ปกิณณกธรรม ตอนที่ 246


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๔๖

    สนทนาธรรม ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา

    พ.ศ. ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ อย่างเมื่อกี้นี้พอเราออกพ้นห้องนี้ ความรู้ธรรมตามเราไปหรือเปล่า เห็นไหม ทันทีที่ก้าวพ้นประตู คุณซี ว่าอย่างไร ความรู้ธรรมตามไปด้วยหรือเปล่า ก็ยังดี เพราะจริงๆ แล้วแทบทุกคนลืมเลย แต่พอเข้ามาก็เริ่มที่จะมีธรรม ได้ยินธรรม เข้าใจธรรม สนใจธรรม เพราะฉะนั้น เราจะเห็นได้ว่า เราจะฝืนอะไรไม่ได้เลย แต่ถ้าการฟังธรรมของเรามั่นคงขึ้น เราจะรู้ได้ว่า ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน ไม่ต้องมาก เพียงแค่นิดเดียวที่เกิดขึ้นรู้ว่าเป็นธรรม นั่นก็เป็นการเริ่มที่จะรู้ว่า ธรรมจริงๆ คือว่า ไม่ว่าจะที่ไหน ขณะไหน โดยไม่เลือก มิฉะนั้นจะมีความเป็นตัวเราอยู่เสมอเลยที่จะคอยเลือก จะต้องตรงนี้ จะต้องวันนี้ เวลานี้ หรือว่ากี่นาที ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว ไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่ยังคงเป็นเราทำ เราหวัง เราได้

    เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่หนทางที่จะละความเป็นเรา ต้องเป็นผู้ที่อาจหาญ ร่าเริงจริงๆ ที่จะรู้ว่า ธรรมเป็นธรรม แม้ขณะนี้หรือขณะไหน ก็แล้วแต่ว่าจะมีความรู้ลักษณะของธรรมขั้นใด ขั้นฟังเข้าใจ หรือว่าขั้นที่ระลึกขึ้นมาได้ว่าเป็นธรรม เมื่อกี้นี้ลืมไปแล้ว เอาใหม่ ใช่ไหม ก็เป็นเรื่องซึ่งมีปัจจัยใหม่ก็เกิดใหม่ได้ ที่จะรู้ว่าขณะนี้เป็นธรรม นี่คือจะอยู่ตรงไหน เมื่อไรก็ตาม ถ้ารู้ได้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นธรรม นั่นคือความถูกต้อง ทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ ไม่ต้องมาก ไม่ต้องหวังว่า จะไปประจักษ์การเกิดดับโดยที่ไม่เคยระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ขณะนี้ สภาพธรรมกำลังปรากฏ ไม่เปลี่ยนเลย ทางตาก็คืออย่างนี้แหละ ค่อยๆ เข้าใจถูกต้องว่า เป็นธรรมที่สามารถปรากฏ เท่านั้นเอง แล้วเราก็จะไม่ค่อยไปสนใจยึดมั่นในเรื่องราว ในรูปร่าง ในสัณฐาน เพราะขณะนั้นรู้จริงๆ ว่า เป็นธรรมอย่างหนึ่ง พอถึงเสียงก็เป็นธรรมอีกอย่างหนึ่งแล้ว เราก็จะอยู่กับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจทีละเล็กทีละน้อย พูดอย่างนี้เหมือนเร็ว เพราะฉะนั้น ก็จะอยู่กับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่กว่าจะเป็นอย่างนี้ได้นาน แต่เราต้องรู้ เหมือนกับการจับด้ามมีด วันนี้จับทั้งวันไม่ปรากฏว่าสึกเลย จนกว่าจะสึกด้วยการจับ ก็ปรากฏว่าต้องสึก ถ้าจับบ่อยๆ แต่เมื่อไรไม่รู้ ฉันใด การที่เรามีความเข้าใจที่มั่นคงว่า ขณะนี้เป็นธรรม แล้วมีธรรมที่ปรากฏทางตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง ใจบ้าง เท่านั้นเอง คือความรู้ที่จะรู้จริงๆ ว่า โลกปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เวลานอนหลับไม่สามารถจะรู้โลกหนึ่งโลกใดได้เลย เพราะขณะนั้นเป็นจิตที่เป็นภวังค์ทำกิจสืบต่อดำรงภพชาติ ไม่ใช่จิตที่สามารถจะเห็น จะได้ยิน จะได้กลิ่น จะลิ้มรส จะรู้สิ่งกระทบสัมผัส จะคิดนึก

