ปกิณณกธรรม ตอนที่ 276


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๗๖

    สนทนาธรรม ที่ บริษัทเดลี่กูดส์ จำกัด ถ.สุขสวัสดิ์ เขตราชบูรณะ

    มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๒


    ท่านอาจารย์ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส พวกนี้เป็นวิบากหมด เพราะฉะนั้น ถ้ากุศลจิตของใครเกิด แม้ว่าดับก็สืบต่ออยู่ในจิตขณะต่อไป เมื่อถึงเวลาที่จะเป็นวิบากจิตเกิด ก็เกิดเพราะกรรม คือ เหตุที่ได้กระทำสืบต่อมานั่นเอง

    ผู้ฟัง แสดงว่า เขาก็ไม่ได้รับ เพราะว่าเขา

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า ถ้ารู้แล้วอนุโมทนาเมื่อไร เป็นกุศลของเขาเองเมื่อนั้น เมื่อกุศลจิตซึ่งเป็นเหตุเกิด ก็เป็นปัจจัยให้กุศลวิบากของคนนั้นเกิดทีหลัง ไม่ใช่ของเราไปยกให้ใคร ยกให้กันไม่ได้เลย แล้วแต่เขาจะเกิดเป็นเทวดาปุ๊บก็ได้ ไม่ต้องไปคอย ๗ วัน

    ผู้ฟัง สมมติเราทำกุศลอยู่ อุทิศส่วนกุศล ถ้าบรรพบุรุษของเรารู้เมื่อไร เราก็เป็นเหตุให้กุศลเขาเกิด ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า จิตของเขาเป็นกุศลเกิดขึ้น ถ้าเขาไม่พอใจก็ไม่ใช่กุศล พูดถึงคนที่ยังไม่ตาย แม้คนเป็น เวลาที่เราเห็นใครทำความดี กุศลจิตเราเกิดหรือเปล่า ถ้ากุศลจิตเราไม่เกิด มันก็ช่วยไม่ได้ ไม่ใช่ว่าเราจะต้องไปเอากุศลของเขามา ทั้งๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ ใช่ไหม แต่เวลาที่ใครทำกุศล เรารู้ แม้เขาไม่ต้องมาอุทิศเจาะจงให้เรา แต่จิตของเราก็เกิดอนุโมทนาในความดีที่เขาทำ ขณะนั้นที่อนุโมทนาเป็นกุศลจิตของเราเอง ไม่ใช่ไปรับมาจากใคร เพราะฉะนั้น ทุกอย่างขึ้นอยู่กับว่ารู้ แล้วกุศลจิตจะเกิดหรือไม่เกิด

    ผู้ฟัง ถ้าผู้ตายไม่รู้ก็ไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ ถ้ารู้แล้วไม่อนุโมทนา ก็ไม่ใช่กุศล เพราะฉะนั้น จะไปรับกุศลวิบากของคนอื่นมาก็ไม่ได้ ที่พูดอย่างนี้ก็ยังมีความเป็นเรา เป็นบุคคล แต่ถ้าย่อลงไปเป็นจิตทีละหนึ่งขณะ เอารูปออกหมด ที่เราเรียกว่า คนเกิด เพราะมีรูปร่างลักษณะอย่างนี้ ถ้าบอกว่าแมวเกิด ก็ต้องเป็นจิตกับรูปเกิด แต่รูปร่างเป็นแมว เราก็เรียกว่า แมวเกิด แต่ความจริงถ้าเอารูปออก รูปคนรูปแมวออกหมด จิตเกิด ถ้าพิจารณาถึงเฉพาะชั่วขณะจิตหนึ่ง ซึ่งแต่ละคนมีจิตหนึ่งขณะ เพราะฉะนั้น ในหนึ่งขณะ ต้องเป็นชาติหนึ่งชาติใดใน ๔ ชาติ ชาติ คือ ชา-ติ หมายความถึงการเกิดขึ้น เมื่อจิตเกิดขึ้นต้องเป็นกุศล หรือเป็นอกุศลซึ่งเป็นเหตุ หรือเป็นวิบากซึ่งเป็นผล หรือเป็นกิริยาซึ่งไม่ใช่กุศล และไม่ใช่วิบากนี้ เป็นสิ่งที่เราจะต้องเข้าใจสภาพจิตที่มีอยู่จริงๆ เพื่อเราที่จะเข้าใจปัญหาทั้งหมดที่ถาม เรื่องการอุทิศส่วนกุศล เรื่องทำบุญ ๗ วัน หรืออะไร อย่างนี้ เอาโลกออกหมด เอาเรื่องออกหมด เหลือแต่สภาพจิต เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้ว ถ้าเราจะพิจารณา จิตขณะแรกที่เกิด ขณะแรกจริงๆ โลกนี้ไม่ได้ปรากฏเลย ไม่สามารถจะรู้ว่าเป็นที่ไหน เป็นมนุษย์ หรือเป็นสวรรค์ หรือเป็นนรก หรือเป็นอะไรก็ไม่รู้ทั้งสิ้น เพราะว่าปฏิสนธิจิตเป็นผลของกรรม ยังไม่ได้ทำหน้าที่อื่นเลย นอกจากสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน

    นี่เป็นเหตุที่เราจะต้องศึกษาธรรมโดยละเอียด เพื่อเห็นความเป็นอนัตตาว่า จิตมีกิจหน้าที่ ๑๔ อย่าง แล้วแต่ว่าจิตที่เกิดขึ้นหนึ่งขณะ ทำกิจอะไรใน ๑๔ กิจ อย่างปฏิสนธิ กิจ เป็นกิจหนึ่ง เป็นกิจเดียวสำหรับชาติหนึ่ง เช่นเดียวกับจุติกิจ คือ ขณะสุดท้ายก็เป็นกิจ ๑ ใน ๑๔ กิจ เหลืออีกแค่ ๑๒ กิจ ซึ่งก็ไม่มาก ถ้าเราคิดอย่างนี้ จริงๆ เราพอจะมองเห็นปรมัตถธรรม ไม่มีคน เป็นธาตุรู้ที่เกิดขึ้น ขณะนั้นมืดสนิทแค่ไหน ไม่มีแสงสว่าง ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น ไม่มีอะไรเลย แต่ว่ามีธาตุชนิดหนึ่งเกิดขึ้นแล้วเป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ ซึ่งต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด แม้ว่าขณะนั้นเราจะไม่รู้ว่ารู้อะไร แต่จิตเกิดขึ้นต้องรู้ แม้แต่ขณะที่เป็นภวังคจิตก็ยังมืดสนิท ไม่มีอะไรปรากฏเลย เพราะฉะนั้น เวลาที่มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย ให้ทราบว่าเป็นรูปที่เล็ก และละเอียดแสนที่จะบอบบาง เพราะว่าในกลุ่มของรูปที่ร่างกายของเรา ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า มีอากาศธาตุแทรกคั่น ละเอียดยิบ เพราะฉะนั้น กลุ่มของรูปจะเล็กสักแค่ไหน แล้วในกลุ่มหนึ่งซึ่งมีจักขุปสาทรวมอยู่ด้วยมากกว่า ๘ รูป คือเป็น ๑๐ รูป สำหรับรูปที่เกิดจากกรรม จะเล็กสักแค่ไหน แต่แม้กระนั้นก็เป็นปัจจัยให้กระทบกับสิ่งที่สามารถกระทบตาได้ ในรูปทุกรูปที่เป็นมหาภูตรูป จะมีรูปหนึ่งซึ่งเป็นรูปที่สามารถกระทบกับจักขุปสาท ทำให้มีการมองเห็นสีสันวัณณะ หรือรูปชนิดนั้น ชั่วขณะที่เห็นแล้วดับ คิดดูว่ามันเล็กน้อยสักแค่ไหน ชั่วขณะจิตซึ่งไม่รู้อะไรเลย แล้วเกิดเห็นขึ้นแล้วก็ดับ ต่อจากนั้นคิดนึก เพราะฉะนั้น เราอยู่ในโลกของความคิดนึกมากมายมหาศาล เพราะว่าเพียงแค่ตาเห็นนิดหนึ่ง เสียงกระทบนิดหนึ่ง จมูกกระทบกลิ่นนิดหนึ่ง ลิ้นกระทบรสนิดหนึ่ง กายกระทบสิ่งที่สัมผัสนิดหนึ่ง แต่เรื่องราวของทุกสิ่งที่กระทบมาก เป็นคน เป็นวัตถุ เป็นสิ่งต่างๆ เป็นอุทิศส่วนกุศล เป็นอะไรต่ออะไร

