ปกิณณกธรรม ตอนที่ 242


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๔๒

    สนทนาธรรม ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา

    พ.ศ. ๒๕๔๕


    ผู้ฟัง พูดถึงสิ่งที่เป็นเครื่องกั้น เป็นเครื่องขัดขวาง ไม่สามารถจะไปจาก สังสารวัฏได้

    มันเป็นเรื่องราวทั้งหมดเลย ถามว่าสิ่งทั้งหลายที่เราเรียนมา จะมาเกื้อกูลกับเรื่องขณะเดี๋ยวนี้ได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ พูดเท่าไร คือมาลงที่เป็นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ มีจริงๆ เดี๋ยวนี้ที่เป็นธรรม

    ผู้ฟัง ถ้าฟังแค่นี้ รู้สึกว่าไม่ค่อยจะหนักอกหนักใจเท่าไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ แค่นี้ไม่พอ ความละเอียดมีอีกมาก เพื่อเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้เวลาเห็น แล้วก็มีความเข้าใจอย่างนั้นได้

    ผู้ฟัง เวลานี้ เห็น จะบอกว่าติด ก็ไม่ติด เห็นก็คือว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ เป็นอารมณ์เฉยๆ พอเรียนถึงเรื่องอกุศลเจตสิก ๑๔ มันก็เลยไม่เกี่ยวข้องกับขณะที่กำลังพูดถึงคำว่ากำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ ขณะนี้

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าการที่ได้ฟังว่า เป็นสิ่งที่ปรากฏ กับการรู้ว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏ ห่างไกลกันไหม เพียงฟังว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏแล้วเข้าใจ ประการที่ว่าเมื่อสติเกิด ก็รู้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ๒ ตอนนี้ห่างกันไหม

    ผู้ฟัง ต้องห่างกันแน่

    ท่านอาจารย์ นั่นคืออาศัยการฟังแล้วฟังอีก จนกว่าจะเป็นสังขารขันธ์ พอที่จะให้ไม่ยึดถือสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด นอกจากเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ หลังจากนั้นก็เป็นการคิดนึก คล้ายๆ กับว่าสิ่งที่มีอยู่ ทำอย่างไรถึงจะได้มาปรากฏ ทำอย่างไรถึงจะได้รู้ได้เข้าใจ แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้นเลย ฟังอย่างนี้ไปอีกนานเท่าไรก็ได้ เพื่อที่จะให้เป็นการปรุงแต่ง ให้เวลาเห็น แม้ขณะนี้ ก็เป็นเพียงสิ่งที่กำลังปรากฏ ค่อยๆ ระลึกได้ ค่อยๆ จำได้ เป็นสัญญาความจำที่มั่นคงขึ้นว่า ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น ถ้าเราไม่ใส่ใจ ก็มีเสียงแล้ว ใช่ไหม ถ้าเราไม่ใส่ใจสักอย่าง สภาพธรรมเขาก็ปรากฏตามความเป็นจริงของเขาอย่างนั้น แต่เพราะความใส่ใจมากั้นมาขวาง ก็มีเรื่องมีราว มีความจำในสิ่งนั้นต่างๆ แล้วเวลาเสียงปรากฏก็ไม่เคยรู้ว่า เป็นเพียงสภาพธรรมที่เหมือนกับสิ่งที่ปรากฏทางตา คือ มีจริงแล้วก็ปรากฏ แต่ปรากฏทางหู คนละลักษณะกับสิ่งที่ปรากฏทางตา ธรรมก็ต้องเป็นอย่างนี้ จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นี่ขั้นฟัง แต่การที่จะรู้จริงๆ ไม่ใช่เพียงขั้นฟัง ก็มีหนทางว่า เพราะขณะนั้นมีสติสัมปชัญญะเกิด รู้ตามคือรู้อยู่ที่ลักษณะนั้นทีละอย่างๆ จนกว่าจะทั่ว จนกว่าปัญญาจะรู้เพิ่มขึ้น ไม่มีวิธีอื่น

