พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 711


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๑๑

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔


    ท่านอาจารย์ อกุศลใดๆ ที่ปรากฏในชีวิตประจำวันเหมือนเล็กน้อยที่จะดับได้อย่างรวดเร็วง่ายดายไม่ต้องมีความรู้อะไรเลย เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านที่เข้าใจเรื่องของอกุศลคิดว่าเล็กน้อย และพยายามหาวิธีที่จะดับอกุศลนั้นโดยวิธีที่ไม่ใช่ความรู้ความเข้าใจถูก ด้วยเหตุนี้จึงมีการว่า ”ทำ” ทำใจ ถ้าศึกษาแล้วทำอะไรไม่ได้เลยเพราะว่าเป็นธาตุแต่ละอย่างซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องทำเลย แต่เป็นเรื่องเข้าใจถูกเห็นถูก

    เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหมดไม่ว่าจะโดยการฟัง โดยการอ่าน โดยการสนทนาก็ต้องรู้ว่าเป็นไปเพื่อความเห็นถูกความเข้าใจถูกให้ผู้ที่ได้ร่วมสนทนา หรือผู้ที่ฟัง หรือผู้ที่อ่าน เกิดความเข้าใจของตนเอง มิฉะนั้นแล้วการสนทนาธรรม หรือการอ่านหนังสือใดๆ ก็ตามแต่ไม่มีความเข้าใจจะมีประโยชน์อะไร เสียเวลาไหม เพราะเหตุว่าสนทนากันสักเท่าไหร่ก็ไม่ได้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    ด้วยเหตุนี้พระพุทธศาสนาเป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จะใช้คำอื่นอีกก็ได้ที่จะทำให้เห็นถึงพระปัญญาคุณผู้ตื่นจากหลับ แสดงว่าอย่างไร หลับกันหมดเลยเวลานี้ ทั้งๆ ที่คนที่ไม่ได้ฟังธรรมก็คิดว่าตื่น แต่ความจริงไม่ได้ตื่นจากความไม่รู้เลย นี่คือโวหารเทศนา ใช่ไหม แม้ว่าจะเห็น ได้ยิน ทุกวัน นอนหลับแล้วก็ตื่นขึ้น คิดนึก มีเห็น ได้ยินต่างๆ แล้วก็หลับไปอีกแต่ไม่ว่าหลับ หรือตื่น ถ้าไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมเลย ยังหลับอยู่แน่นอน

    เพราะฉะนั้น นี่ก็แสดงให้เห็นว่าการฟังธรรมต้องเข้าใจโวหาร แล้วถ้าจะคิดอย่างชาวบ้านก็เหมือนกับว่ากิเลสมีน้อย ไม่ต้องมีความรู้ความเข้าใจอะไรเลย ก็สามารถที่จะดับกิเลสได้ ไม่ได้เข้าใจความหมายของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่เข้าใจคำว่าพุทธะ เพราะเหตุว่าไม่รู้ว่าขณะนี้กำลังไม่รู้ซึ่งเป็นกิเลส เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่าถ้ายังคงคิดว่าเพียงแค่เห็นไม่รู้ ทุกวันๆ นี่ไม่รู้ อวิชชาความไม่รู้ก็คงจะไม่มากเท่าไหร่ แต่ว่าถ้าย้อนถอยไปแสนโกฏิกัปป์ ความไม่รู้จากการเห็นการได้ยินตลอดชาตินั้นจะมากมายสักแค่ไหน

    เพราะฉะนั้น ก็เหมือนกับที่คิดว่าน้อยคือเพียงแค่เส้นผมความจริงก็บังไม่ให้เห็นภูเขาซึ่งใหญ่มาก อวิชชาลิ่มสลักใหญ่แค่ไหนกว่าจะยกขึ้น หรือว่าความมืด มืดแค่ไหนแสงสว่างมีหรือยัง พอจะให้เห็นว่าความมืดนั้นมืดมาก จนกว่าแสงสว่างเล็กน้อยยังไม่ได้ทำลายความมืดนั้นหมดไปได้

    อ.กุลวิไล เพราะฉะนั้น อย่าเข้าใจว่าอวิชชาแค่เส้นผมเท่านั้น ใหญ่ดั่งภูเขา เพราะว่าความไม่รู้มีมาก ถ้าไม่ได้ยินได้ฟังพระธรรมเราไม่รู้ว่าจิตนั้นที่ไม่รู้ธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และไม่ใช่เป็นไปในกุศลขั้นทาน ขั้นศีล หรือแม้แต่ความสงบของจิตที่เป็นการอบรมเมตตา ขณะนั้นเป็นไปกับอกุศล

