ปกิณณกธรรม ตอนที่ 300


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๐๐

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

    พ.ศ. ๒๕๔๓


    ท่านอาจารย์ เพราะการฟังธรรม เราก็ทราบว่าการศึกษาธรรม หรือการฟังธรรมโดยผิวเผิน โดยไม่รอบครอบ บุคคลนั้นก็จะไม่ได้รับความถูกต้องในธรรมเลย แต่จะมีความเข้าใจผิด มีการปฏิบัติผิด สิ่งที่ทำอยู่ไม่ตรงตามที่ได้ทรงแสดงไว้

    เรื่องของธรรมเป็นเรื่องที่ต้องทราบว่า ที่ทรงแสดงพระธรรมไว้ทั้งหมดเพื่ออนุเคราะห์ผู้ที่ใคร่จะศึกษา ใคร่ที่จะเกิดปัญญารู้ความจริงของสภาพธรรม และเป็นผู้ที่เข้าใจจริงๆ ว่า พระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงด้วยพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้ามีความเห็นถูกจริงๆ คือว่า ไม่ใช่ไปพยายามรู้เหมือนหรือรู้เท่าตามที่มีข้อความกล่าวไว้ แต่รู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร ทรงแสดงอย่างนั้น แล้วข้อสำคัญคือว่า เพื่อการละ ไม่ใช่เพื่อการติดข้อง ไม่ใช่เพื่อการต้องการที่จะเป็นพระอริยบุคคล โดยที่ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่ก็ต้องการที่จะเป็นพระอริยบุคคล เพราะเข้าใจผิดคิดว่าจะเป็นได้ ทำได้ นี่ก็ประการหนึ่ง แล้วอีกประการหนึ่งคือว่า เรื่องของการที่จะให้คนอื่นได้ฟังธรรม ต้องพิจารณาด้วยว่าคนนั้นเขาพร้อมหรือไม่ ถ้าเขาไม่พร้อม ไม่มีประโยชน์เลย คำพูดดีก็เป็นคำพูดที่ไม่ดี น่าเบื่อ อย่างบางคนก็บอกว่า ไม่เห็นได้ยินอะไร นอกจากนามธรรมกับรูปธรรม ได้ยินมาตั้ง ๒๐ ปี ๓๐ ปี ก็พูดเรื่องเก่าซ้ำไปซ้ำมา บางคนก็อาจจะเข้าใจอย่างนั้น แต่แทนที่จะคิดว่า แล้วฟังมาอย่างนั้นแล้วรู้ความจริงของสภาพธรรมหรือยัง คือไม่คิดเรื่องที่จะเข้าใจจริงๆ แต่คิดว่าต้องการอะไรอีก ต้องการจะฟังอะไรอีก แต่ไม่ใช่ต้องการที่จะเข้าใจแม้เพียงคำ ๒ คำ ๓ คำ ๑๐ คำ ให้เข้าใจจริงๆ เพิ่มขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะเข้าใจข้อความในพระไตรปิฎก ทั้งอรรถ และพยัญชนะได้

    นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งแต่ละคนสะสมมาไม่เหมือนกัน เป็นเรื่องของเราที่จะทราบตามความเป็นจริงว่า ผู้ที่มีพระมหากรุณาคุณมากสูงสุดถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญพระบารมี ทรงอนุเคราะห์บุคคลซึ่งแม้ว่าจะอยู่แสนไกล แต่ถ้าเขาสามารถที่จะเข้าใจธรรมได้ ก็เสด็จไปโปรดแม้เพียงบุคคลเดียว ก็ทรงมีพระมหากรุณาอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น ความคิดความหวังดีของเราเทียบกันไม่ได้ทั้งปัญญา ทั้งความบริสุทธิ์ และทั้งความกรุณา แต่เราก็ทำเท่าที่เราจะทำได้ โดยที่ว่าไม่เป็นทุกข์ เพราะเหตุว่าถ้าจะพิจารณาการสะสมของคนจะเห็นได้ว่า คนที่สะสมมาเพียงกุศลจิตขั้นทาน ขั้นศีลมีมาก แต่ว่าที่จะสะสมมาที่จะฟังพระธรรมซึ่งหายากที่จะได้ยินได้ฟังในชาติที่เกิดเป็นมนุษย์ แล้วก็อยู่ในประเทศหรือในที่ๆ สามารถจะได้ยินได้ฟังธรรมได้ นี่ไม่ใช่เรื่องที่สำหรับทุกคน

