ปกิณณกธรรม ตอนที่ 279


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๗๙

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

    พ.ศ. ๒๕๓๙


    ท่านอาจารย์ ค่อยๆ ไตรตรองว่าขณะนี้ จิตสามารถ เห็น รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ นี่คือลักษณะของจิต คือกำลังเห็นเป็นสภาพ หรือธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ เวลาที่ได้ยิน เสียงมี เพราะฉะนั้น จิตก็เป็นสภาพที่สามารถที่จะรู้เสียงที่กำลังปรากฏ

    นี่คือลักษณะของจิต ซึ่งเป็นสภาพรู้ ซึ่งการฟังเข้าใจว่าเป็นอย่างนี้ แต่เวลาที่สติเกิด ก็จะต้องมีการรู้ลักษณะซึ่งเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้อย่างนี้จริงๆ คือ ค่อยๆ รู้ไปทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าลักษณะของธาตุรู้จะปรากฏว่าเป็นใหญ่เป็นประธานจริงๆ ในการรู้อารมณ์ที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องปกติธรรมดา ตื่นเต้นไม่มี เพราะถ้าเรื่องตื่นเต้นโดยไม่รู้นั่นคือผิด เพราะไม่รู้จึงได้ตื่นเต้น แต่ว่าสภาพธรรมขณะนี้ เห็นเป็นปกติ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นปกติ เห็นแล้วเกิดดีใจเป็นปกติ เห็นแล้วเกิดเสียใจเป็นปกติ ก็สามารถจะรู้จักลักษณะของนามธรรม เพิ่มขึ้นว่า นามธรรมไม่ใช่มีแต่เห็น แต่เห็นแล้วดีใจ ถ้าสติเกิด ก็รู้ว่า ลักษณะสภาพที่ดีใจก็เป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่ง

    วันหนึ่งๆ นามธรรมจะมากมายสักเท่าไร ผ่านไปแล้วก็จริง ผ่านไปอีกเรื่อยๆ ถ้าสติไม่เกิด ไม่มีทางที่จะรู้เลยว่า นั่นเป็นธรรมประเภทต่างๆ

    การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ถ้าเข้าใจว่าเป็นเรื่องของการอบรมปัญญา ก็ไม่ห่วง เรื่องที่ว่า สติจะเกิดมากหรือจะเกิดน้อย จะลดละโลภะ คือ ความต้องการให้สติเกิดมากๆ หรือความต้องการให้จะให้ปัญญาเกิดเร็วๆ เพราะรู้ว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนพิสูจน์ได้ด้วยตัวเอง เป็นปัจจัตตัง รู้ได้เฉพาะตัวว่า ขณะนี้มีความเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏแค่ไหน ไม่ต้องถามใครเลย สภาพธรรมกำลังปรากฏ ทางตา มีความเข้าใจมีความรู้ในลักษณะของสภาพธรรมแค่ไหน ขณะนั้นถ้ามีความเข้าใจรู้ ขณะนั้นมีสติเกิดร่วมด้วยแน่นอน เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องไปปฏิบัติ หรือว่าจะทำ หรือจะปฏิบัติ แต่เป็นเรื่องการอบรม

    จุดมุ่งหมายทั้งหมดต้องอยู่ที่ปัญญาที่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามที่ได้ศึกษาตรงกัน

    สำหรับเรื่องลมหายใจ ขณะนี้ลมหายใจของใครปรากฏ เป็นธรรมดา อย่าลืมว่าเป็นธรรมดา ขณะนี้ลมหายใจของใครไม่ปรากฏ ก็เป็นธรรมดาอีก ทุกอย่างเป็นธรรมดา

    ถ้าลมหายใจปรากฏ แล้วตื่นเต้น ไม่ธรรมดาแล้ว คือไม่รู้ความจริงว่า แท้ที่จริงแล้วจิตเป็นสภาพรู้ เป็นใหญ่ เป็นประธาน ขณะที่มีลมปรากฏนั้นมีจิตที่กำลังรู้ลมนั้น

