ปกิณณกธรรม ตอนที่ 297


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๙๗

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

    พ.ศ. ๒๕๔๒


    ท่านอาจารย์ ๒ คนนี้ก็ต่างกันแล้วใช่ไหม คนหนึ่งต้องการที่จะเห็น จะรู้ จะกำหนด จะพิจารณา อีกคนหนึ่งฟังเพื่อละความไม่รู้ แล้วก็เข้าใจเพิ่มขึ้น แล้วรู้ว่า ปัญญาเท่านั้น ที่จะละความไม่รู้ออกได้มากขึ้น เพราะว่าในขณะที่กำลังเห็น ยังไม่ได้รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมตามความเป็นจริง เพียงแต่เริ่มฟัง เริ่มรู้ว่ามีจริงๆ เริ่มเข้าใจว่า แท้จริงแล้วไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงธาตุแต่ละชนิดที่เกิดขึ้น แต่เมื่อไรที่ปัญญายังไม่เกิด การที่จะจางความเป็นเราออกจากเห็นที่กำลังเห็น มีไม่ได้เลย จนกว่าเมื่อไรที่สัมมาสติเกิด แล้วศึกษาลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่จากหนังสือ จากลักษณะที่กำลังปรากฏในขณะนี้เอง เริ่มค่อยๆ เข้าใจขึ้น จนกว่าความสมบูรณ์ของปัญญาแต่ละขั้นจะเกิด แล้วเมื่อถึงวาระ ถึงขั้นของปัญญา ที่จะจางความเป็นตัวตนของเราออกไป ก็จะต้องเป็นผู้นั้นเองที่สามารถจะรู้ได้ว่า ระดับของปัญญาขั้นไหน จึงสามารถที่จะคลายความเป็นเรา ออกจากสภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะต้องมีการละคลาย ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะไปประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมได้ แต่ก่อนจะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม ปัญญาต้องรู้จนคลาย คนนั้นจะรู้ได้เลยว่า ที่คลายได้เพราะรู้แค่ไหน รู้อย่างไร ถ้ายังไม่ถึงระดับจะคลาย ก็จะต้องอบรมเจริญปัญญา จนประจักษ์ความจริงของสภาพธรรม ถึงระดับที่เริ่มคลาย จนกว่าสามารถที่จะคลาย จนประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมได้

    ผู้ฟัง เมื่อพูดถึงเรื่องสมาธิ สมาธิ มี ๒ อย่างคือ มิจฉาสมาธิอย่างหนึ่ง กับสัมมาสมาธิอย่างหนึ่ง แล้วทางพุทธศาสนา นิยมยกย่องสรรเสริญสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิต่างกับมิจฉาสมาธิอย่างไร

    ท่านอาจารย์ มิจฉาสมาธิเกิดกับอกุศลจิต สัมมาสมาธิเกิดกับกุศลจิต

    ผู้ฟัง ถ้าผู้ไม่รู้ลักษณะของกุศล เช่นพรุ่งนี้คิดว่าเราจะได้ไปเที่ยวต่างประเทศ กลางคืนนอนฝันหวาน พรุ่งนี้เราได้ขึ้นเครื่องบินแล้ว มีความยินดีพอใจอย่างยิ่งทีเดียวที่จะได้ไปเห็นสิ่งที่ดีงามทั้งหลาย ซื้อของ อะไรอย่างนี้ เป็นต้น อันนี้ก็เป็นความตั้งมั่นในระดับหนึ่งเหมือนกันที่ว่า จ้องไว้ว่าพรุ่งนี้จะได้ไปต่างประเทศ ในขณะนั้น เป็นสมาธิหรือเปล่า ในขณะที่ตั้งมั่นคิดอยู่ในเรื่อง

    ท่านอาจารย์ ต้องศึกษาให้ทราบว่า เจตสิกต่างกันเป็น ๕๒ ชนิด เจตนาเป็นสภาพที่จงใจ ตั้งใจ เป็นเจตสิกชนิดหนึ่งเกิดกับจิตทุกประเภท ทุกขณะ ไม่เว้นเลย ตั้งแต่เกิดจนตาย แม้แต่กำลังนอนหลับสนิท เอกัคคตาเจตสิก ซึ่งใช้คำว่า สมาธิ เป็นสภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์ทีละ หนึ่งอารมณ์เกิดกับจิตทุกขณะ เพราะฉะนั้น เจตนาเจตสิกไม่ใช่เอกัคคตาเจตสิก แต่เกิดพร้อมกันทุกครั้ง

