พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 669


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๖๙

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๓


    ผู้ฟัง ธาตุรู้ รู้รูป รู้เสียง รู้กลิ่น รู้รส รู้เย็น รู้ร้อน รู้อ่อน และแข็งนี้ก็คือสิ่งที่มืดสนิท

    ท่านอาจารย์ อะไรมืดสนิทบ้าง?

    ผู้ฟัง ก็ทั้งจิตเห็น จิตได้ยิน

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างเว้นอะไร

    ผู้ฟัง เว้นรูป

    ท่านอาจารย์ รูปเดียวที่กำลังปรากฏให้เห็นเดี๋ยวนี้ เว้นรูปนั้นแล้วทุกอย่างอยู่ในความมืด

    ผู้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นจิตเห็น จิตได้ยิน ทั้งจิตคิดนึกด้วย

    ท่านอาจารย์ ทุกจิต

    ผู้ฟัง ทุกจิตก็คือเป็นธาตุที่รู้อย่างเดียว และก็มีสภาพเหมือนกันคือมืดสนิท

    ท่านอาจารย์ จริงไหม คือผู้ฟังไตร่ตรองจนกระทั่งเป็นความเข้าใจของตัวเอง

    ผู้ฟัง คือวันนี้เข้าใจแบบนี้จึงต้องถาม

    ท่านอาจารย์ ทำไม เข้าใจแล้วถามได้อย่างไร ถ้าถามก็แปลว่าไม่เข้าใจ

    ผู้ฟัง เข้าใจแต่ยังไม่มั่นคง

    ท่านอาจารย์ ตอนนี้มั่นคง หรือยัง

    ผู้ฟัง แต่ก็ยังมีคำถามต่ออีก เพราะว่าภายใต้ความมืดสนิทไม่ใช่มีเพียงแค่จิตอย่างเดียว ยังมีนามธรรมอีกลักษณะหนึ่งคือเจตสิก ซึ่งจะยกตัวอย่างว่าคือความโกรธ หรือความยินดีพอใจ สิ่งนี้ก็คือเป็นลักษณะของความมืดด้วย

    ท่านอาจารย์ มีจริงแต่ไม่ได้ปรากฏให้เห็นเหมือนอย่างสิ่งที่ปรากฏให้เห็นทางตา เพราะฉะนั้น ทุกอย่างอยู่ในความมืด ไม่สว่างเว้นสิ่งเดียวคือสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นเดี๋ยวนี้เท่านั้น

    ผู้ฟัง แต่ทำไมถึงมีลักษณะต่างกัน

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นธรรมคนละอย่างจะให้เหมือนกันได้อย่างไร

    ผู้ฟัง แต่ในขณะที่ธาตุรู้เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ ถึงจะมีมากๆ หลายประเภท

    ท่านอาจารย์ ทีละ ๑ เกิดขึ้นทีละ ๑

    ผู้ฟัง แต่ก็จะมีลักษณะเดียวคือรู้

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง จะไม่ใช่สัญญาความจำ จะไม่ใช่โกรธ จะไม่ใช่รัก จะไม่ใช่ปัญญาไม่ใช่อะไร ธาตุนี้เกิดเมื่อไรมีกิจเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ เช่นเดี๋ยวนี้ กำลังเห็นนั่นคือจิต ถ้าไม่มีจิตจะมีสิ่งที่ปรากฏ ปรากฏอย่างนี้ไม่ได้ แต่สิ่งที่ปรากฏเป็นอย่างนี้เพราะจิตเกิดขึ้นเห็น รู้สิ่งที่ปรากฏไม่เป็นอย่างอื่น เป็นอย่างที่กำลังปรากฏให้เห็น เพราะจิตเกิดขึ้นเห็น

    ผู้ฟัง แต่ภายใต้ความที่ไม่สว่าง ทำไมมีมากมายหลายอย่างปะปนกันไปหมด

    ท่านอาจารย์ เปลี่ยนความจริงได้ไหม?

    ผู้ฟัง เปลี่ยนไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แล้วความจริงเป็นอย่างไร เวลาโกรธมีแสงอะไรปรากฏให้เห็นลักษณะโกรธ หรือไม่?