    ถ้าไม่เป็นปัญญาจริงๆ จะแยกไม่ออกเลยว่า ขณะนั้นมีนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ แล้วขณะนั้นโลกอื่นไม่มีเลย ขณะนั้นจะมีแต่ธาตุลม แล้วก็มีสภาพที่กำลังรู้ธาตุลมเท่านั้น นี่จึงจะเป็นการรู้สภาพธรรมว่า เป็นธรรม หรือจะใช้คำว่า เห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม เพราะว่าเป็นธรรม แต่เห็น ธรรมในธรรมหรือยังว่าเป็นธรรม จิตก็มีขณะนี้กำลังเห็น แล้วเห็นจิตในจิต คือเห็นความเป็นจิต เป็นสภาพรู้ในจิตที่กำลังเห็นนี้หรือยัง เพราะว่าจิตขณะนี้กำลังเห็น แต่ปัญญาจะต้องเห็นถูกต้องว่า เห็นจิตคือความเป็นสภาพรู้ในจิตที่กำลังเห็นว่า ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ เป็นแต่เพียงธาตุชนิดหนึ่ง

    ทุกอย่างที่เป็นเรื่องผิดปกติ หรือว่ากำลังจะผิดปกติ เพราะความตื่นเต้น เพราะความต้องการ ขณะนั้นให้ทราบว่า หวั่นไหวแล้ว เพราะฉะนั้น ปัญญาจึงจะต้องมั่นคง แล้วก็ที่จะมั่นคงได้ เพราะสติระลึก แล้วรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นจนกว่าจะเป็นความมั่นคง มิฉะนั้นแล้วก็หวั่นไหวไป ตอนต้นๆ หรือว่าการอบรมก็จะต้องเป็นไปในลักษณะนี้ก่อน จนกว่าปัญญาจะเห็นความเป็นธรรมดาของสิ่งที่กำลังปรากฏ นั่นชื่อว่าไม่หวั่นไหว แต่ต้องอบรม กว่าจะถึงระดับนั้น

    จุดประสงค์ของการฟังพระธรรม ศึกษาธรรม เพื่อที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ เพราะว่าทุกคนก็ได้ศึกษากันมาแล้วส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นพระอภิธัมมัตถสังคหะ หรือว่าบางท่านก็ได้อ่านพระไตรปิฎกแล้ว แต่ก็ต้องทราบว่าจุดประสงค์ของการศึกษาธรรมนั้นคือ รู้ว่าธรรมอยู่ที่ไหน ไม่ใช่ว่าธรรมอยู่ในหนังสือ ขณะนี้เป็นธรรม แต่ตำรับตำราแม้พระไตรปิฎกก็เป็นพระธรรมที่ทำให้เราสามารถจะเข้าใจตัวธรรมจริงๆ ซึ่งมีจริงๆ ในขณะนี้

    ไม่ว่าเราจะเรียนโดยการศึกษาพระอภิธัมมัตถสังคหะ หรือว่าจากการฟังรายการธรรมทางวิทยุ หรือว่าศึกษาด้วยตัวเองจากหนังสือต่างๆ ก็ต้องให้ทราบว่า เพื่อเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะฉะนั้น คงไม่ลืมว่า ไม่ว่าจะเรียนเรื่องอะไรก็ตาม คือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งควรที่จะต้องเข้าใจขึ้น อย่าคิดว่าเป็นแต่เพียงตัวหนังสือ หรือว่าตัวเลข แต่ว่าเป็นลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ทั้งหมด วันนี้เป็นการสนทนาธรรม ก็ขอเชิญผู้ที่มีคำถามที่จะสนทนา

    ผู้ฟัง ถ้าเผื่อว่า มารดาบิดายังมีชีวิตอยู่ นั่นก็คือ สิ่งที่เราจะต้องปฎิบัติต่อท่าน พวกที่ตายไปหมดจะทำอย่างไร ดิฉันยืนอยู่ตรงนี้ ตายหมดแล้ว ดิฉันควรจะปฏิบัติอย่างไร ถึงจะปฏิบัติกับท่านผู้ที่ล่วงลับไปแล้วได้

