พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 700


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๐๐

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๔


    ท่านอาจารย์ รูปเป็นกุศลได้ไหม

    อ.วิชัย รูปเป็นกุศลไม่ได้ ไม่ใช่จิต แต่รูปก็มีการเกิด

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่ใช่สภาพรู้ ทำดีทำชั่วอะไรก็ไม่ได้ ขณะนี้มีการได้ยินเสียงแต่รูปก็ไม่ได้ยินอะไร เพราะฉะนั้น ก็เป็นธาตุที่ไม่ใช่ธาตุรู้ ไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล

    อ.วิชัย จะกล่าวว่าเป็นรูปชาติได้ไหม เป็นการเกิดขึ้นของรูป

    ท่านอาจารย์ ทำไมเราถึงช่างคิดในเมื่อฟังธรรมแล้วเข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง แต่ว่าสะสมอุปนิสัยที่จะคิดในสิ่งที่ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นเราจะไม่รู้ว่าทุกขณะในชีวิตไม่ได้หายไปไหน ความคิดเรื่องใดๆ อย่างวันก่อนก็มีคนพูดเรื่องของพระโพธิสัตว์ ดอกบัว ภพภูมิอะไรต่างๆ สะสมมาที่จะได้ยินแล้วไม่ทิ้งไปยังตามคิดถึงสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ หรือไม่ ใช่ไหม กับสิ่งที่กำลังปรากฏ และการที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏนี้ก็ยาก และเวลาที่จะเข้าใจก็น้อยมาก

    เพราะฉะนั้นถ้าเราสะสมอุปนิสัยที่จะคิดเรื่องอื่น เราก็จะไปคิดเรื่องอื่นมากๆ เป็นอุปนิสสยโคจรของแต่ละคน เพราะฉะนั้นคำพูดซึ่งเกิดจากจิตก็มาจากการสะสมว่าเราพูดเรื่องอะไรเพราะเราได้สะสมมาอย่างนั้น ตั้งแต่เช้ามาคุณวิชัยหารูป หรือไม่

    อ.วิชัย ไม่ได้หาก็ปรากฏ ก็มีบ้างอาจต้องหารูป

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าไม่พ้นจากรูปใช่ไหม นอกจากไม่พ้นแล้วยังติดใจรูปที่หา หรือไม่

    อ.วิชัย ก็มีความติดด้วย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นแม้เป็นเพียงรูป แต่ในภูมิที่มีรูป มีเสียง มีรส มีสิ่งที่กระทบสัมผัสปรากฏนี้ ด้วยความไม่รู้ก็มีความยินดีต้องการ เพราะฉะนั้นตั้งแต่เช้ามา ตื่นแล้วก็แสวงหารูป วันนี้จะใส่เสื้อสีอะไร ใช่ไหม ก็แสวงหาแล้ว จะรับประทานอาหารอะไร ทุกอย่าง รองเท้า เสื้อผ้า อาหาร เครื่องอุปโภค เครื่องบริโภคทั้งหมดเป็นรูปซึ่งไม่รู้ว่าติดข้องในสิ่งที่เพียงเกิดปรากฏแล้วดับไป เร็วมาก เพราะฉะนั้นอยู่ในโลกของความไม่รู้เป็นคนอาภัพ หรือไม่ ถ้าไม่รู้ความจริงออกจากสังสารวัฏฏ์ไม่ได้ ใช่ไหม แต่ว่าถ้าเริ่มมีความเข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น ก็ยังรู้หนทางที่จะทำให้พ้นจากความไม่รู้ เพราะฉะนั้น อะไรเป็นโทษที่ร้ายแรงที่สุด

    อ.วิชัย ความไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ความไม่รู้ เพราะฉะนั้นทั้งหมดต้องมาจากความไม่รู้ ที่จะมีอกุศลใดๆ เกิดโดยไม่มีความไม่รู้เป็นไปไม่ได้ ต้องมีความไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นจึงเกิดความติดข้องที่เป็นอกุศลได้ ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นชีวิตประจำวันทุกขณะซึ่งเกิดแล้วดับไม่กลับมาอีก