    โลกไม่ปรากฏ เวลานอนหลับ พิสูจน์ธรรมได้ไหม โลกปรากฏหรือเปล่า เวลานอนหลับ ไม่ปรากฏ เราก็รู้เลย สติปัญญาจะเกิดก็ต่อเมื่อเห็น ถ้าไม่เห็น สติปัญญาจะไปรู้อะไร ต้องมีสิ่งที่ปรากฏแล้วสติปัญญาจะค่อยๆ อบรมความรู้ถูกต้อง ความเห็นถูกต้องในสิ่งที่ปรากฏ ด้วยการที่มีความเข้าใจมั่นคงจริงๆ ว่าสิ่งที่ปรากฏมีจริง แล้วก็เป็นเพียงธรรมแต่ละอย่าง ที่เคยเป็นเราทั้งหมดในวันหนึ่งๆ ก็เป็นธรรมแต่ละลักษณะ ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ความคิดเกิดขึ้น ความคิดก็มีจริงเป็นธรรม ถ้าคิดดี เราเรียนมาใช่ไหม กุศลจิต แต่เวลาที่คิดดี เราเกิดไม่รู้ว่านี่อะไร แล้วพยายามหาชื่อใส่ อ้อชื่อกุศล แต่จริงๆ ไม่ใช่ไปรู้ชื่อ แต่ต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรม แล้วก็ตอนแรกที่สุด ถ้าเรายังไม่รู้ว่า เป็นนามธรรมเป็นรูปธรรม เราจะไม่รู้ในความเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล เพราะเหตุว่ายังเป็นเราอยู่ พอกุศลจิตเกิด เราดีไหม เป็นเราดี พออกุศลจิตเกิด โลภะ โทสะ ก็เป็นเราไม่ดี เพราะฉะนั้น เราจะไม่มีความเห็นผิดได้ ก็ต่อเมื่อเข้าใจว่าลักษณะนั้นเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม เพราะว่าลักษณะของเขาเร็วมาก เพียงแค่รู้ ความต่างของนามธรรม และรูปธรรมก่อน และลักษณะนั้นแม้ว่าเป็นกุศล เป็นอกุศล จริงๆ แต่ความรู้ของเราต้องตามลำดับ คือรู้ว่าลักษณะนั้นเป็นสภาพรู้ เป็นนามธรรม ส่วนรูปก็ไม่ใช่สภาพรู้ ก็มีอยู่ ๒ อย่าง นามธรรมกับรูปธรรม รักนามหรือรักรูป ทั้งนามทั้งรูป เพราะฉะนั้น จะบอกว่า เราเห็นผิดยึดถือรูปว่าเป็นเราอย่างเดียวไม่ได้ เราเห็นผิด ยึดถือนามว่าเป็นเราอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องทั้ง ๒ อย่าง ทางไหนมาก ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ มากทุกทาง แต่บางคนอาจจะทางหนึ่งทางใดมากกว่าทางอื่น ใช่ไหม อย่างคนที่ไม่ติดในทางตามากเท่ากับทางรสก็มี หรือคนที่ติดในทางตามาก ต้องสวย รสอะไรก็ไม่เป็นไร อร่อยไม่อร่อยก็ไม่ว่า แต่ขอให้สวย ก็คือติดทางตามาก บางคนก็ชอบเสียงเพราะๆ ฟังเพลงทั้งวัน อย่างนั้นก็เพราะเหตุว่าเขาติดในทางหู ต้องการในทางหู แต่สิ่งหนึ่งไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ วัยไหนก็ตามติดในรส

    ถ้าเห็นภัยของความติด เราพอที่จะฝึกหัด แต่หมายความว่ามีความเห็นถูกจริงๆ คือ ไม่ทิ้งนามธรรม และรูปธรรม ไม่ทิ้งความรู้ว่า เป็นธรรม ไม่ทิ้งความรู้ว่าเป็นนาม หรือเป็นรูป ไม่ใช่เรา

