ปกิณณกธรรม ตอนที่ 292


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๙๒

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

    พ.ศ. ๒๕๔๒


    ท่านอาจารย์ โลกของความคิดนึก ไม่ว่าจะเป็นนักประวัติศาสตร์ หรือว่าวิทยาศาสตร์ หรือโหราศาสตร์ ขณะนั้นก็เป็นสภาพจิตที่กำลังคิด เพราะฉะนั้น จะไม่มีการเลือก หรือจะไม่มีการเกรงกลัว จะไม่มีการหวั่นไหว ขณะใดที่มีการหวั่นไหว ขณะนั้นเพราะอวิชชา ทำให้คิดว่า นี่ไม่ใช่ธรรม นี่ปัญญาไม่สามารถจะรู้ได้ แต่ว่าทุกอย่างที่เกิดต้องมีเหตุปัจจัยที่จะเกิด เพราะฉะนั้น สำหรับคนหนึ่งๆ มีเหตุปัจจัยที่จะให้คิดเรื่องอะไรตามการสะสม ตามวิชาการที่ศึกษามา ไม่ว่าจะเป็นนักบัญชี นักเศรษฐศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ แพทย์ หรือโหราศาสตร์ก็ตามแต่ ขณะนั้นปัญญาจะต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า แม้ขณะที่คิดก็มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้คิดอย่างนั้น แล้วจิตที่คิดก็ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ทุกอย่างของทุกคนที่เกิดมาแต่ละชีวิต ปัญญาสามารถที่จะอบรมจนกระทั่งรู้ความจริงในขณะนั้นโดยไม่หวั่นไหว เพราะเหตุว่าต้องเป็นผู้ที่อาจหาญร่าเริง ที่จะรู้ความจริง แล้วก็ละการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตน

    ผู้ฟัง ไม่ทราบว่าผมจะเข้าใจถูกต้องตรงประเด็นหรือเปล่าว่า ก่อนที่เราจะถูกท่วมทับด้วยอารมณ์ทั้ง ๖ ถ้าเกิดสติเกิดก่อนหน้านั้น จะสามารถละคลายจากอารมณ์ ความพึงพอใจที่เข้ามาท่วมทับเราได้ อย่างนั้นถูกหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ จิตขณะที่ก่อนสติเกิดเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นอะไร ตอนนั้นเราไม่สนใจ แต่ว่าขณะก่อน

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ ต้องชัดเจนว่า เป็นกุศลหรืออกุศลระดับไหน

    ผู้ฟัง ถ้าเกิดเป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ อกุศลจิตเกิดแล้วก็ดับ ใครจะไปเปลี่ยนแปลงไม่ได้ คนละขณะ

    ผู้ฟัง แล้วหลังจากนั้นก็ความพึงพอใจในอารมณ์เกิด

    ท่านอาจารย์ ทุกขณะเกิดขึ้นสลับกัน

    นิภัทร ชีวิตประจำวัน ไม่รู้ว่าอกุศลจะเกิดท่วมทับ หรือไม่เกิดท่วมทับ ก็แล้วแต่ อกุศลเกิดท่วมทับก็เป็นชีวิตประจำวันเหมือนกัน เพราะอกุศลเกิดมากกว่ากุศล ทีนี้อกุศลเกิดท่วมทับ ถ้าเรารู้สภาพธรรมในขณะนั้น คือ อกุศลเกิดเป็นอย่างไร ถ้าเรารู้แล้ว เราก็รู้ว่าอกุศลก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง มันก็เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้ ไม่ได้หมายความว่าสติมันเกิดก่อนหน้านั้นแล้วอกุศลเกิดไม่ได้ ไม่ใช่อย่างนั้น ขณะใดที่จิตเป็นกุศลก็ตาม เป็นอกุศลก็ตาม ถ้าเราระลึกรู้ว่า จิตเป็นอกุศลคืออย่างนี้ จิตเป็นกุศลคืออย่างนี้ รู้ชัดเจนว่า เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ไม่เหมือนกัน มันก็เป็นความรู้ที่สภาพธรรมชีวิตประจำวันของเราตามที่เป็นจริง