    เพราะฉะนั้นความเป็นธรรมแต่ละอย่างซึ่งเป็นแต่ละขันธ์จริงๆ จะมากมายจนกระทั่งนับไม่ถ้วน นับไม่ได้ แต่ก็ไม่พ้นไปจากจิต เจตสิก รูป และนิพพาน มีจริงๆ แต่ยังไม่ถึง

    ผู้ฟัง อย่างคำว่า “พละ” กำลังเห็น ใช้ในฝ่ายโสภณธรรมทั้งหมดในฝ่ายของอกุศลนี้ไม่ได้ใช้ แล้วสภาพธรรมที่เป็นพละเป็นอย่างไร อย่างเช่น ศรัทธาพละ อย่างมามูลนิธิทุกวัน บ่อยๆ ทุกอาทิตย์จะเป็นศรัทธาพละ

    ท่านอาจารย์ ที่มาฟังธรรมสงสัยว่าเป็นศรัทธาพละ หรือไม่ ใช่ไหม

    เชิญคุณธิดารัตน์ “สงสัยว่าเป็นศรัทธาพละ หรือเปล่า”

    อ.ธิดารัตน์ ศรัทธามีกำลังเป็นพละได้ แต่เวลาที่เกิดเพียงเล็กน้อยจะเห็นกำลังของศรัทธามีกำลัง หรือไม่ต้องทราบด้วยตัวเอง เพราะว่าผู้ที่จะมีศรัทธามั่นคงไม่หวั่นไหวมีกำลังมากๆ คือพระโสดาบัน อย่างเราความเข้าใจที่ค่อยๆ มี ศรัทธาขึ้นเพียงเล็กเพียงน้อยค่อยๆ ที่จะมีกำลังขึ้น เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่ใช้คำว่า “พละ” นี้สามารถจะอบรม และทำให้มีกำลังขึ้นได้

    ท่านอาจารย์ ได้ยินคำว่า “พละ” ก็อยากทราบ พละที่เป็นอกุศลมีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ อะไร

    ผู้ฟัง อหิริกะ อโนตตัปปะ

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ มีไหม

    ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้ก็มี

    ท่านอาจารย์ อกุศลจิตเกิดเมื่อไรจะต้องมีอหิริกะ อโนตตัปปะ ตั้งแต่เช้ามามี อหิริกะ อโนตตัปปะ หรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เป็นพละ หรือไม่ หมายความว่าอหิริกะ อโนตตัปปะที่เกิดกับอกุศลจิตตั้งแต่เช้ามาเป็นพละ หรือไม่ คืออยากรู้เรื่องพละ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นอกุศลก็เป็นพละ คือความไม่ละอายต่อบาป ความไม่เกรงผลของบาป ไม่เห็นภัย เพราะฉะนั้นเวลาที่อกุศลจิตเกิดต้องมีอหิริกเจตสิกกับอโนตตัปปเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง หรือไม่

    ผู้ฟัง ทุกครั้ง

    ท่านอาจารย์ ทุกครั้ง เมื่อเช้าก็มีอหิริกะ อโนตตัปปะ เป็นพละ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่แน่ใจ