    ผู้ฟัง หลังจากที่รู้ความจริงแล้วก็กลับเป็นปกติอย่างที่ไม่มี

    ท่านอาจารย์ รู้ความจริงนั้นคือเมื่อไร ขณะไหน

    ผู้ฟัง ขณะที่สติปัฏฐานเกิด

    ท่านอาจารย์ ขณะที่สติปัฏฐานเกิดก็ธรรมดา

    ผู้ฟัง แล้วสติปัฏฐานก็ดับไป สิ่งที่เป็นเรื่องราวบัญญัติก็สืบต่อ

    ท่านอาจารย์ สติปัฏฐานเกิดรู้หรือเปล่าว่า ขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมที่คิด

    ผู้ฟัง อันนี้ยังไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ต้องทั่ว ไม่ว่าอะไรทั้งหมดที่เราไม่เคยรู้ เคยเป็นเราอย่างรวดเร็วสืบต่อกัน ความรู้ก็จะค่อยๆ แทรก ค่อยๆ คั่นว่า ลักษณะแต่ละอย่างเป็นธรรมอย่างไร แล้วเวลาที่สติเกิด เขาก็ระลึกตามปกติ แล้วก็มีลักษณะนั้นปรากฏตามปกติ ให้รู้เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นความเข้าใจของแต่ละคนว่า ความหมายของคำว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม คือ ธรรมไม่ใช่เป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีเหตุมีปัจจัยเกิดขึ้น เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วก็พูดเป็นเรื่องเป็นราวต่อไป ในที่สุดพอเห็นทีไร ก็เป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งอีก

    ท่านอาจารย์ ธรรมมี แม้ปรากฏ อวิชชาก็ไม่สามารถจะรู้ได้ นี่คือความยาก เพราะว่าอวิชชามากมาย แต่วิชชาสามารถรู้ได้อย่างนี้ ตามที่เป็นจริงอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ระหว่างอวิชชาค่อยๆ จางลง วิชชาเพิ่มขึ้น ความเข้าใจไม่ได้เข้าใจเรื่องอื่นเลย คือเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏนี่แหละ ตามความเป็นจริง คือเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ แล้วถ้าเราไม่มีการจดจ้องต้องการ สภาพธรรมอื่นก็ปรากฏ คือสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง คิดนึกก็คือสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ทั้งวันก็เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง แต่จะรู้ลักษณะจริงๆ เมื่อ สติสัมปชัญญะซึ่งเป็นสติปัฏฐานเกิด ไม่อย่างนั้นก็เป็นเรื่องราว ความเข้าใจเรื่องราวจะเข้าใจสภาพธรรมยังไม่ได้ จนกว่าสติสัมปชัญญะจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ความยากอยู่ตรงนี้ จากการฟังที่ว่ายากมาก มาถึงการระลึกก็ยากเข้าไปอีก มาถึงปฏิเวธก็ยิ่งยากเข้าไปอีก แต่ก็รู้อย่างนี้ หรือรู้สิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง เรื่องปฏิเวธ สำหรับส่วนตัวของผมไม่ค่อยเป็นห่วง แต่ว่าเป็นห่วงเรื่องความเข้าใจ แม้ว่าจะเข้าใจก็เป็นความเข้าใจระดับหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ แต่จริงๆ ธรรมไม่ต้องห่วงเลย เท่าไรก็เท่านั้น สบายๆ ปกติ เพราะเรารู้ว่า เราฝืนให้มีมากๆ ไม่ได้ ค่อยๆ สะสม ค่อยๆ เข้าใจไป อย่างวันนี้ ถ้าสนทนากันสัก ๒ ชั่วโมง แล้วเข้าใจเพิ่มขึ้นอีกหน่อยก็ยังดี ใช่ไหม ไม่ใช่ว่าเราไปคิด ๒ ชั่วโมงแล้ว ต้องเข้าใจเกินกว่าที่ได้ฟัง หรือเท่ากับที่ได้ฟังเต็มที่ ๒ ชั่วโมง ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ฟังแล้วฟังอีก คือฟังเรื่องของสภาพธรรม แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ก็สบายใจ ไม่ต้องไปเป็นห่วงอะไรทั้งสิ้น ฟังเมื่อไรก็เบาใจ สบายใจที่ได้เข้าใจธรรม แต่เวลาที่ฟังแล้วห่วง เพราะอยากจะให้เข้าใจมากกว่านี้หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ต้องไว ต้อง

