พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 686


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๘๖

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓


    อ.กุลวิไล การสนทนาธรรมจะเป็นมงคลอย่างไรเพราะว่าชาวพุทธทั้งหลายอาจไม่เข้าใจว่าเป็นมงคลอย่างไร

    ท่านอาจารย์ พูดถึงการฟังธรรมขณะนี้ทราบว่าเป็นมงคลเพราะเหตุว่ากำลังฟังธรรม แต่จริงๆ มงคลไม่ใช่แต่เฉพาะการฟังธรรม มงคลทั้งหมดที่กล่าวมีถึง ๓๘ ใครจำได้หมดบ้างไหม แต่ว่ามีท่านที่ท่องได้ขอให้ท่านท่องมงคล ๓๘ ท่านท่องได้หมด แต่ไม่ใช่สำหรับท่อง และไม่ใช่สำหรับจำ แต่สำหรับประพฤติเพื่อความเจริญขึ้นซึ่งเป็นมงคลแต่ละข้อ

    ซึ่งโดยสรุปมงคลทั้งหมดนั้นหมายถึงความดีทุกประการ เพราะเหตุว่าสิ่งซึ่งไม่ดีจะนำมาซึ่งผลคือสิ่งที่ดีไม่ได้ ต้องตรงตามเหตุ ถ้าเหตุไม่ดีผลก็ต้องไม่ดี ถ้าเหตุดีผลก็ต้องดี แต่ส่วนใหญ่เวลาที่ไม่ได้ศึกษาธรรมก็จะไม่ทราบว่าอะไรเป็นเหตุ และอะไรเป็นผลแม้ในขณะนี้เดี๋ยวนี้

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรมตามพระพุทธศาสนา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรู้แจ้งความจริงของสิ่งที่มีจริงทั้งหมด ซึ่งสิ่งที่มีจริงทั้งหมดคือพระธรรม ธรรมที่มีจริงที่ทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษาหลังจากที่ได้ทรงตรัสรู้แล้ว แล้วก่อนที่จะปรินิพพาน ๔๕ พรรษาทุกคำมาจากการที่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีหลังจากที่ได้รับคำพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าทีปังกรแล้วบำเพ็ญพระบารมีสี่อสงไขยแสนกัปป์

    เพราะฉะนั้นแต่ละคำ แม้มงคลแต่ละข้อก็มาจากการที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ความจริง แต่ว่าพระพุทธศาสนา ชื่อก็บอกแล้ว “พุทธ” ผู้รู้ ผู้ตื่นจากกิเลส ผู้เบิกบานเพราะพ้นจากกิเลส ดับกิเลสได้หมดสิ้น เพราะฉะนั้นประโยชน์ของผู้ฟังที่ศึกษาพระธรรมซึ่งเป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็คือความเห็นถูก ความเข้าใจถูกตามที่พระองค์ทรงตรัสรู้ และทรงแสดง

    ด้วยเหตุนี้การฟังธรรมขณะนี้เป็นมงคลเพราะเหตุว่าจะนำมาซึ่งความเห็นถูกความเข้าใจถูกซึ่งใครก็ไม่สามารถที่จะแสดงความจริงนี้ได้ เดี๋ยวนี้มีสิ่งที่มีจริงๆ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความจริงของสิ่งที่มีจริง ไม่ใช่เพียงฟัง และก็เข้าใจเรื่องราวแต่สามารถที่จะรู้ว่า ขณะนี้สิ่งที่มีจริงขณะนี้เข้าใจ หรือไม่ว่าคืออะไร และเข้าใจแค่ไหน ก่อนที่จะได้มีการฟังธรรมต้องเป็นความไม่รู้แน่นอน แต่เมื่อได้มีการฟังธรรมแล้ว แม้ในครั้งพุทธกาล ๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว ผู้ที่ได้เฝ้าได้ฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์ พระธรรมที่ทรงแสดงก็ไม่พ้นจากสิ่งที่กำลังมีจริงทุกกาลสมัย ในสมัยนั้นพระธรรมที่ทรงแสดงกับผู้ที่ไปเฝ้าฟังพระธรรมก็ต้องเป็นเรื่องของสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน เห็นมีจริง ได้ยินมีจริง ได้กลิ่นมีจริง ลิ้มรสรู้รสต่างๆ มีจริง กายก็กระทบสัมผัสรู้ว่าเย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็ง ตึง หรือไหวก็มีจริง และยังมีความคิดซึ่งคิดก็มีจริง จะไม่จริงได้อย่างไรเพราะคิดเกิดแล้วก็ดับไปแล้ว แต่ว่าจะคิดเรื่องอะไร

    เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่มีจริงในชีวิตประจำวันซึ่งผู้ที่ยังไม่ได้ฟังพระธรรมจะถึงความเจริญด้วยปัญญาได้ไหม เพราะเหตุว่าความเจริญจริงๆ ไม่ใช่ความเจริญทางวัตถุ หรือความเจริญของความโลภ ความติดข้อง ความต้องการ การแสวงหาสิ่งซึ่งคิดว่าน่าปรารถนาคือลาภ ยศ สรรเสริญ สักการะ ความสุขต่างๆ แต่ความเจริญจริงๆ ต้องเป็นความเจริญของจิตซึ่งมีปัญญา เริ่มเข้าใจธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงจะกล่าวก็ได้ว่าความเจริญคือปัญญา ความรู้ถูก ความเห็นถูก เพราะว่าถ้าไม่มีความรู้ถูก ความเห็นถูก อะไรเจริญ ความไม่รู้เจริญ ใช่ไหม นี่เป็นสิ่งธรรมดาที่น่าคิดแต่บางคนก็ไม่ได้คิด ถ้าไม่มีความเห็นถูกความเข้าใจถูกเพิ่มขึ้น เจริญขึ้น อะไรจะเจริญก็ต้องความไม่รู้ซึ่งไม่รู้นั่นก็เจริญยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้แต่ละคำในพระพุทธศาสนาควรที่จะได้เข้าใจจริงๆ ไม่ประมาท ไม่เผิน ไม่ข้ามไป คิดว่าจะไปรู้คำอื่นเพราะว่าคำนี้เข้าใจแล้วเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเพราะความลึกซึ้งของสิ่งที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะรู้ได้โดยง่าย

    แม้พระองค์เองเมื่อครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ก็ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีทุกประการ เพื่อที่จะรู้ความจริงที่กำลังปรากฏในขณะนี้ แสดงว่าความจริงในขณะนี้รู้ยาก หรือรู้ง่าย เป็นสิ่งซึ่งลึกซึ้งมากซึ่งควรที่จะได้ฟังตลอดชีวิต เพราะเหตุว่าฟังเพื่อเข้าใจสิ่งที่มีจริงเพื่อรู้ว่า อะไรดี อะไรชั่ว เพื่อที่จะละความไม่รู้ เพื่อความรู้ และความเจริญในคุณธรรมความดีจะได้เพิ่มยิ่งขึ้น

    อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์กล่าวถึงมงคลคือความดีทุกประการ ซึ่งความดีนี้จะต้องมีปัญญาเกิดร่วมด้วยเพราะว่าต้องมีความเห็นถูกในสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นขณะนี้ก็มีสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ ปัญญาย่อมมีความเห็นถูกในสภาพธรรมเหล่านี้ได้ถ้าเป็นผู้ที่ได้ฟังพระธรรมแล้วก็ได้สนทนาธรรม