    ผู้ฟัง มีพุทธพจน์บทหนึ่ง มี ๘ ข้อ ข้อ ๑ เรามีกรรมเป็นของๆ ตน อันนี้เข้าใจ กรรมนี้หมายถึงเจตนาเจตสิก แต่ข้อ ๒ เราเป็นทายาทแห่งกรรม ทายาทตัวนี้แปลว่าอะไร

    ท่านอาจารย์ ผู้รับผลของกรรม

    ผู้ฟัง เรามีกรรมเป็นกำเนิด

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีกรรมไม่ต้องเกิดเลย คือเป็นพระอรหันต์แล้วก็ไม่ต้องเกิด แต่ที่ยังต้องเกิด เพราะเหตุว่ายังมีกุศลกรรม และอกุศลกรรมเป็นปัจจัย แล้วแต่ว่ากรรมใดจะให้ผล

    ผู้ฟัง เรามีกรรมเป็นพวกพ้องเผ่าพันธุ์ เจตนาเจตสิกไปเป็นพวกพ้องเผ่าพันธุ์กับใคร

    ท่านอาจารย์ กรรมหมายความถึงเจตนาที่เป็นกุศล หรืออกุศล แม้ว่าดับไปแล้ว จิตที่เกิดสืบต่อก็สะสมกรรม เป็นที่เก็บกรรมอย่างดี ซึ่งใครก็เอาไปไม่ได้ ลักขโมยไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น กรรมก็เพียงแต่ว่าเมื่อมีปัจจัยพร้อมจะให้ผล คือ วิบากจิต ผลของกรรมคือจิต และเจตสิก เพราะเหตุว่าเจตนาเป็นเจตสิก แล้วก็ต้องเกิดกับจิตที่เป็นกุศล และอกุศล ซึ่งเป็นเหตุ แม้ว่าจะดับไปแล้ว จิตที่เกิดต่อจะเป็นอกุศล กุศล เป็นวิบาก เป็นอะไรก็แล้วแต่ จะเป็นกิริยาก็แล้วแต่ แต่ถ้าเป็นจิตที่เป็นวิบาก หมายความว่าจิตนั้นเป็นผลของเจตนาในอดีตที่ได้กระทำกรรมนั้นแล้ว เป็นปัจจัยที่จะทำให้วิบากจิตเกิดขึ้น

    วิบากจิต หมายความถึงจิตที่เป็นผลของกรรม ซึ่งถ้าไม่ทราบ เราก็พูดลอยๆ ว่า กรรมมี เพราะฉะนั้น ผลของกรรมมี แต่ถ้าทราบว่ากรรมได้แก่เจตนาเจตสิกซึ่งเกิดกับกุศลจิต หรืออกุศลจิต ผลของกรรมก็ต้องมี ๒ อย่าง คือ กุศลวิบากเป็นผลของกุศลกรรม อกุศลวิบากเป็นผลของอกุศลกรรม ในขณะที่เห็นเป็นผลของกรรม เราเลือกเห็นไม่ได้เลยว่า เราจะเห็นสิ่งที่ดี หรือสิ่งที่ไม่ดี ถ้าเห็นสิ่งที่ดีขณะนั้นก็เป็นผลของกุศลกรรม จิตเห็นเป็นผล ซึ่งเป็นกุศลวิบาก เป็นผลที่ดีของกรรมที่ดี

    ทางรับผลของกรรม มี ๕ ทาง ทางตา๑ ทางหู๑ ทางจมูก๑ ทางลิ้น๑ ทางกาย๑ ขณะใดที่มีการกระทบสัมผัสที่ทำให้กายเป็นทุกข์เดือดร้อน อาจจะถูกคนอื่นทำร้าย เราคิดว่า เป็นคนอื่นทำ แต่ถ้าไม่มีกายประสาท ไม่มีรูปนั้นมากระทบ จิตที่เป็นผลของกรรม คือ ความรู้สึกที่เจ็บปวด เกิดพร้อมกับทุกขเวทนาก็เกิดไม่ได้