    ท่านอาจารย์ เห็นไหม การฟังธรรมไม่ใช่เราจะไปรู้ชื่อแล้วพยายามไปคิด แต่สภาพธรรมที่มีจริงๆ ในวันหนึ่งๆ ถ้าจะกล่าวถึงชื่ออะไรก็ควรที่จะเข้าใจด้วย ถ้าเป็นธรรมดาไม่ได้กระทำทุจริตก็ต่างกับขณะที่มีกำลังถึงกับกระทำทุจริตได้ และทุจริตก็มีตั้งแต่เล็กน้อยจนกระทั่งใหญ่โตมากก็แสดงถึงกำลังที่เพิ่มขึ้น ใช่ไหม นั่นทางฝ่ายอกุศล และขณะที่กำลังเข้าใจธรรมนี้มีพละไหม เพราะฉะนั้นการฟังธรรมเพื่อเข้าใจ ถ้าอย่างนั้นเปลี่ยนคำถามใหม่กำลังฟังธรรมเข้าใจ มีสติไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เป็นพละ หรือไม่ ไม่ใช่เพียงชื่อแต่ว่าต้องเข้าใจความเป็นจริงว่าสามารถที่จะถึงความเป็นพละนี้ระดับไหน ไม่ใช่ว่าเราได้ยินชื่อมาเราก็อยากรู้จริงๆ ว่าเป็น หรือไม่เป็น และก็ให้คิดไปเรื่อยๆ แต่ต้องมีว่าแม้แต่ขณะที่กำลังฟัง ขณะที่เข้าใจมีสติเกิดแน่นอนใช่ไหม เป็นพละ หรือไม่

    ผู้ฟัง คิดว่ายังไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ ยังไม่เป็น เข้าใจนิดเดียวเองเป็นพละ หรือไม่

    ผู้ฟัง ยังไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ แล้วเวลาที่ฟังแล้วไม่เข้าใจ เป็นพละ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ ฟังแล้วไม่เข้าใจ ขณะนั้นเป็นกุศล หรืออกุศล

    ผู้ฟัง อกุศล

    ท่านอาจารย์ มีอหิริกะอโนตตัปปะไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เป็นพละ หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็น หรือไม่ ก็ไม่ทราบเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ เมื่อสักครู่เราฟังแล้วใช่ไหมว่าเป็นปกติยังไม่ถึงกับกระทำทุจริตกรรม ถึงขั้นนั้นเมื่อไรก็เห็นกำลัง และทุจริตกรรมยิ่งมากขึ้น มากขึ้น ทำสิ่งซึ่งไม่คิดไม่ฝันว่าใครจะทำได้นั่นก็แสดงถึงความเป็นพละของอหิริกะอโนตตัปปะ นั่นคือทางฝ่ายอกุศลก็เป็นชีวิตประจำวัน ทีนี้ทางฝ่ายกุศลฟังธรรมเข้าใจนิดหนึ่ง มีสติ หรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เป็นพลัง หรือยัง

    ผู้ฟัง ยัง

    ท่านอาจารย์ ยัง นี่คือเราตอบได้จากความเข้าใจ แล้วก็ขณะนี้พูดถึงเห็น มีจริงๆ แล้วก็เป็นธรรม รู้ลักษณะของเห็น หรือยัง

    ผู้ฟัง ยัง

    ท่านอาจารย์ ยัง เพราะฉะนั้น จะเป็นสติพละไหม

    ผู้ฟัง ไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ ไม่เป็น แต่ว่าก่อนที่จะถึงความเป็นพละทางฝ่ายกุศลซึ่งเป็นไปเพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ต้องเห็นความเป็นใหญ่ของธรรมคืออินทรีย์ ๕ ก่อน จะเป็นพละก่อนโดยไม่เป็นอินทรีย์นี้ไม่ได้ แล้วจะเป็นอินทรีย์ได้ไหมในเรื่องของการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมถ้าไม่ใช่สติปัฏฐาน หรือว่าสติกำลังรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เราพูดเรื่องเห็น มีใครที่รู้เห็นที่กำลังเห็น ถ้ารู้เห็นเพราะมีเห็นคือไม่คิดเรื่องอื่น มีเห็น และก็รู้เห็นที่กำลังเห็น ไม่คิดเรื่องอื่น ไม่ไปรู้แข็ง ไม่ไปรู้เสียง ไม่ไปรู้อะไร ขณะนั้นคือสติที่ใช้คำว่า “ตามรู้” ไม่ต้องตามไกลๆ ห่างๆ เลย ทันทีที่สิ่งนั้นปรากฏก็รู้ หมายความว่ามีลักษณะซึ่งไม่เคยปรากฏว่าเป็นลักษณะของธรรมใด แต่ว่าทั้งๆ ที่สภาพธรรมเกิดแล้วดับแล้วก็มีลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างผ่านไปเร็วมากจนไม่รู้ว่าเป็นลักษณะสภาพของธรรมอะไรบ้าง เช่นขณะนี้เห็นกับได้ยิน ขณะไหนเป็นอะไร ใช่ไหม ก็ไม่รู้ แต่รู้แต่ว่ามีเห็น มีได้ยิน

