ปกิณณกธรรม ตอนที่ 280


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๘๐

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

    พ.ศ. ๒๕๓๙


    ผู้ฟัง ผมขออนุญาตยกตัวอย่างในเรื่องแผ่ แผ่นี้ ถ้าสมมติผมมีเพื่อนนั่งอยู่ใกล้ๆ ผมก็นึกถึงว่าให้เขามีความสุข ความสบายใจอย่างนี้ ก็คงเป็นลักษณะคล้ายๆ กับอุทิศใช่ไหม ไม่ใช่แผ่ เพราะว่าเพื่อนของผม ผมเจาะจงเพื่อนผม สมมติ ๔ คน อยู่แต่ละทิศ แต่ละทิศ ๔ ทิศนั่งอยู่ใกล้ๆ เลย ผมไม่ได้ว่า จะโกรธเขา ผมไม่ได้ว่าจะอิจฉาริษยาเขา ผมเพียงแต่ว่า ขอให้เขามีความสุขความสบายมีความเจริญ อะไรก็แล้วแต่ หรือนั่งตรงนี้ ก็ขอให้สบาย ผมได้รับแอร์เย็นๆ ก็อยากให้เขาสบายด้วยอย่างนี้ ลักษณะอย่างนี้เป็นเจาะจง หรือว่าแผ่ ผมจะเรียนถามถึงอาการ

    ท่านอาจารย์ โดยมาก เรามักจะคิดถึงคำที่เราได้ยินได้ฟัง โดยที่เรายังไม่เข้าใจจริงๆ อย่างคำว่า “แผ่เมตตา” แล้วที่ทำกันอยู่อย่างที่คุณวีระพูดว่า นั่งอยู่เฉยๆ แล้วก็มีเพื่อนอยู่ข้างๆ ก็บอกว่าขอให้เขาจงมีความสุข ถูกไหม ก่อนนี้ที่คุณวีระจะได้ยินประโยคนี้ เคยมีเพื่อนไหม

    ผู้ฟัง เคยมี

    ท่านอาจารย์ แล้วยังไม่เคยได้ยินประโยคนี้เลย คุณวีระหวังดีต่อเพื่อนหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นเพื่อน หวังดี

