ปกิณณกธรรม ตอนที่ 259


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๕๙

    สนทนาธรรม ที่ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จ.พิษณุโลก

    พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔


    ท่านอาจารย์ เพราะว่าถ้าเราเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน อย่างพวกสัตว์เดรัจฉานต่างๆ ที่มี ถึงจะอยู่ในห้องนี้ก็ไม่รู้เรื่อง ก็มีเพียงแค่จิตได้ยิน แต่ว่าไม่สามารถที่จะเข้าใจ ในสิ่งที่กำลังกล่าวถึง ไม่รู้เรื่องของสภาพธรรม มีคำกล่าวว่า สัตวโลกเป็นที่ดูบุญ และบาป และดูผลของบุญ และบาป ชัดเจนใช่ไหม ความต่างกัน ถ้าไม่ได้กระทำบุญระดับหนึ่งที่จะให้เป็นอีกอย่างหนึ่ง ก็จะเป็นอย่างนั้นไม่ได้

    ในโลกนี้จึงมีความหลากหลายของทุกชีวิต ที่แสดงให้เห็นถึงกรรมที่ได้กระทำแล้วในอดีต ซึ่งทำให้ผลเป็นอย่างนี้ แล้วก็ในขณะที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ก็ยังเห็นการกระทำของแต่ละคนจากการสะสมกุศล อกุศลว่าทำกรรมที่เป็นกุศลหรืออกุศล ซึ่งเป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบากต่อไปข้างหน้า ข้อความในพระไตรปิฎกมีว่า ไม่เคยมีสักอย่างที่เราไม่เคยเป็น ไม่ว่าจะเป็นยาจก คนยากไร้ หรือว่าเป็นเศรษฐี เป็นพระราชา มหากษัตริย์ เป็นคฤหบดีมหาศาล เป็นคนพิการ เคยเป็นมาแล้ว และก็จะเป็นต่อไป ถ้าสังสารวัฏยังไม่หมดสิ้น แล้วแต่ว่าจะเป็นกรรมอะไร แต่ถ้าเป็นพระอริยบุคคล เช่น พระโสดาบัน จะไม่เกิดในอบายภูมิ ๔ ไม่เกิดเป็นสัตว์ ไม่เกิดในนรก ไม่เป็นเปรต ไม่เป็นอสุรกาย ไม่อยู่ในภูมิต่ำ

    ต่อไปนี้เห็นคนก็เข้าใจได้เลย ถึงกรรมที่ได้ทำแล้ว ที่จำแนกให้ต่างๆ กันไป แล้วถ้าใครกำลังทำกรรมอะไร อย่างใครที่กำลังฆ่าสัตว์ เราก็รู้เลย เจตนา ความจงใจที่จะทำให้คนอื่นถึงกับสิ้นชีวิต หรือว่าการเบียดเบียนสัตว์อื่น เป็นเจตนาที่ต้องการให้คนอื่นเป็นอย่างนั้น แต่คนอื่นจะเป็นหรือไม่เป็นเมื่อไร ขึ้นอยู่กับกรรมที่เขาได้ทำแล้ว แต่ตัวผู้ที่กระทำจะเป็นเหตุให้จิตที่เป็นวิบากเป็นผลเกิดขึ้น รับผลของเจตนา หรือความจงใจที่ได้เกิดแล้วในอดีต

    เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่เกิดขึ้นที่เคยมีคนชอบพูดว่า ทำไมถึงต้องเป็นเรา คำตอบก็คือว่า เพราะต้องเป็นเรา จะเป็นอื่นไปไม่ได้ ในเมื่อทำกรรมใดมา ก็ต้องรับผลของกรรมนั้น จะเอากรรมที่เราทำแล้วไปให้คนอื่นได้รับได้ไหม ไม่ได้เลย ถ้าลูกกำลังเจ็บป่วย แม่อธิษฐานอ้อนวอนขอร้องเจ็บแทนได้ไหม ไม่ได้ กรรมของใครก็ทำให้เกิดผลของกรรมนั้นๆ แลกเปลี่ยนกันไม่ได้เลย ก็เป็นผู้ที่รู้ว่า ทุกอย่างที่จะเกิดกับตน ไม่ว่าจะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้วทั้งหมด เพราะฉะนั้น เราจะทำอะไร ถ้ารู้อย่างนี้ ก็ต้องทำดี ใช่ไหม เพื่อจะได้ไม่ได้รับผลที่ไม่ดี ต่อไปข้างหน้า

