป็นสภาพธรรมใดเกิดขึ้น นั่นคืออภิธรรม ซึ่งศึกษาอันนี้ต้องเข้าใจ หลังจากที่ได้ฟังพระอภิธรรมแล้ว ต้องไม่ลืมว่า นั่นเป็นขั้นปริยัติ ขั้นปฏิบัติก็คือมีการปรุงแต่งของสังขารขันธ์ จากการได้ยินได้ฟังจนสัมมาสติระลึกสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะเกิดแล้ว แล้วเกิดแล้วนี้สั้นแสนสั้น โดยการศึกษาเราทราบว่า จิตเกิดแล้วก็ดับ มีอนุขณะสั้นๆ ๓ ขณะ คือ อุปาทขณะ ฐีติขณะ ภังคขณะ อุปาทขณะคือขณะที่เกิด ก็ไม่ใช่ขณะที่ดับ ฐีติขณะ ก็ไม่ใช่ขณะที่เกิด ไม่ใช่ขณะที่ดับ ภังคขณะ ขณะที่ดับก็ไม่ใช่ขณะที่เกิด หรือขณะที่เป็นฐิติ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เราต้องมีความเข้าใจจริงๆ เวลาที่ศึกษาให้ทราบว่า ศึกษาเพื่อเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เมื่อใดที่สติระลึก นั่นเป็นอนัตตา นั่นเป็นสัมมาปฏิบัติ นั่นเป็นมรรคมีองค์ ๕ ยังไม่ครบเป็นมรรคมีองค์ ๘ นั่นคือการที่เราจะเริ่มรู้จักตัวจริงของธรรม ซึ่งเราศึกษาจากตำรา เพราะฉะนั้น ให้ทราบจริงๆ ถึงจุดประสงค์อันนี้ มิฉะนั้นเราจะเรียนแบบอื่น เรียนแบบท่อง เรียนแบบสอบ ซึ่งสอบเพื่ออะไร มีคนหนึ่งเขาก็มีเวลาว่างมากเลย สามีไปทำงานเขาก็อยู่บ้านไม่รู้จะทำอะไรจริงๆ เขาก็ไปเรียนพระอภิธรรม แล้วก็สอบ ข้ออ้างคือว่า ถ้าไม่สอบเขาก็ไม่ขยัน นี่ไม่ใช่จุดประสงค์เพื่อขยัน เพื่ออะไรทั้งสิ้น หรือไม่ใช่เพื่อผลพลอยได้ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเหตุว่ากุศลธรรม ขณะนี้ที่กำลังฟัง ขณะใดที่เข้าใจ เป็นจิตดวงไหนที่ศึกษามาแล้ว มหากุศลญาณสัมปยุตต์ ไม่ใช่เรา แต่ความเข้าใจนั้นคือปัญญา เพราะฉะนั้น ขณะนั้นเป็นญาณสัมปยุตต์ และเป็นกุศล ถ้าขณะใดที่ไม่เข้าใจ ขณะนั้นจะเป็น มหากุศลญาณสัมปยุตต์ได้ไหม ไม่ได้ แต่เป็นกุศลที่เห็นว่าการฟังมีประโยชน์ ฟังเพื่อที่จะได้พิจารณา ขณะใดที่เข้าใจก็เป็นสภาพธรรมที่เราเรียนมาแล้วทั้งหมด เพราะฉะนั้น ให้ทราบจริงๆ แม้ผลพลอยได้ของกุศล ซึ่งต้องนำผลที่เป็นสุขมาให้ กุศลทั้งหมดไม่ว่าระดับทาน ระดับศีล ความสงบของจิต หรือว่าการอบรมปัญญา ก็เป็นกุศลที่จะนำกุศลวิบากมาให้ ก็ไม่หวังที่จะได้สิ่งเหล่านั้น เพราะรู้ว่าสิ่งเหล่านั้นก็ไม่เที่ยง เพราะฉะนั้น สิ่งเดียว คือ เพื่อเข้าใจ อย่าอ้างว่า เพราะว่าถ้าเราไม่สอบ เราจะไม่ขยัน ถ้าอย่างนั้นหมายความว่าเรามีความเป็นตัวตนที่ต้องการจะเป็นคนขยัน ที่ต้องการที่จะเรียน แต่ว่าธรรมเป็นเรื่องละเอียด ถ้าตราบใดที่ทำไปด้วยเป็นตัวตน หรือเพื่อตัวตน ก็ไม่ใช่เพื่อการละความเป็นตัวตน การศึกษาเพื่อเข้าใจอย่างเดียว แล้วปัญญาทำหน้าที่ของปัญญาโดยตลอด ไม่ต้องห่วง เพราะว่าสังขารขันธ์ทั้งหมด เว้นเจตสิก ๒ ดวงเท่านั้น ก็จะปรุงแต่ง ไม่ใช่เราทำ