    ทุกคำในพระสูตร ต้องประกอบกับพระอภิธรรม ถ้าอ่านแต่เพียงพระสูตร แล้วก็ไม่มีความเข้าใจในเรื่องพระอภิธรรมที่เป็นอนัตตา เป็นจิต เจตสิก รูป จะเข้าใจว่า ให้เราทำ ละชั่ว ประพฤติดี ชำระจิตให้บริสุทธิ์ เหมือนบอกให้ทำ แต่ละชั่ว เป็นสิ่งที่ควร แต่แล้วแต่ปัจจัย เพราะเหตุว่าควรละ แต่บังคับให้ละไม่ได้ ควรเจริญ แต่บังคับให้เจริญไม่ได้ แล้วแต่เหตุปัจจัย แต่ชี้เหตุผลไว้ว่า สิ่งที่ไม่ดีก็ควรละ สิ่งที่ดีก็ควรเจริญ

    เพราะฉะนั้น ต้องประกอบกันทั้ง ๓ ปิฎก จึงจะเข้าใจได้ถูกต้อง ไม่อย่างนั้นเราก็จะมีความเป็นเรา แล้วก็คิดว่า ต้องทำ แต่ความจริง คิดว่าเป็นเรา ถูกหรือผิด แค่คิด เห็นไหม เพียงคิด ก็ยังไม่รู้เลยว่าผิดแล้ว ขณะนั้นเป็นกุศลจิตไม่ได้ เป็นอกุศล แล้วถ้าจะทำด้วยความเข้าใจผิด ก็ยิ่งเป็นไปด้วยอกุศล เพราะฉะนั้น ต้องละเอียด แล้วก็ต้องรู้ตามความเป็นจริง ต้องตรงต่อลักษณะของสภาพธรรม เพราะว่าธรรมเป็นธรรม เวลาอกุศลจิตเกิด วุ่นวายมากเลย เดือดร้อนไม่อยากมี ทำไมเราเป็นอย่างนี้ ทำไมเราเป็นอย่างนั้น แต่พอรู้ว่าเป็นธรรมก็ดับไปแล้ว แล้วจะเอาอะไรไปคลายความกังวล หรือความเป็นเรา ถ้าไม่รู้ความจริงว่า เป็นสิ่งที่เกิด ไม่ใช่เรา จะดีก็ไม่ใช่เรา ปัญญาก็ไม่ใช่เรา โทสะก็ไม่ใช่เรา ทุกอย่างไม่ใช่เรา ก็เป็นธรรมแต่ละอย่าง ถ้าจะรู้จริงๆ ว่า เป็นธรรมคลายได้ทุกอย่าง คลายความติดในกุศล คลายความไม่พอใจในอกุศล เพราะว่าเป็นแต่เพียงธรรม แต่จะรู้ได้ว่า ใครยังมากยังน้อยจากความคิด การกระทำ คำพูด คุณซีเคยได้ยินคนถามไหม ทำอย่างไรสติถึงจะเกิดมากๆ นั่นแหละ เป็นเครื่องส่องแล้ว ใช่ไหม ความเป็นตัวตน ความรักตน อยากจะให้มีสติมากๆ มาแล้ว ไม่รู้ตัวเลย โลภะมา ไม่บอกใครเลย อยู่ด้วยตลอดเวลา จนกว่าปัญญาจะเห็นว่าเป็นโลภะที่ต้องการ ก็ทำไมไม่คิดถึงนานแสนนานมาแล้ว จะเป็นชาตินี้ หรือชาติก่อนๆ กี่ชาติก็ตาม ความไม่รู้มากแค่ไหน แล้วอยู่ดีๆ ทำอย่างไรสติปัฏฐานถึงจะเกิดบ่อยๆ คำพูดอย่างนี้ไม่สมเหตุสมผล เป็นไปไม่ได้ แล้วก็เป็นด้วยโลภะ หาทางลัด ทุกอย่าง เพื่อความไม่รู้ทั้งนั้นเลย ไม่ได้ต้องการที่จะรู้ถูกต้อง แต่ต้องการผล ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะผลนั้นต้องเป็นปัญญาที่อบรมแล้วเท่านั้น ผลอย่างนั้นจึงจะเกิดได้ ถ้าไม่ใช่ปัญญาที่อบรมแล้ว ไม่มีทางที่จะรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม การฟังก็ต้องฟังจนกระทั่งเข้าใจ จนกระทั่งที่ใช้คำว่า ซึมซับไปเลยว่า ขณะนี้เป็นธรรม เหมือนกับอวิชชา ทำไมมาเร็ว