    ถ้าเราเอาเรื่องราวออกหมด เป็นแต่ปรมัตถธรรม คือ จิตที่เกิดขึ้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล หรือเป็นวิบาก หรือเป็นกิริยา เราจะเห็นความจริงว่า วิบากจิตทั้งหมดเป็นผลของกุศลจิต หรืออกุศลจิตซึ่งเป็นเหตุ ถ้าเหตุเป็นอกุศล ผลก็คืออกุศลวิบาก ไม่มีใครทำให้เลย แม้เราจะบอกว่า เขาถูกฆ่าตาย แต่ความจริงเป็นความคิดว่า เขาถูกฆ่าตาย แต่ความจริง คือมีกรรมซึ่งเป็นเหตุทำให้มีการกระทบกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นคน แต่ว่าสามารถที่จะทำให้วิบากจิตเกิดขึ้น แล้วก็รู้ความปวดเจ็บต่างๆ ได้

    นี่ก็เป็นเรื่องละเอียดปลีกยอ่ย ซึ่งเป็นประโยชน์ของการศึกษาปรมัตถธรรมว่า เราต้องศึกษาเรื่องธรรมจริงๆ ตัวจริง เรื่องที่ประกอบเป็นเจตสิก เป็นอะไร เพื่อให้เราเห็นว่าเป็นอนัตตา ที่ไม่ใช่เรา แต่ต้องรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏซึ่งเป็นนามธรรม หรือรูปธรรมก่อน อย่าไปหวังว่าเราจะไปรู้โลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต หรือเอาชื่อใส่เข้าไป เพราะเราเรียกชื่อได้ แต่ตัวจริงเราไม่รู้ อย่างเวลาที่เรากำลังรับประทานอาหารอร่อยเมื่อกี้นี้ บางคนอาจจะนึกขึ้นมาได้ว่า โลภะ เรียกชื่อ แต่โลภะนั้นเกิดดับไปนานแล้ว แต่ก็ยังเรียกชื่อเขาตามต่อไป แล้วก็ไปนั่งเดาว่า บางคนก็ เอ๊ะ ขณะนี้เป็นจิตประเภทไหน เรื่องเดา คือเรื่องไม่รู้จริง แต่สามารถจะรู้จริงเมื่อสติระลึกขณะที่สภาพนั้นปรากฏ เริ่มจากการค่อยๆ เข้าใจในลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม นี่คืออบรมปัญญาซึ่งเป็นวิปัสสนาภาวนาซึ่งไม่ต้องไปที่ไหน เพราะเหตุว่าขณะนี้มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น การฟังธรรม เพื่อจะรู้ว่าเป็นธรรม คือเข้าใจสิ่งที่กำลังมี ซึ่งเป็นธรรมด้วย

    ผู้ฟัง เรื่องมิจฉาทิฏฐิ และสัมมาทิฏฐิ และยกตัวอย่าง เพื่อประกอบการที่เราจะได้รู้ว่า ควรปฏิบัติกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ โดยศัพท์ คงเข้าใจแล้วว่า มิจฉา แปลว่าผิด สัมมา แปลว่า ถูก ส่วน ทิฏฐิ แปลว่า ความเห็น เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงทิฏฐิ โดยทั่วไปแล้วเป็นคำกลาง เพราะเหตุว่า จะเป็นสัมมาทิฏฐิคือความเห็นถูก ถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิก็เป็นความเห็นผิด แต่ว่าแล้วแต่ว่าจะอยู่หมวดไหน ถ้าพูดถึงอกุศลเจตสิก ใช้คำว่า ทิฏฐิ คำเดียว แต่หมายความถึง มิจฉาทิฏฐิ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่จะต้องละเอียด

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นขอความกรุณาอธิบายอีกเรื่องหนึ่ง คือ สัมมาสมาธิ และมิจฉาสมาธิ ที่พวกเราปฏิบัติกัน ก็เลยไม่ทราบว่า มันอันไหน เป็นอันไหน