    เพราะฉะนั้น อกุศลมีมากในชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีสัจจธรรมไหม เป็นผู้ที่มั่นคงเมื่อไหร่เป็นสัจจญาณ เมื่อครู่นี้หมดแล้ว เป็นขันธะ ว่างเปล่าจากไม่มี แล้วมี แล้วก็หามีไม่ หายไปเลย ขณะนี้เป็นความจริงอย่างนี้ มั่นคง ฟังธรรมที่กำลังมีให้เข้าใจสิ่งที่กำลังเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น เราได้ยินคำว่า “ทุกอย่างเป็นธรรม” แล้วเห็นเดี๋ยวนี้เป็นธรรมหรือยัง

    ผู้ฟัง เป็นขั้นฟังตาม และไตร่ตรองตาม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เป็นปริยัติ ปฏิปัติ ปฏิเวธ มี๓ ขั้น ขั้นฟังเข้าใจ เข้าใจจริงๆ ในขณะที่กำลังเห็น ฟังเรื่องเห็นเมื่อวานนี้ก็เหมือนอย่างนี้เลยใช่ไหม ก็มีเห็นแล้วก็พูดเรื่องเห็น วันนี้ก็เหมือนซ้ำคือพูดเรื่องเห็น ซึ่งจะพ้นไปจากเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสไม่ได้ ขณะนี้มีเห็น ฟังเพื่อเข้าใจเห็น เพราะเมื่อครู่นี้บอกว่าเห็นเป็นสัจจธรรมใช่ไหม ต้องตรงเปลี่ยนไม่ได้เลย

    ขณะนี้เห็นจริงๆ เป็นสัจจะ เป็นธรรม เพราะฉะนั้น ปัญญาที่สามารถจะเข้าใจถูกว่า สัจจธรรมก็คือเห็นขณะนี้ ได้ยินขณะนี้ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับ ไปไม่เปลี่ยนแปลงเลย ฟังแล้วฟังอีก เพื่อเข้าใจเห็นที่กำลังเห็น นั่นคือจุดประสงค์ของการฟัง ประโยชน์ของการฟังอยู่ที่สามารถเข้าใจสิ่งที่ขณะนี้เป็นอย่างนี้ แต่ไม่เคยรู้ความจริงอย่างนี้มาก่อน

    เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปหาที่ไหนเลยเดี๋ยวนี้เองทุกอย่างที่มีจริงเป็นสัจจธรรม ฟังเพื่อให้เข้าใจลักษณะที่มีจริงๆ ซึ่งเป็นสัจจะ เป็นธรรม

    ผู้ฟัง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าเห็นเป็นธรรม เกิดดับเป็นอนัตตา และ๖ ทางนี่ พวกเราฟังก็ไตร่ตรองคิดว่าจริงไหม เห็นนี่จริงไหม บังคับให้เห็นอะไรก็ไม่ได้ ก็แล้วแต่ว่ามีปัจจัยจะให้เห็นอะไร เห็นแล้วเป็นกุศล อกุศลก็ตามการสะสม ซึ่งตรงนี้ในขั้นฟัง ก็ฟังไตร่ตรองตามเช่นนั้น และก็เข้าใจได้ว่าเมื่อรู้ก็รู้เช่นนั้น ตรงนี้ซึ่งต้องเข้าใจตรงนี้ถึงจะเป็นการศึกษาที่ถูกต้องตรงตามที่จะให้รู้ธรรม

    ท่านอาจารย์ ไม่อย่างนั้นไม่ชื่อว่าศึกษาธรรม จะเข้าใจอะไร ถ้าไม่เข้าใจว่าขณะนี้เป็นธรรมที่กำลังฟังเพื่อเข้าใจ และข้อความทั้งหมดที่ทรงแสดงก็เป็นเรื่องของความจริงที่กำลังมีในขณะนี้ทั้งหมด

    มีจักขุวิญญาณภาษาบาลี มีรูปารมณ์คือสิ่งที่ปรากฏกับจักขุวิญญาณก็เดี๋ยวนี้เองเมื่อไหร่ที่เข้าใจถูกต้องเพราะฟังจนกระทั่งสามารถรู้ความจริงว่าสภาพธรรมปรากฏเพียงชั่วคราว เป็นขันธ์แต่ละหนึ่งๆ ซึ่งดับแล้วไม่กลับมาอีกเลย

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวบ่อยมากว่า การศึกษาขั้นปริยัติเป็นการฟังเรื่องราวของสิ่งที่มีจริงแล้วก็ให้เข้าใจว่ามีจริงขณะนี้กำลังปรากฏ ไม่ใช่ศึกษาเป็นชื่อเรื่อง เป็นเรื่องของสิ่งที่มีจริง แล้วก็ไปจำพยัญชนะว่าจิตเห็นคือจักขุวิญญาณ หรืออะไรก็แล้วแต่เป็นชื่อจิตต่างๆ ซึ่งตรงนั้นถ้าไม่ศึกษาให้เข้าใจว่าเป็นจริงขณะนี้ก็ไม่เป็นการศึกษาปริยัติ แต่เป็นการศึกษาเรื่อง