    ท่านอาจารย์ เมื่อใช้คำว่าเพื่อน คำว่าเพื่อนคำนี้มีความหมายมาก ตรงกันข้ามกับศัตรู คือศัตรูเป็นผู้ที่ประทุษร้าย แต่เพื่อนตรงกันข้าม เพื่อนจะไม่ทำสิ่งที่ไม่ดีกับเพื่อนเลย แม้แต่คิดไม่ดี แม้แต่แข่งดี หรือแม้แต่พูดในสิ่งที่ไม่ดี หรืออะไรก็ตามแต่ ถ้าเป็นเพื่อนจริงๆ หมายความว่า มีความหวังดี มีเมตตาต่อคนนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าคุณวีระยังไม่ได้ยินคำว่า ขอให้คนที่อยู่ข้างๆ จงมีความสุข แต่คุณวีระมีความหวังดีต่อคนนั้น ไม่ว่าจะพูดหรือจะคิดที่จะช่วยเหลือ ไม่ใช่ท่องเป็นคำออกมาว่า ขอให้ผู้ที่นั่งอยู่ข้างๆ เราจงมีความสุข นั่นเป็นเรื่องไปจำเอามา แล้วก็เป็นเรื่องที่พูด แต่ว่าใจจริงๆ เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า เพราะว่าใจจริงๆ ทุกคน ถ้ามีเพื่อนแท้ หรือว่าเพื่อนจริงเป็นสิ่งที่มีค่ามาก เพราะเขาจะไม่ได้รับอันตรายใดๆ ทั้งสิ้นจากคนนั้น ไม่ว่าด้วยความคิดนึก ด้วยการกระทำ หรือว่าด้วยคำพูด บางทีเราจะรู้ได้เลยว่า ตรงกับความหมายของคำว่าเมตตา เพราะว่าขณะใดที่มีเมตตา มีความเป็นมิตรต่อคนนั้น ในขณะนั้นจะไม่มีภัยกับคนนั้นเลย ไม่ได้หมายความว่า เรามีเพื่อนตลอดเวลา หรือว่าเรามีเมตตาตลอดเวลา ขณะใดก็ตามที่จิตของเรามีความหวังดี อนุเคราะห์ต่อใครก็ตาม ขณะนั้นเป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยเมตตา แต่ไม่ใช่ต้องมานั่งท่อง ซึ่งแต่ก่อนนี้ก็ไม่เคยมีใครนั่งท่อง แต่ก็มีความเป็นเพื่อนได้ มีความหวังดีต่อคนอื่นได้ เพราะฉะนั้น เวลาที่เมตตาเกิด ไม่ใช่ไปนั่งท่อง แล้วอย่าคิดว่า ขณะที่นั่งท่องเป็นเมตตาแล้ว เพราะเป็นความจำที่เพียงแต่พูด แต่ใจจริงๆ ขณะนั้นเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ถ้าคนนั้นเกิดมีความเดือดร้อน เราช่วยหรือเปล่า หรือว่าเป็นเหตุการณ์อะไรที่เป็นสิ่งไม่ดีต่อคนนั้น เรามีความคิดที่จะอนุเคราะห์ที่จะช่วยให้เหตุการณ์นั้นผ่านไปหรือเปล่า นี่คือเมตตาจริงๆ ซึ่งเป็นเพื่อนจริงๆ เป็นความหวังดีจริงๆ เพราะฉะนั้น เลิกคิดที่จะใช้คำตามที่ได้ยิน แต่ว่ารู้จักสภาพจิตที่ประกอบด้วยเมตตาจริงๆ ว่า ขณะไหนบ้างที่เป็นเมตตา

    ผู้ฟัง ขณะนั้น ถ้าอาการเช่นนี้เกิดขึ้น คือมีเมตตา มีลักษณะอาการของสภาพธรรมของเมตตาอยู่แล้ว

    ท่านอาจารย์ อาการอย่างนี้คืออะไร

    ผู้ฟัง อาการอย่างนี้คืออาการที่เป็นเพื่อนกับคนข้างเคียง

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ไม่ใช่เป็นคำที่ท่อง

    ผู้ฟัง แล้วก็ไม่ใช่เป็นการรู้สึก เป็นอาการของการแผ่ด้วย เป็นแต่เพียงลักษณะของเมตตา

    ผู้ฟัง คุณวีระ เลิกใช้คำว่าแผ่ได้แล้ว เพราะว่าท่านอาจารย์ ท่านก็บอกแล้วว่า ผู้ที่จะแผ่เมตตาได้ต้องเป็นผู้ที่ได้ฌาน จิตต้องเป็น อัปปนาแล้ว เรานี้ยังไม่มีอะไรเลย เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราจะต้องทำคือเจริญเมตตา แผ่ นี้เลิกได้แล้ว ในตำราท่านบอกว่า สัพเพ สัตตา นั่นท่านพูดสำหรับใคร พูดสำหรับเราหรือเปล่า แต่เราก็เอามาท่องจนทั่วไปหมด เข้าใจผิดจนทั่วไปหมด