    ท่านอาจารย์ ความเห็นถูก เวลาเกิดขึ้นก็มีสมาธิเกิดร่วมด้วย แล้วสมาธิที่เกิดกับความเห็นถูกก็เป็นสัมมาสมาธิ แต่ขณะใดที่เป็นเพียงความตั้งมั่นในอารมณ์ แต่ไม่มีปัญญา ไม่มีความเห็นถูก ขณะนั้นก็เป็นความเห็นผิด เป็นมิจฉาสมาธิ คือไม่อยากจะพูดถึงเพียงชื่อ แต่อยากจะให้เข้าใจธรรม สภาพธรรมที่มีจริงๆ

    ผู้ฟัง ในขณะนี้ก็จะไม่ค่อยเข้าใจกันตรงที่ว่า เห็นถูกคือเห็นอะไร เรียกว่า เห็นถูก เห็นผิดคือเห็นอย่างไร เรียกว่า เห็นผิด

    ท่านอาจารย์ เห็นถูก คือ ขณะนี้เป็นสภาพธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ถ้ามีความเห็นผิด ก็ยึดถือสภาพธรรมว่ามีจริงๆ เป็นคนจริงๆ เป็นเราจริงๆ นั่นคือเห็นผิด ทั้งๆ ที่เป็นเพียงสภาพธรรมแต่ละอย่างเท่านั้น แต่ถ้ามีความเห็นถูก คือ เริ่มที่จะมีความเห็นถูกเป็นขั้นๆ จะมีความเห็นถูก หมดความเป็นตัวตนทันทีไม่ได้ ต้องอาศัยการฟังว่า สิ่งที่มีจริงๆ เมื่อไม่ใช่เราแล้วเป็นอะไร เพราะว่าสิ่งนั้นมี เพราะฉะนั้น ก็เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรมอย่างหนึ่งอย่างใด ถ้าเข้าใจอย่างนี้ก็เป็นความเห็นถูกทีละเล็ก ทีละน้อยจนกว่าจะเห็นถูก ตรงกับคำที่พูดในตอนต้นว่า ไม่มีอะไรนอกจากนามธรรม และรูปธรรม นั่นก็เป็นความเห็นถูกที่เพิ่มขึ้นๆ จากนามธรรม และรูปธรรม นั่นก็เป็นการเห็นถูกที่เพิ่มขึ้นๆ จากการที่สติระลึกลักษณะ ของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกระทั่งเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม นั้นได้

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นในขณะที่ยังไม่ทราบว่า เห็นถูกหรือเห็นผิด ในการปฏิบัติทุกวันที่พวกเราคุยๆ กัน ทำๆ กันอยู่นี้ มันก็คงจะต้องอบรมกันไปเรื่อยๆ ๆ ๆ จนกว่าจะเห็นเองอย่างนั้น ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะว่าถ้าไม่มีปัญญาในขั้นต้น จะเอาอะไรไปเจริญขึ้น ในเมื่อไม่มีเลย จะต้องมีก่อน จากนิดหน่อยที่ละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง ผู้ที่เป็นสัมมาทิฏฐิมีโอกาสที่จะเป็นมิจฉาสมาธิได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ระดับไหน ความเห็นถูก

    ผู้ฟัง ระดับต้นก็ตามแต่ เรายังไม่ถึงพระอริยบุคคล

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีผู้ที่ศึกษาพระอภิธรรม แม้ว่าจะเป็นจำนวนน้อยไม่มากเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ศึกษา แต่ในบรรดาผู้ที่ศึกษา ศึกษาแบบเข้าใจธรรม หรือว่าเพียงจำ เพราะทุกคนที่จะศึกษาสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็จะมีความสนใจในเรื่องราวของสิ่งนั้น อย่างศึกษาเรื่องจิต ก็บอกว่าจิตเป็นอนัตตา เป็นปรมัตถธรรม มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ว่าถ้าไม่เข้าใจในความหมายของธรรมว่า ธรรมคือสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ แม้จิตขณะนี้ก็มีจิต แล้วก็จิตก็เป็นนามธาตุ หรือเป็นนามธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้ แล้วทำอย่างอื่น ขณะนั้นไม่ได้เข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่พูด แม้แต่นามธาตุ หรืออนัตตา ซึ่งกำลังมีในขณะนี้ ปัญญาต้องรู้สิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ จึงเป็นปัญญา เมื่อเพียงแต่ศึกษาโดยจำ หรือว่าโดยรู้เรื่องราว แต่ว่าไม่เข้าใจสภาพธรรม ก็ทำให้ปฏิบัติผิดได้