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่เคยได้เข้าใจธรรมเลยใช่ไหม ฟังเรื่องเห็น ฟังเรื่องจิต ฟังเรื่องเจตสิกก็ไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพนั้นๆ เลย เพราะจำชื่อ พูดเรื่อง แต่ขณะเห็น เมื่อไหร่ที่มีปัจจัยที่จะเริ่มจากการฟังเข้าใจแล้ว มาเข้าใจลักษณะของสภาพที่กำลังเป็นอย่างนี้จริงๆ นานไหมกว่าจะถึงขณะนั้นเวลานั้น แต่เป็นจริงไหม รู้ได้ไหม และถ้าไม่รู้สิ่งที่มีจริงขณะนี้จะรู้อะไร

    แม้การตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงตรัสรู้ความจริงในขณะนั้นที่กำลังปรากฏ

    อ.กุลวิไล เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็คือเข้าใจธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะว่าการอบรมปัญญาเป็นเรื่องปกติ เพราะปัญญาเป็นความเห็นถูกในสภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นโสภณเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิต เพราะฉะนั้นไม่ผิดปกติ เพราะว่ามีสิ่งที่มีจริงให้รู้ได้

    ท่านอาจารย์ อริยสัจจ์ที่ ๑ ก็ลึกซึ้งแล้วใช่ไหม หนทางที่จะรู้ความจริงนั้นจะลึกซึ้งไหมถึงจะสามารถรู้สิ่งที่ลึกซึ้งได้ และอริยสัจจ์ก็ไม่ใช่มีเพียง๑ เพราะฉะนั้นอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ลึกซึ้ง ซึ่งลึกซึ้งจะค่อยๆ เข้าใจขึ้นได้ด้วยปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาไม่มีความเข้าใจไม่มีทางเลย ใครจะพูดว่าให้ทำใจ ให้อย่างนั้นอย่างนี้ ก็เป็นเรื่องของไม่ใช่ปัญญาทั้งนั้น

    ซึ่งเมื่อไม่ใช่ปัญญาก็ไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุเคราะห์สัตว์โลกด้วยการทรงแสดงธรรมให้ผู้ฟังเกิดปัญญาความเห็นถูกความเข้าใจถูกของตัวเอง

    อ.กุลวิไล ความจริงของผู้ที่เป็นพระอริยะแม้แต่สัจจะแรก คือทุกขสัจ ซึ่งขณะนี้ก็มีธรรม แล้วธรรมเหล่านี้เป็นทุกข์อย่างไร เพราะท่านแสดงว่าที่เป็นทุกข์เพราะว่าเกิดแล้วต้องดับไป

    ผู้ฟัง กราบเรียนถามถึงเรื่องความจำกับความเข้าใจ เพราะว่าความจำคือจำเรื่องราวของธรรมที่ได้ยินได้ฟัง และความเข้าใจคือเข้าใจขั้นเรื่องราวของธรรมที่ได้ยินได้ฟัง ก็ไม่ต่างกัน

    ท่านอาจารย์ ความจำ จำทุกอย่างได้ คนที่ไม่ได้ฟังธรรมเลยเขาก็จำ เห็นอะไรก็จำไม่อย่างนั้นจะรู้ หรือว่าอะไรเป็นอะไร ได้ยินก็จำ ไม่อย่างนั้นจะเข้าใจหรือว่าพูดอะไร ได้กลิ่นก็จำ ลิ้มรสก็จำ ได้กล่าวแล้วว่าจิตเกิดต้องมีเจตสิกคือสภาพนามธรรมซึ่งเกิดกับจิตทุกครั้งแล้วแต่ว่าจิตประเภทนั้นมีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วยมากน้อยต่างกัน แต่สภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรมทั้งหลายจะเกิดขึ้นเองไม่ได้ ต้องอาศัยปัจจัย อาศัยกัน และกันเป็นปัจจัยทำให้เกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามจิตซึ่งเป็นธาตุรู้ ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ เช่นขณะนี้กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ในขณะนี้ ขณะนี้ที่กำลังเห็นก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ใครรู้ ผู้ที่ทรงตรัสรู้ทรงแสดงความจริงโดยละเอียดยิ่งโดยประการทั้งปวงจึงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นทรงตรัสรู้ว่าจิตหนึ่งขณะ มีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วย และในบรรดาเจตสิกซึ่งต้องเกิดกับจิตทุกขณะก็มีสภาพจำ ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า สัญญาเจตสิก

