ปกิณณกธรรม ตอนที่ 241


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๔๑

    สนทนาธรรม ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา

    พ.ศ. ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ นิพพานไม่ใช่ขันธ์แน่นอน เพราะว่าไม่เกิดดับ เพราะฉะนั้น เมื่อจิต เจตสิก รูป ๓ อย่าง แล้วก็มีขันธ์ ๕ รูปขันธ์ ได้แก่ รูป วิญญาณขันธ์ ได้แก่ จิต เพราะฉะนั้น อีก ๓ ขันธ์ได้แก่ปรมัตถธรรมอะไร

    ผู้ฟัง เจตสิก

    ท่านอาจารย์ ได้แก่ เจตสิกทั้ง ๓ ขันธ์ เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ชนิด เวทนาเจตสิก๑ เป็น เวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิก๑ เป็นสัญญาขันธ์ ที่เหลือ ๕๐ เป็นสังขารขันธ์ ถ้าบอกว่าสังขารขันธ์แล้วจะเป็นเราได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ ปัญญาเจตสิกเป็นขันธ์อะไร ปรมัตถธรรม ๓ เป็นขันธ์ ๕ เพราะว่านิพพานไม่ใช่ขันธ์ ไม่เกิดไม่ดับ ในปรมัตถธรรม ๓ รูปเป็นรูปขันธ์ หมดไปเลย รูปจะเป็นนามขันธ์ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ที่เหลืออีก ๔ ขันธ์ เป็นนามขันธ์ทั้ง ๔

    ผู้ฟัง เป็นสังขารขันธ์

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ที่เหลือจากเวทนา ที่เหลือจากสัญญา สติเป็นขันธ์อะไร สติไม่ใช่เวทนาเจตสิก ไม่ใช่สัญญาเจตสิก เพราะฉะนั้น สติเป็นสังขารขันธ์ ที่เหลือทั้ง ๕๐ ชื่อต่างๆ อยู่ใน ๕๐ หมดเลยเป็นสังขารขันธ์ทั้งหมด เพราะว่าเจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ เจตสิก ๑ คือ เวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิกเป็นสัญญาขันธ์ ที่เหลือทั้งหมดเป็นสังขารขันธ์ โลภะเป็นขันธ์อะไร

    ผู้ฟัง เป็นสังขารขันธ์ เพราะมันเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

    ท่านอาจารย์ เป็นสังขารขันธ์ โทสะเป็นขันธ์อะไร

    ผู้ฟัง ก็เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ สังขารขันธ์ อะไรๆ ที่เหลือทั้งหมดเป็นสังขารขันธ์ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น เราต้องเป็นผู้ตรงต่อธรรม เพราะเหตุว่ามีคำที่ทรงแสดงไว้ว่า สัพเพธัมมา อนัตตา ทุกอย่างที่เป็นธรรม ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา เป็นธรรมเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ถ้ามั่นคงอย่างนี้จริงๆ ปัญญาความเข้าใจธรรมขณะนี้เป็นเราหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เป็นของเราหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เกิดแล้วก็ดับ นอกจากปัญญาแล้ว ทุกอย่างหมดเลยไม่ใช่ของเรา จึงจะตรงกับคำว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา นี่คือค่อยๆ ก้าวไปสู่ความเข้าใจความหมายของอนัตตากับธรรม สิ่งที่มีจริงทั้งหมดเป็นอนัตตา ต้องตรง พอไม่รู้ เผลอไป ก็เป็นเราอีกแล้ว เพราะฉะนั้น จึงทรงแสดงหนทางที่จะไม่ให้เผลอ คือ เมื่อสติสัมปชัญญะเกิดรู้ลักษณะที่เป็นอนัตตา ก็ค่อยๆ เข้าใจสิ่งนั้นว่าเป็นอนัตตา จนกว่าจะถึงความสมบูรณ์ คือการประจักษ์แจ้งความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมนั้นๆ ก็ไม่ยากเลย ตัวเราทั้งหมดเลย มีชื่อใหม่ๆ เท่านั้นเอง แต่ว่าชื่อนั้นเรียกอย่างอื่นก็ได้ ไม่เรียกอย่างนี้ก็ได้ แต่ว่าให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ แต่ว่าจำเป็นต้องใช้ชื่อ เราจะได้ไม่สับสน ให้รู้ว่า เป็นสภาพธรรมอะไร