    ผู้ฟัง ถ้าคุณแม่ของเราเจ็บป่วย แล้วเรารู้ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของกรรมเฉพาะบุคคล แต่การเจ็บป่วยของคุณแม่ก็มีผลกระทบกับคนในครอบครัว ทำให้เกิดทุกข์ขึ้นกับคนในครอบครัว มันเปรียบเสมือนเป็นกรรมที่มันสัมพันธ์กันหรือเปล่า แล้วเราจะทำอย่างไรให้รู้สึกว่า กรรมเหล่านั้นเบาบางลง หรือความทุกข์เหล่านั้นของคนในครอบครัวลดลงในลักษณะนี้

    ท่านอาจารย์ โดยมากมักจะอยากใช้คำที่เราเคยชิน เช่น สัมพันธ์ กรรมสัมพันธ์ แต่ถ้าพิจารณาถึงจิต เจตสิก รูปให้ละเอียด ขณะนั้นที่กำลังเห็น แต่ละคนก็เกิดเห็น แลกเปลี่ยนหรือร่วมกันไม่ได้ เห็นของคนอื่นจะมาสัมพันธ์กับเห็นของเราได้ไหม ต่างคนต่างเห็น ต่างคนต่างเกิด ต่างคนต่างตาย ต่างคนต่างคิด เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจในสภาพธรรมจริงๆ ซึ่งเกิดดับเร็วมาก แล้วก็มีปัญญาที่จะรู้ความจริง แม้แต่เพียงความจริงที่เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ก็จะทำให้เรารู้ว่าอะไรเป็นอะไร รู้ว่าถ้าตราบใดที่ปัญญาของเรา ไม่ถึงระดับที่จะระงับความโศกเศร้า มีปัจจัยที่จะให้โศก ก็โศกเกิด มีปัจจัยที่จะให้โกรธ โกรธเกิด ทำอะไรได้ เพราะเหตุว่าธรรมอาจจะได้ยินคำว่า สังขารธรรม สภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง และสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับสังขารธรรม คือ วิสังขารธรรม สภาพธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง การเรียนธรรมจะค่อยๆ ขยายออกได้ แล้วก็มีศัพท์ มีคำเพิ่มขึ้นที่จะทำให้สามารถเข้าใจความต่างของแม้ศัพท์ว่า สังขารธรรม และสังขตธรรม

    ขณะใดก็ตาม มีลูก ๕ คน เห็นคุณแม่กำลังป่วยไข้ จิตที่เห็นของลูกแต่ละคนก็เกิดขึ้น เป็นสังขตธรรม ปรุงแต่งแล้ว เกิดขึ้นเห็นชั่วขณะแล้วก็ดับ ทุกอย่างที่เกิด ปรุงแต่งแล้วเกิดทั้งนั้นเลย เป็นสังขตธรรม ๕ คนนี้ ๕ ใจหรือเปล่าที่จะคิด แล้วแต่ว่าจะทุกข์มากหรือทุกข์น้อย ก็เป็นเรื่องของขณะที่เห็นแล้ว เกิดกุศลจิตหรืออกุศลจิต เพราะฉะนั้น กุศลจิตหรืออกุศลจิตไม่ใช่วิบากจิต ต้องเป็นคนละขณะ วิบากจิตเกิดขึ้นเพราะกรรมแล้วดับ แต่ว่ากุศลหรืออกุศลเกิดขึ้นเพราะการสะสม จากขณะที่กำลังเป็นกุศล แม้ดับไปแล้วก็สะสมลืบต่อ เพราะว่าจิตเกิดขึ้นทีละขณะแล้วสืบต่อกัน เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่มีในขณะหนึ่งก็สืบต่อไปอีก สู่ขณะต่อๆ ไป

