พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 682


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๘๒

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓


    ผู้ฟัง ถ้าจิตคิดเกิดขึ้นก็ต้องรู้อารมณ์ ทีนี้อารมณ์ของจิตที่คิด ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราว จากการศึกษาธรรมก็กล่าวกันว่าธรรมารมณ์

    ท่านอาจารย์ ธรรมารมณ์เป็นภาษาอะไร

    ผู้ฟัง ภาษาบาลี

    ท่านอาจารย์ มีสองคำใช่ไหม ธรรม กับ อารมณ์ ก็หมายความว่าขณะนั้นมีสิ่งที่จิตกำลังรู้ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เพราะฉะนั้นสิ่งใดก็ตามที่ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย สิ่งนั้นเป็นธรรมารมณ์ ต้องเข้าใจความละเอียดเพราะว่าขณะนี้พูดถึงจิตคิด ยังไม่ต้องใช้คำว่า “จิต” คิดมีไหม ถึงจะได้เข้าใจกิจได้ แต่ถ้าไปติดคำว่า “จิตคิด”เราก็ไปนั่งจำว่าจิตคิด ใช่ไหม แต่ขณะนี้กำลังคิดภาษาไทย

    ผู้ฟัง คิดมี

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้กำลังคิด ต้องมีธาตุ หรือธรรมที่คิด เพราะฉะนั้นธาตุ หรือธรรมที่คิดเป็นสภาพรู้ จึงคิดแต่ถ้าไม่รู้ก็คิดไม่ได้ โต๊ะคิดไม่ได้ เก้าอี้คิดไม่ได้ ดอกไม้คิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นขณะที่คิดหมายความว่าขณะนั้นเป็นธาตุที่เกิดขึ้นรู้สิ่งที่กำลังคิด เพราะว่าธาตุรู้เมื่อเกิดแล้วต้องรู้ ไม่รู้ไม่ได้ เราไม่ต้องเรียกจิตเจตสิกอะไรทั้งสิ้น แต่ว่ามีสภาพธรรมที่รู้เพราะมีสิ่งที่ปรากฏให้รู้ว่าสิ่งนั้นมี

    ไม่ว่าจะเป็นขณะนี้ที่กำลังเห็น มีสิ่งปรากฏให้เห็น เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีธาตุรู้ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏก็ปรากฏไม่ได้ โต๊ะ เก้าอี้เต็มห้องนี้ หนังสือ โต๊ะไม่รู้จักหนังสือไม่เห็น ไม่ได้ยินอะไร ไม่คิดอะไรทั้งนั้น เพราะฉะนั้นธาตุรู้เป็นสิ่งที่มีจริงแน่นอนแล้วก็ไม่มีรูปร่างใดๆ ทั้งสิ้น เกิดเมื่อไรต้องรู้ เพราะฉะนั้นมีธาตุรู้มากซึ่งขณะนี้ไม่ได้ปรากฏเช่นเห็น มี แต่ทุกคนก็ยังไม่รู้ว่าสภาพนี้เป็นธาตุที่กำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วเวลาเห็นแล้วเกิดความพอใจไม่พอใจ ใช่ไหมที่พอจะรู้ได้ หรือว่าเกิดการคิดเรื่องราวต่างๆ เป็นคำ เท่าที่คิดว่าหมายความถึงคิดเรื่องคำ

