ปกิณณกธรรม ตอนที่ 296


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๙๖

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

    พ.ศ. ๒๕๔๒


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น นี่เป็นความละเอียดที่จะต้องแยกรู้ว่า เพียงความรู้ของวิญญาณ ซึ่งสามารถที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฎ นั่นไม่ใช่ปัญญา สักแต่ว่าเห็นจริงๆ เพราะว่าเห็นเพียงรูป แต่ไม่มีปัญญาไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ ไม่สามารถที่จะละความติด ไม่สามารถที่จะละความสงสัย ไม่สามารถที่จะละความไม่รู้ เพราะไม่รู้ว่า ไม่รู้ด้วย

    เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่ละเอียด ซึ่งข้อความสั้นๆ แต่ศึกษาโดยละเอียด จะทำให้เห็นหนทางจริงๆ ว่า การอบรมเจริญปัญญานั้นต้องเข้าใจสภาพธรรมจริงๆ แล้วไม่ใช่หวัง ด้วยการที่ว่าจะให้สติระลึกที่นั่นที่นี้ จะทำอย่างนั้น อย่างนี้ นั่นเป็นเรื่องของความต้องการ แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องของสังขาร เพราะว่าเรื่องของสังขาร สภาพธรรมที่มีปัจจัย กำลังปรุงแต่ง ขณะนี้ที่ได้ฟังแล้วเข้าใจจะค่อยๆ ปรุงแต่งจนกว่าจะเป็นสังขตธรรม คือเกิดเมื่อไรเพราะปรุงแต่งแล้ว จึงเกิดขึ้น ก็เป็นเรื่องละเอียดที่ต้องศึกษาต่อไป

    ผู้ฟัง ฟังอย่างไร ที่ฟังจนกระทั่งไม่คิดที่จะปฏิบัติต่อไป

    ท่านอาจารย์ ฟังให้เข้าใจเรื่องความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมทั้งหลายจนมั่นคง เมื่อทราบว่าเป็นอนัตตา ก็ไม่มีการที่จะเป็นเรา ที่คิดจะทำอย่างหนึ่งอย่างใด เพราะเหตุว่า แม้ขณะที่คิดอย่างนั้นก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นนามธรรม

    สภาพธรรม มี ๒ อย่างจริงๆ คือ นามธรรมอย่างหนึ่ง รูปธรรมอย่างหนึ่ง เพียงได้ยิน ๒ ชื่อ จะต้องเข้าใจไปจนตลอดชีวิต กี่ชาติก็ตามแต่ จนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมถึงขั้นความเป็นพระอรหันต์ เพราะว่าสภาพธรรมจริงๆ เป็นอย่างนั้น สภาพธรรมที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ก็เป็นส่วนหนึ่ง คือ ไม่ว่าจะเกิดเมื่อไร ก็ไม่รู้ ไม่สามารถที่จะเห็น ไม่สามารถที่จะคิด ไม่สามารถที่จะได้ยิน แต่ว่ามีลักษณะเฉพาะที่แสดงให้เห็นว่า สภาพนั้นมีจริงๆ เช่น สิ่งที่กำลังปรากฎทางตา เสียงที่กำลังปรากฎทางหู ความเย็นร้อน หรืออ่อนแข็ง ตึงไหว ที่ปรากฏเมื่อกระทบกาย เป็นสิ่งที่มีจริง แต่เป็นเพียงธาตุ หรือสภาพธรรมที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย แต่จะกล่าวว่าไม่มี ไม่ได้ มี แต่เพราะความไม่รู้ ก็เลยไม่สนใจในลักษณะที่เป็นธรรมของธรรมทั้งหลาย ไม่สนใจที่จะเข้าใจถ่องแท้จริงๆ ว่า ไม่ใช่วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เคยเข้าใจว่าเที่ยง ไม่เกิดดับ แล้วก็ยึดถือว่า เป็นตัวตน หรือว่าเป็นเรา ตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ให้รู้ความจริงว่า ที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ คือตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงๆ จนกระทั่งหมดความไม่รู้ทั้งหมด แล้วก็ดับกิเลสได้ทั้งหมด เป็นเรื่องที่ทุกท่านจะต้องฟังแล้วก็พิจารณาว่า เป็นจริงๆ อย่างที่ได้ฟังหรือเปล่า แล้วการรู้ก็มีหลายระดับขั้น คือรู้ขั้นฟัง ก็เข้าใจ แต่ยังไม่ประจักษ์ลักษณะซึ่งแยกเป็นส่วนๆ แต่ละลักษณะ ปรากฏว่า ไม่ใช่สิ่งซึ่งรวมกัน ประชุมกัน เป็นตัวตนหรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ต้องค่อยๆ อบรมไป ฟังไป