    สมพร เอาอย่างนี้ ขณะนี้เราก็มีการกระทำ ๓ อย่าง ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ประกอบด้วยเมตตา ทางวาจา เราก็แนะนำสิ่งที่ควร อันนี้เรียกว่าเมตตาไปทางวจีกรรม การอนุเคราะห์เพื่อนฝูง โดยที่เราไม่ได้หวังสิ่งตอบแทน สิ่งนั้นก็เป็นเมตตาทางกายกรรม และในความหวังดีทางจิตใจก็มีส่วนประกอบด้วย เป็นไปทั้งต่อหน้า และลับหลัง มีความเสมอภาคในความหวังดี ก็เป็นเมตตา ประกอบด้วยมโนกรรม ขณะนี้เราไม่ได้แผ่ เพราะว่าเราไม่มีกำลังจิตถึงฌาน เรากระทำ ๓ อย่างนี้ก็เป็นเมตตา เมตตาเหมือนกันทางกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม พร้อมบริบูรณ์ ขณะที่เรามาสนทนาธรรมกันได้ในวันนี้ ก็ประกอบด้วยเมตตาทางกายกรรมบ้าง วจีกรรมบ้าง มโนกรรมบ้าง พร้อมเลยทั้ง ๓ อย่าง

    ผู้ฟัง อีกคำถามหนึ่ง ในเรื่องของอุทิศส่วนกุศล เราทำไมจะต้องพิจารณากันเฉพาะที่จะอุทิศส่วนกุศลในชาติที่เรารู้ คือ หมายความว่าคุณพ่อ คุณแม่ อะไรก็แล้วแต่ ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงที่ล่วงลับไปแล้ว เทพยดา อมนุษย์ ที่เขาสามารถจะล่วงรู้ที่เกิดกุศล ของเราได้ คือเราแสดงออกด้วยกาย หรือวาจา ทำไมจะต้องพิจารณาเฉพาะสิ่งที่เรารู้ในชาตินี้ หรือว่าไม่จำเป็นขอให้อดีตอนันตชาติด้วย อันนี้เป็นคำถามที่ว่า จำเป็นไหมจะต้องเจาะจงเฉพาะสิ่งที่เรารู้ในชาตินี้ ความรู้ในชาตินี้ ถ้าเผื่อเราไม่รู้ในชาตินี้ เราไม่รู้คือเรื่องการอุทิศส่วนกุศล ก็คงจะไม่มีการอุทิศส่วนกุศลอย่างนั้น ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ทำไมคุณวีระใช้คำว่า จำเป็น

    ผู้ฟัง จำเป็นต้องพิจารณาถึงวันนี้ วันนี้ก็วันแม่ ถึงจะคิดถึงคุณแม่ของผม ส่วนที่ผมจำไม่ได้ ก็ไม่เข้ามาเกี่ยว หรือไง

    ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่ หมายความว่า คุณวีระจะอุทิศส่วนกุศลให้ใครบ้าง ได้หมด ไม่มีการบอกว่าคนนี้ไม่ได้ คนนั้นไม่ได้ อยากจะอุทิศให้ใครได้หมดเลย อุทิศไปเลย ไม่ว่า อดีตอนันตชาติ ผู้มีพระคุณ ตั้งแต่อดีตอนันตชาติก็ได้

    ผู้ฟัง ใช่ แต่ ผมจะไปคิดถึงคุณแม่ผมคนแรก อยากให้คุณแม่ผมรู้มากๆ

    ท่านอาจารย์ ก็อุทิศไป

    ผู้ฟัง ไม่มีลำดับว่า ผู้ใดจะ

    ท่านอาจารย์ ไม่มี แล้วแต่อุทิศใครได้หมด

    ผู้ฟัง คุณแม่ก่อน คุณพ่อ แล้วคนที่ต่อๆ ไปได้น้อย

    ท่านอาจารย์ ไม่ ไม่ต้องเรียงลำดับ แล้วแต่ใจของคุณวีระ ก็คุณวีระลำดับของคุณวีระเอง เมื่อกี้นี้ก็บอกแล้ว คิดถึงคุณแม่ก่อน ก็เป็นเรื่องที่ใครจะไปเปลี่ยนแปลง ว่าคุณวีระ อย่าไปอุทิศให้คุณแม่ก่อน อุทิศให้คนนั้นก่อนไม่ได้ แล้วแต่ใจ