    แสดงให้เห็นเลย ว่าไม่มีใครที่จะทำให้จิตเกิด ที่เป็นวิบากจิตแล้วต้องเกิดจากกรรมทั้งสิ้น กรรมในอดีตที่ได้กระทำไว้พร้อมที่จะให้ผลของกรรม คือวิบากจิตเกิดเมื่อไรก็เกิดเมื่อนั้น

    ผู้ฟัง แล้วกรรมเป็นที่พึ่งพาอาศัย แปลว่าอะไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นกรรมดี เป็นกุศลกรรม ก็พึ่งได้

    ผู้ฟัง ต่อไปก็เข้าใจแล้ว เราจักทำกรรมใดไว้ เป็นกรรมดีก็ตาม กรรมชั่วก็ตาม เราจักเป็นผู้รับผลของกรรม ก็คือ ทุกๆ อย่างเราจะต้องเป็นผู้รับหมดทั้งดี ชั่ว

    ท่านอาจารย์ กรรมที่ได้ทำไว้ จะยกให้คนอื่นไม่ได้

    ผู้ฟัง สติระลึกรู้สภาพธรรมที่เห็น คือระลึกรู้ได้ทีละหนึ่งขณะ สตินั้นก็ต้องดับ จะระลึกรู้สภาพธรรมที่รู้เรื่อง หรือว่ารู้สิ่งที่เห็นนั้นเป็นอะไร สติก็ต้องระลึกรู้อีกขณะหนึ่ง ไม่ใช่ที่ระลึกรู้เห็น อันนี้หมายถึงการเกิดดับของสภาพธรรม ด้วย

    ท่านอาจารย์ จิต และเจตสิกเกิดพร้อมกันดับพร้อมกันเร็วมาก เร็วแสนเร็วทีเดียว ซึ่งขณะนี้ทั้งๆ ที่จิตที่เห็นเกิดขึ้นโดยอาศัยตา จิตที่ได้ยินเสียงเกิดขึ้นโดยอาศัยหู แล้วตากับหูก็ห่างกัน ไม่ใช่ที่เดียวกัน มีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ ไกลทีเดียว ทำไมเราคิดว่าพร้อมกัน ทำไมคิดว่าทั้งเห็นด้วย ทั้งได้ยินด้วย ทั้งนี้ก็เพราะความรวดเร็วของการเกิดดับของจิต จะเห็นได้ว่า จิตเกิดดับเร็วจนเกินกว่าจะไปคิดนึกว่าเร็วแค่ไหน ส่วนรูปบางคนก็อาจจะคิดว่ารูปนี้คงจะดับช้า เพราะว่า ค่อยๆ เกิดค่อยๆ โต ค่อยๆ แก่ ค่อยๆ ตายแต่ความจริงไม่ใช่เลย รูปดับเร็วมากด้วย เพียงแต่ว่าช้ากว่าจิตเท่านั้นเอง เพราะว่ารูปๆ หนึ่ง จะเกิดขึ้น และดับไป เมื่อจิตเกิดดับไป ๑๗ ขณะ ก็ต้องนับว่าเร็วมากทีเดียว ในขณะนี้ที่กำลังเห็น และได้ยิน เหมือนพร้อมกัน แต่รูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น ในระหว่างเห็นกับได้ยิน รูปใดเกิด รูปนั้นดับแล้ว

    ผู้ฟัง ฟังจากที่ท่านอาจารย์ได้ปรารภ สติระลึก คือการดำเนินหนทางที่จะดับกิเลสเท่านั้น แม้เป็นกุศลก็ไม่ใช่ทางเดิน เพราะกุศลยังสร้างภพชาติอยู่ เหมือนอิฐก่อกำแพง คือ คนทั่วไป กุศลเขาก็ว่าดีแล้ว แต่ทำไมสติระลึกเท่านั้นถึงจะเป็นหนทางที่ดับกิเลส