    สมพร การปฏิบัติพระคุณของแม่ เมื่อท่านมีชีวิตอยู่ก็อย่างหนึ่ง เมื่อท่านล่วงลับไปแล้วก็อีกอย่างหนึ่ง การที่ท่านยังมีชีวิตอยู่เราก็บำรุงเลี้ยง บำรุงเลี้ยงทั้งกาย และใจ ทางใจก็เลี้ยงด้วยธรรม ทางกายก็ตามธรรมเนียมของโลก ท่านยังมีชีวิตอยู่ แต่ว่าเมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว เราก็ทำบุญอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นบุญ ที่เรานึกว่าเป็นของประเสริฐ แล้วก็อุทิศส่วนกุศลนั้นให้ท่าน ไม่มีวิธีอื่นที่เราจะกระทำได้ นอกจากบุญ แล้วอีกอย่างหนึ่งเพราะว่าการที่เรากระทำบุญแล้วอุทิศส่วนบุญให้ท่านนั้น ประโยชน์นั้นได้แก่เราด้วย และได้แก่ท่าน ถ้าหากว่าท่านสามารถที่จะรับรู้อนุโมทนา อย่างอื่นนอกจากบุญแล้วไม่มี ถ้าหากว่าท่านล่วงลับไปแล้ว ไม่มี นอกจากบุญแล้วไม่มี

    ผู้ฟัง ผมขอเพิ่มเติมอาจารย์สมพรนิดหนึ่ง คือสำหรับที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ในพระไตรปิฎกมีตัวอย่างที่ดี คือ ท่านพระสารีบุตร ท่านปฏิบัติมารดาท่านโดยการให้ธรรมแก่มารดาท่าน เป็นเรื่องที่สูงส่งที่สุด จนกระทั่งพระมารดาของท่านก็ได้เป็นพระโสดาบัน นี่มีตัวอย่างในพระไตรปิฎก ส่วนที่ท่านล่วงลับไปแล้ว ก็ทำบุญ ก็อุทิศส่วนกุศลไปให้ท่าน จะเป็นทาน ศีล ภาวนา เมื่อเราไปฟังธรรม เราก็ได้บำเพ็ญกุศลใดๆ เราก็อุทิศส่วนกุศลให้แก่ท่านไป สำหรับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

    ผู้ฟัง ปัญหามีอยู่ว่า หลังจากที่จุติ คือเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนั้น เขาก็จะต้องไปปฏิสนธิทันที จะแผ่กุศล จะแผ่เมตตา จะอุทิศส่วนกุศล ๓ ตัวนี้ มันต่างกันอย่างไร แล้วจะถึงท่านได้อย่างไร ในเมื่อท่านไปปฏิสนธิแล้ว แล้วเราก็ไม่รู้ว่าท่านไปปฏิสนธิอะไร

    ท่านอาจารย์ นั่นก็เป็นเรื่องไกล แต่ทุกคนคงจะไม่ลืมว่า ผู้ที่หวังดีต่อบุตรที่สุดคือ มารดาบิดา เพราะฉะนั้น ถ้าบุตรเป็นคนดีเป็นการตอบแทน มารดาบิดาแล้ว เพราะเหตุว่าท่านต้องหวังให้บุตร เป็นผู้ที่เป็นคนดี

    การเป็นคนดี ไม่ใช่เป็นง่าย เพราะเหตุว่าถ้าจะดีพร้อมตั้งแต่ละชั่ว แล้วก็ทำความดี ชำระจิตให้บริสุทธิ์ เพราะฉะนั้น ดีเท่าไรก็ไม่พอ ใครก็ตามที่ทำดี แล้วดีขึ้น คือการบูชา คุณของมารดาบิดา เพราะเหตุว่าท่านหวังที่จะให้เราเป็นอย่างนั้น สำหรับเรื่องที่คุณสุรีย์บอกว่า มีการอุทิศส่วนกุศลเวลาที่ท่านสิ้นชีวิตแล้ว เราก็อุทิศได้ทุกครั้งที่เราทำความดี เพื่อว่าท่านจะได้อนุโมทนา ถ้าท่านยังมีชีวิตอยู่ แล้วลูกดี แม่ก็คงจะมีความสุขปลาบปลื้มดีใจฉันใด เวลาที่ท่านสิ้นชีวิตไปแล้ว แล้วท่านก็ทราบว่า ลูกก็ยังทำสิ่งที่ดีแล้วก็ยังอุทิศส่วนกุศลให้ด้วย ท่านก็จะอนุโมทนามาก