    ผู้ฟัง เวลาเรามาทำบุญ ญาติพี่น้องที่ได้ตายไปแล้ว เรามาทำเพื่อจะแผ่บุญกุศลไปให้ เขาจะได้รับไหม

    ท่านอาจารย์ แผ่อะไรไป แล้วบุญเป็นอย่างไรที่จะแผ่ไป ไม่ใช่วัตถุสิ่งของ ใช่ไหม บุญคืออะไร ก่อนอื่น ถ้ายังไม่รู้ว่าบุญคืออะไร เราก็ไปติดปัญหานี้อีก ใช่ไหม บุญคืออะไร

    ผู้ฟัง บุญ คือการกระทำความดี

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นเราหรือเปล่า ต้องย้อนกลับมาหาปรมัตถธรรมทุกครั้งเลย เพื่อเราจะได้เข้าใจขึ้น ถ้าเราละเลยปรมัตถธรรม ก็ยังมีความเป็นเรา และความไม่รู้อยู่นั่นแหละ พอมีเรา ก็มีความไม่รู้ติดตามมา แต่ถ้าไม่มีเรา แต่มีธรรม คือจิต เจตสิก รูป ความรู้ของเราจะเพิ่มขึ้น เพราะเรารู้ว่าเป็นจิตหรือเป็นเจตสิกอย่างไร ต้องไม่พ้นจากปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้น บุญเป็นปรมัตถธรรมหรือเปล่า มีจริงๆ หรือเปล่า ถ้ามีจริงต้องเป็นปรมัตถธรรม

    ปรมัตถธรรม มี ๔ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ไม่ต้องกล่าวถึงนิพพาน ต่อไปนี้เอาเพียงแค่จิต เจตสิก รูป เพราะฉะนั้น บุญมีจริงใช่ไหม เป็นปรมัตถธรรมอะไร อันนี้จะช่วยมากเลย ที่ทำให้เราเข้าใจชัดเจนขึ้นว่า เมื่อไม่ใช่เรา ลักษณะแท้จริงของสิ่งนั้นคืออะไร ทีนี้จะไม่มีการสับสน ไม่มีการปะปน จะเป็นความเข้าใจที่เพิ่มขึ้น ชัดเจนขึ้น เมื่อรู้ว่าเป็นปรมัตถธรรม แต่ต้องรู้ว่าปรมัตถธรรมอะไร บุญเป็นรูปหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ ไม่เป็น เพราะฉะนั้น เป็นอะไร

    ผู้ฟัง เจตสิก

    ท่านอาจารย์ เป็นเจตสิกฝ่ายดีซึ่งเกิดกับจิตใด จิตนั้นก็เป็นกุศลจิต กุศลจิตกับบุญ ความหมายเหมือนกันเลย เป็นจิตที่ดีงาม ไม่เป็นโทษ เพราะว่าจิตเป็นสภาพรู้ ประกอบด้วยเจตสิกฝ่ายดีทั้งนั้นเลย ในขณะที่กระทำสิ่งที่ดี เพราะฉะนั้น เราจะอุทิศส่วนกุศล ความดีที่เราได้ทำเพื่อให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วที่สามารถจะรู้ได้ เกิดกุศลจิตอนุโมทนา ยินดีด้วยในสิ่งที่เราได้กระทำความดีนั้น แล้วอุทิศให้เขา แต่ว่าขึ้นอยู่กับเขาว่า เขาจะยินดีหรือไม่ยินดี แม้แต่เป็นมนุษย์ รู้ว่าใครทำบุญ ยินดีกับคนที่ทำบุญด้วยหรือเปล่า หรือเฉยๆ เวลาเห็นใครทำกุศล ยินดีในกุศลที่เขากระทำ ขณะนั้นคืออนุโมทนา

    เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าล่วงลับไปแล้ว ต้องแล้วแต่ว่า เกิดในภพภูมิที่สามารถที่จะรู้ได้ในบุญกุศลที่เราทำอุทิศไปให้ หรือไม่สามารถที่จะรู้ได้ ถ้าเขาไปเกิดเป็นนก ก็ไม่มีทางเลยที่จะรู้ว่า ญาติพี่น้อง หรือว่าเพื่อนฝูง มิตรสหายได้กระทำบุญอุทิศไปให้ แล้วถึงแม้ว่ารู้ ก็ขึ้นอยู่กับว่า เขาเกิดกุศลจิตอนุโมทนาหรือเปล่า ถ้าเขาเกิดกุศลจิตอนุโมทนาเป็นกุศลของเขา เป็นกรรมของเขาซึ่งจะให้ผลกับเขา แต่ถ้าเขาไม่อนุโมทนา หมายความว่ากุศลจิตของเขาไม่เกิด เขาก็ไม่สามารถจะได้ผลของกุศล เพราะว่ากุศลจิตไม่เกิด จิตของใครเป็นเหตุก็ทำให้เกิดผล ไม่ใช่ไปเอาจิตของคนอื่นมาทำให้เกิดผลกับจิตของเรา

    ถ้าเป็นเหตุดี จะนำมาซึ่งผลดี ถ้าเป็นเหตุไม่ดี ก็ต้องนำมาซึ่งผลไม่ดี ทุกอย่างขึ้นอยู่กับเหตุ เพราะฉะนั้น ก็เป็นที่น่าสนใจว่าเหตุที่ดีมีอะไรบ้าง โดยเหตุปัจจัยที่แสดงไว้ ได้แก่ เจตสิก ๖ คือ

    โลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ เป็นอกุศลเหตุ

    อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ เป็นกุศลเหตุ

    เพราะฉะนั้น ก็ต้องรู้ถึงเหตุที่ต่างกัน ถ้าเหตุที่ไม่ดีจะนำมาซึ่งผลที่ดี ก็เป็นไปไม่ได้ ไม่ตรง แล้วก็ผลที่ดี ไม่ต้องอ้อนวอน ไม่ต้องขอร้อง ผลที่ดีก็ย่อมเกิด หรือว่าถ้าได้กระทำผลที่ดีแล้ว อ้อนวอนขอร้องว่า อย่าให้ผลที่ดีเกิดขึ้น ให้ผลที่ไม่ดีเกิดขึ้นก็เป็นไปไม่ได้ หรือว่าเวลาที่ทำเหตุที่ไม่ดี แล้วไปอ้อนวอนขอร้องว่า ขอให้ผลที่ดีเกิดขึ้นก็ไม่ได้ ข้อนี้ที่ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎกว่า ต้องแล้วแต่เหตุ

    ทุกคนก็พิจารณาได้ ธรรมเป็นธรรม ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ที่จะไปเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมได้ แล้วก็ต้องพิจารณาโดยละเอียด จึงสามารถที่จะเข้าใจได้ ทุกอย่าง ไม่ใช่ขัดกัน

    คนตาบอด เขาขอให้เขาตาบอดหรือเปล่า

    ผู้ฟัง คงไม่มีใครอยากจะขอตาบอดหรอก

    ท่านอาจารย์ เจตนาครั้งหนึ่งที่ประสงค์ที่จะให้บุคคลอื่นตาบอด มีไหม คนที่เจตนาอย่างนี้ อยากให้คนอื่นเป็นทุกข์ อยากให้คนอื่นพลัดพรากจากสมบัติ เผาผลาญทุกสิ่งทุกอย่าง มีความหวังร้ายต่อกัน แล้วก็กระทำกรรม แม้แต่ยิงนก แล้วก็ทะลุเข้าไปในตา ขณะนั้นมีเจตนาที่จะกระทำแม้เพียงเพื่อความสนุก เพื่อความชำนาญว่า ตัวเองเป็นผู้ที่มีความชำนาญมาก สามารถที่จะยิงตานกทะลุได้ เจตนาอย่างนั้น หวังที่จะให้ตานกทะลุ แต่ผลคือใคร วันหนึ่งเมื่อกรรมนั้นสุกงอมที่จะให้ผล กรรมก็ไม่ทำให้จักขุปสาทรูปเกิด คนนั้นก็ตาบอด เขาไม่ต้องขอเลยว่า เขาอยากให้เขาตาบอด แต่การกระทำของเขานั่นเองเป็นเหตุที่จะทำให้เขาตาบอดได้ ฉันใด ทางฝ่ายกุศลก็เช่นเดียวกัน เวลาที่มีความหวังดี ความปรารถนาดีต่อบุคคลอื่น ขณะนั้นต้องเป็น อโลภะ อโทสะ อโมหะ เป็นธรรมฝ่ายดี เมื่อธรรมฝ่ายดีสำเร็จลงไปก็ย่อมนำมาซึ่งผลในวันหนึ่ง