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น สัมมาสมาธิ ผู้เจริญธรรม ถ้าระลึกถึงสภาวะธรรม ในขณะนั้นก็เป็นเอกัคคตา ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ขณะนั้นต้องมีเอกัคคตาเจตสิกเกิด แต่ถ้าพูดถึงว่าเป็นผู้ศึกษา คือ รู้ว่าศึกษาอะไร เพราะว่าเรื่องของการศึกษามีหลายเรื่อง แต่ว่าศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดง ก็มีทางเดียว คือ ศึกษาพระไตรปิฎก และอรรถกถา อย่างอื่นไม่ใช่คำสอนแน่นอน ถ้าเป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงประมวลไว้คือ พระไตรปิฎก และอรรถกถา ถ้าอ่านแล้วไม่เข้าใจก็ต้องทราบว่า ต้องมีที่อื่นที่จะอธิบาย แล้วด้วยการไตร่ตรองจริงๆ พิจารณาข้อความนั้นกับสภาพธรรมที่มีจริงๆ ก็ต้องรู้ว่า สอดคล้องกัน เช่น เรื่องของโลภะ โทสะ โมหะ เป็นเรื่องที่มีจริง เพราะฉะนั้น ถ้ามีข้อความใดที่แสดงความละเอียด ความชัดเจน ความกระจ่างให้รู้เพิ่มขึ้นในลักษณะของธรรมที่มีจริงๆ จะจากใครก็ได้ แต่ต้องทั้งหมดจากพระไตรปิฎก และอรรถกถา ไม่ใช่ว่าจากใครก็ได้ซึ่งไม่ได้ศึกษาธรรม แล้วก็คิดเอง พูดเอง อย่างนั้นไม่ใช่ เพราะเหตุว่าจะไม่ทำให้เข้าใจจริงๆ นอกจากเป็นความเห็นของแต่ละบุคคล เช่นถ้าบอกว่าให้บังคับ แล้วเราก็รู้ว่า บังคับไม่ได้ เพราะฉะนั้น คนนั้นสอนถูกหรือสอนผิด แต่ว่าถ้าให้เข้าใจว่า สิ่งที่มีจริงคืออะไร ไม่ใช่ตัวตน จริงไหม ถ้าไม่มีตา จักขุปสาทก็ไม่เห็นขณะนี้ จริงหรือไม่จริงเมื่อเห็นแล้วเกิดโลภะ หรือโทสะ หรือเกิดกุศล ก็จริงอีก เพราะฉะนั้น สภาพธรรมเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไรทำไมบังคับไม่ได้ว่า ให้เป็นกุศลไปตลอด หรือว่าให้ปัญญาเกิดมากๆ ให้ดับกิเลสหมดเลย

    นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งเห็นได้ว่า ถ้าเป็นธรรมที่จริง ตรงตามพระไตรปิฎก จะรับฟังจากไหน ใครก็ได้ ที่ไหนก็ได้ เมื่อไรก็ได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่พิจารณา

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่ามีอาจารย์ที่ผูกขาดว่า ต้องเป็นท่านผู้นี้ ไม่ใช่เลย ใครก็ตาม ไม่มีชื่อ ขณะนั้นกำลังมีเสียงที่ปรากฏ แล้วก็คนฟังก็พิจารณาเข้าใจว่า ตรงนี้ถูก แต่ถ้าถูกบ้าง ผิดบ้าง ผู้ฟังก็มีโอกาสจะพิจารณาว่า ตรงนั้นไม่ถูก ต้องนี้ผิด เพราะฉะนั้น ไม่มีใครจะไปผูกขาด หรือไปบังคับ แต่ว่าเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งสามารถจะพิจารณา และเข้าใจได้ว่า ตรงไหนถูก ตรงไหนผิด หรือว่าถูกเป็นส่วนใหญ่ หรือว่าผิดเป็นส่วนใหญ่ อันนี้ก็คงพอจะเข้าใจได้ว่า การศึกษาธรรม หมายความถึงศึกษาให้เข้าใจถึงสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเพิ่มขึ้นตามความเป็นจริง