    ผู้ฟัง มักจะเข้าใจผิด และสับสน ระหว่างอุทิศส่วนกุศล บางคนก็บอกแผ่กุศล บางคนก็บอกแผ่เมตตา อยากจะให้อาจารย์ให้ความคิดที่ถูกต้องว่า ในกาลไหนจะใช้คำใด และต่างกันอย่างไร เช่น อุทิศส่วนกุศล กับแผ่กุศล เหมือนกันไหม อุทิศส่วนกุศล แผ่กุศลกับแผ่เมตตา เหมือนกันไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าทราบแล้วคงจะใช้คำอุทิศส่วนกุศล ไม่ได้ใช้คำว่าแผ่กุศล เพราะว่า อุทิศ หมายความว่าเจาะจง เพราะฉะนั้น การที่เราทำกุศล แล้วก็เราเจาะจงอุทิศกุศลนี้ ให้ท่านล่วงรู้ และอนุโมทนา นั่นก็เป็นการอุทิศส่วนกุศล

    เมื่อทำความดีแล้ว เราก็อุทิศกุศลนั้นแล้วแต่ว่าเราจะเจาะจงบุคคลใด ซึ่งความจริงแล้วเราก็เจาะจงได้กว้าง ไม่ใช่แต่เฉพาะมารดาบิดาหรือผู้ที่มีพระคุณเท่านั้น แต่ว่าเราสามารถที่จะอุทิศกับทุกท่านที่สามารถที่จะรู้ และอนุโมทนาได้ นี่ก็เป็นคำที่ถูกต้อง คือ ใช้คำว่าอุทิศส่วนกุศล จะใช้คำว่าแผ่ได้ไหม

    สมพร คำว่าแผ่ โดยมากเขาใช้ถึงเมตตา ถ้าคนที่ตายไปแล้วก็อุทิศกุศล ส่งไปให้ ไม่ใช่แผ่ ปกติเราต้องอุทิศ อุทิศส่วนกุศล คือ เจาะจงบุคคลนั้น บุคคลนี้ บุคคลที่เป็น แม่ผู้ที่มีบุญคุณอย่างมากเลย ก่อนอื่นผมขอโทษนิดหนึ่งก่อน ครั้งแรกที่บอกว่า อาหุเนยยะ อาหุ แปลว่า บูชา เนยยะ แปลว่าควรบูชา ที่ผมสับสนไปหน่อย ต้องขอแก้ใหม่ อาหุเนยยะ อาหุ แปลว่า บูชา เนยยะ แปลว่าควร คนที่ควรบูชา ที่อาจารย์บอกเมื่อครู่นี้ ท่านอาจารย์ก็เข้าใจดีแล้วว่า คนที่ตายไปแล้วต้องอุทิศอย่างเดียว ส่วนแผ่ แผ่เมตตาสำหรับมนุษย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือสัตว์ทั้งหลายที่ยังมีชีวิตอยู่ คนที่ตายไปแล้ว เขาไม่นิยมแผ่เมตตา สำหรับคนที่ตายไปแล้ว ไม่มีเลย มีแต่ว่าผู้นั้นต้องมีชีวิตอยู่แล้วก็แผ่ไป แผ่เมตตา คือ หมายความว่าแผ่ความไม่โกรธของเรา จิตตั้งมั่นแล้วเราก็ไม่โกรธในสัตว์ทั้งหลายเหล่าอื่นเหมือนกัน เหมือนอย่างเราไม่โกรธตัวเราเอง

    ท่านอาจารย์ คุณสุรีย์เข้าใจอุทิศแล้ว ใช่ไหม ใช้เฉพาะเรื่องขณะที่เราทำกุศลแล้ว แล้วเราก็อุทิศกุศลนั้นให้กับบุคคลใดก็ตาม

    ผู้ฟัง หมายความว่าคำที่ถูกต้อง คือ อุทิศกุศล หรืออุทิศส่วนกุศล ทีนี้เวลานี้สับสนกันมาก นี้ฉันก็แผ่เมตตา ไปทำบุญมา แผ่เมตตา หรือไปทำบุญมาแล้ว เอาบุญมาฝากนี้ ฝากกันได้ไหม

