พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 670


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๗๐

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๓


    ท่านอาจารย์ ด้วยเหตุนี้พระพุทธศาสนา พุทธคือรู้ ตื่น เบิกบาน พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรู้ ตื่นจากกิเลส ทรงเบิกบานเพราะหมดจดจากกิเลส ทรงแสดงธรรมเพื่อให้คนอื่นได้รู้ตามด้วย เพราะฉะนั้นแต่ละคำที่ทรงแสดงต้องเป็นการพิจารณาไตร่ตรองแล้วเข้าใจจริงๆ แม้แต่ทางที่ไปสู่ความรู้ถูกความเห็นถูกคือปัญญา ก็ต้องรู้ว่าแล้วปัญญารู้อะไร อย่าเพิ่งไปไหน เห็นว่ามีผู้ที่มาฟังเป็นครั้งแรกหลายท่านเหมือนกัน เพราะฉะนั้นการฟังซ้ำในสิ่งที่กำลังมีขณะนี้ก็จะทำให้ผู้ที่ฟังใหม่ๆ ได้เข้าใจขึ้นว่าพระธรรมที่ทรงแสดงเป็นเรื่องของความรู้ถูกความเห็นถูกคือเป็นเรื่องของปัญญาทั้งหมด ให้ผู้ฟังเกิดปัญญาของตนเอง ต้องเป็นปัญญาของตัวเองจะได้ประโยชน์จากการฟัง ถ้าฟังแล้วไม่เกิดปัญญาไม่มีความเข้าใจ ก็เป็นเรื่องของผู้พูดที่เข้าใจ แต่ว่าผู้ฟังไม่เข้าใจ

    เพราะฉะนั้นประโยชน์ที่ได้รับจากการฟังแต่ละวัน ตามที่กล่าวไว้เมื่อวานนี้ เมื่อวานนี้ใครรู้ว่าจะมีวันนี้ ความจริงไม่รู้ ใครจะรู้ว่าจะมีวันนี้ หรือไม่มีวันนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อวานนี้มีโอกาสได้ฟังธรรมได้เข้าใจธรรมเพียงเท่าที่เป็นเมื่อวานนี้ แต่ก็ยังมีวันนี้สำหรับที่จะได้ฟังธรรม และเข้าใจเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งอีกทางหนึ่งซึ่งไม่ใช่ทางของปัญญาก็คือเมื่อวานนี้ก็มีโลภะ มีโทสะ มีความสนุกสนาน มีความไม่รู้มากมายเป็นทางเมื่อวานนี้

    เพราะฉะนั้นวันนี้ถ้าเป็นทางเก่า ทางเดิมก็คือไม่รู้เป็นเรื่องของโลภะ โทสะ เพราะฉะนั้นประโยชน์ของการที่ถึงวันนี้ หรือมีวันนี้ก็คือ ผู้ที่มีปัญญาย่อมเห็นว่าสามารถที่จะเข้าใจ และมีความรู้ความเห็นถูกเพิ่มเติมจากเมื่อวานนี้ซึ่งหมดไปแล้ว แต่ก็มีการสืบต่อจากการฟัง การเข้าใจเมื่อวานนี้จนถึงวันนี้ นี่คือมรรค หรือไม่ เป็นทางเดินที่จะไปสู่ปัญญาที่สามารถที่จะรู้ความจริง เพราะว่าปัญญาจะไม่รู้สิ่งที่ไม่จริง สิ่งที่เท็จ หรือสิ่งที่ลวง เพราะฉะนั้นก็มีข้อที่จะต้องพิจารณาแล้วปัญญารู้อะไร “มรรคปัญญา” พูดง่ายทางไปสู่ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ความรู้ถูกเป็นปัญญา แล้วปัญญารู้อะไร ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดด้วย มิฉะนั้นผู้ฟังอาจผิดหวังเพราะคิดว่าจะได้ไปสวรรค์ หรือว่าจะอะไรก็ตามแต่ แต่นี่เป็นการที่จะละความไม่รู้เพื่อรู้ถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงๆ ทุกกาลสมัย เช่นขณะนี้ก็มีสิ่งที่มีจริงกำลังปรากฏ ใครรู้ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมจะรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏไหม ไม่มีทาง มิฉะนั้นก็จะไม่มีคำว่า “พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า” แต่เมื่อใช้คำว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระพุทธเจ้าผู้เลิศ มีพระพุทธเจ้า ๓ คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ พระปัจเจกพุทธเจ้า ๑ และสาวกซึ่งเป็นพุทธคือผู้รู้ด้วย แต่ไม่ใช่ในฐานะของผู้รู้เอง และไม่ใช่ในฐานะของผู้ที่แม้รู้เองแต่ก็ไม่ได้สะสมบารมีที่จะทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียดยิ่งทุกคำ เพื่อที่จะให้คนฟังพิจารณา และมีความเข้าใจที่ถูกต้อง