    ถ้าเราอบรมปัญญา อบรมสติไว้ ก็สามารถที่จะมีปัจจัยให้เกิดได้ แต่ไม่หวังผล ไม่ใช่ว่าพออโลภะเกิด อโทสะเกิด วันนี้เราจะให้เป็นอย่างนั้นให้สติเกิด ให้รู้ว่าเป็นธรรม ไม่ต้องหวังอะไรเลย แล้วแต่อะไรจะเกิด จริงทั้งหมด เป็นการสะสมของเรา เป็นตัวแท้ๆ ของเราทั้งหมด ซึ่งจะไปเปลี่ยนแปลงไม่ได้ จะไปยกให้คนอื่นก็ไม่ได้ จะเอาของคนอื่นมาเป็นของเราก็ไม่ได้ ต่างคนก็ต่างเป็นแต่ละบุคคล ตามการสะสมของแต่ละวัน

    ผู้ฟัง ยมบาลมีจริงไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ถ้ารู้ตามความเป็นจริง คือ คิด เห็นไหม นี่เราจะข้ามไม่ได้เลย เราจะข้ามการรู้ว่า ขณะนี้คือสภาพที่คิด ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน เพราะฉะนั้น ต้องรู้ทั่วจริงๆ กว่าจะไม่มีเรา แน่นอน ไม่เหลือเลย หมดเกลี้ยง ต้องรู้ว่า คิดก็คือจริง ขณะนี้จะคิดเรื่องยมบาล หรือจะคิดเรื่องใครก็คือคิดเท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้น ก็จะรู้ได้ว่า โลกจริงๆ มี ๖ โลก โลกในวินัยของพระอริยเจ้า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่เกินนี้เลย ทางที่จะรู้อารมณ์ก็มี ๖ ทาง เมื่อสิ่งใดปรากฏ ปกติ อวิชชาไม่รู้ แต่พอสะสมความรู้เพิ่มขึ้น ความเข้าใจถูกเพิ่มขึ้น ก็จะค่อยมีการสะสมการรู้ลักษณะของสภาพธรรม แล้วไม่ต้องหวังมาก ขอให้มีความเข้าใจที่ตรง มั่นคง เป็นสัจจญาณ แล้วก็ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ สะสม เพราะว่ามันเหมือนกับของที่เป็นสิ่งที่สกปรกที่ติดผ้าแน่นมากเลย ติดน้ำมัน ติดอะไรก็แล้วแต่ กว่าจะซักออกไปทีละนิดละหน่อย จนกระทั่งเกลี้ยงเกลาได้ ไม่เหลือแม้แต่กลิ่น ก็ต้องนาน แต่ว่ามีหนทาง ข้อสำคัญที่สุดมีหนทาง มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงหนทาง แล้วหนทางนั้นก็มีจริงๆ ด้วย ไม่ใช่ไม่มี ผู้ที่รู้แล้วก็มีจริงๆ ด้วย

    เพราะฉะนั้น ก็ค่อยๆ อบรมไป เพราะก่อนที่จะรู้จริงๆ อย่างท่านเหล่านั้น ท่านเหล่านั้นในอดีตแสนนานมาแล้วก็เหมือนอย่างนี้แหละ ไม่ต่างกันเลย

    อันดับแรกก็คือว่าเราไม่ต้องไปคิดว่า เราจะไปทำอะไรกับโลภะ โทสะ ดูเหมือนว่าเราจะเตรียมการที่พอมีอย่างนี้เกิดขึ้น เราทำอย่างนี้จะดีไหม หรือว่าจะถูกไหม ก็เป็นเพียงความคิด แต่ว่าจริงๆ แล้ว สิ่งที่จะต้องรู้ประการแรกที่สุด คือ ไม่ใช่เรา