    ท่านอาจารย์ แม้แต่คำว่า “ธรรม” คำเดียวอย่าเพิ่งประมาท ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม คำนี้เข้าไปถึงใจแล้ว หรือยัง ชั่วคราว หรือว่าบ่อยๆ หรือว่าแม้ขณะนี้คำว่า “สิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้เป็นธรรม” เรื่องของธรรมที่จะต้องศึกษานี้มีมากเพราะว่าสิ่งที่มีจริงเป็นจริงในชีวิตประจำวันทุกขณะตั้งแต่เกิดจนตาย เพราะฉะนั้นการที่จะเข้าใจธรรมไม่ใช่เพียงครั้งเดียวเรื่องเดียว แต่สิ่งที่มีจริงทั้งหมดในชีวิตประจำวันเป็นธรรมที่จะต้องศึกษาจนกว่าจะมีความเข้าใจจริงๆ ว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ความหมายของคำว่า “สันโดษ” หมายถึงว่าเราอยากอยู่คนเดียวใช่ไหม หรือความพอเพียงในการที่เราพอใจในสิ่งที่เรามีเราเป็นเราได้

    ท่านอาจารย์ ขอเชิญคุณคำปั่น

    อ.คำปั่น คำว่า “สันโดษ” นั้นเป็นคำไทย แต่คำภาษาบาลีนั้นท่านใช้อยู่ ๒ คำคือ คำว่า “สันตุฏฐี” กับ “สันโตส” ซึ่งความหมายเหมือนกัน หมายถึงความยินดี หรือว่าความพอใจ ซึ่งท่านก็ได้มีการขยายความไว้ว่ายินดีนั้นยินดีอย่างไร ซึ่งก็ต้องทราบว่าเรื่องของมงคลทั้งหมดเป็นเรื่องของความดีเป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลส เป็นไปเพื่อความเจริญยิ่งขึ้นในกุศลธรรม

    แม้แต่ความสันโดษก็เช่นเดียวกัน เป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลส ที่บอกว่ายินดีนั้นหมายถึงยินดีในของๆ ตน ยินดีโดยสม่ำเสมอ และยินดีในสิ่งที่มีอยู่ นี่เป็นเรื่องของความสันโดษ เพราะเหตุว่าการที่เราจะได้อะไรนั้นเป็นเรื่องของผลของกรรม เพราะเหตุว่าแต่ละคนแต่ละนั้นท่านนั้นสะสมกรรมมาไม่เหมือนกัน การได้รับสิ่งที่น่าปรารถนาน่าใคร่น่าพอใจในชีวิตประจำวันนั้นจึงมีความแตกต่างกันออกไปตามกรรมที่ได้กระทำแล้ว

    แต่อย่างไรก็ตามพระธรรมก็เป็นเครื่องเกื้อกูลให้บุคคลนั้นสามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยความพอดี ด้วยความพอเหมาะของแต่ละบุคคลโดยเป็นไปในทางที่ถูกที่ควรตามพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ที่บอกว่าความสันโดษนั้นเป็นมงคลอย่างไร เพราะเหตุว่าเป็นไปเพื่อการกำจัดความเป็นผู้มักมาก หรือว่าความเป็นผู้ปรารถนาที่เกินประมาณ เพราะฉะนั้นเรื่องของสันโดษก็เป็นเรื่องที่ขัดเกลากิเลสโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือความติดข้องความยินดีพอใจนั่นเอง กราบเรียนท่านอาจารย์ได้อธิบายเพิ่มเดิมด้วย

    ท่านอาจารย์ คุณพนิดาชอบอยู่คนเดียวไหม

    ผู้ฟัง ชอบ

    ท่านอาจารย์ แน่ใจนะ

    ผู้ฟัง บางครั้ง

    ท่านอาจารย์ ก็มีบางครั้งขึ้นมาแล้ว ทำไมบางครั้งชอบ บางครั้งไม่ชอบ

    ผู้ฟัง ก็อาจเพราะว่าธรรมเราก็มีขาดๆ วิ่นๆ บางครั้งก็อยากจะศึกษาธรรมแล้วก็นั่งไตร่ตรองพระธรรม บางครั้งก็อยากจะออกไปชอปปิ้ง หรืออะไรแบบนี้

    ท่านอาจารย์ ก็แต่ละอัธยาศัย แสดงให้เห็นว่าทุกคนต้องการเวลาส่วนตัว ถูกต้อง หรือไม่

