พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 665


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๖๕

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๓


    ท่านอาจารย์ ชาติก่อนคิดอะไรบ้าง?

    ผู้ฟัง จำไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เมื่อวานคิดอะไรบ้าง?

    ผู้ฟัง ก็จำได้บ้าง จำไม่ได้บ้าง

    ท่านอาจารย์ เสียเวลาใช่ไหม จำไม่เห็นได้ คิดแล้ว หมดแล้ว ไม่มีอะไรเหลือ

    ผู้ฟัง แต่คิดก็มีจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ยืนยันแล้วนะ เป็นธรรม หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็น แล้วสิ่งที่คิดคือไม่จริง หรือ

    ท่านอาจารย์ คิดว่าอะไร

    ผู้ฟัง ก็คือสิ่งที่ผ่านมาแล้ว

    ท่านอาจารย์ คิดว่าอะไรที่จะกล่าวว่าไม่จริง

    ผู้ฟัง ก็อย่างไมโครโฟน ไม่ใช่แข็ง

    ท่านอาจารย์ ไมโครโฟน จำได้ทั้งๆ ที่เพียงแค่กระทบแล้วมีสิ่งที่ปรากฏทางตาก็รวมกันเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ถ้าบอกว่าไมโครโฟนเป็นเก้าอี้ผิด หรือถูก

    ผู้ฟัง ผิด

    ท่านอาจารย์ นั่นคือสมมติสัจจะ เพราะฉะนั้นพระธรรมที่ทรงแสดงไม่ได้ฝืนกระแสของโลก สมมติว่าเป็นโต๊ะ แต่ความจริงที่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือว่าแข็งเป็นแข็ง แต่รูปร่างสัณฐานอย่างนี้ทำให้ทุกคนรู้ว่าหมายถึงอะไร แต่สิ่งที่มีจริงๆ ถ้าไม่มีแข็งโต๊ะก็มีไม่ได้ เก้าอี้ก็มีไม่ได้ อะไรก็มีไม่ได้ เพราะฉะนั้นความจริงแท้ก็คือว่าไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเที่ยงอย่างที่เราคิด เป็นเพียงสิ่งที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น และดับไป แต่ก็จำไว้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด และก็เรียกชื่อสิ่งต่างๆ และก็เข้าใจกันได้ว่าหมายความถึงสิ่งใดจึงเป็นสมมติสัจจะ ฟังแล้วก็เข้าใจสิ่งที่กำลังได้ฟัง

    อ.วิชัย ขอร่วมสนทนา สิ่งที่มีจริงก็หมายถึงสิ่งนั้นต้องมีลักษณะจริงๆ ของธรรมนั้นๆ ไม่ว่าจะกล่าวชื่อ หรือไม่กล่าวชื่อ หรืออะไรก็ตาม เช่นทรงแสดงเรื่องของปรมัตถธรรมโดยใช้คำต่างๆ ซึ่งแสดงถึงลักษณะของธรรมนั้นๆ อย่างเช่นความรู้สึก เวทนา ดีใจ เสียใจ สุข ทุกข์ ก็มีลักษณะจริงๆ หมายความว่า เมื่อเราฟังแล้วสามารถที่จะเข้าใจเรื่องประการหนึ่งว่ามีลักษณะอย่างไร แต่ว่าความเข้าใจนั้นต้องอบรมเจริญจนเข้าใจถึงลักษณะจริงๆ ของสิ่งนั้น เพราะเหตุว่าเมื่อความรู้เจริญขึ้นสามารถที่จะรู้ในลักษณะนั้น ค่อยๆ เจริญขึ้นจนเห็นถึงความไม่ใช่ตัวตนของธรรมของสิ่งนั้นๆ ที่ปรากฏเพราะลักษณะของธรรมไม่ใช่ตัวตน แต่ความรู้ที่จะรู้ถึงความไม่ใช่ตัวตนของธรรมนั้นยังไม่เกิดขึ้น ต้องอาศัยเริ่มจากการฟังแม้การฟังว่า”ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาๆ “ อย่างนี้ก็เข้าใจเพียงเรื่องของธรรมว่าเป็นอนัตตาโดยที่ยังไม่เข้าใจในลักษณะจริงๆ