    ท่านอาจารย์ ไม่ ค่อยๆ รู้ไป ธรรมดาๆ

    ผู้ฟัง ทราบอย่างที่ท่านอาจารย์อธิบายว่า จะต้องระลึกที่ลักษณะ จะต้องมีความไว

    ท่านอาจารย์ ธรรมธรรมดาๆ ไม่ต้องไปไว ธรรมดาๆ ไปเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง คือไม่รู้ คือไม่รู้ รู้คือรู้

    ท่านอาจารย์ เท่านั้น

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เบาไหมอย่างนี้

    ผู้ฟัง ประเดี๋ยวเหมือนจะเฉื่อยชาไป

    ท่านอาจารย์ นั่นไง เห็นไหม ใคร ใคร ใครบอกให้ไม่เฉื่อยชา

    ผู้ฟัง จากสิ่งที่พูดออกไป

    ท่านอาจารย์ ใคร ใครบอกให้ไม่เฉื่อยชา

    ผู้ฟัง ตัวตน

    ท่านอาจารย์ ใคร

    ผู้ฟัง โลภะ

    ท่านอาจารย์ นั่นแหละ กว่าจะละ กว่าจะรู้ ไม่ต้องไปทำตามเขา เขาบอกให้ทำอะไรก็ไม่ต้องไปทำตามเขา เพราะว่าตามได้อย่างไร เขาให้ไปทำอย่างอื่น แทนที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมทีละนิดเดียว เขาก็จะเอาให้มากๆ

    ผู้ฟัง อย่างในกรณีที่ฟังธรรมจากท่านอาจารย์ ฟังแล้วก็คล้อยตามไป ถือว่าเป็นการพิจาณาตามนี้ ส. เขาพิจารณาเองเสร็จ ขณะนี้ที่กำลังฟัง ไม่มีเราต่างหากที่จะไปพิจารณาเลย จิต เจตสิกทั้งนั้นเลย

    ผู้ฟัง เรื่องอิทธิบาท ๔ กับอธิปติปัจจัย ที่มีองค์ธรรมเหมือนกัน ความแตกต่างกันอยู่ที่ไหน

    ท่านอาจารย์ ถ้าพูดถึง “อธิบดี” ในภาษาไทย ซึ่งภาษาบาลีเป็น “อธิปติ” หมายความถึงสภาพที่เป็นใหญ่เฉพาะหน้าที่นั้นๆ ของตนๆ แต่ถ้าอิทธิบาท หมายความว่า บาท คือ ปาท ซึ่งทำให้เกิดอิทธิ ความสำเร็จ เบื้องต้นที่จะให้ถึงความสำเร็จที่เป็นฌานจิต หรือเป็นการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ใช่เราทำอะไรเสร็จก็มีอิทธิบาท ผัดก๋วยเตี๋ยวสักจานเสร็จก็สำเร็จแล้ว อย่างนี้ไม่ใช่อิทธิบาท แม้ว่าอิทธิบาท คือ ฉันทะ วิริยะ จิต วิมังสะ

    ฉันทะ คือความพอใจที่จะกระทำ ทุกคนที่ทำอะไรต้องมีความพอใจที่จะกระทำ โดยที่เราไม่รู้ตัวเลย เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง คือ เจตสิกซึ่งเกิดกับจิตเกือบทุกประเภท เกิดได้ทั้งฝ่ายกุศล และทั้งฝ่ายอกุศลด้วย

    เพราะฉะนั้น เราก็จะรู้ได้เลย เวลาที่เราอยากจะทำอะไรที่เป็นฝ่ายอกุศล ขณะนั้นฉันทะเกิดกับโลภะ โลภะเป็นความติดข้องต้องการ แต่ฉันทะเป็นสภาพที่พอใจที่จะกระทำ เราอาจจะมีความติดข้องต้องการขณะใด แม้ว่ายังไม่ลุกขึ้นไปทำสิ่งที่เราต้องการเลย ฉันทเจตสิกก็เกิดร่วมด้วยแล้ว