    ผู้ฟัง เมื่อเช้านี้ท่านอาจารย์ได้บรรยายไว้ว่า ธรรมกับพระอภิธรรมไม่เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ เหมือน หมายความว่าคนที่รู้ธรรม ที่จะรู้ว่าธรรมนั้นไม่ใช่อภิธรรมนั้นไม่มี ถ้ารู้ธรรมจริงๆ ถ้ารู้ธรรมก็ต้องรู้ด้วยว่า ธรรมนั้นเป็นปรมัตถธรรม เป็นอภิธรรม

    ผู้ฟัง ฟังคล้ายๆ ว่า ถ้าพระอภิธรรมแล้ว มีความหมายคล้ายๆ กับว่า ถ้าไม่มีธรรมแล้ว พระอภิธรรมก็จะไม่มี แต่ลักษณะที่แตกต่างกันก็คือ พระอภิธรรมนั้นอยู่ในหนังสือ ส่วนธรรมนั้น ผมเข้าใจว่า เป็นอยู่ที่สิ่งที่กำลังปรากฏกับเราเอง ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ความเข้าใจแค่นี้ถูกต้อง หรือจะต้องเข้าใจมากกว่านี้

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า ถ้าเข้าใจธรรม ก็รู้ว่าธรรมนั้นเป็นปรมัตถธรรม เป็น อภิธรรม ไม่ได้แยกกันเลย ใครก็ตามที่บอกว่า รู้ธรรม เขาต้องรู้ว่า ธรรมเป็นธรรม เป็นธรรมก็คือว่า เป็นปรมัตถธรรม ไม่มีใครที่สามารถจะเปลี่ยนแปลงลักษณะของธรรมนั้นได้เลย นี่คือการรู้จักธรรมจริงๆ แล้วรู้ด้วยว่า ธรรมนั้นเป็นอภิธรรม หมายความว่าไม่มีใครสามารถที่จะไปเปลี่ยน เป็นอภิยิ่งใหญ่จริงๆ

    ผู้ฟัง ในขณะที่กำลังศึกษาพระอภิธรรม นั่นคือ ขณะนั้นกำลังศึกษาธรรม ซึ่งมีจริงๆ ใช่ไหม หมายความว่าอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีธรรม การประจักษ์แจ้งใดๆ ก็ไม่มี เมื่อมีธรรม มีการตรัสรู้ธรรม ตามความเป็นจริง ก็ทรงแสดงความจริงของสภาพธรรม สภาพธรรมแท้ๆ ซึ่งไม่เกี่ยวกับสัตว์ บุคคล และสถานที่ เป็นการที่จะให้เข้าใจตัวจริงของธรรม ซึ่งเป็นพระอภิธรรมโดยอาศัยการฟังก็ได้ การอ่านก็ได้ การสนทนาธรรมก็ได้ แต่ให้ทราบว่ากำลังฟังธรรม คือเรื่องสิ่งที่มีจริงๆ ให้เข้าใจขึ้น ไม่ใช่ฟังเรื่องราวต่างๆ แต่ว่าฟังเรื่องสภาพธรรมที่มีจริง เพื่อที่จะให้ ค่อยๆ เข้าใจว่า เป็นธรรม จนกว่าจะประจักษ์แจ้งว่า เป็นธรรม