    เพราะฉะนั้น ต่างคนก็ต่างเห็น อย่าไปใช้คำว่า สัมพันธ์ได้ไหม หรือชอบใช้เพราะว่าเคยใช้ คุ้นเคยแต่จะใช้ แต่ถ้าใช้แล้ว ไม่ทำให้มีความเข้าใจปรมัตถธรรมยิ่งขึ้นก็ไม่ใช้ เพราะว่าคำใดๆ ก็ตามที่ทำให้เข้าใจสภาพธรรมขึ้น คำนั้นควรใช้ เช่นทุกคนอยู่ในโลกของตัวเอง มีโลกอีกความหมายหนึ่งแล้ว ใช่ไหม โลกทางตาเห็น โลกทางหูได้ยิน โลกทางจมูกได้กลิ่น โลกทางลิ้นลิ้มรส โลกทางกายก็รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส โลกทางใจก็คิดนึก ๖ โลก เป็นโลกส่วนตัวแต่ละคนๆ ๆ แตกดับทุกโลก จะให้อะไรคุณแม่ดี มีท่านผู้หนึ่งท่านก็เป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของการเผยแพร่พระธรรม เพราะว่าตัวท่านฟังพระธรรมมานานมาก และเห็นคุณของพระธรรม ท่านก็บริจาคเงินให้มูลนิธิ แล้วก็มีอีกท่านหนึ่งไม่ใช่ท่านนี้ ท่านก็ปรึกษาว่า ท่านจะบริจาคอะไรดี ดิฉันก็เรียนท่านว่าแล้วแต่ท่านเห็นสมควร ถ้าเห็นประโยชน์ของการศึกษา ท่านก็บริจาคเพื่อการศึกษา ถ้าเห็นประโยชน์ของการรักษาพยาบาล ท่านก็บริจาคให้โรงพยาบาล คือแล้วแต่ประโยชน์ที่ท่านคิดว่าเหมาะสม แต่สำหรับอีกท่าน ท่านบอกว่าท่านทำมาหมดแล้ว ทุกอย่าง โรงพยาบาลก็ให้ โรงเรียนก็ให้ อาหารกลางวันเด็กก็ให้ คนชรา คนพิการก็ให้ แต่ว่าอย่างโรงพยาบาล หายแล้วออกจากโรงพยาบาลไปก็เหมือนเดิม แต่สิ่งที่จะให้ที่มีค่าที่สุดคือ ความเข้าใจพระธรรม เพราะจะค่อยๆ เปลี่ยนสภาพจิตจากความไม่รู้สู่ความรู้ จากความไม่ได้เกิดกุศลเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา เพราะว่าทุกข์เป็นของประจำโลก เกิดมาแล้วที่จะไม่ทุกข์ไม่มี เพราะว่าทุกข์แท้ๆ ทุกข์ จริงๆ คือ สภาพธรรมที่ไม่มีใครสามารถจะหยุดยั้งว่า สิ่งที่เกิดแล้วอย่าดับ เป็นไปไม่ได้เลย ทุกอย่างเพียงเกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ เกิดแล้วทำหน้าที่เฉพาะอย่างๆ แล้วดับ เช่น จิตเห็นเกิดขึ้นเห็น แล้วก็ดับ ไม่มีอีกเลย จิตได้ยินแต่ละคำ แต่ละเสียง เกิดขึ้นได้ยินแล้วก็ดับ ไม่มีอีกเลย แต่ละอย่างก็เป็นทุกข์ในตัวของสภาพธรรมนั้น คือ เกิดแล้วดับ ไม่คงทน แล้วไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนแปลงให้สภาพนั้นเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้

    ทุกข์จริงๆ คือสภาพธรรมที่มีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับ ถ้าเข้าใจโลกในลักษณะนี้ เราจะช่วยอย่างไรที่จะไม่ให้มีการเกิดแล้วก็ดับ ช่วยไม่ได้ เมื่อมีการเจ็บป่วยเกิดขึ้น แสดงว่าทุกข์เพิ่มจากการเพียงเกิดแล้วดับ แต่ว่ามีกายปสาทของสัตวโลก ซึ่งเกิดเพราะกรรมซึมซาบอยู่ทั่วตัว ที่จะทำให้เกิดทุกข์เวทนา เมื่อเวลาที่เป็นผลของอกุศลกรรม เราก็ช่วยแก้ไขได้เพียงเท่านั้น คือ ให้ยารักษาโรค แล้วก็รักษาพยาบาล แต่ใจของเขาที่ยังคงมีกิเลสอยู่ ก็เป็นเหตุให้กระทำกรรมที่เป็นทุจริต แล้วจะต้องได้ผลทางหนึ่งทางใด คือ ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ ไม่ดี เราแก้ไขปลายเหตุ แต่ต้นเหตุที่จะให้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่เกิดกับเขา นี่เป็นสิ่งซึ่งพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงเห็นว่า จะแก้โลก โดยเพียงแก้ปลายเหตุ หรือช่วยเท่านั้น ไม่พอ แต่ว่าสามารถที่จะให้ปัญญาเขาเกิดขึ้น เป็นการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้น จะทำให้เขาพ้นจากทุกข์จริงๆ ได้