    ถึงแม้ว่าจะอยู่ในที่ๆ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับ คนที่ไม่ได้สะสมมาก็ไม่ไปเฝ้า ไม่ฟังธรรมในครั้งอดีต แล้วในปัจจุบันนี้จะมีมากสักแค่ไหน เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่ฟังพระธรรมด้วยความมั่นคงที่จะเข้าใจจริงๆ แล้วมีความเป็นมิตรกับบุคคลอื่นพร้อมที่จะเกื้อกูล เมื่อถึงกาลที่จะกระทำได้ แต่ถ้าไม่ถึงกาลนั้นก็ทำอะไรไม่ได้

    ผู้ฟัง ความหมายที่ว่า ทัพพีไม่รู้รสแกง

    ธนิต ทัพพีไม่รู้รสแกง เหมือนกับว่าทุกๆ ขณะที่ฟังธรรม แม้จะฟังก็เป็นเรื่องราว ก็รู้แต่เรื่องราว แต่ไม่สามารถจะเข้าใจไปถึงความหมายของเรื่องราวนั้นที่เป็นไปในอรรถ ไม่ได้เข้าถึงว่า ความหมายของชื่อนั้นที่เป็นปรมัตถธรรม เป็นลักษณะเป็นสภาวะ ที่เราจะสามารถที่จะค่อยๆ สังเกตุ และอบรมให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้นได้ นี่คือความหมาย ทัพพีไม่รู้รสแกง

    ผู้ฟัง อาจารย์หมายความไปถึงว่า ต้องขณะที่สติปัฏฐานเกิดเท่านั้นหรือ ถึงจะหมายว่า ทัพพีนั้นรู้รสแกง

    ธนิต พอพูดถึงสติปัฏฐาน ผมจะอุปมาเปรียบเสมือนยอดไม้เลย เพราะในพระพุทธศาสนา ยอดสุดก็คือ วิปัสสนา หรือหมายถึงสติปัฏฐาน หรือมรรคมีองค์ ๘ ส่วนความเข้าใจว่า ธรรมแต่ละตัวๆ ที่เรารู้จักชื่อ มันเป็นเรื่องที่ว่าเราจะต้องมาคุยกัน มาสนทนากัน เพราะบางท่านพออ่านจำได้ แล้วก็พูดตามได้ แต่ความจริง รู้เรื่อง จำได้ แต่เรื่องเข้าใจเป็นเรื่องเฉพาะตัว การสนทนาเท่านั้น ที่จะสามารถเกื้อกูลกันได้ว่า มีความเข้าใจตามฐานะแค่ไหน