    ผู้ฟัง คำว่า สมาธิ สมถะ สมถภาวนา มีความหมายเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ โดยศัพท์ ท่านอาจารย์สมพรคงจะอธิบายความหมายของคำว่า สมาธิ และ สมถะ และ สมถภาวนา โดยศัพท์

    สมพร สมาธิ กับ สมถะ สมาธิ มาจาก เอกัคคตา แต่ว่าเอกัคคตานั้น ตั้งอยู่ในอารมณ์เดียว เมื่อตั้งอยู่ในอารมณ์เดียวเป็นเวลานาน ก็เรียก เอกัคคตานั้นว่า สมาธิ แปลว่าความตั้งใจมั่น สมาธิ แปลว่า ตั้งใจมั่น

    สมถะ แปลว่า สงบ สงบจากอกุศลธรรมซึ่งเป็นข้าศึก เราเจริญพุทธคุณ หรือธรรมคุณ สังฆคุณก็ตาม ถ้าจิตยังฟุ้งซ่านอยู่ เรียกว่ายังไม่สงบ ถ้าสงบจากอกุศลธรรมทั้งหมด เรียกว่า สมถะ

    สมถภาวนา เราก็เพิ่มคำว่า ภาวนา ภาวนาแปลว่าเจริญ ทำความสงบนั้นให้เจริญขึ้นๆ เรียกว่า สมถภาวนา ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น คือว่าระดับจิตที่ตั้งมั่นที่มีความสงบ ไม่ใช่มีระดับเดียว มีระดับสูงขึ้น สูงขึ้น สูงขึ้น จนกระทั่งสูงที่สุดเลย เรียกว่า สมถภาวนา แปลว่าเจริญสมถะ

    ผู้ฟัง ทีนี้โดยทางปฏิบัติ อยากให้ท่านอาจารย์สุจินต์ช่วยขยายความว่า สมาธิเพราะว่าไปสมาธิ คือไปหาความสงบ อันนี้มีความผิดถูกอย่างไร

    ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรม คือการให้เราเข้าใจชัดเจน แต่ถ้าไม่ศึกษาก็คิดกันไป ใช้กันไป ซึ่งสมาธิ หมายความถึงสภาพของความตั้งมั่นคง เป็นเจตสิกชนิดหนึ่งซึ่งเกิดกับจิตทุกๆ ขณะ เจตสิกนั้นมีชื่อว่า เอกัคคตาเจตสิก โดยศัพท์ ก็คงจะแปลว่าตั้งมั่น

    ผู้ฟัง แต่ไม่ใช่ความสงบ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ เพราะฉะนั้น สมาธิเกิดกับอกุศจิตก็ได้ กุศลจิตก็ได้ ถ้าเกิดกับ อกุศลจิต ไม่ใช่กุศล เพราะฉะนั้น ไม่สงบ แล้วก็ลักษณะของเจตสิกซึ่งเป็นสภาพที่สงบ ก็เป็นกายปัสสัทธิเจตสิก จิตตปัสสัทธิเจตสิก เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ประเภท ต้องไม่ปนเอกัคคตาเจตสิก กับกายปัสสัทธิเจตสิก และจิตตปัสสัทธิเจตสิก เพราะเหตุว่ากายปัสสัทธิ และจิตตปัสสัทธิ ต้องเกิดกับโสภณจิต ต้องเป็นฝ่ายดี เพราะว่าสงบจากอกุศล

    ผู้ฟัง ปัสสัทธิ คือ ความสงบ

    ท่านอาจารย์ เป็นเจตสิกที่เกิดกับโสภณจิต เกิดกับจิตที่ดี

    ผู้ฟัง ถ้าเผื่อว่า หากเขาไม่ได้เกิดร่วมกับเอกัคคตา ก็ไม่ใช่สมถะ

    ท่านอาจารย์ ไม่มีอะไรที่ไม่เกิดร่วมกับเอกัคคตาเจตสิก เพราะว่าเอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภท

    ผู้ฟัง ทีนี้ความต่างระหว่าง สมาธิ กับสมถะ ดิฉันจะเข้าถึงตรงนี้ ถ้าเป็นสมถะ ต่างกับสมาธิอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เป็นฝ่ายกุศล สมถะ คือสงบ ได้แก่ กายปัสสัทธิ จิตตปัสสัทธิเจตสิก