    แต่จากเห็นมาถึงความพอใจนี้ มีจิตที่เกิดก่อนนั้นอีกก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นจิตเป็นนามธรรมซึ่งไม่มีใครรู้ได้ถ้าไม่ได้ฟังธรรม แล้วก็เป็นสภาพธรรมที่ละเอียดมาก แล้วก็เพียงที่ปรากฏเป็นบางจิต หรือสภาพธรรมที่เป็นธาตุรู้ จากการที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ความจริงโดยละเอียดยิ่งโดยประการทั้งปวง โดยไม่เหลือ ทำให้ทรงแสดงความจริงของขณะนี้เดี๋ยวนี้ซึ่งกำลังเห็น กำลังคิด กำลังชอบ กำลังไม่ชอบ ทุกอย่างที่มีจริงในขณะนี้โดยละเอียดว่าเป็นสิ่งที่มีจริง เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป แล้วก็หลากหลายมากไม่ว่าอะไรก็ตามที่มีปัจจัยทำให้เกิดแล้วก็ดับไป เป็นแต่ละหนึ่งไม่มีซ้ำเป็นสอง ไม่ว่าจะเห็น ได้ยิน หรือคิดนึกทุกอย่างชั่ว ๑ ขณะที่เกิดแล้วก็ดับแล้วไม่กลับมาอีก ถ้ามีความเข้าใจพื้นฐานอย่างนี้ กำลังคิด คิดเป็นคิด ถูกต้องไหม คิดเป็นเห็นไม่ได้ คิดเป็นได้ยินไม่ได้ เพราะฉะนั้นที่กำลังคิดเป็นความจริง เป็นสัจธรรมไม่ใช่เรา เพราะว่าใครจะให้คิด ไม่ได้ เกิดคิดเมื่อไร คิดนั้นเกิดขึ้นเพราะจำได้เพราะมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้ความคิดนั้นเกิด ด้วยเหตุนี้การฟังธรรมที่จะดับความสงสัย การไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมต้องเป็นความเข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่กำลังมี จึงชื่อว่า “ศึกษาธรรม”

    ไม่ใช่ไปจำธรรมารมณ์ แล้วก็ธรรมารมณ์คืออะไร หรือว่าทางตาเป็นรูปารมณ์ ทางหูเป็นสัททารมณ์ นั่นก็คือชื่อแต่ว่าเดี๋ยวนี้ เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมด้วยภาษามคธ ภาษามคธี ซึ่งก็เป็นภาษาที่ดำรงพระศาสนา เพราะเหตุว่าเป็นศาสนาที่มีแบบแผน ไม่ใช่ว่าไม่มี ใครจะนึกพูดอะไรเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาก็ได้ ไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่สามารถที่จะดำรงความหมาย ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ได้

    ด้วยเหตุนี้ แม้แต่ได้ยินคำอะไรก็ตามต้องเข้าใจ ไม่ใช่คิดเอง แต่โดยมากคนไทยใกล้เคียงกับภาษาบาลีสืบทอดกันมาก็ใช้คำที่เป็นภาษาบาลี แต่พูดก็ไม่ถูกเพราะว่าชอบตัดให้สั้น ทุก ขะ ก็เป็นทุกข์ โสม มะ นัส สะ ก็เป็นโสมนัส ทุกอย่างหมด อา รัม มะ ณะ ก็เป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมต้องไม่คิดเอง ในภาษาเดิมซึ่งใช้โดยไม่ตรง ก็มาเป็นการเข้าใจให้ตรง ได้ยินคำอะไรต้องเข้าใจคำนั้นจริงๆ แล้วละเอียดขึ้น แล้วก็รู้ว่าคือเดี๋ยวนี้เอง เดี๋ยวนี้คุณสุกัญญา ใช้คำว่า “ธัมมารมณ์” มีธัมมารมณ์ไหมเดี๋ยวนี้

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มี แต่ยังไม่ได้เข้าใจละเอียดคือไม่เข้าใจธรรม แต่ถ้าเข้าใจธรรมแล้ว ก็สามารถที่จะรู้ได้ สิ่งใดที่ไม่ปรากฏ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่จิตรู้สิ่งนั้นต้องรู้ทางใจจึงเป็นธัมมารมณ์

    ผู้ฟัง เสียงเป็นสิ่งที่มีจริง

    ท่านอาจารย์ ถูกต้องไหม

    ผู้ฟัง แล้วถ้าเสียงปรากฏ ก็จะต้องมีธาตุรู้คือจิตได้ยิน แต่จิตคิด

    ท่านอาจารย์ คุณสุกัญญากำลังคิดใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ ทุกคำเพราะคิด

    ผู้ฟัง แต่เรื่องราวที่คิด ไม่ใช่สิ่งที่มีจริง

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง แล้วธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงก็เลยสับสน ระหว่างสิ่งที่มีจริงเป็นธรรม กับธรรมที่ไม่ใช่สิ่งที่มีจริง