    ผู้ที่ฟังก็ต้องเป็นผู้ที่ตรงว่าความรู้สามารถที่จะเกิดขึ้นรู้ถึงลักษณะจริงๆ ของธรรม หรือยัง ใช่ไหม ขณะที่ฟังครั้งแรก ยัง แม้จะรู้ว่ามีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น แต่ความรู้ที่จะรู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏขณะนี้ยังไม่เกิด จนกว่าจะมีการอบรมเจริญความรู้ความเข้าใจมากขึ้น และสามารถที่จะเป็นปัจจัยให้สติระลึกได้ในลักษณะของธรรมจริงๆ ที่ปรากฏ และขณะนั้นปัญญาก็รู้ในลักษณะด้วย แต่ว่าเป็นการค่อยๆ เจริญขึ้นของสติ และปัญญาจริงๆ ฟังครั้งแรกก็ยังไม่ค่อยเข้าใจแต่เมื่อฟังบ่อยๆ ความเข้าใจค่อยๆ เพิ่มขึ้น แต่ว่าการอบรมก็รู้ว่าการอบรมเจริญปัญญาเป็นสิ่งยาวนานไม่ใช่เพียงชาติเดียว ไม่ทราบว่าอดีตชาติเราสะสมความรู้ความเข้าใจมากน้อยแค่ไหนแต่ว่าฟังธรรมในครั้งนี้ในชาตินี้ก็เข้าใจเท่านี้ ก็เป็นผู้ที่ตรงที่จะรู้ว่าเข้าใจแค่ไหน แต่ก็รู้ว่าหนทางไม่ใช่จะเป็นหนทางอื่น ต้องเป็นหนทางนี้หนทางเดียว คือต้องเป็นผู้ที่เข้าใจตั้งแต่เบื้องต้นแล้วก็อบรมเจริญความเข้าใจนี้ขึ้นเรื่อยๆ ถ้ามีความเป็นตัวเราที่ขวนขวาย นั่นก็ไม่ใช่หนทาง เพราะเหตุว่าก็ยังมีความเป็นเราที่แสวงหาอยู่ไม่ใช่เป็นปัญญาที่รู้ และเข้าใจเป็นปกติที่เป็นความเข้าใจที่ค่อยๆ เจริญขึ้น