    ต่อเมี่อไร กำลังเริ่มรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะนั่นคือ สติซึ่งมีปัฏฐานคือที่ตั้งให้สติเกิดรู้สิ่งนั้นเพื่อเข้าใจความจริงของสิ่งนั้น ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น ไม่ใช่เพื่ออยากจะไปประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม หรือไปละความเป็นตัวตน ไม่ใช่เพราะว่ายังไม่ถึงระดับนั้น เพียงแต่เข้าใจว่าปัญญาก็จะต้องรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริง ทำให้ไม่คลาดเคลื่อนไปที่อื่นแต่ทำให้เริ่มที่จะเป็นอุปนิพันธโคจรแทนที่จะคิดถึงเรื่องอื่นก็กำลังมีสิ่งที่กำลังปรากฏที่กำลังฟัง และขณะนั้นสติที่กำลังมีปัฏฐานคือที่ตั้งด้วยปัญญาที่เข้าใจถูกต้องเป็นพละ หรือยัง แค่กำลังเริ่มรู้ลักษณะ ยังไม่ได้รู้ชัด เพราะว่าขณะที่รู้สั้นมากเช่นกับขณะที่เห็นก็สั้นมาก ธรรมทุกอย่างมีอายุที่สั้นมาก สติก็ต้องสั้นด้วยเพียงแค่กำลังรู้ที่ลักษณะนั้นนิดเดียว ปัญญาสามารถที่จะรู้ชัดไหมว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ถ้าปัญญายังน้อยก็ไม่รู้ ไม่รู้แน่

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้รู้ที่ลักษณะของเห็น หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่รู้ ได้แต่นึกคิด

    ท่านอาจารย์ นึกคิด เพราะฉะนั้นเป็นสตินทรีย์ หรือไม่ เป็นสติปัฏฐาน หรือไม่ ก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าปัญญาต้องอบรมมากจริงๆ ต้องศึกษาโดยละเอียดโดยรอบคอบ ไม่ใช่เพียงได้ยินอะไรแล้วเราก็อยากจะรู้ว่าใช่ หรือไม่ใช่ ขณะนี้เป็นพละ หรือยัง นั่นไม่ใช่ความเข้าใจที่ถูกต้อง

    ผู้ฟัง คือที่ถามเพราะว่า อย่างที่ท่านอาจารย์บอกว่า พละนี่เกิดในขณะที่เป็นสติปัฏฐานนี้แสดงว่าห่างไกลมาก ไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องของพละ

    ท่านอาจารย์ จะรู้ชื่อกับรู้ว่าขณะนี้เป็นสิ่งที่มีจริงอย่างหนึ่งลักษณะนี้ไม่เปลี่ยน แต่เริ่มเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่มีจริงจะใช้คำว่า “เป็นธรรม” ก็ได้ แต่ไม่ต้องพูดทุกอย่างมีจริงๆ ทั้งนั้นตั้งแต่เกิดจนตายแต่ว่าไม่รู้ความจริง จนกว่าจะฟัง ปัญญาที่สำเร็จจากการฟังก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นเข้าใจขึ้น แต่ว่าไม่ใช่ไปรู้ชื่อแล้วอยากจะรู้ชื่อ ต้องเป็นความเข้าใจตามลำดับจริงๆ ตั้งแต่สติในขั้นการฟัง สติสัมปชัญญะที่เป็นสติปัฏฐาน เป็นสตินทรีย์ หรือว่าจะเป็นพละ หรือว่าจะเป็นสัมมาสติก็ต้องเจริญขึ้นตามลำดับ