    ไม่ต้องไปกังวลกับการที่เราคิดอย่างนี้จะถูกจะผิด จะควรไม่ควร เพราะว่าเป็นสภาพธรรมที่คิด เกิดขึ้นแล้วแต่เขาจะคิด บางกาลเวลาที่โทสะเกิดก็ไม่ได้คิดอย่างนี้ แต่บางครั้งเวลาโกรธขึ้นมาก็คิดอย่างนี้ หรือจะคิดอย่างอื่นก็ได้ เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ว่าอะไรที่ยังไม่เกิด เราไม่สามารถจะรู้ได้ว่า อะไรจะเกิด แต่เมื่อเกิดแล้ว เราจึงรู้ อย่างพอโกรธเกิดขึ้น คุณมลคิดไหมว่า แล้วคุณมลจะทำอย่างไร จะคิดอย่างไร เพราะเหตุว่าอาจจะไม่เป็นอย่างคุณมลคิดก็ได้ สำหรับความโกรธที่เกิดขึ้นคราวนั้น อาจจะบางคราวพอโกรธแล้วก็คิดอย่างนี้ อีกคราวหนึ่งโกรธแล้วก็คิดอย่างอื่นก็ได้

    เราไม่จำเป็นต้องไปกังวลล่วงหน้าว่าเราจะทำอย่างไร จะคิดอย่างนี้ดีหรือไม่ดี ขอเพียงแต่ให้รู้ว่าเป็นนามธรรม ไม่ใช่เรา ถ้าคิดก็คือคิด กว่าเราจะชินกับความคิดว่า เป็นเพียงคิด มีปัจจัยก็คิด ความคิดก็เกิดขึ้น ไม่ซ้ำกัน ไม่เหมือนกัน แล้วแต่จะมีปัจจัยให้คิดอย่างไร ก็คิดอย่างนั้นเกิดขึ้น แล้วก็หมดไป

    แม้ความคิดนั้นก็คือไม่ใช่เรา หนทางแรกคือไม่ใช่เรา เท่านั้นเอง ให้เข้าใจให้ถูกต้องว่า คิดก็เป็นเพียงชั่วขณะที่เกิดคิดอย่างนั้นแล้วก็หมดไป จะได้ไม่ต้องไปกังวล แล้วคราวหน้าพอโกรธขึ้นมาอีกเหมือนกับว่าไปเตรียมไว้ แต่ว่าจริงๆ แล้วจะคิดหรือไม่คิดอย่างนั้นก็ไม่มีใครรู้ได้ จะรู้ได้ต่อเมื่อเกิดแล้ว ทุกอย่างเราไม่มีทางจะรู้ได้เลย จะรู้เมื่อเกิดขึ้นแล้วจึงรู้ว่า มีปัจจัยจึงเกิดขึ้น แต่เมื่อดับไปแล้ว อะไรจะเกิดต่อ รู้ไม่ได้เลย แต่รู้เมื่อเกิดขึ้นอีก อะไรเกิดขึ้นก็เพราะว่ามีเหตุปัจจัย ถ้าบางครั้งคิดก็รู้ว่ามีปัจจัยที่จะคิด บางครั้งไม่คิด คราวนี้ทำไมไม่เหมือนคราวก่อน คราวก่อนเกิดโกรธก็พิจารณา คราวนี้ทำไมพอโกรธแล้วไม่พิจารณา ก็แล้วแต่ ก็เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ไม่ให้ไขว้เขวไปที่จะไปทำสิ่งที่เรายังไม่ถึง ที่จะไปไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ จะกันไว้ จะทำอะไรไว้ มันไม่ได้ทั้งนั้นเลย ให้เห็นความเป็นอนัตตายิ่งขึ้น จึงจะไม่ใช่เรา มิฉะนั้นก็เป็นเราที่มีความคิดอย่างนี้ ยังเป็นอัตตาอยู่ เป็นเราที่ทำ เป็นเราที่คิด อย่างนั้นไม่ใช่การที่จะรู้ว่า ไม่ใช่เรา แต่จะรู้ก็คือว่า คิดก็คือสภาพธรรมอย่างหนึ่ง พยายามที่จะ หมายความว่า อบรมความรู้ความเข้าใจให้ถูกต้องว่า เป็นธรรมแต่ละอย่าง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นธรรมแต่ละอย่าง แค่เห็นประโยชน์ก็มากพอที่จะสะสมไปข้างหน้า เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีการเห็นประโยชน์เลย เราคงจะไม่มานั่งกันเป็นชั่วโมงๆ แล้วคิดว่า สิ่งนี้มีค่ากว่าอย่างอื่น เพราะว่าคนเราจะทำอะไร จะทำสิ่งที่มีค่าที่สุด เป็นประโยชน์ที่สุดก่อนอย่างอื่น ใช่ไหม และอันนี้จะเป็นการสะสม ซึ่งก็ไม่ใช่เรา แต่เมื่อสะสมมาที่จะสนใจ ที่จะฟัง ที่จะเข้าใจ เวลาที่ได้ยินได้ฟังธรรม เราก็สนใจอีก ฟังอีก สะสมต่อไปอีก เป็นลาภที่ประเสริฐกว่าลาภอย่างอื่น เรียกว่า ลาภานุตริยะ ลาภ คือศรัทธาในพระรัตนตรัย หายากกว่าลาภอื่น ต้องเป็นการสะสมของแต่ละคน ถ้าเรามีความเข้าใจธรรมจริงๆ แล้ว เอาอย่างอื่นมาแลก ยอมไหม ทรัพย์สินเงินทอง ชื่อเสียง สรรเสริญ ไม่มีความหมายเลย เทียบกันไม่ได้เลย ที่จะกลับไปไม่รู้อีก ไม่เข้าใจอีก ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น นามธรรม รูปธรรม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ไม่รู้ คงไม่มีใครยอม ก็แสดงว่ามีความมั่นคงขึ้นในศรัทธาในพระรัตนตรัย