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ มาก หรือน้อยแล้วแต่ แล้วบางคนก็ชอบมีเพื่อนฝูงมากๆ คบหาสมาคม แต่ว่าเวลาที่อยู่คนเดียวนี้ อยู่คนเดียวจริงๆ หรือไม่ คิดอะไร หรือไม่ คิดถึงใคร หรือไม่ วงศาคณาญาติคิดด้วยความติดข้อง หรือว่าคิดด้วยความขุ่นเคือง หรือไม่

    เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วอยู่คนเดียว หรือไม่ เพราะแม้แต่คำว่า “อยู่คนเดียว” ในพระพุทธศาสนามีความหมายที่ลึกซึ้งด้วย ไม่ใช่หมายความเพียงแต่ว่าไม่มีใครในขณะนั้นแล้วเราก็นั่งอยู่คนเดียวแต่ว่าใจคิดอะไร แสดงให้เห็นว่าเรายังไม่ได้เข้าถึงความหมายของคำว่า “อยู่คนเดียว” ถูกต้องไหม

    ผู้ฟัง ถูกต้อง แต่ในความหมายของท่านอาจารย์นี้หมายความว่าอยู่คนเดียวแล้วให้ระลึกธรรม หรือ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ให้ ข้อสำคัญที่สุดคืออยู่คนเดียวแล้วทำอะไร เห็นไหมแค่คำว่า “ทำอะไร” เป็นคำตอบที่ยาก หรือง่าย เห็น หรือไม่ ได้ยิน หรือไม่ ได้กลิ่นอะไร หรือไม่ ลิ้มรส หรือไม่ มีการกระทบสัมผัสรู้สึกร้อนไป เย็นไป แข็ง อ่อนบ้าง หรือไม่ คิดนึกเรื่องราวต่างๆ บ้าง หรือไม่ ขณะนั้นไม่ได้อยู่คนเดียว

    ไม่ได้อยู่คนเดียวแล้วอยู่กับใคร เห็นไหม พระธรรมจะมีความละเอียดลึกซึ้งเพิ่มขึ้น มากขึ้นให้เราไตร่ตรองจนกระทั่งเป็นความเข้าใจของเราเองแล้วไม่เผิน ถ้าเผินเมื่อไรก็คือว่าไม่ได้เข้าใจธรรมที่ได้ฟังมา ๒๐ ปี ๓๐ ปี ก็มีแต่เรื่องชื่อต่างๆ คำต่างๆ เรื่องราวของธรรม แต่ไม่รู้ว่าขณะนี้คืออะไร

    เพราะฉะนั้นถามว่าขณะที่ไม่ได้อยู่คนเดียวนี้อยู่กับอะไร น่าคิดใช่ไหม ก็มีผู้กระซิบว่าอยู่กับความคิด คิดอะไร อะไรคิด อยู่กับโลภะส่วนใหญ่ เห็นไหมได้ยินแต่ชื่อ โลภะ บางคนก็อาจเข้าใจว่าโลภมากๆ เมื่อไรก็เป็นโลภะ แต่ไม่ได้เข้าใจเลยว่าธรรมเป็นสิ่งซึ่งละเอียด โลภใหญ่ต้องมาจากโลภเล็ก ใช่ไหม