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น จึงไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า ถึงแม้คนที่เรียนพระอภิธรรมจบชั้นสูงสุดก็ตาม มีโอกาสที่จะเป็นมิจฉาสมาธิได้ แล้วก็บุคคลที่เรียนไม่สูงเท่าไร คือไม่ได้เรียนเอาประกาศนียบัตร ไม่ได้เรียนเพื่อสอบ แต่เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้ว โอกาสที่จะเป็นสัมมาก็มีมาก คือ ไม่ต้องเอาระดับความรู้ มาเป็นการตัดสิน

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าการฟังธรรมเพื่อเข้าใจ อย่างที่เราได้กล่าวถึงในตอนต้น ไม่ใช่เพื่อเหตุอื่นเลย ดิฉันไม่ได้สอบพระอภิธรรมเลย เพราะการศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจธรรม ประการเดียว ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น

    ผู้ฟัง ถ้าไม่มีเราแล้วคืออะไร ผมกำลังต้องเก็บคำถามนี้ไปค้นคว้า ถ้าไม่มีเราแม้กระทั่งเสียง รูป อาจารย์ที่พบอย่างนี้ สภาวะธรรมอย่างนี้ อยากจะได้ที่ลึกซึ้งกว่านั้น

    ท่านอาจารย์ เมื่อไม่มีเรา สิ่งที่มีเป็นอะไร คือ จิต เจตสิก รูป นี่เรื่อง ตำราบอก นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ต้องเป็นปัญญาอีกระดับ

    ผู้ฟัง ผมก็ตั้งคำถามเพื่อคนอื่น ไม่มีจิต เจตสิก รูปคืออะไร

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ มีจิตหรือเปล่า

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มีเจตสิกหรือเปล่า

    ผู้ฟัง มีหมดเลย รูปร่างหน้าตาอย่งนี้

    ท่านอาจารย์ แล้วพูดถึงเมื่อกี้นี้ว่าอย่างไร ก็ไม่พ้นจาก จิต เจตสิก รูป

    ผู้ฟัง ทุกวันนี้ของเราเข้าใจกันว่า คือ ภาวนา ตามหนังสือบอกว่า ทำให้เจริญขึ้น พวกเราก็คิดว่า การเจริญขึ้นจะต้องไปนั่งสมาธิ

    ท่านอาจารย์ อันนั้นไม่ถูกต้อง

    ผู้ฟัง มีนิวรณ์ธรรมบ้าง อะไรบ้าง ตามที่สำนักต่างๆ เขาสอนไว้ ก็คิดว่าตรงนั้นหรือบุญ เราก็ข่มความฟุ้งซ่านต่างๆ ทำได้หมด ๕ วัน ๑๐ วัน ทำได้หมด แต่ว่า วันนี้อยากจะทราบว่า มันเป็นอะไร

    ท่านอาจารย์ เพราะถ้าเราใช้คำว่า วิปัสสนาภาวนา แปลว่า เห็นแจ้ง เห็นนี้คือความรู้ ไม่ใช่ไปเห็นแบบ เราอยากดู แล้วไปพยายามจะไปดูให้เห็น อันนั้นไม่ใช่ แต่หมายความว่า เห็นที่นี่ คือปัญญาเจตสิก ที่อบรมเจริญจนกระทั่งเห็นธรรมโดยธรรมนั้นกำลังเผชิญหน้าให้เห็นความจริง อย่างเวลานี้ถ้าเราจะพูดเรื่องนามธรรม เราก็เข้าใจเผินๆ กำลังระลึกลักษณะที่เป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ จะมีลักษณะของเจตสิกอื่นๆ ร่วมด้วยได้ไหม ไม่ได้

    นี่แสดงให้เห็นว่า กว่าปัญญาของเราจะเข้าใจคำว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่ใช่เอาชื่อมาอ่าน นั่งเรียงหัวข้อ แต่จะต้องเป็นการรู้ถึงแม้ในขั้นต้น ลักษณะของจิตซึ่งต่างกับเจตสิก เพื่อที่จะได้ระลึกถูกว่า ขณะนั้นเป็นสภาพธรรม แต่ก่อนอื่น จะต้องรู้ลักษณะที่ต่างกัน เป็นนามธรรมกับเป็นรูปธรรมก่อน ไม่ใช่ว่าด้วยความอยากที่เราจะไปดู ไปรู้ ไปเห็นการเกิดดับหรืออะไร