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น โกรธ สภาพโกรธมืด หรือสว่าง แต่มีจริงๆ

    ผู้ฟัง แต่ในขณะที่โกรธก็ต้องมี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นโลกของปุถุชนเป็นโลกที่ไม่ปรากฏความมืดของสภาพธรรมทั้งหลาย เว้นแต่ขณะที่มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นเท่านั้นที่ปรากฏว่าสว่าง นั่นคือโลกของความจริง ความจริงเป็นอย่างนั้น เมื่อไรรู้ความจริงอย่างนั้นก็ต้องเป็นอย่างนั้นไม่เป็นอย่างอื่น

    ผู้ฟัง อย่างโทสะ ทำไมมีทั้งเจตสิกมีทั้งจิต

    ท่านอาจารย์ เจตสิกคืออะไร ไม่เรียกชื่อเฉยๆ แต่ต้องรู้ด้วยว่าคืออะไร?

    ผู้ฟัง คือนามธรรมชนิดหนึ่งที่เกิดร่วมกับจิต

    ท่านอาจารย์ นี่ก็เป็นคำตอบ คำถาม ถามว่าอย่างไร?

    ผู้ฟัง ถามว่าโทสะนี่มีทั้งจิต และเจตสิก

    ท่านอาจารย์ โทสะเป็นอะไร?

    ผู้ฟัง เป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ และเจตสิกคืออะไร?

    ผู้ฟัง เจตสิกก็คือสภาพนามธรรมที่เกิดร่วมกับจิต

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะมีจิตโดยไม่มีเจตสิกเกิดได้ไหม?

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ จะมีเจตสิกเกิดโดยไม่มีจิตได้ไหม?

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เข้ากันสนิทเพราะเป็นนามธรรม เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้สิ่งเดียวกัน ในภูมิที่มีรูปก็เกิดที่รูปเดียวกันด้วย เพราะว่าจิตจะเกิดนอกรูปไม่ได้ ในภูมิที่มีรูปจิตต้องเกิดที่รูปหนึ่งซึ่งเป็นที่เกิดของจิต และเจตสิก คือฟังธรรมให้เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง และความจริงก็คือตรงตามที่ได้ฟัง หรือไม่ตรงก็จะได้พิจารณาว่าถูก หรือผิด

    ผู้ฟัง อย่างนั้นเมื่อไรที่มีลักษณะโกรธเกิดขึ้น ก็คืออย่างไรๆ ก็ต้องมีจิต เพราะไม่อย่างนั้นโกรธก็เกิดไม่ได้

    ท่านอาจารย์ และทำไมโกรธปรากฏแล้วไปคิดถึงจิต แต่ไม่รู้สภาพที่กำลังโกรธว่าเป็นธรรมที่มีลักษณะอย่างนั้น เป็นอย่างอื่นไม่ได้ เกิดเมื่อไรก็เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ไม่ใช่โลภะ ไม่ใช่โมหะ ไม่ใช่จิต ไม่ใช่ธรรมอื่นๆ ธรรมหนึ่งก็เป็นหนึ่ง โทสะก็เป็นโทสะ เกิดเมื่อไรก็ขุ่นเคือง หยาบกระด้าง ไม่สบายใจ มีความรู้สึกที่ไม่สบายใจเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง เพราะฉะนั้นไม่สบายใจเมื่อไรเมื่อนั้นก็มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย พร้อมเจตสิกอื่นๆ และจิตด้วย เกิดพร้อมกันดับพร้อมกัน

    ผู้ฟัง แต่สภาพธรรมอื่นไม่ได้ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ปรากฏได้ทีละอย่าง จิตหนึ่งขณะมีเจตสิเกิดร่วมด้วยเท่าไรอย่างน้อยที่สุด

    ผู้ฟัง

    ท่านอาจารย์ ปรากฏ หรือไม่ ๗

    ผู้ฟัง ไม่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นปรากฏทีละ ๑ ขณะที่กำลังเห็นมีอะไรที่สามารถจะรู้ได้ว่ามี

    ผู้ฟัง ก็ต้องเห็น

    ท่านอาจารย์ เห็นมี เพราะฉะนั้นเห็นไม่ใช่เจตสิกเพราะทำกิจเห็น แม้เจตสิกเกิดกับจิตขณะนั้นก็ไม่รู้ เกิดพร้อมกันดับพร้อมกัน ในความมืดรู้สิ่งที่ปรากฏว่าสว่างเป็นสิ่งหนึ่งที่ปรากฏให้เห็นได้เท่านั้น นอกจากนั้นที่เหลือมืดหมดนี่คือโลกของความจริง ถ้ายังไม่รู้อย่างนี้รู้จริง หรือยัง?