    ผู้ฟัง ในทางพระอภิธรรม ผู้ที่ได้มหากุศล ตั้งจิตปรารถนาจะไปเกิดในภูมิอื่นได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เรื่องของความตั้งใจ แต่เป็นเรื่องของเหตุ คือ แล้วแต่ว่าก่อนจะจุติ จิตประเภทไหนเกิด

    ผู้ฟัง สรุปแล้วผู้ที่ได้รูปฌานไปเป็นรูปพรหมได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ผู้ที่ได้อรูปฌานแล้วไม่เสื่อม เหตุอะไรที่เขาจากรูปฌาน ไปสู่อรูปฌาน เขาต้องเห็นโทษของรูปแล้ว

    ผู้ฟัง อรูปฌานต้องแน่วแน่แล้ว

    ท่านอาจารย์ อรูปฌาน คือ ไม่หวั่นไหว

    ผู้ฟัง เมื่อไม่หวั่นไหวแล้ว โดยธรรมชาติ ก็ต้องไปอย่างนั้นอยู่แล้ว ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ใครจะว่าอะไรก็แล้วแต่ การเรียนไป ถ้าถามเข้าถึงเรื่องธรรมเดี๋ยวนี้ที่กำลังปรากฏ ทำอย่างไรจะรู้ได้ อันนั้นเป็นสิ่งที่ควรฟัง แต่ถ้าเป็นเรื่องราวของบุคคลนั้น บุคคลนี้ แล้วก็มีความเห็นต่างกัน แต่ไม่สามารถที่จะยุติ เพราะเหตุว่าไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ อะไรควรจะรู้มากกว่ากัน เรื่องราวสิ่งอื่นหรือว่าสิ่งที่กำลังปรากฏ

    เราจะรู้จุดประสงค์ของที่ต่างๆ ได้ หรือคำสอนต่างๆ ได้ว่า เพื่อให้เชื่อ หรือว่าเพื่อให้ทำอย่างที่บอก หรือว่าเพื่อให้รู้ความจริงของธรรมที่กำลังปรากฏ เลือกเอาตามใจชอบ ใครก็บังคับใครไม่ได้

    ผู้ฟัง ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ศึกษาภาคปริยัติ ผมคิดว่าในที่นี้ก็คงจะมีบางท่าน เมื่อศึกษาปริยัติอยู่ ก็ต้องการที่จะไปปฏิบัติ เพราะฉะนั้น ชีวิตเราที่เหลืออยู่ เราจำเป็นไหม ที่ต้องแสวงหามีสถานที่ปฏิบัติ ที่เป็นสัปปายะหรือไม่ หรือว่าได้ทุกสถานที่