    ผู้ฟัง จิตที่ทางตาคือจะเห็นอย่างเดียว จิตที่ทางใจก็จะคิดอย่างเดียว สิ่งนี้เป็นความเข้าใจถูก หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถูก แต่คิดมีหลายระดับ คิดเป็นคำก็มีที่ไม่ได้เป็นคำก็มี เพราะฉะนั้นทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์อื่นที่ไม่ใช่อารมณ์ของปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ ซึ่งขณะนั้นอารมณ์ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นเมื่อมีอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดปรากฏให้ทราบว่าจิตรู้สิ่งนั้นโดยทางไหน เช่น ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น ก็รู้ได้ว่าถ้าจิตไม่เกิดขึ้น สิ่งที่ปรากฏขณะนี้ก็ปรากฏไม่ได้ ไม่มีใครเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นในขณะที่กำลังมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏก็คือจิตเกิดรู้สิ่งนั้นทางตา นี่คือ ๑ ทาง ทางหูก็มีเสียง ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นได้ยิน เสียงเกิดแล้วดับแล้วก็ไม่มีการที่จะรู้ว่าเป็นเสียงอะไร แต่เมื่อเสียงปรากฏก็หมายความว่ามีจิตเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่ได้เห็น ไม่ได้อาศัยตา แต่เกิดเพราะมีโสตประสาทรูปกับเสียงที่เกิดกระทบกันยังไม่ดับเป็นปัจจัยให้ถึงกาลที่กรรมทำให้ต้องเกิดได้ยินเสียง ขณะนั้นก็จะรู้ได้ว่าต้องอาศัยหูอีกทางหนึ่ง จิตจะเห็นทางตา จะได้ยินทางหู บางกาลก็ได้กลิ่น กลิ่นก็มีจริงๆ แต่ถ้าไม่มีฆานประสาท เช่นพรหมบุคคล เกิดในพรหมโลกไม่มีฆานประสาท ไม่ต้องมีการรู้กลิ่น แต่ในกามโลก กามภูมิคือภูมิของกามได้แก่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะคือสิ่งที่กระทบสัมผัสกายปรากฏได้ว่าเย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็ง ตึง หรือไหวมีกายประสาทซึมซาบอยู่ทั่วกาย เมื่อกระทบกับรูปใดจิตก็เกิดขึ้นรู้กับรูปนั้นแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น กาย หรือกายประสาทก็เป็นทางหนึ่งที่จะทำให้จิตเกิดขึ้นรู้สิ่งอื่นที่ไม่ใช่ขณะที่กำลังเป็นภวังค์ คือรู้กลิ่นที่กำลังปรากฏ รสก็เช่นเดียวกัน ตา ๑ หู ๑ จมูก ๑ ลิ้น รสต่างๆ มีจริงเมื่อจิตกำลังลื้มรสนั้น และรสนั้นปรากฏ เพราะว่ารสก็เกิดแล้วก็ดับ แม้ในขณะนี้รสเกิดที่ไหนรสก็ดับแล้ว ใครจะรู้ หรือไม่รู้รสมีปัจจัยเกิดแล้วรสก็ดับ แต่ที่รสปรากฏได้เพราะมีธาตุคือธาตุรู้ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานคือจิต และเจตสิกซึ่งเกิดพร้อมกันกำลังมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นเป็นผลของกรรมที่จะต้องรู้รสนั้น

    เพราะฉะนั้นรสก็มีอายุ ๑๗ ขณะจิต ลิ้นชิวหาประสาทก็มีอายุ ๑๗ ขณะจิต เร็วแสนเร็วกระทบกันถึงกาลเป็นปัจจัยที่จะให้กรรมทำให้จิตลิ้มรสเกิดขึ้น จิตก็เกิดขึ้นรู้รสนั้น เพราะฉะนั้นจิตก็อาศัยตา อาศัยหู อาศัยจมูก อาศัยลิ้น อาศัยกาย ๕ ทาง ที่จะรู้อารมณ์ที่เป็นรูปธรรม แต่หลังจากนั้นแล้วก็มีการคิดนึกทางใจโดยที่ไม่ต้องอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย อาศัยใจคืออย่างไร คือภวังคจิตที่เกิดก่อนไหวเพื่อที่จะรู้อารมณ์ใหม่ ภวังค์ที่ต่อจากไหวก็เกิดเป็นภวังคุปปัจเฉทะหมายความว่าสิ้นสุดกระแสภวังค์ แสดงว่าต่อจากนั้นภวังคจิตจะเกิดไม่ได้ จิตก็เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางใจ ทั้งหมดที่พูดคือเดี๋ยวนี้กำลังเป็นอย่างนั้น คือเป็นธรรมทั้งหมด

    ผู้ฟัง สงสัยต่อว่า การที่ทางมโนทวารรู้ต่อทางปัญจทวาร หมายความว่าก็ยังมีเสียงที่เพิ่งดับ หรือว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาที่เพิ่งดับนั้นเป็นอารมณ์