    ท่านอาจารย์ ขอเชิญคุณธิดารัตน์

    อ.ธิดารัตน์ ที่ใช้คำว่า “ธัมมารมณ์” มีคำว่าธรรมก็ทำให้งงว่า จะเฉพาะธรรมที่เป็นอารมณ์ หรือไม่ แต่โดยความหมายของธัมมารมณ์ที่ท่านแยกอารมณ์เป็น ๖ อย่างหมายถึงว่า อารมณ์ที่รู้ได้ทางมโนวิญญาณวิถีอย่างเดียวเป็นธัมมารมณ์ เช่นนามธรรม หรือว่าจิตจะไม่รู้ทางจักขุทวาร เพราะว่าจักขุทวารวิถีรู้เฉพาะสี โสตทวารวิถีก็รู้เฉพาะเสียง ชิวหาทวารวิถีก็รู้รส มีรสเป็นอารมณ์

    โดยนัยอย่างนี้ทางปัญจทวารจะมีรูป ๗ รูปเป็นอารมณ์โดยสรุปตามทวารต่างๆ เพราะฉะนั้นหลังจากที่ถึงแม้มโนทวารที่เกิดต่อจากปัญจทวารก็รู้สี รู้เสียง รู้กลิ่น รู้รสอย่างนี้ก็ตาม แต่มโนทวารวิถีที่ไม่ได้เกิดตามปัญจทวารมีไหม

    ผู้ฟัง มี

    อ.ธิดารัตน์ ขณะที่มีลักษณะของนามธรรมเป็นอารมณ์ต้องเป็นมโนทวารวิถี ไม่ว่าจะเป็นจิต หรือว่าเป็นเจตสิก ลักษณะต่างๆ โลภะ โทสะ โมหะ เวลาที่จิตรู้ลักษณะของโลภะโทสะ โมหะอย่างนี้ก็คือรู้ทางมโนทวารวิถี และมโนทวารวิถีไม่ได้รู้แค่เพียงนามธรรมเท่านั้น ยังมีรูปที่เหลืออีกที่จะรู้ได้ เป็นอารมณ์ของมโนทวารได้ และรวมถีงนิพพาน และบัญญัติด้วยเป็นอารมณ์ของมโนทวารวิถี ท่านจึงจำแนกอารมณ์เป็น ๖ อย่าง จึงใช้คำว่า “ธัมมารมณ์”

    ธัมมารมณ์ ไม่ได้หมายความว่าเป็นแค่เพียงปรมัตถธรรมอย่างเดียว แต่มีบัญญัติซึ่ง เนื่องจาก เพราะว่าเมื่อมีปรมัตถธรรมที่มีจริงเกิดขึ้นแล้วจึงมีการคิดถึงปรมัตถธรรมทางต่างๆ เป็นบัญญัติเรื่องราว ที่เราคิดได้เพราะมีการเห็น คิดถึงสีได้เพราะมีการเห็นสี แต่ขณะที่คิดถึงสี ไม่ใช่มีสีนี้นเป็นปรมัตถ์แล้วเป็นเรื่องราวของสีก็คือเป็นบัญญัติที่เนื่องจากสี หรือว่าจะคิดเป็นเรื่องราวอื่นๆ เพราะฉะนั้นจึงเป็นมโนทวารวิถีแล้วก็รวมเรียกว่า “ธัมมารมณ์” อารมณ์ที่รู้ได้ทางมโนทวาร

    ผู้ฟัง อย่างนี้ต้องเข้าใจ หรือรู้ความจริงอย่างไร

    ท่านอาจารย์ โดยมากเรียนธรรมเพื่อที่จะสงสัย หรือว่าฟังแล้วเข้าใจสิ่งที่กำลังฟังเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง ต้องเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นพอได้ยินคำอะไรแล้วไม่เข้าใจ ก็สงสัย ถูกต้องไหม แต่ธรรมคือสิ่งที่มีจริง และก็ธาตุรู้แค่นี้ ภาษาไทย สภาพรู้ สภาพที่มีจริง ภาวะที่สามารถที่จะรู้ ถ้าไม่มีธาตุนี้ไม่มีอะไรปรากฏได้ โลกไม่ปรากฏ เสียงไม่ปรากฏ ทุกอย่างไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นธาตุรู้สำคัญ เพราะว่าสามารถที่จะมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏให้รู้ว่ามี ถึงแม้ว่าจะมีเสียงแต่ถ้าไม่มีธาตุที่ปรากฏว่าได้ยินเสียง เสียงก็จะปรากฏว่าได้ยินเสียงไม่ได้