    ผู้ฟัง อะไรเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสติ และอะไรเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา

    ท่านอาจารย์ เวลาที่สติยังไม่เกิด จะรู้เหตุใกล้ ได้ไหม แต่พอสติเกิดรู้ไหมว่า ถ้าไม่มีการฟัง สติจะเกิดหรือเปล่า แล้วถ้าไม่มีการเข้าใจจากการฟังอย่างมั่นคง สติจะเกิดหรือเปล่า เพราะฉะนั้น คนนั้นจะรู้ด้วยตัวของตัวเอง ไม่ใช่เอาตำรามากาง หาซิว่าเหตุใกล้ของสติคืออะไร จะได้ไปสะสมเพิ่มพูนเหตุใกล้นั่น แต่จะเป็นการที่รู้ด้วยตัวเองทุกอย่าง เมื่อสภาพธรรมนั้นเกิด ก็จะสามารถรู้ถึงว่า อะไรเป็นเหตุให้สติสัมปชัญญะเกิด เป็นปกติ เพราะเหตุว่ามีการฟังแน่นอน แล้วไม่ใช่เพียงการฟังเฉยๆ ต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องที่จะไม่มีตัวตนที่จะทำ แล้วเป็นผู้ที่อาจหาญร่าเริงที่จะไม่ให้โลภะพาไป

    เพราะฉะนั้น เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด ก็รู้ว่า เหตุปัจจัยคือความมั่นคงในการเข้าใจว่า ขณะนี้เป็นธรรม แล้วก็เป็นผู้ที่ไม่ถูกโลภะทำให้หวัง หรือรอ หรือคอย หรือทำอย่างอื่นโดยที่ไม่ใช่เหตุที่จะให้สติสัมปชัญญะเกิด เพราะว่ามิจฉามรรคมี เหมือนกันเลย แต่เป็นมิจฉาหมดทั้ง ๘ แล้วก็มิจฉัตตะ ความเป็นผิด ก็เพิ่มความรู้ผิดกับการพ้นผิด อีก ๒ อย่าง