    ด้วยเหตุนี้แต่ละคำก็อย่าข้าม และอย่าเผินแม้แต่ปัญญารู้อะไร พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้สิ่งที่มีจริงทั้งหมดโดยประการทั้งปวง เพราะฉะนั้นขณะนี้สิ่งที่มี ที่กำลังปรากฏเป็นสิ่งที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ หรือไม่ เมื่อทรงตรัสรู้ทรงแสดงธรรมเพื่อให้คนอื่นรู้ตาม หรือไม่ เพราะฉะนั้นการรู้ตามต้องรู้ตามสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ ไม่ใช่ในขณะที่หมดไปแล้ว หรือว่ายังไม่มาถึง อย่างเมื่อวานนี้ใครจะไปรู้ตามสิ่งที่เกิดเมื่อวานนี้ได้ไหม หมดแล้วไม่มีทางจะคิดถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้วก็ไม่ใช่สิ่งที่มีจริงๆ เมื่อวานนี้ที่เกิดดับไปแล้ว หรือว่าจะคิดถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าอะไรจะเกิด มีใครรู้ไหมว่าขณะต่อไปจะคิดอะไร จะพูดอะไร จะทำอะไร ไม่มี เพราะฉะนั้นความจริงที่ควรรู้ยิ่งคือสิ่งที่มีในขณะนี้เอง เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าความจริงสามารถจะพิสูจน์ได้ทุกกาลสมัย เมื่อกี้คุณสุกัญญาพูดถึงสภาพรู้ หรือธาตุรู้ใช่ไหม ถ้าไม่ได้ฟังธรรม มีไหมสภาพรู้ หรือธาตุรู้ หรือว่ามีจิต มีเรา มีความคิดนึก มีเห็น มีได้ยิน

    ผู้ฟัง ใช่ ธาตุรู้

    ท่านอาจารย์ ก่อนนั้นใช่ไหม กำลังเห็นคนที่ไม่ได้ฟังธรรมจะรู้จักเห็นไหม ความจริงของเห็นซึ่งกำลังเห็น คนที่ไม่ได้ฟังธรรม มีแต่เห็นแล้วก็เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วก็ติดข้องพอใจในสิ่งที่เห็น ไม่รู้ว่าเห็นเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏแล้วก็ดับไป และสิ่งที่ปรากฏก็สั้นมากเกิดดับอย่างเร็วมาก

    เพราะฉะนั้นขณะนี้มีธรรมซึ่งเกิดดับ คิดว่าสมควรที่จะเข้าใจไหม หรือว่าไม่เห็นจะได้ผลอะไร ไม่ได้ทรัพย์สินเงินทอง ไม่ได้ยศถาบรรดาศักดิ์ ไม่ได้อะไรสักอย่าง จะมานั่งรู้สิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ ควร หรือ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องซึ่งขึ้นอยู่กับการสะสมความเห็นถูกของปัญญาที่สามารถที่จะรู้ประโยชน์ว่า ทำไมจะไม่ควรรู้ในเมื่อทุกคนเกิดแล้วต้องตายทุกคน แล้วจะตายเมื่อไร ใครจะรู้ เกิดมาสนุกสนานแล้วก็หมดไป มีทรัพย์สินเงินทอง มีเกียรติยศ มียศถาบรรดาศักดิ์ต่างๆ แล้วก็ไม่เหลือ หมดสิ้นไปแล้วประโยชน์อยู่ที่ไหนในเมื่อต้องจากทุกอย่างหมดสิ้นทุกอย่าง