    ท่านอาจารย์ เราศึกษาธรรมพิสูจน์ได้ว่าเรามีปัญญาแค่ไหน สามารถจะรู้ความจริงได้แค่ไหน แต่ผู้ที่มีปัญญาสูงสุดประจักษ์แจ้งความจริงโดยประการทั้งปวงรู้ทั้งหมดทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะฉะนั้นสำหรับเราที่เริ่มศึกษาธรรมก็จะรู้ได้ว่าแม้มีจิตก็จะต้องอาศัยทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ไม่ใช่ขณะที่หลับสนิท เพราะว่าขณะที่หลับสนิทเป็นภวังค์ไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจใดๆ ไม่ฝันไม่คิดไม่อะไรแต่เกิดดับดำรงภพชาติ แต่ก็ไม่ใช่ตลอดไปแล้วก็มีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แค่นี้ก่อน ๕ ทางเห็นมีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นจริงๆ ได้ยินก็มีเสียงปรากฏจริงๆ ได้กลิ่นก็กลิ่นจริงๆ ปรากฏ ลิ้มรสก็รสจริงๆ ปรากฏ เย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็งซึ่งปรากฏก็มีจริงๆ นอกจากนั้นแล้วเป็นคิดทั้งหมด ดีไหมอย่างนี้ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง แสดงว่าคิดอาจคิดโดยไม่ต้องอาศัย ๕ ทางนั้น

    ท่านอาจารย์ ก็ได้ หรือว่าคิดโดยสิ่งที่ปรากฏก็ได้

    ผู้ฟัง สภาพธรรมไม่ได้มีแต่เพียงรูป และจิตอย่างเดียวยังมีลักษณะของนามธรรมอีกชนิดคือเจตสิก จริงๆ แล้วถึงแม้ไม่ได้ปรากฏด้วยปัญญาแต่ก็สามารถที่จะรู้ได้ว่ามีจริงๆ

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้มีอะไรนอกจากจิตที่มีจริง

    ผู้ฟัง ก็มีลักษณะของความรู้สึกที่เกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นความรู้สึกเป็นสิ่งที่มีจริงไม่ใช่จิตเป็นความรู้สึก กำลังคิดมีเวทนา หรือความรู้สึกเกิดร่วมด้วยกับจิตที่คิด หรือไม่?

    ผู้ฟัง ก็มีความรู้สึกที่เกิดขึ้นร่วมด้วยกับที่คิด

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดโดยไม่มีความรู้สึกเกิดร่วมด้วยได้ไหม?

    ผู้ฟัง ไม่ได้ จริงๆ แล้วก็เป็นสภาพที่มีจริง และเป็นธรรมอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็มีจริงเป็นธรรม ลักษณะก็คือความรู้สึก ถ้าไม่มีความรู้สึก ก็ไม่มีสภาพธรรมนั้น แต่ใครที่จะไม่มีความรู้สึก เพราะฉะนั้นความรู้สึกนั้นเป็นสิ่งที่มีจริงแต่ไม่ใช่จิตแต่เกิดกับจิตจึงใช้คำว่า “เจ ตะ สิ กะ” หรือเจตสิก

    ผู้ฟัง ไม่รู้จะถามว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็กำลังรู้ความจริงว่าความรู้สึกมีจริงๆ ความรู้สึกเป็นธรรมมีจริงๆ ที่เริ่มเข้าใจว่าความรู้สึกเป็นธรรมแล้วก็มีจริงด้วย แล้วต้องเกิดกับจิตด้วย แล้วต้องเกิดกับจิตทุกขณะด้วย แล้วก็บังคับบัญชาไม่ได้ด้วย และก็มีลักษณะต่างกันไปด้วย

    ผู้ฟัง แต่ก็ยังมีลักษณะของเจตสิกอีกหลากหลายประเภทมากที่ไม่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะอะไร?

    ผู้ฟัง เพราะยังไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ปรากฏได้ทีละอย่าง ไม่ใช่ว่า ๕๒ ประเภทปรากฏทั้งหมด จิตเกิดขึ้นหนึ่งขณะก็จะรู้เฉพาะธรรมลักษณะหนึ่ง ถ้ามีลักษณะจริงๆ ก็รู้เฉพาะลักษณะที่เป็นอย่างนั้นไม่ใช่อย่างอื่น เคยดีใจไหม?

    ผู้ฟัง เคย

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรม หรือไม่?

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ นี่เริ่ม แม้ว่าจะไม่รู้จริงๆ แต่เข้าใจได้ว่าบังคับความรู้สึกได้ไหม?

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เกิดแล้วไม่ให้ดับได้ไหม?