    อ.วิชัย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่าการที่จะเห็นกำลังสติก็คือในสติปัฏฐาน ๔ การที่จะเห็นกำลังวิริยะก็คือในสัมมัปปธาน ๔ ก็คิดถึงสักครู่ที่ถามเรื่องของศรัทธาคือการที่กว่าจะถึงโพชฌงค์นี้ ศรัทธาก็มีตั้งแต่มีอินทรีย์ด้วย และก็ถึงความเป็นพละด้วย ดังนั้นการที่จะใกล้ ขณะนั้นองค์ก็คือโดยสภาพก็ใกล้ต่อการตรัสรู้โดยสภาพของศรัทธาจึงไม่เป็นโพธฌงค์ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถึงเมื่อไรก็เป็นกำลังของศรัทธาของพระโสดาบัน เพราะฉะนั้นกำลังอยู่ตรงไหนบ้าง เท่าที่กล่าวมา ถ้ายังไม่ถึงความเป็นพระโสดาบันจะเห็นกำลังของศรัทธาไหม

    อ.วิชัย ก็ยัง

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าขณะที่มาฟังธรรมอย่างที่ว่ามีศรัทธาใช่ไหม และเห็นกำลังของปัญญา หรือไม่

    อ.วิชัย ยัง

    ท่านอาจารย์ แต่มีศรัทธาพอที่จะรู้ได้ พอที่จะรู้ได้ เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจเพิ่มขึ้นอีกนิดหนึ่งจะเห็นอะไร จะเห็นศรัทธาที่จะฟังต่อไปให้เข้าใจเพิ่มขึ้น หรือเห็นปัญญาว่าเริ่มเข้าใจ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นก็มีทั้งศรัทธามีทั้งปัญญา แต่ว่าอย่างไหนที่จะปรากฏให้รู้ได้เช่นกำลังเข้าใจนิดเดียวอย่างนี้ เห็นนี่เป็นธรรม หรือยัง

    อ.วิชัย ยังไม่มีกำลังขนาดนั้น

    ท่านอาจารย์ ยังไม่มีกำลังถึงอย่างนั้น เพราะฉะนั้นถ้าฟังต่อไปถ้าคิดว่าถึงยากอย่างไรก็เป็นประโยชน์ เห็นกำลังของอะไร

    อ.วิชัย วิริยะ

    ท่านอาจารย์ หรือศรัทธา หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ปรากฏในขณะนั้น เพราะฉะนั้นธรรมเหล่านี้ก็จะเกิดร่วมกันแล้วก็ทำให้ความเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้นแล้วแต่ว่าขณะนั้นอะไรปรากฏ ถ้าตราบใดที่ปัญญาไม่มากแต่ว่ามีศรัทธาที่จะฟังต่อไปก็เห็นเพียงศรัทธา และเวลาที่บอกว่าสติปัฏฐานคือขณะนั้นต้องมีปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาไม่ใช่สติสัมปชัญญะ

    ถ้าใครก็ตามไม่รู้อะไรแล้วจะไปปฏิบัติได้อย่างไร ใช่ไหม แต่เวลาที่มีความเข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น จะบอกให้ปฏิบัติ หรือ ก็ไม่ได้อีก แล้วแต่ว่าปัจจัยจะเกิดรู้ตามทันทีที่สภาพธรรมนั้นปรากฏ นั่นก็คือขณะนั้นมีลักษณะของสติที่ปรากฏ ขณะนั้นมีศรัทธาไหม