    ผู้ฟัง แล้วถ้าเผื่อเป็นสมถภาวนา

    ท่านอาจารย์ สมถภาวนาเป็นกุศลจิต อบรมกุศลจิตให้ตั้งมั่นคงขึ้น เพิ่มขึ้น จึงชื่อว่าภาวนา

    ผู้ฟัง ถ้าเผื่อสมถภาวนานั้นเป็นความสงบจากอกุศล เรียนถามต่อไปว่า ความสงบซึ่งเกิดกับสมถภาวนา ต่างกับความสงบซึ่งเกิดในวิปัสสนาอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ความสงบจากอกุศล หมายความถึง โสภณจิต ขณะนั้นไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย ขณะที่เป็นการอบรมความสงบ เป็นสมถภาวนาก็เป็นกุศล เวลาที่อบรมเจริญปัญญา รู้ลักษณะของสภาพธรรมก็เป็นกุศล ต้องสงบ ไม่ใช่ว่าไม่สงบ เพราะว่ากายปัสสัทธิเจตสิกกับจิตตปัสสัทธิเจตสิกเกิดกับโสภณจิตทุกประเภท

    ผู้ฟัง สมถภาวนานั้นจะต้องเป็นความสงบซึ่งมีปัญญา วิปัสสนภาวนาก็เป็นความสงบที่มีปัญญา ปัญญาก็คือปัญญาเจตสิกซึ่งไม่เปลี่ยนแปลง แต่ทีนี้มันต่างกันอย่างไร ความต่างกันของปัญญา ๒ ปัญญา ซึ่งความจริงก็ควรจะไม่ต่างกัน เขาเป็นเจตสิกตัวเดียวกัน

    ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่า ปัญญาเจตสิกเป็นสภาพที่เห็นถูก เห็นอะไรถูก เห็นสภาพธรรมในขณะนั้น ถูกต้องตามความเป็นจริง ขณะที่เป็นกุศลจิต ซึ่งทุกคนก็มี เวลาที่ให้ทาน เวลาที่วิรัติทุจริต ขณะที่กำลังศึกษาฟังธรรมก็เป็นกุศลจิต มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ถ้าไม่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นโสภณ หรือว่าเป็นจิตที่ดีงาม เพราะว่าไม่มีปัญญา ก็อบรมเจริญสมถภาวนาไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะอบรมเจริญสมถภาวนา สามารถที่จะรู้ความต่างกันของจิตที่เป็นกุศล และจิตที่เป็นอกุศล ไม่ใช่เพียงชื่อ ขณะที่กุศลจิตเกิด ใครรู้ ถ้าสติไม่เกิด ขณะที่อกุศลจิตเกิด สติสามารถที่จะรู้ได้ว่า อกุศลจิตต่างกับกุศลจิต นี่คือความเห็นถูก นี่คือปัญญา เพราะฉะนั้น ปัญญารู้ถูกต้องตามความเป็นจริง จึงจะสามารถอบรมเจริญจิตที่ดี ที่สงบจากอกุศลให้มั่นคงขึ้นได้ เพราะสามารถที่จะรู้ว่า ขณะใดอกุศลจิตเกิดแล้ว และหนทางที่จะไม่ให้อกุศลจิตเกิดต่อไป ก็คือ จะต้องมีวิตก การตรึก นึกถึงสิ่งที่ทำให้จิตสงบจากอกุศลนั้น และเมื่อจิตสงบก็รู้ว่า มีความสงบขึ้นทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะปรากฏลักษณะอาการของสมาธิระดับต่างๆ

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่ ตอนภาคเช้า ท่านอาจารย์ได้กล่าวกับคุณสุนันท์บอกว่า จับปากกา แล้วรู้ไหมว่าแข็ง ถ้าไม่ได้ฟัง ดิฉันไม่ทราบว่าแข็ง ถ้าไม่ได้มาศึกษา