    ผู้ฟัง ที่จริง เกรงว่าจะนึกถึงคุณแม่ก่อน ก็คนอื่นที่รักเหมือนกัน ก็จะไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่เกี่ยว ใจคุณวีระอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น

    ผู้ฟัง วิธีเจริญเมตตาอย่างที่ท่านอาจารย์ได้พูดขึ้นมาเจริญอย่างไร ขั้นต้นควรจะต้องทำอย่างไรถึงจะได้เจริญเมตตา เพราะว่าหลายๆ ท่านที่มา เช่นอย่างทางผมเป็นครั้งแรกที่ได้มาฟัง แล้วไม่ทราบเลยว่า ความที่จะเป็นพุทธศาสนิกชนควรจะต้องทำตัวอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างที่ได้ยินได้ฟัง ทำไม่ได้ ถ้าไม่เข้าใจ ถูกไหม แม้แต่เมตตา ถ้าไม่ทราบว่า เมตตาคืออะไร แล้วจะเจริญได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องมาที่การตั้งต้นว่า เมตตาคืออะไร ซึ่งเมื่อกี้นี้ได้กล่าวถึงแล้วว่า เมตตาคือความเป็นเพื่อน ความหวังดี มีจิตคิดจะอนุเคราะห์เกื้อกูลบุคคลใด ขณะนั้นเป็นเมตตา ไม่ใช่มีวิธีเจริญที่เราจะต้องไปหาหนังสือมาเลย แต่หมายความว่าจะต้องเข้าใจลักษณะสภาพจิตเราว่า ขณะนั้นเป็นเมตตาหรือเปล่า เคยมีเพื่อนไหม

    ผู้ฟัง มีเพื่อน

    ท่านอาจารย์ เคยมีเพื่อน รักเพื่อนไหม

    ผู้ฟัง รัก

    ท่านอาจารย์ ขณะที่รักเป็นเมตตาหรือเปล่า

    ผู้ฟัง บางทีไม่แน่ใจ

    ท่านอาจารย์ รักไม่ใช่เมตตา นี่เป็นสิ่งที่จะต้องเข้าใจ เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่เข้าใจอะไรเลย แล้วเราไปหาหนังสือมาอ่าน แล้วพยายามจะทำให้เกิดเมตตา เป็นไปไม่ได้ ต้องเข้าใจก่อนว่า เมตตาไม่ใช่โลภะ โลภะเป็นอกุศล แต่เมตตาเป็นกุศล เพราะฉะนั้น ๒ อย่างนี้ต่างกัน โลภะเป็นลักษณะของการติดข้อง ต้องการ แต่เมตตาเป็นการที่เป็นมิตร ช่วยเหลืออนุเคราะห์ ถ้าเคยมีเพื่อนก็พอที่จะทราบได้ว่า ขณะไหนเป็นรักเพื่อน แล้วก็ขณะไหนเมตตาเพื่อน แต่ว่าเมตตาเพื่อนก็ยังจำกัด คือน้อย เฉพาะเพื่อนซึ่งอาจจะปนกับความรักเพื่อน แต่ถ้าเมตตา จริงๆ แม้คนซึ่งเราไม่รู้จัก แต่เราก็สามารถจะมีความเป็นมิตรกับเขาได้ คือไม่มีความเป็นศัตรู สามารถที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลได้ขณะใด ขณะนั้นก็เป็นจิตที่ประกอบด้วยเมตตา เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปหาตำราอะไร เพียงแต่ว่าให้ทราบว่าเมตตาคืออะไร แล้วขณะนั้นเป็นเมตตาหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่เมตตาก็รู้ว่า ขณะนั้นเป็น อกุศล ไม่ใช่กุศล ถ้ารู้อย่างนี้ ก็จะเห็นความต่างกันของเมตตากับโลภะ เมื่อเห็นความต่างกัน เวลาที่มีเมตตาเกิดขึ้น ก็สามารถจะรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นเมตตา แล้วก็ถ้ามีเมตตาก็ยังน้อยอยู่ เพราะว่าไม่สามารถจะมีเมตตากับคนทั่วไปได้ ก็เจริญเมตตา หมายความว่า มีเมตตาเพิ่มขึ้น ถ้าต้องการเจริญเมตตา เป็นผู้ที่เห็นว่า เมตตาเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้น ก็จะมีเมตตาเพิ่มขึ้น เป็นความคิดในทางฝ่ายกุศล ที่จะมีเมตตาเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง ผมก็พอทราบมาว่า การเจริญเมตตานี้ ค่อนข้างจะทำยากมาก เนื่องจากมีปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น อย่างบางท่านผู้รู้ก็เคยแนะนำว่า การจะเจริญเมตตา สิ่งแรกที่ควรจะเริ่มเจริญ คือเจริญเมตตาให้ตัวเอง เพราะมันไม่มีโทสะ เป็นอโทสะ อันนี้ไม่ทราบว่าจะเป็นพื้นฐานอย่างแรกดีไหม หรืออย่างไร ผมฟังมาผิดหรือเปล่า เพราะอย่างที่ฟังท่านอาจารย์ ใช่ แต่เรามองทุกท่านในห้องประชุมนี้ บางท่านอาจจะเกิดปีติ เหมือนกับเคยเจอกันมาก่อน บางท่านอาจจะมองว่า เหมือนกับไม่ค่อยถูกชะตา อันนี้อาจจะเป็น อันนี้ผมยกตัวอย่าง ดังนั้นการที่เราจะอบรมตัวเราให้มองท่านใดท่านหนึ่งให้เหมือนกันเลย ควรจะใช้อุบายอะไรอย่างไร