    ถ้าไม่มีความติดข้องเล็กๆ น้อยๆ ทีละนิดทีละหน่อยความโลภจะปรากฏได้ไหม มีความโลภมากในทุกอย่าง ไม่ใช่สันโดษ หรือไม่ใช่ความพอเพียง หรือไม่ใช่ความพอใจในสิ่งที่มีแล้ว กำลังมีอยู่ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าการศึกษาธรรมต้องศึกษาด้วยความไม่ประมาท ด้วยความรอบคอบ ด้วยความเคารพสูงสุดในพระบรมศาสดาผู้เดียวในแสนโกฏฏ์จักรวาล ไม่ว่าอาณาเขตของจักรวาลจะมีมากเท่าไร ไม่มีผู้ที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์พร้อมกัน ก็แสดงให้เห็นถึงพระปัญญาที่สามารถที่จะรู้ความจริงแม้แต่ว่าอยู่คนเดียวก็แล้วแต่ว่าความหมายนั้นหมายความว่าอะไร มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นแล้วติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ที่ใช้คำว่า “เพื่อน” จะใช้คำว่า “คู่ชีวิต” หรือตลอดชีวิต หรืออะไรก็ตามแต่ อยู่ด้วยกันบ่อยๆ ยากที่จะพรากจากกันไปได้ก็คือโลภะ หรือความติดข้องนั่นเอง

    เพราะฉะนั้นพอใจที่จะอยู่คนเดียวแล้วใช่ไหม เพราะอยู่กับความพอใจ หรือโลภะที่ต้องการจะอยู่คนเดียว

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวว่าต้องเริ่มจากการเป็นผู้ตรง แล้วการเจริญนามรูปก็จะเป็นความจริง

    ท่านอาจารย์ ขอโทษ เจริญนามรูปนี้ก็ไม่ถูกแล้ว เจริญอย่างไรนาม รูป ใครทำได้ ต้องฟังอย่างละเอียดแล้วต้องเริ่มต้นตามลำดับด้วย ถ้ายังไม่เข้าใจธรรมก็จะยังต่อไปถึงเรื่องอื่นไม่ได้ ต้องเข้าใจก่อน

    ผู้ฟัง คือสติจะเกิดขึ้นเองได้

    ท่านอาจารย์ สติก็ยังไม่ต้องพูดถึง เพราะฉะนั้นยังไม่ต้องใช้คำอะไรที่ฟังแล้วก็ไม่เข้าใจ เพราะว่าถ้าจะเข้าใจจริงๆ ก็คือตั้งแต่เกิดจนตาย พูดคำที่ไม่รู้จัก เมื่อกี้พูดถึงสติ ถามว่าสติคืออะไร รู้จัก หรือไม่

    ผู้ฟัง ระลึกถึงสภาพความเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ต้องระลึก เพราะขณะนี้ยังไม่รู้ความเป็นจริงว่าคืออะไร เดี๋ยวนี้ ความเป็นจริงเดี๋ยวนี้คืออะไร

    ผู้ฟัง เห็น

    ท่านอาจารย์ เห็นคืออะไร

    ผู้ฟัง เห็นคือจิตเห็น

    ท่านอาจารย์ จิตคืออะไร

    ผู้ฟัง จิตคือนาม

    ท่านอาจารย์ ตอบชื่อว่านามใช่ไหม แต่คืออะไร นามนั้นคืออะไร

    ผู้ฟัง สภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรม ธรรมคืออะไร กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เห็นเกิดแล้ว หรือยัง

    ผุ้ถาม เห็นเกิดแล้ว

    ท่านอาจารย์ เห็นเกิดแล้ว เห็นแล้ว เปลี่ยนให้เป็นอย่างอื่นได้ไหม

    ผุ้ถาม ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เข้าใจอย่างนี้ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ หรือไม่

    ผู้ฟัง เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เห็นกับสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น เหมือนกัน หรือต่างกัน

    ผู้ฟัง ต่างกัน

    ท่านอาจารย์ ต่างกันอย่างไร

    ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏเป็นสี แสง รูป

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องเรียกว่าอะไรก็ปรากฏใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นในขณะที่กำลังเห็นเริ่มเข้าใจถูกต้องว่ามีสิ่งที่ปรากฏเพราะมีธาตุ หรือธรรมที่กำลังเห็นจะเรียกว่าจิต วิญญาณ มโน หรือมนัสก็ได้ แต่หมายความถึงธาตุที่สามารถที่จะเห็นเดี๋ยวนี้คือเกิดขึ้นแล้วเห็นเดี๋ยวนี้เป็นธรรม ทางหูก็มีใช่ไหม ทางใจก็มี ค่อยๆ เข้าใจจนกว่าจะรู้ว่าไม่มีเราเป็นแต่เพียงธรรมตั้งแต่เกิดจนตาย