    ผู้ฟัง ความต่างกันว่า สติปัฏฐาน กับวิปัสสนญาณ มีความต่างกันอย่างไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ วิปัสสนาญาณก็ต้องมีสติเกิดร่วมด้วย แต่ว่าเป็นความสมบูรณ์ของปัญญาหลังจากที่สติมีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม จนกระทั่งมีความเข้าใจที่มั่นคงขึ้น เพราะว่าตอนที่เพิ่งเริ่มระลึกลักษณะของสภาพธรรม อวิชชาที่ได้สะสมมานานมาก ไม่สามารถที่จะทำให้เข้าใจลักษณะของนามธรรมเป็นนามธรรมจริงๆ หรือว่ารูปธรรมเป็นรูปธรรมจริงๆ โดยการประจักษ์ แต่เป็นเพียงการเริ่มสนใจที่จะศึกษาในลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมว่า ต่างกับลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานจะเป็นวิปัสสนาญาณไม่ได้ จนกว่าจะมีการระลึกลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม แล้วมีความเข้าใจในความต่างกันของสภาพธรรม ๒ อย่าง ซึ่งขณะนี้ก็ต่าง คือ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็มีจริงๆ แต่ว่าไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น เพียงแต่ปรากฏว่า เป็นสิ่งที่มีจริงทางตา สามารถที่จะให้จิตเห็นสิ่งนี้ได้ว่า สิ่งนี้เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่มีจริง ส่วนธาตุรู้แม้แต่คำว่า นามธาตุ ชื่อก็บ่งชัดทีเดียว ไม่มีรูปใดๆ เจือปนทั้งสิ้น เป็นธาตุที่น้อมไปสู่อารมณ์ นา-มะ คือเป็นสภาพซึ่งรู้อารมณ์ เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งไม่มีรูปร่างลักษณะเลย แต่ว่าเป็นธาตุรู้ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏให้รู้ เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ ธาตุรู้หรือนามธาตุก็เกิดขึ้นเห็น คือรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างนี้ นามธาตุที่เกิดขึ้นทางหู ก็รู้ว่าเสียงที่กำลังปรากฏมีลักษณะอย่างนี้ นี่คือความต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม ซึ่งถ้าสติไม่เกิด เราก็ฟังเรื่องเห็น เรื่องได้ยิน แล้วก็มีความเข้าใจ ค่อยๆ เพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ใช่การรู้ลักษณะ ต่อเมื่อไรที่สติเกิด เมื่อนั้นเราถึงจะรู้ว่ามีการศึกษาอีกระดับหนึ่งซึ่งไม่มีเรื่องราวใดๆ ปะปนทั้งสิ้น มีแต่ลักษณะของสภาพนั้นปรากฏ ให้ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจ เพราะเหตุว่าเคยฟังมามากที่จะรู้ว่า นามธรรมนั้นเป็นธาตุรู้ เพราะฉะนั้น ลักษณะรู้ก็คือกำลังรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นลักษณะรู้ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือหู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    ส่วนวิปัสสนาญาณ เป็นปัญญาซึ่งได้อบรมแล้วจากการที่สติระลึกจนกระทั่งสภาพธรรมนั้นปรากฏกับปัญญาที่สมบูรณ์ ที่สามารถที่จะประจักษ์ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน

    ผู้ฟัง ขณะที่เป็นวิปัสสนาญาณ ก็ไม่ปราศจากสติปัฏฐาน ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องมี ต้องมีสติแน่นอน ต้องเป็นสติ ขณะนั้นจะไม่มีเรา

    ผู้ฟัง ทำไมใช้คำว่า ตรุณวิปัสสนา

    ท่านอาจารย์ อันนี้คิดว่าเป็นการที่แปลพยัญชนะ ที่ใช้คำว่า ตรุณวิปัสสนา เพราะเหตุว่า วิปัสสนาญาณ ถ้านับโดยประเภท ๑๖ ญาณ ที่เรียกว่า วิปัสสนาญาณ ๑๖ ต้องรวม ตรุณวิปัสสนาด้วย คือต้องรวมนามรูปปริจเฉทญาณ ชื่อคำว่า ญาณ แสดงว่าไม่ใช่สติปัฏฐานแน่นอน เพราะเหตุว่าสติปัฏฐาน คือ สติที่ระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม แต่ทุกคนก็พิสูจน์ธรรมได้ เวลาที่สติเริ่มจะเกิดหรือเพิ่งเกิด หรือว่ามีการระลึกลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นความรู้อยู่ตรงไหน รู้ชัดหรือเปล่า หรือกำลังเริ่มศึกษาที่จะค่อยๆ เข้าใจ ซึ่งไม่ใช่เข้าใจเรื่องราว แต่เข้าใจลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม

    จะเห็นได้ว่าการศึกษามีต่างขั้น การศึกษาเรื่องราวเป็นปริยัติ แต่การศึกษาที่เป็นปฏิปัตติ ถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่สติต้องเกิดจึงระลึก ถ้าสติไม่เกิด ไม่มีสภาพธรรมใดๆ จะไประลึกที่ลักษณะของสภาพที่เป็นธรรมที่กำลังปรากฏเลย