    สมพร เมตตาเป็นการขัดเกลากิเลส เรามีเพื่อนฝูงมาก เรารักเพื่อนฝูงมาก ขณะนั้นเป็นเมตตาหรือเปล่า ถ้าเป็นการขัดเกลากิเลส กิเลสไม่เกิดขึ้นในจิตของเรา เรามีเพื่อนฝูงมาก ก็ประกอบด้วยกุศลมากเหมือนกัน แต่ว่าปกติขณะนั้นจิตของเราเป็นอย่างไร ขัดเกลากิเลสหรือเปล่า กิเลสอย่างหยาบสำคัญที่สุดคือ โทสะ หยาบที่สุด ขณะนั้นเรามีหรือเปล่า เมื่อไม่มีแล้ว มีโลภะไหม เมื่อโลภะ โทสะ ๒ ตัวที่มันเกิดบ่อยๆ นี้ไม่มีแล้ว เมตตาก็เกิดได้เหมือนกัน แต่บางทีโลภะก็เกิดแทน เพราะว่าเราไม่ได้ขัดเกลา ต้องเข้าใจว่าเมตตานี้คือ การขัดเกลากิเลส สำหรับตัวเราฝึกหัดขัดเกลากิเลสทุกวันๆ บ่อยๆ ก็เพิ่มกุศลมากขึ้น ไม่ใช่ว่าประกอบด้วยโลภะ เมตตากับโลภะ มันใกล้กันมาก คือมีความรักเหมือนกัน โลภะก็รัก เมตตาก็รัก แต่ว่ามันต่างกัน

    ผู้ฟัง เข้าใจ คำว่า โทสะเสียก่อน ก่อนที่จะเจริญเมตตาได้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ พูดเหมือนกับว่า คุณกอบพงศ์ไม่เคยมีเมตตาเลย หรืออย่างไร

    ผู้ฟัง มิได้ ครั้งหนึ่งในชีวิต เรามั่งมีมาก เรามีเพื่อนมากมาย เขาเป็นเพื่อนกับเราเพราะเรามีสตางค์