    เมื่อถึงเวลาที่จะจากโลกนี้ เหมือนเมื่อวานนี้หมดแล้วใครจะไปทวงกลับคืนมา อย่างไรๆ ยังเป็นเรา เรามีอาหารอร่อยเมื่อวานนี้ หรืออะไรก็เป็นไปไม่ได้ทั้งนั้น เพราะว่าหมดสิ้นแล้วจริงๆ เพราะฉะนั้นสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ที่คนไม่รู้ เมื่อไม่ได้ฟังพระธรรมก็คือว่าเป็นธรรมซึ่งมีจริงเพราะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว และการเกิดดับของสภาพธรรมก็ไม่มีใครจะบังคับบัญชาได้ เริ่มเข้าใจลักษณะที่มีจริงตั้งแต่เกิดจนตายว่าเป็นสิ่งที่ว่างเปล่าทุกขณะ ว่างเปล่าเพราะว่าเกิดแล้วดับไปแล้วก็ไม่กลับมาอีก จะไปหาที่ไหนก็ไม่ได้ ยังไม่ต้องถึงวันที่จะจากโลกนี้เพียงแต่ละขณะก็มีสิ่งที่เพียงปรากฏให้ไม่รู้ ให้ติดข้อง ให้หลงเพลิดเพลินแล้วก็หมดไปโดยที่หลงเข้าใจว่ายังมีอยู่ แต่ว่าความจริงไม่เหลือ

    เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรมเป็นผู้ที่สะสมศรัทธาที่จะเห็นประโยชน์ของความเห็นที่ถูกต้องของความจริงที่มี ดีกว่าเกิดมาแล้วก็จากโลกนี้ไปแล้วก็เหมือนเดิมคือไม่รู้อะไร เพียงแค่เกิดมาจะอายุยืนยาวแค่ไหนก็สนุกสนานเพลิดเพลินเป็นสุขเป็นทุกข์ไป โดยที่ว่าไม่รู้ว่าเหตุที่ทำให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตแต่ละขณะคืออะไร แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแม้เหตุเกิดของสภาพธรรมที่กำลังมีในขณะนี้โดยละเอียดยิ่ง เพราะฉะนั้นเพียงได้ยินคำสั้นๆ ว่า “สภาพรู้ หรือธาตุรู้” ยังไม่สามารถที่จะเข้าใจต้องฟังอีก แล้วก็ต้องพิสูจน์กับความจริงว่าเวลานี้เมื่อพูดถึงสภาพรู้ เห็นนี่รู้ หรือไม่ อย่าเพิ่งฟังแล้วเข้าใจว่ามีสภาพรู้แล้วก็ได้ยินว่าเป็นสภาพรู้ แต่กำลังเห็นขณะนี้เป็นสภาพรู้ หรือธาตุที่เกิดขึ้นเห็น จึงรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอย่างนี้ไม่เป็นอย่างอื่น เวลาที่กระทบแข็ง แข็งไม่มีใครรู้ว่าแข็ง ใช่ไหม แต่เมื่อมีธาตุที่เกิดขึ้นกำลังรู้ลักษณะที่แข็ง แข็งก็ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นแข็งมีจริงๆ แข็งรู้อะไรไม่ได้ แต่แข็งปรากฏได้เพราะมีธาตุที่สามารถกระทบแล้วรู้แข็ง เพราะฉะนั้นแข็งก็ปรากฏเฉพาะกับสภาพที่รู้แข็งเท่านั้น แต่ละขณะก็เป็นความจริงเพียง ๑ ขณะเล็กๆ สั้นๆ น้อยนิดในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งเกิดขึ้นสืบต่อกันเป็นชีวิตแต่ละภพแต่ละชาติแล้วก็หมดสิ้นไป เพราะฉะนั้นการฟังธรรมต้องเข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ว่า คำว่า “สภาพรู้ หรือธาตุรู้” หมายความถึงอะไร ไม่ได้หมายถึงปัญญาความเห็นถูก เพียงแต่ว่ารู้ว่ามีอะไร เช่นเสียงปรากฏรู้ว่ามีเสียง เพราะขณะนั้นกำลังได้ยินเสียงคือรู้ลักษณะของเสียงที่ปรากฏเฉพาะเสียงที่ปรากฏเพราะเกิดขึ้นเฉพาะเสียงนั้นที่จะรู้เสียงนั้นได้ ไม่ใช่เกิดทางตา ไม่ใช่เกิดทางกาย แต่ว่าเวลาที่เสียงปรากฏ เสียงปรากฏเพราะมีธาตุที่กำลังได้ยินเสียง เพราะถ้าไม่ใช่ธาตุรู้ ไม่ใช่สภาพได้ยิน เสียงไม่ปรากฏไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้เลยว่ามีเสียง