    ผู้ฟัง ทีนี้จากคำกล่าวของอาจารย์ข้างต้นนี้ ก็มาดูในเรื่องมารยาทสังคมที่ว่าเราจะต้องใช้เป็นประจำการกล่าวตามมารยาท

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อน จะไปใช้แล้วก็เป็นมารยาทสังคม ถ้าไม่มีธรรม มีสังคมไหม

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นสังคมคืออะไร ทุกอย่างก็ต้องเป็นธรรมหมด ไม่ใช่จากที่นี่จะเอาไปใช้อย่างนั้นอย่างนี้ อยู่ที่นี่เห็น สังคมคืออะไร

    ผู้ฟัง การเห็น

    ท่านอาจารย์ ที่ไหนถึงได้เรียกว่าสังคม

    ผู้ฟัง การอยู่ร่วมกัน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเห็นเป็นเห็นไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ความจริงก็เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏแล้วก็คิดนึกถึงความต่าง จึงมีสังคมบ้าง อยู่ที่นี่บ้าง อยู่ที่โน่นบ้าง และก็คิดเรื่องที่จะเอาอะไรไปใช้ในสังคมก็เป็นความคิดทั้งหมด ความคิดก็มีจริงในขณะที่กำลังคิด คิดแล้วก็ดับไป

    ผู้ฟัง แล้วมารยาททางสังคมบางครั้งเราต้องพูดอะไรที่ไม่ตรงกับใจเรา เราจะหลีกเลี่ยงมารยาทสังคมได้ไหม

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อน ชอบคนพูดไม่จริง หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ชอบ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าพูดจริงทุกกาลกับทุกบุคคลไม่เสียหาย ไม่ผิด ไม่เป็นที่รังเกียจ ไม่เป็นที่ติเตียนใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ ก็ทำสิ่งที่รู้ว่าดี

    อ.ธิดารัตน์ ในชีวิตประจำวันอย่างมงคลอีกข้อหนี่ง การบูชา การบูชาเราก็จะบูชากันอยู่เสมอด้วยของหอม หรือว่าเครื่องบูชาต่างๆ แล้วโดยความลึกซี้งนี้ก็จะมีการบูชาด้วยการปฏิบัติบูชาซึ่งก็อย่างท่านผู้ที่มิได้ศึกษาโดยละเอียดก็อาจรู้จักแต่เพียงการบูชาด้วยดอกไม้ของหอม หรือว่าสิ่งต่างๆ จะไม่ค่อยเข้าใจถึงว่า แม้มงคลข้อนี้ก็รวมถึงการปฏิบัติบูชาด้วย ก็อยากจะกราบเรียนท่านอาจารย์กรุณาขยายความ “ปฏิบัติบูชา”

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นต้องเข้าใจธรรมแล้วไม่ต้องห่วงเรื่องการปฏิบัติ เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีความเข้าใจธรรมจะปฏิบัติอะไร ก็ต้องผิดใช่ไหม ด้วยเหตุนี้ที่สำคัญที่สุดที่คนข้ามไปก็คือการเข้าใจธรรม แล้วธรรมนี้ก็คิดเองไม่ได้ แต่ต้องฟังแล้วก็ไตร่ตรองว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเป็นความจริงไหม

    เมื่อมีความจริงขณะนั้นก็รู้ว่าธรรมมีหลากหลาย ธรรมที่ไม่ดีก็มี ความชั่วต่างๆ โลภะ โทสะ โมหะ ทุจริตเบียดเบียนกัน ริษยา มานะมากมาย แล้วธรรมที่เป็นฝ่ายดีก็มี แล้วถ้าไม่มีปัญญาสามารถที่จะเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงอย่างนี้ไหม เพราะว่าหลายคนเข้าใจว่าสิ่งที่ไม่ดีนั่นดี แต่ว่าปัญญาต้องรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง และธรรมก็ตรงเปลี่ยนไม่ได้