    ท่านอาจารย์ เป็นไปไม่ได้ คุณบงอาจจะไม่รู้ว่าเขาเรียกว่า ปากกา แต่แข็ง มีขณะที่กระทบสัมผัส

    ผู้ฟัง นี่ตรงนี้ดิฉันจะกราบเรียนให้ท่านอาจารย์ทราบว่า ถ้าไม่ได้ศึกษา จะไม่ทราบว่า มีธาตุแข็งเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ความจริง ไม่ได้ศึกษา แข็งก็ปรากฏ เมื่อมีกายปสาทกระทบกับสิ่งที่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง และมีจิตที่กำลังรู้ลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ขณะนั้น

    ผู้ฟัง เข้าใจว่า ต้องมีจิตเกิดขึ้นรู้ ถ้าจะเปรียบว่า ผู้ที่ไม่ได้เคยมาฟังท่านอาจารย์พูดเลย เขาจะไม่ระลึกรู้ว่ามันแข็ง อันนี้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ อันนั้นอีกเรื่องหนึ่งให้รู้ว่า แข็งเป็นสภาพธรรม คิดว่าแข็งเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเสมอ

    ผู้ฟัง สนทนาเกือบจะทุกครั้ง เราจะพูดถึงสิ่งที่ปรากฎทางตาบ่อยมาก

    แล้วดิฉันก็เคยกราบเรียนถามท่านอาจารย์เหมือนกันว่า ทำไมถึงรู้สึกว่าพูดถึงสิ่งที่ปรากฎทางตาบ่อยมาก

    ท่านอาจารย์ตอบบอกว่า ก็เพราะว่าเหมือนไม่ดับ ตรงนี้ ดิฉันซาบซึ้งมากเลย เพราะสิ่งที่ปรากฎทางตาเหมือนไม่ดับจริงๆ แต่ทางกาย หรืออะไรอย่างนี้ เหมือนกับว่าไม่ได้ปรากฎขึ้น ตรงนี้เข้าใจได้ลึกอีกเลย

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏทางกายเหมือนไม่ได้ปรากฎหรือ คุณบง

    ผู้ฟัง เหมือนไม่ปรากฎ ท่านอาจารย์ แต่ทางตา สมมติไม่ได้ศึกษา เหมือนกับเรารู้เลย เห็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ตลอด เพราะฉะนั้น ที่อาจารย์บอกว่า เหมือนไม่ดับ ตรงนี้ดิฉันคิดว่า มันเป็นเรื่องจริงๆ เลยว่า ทางตาเหมือนไม่ดับ เป็นอย่างนั้น ทีนี้อีกเรื่องหนึ่งที่บอกว่าการเห็น ส่วนปกติก็ต้องเห็นเป็นคน หรือเป็นสัตว์ ถ้าศึกษาแล้วการเห็น ไมใช่เห็นเป็นคน สิ่งที่ปรากฏทางตา คือ สี ถ้าเมื่อไรที่เราเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นสี มันก็คงต้องแปลกๆ เพราะมันเหมือนผิดปกติ

    ท่านอาจารย์ เป็นปกติ ไม่ผิดเลย ลองไม่คิดสิไม่คิดอะไรเลย

    ผู้ฟัง อย่างที่บงพูดๆ มา เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ซับซ้อนจริงๆ สำหรับปัญญา อย่างบง ก็ค่อยๆ ศึกษา

    ไล่ๆ มาเรื่อยๆ ทีนี้ท่านอาจารย์กล่าวบอกว่า ธรรมนี้วิจิตรมาก ดิฉันมีอยู่ข้อหนึ่งที่เห็นด้วยจริงๆ ว่า ธรรมวิจิตรอย่างไร ก็ขอเล่าเป็นเรื่องบัญญัติสักนิดหนึ่ง วันหนึ่งดิฉันไปที่ธนาคาร ก็นั่งรออยู่ ก็มีผู้หญิงกับผู้ชาย ๒ คน เขาก็เจอผู้ชายคนหนึ่งเขาก็บอกว่า เสียใจจริงๆ เลย ลูกเขาตาย แล้วเขาไม่มีโอกาสได้บอก ขณะที่ได้ยินเขาบอก ลูกเขาตาย ขณะนั้นดิฉันโทมนัสมาก โทมนัสเกิดขึ้น ก็เลยมานึกว่า จิตเรา มันเรื่องอะไรไปยุ่งเรื่องคนอื่น ในเมื่อเราก็ไม่ได้ได้รู้จักอะไรกับเขาเลย ตรงนี้เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ได้ยินอะไร