    เพราะฉะนั้นแม้แต่เกิดมามีเห็น มีได้ยิน มีได้กลิ่น มีลิ้มรส มีรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส มีคิดนึก มีสุข มีทุกข์ต่างๆ เว้นสภาพที่ไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้ สภาพที่เกิดทั้งหมดเกิดแล้วก็รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ใครสักคน ขณะแรกที่เกิดเป็นใคร แต่มีธาตุรู้เกิดขึ้น ขณะนั้นก็ไม่รู้ว่ารู้อะไร เพราะเหตุว่าไม่เห็นจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นสิ่งที่กำลังปรากฏอย่างนี้ ไม่ได้ยินจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นสียง มีเสียง ไม่ได้กลิ่นก็ไม่รู้ว่ามีกลิ่น ขณะนี้ไม่ลิ้มรสก็ไม่รู้ลักษณะของรสเพราะไม่มีรสปรากฏ เพราะไม่มีจิตที่จะรู้รสนั้น แม้แต่กายขณะนั้นก็มีเพราะกรรมเป็นปัจจัยทำให้รูปที่เป็นกายเกิดพร้อมกับจิต แต่ขณะนั้นก็ไม่ได้รู้กายนั้น

    ด้วยเหตุนี้พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ทรงแสดงความจริงทุกขณะตั้งแต่เกิดจนตาย ให้รู้ว่าเป็นธรรมซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่ใช่ของใครด้วย และก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร เพราะฉะนั้นเวลาที่ฟังธรรมจึงต้องไตร่ตรอง เพื่อที่จะเริ่มรู้ทางที่ปัญญาสามารถที่จะรู้ความจริงอย่างที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และทรงแสดง ไม่ใช่ทางอื่นแต่เป็นทางที่จะมีความเห็นถูกความเข้าใจถูกในสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ จึงเป็นมรรคปัญญา แต่ว่าต้องอบรม ค่อยๆ มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง อย่างนั้นแสดงว่าธาตุรู้ที่เกิดขึ้น ที่ปรากฏในขณะนั้น

    ท่านอาจารย์ ธาตุรู้ถ้าเข้าใจภาษไทย ธาตุหมายความถึงสิ่งที่มีจริง ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนลักษณะนั้นให้เป็นอย่างอื่นได้ เช่นไฟร้อน กระทบทีไรก็ร้อนมาก หรือว่าจากร้อนมาเป็นร้อนน้อยลงเป็นอุ่นก็ได้ ใช่ไหม จนกระทั่งถึงเป็นค่อยๆ เย็นไปก็ได้ เพราะฉะนั้นลักษณะที่ร้อน หรือเย็นมีจริงๆ โดยไม่ต้องเรียกชื่อ แต่ถ้าไม่ใช้ชื่อ เราไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าหมายความถึงธรรมอะไร ธรรมหลากหลายมากประมาณไม่ได้ นับไม่ได้มากมาย แม้แต่จิตขณะนี้ก็เกิดดับนับไม่ถ้วนแล้วก็ไม่กลับมาอีก แต่ละ ๑ ก็เพียงมีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่ใช้คำว่าจิต เป็นเครื่องเหมือนแสดงว่าเรารู้จักจิตแต่ความจริงไม่รู้ว่าจิตคืออะไร แต่กำลังพูดถึงสิ่งที่มีจริงซึ่งเป็นธาตุที่สามารถจะรู้ในขณะนี้ก็คือเห็น สิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นเป็นอย่างนี้ไม่เป็นอย่างอื่น เสียง ธาตุรู้กำลังได้ยินเสียงเฉพาะเสียงที่ธาตุรู้กำลังรู้ไม่ใช่เสียงอื่น จึงรู้ว่าเสียงนั้นเป็นอย่างนั้นไม่เป็นอย่างอื่นไม่ใช่เสียงอื่น เพราะฉะนั้นถ้าเรายังไม่สามารถใช้คำว่าจิต หรือคำอื่น เช่น มโน มนัส หทย ก็ไม่ใช่เพื่อที่จะให้รู้จักสภาพธรรมที่มีจริงๆ ว่าลักษณะที่มีจริงเป็นธาตุที่สามารถรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด โลกจึงปรากฏ หรือว่าสิ่งต่างๆ จึงปรากฏได้เพราะมีธาตุรู้ที่สามารถจะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดในขณะนั้น