    ถ้าวันนี้สติเกิด รู้เลยไหม ฟังเข้าใจเป็นปัจจัยให้มีการระลึก ซึ่งสติสัมปชัญญะไม่ได้ยากเกินกว่าที่จะเป็นไปได้ เพราะว่าคนที่ไม่เข้าใจธรรมจะคิดว่า เขาบอกว่าขอให้ชาตินี้แค่สติปัฏฐานเกิดเพียงครั้งเดียวก็เอาละ แต่ว่าไม่เข้าใจ เขาหวังว่าเป็นอะไรสักอย่างซึ่งแสนที่ยาก พิเศษ แต่ความจริงถ้ารู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม นี่รู้แล้ว แล้วก็ปกติธรรมดา เวลาที่ธรรมชนิดหนึ่งชนิดใดเกิดปรากฏ วิถีจิตทางมโนทวารที่ตามมาจะเป็นเรื่องไปเลย ต่อกันสนิทเลย เห็นคน เห็นไหม แล้ววันนี้ทำอะไรบ้าง ก็เป็นเรื่องที่คิด จะจับ นี่ก็ยกถ้วยมาซิ อะไรๆ ก็เป็นบัญญัติหมดเลย คือเป็นเรื่องเป็นราวสืบต่อจากลักษณะของสภาพธรรม แต่สติปัฏฐานเพียงไม่ใช่ไปคิดอย่างนั้น เวลาที่อย่างแข็งปรากฏ วันนี้แข็งปรากฏกี่ครั้ง นับไม่ถ้วน เพราะมีกายปสาท แต่ไม่รู้เลยในลักษณะแข็งว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    เพราะฉะนั้น สติสัมปชัญญะ คือ เกิดระลึกตรงลักษณะที่แข็ง แทนที่จะระลึกเรื่องราวเป็นเรื่องเป็นราวไป ก็ระลึกคือรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งขณะที่แข็งปรากฏ อย่างอื่นไม่ได้ปรากฏเลย แล้วเราจะไปอยู่ตรงไหน ไม่มีอะไรปรากฏ มีแต่แข็งปรากฏ แล้วเราอยู่ตรงไหน ความจริงมันไม่มีเลย เพราะว่าจิตจะเกิดขึ้นเพียง ๑ ขณะ แต่ละทวาร ถ้าขณะที่กำลังรู้แข็ง อย่างอื่นจะรวมอยู่หรือมีอยู่ตรงนั้นไม่ได้เลย เมื่อไรอบรมเจริญปัญญาจนรู้ว่าไม่มีตัว ไม่มีเรา มีแต่สภาพรู้กับแข็ง เมื่อนั้นคือความเห็นที่ถูกต้องที่ละความเป็นเราชั่วคราว ขณะที่ปัญญาสมบูรณ์ถึงระดับที่ว่าไม่มีเราเหลือเลย แต่ทีนี้ทั้งๆ ที่เราก็ไม่มี แข็งปรากฏ จริงๆ แล้วไม่มีเรา ใช่ไหม แต่อัตตสัญญาจำไว้ว่ามี ทั้งๆ ที่ไม่มีก็จำไว้ว่ามี

    เพราะฉะนั้น อนัตตสัญญาตรงกันข้ามกับอัตตสัญญา ที่จะค่อยๆ เข้าใจถูกต้อง ในลักษณะของสภาพที่กำลังปรากฏ พอระลึกแล้วรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แม้น้อยนิดเดียว คนนั้นก็รู้ว่าต่างกับขณะที่หลงลืมสติทั้งวัน เพราะกำลังรู้ลักษณะของแข็ง แค่นั้นคือสติปัฏฐาน สติสัมปชัญญะ แต่ว่าไม่มีความจงใจ ตั้งใจ จะไปทำให้เกิดบ่อยๆ อยากให้เกิดมากๆ แต่ความรู้ทั้งหมดเพื่อละความไม่รู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่ขณะที่หลงลืมสติ เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นก็ประกอบทั้งสัมมาทิฏฐิ แล้วก็มรรคมีองค์อื่นตามปกติด้วย ก็เป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวัน

    สติปัฏฐานเป็นผู้มีปกติ ปกติจริงๆ แล้วสติก็เกิดระลึกรู้ลักษณะเท่านั้นเอง ทุกอย่างมีลักษณะ วันนี้ทั้งวันลักษณะของธรรมทั้งนั้นเลย ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรม เราบอกว่าวันนี้เราโกรธ นั่นคือลักษณะของสภาพโกรธเกิดขึ้นปรากฏ แต่ไม่รู้ วันนี้เสียใจ ความรู้สึกโทมนัส ก็เป็นลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แต่ก็ไม่รู้ แต่ถ้าสติเกิดระลึกก็รู้ในลักษณะนั้นว่า เป็นธรรมจริงๆ ลักษณะของความเสียใจก็เป็นธรรมอย่างหนึ่งมีจริงๆ ลักษณะของความดีใจก็เป็นธรรมอีกอย่าง มีจริงๆ แต่ว่าเนื่องจากในแสนโกฏิกัปป์มาแล้ว เราหลงลืมสติมากมายแค่ไหน แล้วเราเพิ่งมาฟังพระธรรม เพราะฉะนั้น กว่าเราจะค่อยๆ สะสมความรู้ลักษณะ การระลึกลักษณะของสภาพธรรม ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ตามปกติ มิฉะนั้นแล้วโลภะมาอีกแล้ว

    หนทางนี้เป็นหนทางที่ต้องละโลภะ ถ้าไม่เห็นโลภะก็ละโลภะไม่ได้ เป็นทางที่เรียกว่า โลภะมาเมื่อไร แล้วก็พลาดไปทันที ผิดไปทันที พ้นจากหนทางนี้ไปทันที โดยไม่รู้ตัว มันก็เป็นทางที่ยาก ที่ลึกซึ้ง ที่ถ้าไม่มีความมั่นคงจริงๆ ก็ตามโลภะไปเรื่อยๆ แล้วก็ไม่รู้ด้วยว่า เป็นโลภะ คิดว่าได้เยอะเลย ได้ศีล ได้สมาธิ ได้ปัญญา แต่สัมมาสติเป็นอย่างไรที่เป็นปกติ ไม่เคยรู้ ไปรู้อะไร จะมีประโยชน์เท่ากับรู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ถูกต้อง เพราะทุกอย่างที่ปรากฏไม่มีใครทำ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยจริงๆ ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยก็เกิดไม่ได้ ให้รู้ตรงนี้อย่างนี้ตามความเป็นจริง

    เป็นเรื่องอดทน สมกับที่ได้ตรัสไว้ว่า ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง อดทนอะไรก็พอไหว บางคนบอกอดทนที่จะอบรมเจริญปัญญา อดทนตั้งนานแสนนาน เพราะว่าเป็นเรื่องอดทนที่จะไม่ตามโลภะ มิฉะนั้นโลภะก็สร้างเรือน คือสังสารวัฏทุกภพทุกชาติ เกิดแล้วเกิดเล่า เกิดแล้วก็ตาย แล้วก็เกิด แล้วก็ตาย แล้วก็เกิด แล้วก็ตาย ออกจากสังสารวัฏไม่ได้ ซึ่งมันน่ากลัวมาก เราอยู่มานานเท่าไร แล้วจะอยู่ต่อไปอีกนานเท่าไร แล้วออกไม่ได้เลย อยู่อย่างนี้แหละ แต่นี่มีหนทางออก คือต้องเป็นหนทางที่อบรมเจริญปัญญาอย่างเดียว และเห็นโลภะด้วยคือสมุทัย ทุกอย่างที่เป็นอริยสัจ ต้องเป็นปัญญาทั้งนั้นที่รู้ได้

    ผู้ฟัง ผมยังมองไม่เห็นผลประโยชน์ที่ว่า ถ้าเกิดผมทราบว่า อันนั้นเป็นธรรมจริง แต่ว่าไม่ใช่เป็นเรา ช่วยอะไรให้กับตัวเรา

    ท่านอาจารย์ คำถามของคุณปีเตอร์คือว่า ธรรมก็เป็นธรรมนั่นแหละ เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ว่าเป็นธรรมแล้วก็ยังเป็นเราอยู่ก็ไม่เห็นจะต่างกัน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 97
    22 มี.ค. 2567