    ขณะนี้จิตอื่นที่คิดก็มี ก็ไม่รู้ ไม่ได้ปรากฏ โลภะเกิด โทสะเกิดก็มี ก็ไม่ไรู้ มีแต่สิ่งที่เหมือนไม่ดับคือสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาสว่างอยู่ตลอด เป็นโลกของผู้ที่ไม่ได้รู้ความจริงว่าสิ่งนี้เพียงปรากฏแล้วดับ แล้วก็ยังมีสิ่งอื่นเกิดสืบต่อมากมายในความืดที่ไม่ใช่ในความสว่างอย่างนี้

    ผู้ฟัง ถ้าเวทนาปรากฏอย่าง เช่น มีความพอใจ

    ท่านอาจารย์ เวทนาเป็นความรู้สึก ดีใจ เสียใจ ทุกข์ สุข อทุกขมสุขคือไม่สุขไม่ทุกข์ เฉยๆ

    ผู้ฟัง ถ้าพอใจเกิดขึ้นในขณะนั้นก็หมายถึงว่าธรรมส่วนอื่นที่ประกอบไม่ได้ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ปรากฏได้ทีละอย่าง แม้มีจิตก็จะรู้เพียงทีละ ๑ เพราะจิต ๑ ขณะมีเอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมด้วยเป็นสภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่ง เพราะฉะนั้นจิตจะรู้อารมณ์อื่นไม่ได้ต้องรู้เฉพาะอารมณ์ที่ปรากฏที่จิตเจตสิกเกิดพร้อมกัน แต่จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ

    อ.คำปั่น ขออนุญาตเรียนถามว่า กิจที่ควรทำสำหรับผู้ศึกษาพระธรรมในขณะนี้จะมีแนวทางในการดำเนินชีวิตอย่างไรจึงจะเป็นผู้ “กระทำกิจที่ควรทำ”

    ท่านอาจารย์ เป็นปกติตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่ว่าเป็นเราที่พยายามที่จะเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้โดยที่ไม่เข้าใจว่าเป็นธรรม ถ้ายังคงเป็นอย่างนั้นอยู่ก็เสียเวลาเปล่าทั้งหมด คือพยายามด้วยความเป็นเราแต่ไม่ได้รู้ความจริงของสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้นสภาพธรรมขณะนี้เกิดแล้ว ที่จะต้องเข้าใจทุกคำคือ “เป็นอนัตตา” ไม่ใช่ใคร แต่เป็นธรรมแต่ละลักษณะมีปัจจัยเกิดแล้ว แล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรรู้ยิ่งก็คือเข้าใจความจริงของสิ่งที่ปรากฏ แม้เพียงในขั้นการฟังที่จะเริ่มเข้าใจว่าธรรมมีจริงเป็นแต่ละลักษณะ และแต่ละลักษณะนั้นก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ เป็นอนัตตาจริงๆ ตรงกันข้ามถ้าเป็นเราอยากเป็นคนดีไหม?