    ผู้ฟัง เมื่อคืนนี้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันว่า ต่างสถาบัน ต่างที่ จะนำสิ่งที่ได้ความรู้ประสบการณ์แลกเปลี่ยนกัน จะไปพัฒนาจริยธรรมอย่างไร เพราะว่าธรรมชาติของแต่ละที่ไม่เหมือนกัน พอมาฟังอาจารย์ตรงนี้เหมือนกับว่า มีคนๆ หนึ่งมาถามอาจารย์ว่า จะให้เงินมูลนิธิก็ทำ จะให้เงินการศึกษาดีไหม ให้โรงพยาบาล อาจารย์ก็ตอบว่า ถ้าให้ในส่วนที่เป็นจากไม่รู้สู่รู้ จนกระทั่งสุดท้ายคือปัญญา การที่เราจะกลับไปพัฒนาให้ได้จริยธรรมอย่างไร นั่นแปลว่ากิจกรรมนั้น ท่านมุ่งไปสู่ปัญญาน่าจะดีที่สุด ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ แต่ในขณะเดียวกันก่อนที่เขาจะมีปัญญา ก่อนที่เขาจะมีชีวิตต่อไปเพื่อได้ฟังพระธรรม ก็ต้องรักษาโรคเขาก่อน ใช่ไหม ความทุกข์อื่นๆ ก็ช่วยด้วย แต่อย่าลืม สิ่งสำคัญที่สุด อย่าช่วยเฉพาะปลายเหตุ ถ้ามีคนเจ็บอยู่ต่อหน้าแล้วเราไปนั่งสอน ให้เขารู้จักสภาพธรรม เขาคงรับไม่ได้ ใช่ไหม หรือคนที่ไม่มีอาหารเลย ยากจน แล้วเราไม่ช่วยเขา หรือเด็กที่ยังไม่มีการศึกษา ต้องไปทำงานช่วยพ่อแม่ต่างๆ เหล่านี้ เขาก็ไม่อาจที่จะได้ฟังธรรม เพราะฉะนั้น โอกาสคือเฉพาะหน้า สิ่งใดที่กำลังมีที่จะช่วย ช่วยทันทีด้วย แล้วก็คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดด้วย อย่าช่วยเพียงปลายเหตุ เพราะฉะนั้น ก็ต่างคนต่างทัศนะ อย่างท่านที่มาปรึกษา ท่านจะช่วยอย่างไร ใช่ไหม ดิฉันก็บอกว่า ตามอัธยาศัยที่ท่านเห็นสมควร แต่อีกท่านหนึ่ง ท่านบอกว่าท่านช่วยมาหมดแล้ว แต่ว่าผู้ที่ถูกช่วยเหลือก็เหมือนเดิม แต่ถ้าช่วยให้เขาเข้าใจพระธรรมก็จะเปลี่ยนจิตใจของเขาได้ เหตุที่จะทำให้เขาพ้นจากวิบากที่ไม่ดีก็จะน้อยลง ถ้าไม่มีความรู้อย่างนี้ สติ คืออะไร ปัฏฐาน คืออะไร อบรมไปเพื่ออะไร ก็ไม่มีความเข้าใจเลย เพียงแต่พูดถึงชื่อเท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นสติปัฏฐานซึ่งเป็นขั้นสูง จะมีความเข้าใจจริงๆ ได้ ต่อเมื่อมีพื้นฐานขั้นต้นที่ถูกต้องจริงๆ ถ้าพื้นฐานไม่มี จะได้ยินได้ฟังเพียงชื่อก็ไม่มีประโยชน์ เพราะเหตุว่าข้อที่ ๑ พูดถึงเรื่องกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน แม้สติคืออะไร เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นเราหรือเปล่า เป็นปรมัตถธรรมอะไร เป็นขันธ์อะไร ก็ยังไม่ทราบ ต่อเมื่อใดทราบ ก็รู้ว่า กว่าจะถึงสติปัฏฐาน ต้องมีความรู้ที่ถูกต้องเพิ่มขึ้นอีก แค่นี้ไม่พอ เพียงแค่วันนี้ ไม่พอ แต่สามารถที่จะเข้าใจความหมายได้ เชิญคุณสุภีร์ ให้ความหมายของคำว่า สติปัฏฐาน