    สภาพนามธรรมซึ่งไม่มีรูปร่างเลย แต่ก็มีนามธรรมอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งต้องเกิดร่วมกัน แม้ว่าจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ แต่ตัวเจตสิกแต่ละอย่าง เขาเกิดขึ้นทำกิจการงานของเขาร่วมด้วย ให้จิตนั้นเป็นประเภทอย่างนั้นๆ อย่างจักขุวิญญาณ จิตเห็น ไม่มีฉันทะเกิดร่วมด้วย อเหตุกจิตทั้งหมด จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ไม่จำเป็นต้องมีฉันทเจตสิก เพราะเหตุว่าเกิดขึ้นโดยอุบัติตามควร เช่น เสียงกระทบหู จิตได้ยินก็เกิดขึ้น ไม่ต้องมีฉันทะ แต่ว่าจิตอื่นต่อจากนั้นไปที่ไม่ใช่ อเหตุกจิต จะมีฉันทเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ถ้าฉันทะในทางกุศล ถ้าเป็นกุศลอย่างธรรมดา ทาน ศีล ก็เป็นความพอใจที่จะกระทำทาน หรือว่าความพอใจที่จะทำการวิรัติทุจริต มีความพอใจที่จะกระทำกายวาจาที่ดีงาม เพราะว่าเรื่องของศีล เป็นเรื่องของกายวาจา เพราะฉะนั้น ขณะนั้นก็มีฉันทะ แต่ไม่ใช่อิทธิบาท สิ่งที่จะเป็นความสำเร็จ ไม่ใช่การสร้างจรวด ไม่ใช่การค้นคว้าพบอะไรใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิชาการแพทย์ วิศวกร หรืออะไรก็ตามแต่ อันนั้นไม่ใช่สิ่งที่เป็นความสำเร็จจริงๆ เพราะว่าเป็นไปด้วยโลภะ เป็นไปด้วยความติดข้องต้องการ

    แต่ความสำเร็จจริงๆ ที่เป็นเรื่องของอิทธิบาทจะมี ๒ อย่าง คือความสำเร็จที่จะทำให้จิตสงบจากโลภะ โทสะ มั่นคงจนกระทั่งถึงระดับของฌานจิต เพราะฉะนั้น ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสะ เป็นบาทที่จะให้จิตสงบจนกระทั่งถึงฌานจิตได้อย่างหนึ่ง แล้วอีกอย่างหนึ่งคือขณะนี้มีสภาพธรรม ฉันทะก็มีความพอใจที่จะกระทำ แต่เขาไม่ใช่มรรคมีองค์ ๘ ไม่ใช่มรรคมีองค์ ๕ พวกนั้นเป็นมรรค เป็นหนทางซึ่งขาดไม่ได้ แต่เจตสิกพวกนี้ก็เกิดร่วมกัน แล้วทำหน้าที่เฉพาะของเจตสิกนั้นๆ อย่างฉันทะ วิริยะ จิตตะ ปัญญา พวกนี้ก็เป็นอิทธิบาทที่จะทำให้สามารถถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะอิทธิที่นี่ใช้ ๒ อย่าง สำหรับสมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนา อย่างอื่นไม่ใช่อิทธิ สำเร็จที่จะเป็นถึงขั้นที่ ความสงบระดับฌาน หรือถึงขั้นที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ส่วนอธิบดีมีเท่าไร คุณหมอจำได้ไหม อธิบดีมี ๔ เพราะฉะนั้น ของเขาไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับสมถะกับวิปัสสนา เขาเป็นใหญ่เฉพาะของเขาๆ ในขณะนั้น

    ผู้ฟัง เมื่อตอนที่เรียนหนังสือ สอนอิทธิบาท ๔ เพื่อจะได้เรียนสำเร็จ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เลย ต้องเรื่องสมถะ และวิปัสสนา

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น เป็นการสอนเรื่องอธิปติปัจจัยมากกว่าหรือไง ทำการอะไรให้สำเร็จควรจะมีอิทธิบาท ๔

    ท่านอาจารย์ เพราะใช้คำผิด ที่ถูกต้องใช้คำว่า อธิบดี อธิบดีก็ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสะ เหมือนกัน เวลาที่เราจะทำอกุศล อะไรก็ตาม หรือจะเรียนให้เก่ง หรือจะทำงานหรืออะไรก็ตาม บางครั้งเราทำด้วยฉันทะ อย่างคนที่เป็นหมอ อาจจะมีฉันทะในการที่จะช่วยคนเจ็บไข้ให้เขาหาย มีฉันทะในการงานนั้น คือ เราอาจจะพิจารณาตัวเราเองดีกว่า อย่างการศึกษาธรรมของเราเป็นไปด้วยฉันทะ ความพอใจที่จะเข้าใจ หรือเป็นไปด้วยวิริยะ เพราะว่าเห็นประโยชน์ หรือว่าเป็นจิตตะ ที่มีความสนใจจริงๆ หรือว่าเป็นด้วยปัญญา