    อ.วิชัย ก็มีด้วย

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเห็นลักษณะของศรัทธาไหม เวลาที่สติกำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรมเห็นอะไร

    อ.วิชัย กำลังสติ

    ท่านอาจารย์ เห็นว่าสติต่างกับขณะที่เป็นเพียงขั้นฟัง เพราะฉะนั้นขณะนั้นจะเห็นศรัทธาไหม

    อ.วิชัย ไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ แล้วมีศรัทธาไหม

    อ.วิชัย มี

    ท่านอาจารย์ แล้วมีศรัทธามาก่อนด้วยที่จะถึงขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด เพราะฉะนั้นก็จะต้องรู้ตามความเป็นจริงว่าธรรมที่เป็นฝ่ายโสภณธรรมทั้งหมดเวลาเกิด เวลาเจริญขึ้น ก็แล้วแต่ว่าขณะนั้นสภาพธรรมใดปรากฏในฐานะใด เช่น ขณะนี้ที่กำลังฟัง ขณะที่กำลังเข้าใจมีสติแน่นอนในขณะที่กำลังเข้าใจ แต่ลักษณะของสติไม่ปรากฏใช่ไหม แต่ลักษณะของศรัทธาอาจเกิดปรากฏก็ได้ หรือพอมีความเข้าใจขณะนั้นลักษณะของศรัทธา และสติก็ไม่ได้ปรากฏ แต่เริ่มรู้ว่าเข้าใจคืออย่างนี้ ขณะนั้นก็ยังไม่ถึงความเป็นกำลัง เพราะฉะนั้นก็คือชีวิตประจำวันจริงๆ ทั้งหมดของโสภณเจตสิกซึ่งเกิดดับ แล้วแต่ว่าขณะนั้นอยู่ในฐานะอะไร อย่างสติปัฏฐานที่เริ่มระลึกลักษณะของสภาพธรรม เป็นสตินทรีย์ที่อ่อน ยังไม่ถึงขณะที่เป็นสติพละ หรือว่ายังไม่ถึงขณะที่เป็นสัมมาสติในมรรคมีองค์ ๘ ที่เกิดพร้อมกันที่กำลังมีนิพพานเป็นอารมณ์

    อ.วิชัย กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์

    ผู้ฟัง ถามนิดเดียวว่าเมื่อสักครู่ฟังอาจารย์อรรณพพูดถึงปีติ แล้วปีติสัมโพชฌงค์แล้วก็อุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่เป็นตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกคือหมายความว่า ถ้าเป็นขณะที่เป็นโพชฌงค์ ๗ เวทนาจะเป็นโสมนัสอย่างเดียว หรือ เพราะว่าพูดถึงปีติ

    อ.อรรณพ ใช่ เพราะว่าขณะนั้นเป็นผลของการที่อบรมเจริญปัญญาแล้วก็โสภณธรรมต่างๆ จนมีกำลังแล้วจะไม่ปีติได้อย่างไร เวทนาเป็นโสมนัสแล้วก็มีปีติเกิดร่วมด้วย ปีตินั้นมีกำลังไม่ใช่ปีติเรื่องราวแต่เป็นปีติจากปัญญาที่ประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริงจนมีกำลังจึงมีปีติเกิด ปีตินั้นเป็นองค์หนึ่งของการตรัสรู้จึงเป็นปีติสัมโพชฌงค์ และตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกนั้น ซึ่งเป็นสภาพที่เป็นกลางไม่เอนเอียงมีความมั่นคง ขณะนั้นก็เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์

    อุเบกขาในที่นี้ไม่ใช่ความรู้สึก เพราะเราจะติดในอุเบกขาว่าอุเบกขาต้องเฉยๆ ไม่ใช่ แต่อุเบกขานี้หมายถึงตัตรมัชฌัตตตาซึ่งเป็นกลางมั่นคงไม่เอนเอียง อย่างมั่นคงจริงๆ จึงเป็นองค์หนึ่งของการตรัสรู้