    ผู้ฟัง ได้ยินเขาบอกว่าลูกตาย

    ท่านอาจารย์ นั่นแหละ คือปัจจัยที่ทำให้โทมนัสเกิด

    ผู้ฟัง แล้วจิตเราก็ไปยุ่งกับเขา ไม่รู้จักกันเลย

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ได้ยินคำนี้ โทมนัสก็ไม่เกิด

    ผู้ฟัง เห็นจริงๆ ว่า มันวิจิตรเป็นอนัตตาจริงๆ แล้วดิฉันก็จะแสดงความคิดเห็นนิดหนึ่งว่า แม่ที่เขาบอกกับคนนั้นว่า ลูกเขาตาย ตรงนั้นดิฉันคิดว่า เขาไม่ได้เสียใจในการที่ลูกเขาตายเลย เขาเสียใจที่เขาไม่ได้บอกกับคนๆ นั้น คิดว่าสภาพธรรม สภาพที่ลึกซึ้งมาก แล้วก็ต้องศึกษาต่อไปนานๆ

    ผู้ฟัง ถ้าหลังจากห้าพันปี พุทธศาสนาจะเสื่อมไป แต่ว่าบนสวรรค์จะมี ถ้าอย่างนั้นทำไมต้องมีพระพุทธเจ้าทั้งที่ข้างบน บนสวรรค์ หรือที่สุคติภูมิ ยังมีคำสอนของศาสนาพุทธ

    ท่านอาจารย์ ถ้าจะคิดง่ายที่สุด คือ ตราบใดที่มีการศึกษาการเข้าใจพระธรรม เพราะว่า ธรรมเป็นศาสนา คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นพระพุทธศาสนา ไม่ใช่อย่างอื่น เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีการศึกษาพระธรรม เมื่อไรก็เมื่อนั้น คือเสื่อม หรือว่าไม่มี เพราะฉะนั้น ก็จะทราบได้ว่า ขณะนี้มีการศึกษาพระธรรมจริงๆ มากหรือน้อย แล้วก็ต้องเป็นความเข้าใจถูก ทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ การศึกษาเพียงตัวหนังสือ แล้วก็ไม่รู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม สามารถที่จะประจักษ์แจ้ง ความจริงของสภาพธรรมได้ ด้วยการอบรมเจริญความเข้าใจยิ่งขึ้นในลักษณะของธรรม ถ้าไม่มีการศึกษา ไม่มีการเข้าใจถูก พระศาสนาก็เสื่อม ก็ไม่มีใครรู้ว่า คำสอนจริงๆ ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเรื่องอะไร แล้วสามารถที่จะเข้าใจได้แค่ไหน

    ไม่ต้องคำนึงถึงปี หรือสถานที่ได้ไหม เพราะว่าความจริง อยู่ที่ว่า มีการศึกษา มีการเข้าใจสภาพธรรมที่ทรงแสดงไว้หรือเปล่า

    ผู้ฟัง แต่มีสักวันจะเสื่อมไป ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เมื่อไม่มีคนศึกษา เมื่อไม่มีใครเข้าใจ

    ผู้ฟัง แม้ว่าจะอยู่ข้างบนหรือ

    ท่านอาจารย์ ไม่มีสถานที่เลย เราไม่ต้องคำนึงถึงสถานที่ว่าที่ไหน ที่ใดก็ตาม ที่ไม่มีการศึกษาพระธรรมซึ่งเป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนา คือ คำสอน เมื่อไม่มีคนศึกษา ไม่มีคนเข้าใจ ก็หมดไป