    ท่านอาจารย์ อันนั้นคงไม่เกี่ยวกับใจของเรา คือใจของเรามีเมตตาขณะใด เรามีความเป็นมิตร เป็นเพื่อนที่จะอนุเคราะห์ช่วยเหลือคนนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าคุณกอบพงษ์เคยมีเพื่อน หรือว่าเคยช่วยเหลือใคร ขณะที่เป็นศัตรู คิดว่าคุณกอบพงษ์คงไม่ช่วย หรือเคยช่วยศัตรูเหมือนกัน

    ผู้ฟัง ขณะนี้ช่วย

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่ช่วย ขณะนั้นทำไมช่วยล่ะ

    ผู้ฟัง ไม่ต้องการจะมีเวรซึ่งกัน และกัน

    ท่านอาจารย์ ถ้าคิดจริงๆ เราอาจจะต้องไปหาเหตุผล แต่จริงๆ แล้วขณะใดที่จิตที่ เมตตาเกิดขึ้น เราไม่ต้องหาเหตุผลอะไรเลย เรารู้แต่ว่าขณะนั้นเป็นสภาพจิตที่ดี ที่ต้องการให้คนนั้นมีสิ่งที่ดี หรือว่าได้รับสิ่งที่ดีเท่านั้น มีความเป็นเพื่อนจริงๆ ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว ก็ไม่เห็นน่าจะสงสัย คำว่าเพื่อนหรือว่าเมตตา เพราะเหตุว่าทุกคนก็เคยมี แต่ว่ามีไม่มาก ข้อสำคัญคือมีไม่มาก เคยมีอาหารอร่อยๆ ไหม

    ผู้ฟัง เคย

    ท่านอาจารย์ รับประทานคนเดียวหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้ทานคนเดียว

    ท่านอาจารย์ บางคนเขาอาจจะให้อย่างอื่นได้ แต่อาหารอร่อย ให้ไม่ได้ ขออย่างเดียว คือว่าจะเอาอะไรก็เอาไป แต่ความติดในรส ทำให้เขาไม่สามารถจะแบ่งอาหารนั้นให้คนอื่นได้ ขออะไรได้หมด แต่อาหารจานนี้ต้องขอให้เขาได้รับประทาน แสดงให้เห็นว่าขณะนั้นไม่มีจิตที่เมตตา เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าเราต้องมานั่งท่องว่า ให้มีเมตตาต่อตัวเอง ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ไม่ใช่ไปอ่านหนังสือ แล้วก็ไม่เข้าใจความหมาย แล้วก็ตามตัวหนังสือ แล้วคิดว่า ต้องเป็นอย่างนั้น แต่ความจริงขณะที่กำลังรับประทานอาหารอร่อย เฉพาะตัว แล้วก็มีอีกคนซึ่งนั่งข้างๆ เกิดคิดไหม ว่าเขาคงอยากจะรับประทานอาหารอร่อยนั้นเหมือนกับเรา เพราะว่าอาหารนี้อร่อย หรือว่าบางทีเรามีคนในบ้าน แล้วเราก็มีอาหารอย่างดีซึ่งเราจะเก็บไว้รับประทาน แต่ถ้าเกิดคิดว่า เขาก็คงอยากจะรับประทาน เหมือนเรา แล้วสามารถที่จะแบ่งปันให้ได้ ขณะนั้นต่างกับจิตที่คิด จะเก็บไว้ รับประทานคนเดียว หรือว่าจะเก็บไว้รับประทานต่อไป