    สมาธิก็ไม่ใช่สติ จะให้จิตตั้งแน่วแน่ที่จะให้รู้สภาพธรรมโดยที่สติไม่เกิด เป็นไปไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้จึงใช้คำว่า สติปัฏฐาน ไม่ใช้คำว่า ผัสสะปัฏฐาน ไม่ใช้คำว่า เจตนาปัฏฐาน ไม่ใช่คำว่า สมาธิปัฏฐาน แต่ใช้คำว่า สติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น ก็ต้องทราบว่าขณะที่สติเกิด ไม่ใช่ขณะที่หลงลืมสติ เป็นขณะที่ต่างกัน แต่นั่นเป็นปัฏฐาน คือเป็นที่ตั้งของสติที่จะศึกษาลักษณะของสภาพที่สติกำลังระลึก โดยไม่มีชื่อ แล้วก็ค่อยๆ อบรมความรู้ความเข้าใจ ซึ่งสติก็สั้นมาก เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น บางคนจะเข้าใจคำแปลหรือว่าชื่อ แต่ว่าจริงๆ แล้ว ถ้าใช้คำว่า ญาณ จะเกิดโดยไม่มีการอบรมไม่ได้ เพราะเหตุว่าเป็นปัญญาอีกระดับหนึ่ง ซึ่งสำหรับนามรูปปริจเฉทญาณ คือ ขณะที่ไม่ได้มีการเตรียมตัว ไม่ได้มีความคิดว่า เดี๋ยวปัญญาจะเกิด หรือว่าวิปัสสนาญาณจะเกิด ถ้าเป็นอย่างนั้นคือใคร คือเรากำลังหวัง กำลังรอ กำลังไม่รู้ลักษณะของปัญญาว่า ปัญญาที่ได้อบรมแล้วเป็นอนัตตา ทุกอย่างเป็นอนัตตา ไม่มีใครสามารถจะไปกะเกณฑ์ หรือว่าไปรอคอย ซึ่งบางคนอาจจะคิดว่า ตอนนี้ เขาใช้คำว่า อารมณ์ดี คล้ายๆ กับว่ากำลังจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ไม่ใช่เรื่องของอารมณ์ เป็นเรื่องของสภาพธรรมตามปกติในชีวิตประจำวันอย่างนี้แหละ แต่ว่าปัญญาสามารถที่จะประจักษ์แจ้งความจริงในคำที่ได้ยินได้ฟังตั้งแต่ต้น คือคำว่า นามธรรม หรือนามธาตุ หรือธาตุรู้ ซึ่งขณะนั้นจะไม่มีสิ่งใดเจือปนทั้งสิ้น เมื่อเป็นวิปัสสนาญาณ คือว่า ขณะนั้นสภาพธรรมปรากฏกับปัญญา เพราะว่า ขณะนั้นต้องมีความรู้ชัดในลักษณะนั้น เพราะอะไร เพราะขณะนั้นลักษณะนั้นปรากฏ อย่างธาตุรู้ เราพูดถึงบ่อยๆ ขณะเห็นเป็นธาตุรู้ แต่ขณะนี้ก็มีสีปรากฏ มีเสียงปรากฏ มีคิดนึกปรากฏ แต่เวลาที่ธาตุรู้ปรากฏกับสติ และปัญญาที่เป็นวิปัสสนาญาณ จะไม่มีสิ่งใดเลยในธาตุรู้นั้น มีเฉพาะธาตุรู้ ขณะนั้นก็ไม่ได้มีเรา หรือว่ามีตา มีหู มีรูปร่างกาย เพราะว่าสติไม่ได้ระลึกที่นั่น แต่กำลังรู้ชัดในลักษณะของสภาพรู้ซึ่งปรากฏ โดยความเป็นอนัตตา และเมื่อรูปธรรมปรากฏ ก็มีความต่างกันของธาตุรู้กับรูปธรรม ซึ่งไม่มีใครไปจงใจเลือกว่าให้นามรูปปริจเฉทญาณรู้รูปนี้ รู้นามนั้น

    เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของอนัตตาทั้งหมด ซึ่งผู้นั้นก็จะเข้าใจความหมายของ อนัตตา เพราะอนัตตาปรากฏ เพราะสภาพธรรมปรากฏ เพราะธาตุรู้ปรากฏ เพราะรูปธาตุ หรือรูปธรรมปรากฏ ขณะนั้นไม่มีตัวตน ไม่มีโลกที่รวมกัน ถ้ายังคงมีโลกที่รวมกัน จะเป็นวิปัสสนาญาณไม่ได้ หรือว่าถ้าเป็นเพียงสติปัฏฐานที่เกิดแล้วระลึกบ้าง ผู้นั้นก็รู้ ว่านี้ไม่ใช่ความรู้ชัด แต่บางคนอาจจะหลง เวลาที่อยู่เงียบๆ แล้วมีความเข้าใจว่า ขณะนี้เป็นนามธรรม ลักษณะของนามธรรมคือสภาพรู้ ก็เข้าใจว่า ขณะนั้นคือความรู้แล้ว แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะว่าตามความเป็นจริง ขณะนี้ทุกคนมีอะไรปรากฏบ้าง จริงๆ แล้วก็คือ ทางตาที่กำลังเห็น ก็มีสิ่งเฉพาะสิ่งที่ปรากฏกับสภาพที่เห็นเท่านั้น อย่างอื่นไม่มี แต่คำว่า อย่างอื่นไม่มี ขณะที่ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ กับอย่างอื่นไม่มี ขณะที่เป็นวิปัสสนาญาณ ความรู้ห่างกันมาก แล้วก็ไกลกันมาก

    สำหรับผู้ที่ว่า ขณะนี้ไม่มีอย่างอื่น โดยความเข้าใจ โดยการฟังว่า เมื่อมีเห็น เฉพาะเห็นก็ต้อง มีเฉพาะสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น แต่ว่าเวลาที่เป็นปัญญาจริงๆ ตามที่ทรงแสดงไว้ ตามที่ตรัสรู้ ตามผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลทั้งหลายได้อบรมเจริญแล้ว สภาพหรือธาตุรู้นั้นๆ ต้องปรากฏอย่างนั้น มิฉะนั้นจะเป็นวิปัสสนาญาณไม่ได้

    ด้วยเหตุนี้ต้องศึกษาละเอียด แล้วต้องเข้าใจความต่างกันด้วย มิฉะนั้นจะหลงคิดว่านั่นเป็นวิปัสสนาญาณ แต่ใช้คำว่า จินตาญาณบ้าง หรือว่า ตรุณวิปัสสนาญาณบ้าง เพราะเหตุว่ายังไม่ทั่วไปทั้งหมด เพราะลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมที่ปรากฏกับวิปัสสนาญาณ ซึ่งวิปัสสนาญาณ คือ ช่วงขณะที่ปัญญาถึงความสมบูรณ์ แล้วก็ประจักษ์ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม แล้วต่อจากนั้นก็เป็นปกติธรรดา ที่ว่าสภาพธรรมก็เกิดดับสืบต่อเหมือนเดิม แต่ว่าปัญญาที่ได้ประจักษ์ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ไม่ลืม รู้ความต่างกันทีเดียวว่า ขณะใดเป็นวิปัสสนาญาณ ขณะใดไม่ใช่วิปัสสนาญาณ