    ท่านอาจารย์ กุศลดี แต่ว่าแล้วแต่ระดับขั้นของกุศล ถ้าเป็นกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็สามารถที่จะให้ผล คือ ทำให้วิบากจิตที่ดีเกิด เห็นสิ่งที่ดี ได้ยินเสิยงที่ดี ได้กลิ่นที่ดี ลิ้มรสที่ดี รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสที่ดี ซึ่งสั้นมาก เห็นแล้วก็หมดไป ได้ยินแล้วก็หมดไป ได้กลิ่นหมดไป ลิ้มรสหมดไป รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสหมดไป เป็นชั่วระยะเวลาที่สั้นมาก แล้วก็เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ถ้าจะพิจารณาแล้วก็คือว่า ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งเป็นของใครเลย เพียงแต่เมื่อจิตเกิด ก็ทำหน้าที่รู้เฉพาะสิ่งนั้น แล้วก็ดับ เท่านี้เอง เมื่อไม่มีตัวตน ไม่มีเรา แต่ว่ามีสภาพจิตที่ดีงามก็ทำให้ผลเพียงเท่านี้เกิดขึ้น แต่ว่าไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่จะออกจากสังสารวัฏฏ์ได้

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นฟังดูแล้ว เหมือนใครๆ ที่สอน ไม่ได้สอนอย่างที่ท่านอาจารย์กล่าว กล่าวแต่ทำกุศล ทำกุศลเถอะ ดีเอง ไม่ได้เกี่ยวกับการที่ว่าจะระลึกรู้สภาพธรรม

    เสียงเกิดได้จากอุตุ แล้วก็เกิดได้จากจิต ทีนี้บอกเทปเกิดจากอุตุ โทรศัพท์เกิดจากอุตุ แม้ดิฉันพูดเดี่ยวนี้ ท่านอาจารย์ได้ยินก็เกิดจากอุตุอีก แล้วจะเกิดจากตรงเสียงจะเป็นขณะไหน

    สมพร คำว่าอุตุ เราต้องเข้าใจก่อน อุตุชรูปประกอบด้วยรูป ๘ อย่าง เรียกว่า อุตุชรูป ดิน น้ำไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา ๘ รูปนี้แยกออกจากกันไม่ได้ ท่านเรียกว่า อุตุชรูป รูปคืออุตุ ถ้าเราบอกว่าอุตุเฉยๆ คือรูป ๘ รูปนี้ แต่รูป ๘ รูปนั้นที่ประชุมกัน ก็มีมากมายด้วยกัน เช่นใบไม้ ๑ ใบ หล่นลงมา ใบไม้นั้นเป็นบัญญัติ แต่ว่าโดยสภาวะเป็นอุตุชรูป มีรูป ๘ รูป หลายรูปเกาะกันอยู่ เมื่อตกลงมากระทบดินก็เกิดเสียงขึ้น อย่างนี้เขาเรียกว่าเสียงเกิดจากอุตุ

    ผู้ฟัง เสียงเกิดจากจิต

    สมพร เสียงเกิดจากจิต เช่นกำลังพูด จิตคิดว่าจะพูดอย่างนี้ อย่างนี้ ก็เปล่งเสียงออกมา หมายความว่าเมื่อคิดอย่างนั้น ธาตุในร่างกายก็กระทบฐานของเสียง ที่เราปัจจุบันเราเรียกว่า กล่องเสียง สมัยใหม่ ก็ทำให้เราพูดได้ อาศัยจิต ถ้าไม่มีจิตเป็นปัจจัย เสียงนี้ก็เกิดขึ้นไม่ได้ แต่ว่าเราได้ยิน เสียงที่เกิดจากจิตดับไปก่อน เสียงนั้น คือรูปชนิดหนึ่งที่มีอายุสั้นที่สุด ดับไปก่อน แต่เสียงที่สืบต่อมาทำให้เราได้ยิน อันนี้มันก็ละเอียดไปอีกขั้นหนึ่ง

    ผู้ฟัง ถ้าดิฉันจะเข้าใจเสียงที่เกิดกับจิต ไม่ได้ออกมาอยู่ภายนอก ออกมาก็เป็นอุตุ

    สมพร ภายนอก ส่วนมากก็เป็นอุตุ ในตัวสัตว์ บุคคลก็มีอุตุได้ เช่นเรานอน เราก็เอามือตีพุงเรา ก็ดัง นี้ก็เรียกว่าเสียงเกิดจากอุตุเหมือนกัน เพราะมันเปล่งเสียงออกมา แม้ในตัวเราก็มีเสียงเกิดจากอุตุได้