    การที่บอกว่ามีตนเป็นพยาน หมายความถึงว่า เราฉันใด คนอื่นก็ฉันนั้น ขณะนั้นเมตตาไม่เกิด เมตตาอาจจะเกิดตอนอื่น ขณะอื่นแต่พอถึงเรื่องซึ่งไม่เคยเกิด คือเป็นเรื่องอาหารอร่อย ซึ่งไม่ค่อยจะแบ่งให้ใคร แต่ว่าถ้าเกิดคิดขึ้น ขณะนั้นมีจิตเมตตาเกิดขึ้นแบ่งให้ได้ทันที นั่นคือการมีเมตตาเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง ฟังแล้วก็เข้าใจเรื่องเมตตาว่า เราเจาะจงใครไม่ได้ เพราะว่าเราต้องมีแก่ทุกคนๆ ความหวังดี ความรู้สึกนึกคิดอะไร อยากให้เขาเป็นสุข อะไรอย่างนี้ เราจะจงว่าจะให้ญาติพี่น้อง พ่อแม่เราไม่ได้ หมายความว่าให้ต้องให้ทั่วไป แล้วก็ในบุคคลปุถุชนนี้ อย่างพวกเรานี้ ไม่มีทางที่จะแผ่เมตตา ใช้คำว่าแผ่อีกครั้ง

    ท่านอาจารย์ ทำไมไปคิดไกลถึงจะแผ่ให้กว้าง เอาเพียงแค่มีเมตตาบ่อยๆ แล้วเพิ่มขึ้น ดีไหม

    ถ.. แน่นอน แต่อยากทำความเข้าใจ คือแปลว่าเราไม่มีสิทธิแล้ว ว่าอย่างนี้ คือคนที่จะมีสิทธิพวกชั้นพรหม ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เราสับสนเรื่องคำ แล้วเราไม่เข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่เราได้ยินได้ฟัง เราเริ่มเข้าใจเสียใหม่ให้ถูกต้องว่า ไม่ต้องไปคิดเรื่องแผ่อีกต่อไปแล้ว แต่ควรจะคิดว่าควรมีเมตตาเพิ่มขึ้น จะถูกต้องกว่า คนที่ไม่มีเมตตา ต้องเป็นคนที่ใจร้ายมาก คือไม่เคยมีเมตตาเลย แต่มี อาจจะไม่รู้ว่าชื่อเมตตาก็ได้ หรือว่าเป็นสภาพของอโทสเจตสิก แม้แต่คำว่าเมตตา ก็ไม่ใช่ภาษาไทย เพราะฉะนั้น เวลาที่เราจะคิดถึงคำว่าเมตตา เราก็จะงงว่า เมตตานี้คืออะไร แล้วก็เมื่อไร แล้วถ้าพูดถึงภาษาไทยง่ายๆ ก็คงจะไม่มีปัญหา ใจดี หมายความว่าอย่างไร ทุกคนรู้จักคนใจดี คนที่มีใจดีคือ คนที่มีเมตตา อาจารย์สมพรท่านใจดีใช่ไหม ทุกคนยอมรับไหม ที่ใจดีขณะใด ขณะนั้นเมตตา ไม่ได้ใจร้าย ไม่ได้หวังร้ายต่อใครเลย เพราะฉะนั้น เราก็ทราบว่า ถ้าพูดถึงคำว่า มีเมตตา ไม่จำเป็นต้องรู้ แต่ว่าจิตนั้นมีเมตตาแล้ว แต่ส่วนการที่จะรู้ลักษณะของเมตตา๐ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะว่าเราพูดถึงชื่อ พูดถึงสภาพธรรมโดยชื่อ แต่ว่าไม่ใช่ถึงโดยการประจักษ์ในลักษณะของสภาพธรรมนั้น เพราะฉะนั้น เราก็พอจะทราบได้ว่า ใครมีเมตตา คือคนที่ใจดี ส่วนคนที่ไม่มีเมตตาขณะไหน เราก็บอกว่าใจร้าย ขณะนั้นก็คือไม่มีเมตตา