    ด้วยเหตุนี้ค่อยๆ เข้าใจธาตุนี้ก่อน ไม่ใช่สงสัยเรื่องชื่อต่างๆ ทั้งหมดถ้ายังไม่เข้าใจเรื่องของสภาพธรรมที่เป็นธาตุรู้ และข้อสำคัญก็คือว่าธาตุรู้ รู้ได้ทุกอย่าง เห็น หรือไม่ค่อยๆ ก้าวไปทีละเล็กทีละน้อยว่ามีธาตุรู้แน่นอน เดี๋ยวนี้ก็มีธาตุรู้ที่กำลังเห็น กำลังคิด กำลังชอบไม่ชอบทุกอย่างที่ไม่ใช่รูปธรรมต้องรู้

    เพราะธรรมที่มีมีลักษณะที่ต่างกันเป็นสองอย่าง อย่างหนึ่งเกิดมีจริงแต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ พิสูจน์ได้ทุกอย่าง เช่น สียงเกิดเป็นเสียงแต่ไม่เห็น ไม่คิดนึก ไม่สุข ไม่ทุกข์ เพราะฉะนั้นธาตุที่มีเกิดแต่ไม่รู้เป็นรูปธรรมทั้งหมดแต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่งเกิดแล้วก็ดับไป แต่ว่าธาตุที่เป็นธาตุรู้ต้องต่างโดยสิ้นเชิง คือไม่ใช่รูปใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อเกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ไม่มีรูปใดๆ เจือปน แต่เมื่อเกิดขึ้นต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด

    ค่อยๆ เข้าใจธาตุรู้แล้วก็เข้าใจเพิ่มอีกนิดธาตุรู้สามารถจะรู้ได้ทุกอย่าง ทุกอย่างนี้ไม่เว้น แต่เดี๋ยวนี้ธาตุรู้กำลังรู้อะไร ได้ยินคำว่านิพพานยังไม่ต้องไปถึง แม้แต่ความหมายก็ไม่ใช่สิ่งที่มีในขณะนี้แต่จิตก็รู้ได้ หมายความว่าต้องมีความเข้าใจที่มั่นคงว่าจิตสามารถที่จะรู้ได้ทุกอย่าง แล้วแต่ประเภทของจิตซึ่งเปลี่ยนไม่ได้

    เพราะฉะนั้นธรรมทั้งหลายก็มีปรมัตถธรรม คือธรรมที่มีจริงๆ ใครจะเรียกอะไร หรือไม่เรียกอะไร ธรรมนั้นก็เป็นอย่างนั้น และก็ไม่เปลี่ยนธรรมนั้นเป็นอย่างอื่น และก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครด้วย อย่างเสียงมีจริงๆ เป็นธรรมเปลี่ยนให้เป็นหวาน หรือว่าแข็งก็ไม่ได้ นี่คือธรรม เพราะธรรมกับธาตุ หรือ “ธา ตุ” ในภาษาบาลีก็มีความหมายอย่างเดียวกันคือสิ่งที่มีจริง

    เพราะฉะนั้นขณะนี้กำลังฟังเรื่องสิ่งที่มีจริงให้เข้าใจความจริงของสิ่งนั้นทีละเล็กทีละน้อย ถ้าเป็นสิ่งที่เป็นชื่อต่างๆ มากมายรับรองได้ว่าไม่เข้าใจสักอย่าง ได้ยินแต่ชื่อแล้วก็จำ แต่เราจะเริ่มเข้าใจลักษณะของสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ว่ามีธาตุรู้ แค่นี้ก่อน แน่นอนใช่ไหม แล้วก็ “ธาตุรู้ รู้ได้ทุกอย่าง” เช่นขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นกับธาตุที่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏนี้เป็นอย่างนี้ไม่เป็นอย่างอื่น

    เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏก็มีจริง และธาตุที่กำลังเห็นก็มีจริง สิ่งที่มีจริงเป็นปรมัตถธรรม เป็นธรรมที่มีจริงๆ อย่างยิ่งคือใครก็เปลี่ยนแปลงลักษณะนั้นไม่ได้ มีลักษณะเฉพาะของแต่ละธรรมซึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมแต่ละอย่าง เพราะฉะนั้นขณะนี้เป็นธรรมทั้งนั้น หลากหลายมากเกิดขึ้นปรากฏแล้วก็ดับไปแล้วก็ไม่กลับมาอีก คุณสุกัญญาลองนับว่ามีเท่าไร

    ผู้ฟัง นับไม่ได้

    ท่านอาจารย์ นับไม่ได้จึงใช้คำว่าขันธ์แต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง ซึ่งหมายความว่า “เมื่อเกิดแล้วดับไปแล้วไม่กลับมาอีก และก็จะไม่เป็นอย่างเก่าได้” เพราะว่ามีปัจจัยที่จะทำให้เกิดเป็นอย่างไรก็เกิดเป็นอย่างนั้นแล้วก็ดับไป เข้าใจปรมัตถธรรม สำหรับธรรมซึ่งเป็นธาตุรู้ มีจริงๆ เป็นปรมัตถธรรม แต่ก็ต่างกันเป็นสองประเภท ประเภทหนึ่งเป็นธาตุรู้ซึ่งเกิดขึ้นเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้เท่านั้น ไม่ทำอะไรทั้งสิ้น รู้เมื่อไรก็คือธาตุนั้น ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นธาตุนั้นทรงใช้คำบัญญัติหลายคำ เช่นใช้คำว่าจิตแล้วก็เป็นธาตุซึ่งเกิดขึ้นรู้เท่านั้นแล้วก็ดับไป เช่นขณะนี้ เสียงปรากฏจิตรู้แจ้งเสียงที่ปรากฏ ไม่ใช่ชอบ ไม่ใช่โกรธ ไม่ใช่อะไรอย่างอื่น มีอะไรปรากฏให้จิตกำลังรู้ จิตรู้แจ้งลักษณะนั้น เพราะฉะนั้น เสียงหลากหลายมาก จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ หรือสิ่งที่ปรากฏให้จิตรู้เพียงหนึ่ง ได้ยินแต่ละคำต้องทราบจิตเป็นสภาพรู้ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ ถูกต้องไหม จะเกิดจิตรู้โดยไม่มีสิ่งจิตรู้ได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็ค่อยๆ เรียนคำด้วยความเข้าใจขึ้นว่าจิตเป็นธาตุรู้ สิ่งที่ถูกจิตรู้ภาษาบาลีใช้คำว่า “อารัมมณะ หรือ อาลัมพนะ”

    คงไม่ต้องแปล และก็ค่อยๆ รู้ทีหลังว่ามีความหมายละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้นก็ได้ แต่ให้ทราบว่าเมื่อมีจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ และสิ่งที่ถูกรู้ คนไทยใช้คำว่า “อารมณ์” ซึ่งมาจากคำว่า อารัมมณะ หรือ อาลัมพนะในภาษาบาลี เพราะฉะนั้นจิตเกิดขึ้นไม่รู้ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ กำลังหลับสนิท จิตเกิด หรือไม่

    ผู้ฟัง มีจิต

    ท่านอาจารย์ เกิด หรือไม่ ต้องมีจิตยังไม่ตายใช่ไหม ยังคงเป็นบุคคลนี้ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ รู้อารมณ์อะไร หรือไม่ขณะที่นอนหลับสนิท

    ผู้ฟัง อารมณ์ปัจจุบันไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ปัจจุบันหมายความว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง ในภพนี้ ในชาตินี้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

    ท่านอาจารย์ ภาษาไทยเรา คนไทยเราจะใช้คำที่เราไม่ได้เข้าใจจริงๆ เพราะฉะนั้นแม้แต่คำว่าปัจจุบันก็ยังไม่ต้องใช้ก็ได้ ภาษาไทยมีไหม ถ้าไม่พูดว่าปัจจุบันพูดว่าอะไร เดี๋ยวนี้ ปัจจุบัน หรือไม่ เดี๋ยวนี้