    ผู้ฟัง ในปัญจทวารวิถีจิต ปัญจทวาราวัชชนจิต อาศัยทวารแล้วก็รูป ตอนที่อารมณ์กระทบปสาท แล้วก็กระทบภวังค์ ตรงนั้นจะเป็น อดีตภวังค์ ก็ทำให้ภวังคจรณะไหว แล้วภวังค์คุปัจเฉทะเกิดขึ้น ตัดกระแสภวังค์ แต่ในมโนทวารวิถี ไม่มีอดีตภวังค์ เพราะว่าไม่มีการกระทบของรูป ทีนี้ มโนทวาราวัชชนจิต จะอาศัยอะไรเกิดขึ้น ต้องเกิดแล้ว คือหมดกระแสภวังค์แล้ว

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจคำว่า มโนทวาร หมายความถึงจิตซึ่งเป็นทวารของวิถีจิต เพราะว่าถ้าเราแบ่งจิตออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ จิตที่เป็นวิถีจิต กับจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต ถ้าจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต คือ ขณะปฏิสนธิ แล้วขณะที่เป็นภวังค์ สืบต่อจากปฏิสนธิ และจุติ ๓ ขณะนี้ไม่ใช่วิถีจิต เพราะเหตุว่าไม่ได้อาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์อื่นต่างหากไปจากอารมณ์ของปฏิสนธิ อารมณ์ของภวังค์ เพราะฉะนั้น เวลาที่เรานอนหลับสนิท คือขณะนั้นจิตเป็นภวังค์ ทำหน้าที่ภวังค์ รู้อารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิต ซึ่งไม่ใช่อารมณ์ที่ปรากฏในโลกนี้เลย ไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ ไม่ใช่เสียงที่กำลังได้ยิน ไม่ใช่กลิ่น ไม่ใช่รส ไม่ใช่เรื่องราวคิดนึกใดๆ ทั้งสิ้น เพราะในขณะที่นอนหลับสนิท ไม่แม้แต่ฝัน

    เวลาที่จะอาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์ อย่างเวลาที่ฝัน เรารู้ ใช่ไหมว่าฝัน ฝันเรื่องอะไร หมายความว่าขณะนั้นไม่ใช่ภวังคจิต เพราะฉะนั้น ทางรู้อารมณ์มี ๖ ทาง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จิตนั่นเอง เป็นทวาร แต่จิตไหน คือ จิตขณะสุดท้าย ก่อนที่วิถีจิตจะเกิด เพราะว่าวิถีจิตแรกทางใจ ต้องเป็นมโนทวาราวัชชนจิต ถ้าเป็นภวังค์อยู่เรื่อยๆ จะไม่ใช่วิถีจิตเลย เพราะฉะนั้น จิตอื่นนอกจากจิต ๓ ขณะ ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ แล้วเป็นวิถีจิต

    แม้มโนทวารวัชชนะจิตเป็นวิถีจิตแรกทางมโนทวาร เกิดต่อจากภวังคุปเฉทะ ภวังค์ดวงสุดท้ายของกระแสภวังค์ เพราะฉะนั้น ภวังค์ขณะสุดท้าย ที่เป็นที่สิ้นสุดของกระแสภวังค์นั่นเอง เป็นทวาร เป็นทางที่ให้มโนทวาราวัชชนจิตเกิด

    ผู้ฟัง ในจิตปรมัตถ์ ปัญจทวาราวัชชนจิตไม่มีวิริยเจตสิก แต่ในมโนทวาราวัชชนจิตมี เหมือนกับว่ามโนทวาราวัชชนจิต จะอาศัยวิริยเจตสิกด้วยหรือเปล่า ถึงจะมีความเพียรที่จะเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ สำหรับจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ คือ อเหตุกจิต ส่วนใหญ่ คือ ๑๖ ดวง จะไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย นอกจากมโนทวาราวัชชนจิต กับหสิตุปปาทจิต หสิตุปปาทจิตเป็นชวนวิถี เพราะฉะนั้น ก็มีวิริยะ แต่สำหรับมโนทวาราวัชชนจิต เป็นจิตที่ไม่ใช่สิ่งที่กระทบตา แล้วจิตเห็นก็เกิดขึ้น เพราะมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นเห็น แต่มโนทวาราวัชชนจิต คิดหรือนึก เพราะฉะนั้น จึงมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นจิตขณะแรกแล้ว แต่ว่าจะคิดอะไร ชวนวิถีซึ่งเกิดต่อก็เป็นกุศล และอกุศล ตามมโนทวาราวัชชนจิตที่คิดเรื่องนั้น