    ผู้ฟัง จะมีวันนั้นหรือ

    ท่านอาจารย์ มีเดี๋ยวนี้ก็มี คนที่ไม่ได้ศึกษาก็มี เพราะถ้าทุกคนไม่ศึกษาหมด ก็หมด

    ผู้ฟัง การเริ่มต้นของผู้ที่ไม่เคยเริ่มเลย หรือผู้ที่เริ่มก็ตาม วิธีสอบปัญญาให้รู้ว่า สัจธรรมเป็นอย่างไร ควรจะดำเนินการอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นเรื่องเฉพาะตัวที่คุณเสกสรรถามว่า จะสอบความรู้แค่ไหนในขณะที่กำลังเห็น เฉพาะตัว จริงๆ มีความรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏแล้วหรือยัง ถ้ายังก็เป็นเครื่องเตือนให้รู้ว่า ต้องมีการฟังพระธรรมอีกมาก เพื่อค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย เพราะว่ามีใครที่พอได้ยินว่า มีนามธรรมกับรูปธรรมแล้วก็จะรู้ได้ทันทีว่าไม่มีเราเลย มีแต่สภาพธรรมที่กำลังเป็นธาตุแต่ละอย่าง เช่น เห็นเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นนามธาตุ เมื่อเกิดขึ้นต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะที่กำลังเห็นนี้ นามธาตุนี้กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา คือเห็น นี่เป็นลักษณะของนามธาตุ

    เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะได้ฟังเข้าใจ แต่คนนั้นก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า ความเข้าใจนี้ขั้นฟัง เพราะเหตุว่าจะต้องมีลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ที่ปัญญากำลังประจักษ์จริงๆ แล้วลักษณะของปัญญานั้นก็ไม่ใช่เราด้วย

    ผู้ฟัง อย่าง กรณีเสียงก็ไม่ใช่ได้ยิน จะพิจารณาอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่จะพิจารณา

    ผู้ฟัง ต้องพิจารณาเลย

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ ถ้าจะพิจารณาเป็นตัวตน หรือว่าเป็นสติที่ระลึกได้

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น จำเป็นอย่างยิ่งว่า สตินี้จะต้องเกิด

    ท่านอาจารย์ เรียนเพื่อละความไม่รู้ แม้แต่สติเกิดขึ้นก็เพื่อละความเป็นเราจะทำ

    ผู้ฟัง สติกำหนดตรงไหน แล้วปัญญาเราจะทำ

    ท่านอาจารย์ สติเป็นสภาพที่ระลึก ซึ่งขณะที่ให้ทาน สติระดับที่ระลึกเป็นไปในการให้ สิ่งที่เป็นประโยชน์เพื่อบุคคลอื่น ขณะที่วิรัติทุจริตหรือทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ทางกาย ทางวาจา ขณะนั้นก็เป็นสติขั้นนั้น หรือว่าขณะใดที่จิตใจเศร้าหมอง หมายความว่าเป็นอกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด สติเกิด เห็นโทษ หรือว่าไม่มีประโยชน์เลย ไม่ว่าจะเป็นโลภะสักนิดหนึ่ง โทสะสักหน่อยนึง หรืออะไรก็ตามแต่ ยิ่งถ้าเป็นโลภะมากๆ โทสะมากๆ ก็ยิ่งเห็นโทษ ขณะนั้นก็จะรู้ความต่างกันว่า ถ้าไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ แม้เพียงชั่วครู่ ไม่ต้องไปถึงดับเป็นสมุจเฉท ลักษณะของความสงบก็ต่างกัน

    เป็นเรื่องของปัญญาจริงๆ ที่จะเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรม แต่ว่าไม่ใช่เรา ขณะนั้นเป็นสติที่ระลึกได้ เพราะฉะนั้น ต้องรู้ลักษณะของสติว่า สติไม่ใช่สมาธิ สมาธิเป็นสภาพที่ตั้งมั่น แต่สติเป็นลักษณะที่ระลึกเป็นไปในกุศลทั้งหมด แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลระดับใด

    ทางตา ทราบว่าเป็นนามธรรม ที่กำลังเห็น ไม่ใช่เรา แต่ความไม่ใช่เรา เห็นถูกขั้นไหน ขั้นฟังเข้าใจ ต้องรู้ลักษณะของสัมมาสติ ซึ่งไม่ใช่เราจะพิจารณาหรือว่าไม่ใช่เราจะกำหนด หรือว่าไม่ใช่เราจะสังเกต แต่รู้ว่าเมื่อใดที่สติเกิด มีการระลึก แล้วค่อยๆ เข้าใจตามที่ได้ฟังว่า ขณะนี้ ลักษณะนี้เป็นสภาพรู้ ต่างกับสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะว่าเวลาที่ลักษณะสภาพรู้ปรากฏ จะมีลักษณะเดียว คือ เป็นใหญ่ เป็นประธาน เป็นอินทรีย์ในการรู้อารมณ์

    ผู้ฟัง ในขณะที่อาจารย์บอกว่า ไม่ใช่เรา ในขณะนี้กำลังฟังเสียง ไม่ใช่เรา แล้วปัญญารู้อะไร เพราะถ้าไม่ใช่เรา ในขณะนี้

    ท่านอาจารย์ ปัญญารู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะหมดความเป็นเรา

    ผู้ฟัง ลงลึกไปอีกนิดได้ไหมว่า ส่วนกำลังได้ยินอยู่ในขณะนี้ ส่วนไหนเป็นนามธรรม ส่วนไหนเป็นรูป

    ท่านอาจารย์ นึก นั่นนึก แต่ไม่ใช่เป็นการระลึกลักษณะ

    ผู้ฟัง แต่ต้องเริ่มจากนึกก่อนไม่ใช่หรือ หมายความว่า ธรรมดามนุษย์ก็คุ้นเคยเหลือเกินกับความนึก แต่ว่านึกในสิ่งที่เป็นประโยชน์ กับสิ่งที่ไร้ประโยชน์ ในสภาพที่วิปัสสนาญาณยังไม่เกิด แล้วก็ยังเพิ่งได้ฟังธรรมวันนี้จากท่านอาจารย์ แล้วก็มีความสงสัยว่าจะกำหนดรู้นั้น

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ถ้าฟังแล้ว จะไม่มีการกำหนดรู้เลย

    ผู้ฟัง ต้องรู้เลย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ฟังแล้วเข้าใจ แล้วก็ เป็นหน้าที่ของธรรมที่จะปรุงแต่ง สังขารขันธ์ ไม่มีเราไปปรุงแต่งเลย แต่การฟังเข้าใจไปเรื่อยๆ จะเป็นปัจจัยให้สัมมาสติเกิดระลึก ไม่ใช่ไปรอวัน หรือกำหนดวัน ไม่มีทางที่จะเป็นไปอย่างนั้นได้เลย เพราะว่าสภาพธรรมทั้งหมดเป็นอนัตตา

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ฟังธรรมในขณะนี้ ก็เป็นการฟังเรื่อง ฟังปริยัติ

    ท่านอาจารย์ แล้วถ้าคนฟัง ๒ คน คนหนึ่งฟังเข้าใจแล้วจะทำ อีกคนหนึ่งฟังเข้าใจ รู้ว่าเป็นเรื่องละความไม่รู้ แล้วก็ฟังอีก เพื่อละความไม่รู้อีก เพื่อเข้าใจอีก แล้วก็รู้ว่านั่นเป็นกิจของปัญญา ไม่ใช่มีใครเป็นตัวตนซึ่งจะทำ ๒ คนนี้ก็ต่างกันแล้วใช่ไหม คนหนึ่งต้องการที่จะเห็น จะรู้ จะกำหนด จะพิจารณา อีกคนหนึ่งฟังเพื่อละความไม่รู้ แล้วก็เข้าใจเพิ่มขึ้น แล้วรู้ว่า ปัญญาเท่านั้นที่จะละความไม่รู้ออกได้มากขึ้น

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 97
    23 มี.ค. 2567