    ผู้ฟัง แต่ว่าในขณะที่เสียงปรากฏถ้าไม่ได้มีธาตุรู้เสียง เสียงนั้นปรากฏไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ถูกต้องไหม?

    ผู้ฟัง สิ่งนี้เป็นความจริง แต่ว่าปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในเมื่อสิ่งที่ปรากฏได้มีสภาพธรรมถึงสองอย่าง

    ท่านอาจารย์ เพียงแต่บอกว่าเสียงปรากฏไม่ได้ ถ้าไม่มีธาตุรู้คือได้ยินเสียง นี่ก็เป็นความเห็นถูกต้องแล้ว เป็นปัญญา เป็นทางที่จะรู้ว่าสิ่งที่มีจริงในโลกนี้คืออะไร จะพ้นจากสิ่งที่ปรากฏทางตาหู จมูก ลิ้น กาย ใจ พ้นจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สุข ทุกช์ คิดนึก ซึ่งมีจริงตั้งแต่เกิดจนตายไม่ได้เพราะทั้งหมดเป็นแต่ละธาตุ เพียงเข้าใจความจริงว่ามีธาตุรู้ มีธรรมซึ่งเกิดแล้วรู้ ไม่ใช่ใคร มีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น ถ้าเสียงเกิดขึ้นกระทบปรากฏธาตุรู้ก็เกิดขึ้นได้ยินเสียง ถ้ากลิ่นมีกระทบปรากฏเพราะจิต หรือธาตุรู้กำลังรู้กลิ่นนั้น ให้รู้จักธาตุรู้ก่อน เวลาที่ศึกษาธรรมคือ ธรรม หรือธาตุความหมายเดียวกันเข้าใจสิ่งที่มีโดยความเป็นธรรมซึ่งมีจริงๆ แล้วก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น แล้วก็เข้าใจความหมายของคำว่า “อนัตตา” เพราะว่าไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงลักษณะสภาพของธรรมนั้น เข้าใจอย่างนี้ เข้าใจถูกไหม?

    ผู้ฟัง เข้าใจถูก

    ท่านอาจารย์ เข้าใจถูกเป็นปัญญาขั้นนี้ใช่ไหม?

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ได้เข้าใจขั้นอื่น จะไปพูดถึงสติ จะไปพูดถึงมรรคผล จะไปพูดถึงโลกุตตร โดยที่ยังไม่เข้าใจลักษณะของสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ให้ถ่องแท้ ให้ถูกต้อง ว่าแม้ไม่ใช่คำอะไรธาตุรู้ก็กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังคิดนึก กำลังจำ และเดี๋ยวก็จะใช้ชื่อต่างๆ ในภาษาบาลี เมื่อเราเข้าใจภาษาไทยที่พูดถึงสภาพธรรมเหล่านั้นถูกต้องจริงๆ แล้ว คำภาษาบาลีไม่มีความยาก แต่ถ้าเราใช้คำอื่นที่ไม่ใช่ภาษาไทยก่อน ความยากมาแล้ว จิตคืออะไร เจตสิกคืออะไร วิญญาณกับจิตนี่อย่างเดียวกัน หรือไม่ ก็เป็นเรื่องคำ แต่ทีนี้ถ้าเราสามารถที่จะเข้าใจความจริงสัจธรรมเดี๋ยวนี้ ขณะนี้ว่ามีธาตุ หรือมีธรรมที่กำลังรู้สิ่งกำลังปรากฏ นี่เป็นปัญญา หรือไม่?