    ท่านอาจารย์ ที่มีคำนี้เพราะเหตุว่าไม่เข้าใจคำนี้ ปฏิปัตติ แปลว่าอะไร ผู้ที่ศึกษาบาลี อย่างท่านอาจารย์สมพร ท่านให้ความหมายว่า ถึงเฉพาะ แปลตรงๆ ปฏิ แปลว่า เฉพาะ ปัตติ แปลว่า ถึง ถึงเฉพาะ เราก็ไม่เข้าใจ ถ้าเราไม่ได้ศึกษา แต่ถ้าเราเข้าใจจริงๆ ขณะนี้สภาพธรรมมี มีปัญญาที่จะถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างหรือเปล่า ขณะนี้ทางตาเป็นสภาพธรรมที่มีจริงอย่างหนึ่ง ทางหูก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริงอย่างหนึ่ง ทุกอย่างที่เกิดปรากฏ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน เป็นลักษณะธรรมแต่ละหนึ่งๆ ถ้าธรรมนั้นเป็นจิต ก็เป็นจิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป ถ้าธรรมนั้นเป็นรูป ก็ไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมมี ๒ อย่าง คือจิตกับเจตสิก แม้กระนั้นจิตก็ไม่ใช่เจตสิก และจิตก็มีมากมายหลายประเภท จิตก็ไม่ใช่ว่ามีอยู่เป็นประจำ แล้วก็เกิดทำหน้าที่ต่างๆ แต่ให้ทราบความไม่มี แล้วมี แล้วไม่มี ซึ่งข้อความนี้มีในพระไตรปิฎก แสดงว่าสภาพธรรม ทุกอย่างจะเกิดเมื่อมีเหตุปัจจัย ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยเกิดไม่ได้เลย แม้แต่จิต หรือเจตสิก แต่ก็ต้องทราบความละเอียดของธาตุ ซึ่งต่างกัน อย่างรูปธาตุเกิดขึ้นเพราะสมุฏฐาน คือ มีกรรมเป็นสมุฏฐานก็มีประเภทหนึ่ง มีจิตเป็นสมุฏฐานก็มี มีอุตุเป็นสมุฏฐานก็มี มีอาหารเป็นสมุฏฐานก็มี แต่สำหรับนามธรรม คือ จิต และเจตสิกเป็นธาตุพิเศษ ซึ่งเราจะต้องศึกษาให้รู้ลักษณะของธาตุนี้ ซึ่งกำลังมีอยู่ในขณะนี้ว่าเป็นธาตุ ซึ่งทันทีที่มีปัจจัย เกิดขึ้นแล้วดับลง ก็เป็นปัจจัยให้จิตอีกขณะหนึ่งเกิดสืบต่อ ไม่มีใครสามารถที่จะไปยับยั้งหรือดับไม่ให้จิตนี้ดับแล้วไม่ให้เกิดอีกเลย จิตที่จะเกิดแล้วดับ แล้วไม่ให้มีจิตอื่นเกิดสืบต่อมีขณะเดียว คือ จุติจิตของพระอรหันต์ ขณะใดที่ไม่ใช่จุติจิตของพระอรหันต์ เมื่อจิตนั้นดับก็เป็นปัจจัยให้จิตอื่นเกิดสืบต่อทันทีโดยไม่มีระหว่างคั่น

    ปัจจัยนี้สภาพธรรมนี้ ชื่อว่า อนันตรปัจจัย คือเป็นปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมอื่นเกิดสืบต่อโดยไม่มีระหว่างคั่น นี่คือการศึกษาตามลำดับจริงๆ เพื่อที่จะให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ

    ถ้าเราไม่เข้าใจความหมายของคำว่า ภาวนา ไม่เข้าใจความหมายของคำว่า ปฏิบัติ เราอยากปฏิบัติ เราเป็นอะไร ความเห็นถูกหรือความเห็นผิด อยาก เป็นอะไร เป็นกุศลหรืออกุศล แต่ถ้าเรามีความเข้าใจจริงๆ ตั้งแต่เบื้องต้น ธรรมทั้งหลาย เป็นอนัตตา เราก็รู้ว่ากุศลดีกว่าอกุศล ปัญญาก็ดีกว่าอวิชชา แต่เราจะมีปัญญามากๆ มีกุศลมากๆ อย่างที่เราอยากนี้ได้ไหม ถ้าทุกอย่างสำเร็จด้วยความอยาก เราไม่ต้องทำอะไรเลย นอกจากอยากเข้า นี่ก็แสดงให้เห็นอยู่แล้ว โลภะมีอำนาจมหาศาลแค่ไหน อยากได้หมดทุกอย่าง แต่สิ่งเดียวซึ่งโลภะจะเข้าไปใกล้ชิดไม่ได้เลย คือโลกุตตรธรรม เพราะแม้แต่ปัญญา โลภะยังอยากเลย ที่ไปปฏิบัติกันไม่ทราบว่าอยากอะไร อยากมีปัญญา หรือว่าอยากรู้แจ้งนิพพาน หรืออยากดับกิเลส หรืออะไร แต่นั่นคืออยาก เพราะฉะนั้น เหตุไม่ตรงกับผลเลย ปัญญาจะไม่ได้เกิดขี้นหรือมีได้ด้วยความอยาก แต่ด้วยการฟัง ฟังใคร ฟังผู้ที่ตรัสรู้ แล้วก็พิจารณาว่าเป็นจริงหรือเปล่า จนกระทั่งเป็นความเข้าใจเป็นปัญญาของตัวเอง ค่อยๆ เกิด ค่อยๆ เพิ่มขึ้น ค่อยๆ เจริญขึ้น

    คำว่าภาวนา หมายความถึง การอบรมเจริญสิ่งที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น สิ่งซึ่งมีอยู่เพียงเล็กน้อย ก็ให้เพิ่มมากขึ้น นี่คือความหมายของภาวนา เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่เข้าใจคำนี้ เราไปทำอะไร หรือว่าแม้แต่คำว่า ปฏิปัตติ มรรคมีองค์ ๘ หรือว่ามรรคมีองค์ ๕ แล้วเราทำ เราทำได้ไหม หรือว่าเป็นหน้าที่ของสัมมาสติ เป็นหน้าที่ของสัมมาสังกัปปะซึ่งเป็นวิตกเจตสิก เป็นหน้าที่ของสัมมาวายามะ ความเพียรชอบเพราะว่าเกิดร่วมกับสัมมาทิฏฐิ เป็นหน้าที่ของสัมมาสมาธิ หรือเอกัคคตาเจตสิกซึ่งเกิดกับปัญญา ต้องมีปัญญาเป็นหัวหน้า ต้องมีสัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้า ถ้าไม่มีสัมมาทิฏฐิ ปฏิบัติอะไร เพราะการทำสมาธิ ไม่ใช่มีแต่เฉพาะในประเทศไทย ถ้าฟังดูอาจารย์หลายท่านมาจากต่างประเทศ แล้วแต่ว่าความคิดเห็นอย่างไร จะเป็นทางเวียตนาม จะเป็นทางไต้หวัน จะเป็นทางยุโรป หรือแม้แต่ต่างประเทศเองซึ่งเขาไม่ได้นับถือพุทธศาสนาแต่เขาก็มีสมาธิ เพราะฉะนั้น เขาไม่แยก ไม่สามารถจะรู้ความจริงว่า สมาธิไม่ใช่สติ สมาธิไม่ใช่ปัญญา และเขาก็มีความหวังเลื่อนลอยว่าเมื่อสงบเป็นสมาธิ แล้วปัญญาจะเกิด แต่ถามเขาว่าปัญญารู้อะไร ตอบไม่ได้ แล้วจะได้ปัญญาอะไรจากความไม่รู้ ตั้งแตขั้นต้น แต่อยากปฏิบัติ แล้วก็ไปปฏิบัติ แล้วก็ไม่รู้อะไรตลอด สามารถจะรู้ไหมว่าสติสัมปชัญญะมีลักษณะอย่างไร ถ้าไม่รู้แล้วปฏิบัติอะไร

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ส่วนมากเขาไป เขาบอกว่าสงบ ได้ความสงบ