    ท่านอาจารย์ คุณอุดรกำลังมีศรัทธา หรือไม่

    ผู้ถาม. มี

    ท่านอาจารย์ มีใช่ไหม ศรัทธานั้นเป็นคุณอุดร หรือไม่ หรือว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ในขณะที่เข้าใจถูกว่าเป็นธรรมไม่ใช่คุณอุดร ปล่อย หรือเลิกที่จะเข้าใจว่าเป็นเรา หรือไม่ ละความเห็นผิดว่าเป็นเรา หรือไม่ เพราะฉะนั้นถ้ามีการละความเห็นผิดว่าเป็นเราก็เพราะศรัทธาเพิ่มขึ้นซึ่งเกิดกับปัญญา เพราะฉะนั้นโวหารเทศนานี้ต้องเข้าใจ ศรัทธาเป็นโสภณเจตสิก เป็นกุศลก็มี เป็นวิบากก็มี เป็นกิริยาก็มีโดยฐานะที่ต่างกัน ถ้าเป็นกิริยาศรัทธานั้นเป็นของพระอรหันต์ซึ่งไม่มีกิเลส

    แต่ว่าก่อนที่จะถึงความเป็นพระอรหันต์แม้แต่ความเป็นพระโสดาบัน ยังยึดถือศรัทธานั้นว่าเป็นเรา หรือไม่ แต่ว่าผู้ที่มีการรู้แจ้งสภาพของธรรมยังยึดถือศรัทธาว่าเป็นเรา หรือไม่ นี่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าไม่ได้ยึดถือคือปล่อยการยึดถือศรัทธาว่าเป็นเรา แต่ขณะที่ไม่ยึดถือศรัทธาว่าเป็นเราขณะนั้นก็มีศรัทธา ถูกต้องไหม เพราะว่าเป็นโสภณจนกว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์

    ผู้ฟัง แสดงว่าขณะที่ศรัทธาเกิดศรัทธาก็เป็นกุศลธรรม ขณะนั้นไม่ได้ยึดศรัทธาว่าเป็นตัวเรา

    ท่านอาจารย์ ขณะที่กุศลจิตเกิดไม่ใช่อกุศล แต่รู้ไหมว่าศรัทธานั้นเป็นธรรม เคยยึดถือศรัทธาว่าเป็นเรา ยึดถือทั้งกุศล และอกุศลว่าเป็นเรา ควรจะยังยึดถือต่อไป หรือไม่ว่าเป็นเรา

    ผู้ฟัง ไม่ควรยึดถือ

    ท่านอาจารย์ ไม่ควรยึดถือ ขณะที่มีความเห็นถูกว่าไม่ควรยึดถือ ขณะนั้นมีศรัทธาไหม

    ผู้ฟัง ต้องมี

    ท่านอาจารย์ มีเพราะว่าเป็นโสภณ เพราะฉะนั้นต่างระดับจนกว่าถึงที่เป็นกิริยาจิตของพระอรหันต์

    อ.คำปั่น สำหรับประเด็นที่จะสนทนาก็คือ “ผู้บ่นเพ้อธรรม” ซึ่งท่านอาจารย์ได้กล่าวไว้ว่า ผู้ที่กล่าวแต่ชื่อแต่ไม่รู้ไม่น้อมไปเพื่อเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้คือผู้บ่นเพ้อธรรม กราบเรียนท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ได้ยินบ่อยๆ แต่ธรรมก็เป็นสิ่งละเอียดลึกซึ้งไม่ว่าจะได้ยินอะไร ต้องพิจารณาจนกระทั่งเป็นความเข้าใจไม่เผิน ไม่ว่าจะได้ยินคำอะไร เช่น คำว่า “บ่นเพ้อ” เรารู้จักคำว่าบ่นใช่ไหม บ่อยๆ พูดเรื่องที่ใครก็ฟังแล้วก็ไม่ชอบ ถ้าพูดดีก็ไม่ใช้คำว่าบ่น แต่ถ้าพูดไม่ดีไม่สบายใจก็ใช้คำว่าบ่น แล้วเพ้อเป็นเรื่องสิ่งที่เป็นคำจริง หรือไม่ ถ้าจะพูดเพ้อด้วยความไม่รู้สึกตัว