    เพราะฉะนั้น การกระทำของเราแต่ละครั้ง เราจะรู้ได้ สำหรับดิฉันเอง มีฉันทะมากในการอ่าน ชอบอ่านมากเลย พระไตรปิฎก อรรถกถา แต่ว่าเวลาที่จะพูด ไม่ได้มีฉันทะเท่ากับเวลาที่อ่าน ถ้ามีความเพียรที่จะต้องไปที่ไหนซึ่งอาจจะยากลำบาก หรือว่าคนฟังอาจจะมีความเห็นต่างกัน เราก็ต้องมีฉันทะเหมือนกัน แล้วก็มีวิริยะด้วย แต่อะไรจะเป็นใหญ่ในการที่เพียรให้เขาค่อยๆ เข้าใจ สิ่งที่เขาเคยเข้าใจผิดให้เข้าใจถูกขึ้น ก็คงจะต้องอาศัยวิริยะด้วย แต่ก็มีฉันทะ แล้วก็ในขณะนั้นก็แล้วแต่ จะเป็นปัญญาก็ได้ ชื่อว่าเห็นประโยชน์มาก ว่าถ้าเขาได้เข้าใจอันนั้นก็จะเป็นประโยชน์สูงสุดในชีวิตของเขา แต่ฉันทะจะเห็นมากเลยเวลาอ่าน

    ผู้ฟัง มีสภาพธรรมหลายๆ อย่างที่เกิดร่วมกับจิต ซึ่งเราไม่สามารถจะรู้ได้ บางสิ่งก็จะรู้ได้ ส่วนใหญ่เราก็จะรู้ไม่ได้ จากที่เรารู้ รู้โดยตำรา รู้โดยรู้ตาม และการรู้โดยตำรา ที่เราได้มาจากการศึกษารับฟัง จะมีประโยชน์เกื้อกูลอย่างไรบ้าง เพราะหลากหลายเหลือเกิน