    เพราะฉะนั้นกำลังหลับสนิทอารมณ์ที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ไม่ปรากฏ เพราะกำลังหลับไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน ไม่ใช่ได้กลิ่น ไม่ใช่ลิ้มรส ไม่ใช่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก ไม่ฝัน แต่ว่ายังไม่ตายก็คือจิตที่เกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติ ถ้าไม่มีจิตขณะแรกที่เกิดจิตเหล่านี้ที่เกิดดับสืบต่อจนถึงขณะนี้ก็มีไม่ได้

    เพราะฉะนั้นเรื่องของจิตหลากหลายมาก แสดงความเป็นธรรมซึ่งไม่ใช่ของใคร ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ด้วยเหตุนี้การศึกษาธรรมที่จะให้เข้าใจจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด รอบคอบ ตรง และจริงใจที่จะรู้ว่าศึกษาเพื่อเข้าใจธรรม เพราะฉะนั้นกว่าเราจะมาถึงจิตคิดที่คุณสุกัญญาสงสัย ก็ต้องรู้ความเป็นมาเป็นไปว่าจิตมีจริงๆ จิตเกิดเมื่อไรต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นสิ่งที่จิตรู้ใช้คำว่า “อารมณ์” ในภาษาไทย ซึ่งภาษาบาลีก็ใช้คำว่า “อารัมมณะ หรืออาลัมพนะ” จิตรูได้ทุกอย่างไหม

    ผู้ฟัง รู้ได้ทุกอย่าง

    ท่านอาจารย์ เวลานี้จิตรู้ทุกอย่าง หรือยัง

    ผู้ฟัง ทีละขณะก็รู้ได้อย่างเดียว

    ท่านอาจารย์ แล้วรู้ได้ทุกอย่าง หรือยัง ที่มีจริง ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ จิตในขณะนี้รู้ หรือยัง

    ผู้ฟัง ยังไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ยังไม่รู้ แต่จิตรู้ได้ไหม

    ผุ้ถาม จิตรู้ได้

    ท่านอาจารย์ ต้องรู้ได้ คือรู้แจ้งอริยสัจธรรมจนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสได้ ซึ่งในขณะนี้ไม่ใช่จิตประเภทนั้น เพราะฉะนั้นก็แสดงว่าจิตมีหลายประเภท เพราะฉะนั้นกำลังคิด อะไรจริง

    ผู้ฟัง ก็ต้องมีจิตจริง

    ท่านอาจารย์ มีจิตจริง และอะไรจริง

    ผู้ฟัง ก็ต้องคิดจริง

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วก็ดูเหมือนกับว่าเป็นความละเอียด ซึ่งถ้าเราจะเข้าใจ ก็ค่อยๆ ไม่สงสัยในคำที่ได้ยิน แต่คำสงสัยมาจากคำที่ได้ยิน หรือไม่ เช่น ธรรม จิตคิดเป็นธรรม หรือไม่

    ผู้ฟัง จิตคิดเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ แล้วจิตเวลาคิดๆ ธรรม หรือไม่

    ผู้ฟัง คิดธรรม

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าเข้าใจธรรมซึ่งจิตกำลังคิด

    ผู้ฟัง เข้าใจธรรมที่จิตกำลังคิด

    ท่านอาจารย์ เห็นไหม ไปๆ มาๆ ถ้าสับสนเราก็จะแยกไม่ออกว่า แม้แต่คำว่า “ธรรม” ที่มีจริงๆ ใช้คำกำกับว่าปรมัตถธรรม มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง แต่ละอย่าง อย่างเสียงมีจริงเป็นลักษณะของธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถกระทบกับโสตประสาท ภาษาไทยก็คือหู แต่ไม่ใช่หูทั้งหมด สสัมภาระที่กล่าวรวมๆ แต่หมายเฉพาะเจาะจงคือรูปๆ หนึ่งซึ่งสามารถจะกระทบกับเสียงเท่านั้น มีจริงๆ ด้วย และรูปนี้ก็อยู่กลางหู ไม่ใช่อยู่ที่อื่น ไม่ใช่อยู่ที่ตา ไม่ใช่อยู่ที่จมูก