    เรื่องของภาวนาซึ่งเป็นการอบรมวิปัสสนา ซึ่งเป็นการเห็นแจ้งด้วยปัญญาที่อบรมเจริญขึ้น เราก็รู้ว่าต้องมาจากการฟัง ถ้ามีการฟังเข้าใจจริงๆ แล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น ก็จะเป็นสังขารขันธ์ให้มีการระลึกลักษณะที่เป็นสภาพธรรมเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่เพียงแต่ฟังเรื่องราว ธรรมทุกอย่างจะเกิดได้ต้องมีเหตุปัจจัย อย่างจิตได้ยิน ถ้าไม่มีหู โสตปสาท ไม่มีเสียงกระทบ จิตได้ยินก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่การฟังเรื่องสภาพธรรม จนกระทั่งมีความเข้าใจจริงๆ ในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม สัมมาสติจะเกิดได้ไหม จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมตรงลักษณะของสภาพธรรมไหม ก็ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องการไปทำอะไรขึ้นมาเลย นอกจากเข้าใจจริงๆ ว่า ลักษณะของปัญญา คือความรู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏจนกว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นปกติ

    ผู้ฟัง ผมอยากจะให้อาจารย์แนะนำว่า เราจะทำอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อน ถ้าจะขอคำแนะนำคือว่า ไม่ต้องคิดเรื่องปฏิบัติเลย แต่ให้เข้าใจสภาพธรรมขึ้น เรื่อยๆ แล้วก็รู้ว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น เป็นธรรม ต่างหากที่ปฏิบัติ ถ้าปัญญายังไม่เกิด ตัวเราปฏิบัติหน้าที่ของปัญญาไม่ได้ จนกว่าเมื่อไรปัญญาเกิด เมื่อนั้นปัญญาก็ปฏิบัติหน้าที่ของปัญญา ไม่ใช่เรา สติก็ปฏิบัติหน้าที่ของสติ มรรคมีองค์ ๘ ก็ปฏิบัติหน้าที่ของมรรคนั้นๆ

    ผู้ฟัง อาจารย์บอกให้ฟัง แต่ว่าข้างนอกมีมากมายเลย เราไม่รู้ว่าต้องฟังคนไหนบ้าง

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่คน ฟังธรรม คือเรื่องสิ่งที่มีจริงๆ ให้เราเข้าใจขึ้น ไม่ต้องเลือกคน ฟังธรรมให้เข้าใจขึ้น ฟังใครที่ทำให้เราเข้าใจ ถ้าเราเข้าใจ เราก็ฟังต่อไป เป็นเหตุเป็นผลที่สมบูรณ์

    ผู้ฟัง เราจะรู้ได้อย่างไร คนนี้ พูดจริงหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ก็มีสภาพธรรมให้พิสูจน์ไง อย่างพูดเรื่องเห็น มีเห็นไหม พูดเรื่องได้ยิน มีได้ยินไหม พูดเรื่องโกรธ มีโกรธไหม พูดเรื่องปรมัตถธรรมก็มีจริงๆ

    ผู้ฟัง ถ้าเราไม่มีกิเลส โลกจะเกิดกับเราไหม คือทั้งโลภะ โทสะ โมหะ

    ท่านอาจารย์ คือทุกคนคิดถึงโลกใบใหญ่ กว้าง ลืมโลกใบเล็ก เล็กมาก คือ จิตหนึ่งขณะ ถ้าไม่มีจิตหนึ่ง ขณะนี้ โลกใหญ่นี้จะปรากฏไหม หรือโลกกว้างกว่านี้อีก จักรวาลจะปรากฏไหม แล้วเราก็มัวไปคิดถึงโลกใหญ่ โลกกว้าง ลืมโลกใบเล็กคือจิตหนึ่งขณะ หนึ่งขณะ ไปยุ่งเกี่ยวเรื่องความคิดนึก อย่าลืม เพราะมีตา หู จมูก ลิ้น กาย และคิด ทั้งหมด คิดทั้งนั้นเลย สิ่งที่เห็นดับแล้ว เสียงที่ได้ยินดับแล้ว ทุกอย่างที่กระทบสัมผัสตา หู จมูก ลิ้น กาย ดับแล้ว แต่ใจไม่ยอมทิ้ง ยังคิดแล้วยังทรงจำว่า เป็นเรา เป็นเขา เป็นโลกนี้ โลกใหญ่ โลกจักรวาล แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าโลกคือ จิต ไม่เกิด โลกไหนๆ ก็ไม่มีทั้งสิ้น