    อดิศักดิ์ มีคำถามนี้ถามมาหลายทีแล้วว่า การที่เรากินเนื้อสัตว์ เหมือนกับเป็นการสนับสนุนให้คนอื่นต้องฆ่า และขายเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นอีก แล้วเราต้องชดใช้กรรมด้วย ใช่ไหม

    พระพุทธองค์ในพระไตรปิฎก ท่านไม่ได้ห้ามการฉันเนื้อ ห้ามเป็นบางเนื้อ เช่น เนื้อสุนัข เนื้อเสือดาว ท่านห้ามเพราะว่ามันมีเหตุ แล้วพระพุทธองค์ได้ตรัสห้ามไว้ พระภิกษุสงฆ์เราต้องเป็นผู้เลี้ยงง่าย ไม่ใช่ว่าเขาเอาแกงเนื้อมาให้ แล้วบอกไม่เอา ฉันฉันเนื้อไม่ได้ เอาแกงขี้เหล็ก อย่างนี้มันได้อย่างไร ไปต่อรองกับญาติโยมได้อย่างไร ญาติโยมท่านศรัทธามาอย่างไร พุทธองค์ตรัสไว้แล้ว ภิกษุต้องเป็นผู้เลี้ยงง่าย มีเหตุผลหรือเปล่า การที่ปัญญาจะเกิดหรือไม่เกิด ไม่ใช่ว่าไม่กินเนื้อ ปัญญาจะเกิดหรือไม่เกิดต้องอยู่ที่การอบรม ถ้าปัญญาจะเกิดด้วยการไม่กินเนื้อ วัวควายกินแต่หญ้า มันมีปัญญาที่ไหน เราต้องมีเหตุผล ถ้าเราจะเป็นพุทธศาสนิกชน การที่ว่าเพราะเรากินเนื้อ เท่ากับสนับสนุนให้คนฆ่าสัตว์ เนื้อคนไม่มีใครกิน ฆ่ากันทุกวัน ถูกหรือเปล่า ฆ่ากันด้วยกิเลส ครับ ต้องเข้าใจตรงนี้ คนเราฆ่ากัน ฆ่ากันด้วยกิเลส ไม่ได้ฆ่ากัน เพราะว่ามีคนไปกิน เนื้อคนไม่มีใครกิน ฆ่ากันทุกวัน ถูกไหมครับ พระพุทธเจ้าไม่ได้ห้าม แต่ห้ามเนื้อบางชนิด

    สมพร พระองค์ทรงรังเกียจ เขาฆ่าสัตว์เจาะจงเรา ถ้าเรารู้ว่าเขาฆ่าสัตว์เพื่อจะเลี้ยงเรา ก็ห้ามภิกษุไม่ให้ฉัน ถ้าภิกษุฉันก็ต้องอาบัติ หรือมีความรังเกียจ อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าเขาฆ่าธรรมดา แล้วมีคนทำอาหารมาถวาย เราไม่รู้ ไม่เห็น ไม่มีความรังเกียจ ก็ฉันเนื้อสัตว์ได้ ฉันได้เฉพาะเนื้อที่พระองค์ทรงอนุญาต เพราะเราไม่ได้ฆ่าเอง ถึงว่าเราไม่รับประทานเนื้อ เขาก็ต้องฆ่าเนื้อ คนที่รับประทานเนื้อมากมายมหาศาล เพราะฉะนั้น เราไม่ต้องชดใช้กรรม ถ้าหากว่าเราไม่ได้ฆ่า อย่างภิกษุต้องมีความประณีตขึ้นอีกหน่อยหนึ่ง มีความไม่รังเกียจว่า เขาฆ่ามาถวายเรา คือเจาะจงเรา ถ้ารังเกียจก็ฉันไม่ได้ ทั้งๆ ที่ไม่รู้ไม่เห็น แต่ว่ามีความรังเกียจ แต่ไม่มีความรังเกียจ เช่น บิณฑบาต แล้วเขาก็เอาอาหารเนื้อมาถวาย เราก็รับได้ ฉันได้ แต่ว่ามีข้ออยู่อย่างหนึ่งสำหรับภิกษุ จะฉันเนื้อหรือไม่ใช่ฉันเนื้อก็ตาม ต้องพิจารณาก่อน แล้วก็ฉัน ถ้าไม่พิจารณาก็ไม่ควร สำหรับภิกษุ ส่วนพวกเราโดยมากไม่ได้พิจารณา ก็รับประทานเลย ต่างกันอยู่