    สมพร เมื่อเราทำบุญไปแล้ว อย่างพ่อแม่เรายังมีชีวิตอยู่ เราก็บอกว่า กระทำบุญมาแล้ว ขอแบ่งส่วนกุศลนี้ให้พ่อแม่หรือให้ใครก็แล้วแต่ ถ้าเขาอนุโมทนา เขาก็ได้รับส่วนบุญนั้น แต่ถ้าไม่อนุโมทนา ถึงเราจะบอกให้สักร้อยครั้ง กุศลก็ไม่เกิดกับเขาเลย เราต้องการให้กุศลเกิดกับเขา เราจึงบอกว่า ขอแบ่งส่วนกุศลที่กระทำแล้วให้แก่พ่อหรือแม่ อะไรก็แล้วแต่ อันนี้ก็เป็นการจัดอยู่ในพรหมวิหารส่วนหนึ่งเหมือนกัน ถ้าหากว่าท่านอนุโมทนา คือยินดีในกุศลที่เรากระทำแล้ว เหมือนยินดีในลาภในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือคนอื่นได้ เราก็ยินดีด้วย แต่เมื่อเราทำกุศลแล้ว เราได้สิ่งที่ประเสริฐแล้ว เราบอกพ่อแม่แล้วพ่อแม่ก็ยินดีด้วย ก็จัดอยู่ในประเภท กุศลของพรหมวิหารส่วนหนึ่ง

    ผู้ฟัง ผู้ที่จะรับ อนุโมทนาได้ จะต้องเป็นสัตว์โลกประเภทไหน อย่างเรา รับอนุโมทนาได้ไหม หรือคนที่ตายไปแล้วประเภทใดที่จะรับอนุโมทนาได้

    ท่านอาจารย์ เรื่องธรรม ต้องเป็นเรื่องค่อยๆ เข้าใจ อย่าเพิ่งคิดว่าจะข้ามตอนนั้นตอนนี้ เพราะฉะนั้นเพื่อที่จะให้เข้าใจเรื่องของการอุทิศส่วนกุศลซึ่งเข้าใจไปแล้ว วันนี้ก็จะถึงเรื่องของเมตตา แต่เมื่อกี้นี้ยังค้างอยู่นิดหนึ่ง ถึงที่ว่า ฝาก เอาบุญมาฝาก ตั้งแต่เช้ามีใครเอาบุญมาฝากใครบ้างหรือยัง เชื่อว่าทุกคนฟังธรรมแล้วตอนเช้าแน่นอน บางคนก็อาจจะฟังตั้งแต่ตี ๕ ตี ๕ ครึ่ง ๖ โมงเช้า แล้วเจอหน้ากัน เอาบุญมาฝากกันหรือเปล่า ก็ฟังดูเป็นเรื่องที่แปลก เพราะเหตุว่า ถ้าเราจะคิดถึงการที่เราจะอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่สิ้นชีวิตแล้ว ก็เข้าใจได้ เผื่อว่าท่านจะล่วงรู้ และอนุโมทนา แต่สำหรับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ เราจะทำอย่างนี้ไหมว่า เอาบุญมาฝาก เพราะว่าไม่ได้ทำกัน ควรจะทำหรือเปล่า หรือว่าเพราะรู้อัธยาศัยว่า ทุกคนอนุโมทนา เวลาที่ใครก็ตามทำดี อย่างเราตื่นเช้าขึ้นมา เราก็ฟังวิทยุ คนในบ้านเขาก็ได้ยินเสียง แล้วเขาก็รู้ว่า เรากำลังทำสิ่งที่ดี คือกำลังฟังธรรม ใจของเขาเป็นกุศลหรือเปล่า เป็นเรื่องที่เราไม่จำเป็นที่ต้องบอกว่า พอตื่นขึ้นมาก็เอาบุญมาฝาก เมื่อกี้นี้ฉันฟังวิทยุแล้ว หรือว่าฉันไปทำอะไรมา ก็เอาบุญมาฝาก บางคนก็รู้สึกว่าต้องการกุศลมาก ถ้ารู้ว่าอะไรเป็นกุศลอยากจะทำ แต่ว่าลืมคิดถึงเหตุผลว่าควรหรือไม่ควร เพราะเหตุว่าไม่ยากที่จะบอกใครว่า เอาบุญมาฝาก หรือว่าไปทำอะไรมแล้วที่เป็นสิ่งที่ดี แต่ว่าคนนั้นที่ฟังจะเกิดกุศลจิต หรือไม่เกิด เราไม่สามารถจะรู้สภาพจิตของเขาได้ แต่ว่าถ้าเขาเป็นคนที่อนุโมทนาเสมอ เวลาที่ใครทำกุศล แม้เราไม่บอก เขารู้ เขาก็อนุโมทนา

    สำหรับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ต้องรู้อัธยาศัยด้วย อย่าคิดว่าเราต้องการกุศล เพราะฉะนั้น เราก็จะบอกเขา เพราะเป็นกุศลของเรา แต่เขาจะอนุโมทนาหรือไม่อนุโมทนา นั่นก็เป็นเรื่องของเขา แต่ตามความจริงแล้ว คิดถึงชีวิตจริงๆ ว่า เราทำความดี ถ้าใครรู้เขาก็อนุโมทนา แต่ถ้าเขาไม่รู้ เราก็อาจจะให้เขารู้ แต่ว่าไม่ใช่ในเชิงที่หวังที่จะให้เป็นกุศลของเรา จึงได้บอกเขา แต่ว่ามีทางอะไรที่จะช่วยให้จิตใจของเขาเกิดกุศล แล้วเรารู้อัธยาศัยของเขา เราก็บอกได้ แต่ว่าไม่ใช่เพราะว่า เราต้องการให้เป็นกุศลอีกอย่างหนึ่งของเรา เพราะว่าพระธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด ที่ว่าต้องทราบจุดประสงค์จริงๆ ว่าเพื่อรู้ถูกต้องแล้วละ ไม่ใช่เพื่อรู้แล้วจะได้มีมากๆ หรือว่าจะได้เพิ่มกุศลมากๆ แต่รู้เพื่อที่จะละ เพื่อที่จะขัดเกลา เพราะว่าขณะใดที่เป็นความต้องการ หรือความติดข้อง ขณะนั้นเป็นอกุศล แล้วความติดข้องเป็นเรื่องที่เห็นยาก รู้ยาก ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราจะรู้ได้โดยง่ายเลย อย่างตื่นขึ้นมา ความติดข้องเวลาที่เห็น เวลาที่ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรสในชีวิตประจำวัน มีมากแค่ไหน ยังไม่ทราบ แล้วก็ยังไปติดข้องต้องการกุศลก็เป็นได้ เพราะเหตุว่าลักษณะของโลภะ ติดข้องในทุกสิ่งทุกอย่าง นอกจากโลกุตตรธรรม เรื่องของอุทิศส่วนกุศลคงเข้าใจแล้ว

    ผู้ฟัง อย่างสมมติว่าการเจริญเมตตา สมมติว่าเมตตาคือ มิต ตะ คือความเป็นเพื่อน เพราะฉะนั้นการที่เราก็ฝึกที่จะเป็นเพื่อนกับคน คือแทนที่จะไปโกรธเขาหรืออะไร จะมีโทสะ ก็หมั่นเจริญ คือหมั่นช่วยเหลือเขา จนเป็นอุปนิสยปัจจัย อย่างนั้นจะเป็นการอบรมเจริญเมตตาไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าคุณสุรีย์มีเมตตาเพิ่มขึ้น คุณสุรีย์ก็ทราบ

    ผู้ฟัง แต่แรกเราไม่คิดจะช่วย แต่พอเรามาเรียนธรรม เมตตานี้เป็นธรรมที่ดี เราก็เป็นมิตรกับคน เราก็ช่วยเหลือคน การที่เราช่วยๆ ๆ คือการสะสมเมตตา ก็คืออบรมการเจริญเมตตา ใช่หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ คุณสุรีย์จะสะสมเมตตา หรือคุณสุรีย์จะมีเมตตาเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง มีเมตตาเพิ่มขึ้น