    ผู้ฟัง คือวางได้ก็ดี ตอนนี้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ยังไม่วาง ไม่วางเลย รู้ ค่อยๆ รู้ ดีกว่า ค่อยๆ รู้ดีกว่า เพราะว่าทุกคนมุ่งไปถึงจุดสุดยอด คือ ไม่มีกิเลส ลดกิเลส เบาบางกิเลส ดูเหมือนรังเกียจกิเลสเหลือเกิน แต่วันไหนอาหารไม่อร่อย

    ผู้ฟัง ผมก็ตั้งคำถามว่า ในสังคมต้องการหาคนดี แต่ตัวเองเวลาไปกระทบผู้อื่นไม่ได้ถามตัวเองว่า ดีหรือเลวเลย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เราไม่ได้คิดถึงโลกอื่น เราย่อมาที่โลกใบนี้ โลกใบนี้จะสุขหรือจะทุกข์อยู่ที่โลกใบนี้ โลกใบอื่นไม่เกี่ยวเลย เราจะบอกว่า เขาทำให้เราทุกข์ ผิด ไม่มีใครทำให้เราทุกข์ได้ ถ้าจิตของเราไม่มีกิเลส ไม่มีใครอื่นใดทั้งสิ้น นอกจากความคิดนึก ให้คิดถึงโลกที่มืดมิดสนิท แต่มีธาตุรู้ ซึ่งเดี๋ยวก็รู้ทางตา แว๊บเดียว ทางหู แว๊บเดียว นอกจากนั้นโลกนี้คิดเอาหมด คิดเป็นสมมติสัจจะทั้งหมด

    ผู้ฟัง คือแว๊บรู้ เพื่อวาง แต่ของผมแว๊บรู้ มันมีตัวโลภะเข้ามา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จิตโลกนี้ ใบนี้ ถ้าเราจะเอาแว่นขยายส่องเป็นอย่างไร มันน่าดู หรือว่ามันสะอาด

    ผู้ฟัง หนอนมากมายเลย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น มีหน้าที่ที่จะกระทำกับโลกนี้โลกเดียว ให้รู้ว่า เรากำลังคิดถึงว่า คนโน้นไม่ดี เรากำลังเจอคนที่ไม่ดี เมื่อไรเราจะเจอคนดี นี่คือความคิดของโลกนี้

    ผู้ฟัง ซึ่งไม่ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นอกุศลจิตสำคัญที่สุด คือ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้เราเห็น ความจริงของจิต จิตเป็นกุศล เป็นกุศล จิตเป็นอกุศล เป็นอกุศล พระพุทธเจ้าสอนให้เรารู้ ถ้าไม่รู้แล้วละไม่ได้ เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งไปเรื่องละ อย่าเพิ่งไปปฏิบัติ อยาเพิ่งไปทำอะไรทั้งหมด ค่อยๆ รู้ขึ้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น แล้วปัญญาก็จะเจริญขึ้น

    ผู้ฟัง ส่วนใหญ่ เรายังเป็นมนุษย์ปุถุชน ส่วนใหญ่เราจะไปเอาเรื่องข้างนอก เรื่องของคนอื่นที่อาจารย์อธิบายว่า เราเอาเฉพาะจิตดวงเล็กๆ เรานี้ แต่มันหนึ่งขณะ จะเป็นอย่างนี้ ใช่หรือไม่อย่างไร เพราะเราไปยุ่งกับของคนอื่น คนรอบๆ ตัวเราทั้งนั้น แต่ไม่ได้ลืมไปยุ่งกับตัวเราเอง