    ท่านอาจารย์ แต่เขาไม่รู้ว่า แท้ที่จริงแล้วสงบที่นี่คือสงบจากอกุศล เพราะฉะนั้น ต้องเป็นกุศลจิต ถ้าขณะนี้ไม่มีสติสัมปชัญญะ เพียงแต่ฟังเรื่องจิต จะสามารถรู้ไหมว่า จิตสงบต่างจากจิตที่ไม่สงบอย่างไร เพราะเหตุว่าจิตเกิดดับแสนเร็วเกินกว่าที่จะประมาณได้ ในขณะนี้เพียงเกิดขึ้นรู้อารมณ์แล้วดับทันที เร็วแสนเร็ว จนไม่ปรากฏความดับ นี่คือความเร็วที่สุดจึงจะเป็นอย่างนี้ได้ ในเมื่อจิตเกิดแล้วดับ โดยที่สติสัมปชัญญะ สติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมนั้น แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นกุศลจิตหรือ เป็นอกุศลจิต แล้วต้องเป็นกุศลจิตจึงสงบ

    เขาเพียงแต่ว่าเขาไม่ยุ่งยาก เขาห่างไกลไปอยู่ในที่จำกัด แล้วเขาไม่ได้คิดอย่างอื่น คือสงบ แต่ความจริงถ้าปัญญาไม่เกิดที่จะรู้ว่า กุศลจิตต่างกับกุศลจิตไม่มีทางที่จะเป็นกุศลจิตได้ ขณะนั้นก็เป็นอกุศล แต่พอใจ เพราะฉะนั้น ก็เป็นลักษณะหนึ่งของโลภะ

    ด้วยเหตุนี้มิจฉามรรคมีในพระไตรปิฎก ไม่ใช่ไม่มี แสดงเทียบกันเลย มีมิจฉามรรค ๘ แล้วมีมิจฉัตตะ ๑๐ แล้วก็สัมมา ที่เป็นถูกอีก ๑๐ ซึ่งตรงกันข้ามกัน เพราะฉะนั้น นี่ก็แสดงให้เห็นว่า การศึกษาธรรม ถ้าไม่ละเอียด ไม่มีพระธรรมเป็นที่พึ่ง อย่างที่เรากล่าวสรรเสริญพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ แล้วคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่ถ้าเราไม่รู้จักจริงๆ ไม่ศึกษา ไม่เข้าใจ ธรรมรัตนะจะเป็นที่พึ่งกับเราในลักษณะไหน ไม่ได้มีแต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ปรินิพพานแล้ว แต่ยังมีพระธรรมเป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง ไม่ใช่พึ่งอย่างอื่น แต่พึ่งให้เราได้พิจารณาความถูกต้อง สิ่งไหนที่ผิดก็ผิด สิ่งไหนที่ถูกก็ถูก ถ้าความเห็นผิดหรือการปฏิบัติผิด ไม่มีในครั้งโน้น จะไม่มีมิจฉามรรคในพระไตรปิฎก แต่ในพระไตรปิฎกทำให้ผู้ที่ศึกษาโดยละเอียด สามารถที่จะช่วยตัวเองจากความเห็นผิดต่างๆ ซึ่งรอบข้างจากการไม่ศึกษาโดยละเอียด ให้เข้าใจถูกขึ้น

    โดยมากทุกคนพูดถึงทำสมาธิ แต่ไม่ได้แสดงว่า มิจฉาสมาธิ ต่างกับสัมมาสมาธิอย่างไร ทุกคนพูดเรื่องการปฏิบัติ แต่ไม่ได้แสดงความต่างกันของสัมมามรรคกับมิจฉามรรค เพราะฉะนั้น ทุกคนก็คิดว่าที่ปฏิบัตินั้นถูกแล้ว เป็นสัมมามรรคแล้ว แต่เทียบว่าต่างกันอย่างไร ถ้าไม่มีความรู้ความเข้าใจเลย เราแน่นอนที่ปฏิบัติ แต่ถ้ามีความรู้ความเข้าใจขึ้น เราไม่มีที่จะปฏิบัติ แต่ว่ามีการภาวนา คือ อบรมความรู้ความเข้าใจสภาพธรรมในขณะนี้ จนกว่าสังขารขันธ์จะปรุงแต่งทำให้สัมมาสติ ซึ่งทุกอย่างเป็นอนัตตา เกิดระลึกลักษณะ คือ เฉพาะลักษณะหนึ่งที่กำลังปรากฏ จึงจะเป็นปฏิปัตติ คือถึงเฉพาะแต่ละลักษณะ เพื่อที่จะได้รู้ชัดเจนตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้น เป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม

    ผู้ฟัง สภาพธรรมใดเกิดกับจิต ถึงเรียกว่าปฏิบัติ

    ท่านอาจารย์ สติปัฏฐาน ถ้าศึกษาโดยละเอียดจะทราบว่า เหตุใดไม่ทรงแสดงว่า ผัสสปัฏฐาน เจตนาปัฏฐาน หรือเจตสิกอื่นๆ แต่ใช้คำว่า สติปัฏฐาน เพราะอะไร เพราะ สติเป็นสภาพที่ระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ แสดงว่าไม่มีตัวตนไปจัดสรร ไปทำ ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ไม่มีใครทำอะไรได้เลยสักขณะเดียวตั้งแต่เกิดจนตาย แม้แต่เห็นขณะนี้ก็เกิดแล้ว มีปัจจัยปรุงแต่งทำให้เห็น มีปัจจัยปรุงแต่งทำให้จิตได้ยินเกิด เพราะฉะนั้น สติ ไม่ได้ไปทำอะไรเลย แต่ว่าระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะเกิดขึ้นในขณะนี้ จึงปรากฏ

    ผู้ฟัง บุคคลไม่เข้าใจสติปัฏฐาน เลยไปนั่งสมาธิบ้าง ไปเดินจงกรมบ้าง ๓ วัน ๕ วัน คงไม่น่าจะเกิดประโยชน์อันใด

    ท่านอาจารย์ ประโยชน์ในพระศาสนาคือปัญญา ความเห็นที่ถูกต้อง ความเข้าใจที่ถูกต้อง นี่จึงจะเป็นประโยชน์ เพราะว่าคำสอนคือศาสนา พุทธ คือ ปัญญา เพราะฉะนั้น เป็นคำสอนที่ทำให้ผู้ศึกษาหรือผู้ฟังเกิดปัญญาของตัวเอง

    ผู้ฟัง อาจารย์บอกว่า อรูปฌาน มีกำลังจิตเข้มตัดตัวโลภะได้ ใช่ไหม แต่ก็ไม่สิ้นอาสวะ ไม่หลุดพ้น

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าผู้ที่จะเจริญ สมถภาวนา เป็นผู้ที่เห็นโทษของโลภะ

    ผู้ฟัง ตั้งแต่รูปฌาน

    ท่านอาจารย์ ผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนา เพราะเขารู้ว่าตลอดวัน จิตประเภทไหนเกิดมากกว่ากัน

    ผู้ฟัง โลภะเกิดบ่อย

    ท่านอาจารย์ มากกว่าโทสะ ใช่ไหม แล้วเคยเห็นโทษไหม ทุกข์ทั้งหลายมาจากความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง นานๆ เห็นครั้ง ไม่ได้เห็นบ่อย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่ได้อบรมเจริญสมถภาวนา แต่ในครั้งโน้น ก่อนการตรัสรู้ ผู้ที่มีปัญญาเห็นโทษของความติดข้อง แล้วรู้ว่ามีหนทางเดียวที่จะละการติดข้องด้วยกุศลจิตที่มั่นคง ตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่งโดยการตรึกหรือระลึกถึงอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบ เพราะฉะนั้น จึงต้องมีองค์ คือ วิตกเจตสิก อารมณ์ที่ทำให้จิตสงบ ไม่ใช่อารมณ์ที่เราต้องการ นี่ต่างกัน

    ผู้ฟัง ไม่ข้องแวะกับอารมณ์ภายนอก

    ท่านอาจารย์ แต่ต้องรู้ว่าอารมณ์อะไรทำให้จิตสงบ นี่ต้องมีปัญญาอีกระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้น สมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนาจะเกิดไม่ได้เลย อบรมไม่ได้เลย เจริญไม่ได้เลย ถ้าปราศจากปัญญา แต่เป็นปัญญาต่างขั้น

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 97
    23 มี.ค. 2567