    ผู้ฟัง รู้ที่เป็นเรารู้ กับรู้ที่เป็นจิตรู้ ต่างกันอย่างไร

    ธนิต เวลานี้ทั้งๆ ที่รู้แล้วจากการเรียนจากการศึกษา ก็เป็นเรารู้ทั้งนั้น แต่ขณะที่เป็นเรารู้ สภาพรู้ที่เป็นธาตุรู้ ก็กำลังมีกำลังเกิดขึ้น แล้วก็ทำหน้าที่ แต่เนื่องจากอวิชชาเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไปยึดถือขันธ์ ๕ เป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ก็ยังเป็นเรารู้ เพราะฉะนั้น มันเป็นเรื่องเฉพาะตนๆ พอฟังก็เริ่มต้นค่อยๆ เข้าใจขึ้น ความเข้าใจ หมายถึงสภาพธรรมที่เกิดในจิต ที่เรียกว่า ปัญญาเจตสิก อีกลักษณะหนึ่ง

    เวลานี้ยังเป็นเราฟัง ถ้ายังไม่ขาดการฟังก็สะสมไปเรื่อยๆ จากความรู้ที่ค่อยๆ รู้ขึ้นละเอียดขึ้น มันก็จะค่อยๆ สะสมความเข้าใจขึ้น แล้วสักวันหนึ่งความเข้าใจที่เป็นธาตุรู้จะค่อยๆ เกิดขึ้น แล้วจะเข้าใจขึ้น ความที่เป็นตัวเรารู้ มันก็แสดงความจริงอย่างนี้ ไม่ทราบว่าพอจะเข้าใจไหม

    อดิศักดิ์ อัจฉริยสูตร เมื่อตถาคตแสดงธรรม อันหาความอาลัยมิได้อยู่ หมู่สัตว์นั้นยอมฟังด้วยดี เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึงนั้น อันหาความอาลัยมิได้อยู่นี้ ที่พระตถาคตแสดงนั้น หมายความแค่ไหน

    สมพร คำว่า อาลัย คือ อาลยัง เป็นชื่อหนึ่งของตัณหา อาลยัง หรืออาลัย เราภาษาไทยเรียกว่า อาลัย ภาษาบาลี เป็น อาลยัง เป็นชื่อหนึ่งของตัณหา เมื่อตัณหามีแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างก็เกิดขึ้น เพราะตัณหาเป็นตัวต้องการ ตัณหาซึ่งประกอบด้วยโลภะ โสมนัส เราก็ยินดี ติดใจ บันเทิงได้ แต่ในทางที่ไม่ดี

    ท่านอาจารย์ อ่านต่อในอรรถกถา คือ อีกแผ่นหนึ่งก็จะมีคำอธิบาย คือ อรรถกถา อัจฉริยสูตร เบญจกามคุณหรือวัฏฏะทั้งสิ้น ชื่อว่า อาลัย เพราะอรรถว่า พึงถูกตัณหา และทิฏฐิยึดไว้ นี่คือความหมายของอาลัย ได้แก่ ความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ หรือในวัฏฏะนั่นเอง

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ภาษาไทยเราที่ใช้คำว่า อาลัย ยังมีเยื่อใย ยังไม่สละ ยังติดข้องอยู่ แล้วที่เราติดเป็นประจำก็คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นวัฏฏะ คือเป็นชีวิตจริงๆ ทุกๆ วันวัฏฏะของเราก็ไม่พ้น จากความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ

    ต่อไปก็เป็นคำอธิบายที่ว่า อาลัยเป็นที่ยินดีของหมู่สัตว์นี้ เหตุนั้นหมู่สัตว์นี้ จึงชื่อว่าอาลยารามะ มีอาลัยเป็นที่ยินดี อาลยารามะ เป็นคำที่ฟังไพเราะ แต่ว่าความหมายคือว่า เป็นผู้ที่มีอาลัย คือ มีรูป มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีโผฏฐัพพะ เป็นที่ยินดี