    ท่านอาจารย์ เวลานี้มีจิต ใช่ไหม รู้หรือเปล่า แค่จิตซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ก็ยังไม่รู้ แล้วก็เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย จะรู้หรือเปล่า ซึ่งความจริงชีวิตของเราเป็นธรรมทั้งหมดเลย ไม่มีสักขณะเดียวที่ไม่ใช่ธรรม เมื่อกี้นี้รับประทานอาหารอร่อยไหม โลภะ ใช่ไหม ต้องทรงแสดงว่า ขณะนั้นเป็นสภาพเจตสิก ไม่อย่างนั้นก็เป็นเรา คือที่เคยเป็นเราทั้งหมดจะออกมาเป็นธรรมแต่ละอย่างๆ ซึ่งมีลักษณะอย่างนั้นๆ แต่เนื่องจากความไม่รู้ แม้แต่ความอร่อย ความติดข้อง ก็เป็นเรา แต่ท่านบอกว่าเป็นโลภะ เราก็รู้จักชื่อโลภะ แต่ไม่ใช่ว่ารู้จักชื่อโลภะ แล้วไปหาว่าเมื่อไร แต่กำลังอร่อยๆ ในลักษณะของความติดข้อง ความเพลิดเพลิน สุขเวทนา หรือโสมนัสเวทนา ทรงแสดงไว้หมดเลย แม้แต่ความรู้สึกทั้งวันที่มี เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวกังวล อย่างได้ยินเรื่องราวอุบัติเหตุหรืออะไรต่างๆ ความรู้สึกของเราก็เป็นอย่างหนึ่ง พอได้ยินเรื่องราวที่น่ายินดีด้วย เราก็เกิดความรู้สึกอีกอย่างหนึ่ง ทั้งหมดทรงแสดงว่า เป็นธรรม แล้วก็เป็นเจตสิกซึ่งเกิดกับจิต แล้วไม่ใช่เรา แล้วก็มีลักษณะต่างกัน สุขเวทนาเป็นอย่างนั้น โสมนัสเป็นอย่างนี้ ทั้งวันเป็นสภาพธรรมทั้งหมด ถ้าสติปัฏฐานเกิดรู้ ก็จะรู้ว่ามีลักษณะจริงๆ ลักษณะของโทสะก็เป็นอย่างหนึ่ง ลักษณะของความติดข้องก็เป็นอย่างหนึ่ง ลักษณะของความรู้สึก ทุกวันขณะนี้เดี๋ยวนี้เป็นสภาพธรรมทั้งนั้น กำลังรู้แข็ง สภาพรู้ก็มี แต่เป็นเรา เคยเป็นเรา แต่พระองค์ทรงแสดงว่า เป็นธาตุ เป็นธรรมชนิดหนึ่งซึ่งมีจริงๆ เกิดขึ้นแน่นอน จึงได้ปรากฏ ถ้าไม่เกิดจะปรากฏไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่ปรากฏเกิดแล้วปรากฏ แค่นี้เราก็ไม่รู้ เราจะไปรู้อะไรอีกตั้งมากมายที่เราอยากจะรู้ ก็ต้องเริ่มรู้ตั้งแต่ทุกอย่างเป็นธรรมให้มั่นคงจริงๆ ว่า ไม่มีอะไรเลยซึ่งไม่ใช่ธรรม เพราะมีจริง แล้วมีจริงเมื่อไร มีจริงเมื่อเกิดจึงปรากฏ ถ้าไม่เกิดจะว่าจริงไหม เพราะทุกอย่างจริงชั่วขณะที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิด แล้วสิ่งนั้นดับ แล้วสิ่งนั้นจะไม่กลับมาอีกเลย เพราะฉะนั้น จะเป็นอันเก่ากลับมาไม่มีเลย ตลอดชีวิตของเรา ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่มีอันเก่าสักอันเดียว สิ่งใดที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดแล้วดับ ไม่กลับมาอีกเลย แต่ว่าเป็นธรรมแต่ละอย่าง

    เพราะฉะนั้น เราจึงสามารถที่จะเข้าใจได้ว่า ธรรมมีจริง เมื่อไร เมื่อเกิดจึงปรากฏ แล้วปรากฏก็นิดเดียวก็หมดแล้ว แล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย สิ่งที่เกิดก็คือใหม่อีก ใหม่อีกๆ ตลอด เกิดเพื่อที่จะดับ ไปๆ ๆ ๆ ตลอด ถ้าเราไม่รู้ว่า เป็นธรรม เราพยายามจะไปรู้โน่น รู้นี่ แม้แต่นามธรรมรูปธรรมซึ่งต่างกัน อันนี้ต้องรู้ก่อน ไม่ใช่ว่าเราจะรู้ความต่างของนามธรรม และรูปธรรม แล้วเราจะไปรู้เจตสิกนั้นเจตสิกนี้

    ผู้ฟัง พูดว่าทุกอย่างที่เป็นสังขารธรรม เกิดแล้วต้องดับ แต่เหมือนกับอนุสัย เกิดแล้วไม่ได้ดับ

    ท่านอาจารย์ อนุสัยไม่เกิด ถ้าเกิดแล้วเป็นปริยุฏฐานะ มีปัจจัยจึงเกิดเป็นปริยุฏฐานะ

    ผู้ฟัง สภาพที่มันมีอยู่จะเรียกว่าอะไร

    ท่านอาจารย์ เรียก “อนุสัย” เพราะว่าเป็นปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น มีอยู่ในจิตเลย ใช้คำว่านอนเนื่อง สิ่งที่มีอยู่ในจิต อย่างเจตสิก เจ-ต-สิ-กะ เป็นสภาพธรรมที่เกิดในจิต หรือว่าเกิดกับจิต หรือประกอบกับจิต หมายความว่ามีจิตที่ไหนต้องมีเจตสิกที่นั่น แต่ลองคิดถึงวัตถุ วัตถุที่ละเอียดมากๆ ทรายที่ละเอียดแล้วอยู่ปนกันหมด ตำให้ละเอียดยิบเลย ตำทรายที่ละเอียดให้ละเอียดยิบเลย เราจะแยกได้ไหมว่า อันไหนเป็นทรายสีเขียว สีฟ้า สีแดง สีเหลือง ถ้าละเอียดยิบตำหมดแล้ว ก็ยังเป็นรูปธรรม หรือแกงเผ็ด แกงคั่ว พวกนี้มีพริก กะปิ หอม กระเทียม ตระไคร้ ข่า แล้วเวลาที่เราตักแกงขึ้นมาทาน เราสามารถที่จะรู้ไหม อันไหนเกลือ อันไหนพริก อันไหนกะปิ อันไหนกระเทียม นี่คือรูปธรรม