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น นี่คือความหมายของธรรม เคยเสียใจไหม?

    ผู้ฟัง เคย

    ท่านอาจารย์ เกิดแล้วดับใช่ไหม?

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นจิต หรือไม่?

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เกิดตามใจชอบได้ไหม?

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ นี่ก็คือความเข้าใจธรรมซึ่งเป็นความรู้สึก ธรรมทั้งหมดเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา แล้วก็ไม่ใช่ใคร เพราะอะไร เกิดแล้วก็ดับแล้วไม่กลับมาอีก เพราะฉะนั้นจะเป็นใครได้ นอกจากเป็นธาตุซึ่งมีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับไป นี่คือการเริ่มความเข้าใจ ไม่ว่าจะรู้สึกอย่างไร วันไหน ที่ไหน เมื่อไร ก็เป็นธรรมที่เกิดเป็นอย่างนั้นไม่เป็นอย่างอื่น แล้วก็ดับไปไม่เหลือ ไม่กลับมาอีกด้วย

    ผู้ฟัง เวลาเกิดขึ้นจริงๆ ไม่ได้เข้าใจแบบนี้

    ท่านอาจารย์ สะสมจนกว่าเกิดเมื่อไรเข้าใจได้ทันทีเมื่อนั้น มิฉะนั้นก็ไม่เห็นกำลังของปัญญา ไม่เห็นประโยชน์ของการฟังแล้วเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งเริ่มที่จะเป็นอุปนิสสยโคจรเป็นอารมณ์ที่จิตรู้บ่อยๆ เนืองๆ จนกระทั่งสามารถที่จะรู้ได้ในขณะที่ความรู้สึกนั้นเกิดขึ้นก็รู้ในความเป็นธรรมไม่ใช่เรา เริ่มชิน เริ่มเข้าใจ เริ่มรู้ลักษณะของธรรมทีละเล็กทีละน้อย

    ผู้ฟัง อยากทราบว่า “สังขารนิมิต” จะมีลักษณะที่เป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ สังขารคืออะไรก่อน

    ผู้ฟัง สังขารคือการปรุงแต่ง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งหมดที่เกิดเป็นสังขารธรรม

    ผู้ฟัง แต่การปรุงแต่งที่จะเป็นนิมิตได้ยังไม่ค่อยเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจคำว่า “นิมิต” จริงๆ ถ้ามีเพียงแต่สิ่งเล็กๆ เล็กมากที่สุดเกิดขึ้นแล้วดับไปจะรู้ไหมว่าอะไร?

    ผู้ฟัง ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ จะรู้รูปร่างไหม?

    ผู้ฟัง ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้ารวมกันมากขึ้นเกิดดับ เกิดดับ เกิดดับสืบต่อก็ปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐานเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด นั่นคือเริ่มรู้คุณลักษณ์ เคยเห็นสิ่งที่เล็กๆ ไหม?

    ผู้ฟัง เคย

    ท่านอาจารย์ และสิ่งที่กลางๆ ใหญ่ขึ้นมาหน่อย

    ผู้ฟัง เห็น

    ท่านอาจารย์ และสิ่งที่ใหญ่มาก

    ผู้ฟัง ยิ่งเห็นดีขึ้น

    ท่านอาจารย์ ยิ่งเห็น ล้วนเป็นนิมิตทั้งหมด เล็กก็เป็นนิมิตเพราะปรากฏให้รู้ได้ ใหญ่ขึ้นมาอีกนิดก็เป็นนิมิตเพราะปรากฏให้รู้ได้ว่าใหญ่กว่าเมื่อกี้นี้ แล้วถ้าใหญ่จริงๆ ก็ปรากฏให้รู้ว่าได้ว่าใหญ่ นั่นคือนิมิตของสิ่งที่เกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมากแล้วแต่ว่าจะปรากฏรูปร่างสัณฐานอย่างไร สัญญาเจตสิกก็จำนิมิตที่เห็นแล้วก็รู้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เห็นไม่ได้เกิดขึ้นขณะเดียว เห็นนับขณะไม่ถ้วนแต่ว่าไม่ได้เกิดพร้อมกัน มีจิตอื่นเกิดสลับอย่างไรก็ตามแต่ความรวดเร็วก็เหมือนกับว่าเห็นขณะนี้ไม่ได้ดับไป ไม่ต้องนับ ใช่ไหม แต่ระหว่างนั้นก็มีธรรมมากมายซึ่งเกิดดับตามเหตุตามปัจจัย