    ชื่อว่า อาลยรตะ เพราะยินดีแล้วในอาลัย

    ชื่อว่า อาลยสัมมุทิตะ เพราะบันเทิงแล้วในอาลัย

    ชื่อว่า อนาลเย ธัมเม ความว่า อริยธรรมอาศัยวิวัฏฏนิพพานที่ตรงกันข้ามกับอาลัย

    บทว่า สุสฺสุสติ คือเป็นผู้ใคร่จะฟัง บทว่า โสตัง โอทหติ แปลว่า เงี่ยโสต

    ความจริงทั้งหมดก็เป็นชื่อของทุกท่านที่กำลังนั่งอยู่ที่นี่ ตามความเป็นจริง แต่ทรงแสดงให้เห็นว่า ปกติทุกคนเป็นผู้ยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่ว่าเมื่อได้ฟังพระธรรม อาศัยวิวัฏฏนิพพาน ที่ตรงกันข้ามกับอาลัย คือเป็นผู้ที่ใคร่จะฟัง แปลว่าเงี่ยโสต ขณะนี้ที่กำลังตั้งใจฟังพระธรรม ซึ่งเป็นทางออกจากความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ผู้นั้นก็มีความสนใจ เข้าไปตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึงธรรม

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นตัวเราที่ทุกคนในขณะนี้ที่ฟังธรรม ปกติก็เป็นผู้ที่ติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ เมื่อมีความปรากฏแห่งพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ความอัศจรรย์ที่ไม่เคยมี ๔ ประการ สามารถที่จะเปลี่ยนเราจากการเป็นผู้ที่ติดมากในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ให้เป็นผู้ที่ยังเงี่ยโสต ยังสนใจที่จะเข้าใจว่า พระธรรมที่ทรงตรัสรู้ และทรงแสดงนั้นตรงกันข้ามกับความอาลัย หมายความว่า เรื่องของอาลัยเป็นเรื่องของความติดข้อง แต่พระธรรมที่ทรงแสดงนั้นเพื่อละความอาลัย ความติดข้อง แต่แม้กระนั้นก็ยังสนใจที่จะฟัง นี่ก็คือความน่าอัศจรรย์ของพระธรรม

    ผู้ฟัง ฟังแล้วรู้อรรถ และธรรม ๒ ตัว ขอขยายความว่า เพื่อพวกเราจะได้ฝึกฟังด้วยดีว่า ฟังแล้วให้รู้ อรรถ และรู้ ธรรม ด้วย

    ท่านอาจารย์ อันนี้ก็เป็นภาษาบาลีซึ่งอาจารย์สมพรท่านจะให้ความหมายของ อรรถ และธรรม

    สมพร ถ้ามีทั้ง อรรถ มีทั้ง ธรรม ก็หมายความว่ามีทั้งเหตุ และผล ธรรมเป็นเหตุ อรรถเป็นผล พูด สั้นๆ เหมือนเราจะฟังศึกษาอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าเราเห็นว่าไม่ประกอบด้วยเหตุผล เราก็ไม่เชื่อ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมประกอบด้วยอรรถ และประกอบด้วยธรรม คือประกอบด้วยเหตุผล เราฟังแล้วเราก็รู้เรื่อง เข้าใจ เมื่อรู้เรื่องก็ปฏิบัติตาม ขณะนั้น เป็นความดีของเรา

    ผู้ฟัง คำว่า อรรถ อยากจะบอกว่า ถ้ารู้อรรถของคำว่าอาลัย ในนี้อรรถก็บอกอยู่แล้ว คือ อรรถว่า พึงถูกตัณหา และทิฏฐิยึดไว้ อันนี้ก็เข้าใจว่าฟังธรรมแล้ว เธอต้องรู้อรรถ อรรถนี้ก็เข้าใจแล้ว เพราะในนี้มี ดิฉันก็มาติดคำว่า ธรรม อยู่ตัวหนึ่งว่า รู้อรรถ และธรรม รู้คำว่ารู้ธรรม ดิฉันแปลเอาเองจากความเข้าใจของตัวเอง คือรู้ตัวธรรม