    สมพร มโนทวาราวัชชนจิต กับโวฏฐัพพนจิต เป็นจิตประเภทเดียวกัน ท่านกล่าวว่า อวชนะ มี ๒ อย่าง คือ ๑ ปัญจทวาราวัชชน ๒ มโนทวาราวัชชน อันนี้บางคนก็ไม่เข้าใจ ไปเอาโวฏฐัพพนจิต โวฏฐัพพนจิตนั้น คือมโนทวาราวัชชนจิต แต่ว่าไปทำกิจทางปัญจทวาร เรียกว่า โวฏฐัพพนะ ไม่ได้ทำกิจทางมโนทวาร ถ้าทำกิจทางมโนทวารเรียกว่า มโนทวาราวัชน อาวัชชนจิต มี ๒ อย่าง คือ ๑ ปัญจทวาราวัชชนะ ๒ มโนทวาราวัชชนะ

    ท่านอาจารย์ ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่ตามความจริง คือขณะนี้เอง เป็นจิตแต่ละขณะซึ่งเกิดดับสืบต่อ แล้วใช้คำบัญญัติให้เข้าใจว่า ขณะไหนชื่ออย่างนี้ แล้วขณะต่อไปชื่ออะไร เพราะเหตุว่าทำกิจต่างๆ กัน แต่ว่าเป็นขณะนี้เอง อย่างเวลาที่ทุกคนกำลังคิด เป็นจิตชนิดหนึ่ง ไม่เห็นก็คิด ไม่ได้ยินก็คิด ไม่ได้กลิ่นก็คิด หรือว่าเห็นแล้วก็คิด ได้ยินแล้วก็คิด เพราะฉะนั้น จิตคิดจะคิดอยู่ตลอดเวลา แต่สิ่งที่มากระทบตาแล้วปรากฏให้เห็นสั้นมาก แต่ว่าโลกของความคิดจะสืบต่อแล้วก็คิดสิ่งที่ปรากฏติดต่อกันเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นเรื่องเป็นราวซึ่งเหมือนกับเที่ยงถาวร คิดถึงคนโน้น คิดถึงสิ่งนี้ เหมือนกับว่าไม่เกิดดับเลย แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว โลกของความคิดจะเกิดบ่อยมาก แล้วก็เวลาที่คิดควรจะได้ทราบด้วยว่า ขณะที่คิดไม่ใช่ขณะที่เห็น ไม่ใช่ขณะที่ได้ยิน ไม่ใช่ขณะที่ได้กลิ่น เพราะว่าอาศัยแต่ละทาง เวลาที่คิดเกิดขึ้น ขณะนั้นก็ต้องเป็นจิตที่ต่างกับขณะที่ไม่คิด ขณะที่ไม่คิด ไม่เห็น ไม่ได้ยิน เป็นภวังคจิต ดำรงภพชาติ ชั่วขณะหนึ่ง เพื่อต่อไปจะได้มีวิถีจิตเกิดขึ้น ก็เป็นขณะนี้เอง ขณะที่เห็น วิถีจิตที่เป็นการรู้อารมณ์ทางตาดับ ต้องมีภวังคจิตเกิดคั่น แล้วต่อจากนั้นก็เป็นวิถีจิตที่ได้ยิน เมื่อดับหมดไปแล้วก็เป็นภวังคจิตเกิดคั่น แล้วความละเอียดคือว่า มีสภาพที่คิดนึกแทรกคั่นอยู่ทุกวาระที่เห็น ทุกวาระที่ได้ยิน แต่ว่าเราไม่เคยรู้เลย แล้วเราก็คิดว่าเป็นเรื่องชื่อ เป็นเรื่องยาก แต่ความจริงคือชีวิตจริงทุกขณะ แต่ต้องใช้ชื่อแสดงให้เห็นความต่างกันของจิตแต่ละชนิด