    ผู้ฟัง เป็นปัญญา

    ท่านอาจารย์ ถึงโลกุตตร หรือยัง?

    ผู้ฟัง ยัง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นยังไม่ต้องพูดถึงสติ เพราะว่ายังกำลังพูดถึงธาตุรู้หนึ่ง คือธาตุรู้ยังไม่แยกเป็นอะไรบ้าง เพียงแต่กล่าวให้เห็นตัวอย่างเท่านั้นว่าเห็นก็เป็นธาตุรู้ ได้ยินก็เป็นธาตุรู้ เพราะฉะนั้น ในขณะนี้เห็นไหม?

    ผู้ฟัง เห็น

    ท่านอาจารย์ มีธาตุรู้ หรือไม่มีธาตุรู้

    ผู้ฟัง มีแน่นอน

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีจะเห็นได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็ไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่กำลังปรากฏ ปรากฏไม่ได้ถ้าไม่มีธาตุรู้ ยืนยันแน่นอนมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง

    ผู้ฟัง ไม่เปลี่ยน

    ท่านอาจารย์ ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าวันไหน สามารถที่จะเข้าใจธาตุรู้ และก็ให้คนอื่นรู้ด้วยได้ว่า จริงๆ แล้วธาตุรู้คืออย่างไรเพราะว่าเข้าใจแล้ว

    ผู้ฟัง คือคนอื่นไม่ทราบแต่ตัวเองทราบ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจอย่างนี้ แล้วคนอื่นเขาไม่รู้ว่าธาตุรู้เป็นอย่างไร บอกเขาได้ไหม?

    ผู้ฟัง คนอื่นเขาไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ผู้รู้บอกได้ไหม

    ผู้ฟัง คือบอกได้แค่เห็นมีจริง สิ่งที่ปรากฏทางตามีจริง

    ท่านอาจารย์ ต่อไปอาจบอกได้มากกว่านี้ เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถจะรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น พรุ่งนี้ เดือนนี้ เดือนหน้า ปีหน้าไม่มีใครสามารถรู้ได้ เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะได้ฟัง และสะสมความเห็นถูก ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ เวลานี้พูดถึงเห็นเพิ่มเติมอีกนิดหนึ่งก็ได้ มีธาตุที่กำลังเป็นใหญ่เป็นประธานในการเห็นแจ้งสิ่งซึ่งกำลังปรากฏ ไม่ใช่สภาพที่จำ ไม่ใช่สภาพที่ติดข้อง ขุ่นเคือง หรือว่าไม่ใช่สภาพที่เป็นธรรมฝ่ายดี เมตตา กรุณาใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นธรรมจึงละเอียด และแยกตามความเป็นจริง ใช้ชื่อเดียวกันไม่ได้ แต่ใช้คำว่า “ธาตุรู้” สำหรับทุกธาตุที่รู้ แต่ธาตุรู้ก็หลากหลายมากไม่ใช่มีอย่างเดียว เวลาที่โกรธมองเห็นโกรธไหม?

    ผู้ฟัง มองไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นรู้สึกสบายใจ หรือไม่?

    ผู้ฟัง ไม่สบายใจ

    ท่านอาจารย์ มีจริงๆ ไหม?

    ผู้ฟัง มีจริง

    ท่านอาจารย์ เป็นเห็น หรือไม่?

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เพราะๆ ฟังมานาน หรือว่าไม่ใช่เพราะว่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่จริงๆ

    ท่านอาจารย์ จริงๆ ด้วยเพราะฟังมานาน หรือเพราะรู้ว่าขณะนี้เห็นไม่ใช่โกรธ นี่คือความละเอียดที่ต้องแยกกัน ถ้าเห็นสิ่งที่น่าพอใจจะโกรธไหม?

    ผู้ฟัง ไม่โกรธ ดีใจ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ?

    ผู้ฟัง ก็โกรธ

    ท่านอาจารย์ บังคับให้ไม่โกรธได้ไหม?