    ท่านอาจารย์ คุณสุรีย์ คงจะประกอบกันได้ทั้งหมด คือ ถ้าเรารู้จักว่า ธรรมคืออะไร ถ้าไม่มีธรรมอะไรๆ ก็ไม่มีทั้งนั้น แต่เพราะเหตุว่าธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้น ก็ทรงแสดงว่า ธรรมที่มีจริง พร้อมทั้งอรรถด้วย และธรรมด้วย ต้องมีเหตุ และมีผล อย่างโลภะ ก็ต้องมีเหตุที่จะให้เกิด ไม่ใช่ไม่มี และอรรถทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นในอรรถกถาหรือในพระไตรปิฎก ก็แสดงให้เห็นว่า เป็นความหมายซึ่งถ้าไม่มีคำอธิบายหรือความหมาย ซึ่งก็หมายความถึง คำอธิบายความหมายให้เข้าใจลักษณะของธรรมนั่นเอง ถ้าธรรมไม่มีลักษณะที่จะต้องรู้ ก็ไม่มีคำอธิบายว่า ธรรมนั้นมีลักษณะอย่างไร แต่เพราะเหตุว่าธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง มีลักษณะที่จะสามารถให้เราค่อยๆ ศึกษาค่อยๆ เข้าใจได้ เพราะฉะนั้น อรรถ คือความหมายของลักษณะของธรรมซึ่งมีลักษณะแต่ละอย่าง คำสอนของพระผู้มีพระภาคจึงทรงถึงพร้อมด้วยอรรถพยัญชนะ คือ คำ ซึ่งมีความหมายในคำนั้นๆ ที่จะทำให้เราเข้าใจในสภาพธรรม ส่วนอรรถธรรมในที่บางแห่ง ธรรม หมายความถึงเหตุ อรรถ หมายความถึงผล แต่ทั้งหมดก็ต้องประกอบกัน เพราะธรรมจะเกิดขึ้นมาได้ต้องมีเหตุ โลภะก็ต้องมีเหตุ และอรรถคือลักษณะของธรรมที่ทรงแสดงนั้นคืออย่างไร เป็นเรื่องของลักษณะของเหตุของผลของธรรม ทั้งหมด คงจะเข้าใจได้ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง เข้าใจ ทีนี้ดิฉันก็เลยนึกเลยไปว่า ตัวธรรมที่รู้ธรรมด้วย คือว่าเราไม่ได้รู้แต่ตัวหนังสือ หรือเป็นอรรถ ซึ่งเป็นความหมาย แต่เราต้องรู้ถึงลักษณะของธรรม ตัวจริงของธรรมด้วย

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าขณะนี้ที่เราพูดถึงโลภะมีจริงๆ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่ตัวตน เป็นอนัตตา เป็นสภาพธรรมที่ติดข้อง นี่คือความเข้าใจในคำ พยัญชนะที่ส่องอรรถ ความหมาย คือลักษณะของโลภะคืออย่างนี้ จึงใช้อรรถอย่างนี้ เพื่อที่จะอธิบายให้เข้าใจลักษณะของโลภะว่าเป็นอย่างนี้ แต่ว่าเมื่อฟัง ในขณะที่กำลังฟัง โดยที่ว่าโลภะก็กำลังเกิดดับ ไม่ได้รู้ลักษณะของโลภะ กับการฟังแล้วมีการเข้าใจว่า ขณะนี้เป็นเรื่องราวของสภาพธรรม ทั้งๆ ที่สภาพธรรมจริงๆ ก็กำลังเกิดดับอยู่ทุกขณะ ไม่ว่าจะพูดเรื่องจิตกี่ประเภท ขณะนี้จิตก็เกิดดับ ทำหน้าที่ของจิต พูดถึงเจตสิกแต่ละประเภท เจตสิกนั้นๆ ก็เกิดดับ ทำหน้าที่ของเจตสิก แต่กำลังพูด กำลังศึกษาเรื่องราวของจิต และเจตสิก คือเรื่องราวของสภาพธรรม จนกว่าจะมีความเข้าใจในอรรถ ในลักษณะของสภาพธรรมพอสมควรที่จะเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิด ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดปรากฏ จึงจะเข้าใจอรรถนั้นว่า ตรงกับที่ได้ศึกษา