    อ.คำปั่น ถ้าเป็นเราก็อยาก

    ท่านอาจารย์ พอเป็นคนดีแล้วก็เป็นเราที่เป็นคนดีใช่ไหม แล้วเมื่อไรจะเข้าใจถูกต้องว่า “ไม่มีเรา”

    อ.คำปั่น ก็เมื่อได้สะสมความรู้ความเข้าใจไปตามลำดับว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยแม้แต่การที่จะเป็นคนดีก็เพราะว่าสภาพธรรมฝ่ายดีเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ค่อยๆ สะสมความเห็นถูกความเข้าใจถูก อาจหาญร่าเริง คือเมื่อมีความเข้าใจที่มั่นคงว่าทุกอย่างเป็นธรรม อกุศลเกิดเป็นอะไร เมื่อสักครู่นี้อยากเป็นคนดี แต่ว่าอยากเป็นคนดีขณะนั้นอกุศลจิตเกิดไม่ได้เข้าใจอกุศลว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้นก็จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ตราบใดที่ไม่ได้เข้าใจความจริงว่าเมื่อไรจะรู้ว่าเป็นธรรมเพราะมัวแต่กังวลที่จะเป็นอย่างนั้นที่จะเป็นอย่างนี้ แต่พระธรรมที่ทรงแสดงแม้อกุศลก็มีจริงมีปัจจัยที่จะเกิด

    เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรมเพื่อมีความรู้ที่จะดับธรรมที่จะทำให้เกิดอกุศลคืออนุสัยกิเลส กิเลสมีหลายระดับ กิเลสที่เกิดแล้วปรากฏทุกคนก็เห็น แต่กิเลสนั้นมาจากไหนถ้าไม่มีการสะสมของแต่ละขณะซึ่งเป็นโลภะบ้าง โทสะบ้าง มีมากจนกระทั่งเป็นแต่ละอัธยาศัย ทุกคนที่นี่มีอัธยาศัยที่ต่างกันอย่างละเอียดมาก ถ้าศึกษาก็จะรู้ว่าทั้งหมดอย่างละเอียดเป็นธรรม เพราะฉะนั้นจะรู้ธรรมเล็กน้อยคร่าวๆ แล้วก็จะไปละความเป็นตัวตนนั้นเป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้นเมื่อธรรมละเอียดอย่างนี้ก็จะเริ่มเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เพื่อรู้ และเข้าใจลักษณะที่เป็นธรรม ถ้ายังไม่มีการเริ่มต้นทุกคนก็เพียงแต่ต้องการจะเป็นคนดี แล้วเป็นคนดีได้จริงๆ หรือไม่ เป็นคนดีได้ตลอดไป หรือไม่ ในเมื่อมีความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่มีใครที่จะห้ามอกุศลได้เพราะมีปัจจัยที่จะเกิดเป็นอย่างไรก็ปรากฏให้เห็นว่าสะสมมาที่จะเป็นอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้นการที่จะละอกุศลทั้งหมดที่เกิดก็ด้วยการเริ่มเข้าใจความเป็นธรรม จากขั้นการฟัง มีความมั่นคงเป็นสัจจญาณไม่ต้องพูดถึงสติปัฏฐาน วิปัสสนาญาณตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นธรรมจริงๆ ในขั้นสัจจญาณ “สัจ” คือความจริง อกุศลเกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับ แล้วถ้าไม่รู้การเกิดดับจะรู้ว่าเป็นธรรมได้อย่างไร เพราะว่าลักษณะของธรรมที่เกิดแล้วต้องดับ เพราะฉะนั้นการที่จะรู้จักลักษณะของธรรมจริงๆ ก็คือรู้ความจริงของธรรมนั้นว่าเป็นสิ่งที่เพียงเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปด้วย ค่อยๆ สะสมความเข้าใจการไตร่ตรองในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังจนกระทั่งเป็นความมั่นคงว่า “ธรรมไม่ใช่เรา”