    เพราะฉะนั้นความละเอียดของธรรมไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมนามธรรมก็คือว่า เกิดดับอย่างเร็วสุดที่จะประมาณได้ แต่เมื่อเกิดซ้ำ ซ้ำ ซ้ำใช่ไหม ก็ปรากฏเป็นนิมิตให้จำได้ และเวลาที่เป็นนิมิตแล้วรู้ไหมว่านิมิตนั้นเป็นอะไร ก็เป็นบัญญัติ ใช่ไหม ให้รู้ได้อีกว่าหมายความถึงอะไร สิ่งนั้นคืออะไร เพียงนิมิตบางทีก็ไม่รู้ ใช่ไหม แต่ว่าจริงๆ แล้วก็สามารถที่จะไม่รู้ชื่อแต่รู้สิ่งนั้น ลักษณะสิ่งนั้นต้องมี นี่คือความละเอียดอย่างเห็นสัตว์ชนิดหนึ่ง ไม่รู้จักชื่อแต่นิมิตของสัตว์นั้นมีแล้ว แต่ก็จำไว้แล้ว จำนิมิตนั้นเป็นบัญญัติเป็น “อรรถบัญญัติ” ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งเป็นสิ่งนั้นไม่เป็นสิ่งอื่น

    เพราะฉะนั้นความหมายของนิมิตคือสิ่งที่มีเกิดดับสืบต่อจนปรากฏ เช่น เห็นขณะนี้เกิดดับสืบต่อให้รู้ว่าเป็นเห็น หรือว่าคิดนึกก็เกิดดับสืบต่อคิดเสียยาวแต่ความจริงก่อนที่จะเป็นคิด ขณะนั้นต้องเป็นอะไรก่อนก็ไม่รู้ หมายความว่าต้องเป็นการเกิดดับสืบต่ออย่างละเอียดมาก แต่ว่าที่ปรากฏจริงๆ เพียงเล็กน้อยกับสิ่งที่อยู่ในความมืด ซึ่งไม่ปรากฏให้รู้ว่ามี เช่นจิตเห็นขณะนี้ดับแล้วมีจิตที่เกิดต่อรับรู้สิ่งที่ปรากฏที่ยังไม่ดับ แค่นี้ก็เป็นความรวดเร็วแค่ไหน คิดดูก็แล้วกันกว่าจะเป็นนิมิต

    เพราะฉะนั้นในขณะที่จิตเห็นดับ จิตที่เกิดต่อก็มีรูปที่ยังไม่ดับเป็นอารมณ์ เป็นจิต หรือไม่ เป็นจิต พอจิตนั้นดับแล้วสัมปฏิจฉันนจิตซึ่งรับรู้ต่อจากจักขุวิญญาณดับแล้ว เป็นปัจจัยให้สันตีรณจิตเกิดต่อมีรูปนั้นที่ยังไม่ดับ ดับแล้ว โวฏฐัพพนจิตก็เกิดต่อมีรูปนั้นที่ยังไม่ดับ แล้วก็เกิดชอบไม่ชอบในสิ่งที่ปรากฏอย่างเร็วมากจนรูปนั้นดับไปก็สิ้นสุดกระแสวาระนั้น นั่นคือ “วิญญาณนิมิต” ไม่รู้เลยว่ามีจิตอะไรบ้างในขณะที่กำลังเห็นเพียงแต่รู้ว่าเป็นธาตุรู้มีเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นจึงเป็น “นิมิตกต” ให้รู้ว่ามีจิตเห็นแต่ความจริงแล้วก็มีจิตอื่นซึ่งสลับด้วย