    การที่เราจะรู้ว่า ผลที่เราได้รับมาจากอะไร หรือว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่ในขณะนี้จะให้ผลอย่างไร เป็นสิ่งซึ่งเราไม่มีปัญญาซึ่งสามารถจะรู้ได้เลย แต่สามารถจะพิจารณาเหตุผลได้ เพราะว่ากรรมเป็นสภาพที่ปกปิด เรากำลังนั่งฟังพระธรรม สนทนาธรรมขณะนี้ เราสามารถจะรู้ได้ไหมว่า กรรมนี้จะให้ผลเมื่อไร ไม่สามารถที่จะรู้ได้ แต่มีเหตุที่ได้กระทำแล้ว

    ผลก็คือว่า มีความสนใจ มีความศรัทธา ที่จะได้ฟังในเหตุในผลของพระธรรมต่อไป เมื่อมีโอกาสที่จะได้ยินได้ฟังก็ฟังอีก นี่ก็เป็นเรื่องของการสั่งสม เพราะฉะนั้น ทุกอย่างแล้วแต่เหตุทั้งนั้น ถ้าไม่มีเหตุ ผลนั้นๆ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย แต่ต้องมีเหตุ ผลจึงจะเกิดขึ้นได้ แม้แต่กรรมวันนี้ที่ได้ทำ ก็ยังไม่รู้ว่าจะให้ผลเมื่อไร และขณะนี้อะไรเป็นผลของกรรม เรารู้หรือยัง

    ผู้ฟัง ยังไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ยังไม่รู้ แต่วันนี้มีผลของกรรมตลอดทั้งวัน โดยที่เราไม่รู้เลยว่า เป็นผลของกรรมอะไร เพราะฉะนั้น ก็น่าสนใจว่า ทุกคนเกิดมาต้องมีจิตเจตสิกเป็นผลของกรรมที่ได้ทำไว้ การเกิดในโลกนี้ เราก็มองเห็นว่า มีความต่างกัน เกิดเป็นสัตว์ มีไหม ไม่มีขาเลย เป็นงู หรือว่ามีขามากมาย เป็นกิ้งกือ หรือว่าจะมีปีกเป็นผีเสื้อ แม้แต่ปีกผีเสื้อก็ยังวิจิตรมาก จะเห็นความวิจิตรของการกระทำกรรมแต่ละกรรม ซึ่งทำให้ผลเกิดขึ้น ถ้าเป็นมนุษย์ก็หลากหลายเหลือเกิน ทั้งๆ ที่เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ไม่ต้องเกิดในนรก ไม่ต้องเกิดเป็นเปรต ไม่ต้องเกิดเป็นอสุรกาย ไม่ต้องเกิดเป็นเดรัจฉาน เป็นมนุษย์ที่พิการก็มี หรือว่าเป็นใบ้ ตาบอด หูหนวกตั้งแต่กำเนิดก็มี ก็แสดงให้เห็นถึงว่า สัตว์โลกเป็นที่ดูผลของบุญ และบาป และเป็นที่ดูบุญ และบาปต่อไปอีก เราก็ควรที่จะทราบว่า ชีวิตของเราตั้งแต่เกิดจนตายมีทั้งวิบากซึ่งเป็นผลของกรรมในอดีต และมีทั้งกรรมซึ่งจะเป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบากข้างหน้าด้วย ตั้งแต่ปฏิสนธิ คือ จิตขณะแรกที่สืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน กรรมหนึ่งให้ผล เราทุกคนทำกรรมไว้มากหลากหลาย แม้ในชาตินี้ใครจำได้ไหมว่าทำกรรมอะไรไว้แล้วบ้าง ทั้งกุศลกรรม และอกุศลกรรม มากมายใช่ไหม เราก็จำได้เฉพาะกรรมที่เราเพิ่งจะกระทำ แต่กรรมตั้งแต่เป็นเด็ก เติบโตเรื่อยมา มีกรรมอะไรที่เราได้กระทำแล้วบ้าง แต่สิ่งต่างๆ เหล่านั้นไม่สูญหาย พร้อมที่กรรมหนึ่งเมื่อเราจากโลกนี้ไป จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ถ้ายังไม่เป็นพระโสดาบันบุคคล ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็มีโอกาสที่จะเกิดในอบายภูมิได้ อย่างม้ากัณฐกะ คงรู้จักใช่ไหม คุณทศพร ม้ากัณฐกะเป็นใคร