    การอบรมเจริญปัญญาจริงๆ จึงต้องมีปริญญา ๓ เป็นเครื่องประกอบให้เข้าใจให้ถูกต้องว่า วิปัสสนาญาณใดเป็นปริญญาใด เพราะเหตุว่าวิปัสสนาญาณจะเกิดเมื่อมีเหตุปัจจัย แต่ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยก็ไม่เกิด ก็จะต้องมีการอบรมต่อไปอีก จากวิปัสสนาญาณที่ ๑ ถึงวิปัสสนาญาณที่ ๒ ที่ ๓ หรือสำหรับบางท่านซึ่งในชาติอดีตเคยอบรมมาแล้ว วิปัสสนาญาณก็จะเกิดสืบต่อตลอดกันไปได้ แล้วแต่ว่าจะถึงระดับไหน อย่างท่านพระสารีบุตร ระดับของท่านคือ ตลอดถึงพระโสดาบันบุคคล แต่สำหรับบุคคลอื่นก็แล้วแต่เหตุปัจจัยที่ว่า ถ้าเป็นเนยยบุคคลก็ต้องฟังมาก สนทนามาก แสดงธรรมมาก หรือไม่แสดงก็ได้ แต่ว่าต้องเป็นผู้ที่พิจารณาอย่างละเอียด แล้วเข้าใจโดยความถูกต้องจริงๆ

    ซึ่งตรุณวิปัสสนาญาณ ๓ ได้แก่ นามรูปปริจเฉทญาณ ปัจจยปริคคหญาณ สัมมสนญาณ ซึ่งต่างกับพลววิปัสสนา ได้แก่ อุทยัพพยญาณ ซึ่งประจักษ์การเกิดดับของนามธรรม และรูปธรรมด้วยปัญญาที่คมกว่า การรู้แจ้งการเกิดดับของสัมมสนญาณ

    นี่ก็เป็นเรื่องซึ่งจะต้องค่อยๆ เป็นไป แต่ต้องเข้าใจความต่างด้วยตนเอง ที่จะรู้ได้ว่า ต้องมีความต่างจริงๆ แม้ว่าเป็นวิปัสสนาญาณซึ่งไม่เคยมีมาก่อน หรือว่าไม่ปรากฏ จนกระทั่งสามารถที่จะรู้ได้ นี่เป็นวิปัสสนาญาณ นั่นไม่ใช่ อื่นไม่ใช่ ขณะไหนเป็น วิปัสสนญาณ ขณะไหนไม่ใช่วิปัสสนาญาณ แม้ว่าจะรู้อย่างนี้ แต่ยังไม่ถึงความเป็น พลววิปัสสนา เมื่อเทียบกับวิปัสสนาขั้นต่อไป

    ผู้ฟัง ขณะที่สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้นก็มีการละ มีการบรรเทากิเลสบ้าง

    ท่านอาจารย์ น้อยมาก น้อยมาก น้อยเหลือเกิน

    ผู้ฟัง วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น จะเห็นการละ ต่างจากสติปัฏฐาน ไหม

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ว่าเป็นวิปัสสนาญาณขั้นไหน สำหรับนามรูปปริจเฉทญาณ ละการที่สภาพนามธรรมไม่เคยปรากฏอย่างนี้ ที่จะประจักษ์อย่างนี้ ที่จะเป็นทางมโนทวารอย่างนี้ ไม่มีความสงสัยในลักษณะของมโนทวาร เพราะว่าขณะนี้โดยการศึกษา ทุกคนทราบว่าต่อจากปัญจทวารแล้ว ภวังคจิตเกิด มโนทวารวิถีจิตก็จะรู้อารมณ์เดียวกับปัญจทวาร แล้วแต่ว่าจะเป็นสีที่ปรากฏทางตา หรือว่าเสียงที่ปรากฏทางหู ไม่มีใครสามารถที่จะแยกขณะนี้ได้ว่า เป็นการรู้อารมณ์ทางตา หรือทางมโนทวาร ทางหู คือโสตทวารวิถี หรือมโนทวารวิถี เพราะการเกิดดับสืบต่อเร็วมาก แต่เมื่อเป็นวิปัสสนาญาณ จะไม่มีความสงสัยในมโนทวารเลย เพราะว่าเป็นการประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม ทางมโนทวาร จะเข้าใจความหมายทั้งหมดที่ได้ฟังมา ไม่ว่าจะเป็นนามธาตุ รูปธาตุ ไม่ว่าจะเป็นมโนทวาร หรือปัญจทวาร แล้วก็จะรู้ความเล็กน้อยของปัญจทวาร ซึ่งเป็นปริตตารมณ์ว่า สั้นแค่ไหน เพราะว่าสามารถที่จะผ่านทางปัญจทวาร ไปสู่มโนทวารได้ทั้งหมด