    สุภีร์ ก่อนที่จะให้ความหมายของคำว่าสติปัฏฐาน ขอให้ความหมายของที่คุณพี่ได้ถามเรื่องกรรมสัมพันธ์นิดหนึ่ง ทุกท่านคงจะเคยได้ยินคำว่า มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ จริงๆ คำว่า กรรมพันธุ์ หรือกรรมสัมพันธ์ มาจากคำว่า กรรมพันธุแปลเป็นภาษาไทยเขาแปลว่า มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ คือได้รับผลตามที่สมควรแก่กรรมที่ทำไว้นั่นเอง อย่างเห็นตอนนี้ก็มาจากกรรมๆ หนึ่ง อย่างนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างนี้ เกิดขึ้นเห็นเพราะผลของกรรมๆ หนึ่ง เรียกว่ามีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ เรียกว่ากรรมพันธุ์ ตอนหลังมาก็มาแปลงเป็นกรรมพันธะบ้าง กรรมสัมพันธ์บ้าง ก็แล้วแต่ ซึ่งท่านอาจารย์ก็ได้อธิบายความหมายไปแล้ว คำว่ากรรมสัมพันธ์ก็ดี กรรมพันธุ์ก็ดี หรือว่ากรรมพันธุ์ก็ดี ความหมายจริงๆ คือ ได้รับผลที่สมควรกับกรรมที่ได้กระทำแล้วนั่นเอง ความหมาย คือได้รับวิบากที่สมควรแก่กรรมที่ทำแล้ว

    ท่านอาจารย์ แต่ว่ายุคนี้สมัยนี้ พอได้ยินคำนี้ เข้าใจว่าร่วมกัน ใช่ไหม สัมพันธ์

    สุภีร์ คนละเรื่องกันเลย คำว่าความสัมพันธ์กันในเรื่องของธรรม ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ฉะนั้นความสัมพันธ์ในเรื่องของธรรม คือ ความเป็นเหตุเป็นผลของธรรมนั่นเอง เมื่อทำเหตุอย่างไร ผลก็ได้รับอย่างนั้น อย่างนี้เรียกว่าสัมพันธ์

    ต่อไปเป็นความหมายของคำว่า สติปัฏฐาน แยกมาเป็น ๒ คำ คำว่า สติ กับคำว่า ปัฏฐาน ปัฏฐานแปลว่าที่ตั้ง ที่ตั้งก็คือที่ๆ จะให้สติเกิด หรือที่จะให้สติชนิดนี้ที่เรียกว่า สติปัฏฐาน รู้ระลึกได้ว่าเป็นอย่างไร เพราะเหตุว่าเราได้คุยกันมาพอสมควรแล้วว่า สติเป็นสังขารขันธ์ เป็นเจตสิกปรมัตถ์ เป็นสภาพธรรมที่ระลึกได้ในกุศล แต่นี้เป็นสติทั่วๆ ไป แต่วันนี้เราจะกล่าวในหัวข้อคือ เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่เป็นสติปัฏฐาน ฉะนั้นคำว่าสติปัฏฐาน ในที่นี้ แยกออกเป็น ๒ คือคำว่า สติ กับ คำว่า ปัฏฐาน ปัฏฐาน หรือ ปัฏฐานะ เป็นชื่อของที่ตั้ง แปลว่าที่ตั้งที่จะให้สติระลึก เพราะว่าสติมีสภาพที่ระลึก ระลึกได้ในกุศล ทีนี้มีกุศลอีกประเภทหนึ่งที่เป็นขั้นที่สูงมาก คำว่า สติ สติ คำหน้าคือ สติเจตสิกซึ่งเป็นเจตสิกปรมัตถ์ เป็นสังขารขันธ์ คำหลัง ปัฏฐาน ที่ตั้งที่จะทำให้สติระลึก