    ผู้ฟัง ที่กล่าวว่า พรหมที่แผ่เมตตานั้นมาเปรียบเทียบกับการอุทิศส่วนกุศล ที่เข้าใจการอุทิศส่วนกุศลนั้นจะต้องมีผู้ให้ แล้วก็มีผู้รับ แต่สำหรับการแผ่เมตตานั้น นึกไม่ออกว่า สมมติพรหมแผ่ให้กับสัตว์โลก ผู้รับ สัตว์โลกจะรับอย่างไร คืออย่างอุทิศส่วนกุศล เราก็ทราบว่า รับทราบแล้วก็อนุโมทนา จิตเป็นกุศลตาม แต่ในการแผ่เมตตาของพรหมนั้น แผ่ให้สัตว์โลกแล้ว อย่างเช่นแผ่ให้พวกเรา เราจะทราบได้อย่างไรว่า นั่นเป็นเมตตาที่ท่านแผ่มา หรือว่าเมตตาเป็นเพียงสภาพจิตของพรหมเองซึ่งมีความเมตตากว้างไกลออกไป จึงเรียกว่าแผ่เมตตา

    ท่านอาจารย์ คุณพันทิพาเข้าใจความต่างกันของคำว่า อุทิศกับคำว่าแผ่แล้ว ใช่ไหม

    ผู้ฟัง เข้าใจแล้ว

    ท่านอาจารย์ แผ่ไม่ใช่การกระทำแบบทางกาย แต่เป็นเรื่องสภาพจิตที่มีเมตตากว้างทั่วไปหมด เป็นเรื่องของจิต ไม่ใช่เป็นเรื่องของการอุทิศ การอุทิศนั่นคือเจาะจงให้บุคคลอื่นได้รู้แล้วอนุโมทนา แต่ว่าเรื่องของเมตตาไม่ใช่เรื่องของอุทิศ เป็นเรื่องของสภาพจิตซึ่งมีเมตตากว้างมาก เพิ่มขึ้น ตลอดจักรวาลหรืออะไรก็แล้วแต่สภาพจิตของบุคคลนั้น เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปคอยรับเมตตาว่าใครแผ่มาให้เรา ไม่ใช่อย่างนั้น เป็นเรื่องสภาพจิตของคนนั้น

    สมพร พวกเราควรจะพูดว่า กระทำเมตตา มากกว่า เช่นกระทำการงานช่วยเหลือคนอื่น เมตตา กรุณา ๒ อย่างเกิดพร้อมกัน เช่นคนกำลังป่วย เจ็บไข้ได้ป่วย เราก็ช่วยเหลือเขา เมตตากับกรุณาก็เกิดสลับกันไป สลับกันมา คือก็ทำกุศล กระทำกุศลนั่นเอง เราไม่ต้องใช้คำว่าแผ่ ถ้าแผ่จิตของเราต้องมีกำลังสูงขึ้นถึงมหคต อันนี้เป็น กามาวจร เป็นกุศลธรรมดา เรียกว่ากระทำกุศลทางกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เหมือนเราที่เราช่วยคนป่วย เช่นเดียวกัน เมตตากับกรุณา สลับกันไป สลับกันมา ช่วยเขาให้พ้นจากทุกข์ เขาจะพ้นจากทุกข์จริงหรือไม่ ก็แล้วแต่เขา แต่เจตนาของเรามีอยู่ นั่นก็เป็นกรุณาเจตสิก คือ กรุณาในพรหมวิหาร ๔ ขณะที่เรามีความรักต่อเขา รักสัตว์ทั้งโลก ก็เป็นสภาพเดียวกัน มีความรักไม่ประกอบด้วยโลภะ นั่นก็เป็นเมตตา เมตตากับกรุณามักจะเกิดสลับกันเสมอ บางครั้งเราก็แยกแยะไม่ได้ แต่ว่าสำหรับคนที่มีความรู้แล้ว ก็พยายามแยกได้ ควรจะเรียกว่ากระทำกุศล สำหรับกามาวจร ทำกุศล เช่น เราสนทนาธรรม เมตตาทางวจี

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 97
    23 มี.ค. 2567