    เพราะฉะนั้น นี่คือ ตรุณวิปัสสนา จะต้องเป็นญาตปริญญาที่จะต้องอบรม ที่จะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติในชีวิตประจำวัน จนกว่าจะเป็นพลววิปัสสนา เพราะว่าจริงๆ แล้วทุกคนทราบว่า สิ่งใดก็ตามที่เรารู้ เรายังต้องอบรมเพื่อที่จะให้รู้ยิ่งขึ้น ไม่ใช่เพียงเรารู้แล้วก็จบ แต่ว่าการศึกษา เรายังต้องมีบทฝึกหัดว่า เมื่อรู้แล้ว ยังต้องไปพิจารณา หรือว่าไปอบรมให้มีความคล่องแคล่วให้มีความรู้ ให้มีความชำนาญ ให้มีความชัดเจน ให้มีความมั่นคงในความรู้ที่รู้ ไม่ใช่ว่าเมื่อรู้แล้วจบเป็นพระโสดาบันทันที โดยนามรูปปริจเฉทญาณ แต่ให้ทราบว่าปัญญากว่าจะถึงความสมบูรณ์ที่จะประจักษ์การเกิดดับที่เป็นอุทยัพพยญาณได้ ต้องเป็นญาตปริญญา คือ ความรู้ที่รู้ ต้องมีสติที่จะระลึก พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมตามปกติ

    ลองคิดดูว่า ตามปกติ จะสักแค่ไหน เพราะเหตุว่าตามปกติของคนในวันหนึ่งๆ ทั้งเห็น ทั้งได้ยิน ทั้งคิดนึกเรื่องราวต่างๆ จากหนังสือพิมพ์ จากเพื่อนฝูง จากโทรทัศน์ จากความคิดนึก นานาประการ วงศาคณาญาติ แต่ทั้งหมด คือ ธรรม ธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่สติจะต้องระลึกจากการที่รู้ว่า ลักษณะของนามธรรมคืออย่างนั้น ลักษณะของรูปธรรมคืออย่างนี้ จนกว่าจะสามารถเข้าใจสภาพธรรมในชีวิตประจำวัน โดยที่สติเกิดกับหลงลืมสติ ก็จะต้องเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่เรา ละความต้องการที่จะให้สติเกิด หรือที่จะให้รู้มากๆ เพราะรู้ว่าขณะนั้น คือ สมุทัย นี่คือเครื่องกั้น นี่คือทางที่ไม่ใช่หนทางที่ปัญญาจะเจริญ

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นทางที่จะต้องละเอียดขึ้นๆ และความรู้ก็ต้องตามลำดับว่า ละอะไร อย่างนามรูปปริจเฉทญาณ ละความที่ไม่เคยประจักษ์ ลักษณะของนามธาตุ และรูปธาตุทางมโนทวาร แม้ว่าสภาพธรรมในขณะนั้น จะปรากฏทีละลักษณะ แต่ปัญญาไม่สมบูรณ์ที่จะประจักษ์ว่า ที่ธรรมปรากฏทีละลักษณะ เพราะธรรมหนึ่งเกิดแล้วดับ เพราะว่าปัญญาไม่ถึงระดับนั้น

    ผู้ฟัง วิปัสสนาญาณทุกญาณก็ละความไม่รู้ กับความเห็นผิดโดยตรง

    ท่านอาจารย์ ใช่

    นิภัทร สัจจญาณกับญาตปริญญา หมายความต่างกันอย่างไร สัจจญาณ ในอริยัสัจ ๔ ที่ว่า สัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ ญาณ ๓ ในอริยสัจ ๔ กับญาตปริญญา สงเคราะห์กันได้ไหม