    อ.คำปั่น ก็มีทางเดียวคือต้องฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาต่อไปเพื่อเป็นผู้มั่นคงในความเป็นจริงของธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยแล้วก็ดับไป แม้แต่สภาพธรรมที่เป็นอกุศลก็เป็นอกุศลที่เกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัยพร้อม แต่ว่าถ้าเป็นผู้ที่มีปัญญาก็สามารถที่จะเข้าใจว่าอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นนั้นก็เป็นธรรม ไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ เกิดเป็นมนุษย์ก็คงไม่ลืม เป็นผลของกุศลกรรมหนึ่ง แต่ว่าการเห็นครั้งหนึ่งไม่ได้มีแต่กุศล มีอกุศลมากที่สะสมด้วยความไม่รู้สืบต่อ เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่ากุศลกรรมทำให้เกิดเป็นมนุษย์ และก็มีโอกาสที่ได้ฟังพระธรรม ก็ต้องเข้าใจตามความเป็นจริงด้วยว่าเพียงแค่เป็นมนุษย์แต่ว่ามนุษย์ก็ต่างกันตามอัธยาศัยซึ่งสะสมมา ถ้าใครสะสมความโลภ ความโกรธ ความริษยามากๆ เราก็จะเห็นการกระทำ และคำพูดจากการสะสมนั้นๆ ซึ่งทำให้แต่ละบุคคลต่างกัน เมื่อบุคคลต่างกันมากมายอย่างนี้ ก็เป็นการพิสูจน์ธรรมว่าทุกขณะที่มีการเห็นแล้วอะไรเกิดขึ้นสิ่งนั้นสะสมแล้ว ไม่รู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ เห็นแล้วจริง มีสิ่งที่ปรากฏจริง ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ ดับไปแล้ว ความไม่รู้นั้นก็สะสมต่อไปเรื่อยๆ

    เพราะฉะนั้นการสะสมสิ่งที่มีก็ทำให้เป็นการปรากฏของแต่ละบุคคล ซี่งจะแก้ไขคนอื่นได้ไหม เห็นชัดใช่ไหมว่าแต่ละคนโลภะมาก หรือว่าโทสะมาก แต่ลืมตัวเองที่จะรู้ว่าเวลาที่โลภะเกิด โทสะเกิดนี่ระดับไหน เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ความจริงก็คือสามารถเข้าใจธรรมที่เกิดขึ้นกับตนแล้วปัญญาที่ได้สะสมมาก็เริ่มเห็นโทษของอกุศล ถ้าไม่เห็นโทษของอกุศลเราจะแก้อกุศลด้วยความประพฤติทางกาย ทางวาจา ในชีวิตประจำวันแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ได้ไหม ซึ่งไม่ควรประมาทกุศลแม้เพียงเล็กน้อยในชีวิตประจำวัน เพียงขณะหนึ่งที่ทำความดี ขณะนั้นก็สะสมที่จะเป็นคนดีในลักษณะนั้นๆ ต่อไป ถ้าเป็นผู้ที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มีสิ่งที่ควรให้แล้วยังไม่ให้ เป็นอย่างไร ก็ยังไม่ให้ วันไหนจะให้ ก็ยาก แต่ถ้าให้เสียวันนี้ต่อไปมีอีกก็ให้ได้ง่ายๆ เพราะอะไร สิ่งนั้นเป็นประโยชน์กับใคร แทนที่จะเก็บไว้ซึ่งไม่เป็นประโยชน์นี่เริ่มเห็น แล้วอุปนิสัยอย่างนี้ก็จะค่อยๆ เป็นผู้ที่สามารถสละสิ่งที่ยากกว่านั้นอีก คือสละความเป็นตัวตน เพราะทุกคนก่อนอื่นก็ต้องมีการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา และเป็นเขา คงไม่ลืมว่าเกิดคนเดียวแล้วก็มีโลภะ โทสะที่สะสมมามากๆ ทำให้มีความพอใจ ไม่พอใจในสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวันแต่ละขณะเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผู้ที่สะสมอุปนิสัยที่จะไม่รู้ความจริง ก็จะเป็นผู้ที่สะสมความไม่รู้ และอุปนิสัยซึ่งไม่ละเพราะว่าไม่เห็นโทษ เวลานี้ วันนี้ที่ฟังธรรมแล้วเห็นโทษของอะไรบ้าง หรือเพียงฟังเพื่อที่จะเข้าใจธรรม แต่ความจริงไม่รู้ว่าขณะที่กำลังฟังธรรม เพราะเห็นโทษของความไม่รู้ ไม่ใช่ต้องไปหยิบโทษนั้นมาให้เห็นชัดเจน แต่เพียงขณะที่ฟังแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์ ขณะนั้นก็เพราะสะสมหิริโอตตัปปะในการที่จะไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นจากการฟังกุศลอื่นๆ ก็จะเจริญขึ้นด้วย เห็นโทษของอกุศลไม่ใช่เฉพาะความไม่รู้ แต่เห็นโทษของโลภะ เห็นโทษของความตระหนี่ เห็นโทษของความริษยา เห็นโทษของความโกรธ เห็นโทษภัยทั้งหมดของอกุศล จนกว่าแม้ธรรมปรากฏ ยากที่จะรู้ว่าเป็นธรรม แต่อุปนิสัยดีขึ้นไหมจากการฟังธรรมแล้วเริ่มเห็นโทษ เพราะถ้ายังคงหนาแน่นด้วยความไม่รู้ ไม่ขัดเกลา ไม่อบรมเจริญกุศลทุกประการให้เพิ่มขึ้น การที่จะเข้าใจธรรมขณะนี้ว่าเป็นธรรมจะเป็นไปไม่ได้ เพราะถูกครอบงำด้วยอกุศลจนกระทั่งไม่สามารถที่จะละคลาย และก็ค่อยๆ เป็นกุศลเพิ่มขึ้น เป็นบารมีที่จะทำให้สามารถรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังได้ฟังได้