    เพราะฉะนั้นทุกคำในพระไตรปิฏกจะทำให้เข้าใจชีวิตประจำวันซึ่งเราใช้คำพูดมาก และก็ใช้โดยที่ว่าไม่รู้ว่าที่เราเข้าใจนี้เพียงผิวเผิน เช่น บ่นเพ้อ เข้าใจแต่ถ้าใช้คำว่า “บ่นเพ้อธรรม” งงใช่ไหม ธรรมมีการบ่นเพ้อ หรือในเมื่อเป็นธรรมแต่ความจริงธรรมเป็นสิ่งที่ลึกซึ้ง ตามที่ได้ฟังเรื่องการศึกษาที่ถูกต้อง คือฟัง ศึกษา เพื่อมีความเห็นที่ถูกต้อง เพื่อละความไม่รู้ ไม่ใช่ว่าเราจะไปปฏิบัติ หรือไปทำอะไรเพื่อให้เกิดปัญญา สามารถที่จะถึงพระนิพพานได้ เพราะส่วนใหญ่ที่ได้ฟังก็มีคนที่ถามว่าเมื่อไร ทำอย่างไรจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม หรือแม้แต่พูดเรื่องเห็นเดี๋ยวนี้ก็ถามว่าแล้วจะรู้ได้อย่างไร

    นี่ก็คือมีความต้องการในการฟังเพื่อที่จะได้สิ่งซึ่งไม่ใช่ปัญญา เพราะเหตุว่าถ้าเป็นปัญญาคือฟัง มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่บ่นเพ้อคือค่อยๆ เข้าใจคำที่ได้ฟังที่เกี่ยวกับสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ และในขณะนั้นที่กำลังฟัง มีความเข้าใจสิ่งที่ได้ฟังว่าพูดถึงสิ่งมีจริงๆ โดยถูกต้องตามความเป็นจริงให้เกิดความเข้าใจยิ่งขึ้น หรือไม่ มิฉะนั้นแล้วขณะใดก็ตามที่เป็นแต่เพียงคำพูดเรื่องนั้นเรื่องนี้แต่ว่าไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังพูดถึงแม้แต่เพียงในขั้นฟังก็เป็นการบ่นเพ้อเพราะเหตุว่าฟังแล้วไม่รู้เรื่อง ฟังแล้วไม่ได้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังพูดถึงก็กำลังมีในขณะนี้ เพราะฉะนั้นพระธรรมจะอนุเคราะห์ให้คนที่ได้ฟังเป็นคนที่ละเอียดเพื่อที่จะได้ประโยชน์ของการฟังจริงๆ เต็มที่ หรือว่าเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่ใช่เพียงเผินๆ หรือว่านิดๆ หน่อยๆ ฟังแล้วก็จำแล้วก็อยากจะรู้สิ่งนั้นสิ่งนี้ซึ่งความจริงในขณะนั้นก็เป็นลักษณะหนึ่งของความฟุ้งซ่าน

    เพราะฉะนั้นประโยชน์จริงๆ ไม่ว่าจะฟังคำใดก็ตามไม่พ้นจากพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงซึ่งทรงประมวลเป็นพระวินัย และพระธรรม หรือพระธรรมวินัยนั่นเอง เพราะว่าทั้งหมดเป็นธรรม วินัยคือการกำจัดอกุศล นำออกไปซึ่งอกุศล

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 183
    23 ธ.ค. 2566