    ท่านอาจารย์ อริยสัจจ์ มี ๔ ทุกคนเรียงลำดับได้ สัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ เป็นอาการ ๓ ของอริยสัจจ์ทั้ง ๔ สัจจญาณ ญาณ คือปัญญา สัจจะ คือ ความจริง ถ้ารู้จริงๆ ว่าความจริงคืออะไร ขณะนี้เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม มีความมั่นคงที่จะรู้เรื่องทุกขสัจว่า ไม่ใช่ทุกข์อื่น ไม่ใช่ต้องไปแสวงหา ไปทำทุกข์ให้เกิดขึ้น แต่ปัญญาจริงๆ ต้องสามารถที่จะรู้ไตรลักษณะ คือ ลักษณะที่เป็นอนิจจังไม่เที่ยง ทุกขังไม่ใช่สภาพที่ยั่งยืน อนัตตา คือ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ถ้ามีความรู้ที่มั่นคงอย่างนี้จริงๆ ขณะนั้นจะไม่ทำอย่างอื่น ซึ่งไม่ใช่มรรค

    เพราะฉะนั้น รู้จริงๆ อย่างนี้ คือ สัจจญาณในอริยสัจทั้ง ๔ ว่าทุกข์คืออย่างไร หนทางคือละ ไม่ใช่หนทางเพื่อต้องการจะได้มากๆ บอกวิธีทำอย่างไรสติจะเกิด หรืออะไรอย่างนี้ นั่นคือไม่ใช่สัจจญาณ แต่ถ้าสัจจญาณในอริยสัจจ์ ๔ คือสามารถที่จะรู้อริยสัจจ์ทั้ง ๔ ตามความเป็นจริงว่า เป็นอย่างนี้ ตามความเป็นจริง นั่นคือสัจจญาณ

    นิภัทร จะเป็นความรู้ขั้นไตร่ตรองก่อนใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แต่ว่าแม้จะเข้าใจอย่างนี้ ก็ลองพิจารณาดู ผู้ที่ได้ศึกษาอภิธรรมแล้ว การประพฤติปฏิบัติ การอบรมเจริญปัญญา ตรงตามที่ได้ศึกษาหรือเปล่า ถ้าตรงตามที่ได้ศึกษา มีความมั่นคง ไม่เปลี่ยน นั่นคือสัจจญาณ ปัญญาความรู้ที่มั่นคงแน่นอนในอริยสัจจ์ ๔ ไม่ไปทำอย่างอื่น

    ผู้ฟัง อันนี้เป็นความเข้าใจ แต่ว่าขณะที่สติปัฏฐานเกิด หรือว่า วิปัสสนาญาณเกิด ขณะนั้นก็มีการรู้ความจริง ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีสัจจญาณด้วย

    ท่านอาจารย์ ทั้ง ๓ อย่างจะประกอบไปทุกขณะ ไปตลอดหมด

    ผู้ฟัง ใน วิสุทธิมรรค แสดงว่า สัจจญาณมีทั้งโลกียะ และโลกุตตระ เพราะฉะนั้น ขณะที่รู้ความจริงทั้งหมด ขณะนั้นก็เป็นสัจจญาณ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะตามลำดับว่า ถ้าไม่มีสัจจญาณอันนี้ก่อน สติจะเกิดไหม จะตามประคองไปทั้งหมด ทุกขั้นจะขาดอาการ ๓ นี้ไม่ได้เลย ทั้งสัจจญาณ ทั้งกิจจญาณ ทั้งกตญาณ จะต้องเป็นไปตามลำดับเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ปริญญาก็แคบกว่า เพราะว่าปริญญานี้หมายถึงวิปัสสนาญาณ

    ท่านอาจารย์ วิปัสสนาญาณ แต่ต้องเป็นวิปัสสนาญาณ ถ้าเป็นสติปัฏฐาน ก็ไม่ใช่ปริญญา

    ผู้ฟัง แต่ว่าสัจจญาณจะกว้างกว่า

    ท่านอาจารย์ ตามประกอบไปทั้งหมดเลย คือ ถ้าไม่ประกอบเมื่อไรก็หลงทางเมื่อนั้น

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 97
    23 มี.ค. 2567