    พิสูจน์ไม่ยาก ฟังธรรมแล้วอยากเข้าใจ เพิ่มความอยาก หรือว่าฟังธรรมแล้วเข้าใจ รู้ว่าเป็นธรรม ทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย นี่ก็ค่อยๆ สะสมทางของธรรมที่จะละไม่ใช่ทางที่จะติด

    ผู้ฟัง ส่วนใหญ่พอฟังธรรมแล้วมักจะพิจารณาอกุศลของคนอื่นมากกว่าอกุศลของตนเอง

    ท่านอาจารย์ ลืมว่าจิตที่กำลังมีอกุศลของคนอื่นจิตนั้นเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นอกุศลของคนอื่นกับอกุศลของตนเองเหมือนกันไหม หรือต่างกัน

    ผู้ฟัง จริงๆ ก็เป็นอกุศลเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ แล้วคนที่เรากำลังเห็นอกุศล เขากำลังเป็นกุศล หรืออกุศลเรารู้ไม่ได้ แต่ผู้ที่กำลังเห็นอกุศลของคนอื่น ขณะนั้นถ้ารู้ว่าเป็นอกุศลจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไหม?

    ผู้ฟัง อกุศลของตัวเราก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ วันหนึ่งจะเท่าอกุศลของคนอื่นที่เรากำลังคิดถึงได้ไหม?

    ผู้ฟัง อาจมากกว่าด้วยซ้ำ แต่ว่าสภาพธรรมเป็นสิ่งที่บังคับบัญชาไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง แล้วทำไมสะสมมาที่จะเพ่งโทษผู้อื่นมากกว่าที่จะพิจารณาตน

    ท่านอาจารย์ ก็เพราะว่าไม่ได้เข้าใจว่าขณะนั้นกำลังเพ่งโทษเป็นธรรมที่เป็นอกุศล ไม่ต้องไปหาธรรมที่เป็นอกุศลที่ไหน เกิดขึ้นปรากฏ ปัญญาจึงสามารถที่จะรู้ได้ ถ้าไม่ใช่ปัญญาก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้

    ผู้ฟัง แล้วก็อยากให้คนอื่นเขาดีในขณะที่ตัวเองก็ยังไม่ได้ดี

    ท่านอาจารย์ สำเร็จไหม?

    ผู้ฟัง ไม่สำเร็จแน่นอน แต่ไม่รู้ตัว

    ท่านอาจารย์ ตอนนี้รู้ หรือยัง

    ผู้ฟัง ก็รู้ขณะที่คิด

    ท่านอาจารย์ ถ้าคิดบ่อยๆ รู้มากขึ้นไหม?