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะเหตุว่าจริงๆ แล้ว เราคิดนึก จิตนี้คิดนึกตลอด เราถึงจะรู้ว่า สมมติสัจจะเมื่อไร เมื่อคิด เพราะว่ากำลังเห็น เพียงเห็น ยังไม่เป็นเรื่องราวอะไรเลย ถ้าไม่คิดต่อจากเห็น ได้ยินปุ๊บ ดับไป ยังไม่เป็นเรื่องราวอะไรเลย ถ้าไม่คิดต่อจากนั้น แต่ว่าสิ่งต่างๆ พวกนี้ เกิดดับเร็วมาก แต่จิตคิดนึกสืบต่ออยู่เรื่อยๆ

    ผู้ฟัง มันก็จะสร้างเหตุต่อไปว่า ดี ไม่ดี ชอบ ไม่ชอบ อย่างนี้ ใช่ไหม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราที่คุยๆ กันมา กึ่งชีวิต นี่ก็คือ ค่อนชีวิต นี่ก็คือ เราไปยุ่งเกี่ยวกับคนอื่นเสียส่วนใหญ่เลย ผมขยายความ เน้นๆ แล้วก็ชอบไปยุ่งว่า โน้นผิด โน้นเพ่งโทษคนโน้น คนนี้ แต่ลืมเพ่งโทษในจิตของตัวเอง

    ท่านอาจารย์ คงไม่ปฏิเสธ ทุกคนต้องเห็น แล้วก็มีความคิดเรื่องบุคคลต่างๆ เป็นของธรรมดาแน่นอน แต่อย่าคิด วิจารณ์ หรือว่าคิดว่า ทำไมเขาเป็นคนเลวอย่างนี้ เมื่อไรเขาจะเป็นคนดีอย่างนั้น ไม่ใช่หน้าที่ของเรา ที่จะไปทำอะไรได้ ถ้าจะเกื้อกูล อนุเคราะห์ คือให้เขาเกิดปัญญา แต่ถ้าตราบใดที่เขาไม่มีปัญญา เขาก็เป็นอย่างนี้ ใครก็เป็นอย่างนี้ ทุกคนเหมือนกันหมด เพราะฉะนั้น เรามีปัญญาถึงระดับไหน ถ้าเรายังมีน้อยอยู่ ก็มีปัญญาเพิ่มขึ้น เราก็ไม่ต้องห่วงใยเรื่องคนอื่น นอกจากว่าเราก็จะคิดถึงเขา คิด แต่คิดด้วยเมตตาได้ แทนที่จะคิดเป็นอกุศลอย่างแต่ก่อน แต่ก่อนนี้เราไม่ได้รู้เรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป เราไม่รู้เรื่องธรรม มีแต่ความเป็นคน แต่ถ้าเรารู้แล้ว วันนี้เดี๋ยวนี้ไม่มีคนเลย ชื่อคนทั้งหลายไม่ต้องนึกถึง แต่มีจิต เจตสิก รูป แล้วจิต เจตสิก ที่สะสมกันมาหลากหลายต่างกัน ไม่มีใครอยากมีอกุศลเลย ทุกคนพยายามดิ้นรนแสวงหาที่จะไม่ให้เป็นอกุศล แต่ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรมจริงๆ ทุกคนก็เพียงแต่ไปหาวิธี ซึ่งมันไม่ใช่วิธี แล้วก็เข้าใจว่าเป็นวิธี เพราะเหตุว่าผู้ที่บอกไม่ใช่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้ศึกษาธรรมของพระองค์

    วิธีนั้นก็ใช้ไม่ได้ แต่ทีนี้ถ้าเราเข้าใจแล้วว่า ธรรมคือธรรม ที่เราเคยเห็นเป็นคน พอเริ่มเข้าใจว่า เป็นจิต เจตสิก คนไม่ดี เราสงสารไหม หรือเราไปคิดเมื่อไรเขาจะดี เขาจะทำอย่างไรจะดี เรื่องที่ว่าทำไม่ได้ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่ถ้าเรามีเมตตา ถึงกาลที่จะอนุเคราะห์ให้เขาเกิดปัญญาได้ เราทำ โดยที่ว่า เราไม่ต้องไปคิดไม่ดีกับเขา ใจเราก็สบาย เพราะฉะนั้น สุขทุกข์อยู่ที่จิตนี้ ขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้นไม่เป็นทุกข์ แต่พอจิตเป็นทุกข์ เรารู้เลยว่า จิตนี้เป็นอกุศล

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 97
    23 มี.ค. 2567