    เพราะฉะนั้นลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงก็คือว่าค่อยๆ เข้าใจความจริงของแต่ละอย่าง เช่น เสียงมีจริงๆ โสตประสาทมีจริงๆ จิตที่ได้ยินเสียงมีจริงๆ ในขณะที่กำลังปรากฏเป็นปรมัตถธรรม เป็นธรรมที่มีจริงเพราะมีลักษณะเฉพาะของตนๆ แต่ละอย่าง แต่เวลาที่จิตคิดนึก จิตคิดถึงเรื่อง ใช่ไหม เช่น ขณะนี้เราจะไม่ทราบว่าทันทีที่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา จิตคิดแล้ว จึงเป็นคนนั้นคนนี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้ เพราะว่าเวลาที่จิตเกิดขึ้นไม่ใช่มีแต่จิตเท่านั้นเกิดขึ้น ยังมีสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมอีกประเภทหนึ่งซึ่งเกิดกับจิต เกิดพร้อมจิต แล้วก็ดับพร้อมจิตด้วย เป็นสภาพรู้แต่ไม่ใช่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ และสภาพที่เป็นนามธรรมที่เกิดกับจิตมีถึง ๕๒ ประเภท หลากหลายมาก แต่เมื่อเป็นสภาพธรรมที่ต้องเกิดกับจิต ถ้าปราศจากจิตสภาพนี้ก็เกิดไม่ได้ จึงใช้คำว่า “เจ ตะ สิกะ” หมายความถึงเกิดในจิต เกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต รู้สิ่งเดียวกับจิตไม่ว่าจิตรู้อะไร เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็รู้

    เพราะฉะนั้นในขณะที่เห็นไม่ใช่ในขณะที่คิดถึงรูปร่างสัณฐาน ถูกต้องไหม แต่เร็วมากจนเหมือนกับว่าเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด นี่แสดงให้เห็นว่า กว่าจะเป็นอย่างนี้จิตที่เราไม่รู้ ไม่สามารถที่จะรู้ได้ก็เกิดดับสืบต่อ จนกระทั่งสามารถทึ่จะปรากฏเป็นการที่จะรู้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด สิ่งนั้นเป็นอะไรซึ่งไม่ใช่ในขณะที่มีสิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏ

    การฟังธรรมต้องอดทน เพื่อที่จะเข้าใจจริงๆ เพื่อละความไม่รู้ เพราะฉะนั้นพอจะรู้ได้ มีธรรม และก็มีปรมัตถธรรม คือหมายเฉพาะสิ่งที่มีจริงที่มีลักษณะเฉพาะอย่าง เฉพาะอย่างเท่านั้น นอกจากนั้นแล้วไม่ใช่ปรมัตถธรรม


    Tag  การศึกษาธรรม  การศึกษาธรรมะ  จิต  อารมณ์  ธรรมารมณ์  ธรรม  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ธาตุ  สภาพรู้  เจตสิก  สิ่งที่ปรากฏ  สภาพธรรม  รูปารมณ์  สัททารมณ์  การศึกษาธรรม  ภาษามคธ  ภาษามคธี  พระผู้มีพระภาค  ทุก ขะ  ทุกข์  โสม มะ นัส สะ  โสมนัส  อา รัม มะ ณะ  อารมณ์  มโนวิญญาณวิถี  นามธรรม  จักขุทวาร  จักขุทวารวิถี  โสตทวารวิถี  ชิวหาทวารวิถี  ปัญจทวาร  รูป ๗ รูป  โลภะ  โทสะ  โมหะ  นิพพาน  บัญญัติ  ธาตุรู้  รูป  รูปธรรม  ปรมัตถธรรม  เสียง  เรื่องสิ่งที่มีจริง  ธาตุรู้ รู้ได้ทุกอย่าง  ขันธ์  สิ่งที่ถูกรู้  อารัมมณะ  อาลัมพนะ  รู้แจ้ง  อริยสัจธรรม  โสตประสาท  สสัมภาระ  สัญฐาน  จิตคิด  ธรรมารมณ์  ธาตุรู้  ปรมัตถธรรม  มโนทวารวิถี  สิ่งที่มีจริง  อารมณ์  อารัมมณะ  อาลัมพนะ  
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 183
    23 ธ.ค. 2566