    ผู้ฟัง เป็นม้าที่พระโพธิสัตว์ตอนที่จะออกมหาภิเนษกรมณ์ ได้ทรงม้ากัณฐกะ ออกมหาภิเนษกรมณ์

    ท่านอาจารย์ ม้ากัณฐกะเมื่อจุติ คือตายแล้วเกิดเป็นเทพบุตร ลงมาเฝ้า ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล เพราะฉะนั้น ไม่มีการรู้เลยว่า กรรมใดจะให้ผล ถ้ายังไม่เป็นพระอริยเจ้า ก็มีโอกาสที่จะเกิดในอบายภูมิได้ แต่เมื่อเป็นพระอริยบุคคลเมื่อไร ก็ไม่เกิดในอบายภูมิต่อไป เพราะฉะนั้น การรับผลของกรรมหนึ่งทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเป็นเราชาตินี้ ซึ่งจะเป็นเราชาตินี้อีกนานเท่าไร ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ว่า กรรมจะสิ้นสุดที่จะทำให้พ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้เมื่อไร อย่างที่ภาษาไทยเราใช้คำว่า “ถึงแก่กรรม” คือ ถึงการสิ้นสุดของกรรมที่จะให้เป็นบุคคลนี้อีกต่อไป จะกลับมาเป็นคนนี้อีกไม่ได้เลย ชาติหนึ่งก็ชาติหนึ่ง เหมือนอย่างที่ทรงแสดงอดีตชาติของพระองค์แต่ละพระชาติว่า เคยเป็นอะไร เมื่อไร อย่างไร รวมทั้งอดีตชาติของพระสาวกทั้งหลายด้วย ว่าท่านเหล่านั้นก่อนที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ท่านสะสมบุญพร้อมปัญญาที่จะเข้าใจสภาพธรรม มานานแสนนาน จนกระทั่งได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมในสมัยพระผู้มีพระภาคพระองค์นี้

    แสดงให้เห็นว่า เรารับผลของกรรมตั้งแต่เกิด จิตขณะแรกที่เกิดเป็นผลของกรรม แล้วก็ตอนเกิดขณะแรกซึ่งเป็นนามธรรม มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย สั้นมาก จะรู้ไหมว่า จิตปฏิสนธิจะประกอบด้วยรูปอะไร เพราะว่ากรรมทำให้รูปเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต เพราะฉะนั้น การที่จะเป็นรูปมนุษย์ ค่อยๆ เติบโตขึ้นจนกระทั่งปรากฏเป็นรูปมนุษย์ ถ้าเป็นรูปช้าง ในขณะที่เพิ่งเกิดก็ต้องเล็กนิดเดียวเหมือนกัน แล้วก็ค่อยๆ เจริญเติบโตขึ้นตามกรรมที่ทำให้ธาตุไฟที่เกิดพร้อมปฏิสนธิจิต ทำให้รูปร่างต่างกัน เพราะฉะนั้น เราจะสูงต่ำดำขาวอย่างไร รูปนี้ก็เป็นผลของกรรม แต่ถ้าพูดถึงวิบาก ต้องเป็นนามธรรม คือจิตเพราะว่าเป็นสภาพรู้ เราจะสุขจะทุกข์เพราะนามธรรม เพราะจิต และเจตสิกรู้อารมณ์ที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง รูปไม่รู้อะไรเลย รูปจะสวยจะงาม จะไม่สวยไม่งามอย่างไร รูปก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร เพราะว่ารูปไม่ใช่สภาพรู้ แต่จิต และเจตสิกซึ่งเป็นสภาพรู้เป็นวิบาก คือเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว

    จิตจึงต่างออกไปเป็น ๔ ชาติ หมายความว่าจิตเกิดขึ้นเป็นกุศล ๑ เกิดขึ้นเป็นอกุศล ๑ ซึ่งเป็นเหตุ แล้วก็เกิดขึ้นเป็นวิบาก เป็นผลของกุศล และอกุศล ๑ แล้วก็เป็นกิริยาจิตซึ่งส่วนใหญ่เป็นของพระอรหันต์ คือ ไม่ใช่ทั้งกุศล และไม่ใช่อกุศล เพราะเหตุว่าถ้ายังเป็นกุศล อกุศลอยู่ ก็ต้องเกิด แต่พระอรหันต์ไม่เกิดอีกเลย ดับเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดหมด เพราะฉะนั้น กิริยาจิตส่วนใหญ่ก็เป็นของพระอรหันต์

    เราก็ทราบว่า ตอนเกิดก็เป็นผลของกรรม แล้วก็ยังไม่ได้ตาย ยังตายไม่ได้ ก็เป็นผลของกรรม การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กรรมทำให้มีจักขุปสาท สำหรับกระทบสิ่งที่ปรากฏทางตา ทำให้มีโสตปสาทสำหรับกระทบเสียง ทำให้มีฆานปสาทกระทบกลิ่น ทำให้มีชิวหาปสาทกระทบรส ทำให้มีกายปสาทซึมซาบอยู่ทั่วตัว สำหรับกระทบกับเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ซึ่งจะทำให้เกิดสุขเวทนาหรือทุกขเวทนา นี่เป็นผลของกรรม

    เราสามารถที่จะเข้าใจตัวเราแต่ละขณะว่า ขณะใดที่ได้รับอารมณ์ที่ดี รู้อารมณ์ที่ดีทางหนึ่งทางใดใน ๕ ทาง ขณะนั้นเป็นผลของกุศล ไม่ต้องไปคิดถึงชาติไหนทำอะไรไว้ เพราะว่าชาติก่อนเหมือนประตูที่ปิดสนิทเลย พอปิดสนิทแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะมองผ่านเข้าไปในห้องนั้นได้ฉันใด โลกที่เราจากมา ชาติก่อนที่เราจากมา เมื่อจุติจิตทำให้เคลื่อนพ้นข้ามความเป็นบุคคลนั้น มาสู่ความเป็นบุคคลนี้ ก็ไม่สามารถที่จะย้อนไปถึงอดีตได้ว่า เราทำกรรมอะไร แต่ขณะใดที่เห็นดี ได้ยินดี ได้กลิ่นดี ลิ้มรสดี รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสดี ก็เป็นผลของกุศลที่ได้กระทำแล้ว สามารถที่จะรู้ได้ใช่ไหม เวลาวิบากเกิด ผลของกรรมเกิดก็ต้องมาจากเหตุที่ดี ถ้าเห็นไม่ดี ได้ยินไม่ดี ได้กลิ่นไม่ดี ลิ้มรสไม่ดี รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสไม่ดี ก็เป็นผลของอกุศลกรรมที่ได้ทำแล้ว เราก็สามารถที่จะรู้เพียงคร่าวๆ ในเรื่องของกรรม และผลของกรรม ขณะนี้ วันนี้ มีใครพ้นผลของกรรมบ้างไหม

    ผู้ฟัง ไม่มีใครพ้นผลของกรรมได้

    ท่านอาจารย์ ไม่มีใคร ขณะเห็นเป็นผลของกรรมแล้ว ขณะได้ยินก็เป็นผลของกรรมแล้ว แต่เราไปคิดถึงผลใหญ่ๆ ได้ลาภหรือว่าเสื่อมลาภ อุบัติเหตุ ป่วยไข้ เราไปคิดถึงตอนนั้น แต่แม้ตอนนี้ทุกขณะที่เห็นก็เป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ เป็นผลของกรรมครึ่งหนึ่ง แล้วก็เป็นเหตุใหม่ที่จะทำให้เกิดผลข้างหน้าอีกครึ่งหนึ่ง เพราะเห็นแล้วคนที่ยังมีกิเลส ก็มีโลภะบ้าง มีโทสะบ้าง มีโมหะบ้าง หรือว่ากุศลจิตเกิดบ้าง ก็แล้วแต่ มีทั้ง ๒ อย่าง ทั้งฝ่ายกุศล และอกุศล