    ผู้ฟัง ชวนะในวิถีทางปัญจทวาร จะเรียกว่าเป็นชวนะ ที่จิตนั้นคิดด้วยหรือเปล่า เพราะว่ามีความรู้สึกว่า จิตในชวนะ ของปัญจทวารวิถี เขารับรู้อารมณ์หนึ่ง เช่น จิตเห็นก็รับรู้สีจากจิตดวงก่อนๆ มา ไม่ทราบว่าตรงนั้นเป็นจิตคิดด้วยหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ที่กำลังเห็น ยังไม่ทันรู้เลยว่า ทางปัญจทวารดับไปเมื่อไร เพราะว่าขณะที่เห็นเหมือนกับว่าเห็นคน เห็นสิ่งต่างๆ ทันที เป็นเรื่องที่รวดเร็วมาก เราจะใช้คำอะไรก็ได้ แต่ให้ทราบว่า จิตทั้งหมดที่อาศัยจักขุปสาทเกิดขึ้น ถ้าโดยความละเอียดในพระอภิธรรม ไม่ได้แสดงแต่เฉพาะจักขุวิญญาณจิตซึ่งเห็น แต่ว่าแสดงถึงจิตที่ ต้องเกิดก่อน จิตเห็น และจิตอื่นๆ ซึ่งเกิดหลังจากที่เห็นแล้ว แต่ว่าอารมณ์ที่ปรากฏยังไม่ดับ แสดงให้เห็นว่าสั้นแค่ไหน แล้วหลังจากนั้นถึงจะเป็นภวังคจิต แล้วมโนทวาราวัชชนจิตวาระแรก ก็รู้ปรมัตถธรรม ซึ่งเป็นอารมณ์ทางจักขุทวารที่เพิ่งดับไป

    เวลานี้ก็แสนเร็วแยกไม่ออก แต่ว่าถ้าโดยนัยของพระสูตร จะแสดงเท่าที่คนสามารถจะเข้าใจได้ คือเมื่อเห็นแล้วเกิดรักหรือชัง แล้วแต่ว่าจะเป็นวาระไหน แต่ว่าตามความเป็นจริง เพียงชั่วขณะที่ทางตาเห็น สิ่งที่ยังไม่ดับไป ขณะนั้นก็มีทั้งกุศลจิต และอกุศลจิต แล้วแต่ว่าเป็นจิตของใคร ถ้าเป็นจิตของพระอรหันต์ก็เป็นกิริยาจิต

    ผู้ฟัง ที่เรียนถามคำถามนี้ เพราะว่าเนื่องจากมโนทวาราวัชชนจิตมีกิจอยู่ ๒ อย่าง คือมี โวฏฐัพพนกิจ กับ มโนทวาราวัชชนกิจ แล้วเมื่อสักครู่อาจารย์ก็ได้ตอบคำถามกับน้องที่ว่าทำไม จึงมีวิริยเจตสิกเกิดอยู่ในมโนทวาราวัชชนจิตด้วย ก็เลยคิดไปถึงโวฏฐัพพนกิจของจิตดวงนี้ว่า ถ้าเขาเกิดในปัญจทวารวิถีจิตแล้ว ถ้าจิตในชวนะของทางปัญจทวารไม่ได้คิด โวฏฐัพพนกิจก็ไม่น่าจะมีวิริยเจตสิกด้วย ก็คิดลึกไปหน่อย แต่ว่าอยากทราบเหตุผล

    ท่านอาจารย์ มโนทวาราวัชชนจิตเกิดก่อนกุศลจิต และอกุศลจิต และกิริยาจิต ทำกิจชวนะ

    ผู้ฟัง ก็เลยมีปัญหาต่อนิดหนึ่ง คือ ถ้าเป็นทางปัญจทวารแล้ว โลภะที่เกิดตรงชวนะก็จะต้องมีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ด้วย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ตลอดหมด ระหว่างที่โลกยังไม่ดับ ที่ว่าจักขุทวารวิถีจิตไม่ใช่ขณะเดียว