    ผู้ฟัง ก็ธรรมบังคับบัญชาไม่ได้ เดี๋ยวก็วนกลับรอยเดิม เหมือนแบบที่เข็นเกวียนวนไปวนมาอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ แล้วก็ว่ายน้ำทวนกระแสคลื่น พายุที่ทำให้คลื่นแรงแล้วก็ว่ายต่อไปๆ ถอยมานิดก็ว่ายต่อไปอีกด้วยอฐิษฐานความมั่นคงในกุศลธรรม

    “อธิษฐาน” ไม่ใช่ขอ แต่เป็นความมั่นคงในกุศลธรรมเพราะรู้ว่าถ้าขณะนั้นกุศลธรรมไม่เกิดอกุศลธรรมเกิดแล้ว เพราะฉะนั้นทุกโอกาสที่จะเป็นกุศลแต่ละประการแต่ละขณะที่จะเป็นไปได้ทำทันที มิฉะนั้นแล้วอกุศลก็เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นเป็นผู้ที่มีอธิษฐานคือความมั่นคงในการเจริญกุศลธรรม

    ผู้ฟัง คือท่านอาจารย์กำลังบอกว่าก็ต้องเป็นอย่างนี้ใช่ไหม?

    ท่านอาจารย์ เหตุเป็นอย่างไรผลก็ต้องเป็นอย่างนั้น เหตุสะสมมาที่เป็นอกุศลประเภทต่างๆ แล้วจะให้กุศลเกิดได้อย่างไรมากมาย แต่ถ้ากุศลเกิดบ่อยๆ กุศลก็มีกำลัง

    ผู้ฟัง เมื่อจิตเกิดขึ้นจะต้องรู้อารมณ์ เมื่อธาตุรู้เป็นอารมณ์เสียเองแล้วจิตจะเป็นอารมณ์ของจิตอะไร

    ท่านอาจารย์ ศึกษาธรรมไม่ใช่เพื่อที่สงสัย แต่เพื่อที่จะได้พิจารณา และเข้าใจความละเอียดของธรรม ไม่ผ่านแต่ละคำที่เราได้ยินต้องเป็นการเข้าใจจริงๆ

    เมื่อสักครู่กล่าวถึง “มรรคปัญญา” คนที่รู้ภาษาไทยรู้จักปัญญา รู้จักมรรค แต่ว่าเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง หรือไม่ เพราะว่าแต่ละคำถ้าศึกษาโดยละเอียดก็จะตรง หรือทำให้สิ่งที่คุณสุกัญญาสงสัยได้เข้าใจขึ้น

    เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมไม่ใช่เรื่องรีบร้อนที่จะฟังคำต่างๆ หรือได้ยินแล้วก็ไปคิดเองโดยที่ไม่ได้พิจารณาความหมายที่ถูกต้องของแต่ละคำ เช่นคำว่า “มรรค” ทุกคนก็ทราบว่าหมายความถึงทาง ถ้ามีทางแล้วไม่ไป ได้ไหม หรือทางนั้นสำหรับทำอะไร มีทาง ถนนหนทางเต็มไปหมดแล้วสำหรับทำอะไร สำหรับไป ใช่ไหม เพราะฉะนั้น มรรคไม่ว่าจะอยู่ในที่ไหนก็ตามก็หมายความถึงทาง หรือหนทาง หรือทางเดิน

    “มรรคปัญญา” ปัญญานี่ไม่ใช่ความไม่รู้ เพราะฉะนั้นถ้าใช้คำว่า “ปัญญา” ต้องหมายถึงความรู้ถูก ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก เพราะฉะนั้นก่อนที่จะได้ฟังธรรมมีมรรค หรือไม่ มีทาง หรือไม่ เพราะว่าจิตเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วไม่กลับมาอีก เพราะฉะนั้นทางไปของจิตมีไหม ทางที่เป็นอกุศลกระทำกรรมที่เป็นอกุศลทั้งกายทั้งวาจาก็เป็นทางไปสู่การได้รับผลของอกุศล ถ้าเป็นทางที่ดีก็เป็นเหตุที่จะให้ได้ไปสู่ที่สุดของทางก็คือว่าถึงที่ของการที่จะได้ผลของกุศลนั้นๆ ด้วยเหตุนี้พระพุทธศาสนา พุทธคือรู้ ตื่น เบิกบาน พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรู้ ตื่นจากกิเลส ทรงเบิกบานเพราะหมดจดจากกิเลส


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 183
    24 ธ.ค. 2566