    นี่คือความหมายของ”รูปนิมิต เวทนานิมิต สัญญานิมิต สังขารขันธ์นิมิต แล้วก็วิญญาณนิมิต” ทุกอย่างเป็นอย่างนี้เพราะเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก เมื่อเป็นนิมิตก็มีการจดจำบัญญัติรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร

    อ.กุลวิไล ขออนุญาตอ่านคำถามของท่านผู้ถามให้ท่านอาจารย์ฟัง ว่า

    การบรรยายเรื่องนิมิตที่หมายถึงการเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วของปรมัตถ์ก็ขอถามท่านอาจารย์ว่าการศึกษา และพิจารณาในขณะที่ไม่หลงลืมสติ ก็พิจารณา และศึกษาในรูปนิมิต และนามนิมิตเหมือนเดิม ใช่ไหม?”

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เป็นเรื่องคิดแต่เป็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่ต้องเข้าใจชัดเจน คือทุกคนรู้ว่าขณะนี้มีสิ่งที่มีจริงๆ มีจริงหมายความว่าปรากฏให้รู้ ถ้าไม่ปรากฏเราก็คิดไปนึกไป สิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งที่กำลังมีจริงๆ เพราะว่าไม่ได้ปรากฏ แต่ถ้าเป็นผู้ที่เฉลียวใจก็จะรู้ว่าคิดต้องมีในขณะนั้น ถ้าคิดไม่มีเรื่องต่างๆ ที่กำลังคิดก็ไม่มี

    เพราะฉะนั้นสภาพธรรมคือสิ่งที่ในชีวิตประจำวันทั้งหมดแต่ว่าละเอียด ก็ต้องรู้ตามความเป็นจริงในสิ่งที่มีจริงๆ ด้วย เพราะฉะนั้นขณะนี้สิ่งที่มีจริงใครปฏิเสธว่าไม่มี เห็นยังไม่ต้องใช้คำว่า “ปรมัตถ” ยังไม่ต้องใช้คำว่า “นิมิต” ยังไม่ต้องใช้คำอะไรทั้งสิ้นกำลังเข้าใจสิ่งที่ตั้งแต่เกิดมามีแล้วไม่เคยเข้าใจ ก็ผ่านไป ผ่านไป สิ่งที่มีก็หมดไป หมดไปโดยที่ไม่รู้ว่าแต่ละสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นความจริงคืออะไร

    เพราะฉะนั้น เมื่อเริ่มที่จะฟังพระธรรมก็ต้องรู้ด้วยว่าพระธรรมแสดงโดยใคร พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นจะเทียบกับความคิดความเข้าใจ หรือปัญญาของเรา ได้ไหม แม้แต่เพียงฝุ่นละอองกับเขาสิเนรุ ซึ่งความจริงก็จะต้องเปรียบมากมายกว่านั้นอีก แสดงให้เห็นความต่างของสภาพธรรมที่สามารถจะเข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ แล้วก็ทรงแสดงความจริงโดยประการทั้งปวง โดยนัยต่างๆ เพื่อที่จะให้เกิดความเห็นถูกความเข้าใจถูกในความจริงของสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้นขณะนี้ทุกคนก็เห็น มีจริงๆ ใช่ไหม มีใครปฏิเสธว่าเห็นไม่มีจริง นี่ปัญญาเล็กๆ น้อยๆ เริ่มต้นยังไม่ต้องไปถึงไหน

    เพราะฉะนั้นทุกคนก็ต้องยอมรับว่าเห็น มีจริง แต่ความจริงของเห็นคืออย่างไร เห็นต้องเกิดขึ้น เห็นแล้วดับ เห็นอะไร เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น ถูกต้องไหม นี่คือเริ่มต้นที่จะเข้าใจแม้แต่เพียงส่วนเล็กน้อยนิดเดียวของสภาพธรรมซึ่งกำลังเกิดดับอย่างรวดเร็วสุดที่จะประมาณได้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 183
    24 ธ.ค. 2566