    ผู้ฟัง โลภะมีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ เช่น เห็นคือมีรูป ถ้าจบจากปัญจทวารแล้ว มโนทวารที่เกิดต่อก็ยังมีปรมัตถ์เป็นอารมณ์อีก

    ท่านอาจารย์ วาระแรก

    ผู้ฟัง แม้เป็นโลภะที่เกิดที่ชวนะตรงนี้ แต่หลังจากนั้นก็เป็นบัญญัติหมดเลย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่

    ผู้ฟัง แปลกใจที่ว่า โลภะมีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ด้วย

    ท่านอาจารย์ ทำไมล่ะ

    ผู้ฟัง ก็เขาไม่น่าจะรู้ปรมัตถ์

    ท่านอาจารย์ ไม่ คุณบงชอบอะไร

    ผู้ฟัง ชอบสี

    ท่านอาจารย์ สีเป็นอะไร สีเป็นปรมัตถ์หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ใช่ มาเรียนวิถีจิต

    ท่านอาจารย์ คุณบงชอบกลิ่นอะไร กลิ่นก็เป็นปรมัตถธรรม ไม่ใช่หมายความว่า จิตรู้กลิ่นแล้วก็ไม่มีความชอบไม่ชอบ ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์เวลาที่ได้กลิ่น ลิ้มรสแล้วก็ต้องมีโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ หรือกุศลจิตเกิด แต่ยากที่กุศลจิตจะเกิด

    ผู้ฟัง คำว่า บารมี โดยอรรถจะหมายความว่าอย่างไร จะต่างกันอย่างไรกับการเจริญบารมีของปุถุชนกับการเจริญบารมีของพระโพธิสัตว์

    สมพร บารมี หมายความว่า ธรรมที่ให้ถึงฝั่ง ฝั่งอันนี้หมายความถึงพระนิพพาน บารมี มี ๑๐ อย่าง

    ท่านอาจารย์ ถ้าพูดง่ายๆ คือความดี ความดีทุกอย่างที่จะทำให้ดับกิเลสได้ หมายความว่าผู้นั้นต้องมีความเข้าใจว่า ถ้ายังมีกิเลสมากๆ อย่างไรๆ ก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ แต่การที่จะมีปัญญารู้แจ้งสภาพธรรมจนกระทั่งสามารถดับกิเลสได้ ต้องเป็นผู้ที่มีคุณความดีเหมือนกับคนที่มีร่างกายแข็งแรง ก็สามารถจะเดินทางไกลได้ เพราะว่าหนทางนี้ไกลมาก จากฝั่งโน้นไปสู่อีกฝั่งหนึ่ง ถ้าเป็นผู้ที่ไม่แข็งแรง อย่างไรๆ ก็ไปไม่ไหว ต้องอาศัยความดี ถ้าแปลง่ายๆ ก็ความดีที่จะทำให้ถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรม

    สำหรับความดีก็มีหลายขั้น ถ้าระดับของสาวก ก็ไม่ต้องถึงกับขั้นที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่จะตรัสรู้สภาพธรรมด้วยพระองค์เองว่า ในขณะนี้สภาพธรรม กำลังเกิดดับ แต่ว่าผู้ที่เป็นสาวกอาศัยบารมีขั้นที่ฟังแล้วอบรม จนกระทั่งถึงกาลที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมได้ ก็สามารถที่จะรู้ได้โดยไม่ต้องถึงระดับขั้นของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ผู้ฟัง ทีนี้พูดถึงบารมีทั้ง ๑๐ นี้จะต้องมีปัญญากำกับอยู่ทั้ง ๑๐ อย่าง เมื่อเป็นทั้ง ๑๐ มีปัญญา เหตุใดท่านจึงแยกปัญญาออกมาอีกต่างหากเป็น ๑ ใน ๑๐ ทำไมท่านไม่ผนวกเข้าไปใน ๑๐ อย่าง

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 97
    23 มี.ค. 2567