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีสติไหม แน่ใจหรือ มี หรือไม่มี มี เมื่อไร ไม่ใช่ขณะที่เห็น เพราะว่าเห็นเป็นจิตที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ประเภท ซึ่งไม่มีสติเกิดร่วมด้วย เพราะว่าเจตสิกจะแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท เจตสิกที่เกิดได้กับจิตทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นกุศล อกุศล วิบาก หรือกิริยา ภาษาบาลี ไม่ทราบจะยากไปหรือเปล่า แต่ก็ฟังไว้เผื่อจะได้ยิน เจตสิกที่สามารถจะเกิดได้กับจิตทุกประเภทชื่อว่า อัญญสมานาเจตสิก ทุกประเภทที่นี้หมายความว่าเกิดกับกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้ วิบากก็ได้ กิริยาก็ได้ อัญญสมานา เวลาที่เจตสิกนี้เกิดจะเสมอกับเจตสิกอื่นที่เกิดร่วมกัน ถ้าเจตสิกที่เป็นกุศลเกิด เจตสิกพวกนี้จะเป็นกุศลด้วย เพราะว่าเวลาที่กุศลเจตสิกเกิด ทั้งจิต และเจตสิกอื่นเป็นกุศลทั้งหมด เวลาที่อกุศลเจตสิกเกิด ทั้งจิต และเจตสิกอื่นเป็นอกุศลหมด เป็นชาติอกุศลหมด

    จิตจะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย อัญญสมานาเจตสิกต้องมี เป็นเจตสิกที่เสมอกันกับจิต และเจตสิกอื่นที่เกิดร่วมกัน ซึ่งอัญญสมานาเจตสิกมีทั้งหมด ๑๓ ประเภท แต่แบ่งออกเป็น สัพพจิตสาธารณะ ๗ นี่ต้องเกิดแน่นอนกับจิตทุกประเภท ส่วนอีก ๖ เกิดกับจิตบางประเภท ไม่เกิดกับจิตบางประเภท แต่ก็เสมอกันกับเจตสิก อื่นๆ นี่เป็นประเภทที่ ๑ อีก ๒ ประเภทก็คือเป็นอกุศลเจตสิกกับเป็นโสภณเจตสิก ถ้าเป็นอกุศลเจตสิกต้องเกิดกับอกุศลจิตเท่านั้น จะไปเกิดกับโสภณเจตสิกไม่ได้เลย เกิดร่วมกันไม่ได้ กุศลเกิดร่วมกับอกุศลได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้น เจตสิกที่เป็นอกุศล จะไปเกิดกับเจตสิกที่ดี ที่เป็นโสภณไม่ได้ นี่ก็คือก่อนที่จะถึงสติปัฏฐานนั่นเอง ถ้าไม่มีความรู้อย่างนี้ ไม่ต้องไปกล่าวถึงสติปัฏฐานเลย เพราะว่านี้กำลังพูดถึงสติเจตสิก ซึ่งไม่ใช่อัญญสมานาเจตสิก จะไปเกิดกับจิตทุกประเภทไม่ได้ สติเจตสิกเป็นโสภณเจตสิก เพราะฉะนั้น เจตสิกจึงมี ๓ ประเภท อัญญสมานาเจตสิก๑ อกุศลเจตสิก๑ โสภณเจตสิก๑ สติเป็นโสภณเจตสิกต้องเกิดกับโสภณจิตเท่านั้น โสภณจิต คือจิตที่ดีงาม ซึ่งจิตทีดีงามเป็นกุศลก็ได้ หรือเป็นกุศลวิบาก คือผลของกุศลที่ดีก็ได้ หรือเป็นโสภณกิริยา เช่นจิตของพระอรหันต์ ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล แต่เป็นกิริยาจิตที่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงสติ ถ้าบอกว่าเดินดีๆ มีสติ ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวหกล้ม ถูกไหม ต้องมีสติเวลาเดินข้ามถนน ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวถูกรถชน พูดอย่างนี้ถูกหรือผิด ต้องคิดก่อน ถูกหรือผิด เมื่อวานนี้อาบน้ำรับประทานอาหารก็เป็นกุศลไปหมดทีหนึ่งแล้ว ใช่ไหม ถ้าอย่างนั้นก็เป็นผู้ที่ร่ำรวยกุศล ทำอะไรก็เป็นกุศลหมดเลย ไม่ใช่ ร่ำรวยอะไร อกุศล โลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง เสมอเป็นประจำ ขณะใดที่ไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล ไม่เป็นไปในการอบรมเจริญความสงบของจิตจากอกุศลใดๆ ทั้งนั้น และอบรมเจริญปัญญาเท่านั้นที่จะเป็นกุศล นอกจากนั้นเป็นอกุศลหมด