    แต่นามธรรม หมอลองคิดดูสิ ละเอียดยิ่งกว่านั้นสักแค่ไหน ถ้าจะเข้าใจแม้แต่พยัญชนะที่ทรงใช้ หมายความถึงธาตุชนิดหนึ่ง ธาตุหรือธรรม หมายความถึงสิ่งที่มีจริง แต่ธาตุนี้น่าอัศจรรย์มาก ไม่มีรูปร่าง ไม่มีสีสัน ไม่มีอะไรเลย สักอย่างที่จะเป็นรูปธรรมได้ แม้อย่างละเอียดก็ไม่ใช่รูปธรรมอย่างละเอียด แต่ธาตุนี้ เมื่อเกิดแล้วต้องรู้ เป็นธาตุรู้ สามารถรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด นี่คือจิต แล้วยังมีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยหลายอย่าง กับจิตหนึ่งขณะ แล้วจะแยกจิตกับเจตสิกออกได้ไหม ในความเป็นนามธาตุ แต่ทรงแยกว่า จิตไม่ใช่เจตสิก แล้วจิตหนึ่ง จะมีเจตสิกประกอบร่วมด้วยเท่าไร เพราะฉะนั้น เวลาที่หมอคิดถึงนามธาตุซึ่งมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย หมายความว่าเกิดแล้ว เจตสิกเหล่านั้นเกิดขึ้นทำงาน อย่างเวลาที่เป็นโลภะ ความติดข้อง หมายความว่า โลภเจตสิกเกิดกับจิต ทำให้มีการติดข้อง นั่นคือเกิดแล้ว แต่ที่ไม่เกิด สภาพที่ไม่เกิดที่มีอยู่ในจิตรึกับจิต นั่นคืออนุสัย

    ผู้ฟัง อนุสัยนี้จะเป็นปรมัตถธรรมอะไร

    ท่านอาจารย์ สังขารธรรม แต่เมื่อได้ปัจจัย จึงจะเกิดขึ้นทำกิจการงานหน้าที่เป็นปริยุฏฐานกิเลส เพราะกิเลสมี ๓ ระดับ อุทกดาบสกับอาฬารดาบส ท่านคิดว่าท่านไม่มีกิเลสเลย เพราะท่านไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงทราบว่า ทั้ง ๒ ท่านยังมีอนุสัยกิเลส ซึ่งอนุสัยกิเลสจะดับด้วยโสดาปัตติมรรคจิต อริยบุคคลจึงจะดับได้

    เพราะฉะนั้น อย่างเราจะรู้ไหมว่า มีอนุสัย ถ้าไม่ทรงแสดง เราจะรู้ต่อเมื่อโลภมูลจิตเกิด โทสมูลจิตเกิด หมายความว่า เมื่อจิตนั้นมีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วยเรารู้ เวลาที่โมหะ หรือว่าโลภะเกิดกับจิตนั้นเรารู้ แต่เวลาที่อกุศลเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นทำกิจการงาน แต่มีเชื้อที่พร้อมที่ว่า เมื่อได้ปัจจัยเมื่อไรก็เกิดขึ้น พอเจตสิกเหล่านั้นเกิด แล้วก็ทำหน้าที่ของเจตสิก แต่อนุสัยไม่เกิด แต่เป็นพืชเชื้อ ซึ่งถ้าไม่มีอนุสัย คุณหมอลองคิดดู ไม่มีอนุสัย กิเลสมาจากไหน อย่างพระโสดาบัน โสดาปัตติมรรคจิตดับทิฏฐานุสัย พืชเชื้อที่จะให้เกิดความเห็นผิดให้เกิดขึ้น มีความเห็นผิดไม่มี เพราะดับพืชเชื้อของความเห็นผิด เพราะฉะนั้น จิตต่อมาของพระโสดาบันจะไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดเลย เพราะไม่มีทิฏฐานุสัย แต่ถ้าเราคิดอีกแง่หนึ่ง เราก็คิดได้ ถ้าไม่มีอนุสัย กิเลสต่างๆ จะเกิดขึ้นได้อย่างไร อย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงดับอนุสัยหมด พระอรหันต์ทั้งหลายดับอนุสัยหมด ท่านไม่มีกิเลสเลย เพราะดับอนุสัย แต่ถ้าไม่มีอนุสัย จะไปดับอะไร