    ผู้ฟัง เมื่อเช้านี้ในห้องอาหารได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับคุณหมอเพิ่ม หมอเพิ่มบอกว่า ผมได้มีโอกาสสนทนากับท่านอาจารย์สุจินต์ ผมได้ความรู้อีกมากเลย ผมก็ถามว่าได้อะไรมาบ้าง มาแบ่งกันบ้างสิ บอกว่า พูดถึงเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา หมอก็บอกว่า ทุกสีที่ปรากฏทางตา ถ้าไม่มีการคิดนึก ก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ เรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตาก็จริงมากเลย แต่เราไม่คุ้นเคยกับการที่จะรู้ว่าเป็นธรรมเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปคำนึงถึงสีสันวัณณะอะไรเลย โดยมากจะพูดว่า ภูเขาโน่น เพราะตอนนั้นเรานั่งรถมา แล้วก็เห็นภูเขา มันก็อยู่ไกล ใช่ไหม ทีนี้เวลาที่คิดถึงภูเขา มันก็เป็นภูเขาแล้ว แต่ทีนี้ถ้าเราไม่สนใจ มันจะเป็นอะไรก็ช่าง แต่ขณะนี้เริ่มที่จะรู้ว่า เป็นธรรมเท่านั้น เป็นธรรมหรือยังคุณศุกล สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา รู้ว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่ง เพราะเหตุว่าธรรมเราไม่ต้องเรียกชื่อก็มี เพราะฉะนั้น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เราก็ไม่ต้องเรียกชื่อแล้วก็มีแล้ว กำลังปรากฏแล้ว ก็ให้เข้าใจตามความเป็นจริงว่า ขณะนี้สิ่งที่เราเคยยึดถือเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ จากสิ่งที่ปรากฏทางตา คือสิ่งที่เป็นธรรม มีจริง กำลังปรากฏ เท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง ทีนี้ก็จะขอถามต่อว่า แม้ไม่ปรากฏจะเป็นธรรมไหม

    ท่านอาจารย์ แล้วขณะนั้นจิตรู้อะไร เวลาที่ไม่ปรากฏ จิตรู้อะไร

    ผู้ฟัง ยังไม่มีจิตรู้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ จิตต้องเกิดอยู่ตลอดเวลา

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ความหมายของคำว่า ธรรมคือจิต ขณะที่จิตรู้ความหมาย จึงกล่าวว่าสิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าเราเคยได้ยินว่า ทุกอย่างเป็นธรรมแค่นี้ เราก็เว้นไม่ได้แล้ว ต้องทุกอย่างจริงๆ เพราะฉะนั้น ถ้าถามถึงสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา คือขณะนี้ มีจริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่เป็นธรรมด้วย คือไม่เรียกชื่อก็มี พอลืมตาขึ้นมาก็ไม่ต้องเรียกชื่อแล้ว ก็มีสิ่งที่ปรากฏเท่านี้เอง แต่ก่อนเคยเป็นเรื่องมากมาย วิธีนี้เหมือนกับลบเรื่องกับคนออกจากสิ่งที่ปรากฏ เพราะว่าเวลาที่มีความคิดเรื่องคนต่างๆ สิ่งต่างๆ ก็เพราะคิด แต่ว่าตัวธรรม แท้ๆ คือตัวสิ่งที่ปรากฏ คืออย่างนี้เอง ไม่เอาความคิดเข้ามาปะปนเลยทั้งสิ้น สีสันวัณณะ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แม้ไม่เรียกชื่ออะไรก็กำลังปรากฏอย่างนี้

    เพราะฉะนั้น เราเคยไปจำไว้หมดเลยว่า ทางตามีอะไรทุกอย่าง มีสุนัข มีอะไรๆ อย่างนี้ คือวิธีที่จะเข้าใจคือลบความเป็นทุกอย่างที่มีอยู่ในนั้นเพราะคิดออก ก็จะเข้าใจได้ถูกต้องว่า ขณะนี้ก็มีจริง เป็นธรรมเพราะปรากฏ ให้เข้าใจตรงกับที่เราเคยได้ยินได้ฟัง เป็นสิ่งที่ปรากฏ แม้ไม่เรียกชื่อ ก็ค่อยๆ รู้ตาม ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ว่า เป็นสิ่งที่ปรากฏ แม้ไม่ต้องเรียกชื่อ เพราะฉะนั้น ก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง

    ผู้ฟัง แล้วมีคำเตือนที่ท่านอาจารย์บอก มีความต้องการ มีความอยากอะไรต่อท้าย มันเกี่ยวข้องอะไรกับการเห็นแต่ละครั้ง การได้ยินแต่ละครั้ง

    ท่านอาจารย์ พอได้ยินอย่างนี้ บางคนก็อาจจะเริ่มทำ จำกัดขอบเขตบ้าง อะไรบ้าง แล้วแต่ เพราะว่ามีคนที่ฟังอยู่ด้วย แล้วคนนั้นก็ถามว่า แล้วต่อจากนี้เราจะคิดอย่างนี้ใช่ไหม คือไม่ใช่เป็นกฎเกณฑ์ที่ต่อจากนี้ไปให้คิดอย่างนี้ แต่ความเข้าใจในขณะกำลังฟังเดี๋ยวนี้ เอาความเข้าใจจริงๆ ว่า ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ แม้ไม่เรียกชื่อก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง เอาเข้าใจตอนนี้ แล้วต่อจากนี้ไป ถ้าเกิดนึกขึ้นได้ว่า แท้ที่จริงสิ่งที่ปรากฏก็คือแค่นี้แหละ ก็แค่สิ่งที่กำลังปรากฏ ให้เข้าใจในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ส่วนการที่เราคิด เราจำรูปร่างสัณฐาน มีอะไรในสิ่งที่ปรากฏบ้าง เหมือนกับกระจกเงา มีทุกอย่างในกระจกเงา ที่วัด โต๊ะ เก้าอี้ ผู้คนก็เข้าไปอยู่ในกระจกเงาหมด เพราะมีกระจกเงาทั้งแถบเลย แต่มีอะไรในกระจกเงาบ้าง

    ผู้ฟัง มีเห็น

    ท่านอาจารย์ แล้วอะไรอีก

    ผู้ฟัง แล้วก็ทุกอย่างที่ปรากฏอยู่ในกระจก

    ท่านอาจารย์ แล้วมันมีตัวจริงๆ เหมือนอย่างข้างนอกกระจกเงาหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ถ้าถามถึงตัวจริงก็คงจะไม่มี เพราะไม่มีคนเข้าไปอยู่จริงๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วคือว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาล้วนๆ คือเพียงสิ่งที่ปรากฏ ต้องแยกออกจากแข็ง จากอย่างอื่นที่เป็นคน เป็นสัตว์ แล้วก็รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏ ทางตาก็เป็นสภาพธรรม ที่แม้ไม่เรียกชื่อก็ปรากฏ

    ผู้ฟัง ทีนี้เมื่อเป็นการเริ่มต้นของการฟังพระธรรม ถ้าสมมติว่าเป็นการให้ความรู้ อย่างที่ท่านอาจารย์กล่าวมาอย่างนี้ กับสิ่งที่เราไปเพิ่มเติมการเรียน การศึกษาอย่างมากมาย มันเกี่ยวข้องอะไรกับ

    ท่านอาจารย์ เกี่ยวข้องคือให้เข้าใจสิ่งนั้นให้เข้าใจถูกต้องยิ่งขึ้น

    ผู้ฟัง เพราะมันยังไม่ถึง หรือ

    ท่านอาจารย์ ไม่ถึงก็มี

    ผู้ฟัง แล้วพอพูดถึงสิ่งที่เป็นเครื่องกั้น เป็นเครื่องทำให้ขัดขวาง ไม่สามารถออกไปจากสังสารวัฏได้ มันเป็นเรื่องราวทั้งหมดเลย ถามว่าสิ่งทั้งหลายที่เราเรียนมา จะมาเกื้อกูลกับเรื่องขณะเดี๋ยวนี้ได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ พูดเท่าไรก็คือมาลงที่เป็นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 97
    22 มี.ค. 2567