    ขณะที่ยังไม่ได้เข้าใจธรรมจริงๆ ไม่ต้องคิดเรื่องการปฏิบัติธรรม แต่เมื่อฟังแล้วเกิดความเห็นที่ถูกต้องว่าอะไรควรอะไรไม่ควร ขณะนั้นก็จะเป็นปัจจัยที่ทำให้แม้กายวาจา และใจก็เป็นไปในทางที่ควร แต่ความดีก็มีหลายระดับ เพียงแค่เกิดมาเป็นคน เป็นผลของกรรมดี แล้วทำความดี หรือไม่ หรือว่าเพียงเกิดมาเพราะกรรมดีที่ทำให้เป็นคน แต่ว่าทำความดี หรือยัง หรือว่าคนที่เกิดมาเป็นคนก็สะสมอุปนิสัยที่จะเป็นคนดีทำความดี แต่เข้าใจธรรม หรือยัง เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่ละเอียดมากที่การศึกษาพระธรรมด้วยความเคารพจะทำให้เราไม่ผิด และก็ไม่เผิน เพราะเหตุว่าพระธรรมมีหลายระดับขั้น ปริยัติ ปฏิปัตติ และปฏิเวธ

    ปริยัติ หมายความถึงการศึกษาพระธรรมด้วยความละเอียดที่จะรู้ว่าเข้าใจในขณะที่กำลังฟัง คือกำลังศึกษาพระธรรมจริงๆ หรือไม่ หรือว่าเพียงแต่ฟังเป็นเรื่องเป็นราวที่ ได้ยิน ไม่ว่าจะพูดเรื่องอะไรก็กำลังพูดถึงสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ แต่ว่าความเข้าใจในสิ่งที่มีจริงในขณะนี้มากแค่ไหน หรือว่าเดี๋ยวก็ลืม ก็ลืมเพราะเหตุว่าสะสมความไม่รู้มานานมาก เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นไปตามธรรมที่ได้สะสม

    ด้วยเหตุนี้แม้แต่การที่จะเป็นผู้ที่รอบรู้ในปริยัติคือ คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็คือต้องเข้าใจแต่ละคำจริงๆ เมื่อเข้าใจคำแต่ละคำก็สามารถที่จะเข้าใจนัยที่ทรงแสดงโดยโวหารเทศนา โดยประการต่างๆ ที่รู้ตามอัธยาศัยของสัตว์โลกว่าเมื่อกล่าวคำนี้ สัตว์โลกผู้นั้นสามารถที่จะพิจารณาเข้าใจได้แค่ไหน เพราะว่าแต่ละคนก็มีอัธยาศัยต่างๆ กัน

    ด้วยเหตุนี้ขาดปริยัติไม่ได้ และเพียงฟังวันนี้จะปฏิบัติก็เป็นไปไม่ได้ เพราะว่ายังไม่ใช่ผู้ที่รอบรู้ในธรรมที่ได้ฟัง เช่นขณะนี้เห็น มี รอบรู้ในเห็น หรือยัง ฟังแล้วเข้าใจ หรือยังว่าเห็นเป็นธรรม หรือฟังแล้วรู้ชื่อเรียกชื่อว่าขณะนี้เห็นเป็นธรรม แต่ยังไม่ได้เข้าถึงอรรถคือลักษณะจริงๆ ของเห็นว่า เห็นขณะนี้มีแน่นอนแต่ไม่มีรูปร่างใดๆ ที่จะพาให้เห็นเป็นสีดำ สีเขียว สีแดง หรือว่าเป็นกลิ่นเป็นรสต่างๆ เพราะว่าเป็นเพียงธาตุซึ่งไม่มีรูปใดๆ เจือปนทั้งสิ้น

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 183
    23 ธ.ค. 2566