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์บอกว่ามี แต่ไม่เกิด ไม่ทราบว่า ถ้ามันไม่เกิด มันจะมีได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบ อย่างเรารู้ลักษณะของนามธรรม ซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธาน เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ แต่เราสามารถที่จะรู้ เวลาที่ธาตุรู้มีลักษณะต่างๆ กัน อย่างโลภะ ความติดข้องก็เป็นธาตุรู้ โทสะก็เป็นความขุ่นเคือง ไม่มีรูปร่างเลย แต่มีอาการขุ่นเคืองเกิดขึ้น เป็นลักษณะของนามธรรม และนามธรรมก็ไม่ใช่จิตด้วย เพราะฉะนั้น ทรงแยกนามธรรมซึ่งไม่มีรูปร่างเลย เป็นจิต และเจตสิก

    นี่ก็คือความลึกซึ้งประการหนึ่ง แล้วก็เวลาที่จิตเกิดขึ้นประกอบด้วยเจตสิกอะไร ที่ทุกคนสามารถรู้ได้ ทุกคนรู้ได้ ไม่ใช่พระพุทธเจ้าก็รู้ได้ แต่เมื่อเป็นระดับของอนุสัย คนอื่นรู้ไม่ได้ นอกจากพระพุทธเจ้าจึงรู้หนทางที่จะดับอนุสัย และอนุสัยจะดับได้ต่อเมื่อ โสดาปัตติมรรคจิตเกิด สกทาคามิมรรคจิตเกิด อนาคามิมรรคจิตเกิด อรหัตมรรคจิตเกิด ดับอนุสัยตามระดับขั้นของความเป็นพระอริยบุคคล ตามกำลังของปัญญา ปัญญาของพระโสดาบันยังดับกามาราคานุสัยไม่ได้ ปฏิฆานุสัยไม่ได้ พระโสดาบันดับได้แต่ทิฏฐานุสัย เพราะฉะนั้น ก็จะเข้าใจอนุสัยได้จากการศึกษา และการฟังตาม แต่ไม่ใช่เป็นเราที่จะไปตรัสรู้ โดยที่ว่าแม้อาฬารดาบสไม่รู้ ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ตรัส ก็ไม่มีใครรู้จักอนุสัยแน่นอน แต่ต้องมีอนุสัยอยู่ในจิตที่จะเป็นปัจจัยให้กิเลสชนิดนั้นเกิดขึ้น ไม่อย่างนั้นกิเลสนั้นๆ ก็ไม่เกิด เมื่อดับอนุสัยแล้ว กิเลสเกิดไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง ในปรมัตถธรรม ๓ จิต เจตสิก รูป รูปก็ไม่ใช่ จิตก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้น อนุสัยเป็นเจตสิก ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ระดับที่ไม่ได้เกิดร่วมกับจิต ไม่ได้เกิดขึ้นทำกิจการงานของเจตสิกนั้นๆ เพราะฉะนั้น อนุสัยต้องมี แล้วต้องไม่ใช่ปริยุฏฐานะ เพราะว่าต้องดับด้วยมรรคจิต

    ผู้ฟัง ไม่ค่อยเข้าใจคำเมื่อกี้ว่า ไม่ได้ระดับอะไร

    ท่านอาจารย์ ปริยุฏฐานะกิเลส กิเลส มี ๓ ระดับ

    ผู้ฟัง เพราะว่าถ้าเป็นเจตสิก จะต้องทำงานทุกครั้ง

    ท่านอาจารย์ เมื่อเกิดขึ้น

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 97
    22 มี.ค. 2567