    การฟังพระธรรมต้องฟังบ่อยๆ แล้วก็ให้ทราบว่า พระธรรมที่ทรงแสดงสำหรับทุกคนที่ฟัง เพราะว่าจะได้ประโยชน์ ได้ความเข้าใจ ถ้าจะพิจารณา แม้ใน อัจฉริยสูตร เราก็ไม่ได้ฟังข้อความแต่เพียงเรื่องของความยินดีในอาลัย หมายความถึงความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นประการที่หนึ่ง ที่เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ ทรงแสดงธรรม ก็มีผู้ที่สนใจฟังธรรม แม้แต่เป็นผู้ที่ยังติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ

    นอกจากนั้นยังชี้ให้เห็นถึงตัวเรา ซึ่งไม่ใช่มีความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะเหตุว่าประการที่ ๒ หมู่สัตว์ผู้มีมานะ เป็นที่รื่นรมย์ ชี้ให้เห็นตัวเรา ให้สิ่งที่เราเคยมีมากๆ แล้ว ไม่เคยรู้เลยว่า เป็นโทษ คือมานะ นอกจากความติดข้องก็ยังมีความสำคัญตน หมู่สัตว์ที่มีความสำคัญตน ก่อนฟัง เวลาที่ได้ฟังแล้วก็ได้รับประโยชน์จากการฟัง คือให้เข้าใจสิ่งที่มีในตนว่า มีอะไรบ้าง นอกจากมีโลภะ แล้วก็ยังมีมานะ มีความสำคัญ ฟังเพื่อที่จะละมานะ เพราะฉะนั้น การฟังทั้งหมด ฟังเรื่องโลภะ เพื่อ ละโลภะ ฟังเรื่องมานะ เพื่อละมานะ นี่เป็นประการที่ ๒ เรื่องมานะ

    ประการที่ ๓ คือ หมู่สัตว์ผู้มีความไม่สงบเป็นที่รื่นรมย์ ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ขณะนั้นเป็นผู้ที่ไม่สงบ แล้ววันหนึ่งๆ อกุศลจิตเกิดมากไหม ไม่เคยรู้เลย เข้าใจว่าบางครั้งบางขณะสงบ แต่ความจริงถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม จะไม่ทราบเลยว่า ที่เข้าใจว่าบางครั้งสงบ แท้ที่จริงก็ไม่ใช่ความสงบ นี่คือประโยชน์ของการที่ได้ฟังเพื่อละความไม่สงบ

    ประการที่ ๔ คือ หมู่สัตว์ผู้ตกอยู่ในอวิชชา เป็นผู้มืด เมื่อพระตถาคตแสดงธรรม อันเป็นเครื่องปราบปรามอวิชชาอยู่ หมู่สัตว์นั้นย่อมฟังด้วยดี เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง นี่คือประโยชน์ของการฟังแล้วฟังอีกจริงๆ เพราะว่าเป็นเรื่องของแต่ละคน ซึ่งมีอกุศล เพลิดเพลินในอกุศลต่างๆ แต่เมื่อมีศรัทธาที่จะได้ฟัง ประโยชน์จากการฟังก็คือได้ความรู้ ได้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งสามารถที่จะละอกุศลนั้นได้

    นี่คือ อัจฉริยสูตร ความน่าอัศจรรย์ในความปรากฏของพระพระตถาคตเจ้า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔ ประการ

    อดิศักดิ์ ในประการที่ ๒ ที่แสดงว่า เมื่อพระตถาคตทรงแสดงธรรม อันเป็นเครื่องปราบปรามมานะอยู่ ท่านอาจารย์ช่วยกรุณาขยายความให้ชัดเจนขึ้น

    ท่านอาจารย์ ธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงเพื่อละอกุศล ถ้าไม่รู้ว่ามีอกุศล ก็ละอกุศลไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า มานะซึ่งมีอยู่ซึ่งจะหมดสิ้นไปได้ หรือว่าละคลายบรรเทาลงไป ก็เมื่อได้ฟังพระธรรม

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 97
    23 มี.ค. 2567