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น โกรธกับเห็นเป็นธรรมเดียวกัน หรือไม่?

    ผู้ฟัง โกรธกับเห็น เห็นเป็นอย่างหนึ่งแล้วก็โกรธเป็นอีกอย่างหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมที่โกรธ รู้อะไร หรือไม่?

    ผู้ฟัง สภาพธรรมที่โกรธไม่ได้รู้อะไร ก็เป็นสภาพโกรธอย่างเดียว รู้โกรธ

    ท่านอาจารย์ ไม่รู้อะไรแล้วจะโกรธอะไร?

    ผู้ฟัง ก็เป็นความรู้สึกที่โกรธ

    ท่านอาจารย์ ก็โกรธอะไร มีอะไรให้โกรธ?

    ผู้ฟัง โกรธสิ่งที่ไม่พอใจ

    ท่านอาจารย์ ต้องมี กำลังรู้สิ่งที่ไม่พอใจ ถ้ารู้สิ่งที่พอใจไม่โกรธ เพราะฉะนั้นนี่ก็แสดงให้เห็นว่าแม้แต่ความละเอียด เราก็ต้องรู้ว่าไม่ใช่เราจะคิดเอง คิดธรรมเองแล้วตอบ ไม่มีทางเป็นไปได้เพราะว่าพูดถึงสิ่งที่มองไม่เห็น

    ผู้ฟัง แสดงว่าโกรธนี่ก็ต้องเป็นสภาพรู้

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ไม่รู้จะโกรธได้ หรือ ใช่ไหม ต้องรู้สิ่งที่ไม่น่าพอใจ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา กลัวอะไรที่กำลังปรากฏทางตาบ้าง หรือไม่?

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ กลัวก็เป็นลักษณะของความไม่พอใจ ไม่เป็นสุขอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น ก็หลากหลาย เวลาที่ความขุ่นเคือง หรือความไม่พอใจเกิดขึ้นเป็นกลัวก็ได้ หรือเป็นโกรธก็ได้ แล้วเวลาที่มีสิ่งที่น่าพอใจ สภาพที่พอใจกับสภาพที่ไม่พอใจเป็นธรรมอย่างเดียวกัน หรือไม่

    ผู้ฟัง คนละอย่าง

    ท่านอาจารย์ สภาพที่กำลังพอใจเป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ หรือไม่?

    ผู้ฟัง เป็นสภาพรู้เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นธาตุรู้หลากหลายมาก แต่ธาตุที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏมีแน่นอน ซึ่งไม่ใช่ความพอใจ และไม่พอใจ แต่เป็นธาตุที่สามารถที่จะรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เวลาทำอาหารแล้วเราบอกว่าหวาน “หวานไปหน่อย” ถ้าไม่ชิมคนอื่นจะรู้ไหมว่าหน่อยนี่แค่ไหน ที่หวานไปหน่อย เพราะฉะนั้นเวลาที่ลิ้มรสนั้นไม่ต้องใช้คำอะไรก็ได้ เปลี่ยนรสที่ปรากฏไม่ได้ เพราะจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ ใช้คำว่า “จิต” หมายความถึงธาตุรู้ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ มิฉะนั้นเราจะพูดจิตโดยเราไม่รู้จักจิต แต่ขณะนี้มีธาตุที่รู้ และธาตุที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งเฉพาะอารมณ์ที่ปรากฏ เป็นธาตุชนิดหนึ่งใช้คำว่า “จิตก็ได้ มโนก็ได้ มนก็ได้ มนัสก็ได้ หทยก็ได้ วิญญาณก็ได้” ใช้ได้หลายคำแม้แต่ภาษาไทยเราก็มีคำว่า “ใจ” ไม่ใช่ภาษาบาลี และก็มักจะใช้คู่กันว่า “จิตใจ” แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าหมายความถึงจิตกับเจตสิก หรือหมายความถึงจิตเท่านั้น เพราะฉะนั้นเวลาที่ใช้คำภาษาบาลีก็ทำให้ความหมายไม่เปลี่ยน คือจิตจะเป็นอื่นไม่ได้นอกจากเป็นธาตุที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 183
    24 ธ.ค. 2566