    ถ้าเดินดีๆ เวลาข้ามถนนต้องมีสติ ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวจะถูกรถชนตาย คำพูดนี้ถูกหรือผิด ผิด ถ้าไม่รู้อย่างนี้ว่า สติคืออะไร เจริญสติปัฏฐานได้ไหม อบรมเจริญสติปัฏฐานได้ไหม ก็ไปข้ามถนนด้วยสติ เพราะคิดว่าขณะนั้นเป็นสติปัฏฐานก็ได้ แต่นั่นไม่ถูกต้อง การฟังพระธรรมเพื่อให้มีความเห็นถูก ประโยชน์สูงสุดคือต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างใจ ต่างคนต่างเข้าใจว่า ตนเองมีเหตุผล แต่ใครจะรู้ว่า อะไรถูกอะไรผิด ต้องเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    การศึกษาพระธรรม ทำให้เราเริ่มเป็นคนตรงต่อพระธรรม ต่อไปนี้เราจะไม่ใช่คำว่าสติง่าย แล้วก็โดยไม่เข้าใจเลยว่าสติคืออะไร มีลักษณะอย่างไร เพียงได้ยินตั้งแต่เด็กจนโตก็ใช้คำนี้มาเรื่อย โดยที่ว่าไม่รู้ความหมายจริงๆ

    เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้ก็คือว่าต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ว่าสติเป็นปรมัตถธรรม หรือเปล่า เป็น เป็นขันธ์หรือเปล่า เป็น เป็นขันธ์อะไร สังขารขันธ์ เป็นเราหรือเปล่า อยากให้สติเกิด แล้วสติจะเกิดเพราะความอยากหรือเปล่า ไม่ เพราะฉะนั้น ต้องมีเหตุ ทุกอย่าง สภาพธรรมนั้นๆ จึงจะเกิดขึ้นมาได้

    ด้วยเหตุนี้ต้องทราบว่า สติเป็นธรรมฝ่ายดี ขณะที่ให้ทาน วันนี้ไม่ทราบว่าจะมีบ้างหรือยัง คือว่า แม้สิ่งของเพียงเล็กน้อย แต่เพื่อประโยชน์ของผู้รับ ขณะนั้นเป็นกุศลจิต ซึ่งเพราะสติเกิดระลึกเป็นไปในทาน เพราะว่าทุกวันๆ คนส่วนใหญ่ยิ่งในยุคนี้ หรือยุคต่อไปจะเพิ่มความเห็นแก่ตัวขึ้น เพราะไม่เข้าใจพระธรรม ไม่เข้าใจธรรม ไม่มีการฟังธรรมเลย มีแต่ความเห็นว่า เป็นเรา แล้วสิ่งที่ต้องการมาก คือ เวทนา ความรู้สึกเป็นสุข จากรูป จากเสียง จากกลิ่น จากรส จากสัมผัส เพราะฉะนั้น ก็แสวงหาเพื่อความเป็นเรา แต่ว่าจริงๆ แล้ว ถ้ารู้ว่า ไม่มีเรา แต่มีกุศลจิต และอกุศลจิต ทีนี้เราก็เริ่มคิดแล้ว ใช่ไหม เราจะสะสมอกุศลจิต ซึ่งเป็นเหตุให้ทำอกุศลกรรม ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดอกุศลวิบาก หรือว่าเราจะสะสมกุศลจิต ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลกรรม แล้วเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลวิบาก

    ผู้ฟัง ผมใคร่เรียนถามเป็นข้อสงสัย จากที่ท่านอาจารย์บรรยายเรื่อง สติปัฏฐาน ๔ ผมก็นึกถึงว่า สำนักต่างๆ ไม่ว่าฆราวาสหรือบรรพชิตที่เปิดวิปัสสนากรรมฐาน ๑๐ วันบ้าง ๑๕ วันบ้าง เอาผู้คนไปแล้วไม่ได้ไปสอนรากศัพท์พวกนี้ ไม่ได้สอนในแนวของอาจารย์ ไปถึงก็ใส่ชุดขาว ทำพิธีในสำนักใคร สำนักมัน ๑๐ วันบ้าง ๑๕ วัน ๗ วันบ้าง มันจะผิดเพี้ยนหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ สอนสำหรับคนไม่รู้ ถูกต้องไหม คนไม่รู้ สอนคนไม่รู้ให้ไม่รู้ต่อไป หรือว่าสอนให้คนเข้าใจถูก จนกระทั่งเป็นความเห็นถูกเพิ่มขึ้น ต้องเป็นผู้ที่ตรง

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 97
    23 มี.ค. 2567