    สมพร คือเรื่องเมตตามี ๒ อย่าง ถ้าหากว่าคนที่มีความสามารถ เรียกว่าเจริญเมตตา สามารถทำให้ได้ฌาน นั่นเฉพาะพวกที่มีความสามารถ ติเหตุกบุคคล แต่พวกเรา บางคนก็เป็นทวิเหตุกะ สามารถมีความหวังดี แต่ไม่สามารถจะแผ่ได้อย่างพวกติเหตุก ทำเมตตาถึง ฌาน พวกเรานี้ไม่รู้ว่าเรา ปฏิสนธิด้วย ทวิ หรือ ติ สมมติว่าถ้าเป็น ทวิเหตุกบุคคล บุคคลผู้เกิดมาด้วยเหตุ ๒ เราก็มีความหวังดี มีความเมตตาปกติ เรียกว่า กามาวจร กามาวจร เมตตาของเราไม่มีกำลังเหมือนพวกที่ได้ฌาน กำลังอ่อนกว่า

    . มีคำถามอยู่ ๒ คำถาม คำถามแรกคือว่า คำว่า แผ่ กับอุทิศ อุทิศแปลว่า เจาะจง ที่อาจารย์ได้กรุณากล่าวตั้งแต่แรก แต่คำว่าแผ่นี้แผ่อย่างไร หมายความถึงว่าเผื่อแผ่ เผื่อแผ่กับเพื่อนฝูง เรามีอะไรก็เผื่อแผ่กับเพื่อนฝูง

    สมพร อุทิศกับแผ่ ต่างกัน แผ่ แปลว่า ขยายไป อุทิศ แปลว่า เจาะจง กุศลนี้จงถึงแก่ญาติ จงถึงแก่เทวดา จงถึงแก่คนนั้นคนนี้ เจาะจง อุทิศ ถ้าแผ่ขยายเมตตาที่เรามีอยู่ คือความไม่โกรธ จิตใจเราเบิกบานแช่มชื่น แล้วก็อยากขยายความสุขอันนี้ให้สัตว์อื่นบ้าง ขอสัตว์อื่นจงมีความสุขบ้าง อะไรเหล่านี้ ขยายออกไป

    ผู้ฟัง อาการขยายเป็นลักษณะคล้ายๆ กับว่าเรา ก็เหมือนกับเราบอกให้เขาทราบ หรือว่ามันออกไปเป็นสาย เป็นพลังงาน หรืออะไรอย่างนี้ หรือว่าไม่ทางที่จะเข้าใจได้จนกว่า จะต้องถึงขั้นฌานจิต

    สมพร ถ้าเรามีกำลังจิตอ่อน ก็ไม่สามารถที่จะขยาย จะแผ่ไปได้ ต้องทำจิตให้มีสมาธิ มีกำลังพวกได้ฌาน เพราะว่า พรหมวิหาร เกี่ยวกับฌานโดยมาก เป็น ภาวะ ส่วนน้อยสำหรับคนที่รู้ สามารถจะเจริญสติปัฏฐาน ได้เหมือนกัน แต่ว่าเราไม่ได้เอาบัญญัติเป็นอารมณ์ เมตตา พรหมวิหาร พรหมวิหารทั้ง ๔ ปกติเป็นบัญญัติอารมณ์ แต่พวกเรานี้เข้าใจเรื่องบัญญัติอารมณ์ดี คราวนี้เรื่องพรหมวิหาร ๔ ก็สามารถเป็นปรมัตถอารมณ์ได้เหมือนกัน ถ้าเราจะพูดเฉพาะบัญญัติอารมณ์อย่างเดียว กุศลก็ต่างกับปรมัตถอารมณ์ ขอให้เข้าใจว่าแผ่กับอุทิศ ต่างกันอย่างที่กล่าวแล้ว

    ผู้ฟัง ผมขออนุญาตยกตัวอย่างในเรื่องแผ่ แผ่นี้ ถ้าสมมติผมมีเพื่อนนั่งอยู่ใกล้ๆ ผมก็นึกถึงว่าให้เขามีความสุข ความสบายใจอย่างนี้ ก็คงเป็นลักษณะคล้ายๆ กับอุทิศใช่ไหม ไม่ใช่แผ่ เพราะว่าเพื่อนของผม ผมเจาะจงเพื่อนผม สมมติ ๔ คน อยู่แต่ละทิศ แต่ละทิศ ๔ ทิศนั่งอยู่ใกล้ๆ เลย

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 97
    23 มี.ค. 2567