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าที่ไหนก็ตามขณะไหนก็ตามมีการรู้แจ้งสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นเป็นจิต และเจตสิก และจำด้วย ต้องมีสัญญาเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะทุกประเภท ขณะนี้สัญญาเจตสิกจำนิพพานหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เป็นไปไม่ได้เลยใช่ไหม ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏทางตา สัญญาเจตสิกจำสิ่งที่ปรากฏให้เห็นหรือไม่

    ผู้ฟัง จำ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นคนที่ไม่ได้ฟังธรรมเลย มีจิต มีเจตสิกไหม มี มีสัญญาเจตสิกซึ่งจำไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ก็มี แต่คนที่เริ่มฟังธรรมได้ยินคำว่าธรรม จำคำนี้ไหม

    ผู้ฟัง จำ

    ท่านอาจารย์ เข้าใจ หรือยัง

    ผู้ฟัง จำได้

    ท่านอาจารย์ จำคำนี้ไม่ลืมใช่ไหม เวลาที่ได้ยินคำว่าธรรม ก็รู้ว่าหมายความถึงคำนี้เองที่เคยได้ยินได้ฟัง แต่เวลาที่ได้ความเข้าใจจากความหมายของธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงเพิ่มขึ้น ผู้นั้นก็สามารถที่ไม่ใช่เพียงจำ แต่สามารถที่จะเข้าใจ เข้าใจคือความรู้ หรือปัญญาที่เห็นถูกว่า ขณะนี้มีจิตแน่ๆ ซึ่งเป็นธาตุรู้ มิฉะนั้นก็จะไม่มีอะไรปรากฏเลย และทุกอย่างที่มีจริงที่เกิดขึ้นต้องมีเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิด นี่คือธรรม

    เพราะฉะนั้นไม่ใช่ได้ยินคำธรรมโดยที่ไม่เข้าใจมากกว่านั้น แต่ว่าเริ่มเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้นๆ หลากหลายขึ้น เพราะเหตุว่าทุกอย่างเป็นธรรม แต่ว่าสิ่งที่ปรากฏนี่หลากหลายมาก เพราะฉะนั้นธรรมก็หลากหลายด้วย หมายความถึงสิ่งที่มีจริงทุกๆ อย่างที่กำลังปรากฏ ถ้าฟังอย่างนี้ใครพูดถึงธรรม จะรู้ไหมว่ากำลังเห็นก็เป็นธรรม กำลังคิดก็เป็นธรรม โกรธก็เป็นธรรม หิวเป็นธรรมไหม

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ แข็งเป็นธรรมไหม

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ นี่ก็คือความเข้าใจคำนี้ ไม่ใช่เพียงแต่ได้ยินชื่อแล้วจำคำ แต่สามารถที่จะรู้ว่าคำนี้ส่องไปถึงสภาพธรรมที่มีจริง อรรถของความหมายของคำนี้คืออะไร และสามารถที่จะเข้าใจเพิ่มขึ้นด้วยจากสัญญาที่จำทุกสิ่งทุกอย่างทุกขณะ

    ผู้ฟัง แต่ก็เป็นความทรงจำที่สามารถที่จะพูดตามได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่จำจะพูดได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ กำลังพูดนี่จำ หรือไม่

    ผู้ฟัง จำ แล้วต่างกันกับความเข้าใจว่าธรรมคืออะไรอย่างไร

    ท่านอาจารย์ กำลังพูดคำว่าเห็น เข้าใจเห็น หรือยัง

    ผู้ฟัง เข้าใจว่าเห็นเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ จำ

    ผู้ฟัง จำ พูดตาม

    ท่านอาจารย์ แต่ขณะนี้เห็น แล้วรู้ว่าเป็นอนัตตา หรือไม่

    ผู้ฟัง เห็นเป็นอนัตตาบังคับบัญชาไม่ได้

    ท่านอาจารย์ จำ แต่ว่าลักษณะของเห็นปรากฏโดยความเป็นอนัตตาเมื่อไร เมื่อนั้นจึงเป็นอนัตตสัญญา ไม่ใช่เพียงคำ ไม่ใช่เพียงรู้ว่าคำนั้นหมายความว่าอะไร แต่ลักษณะที่เป็นอนัตตาปรากฏให้สัญญาจำ เพราะเกิดแล้วปรากฏแล้ว ก็ต่างกับขณะที่เพียงได้ฟังคำว่าธรรม แม้แต่เห็นก็เกิดแล้วดับไปแค่นั้นเอง ไม่ใช่อนัตตสัญญา แต่ว่าเป็นการจำคำหรือความหมายเท่านั้นเอง

    มิฉะนั้นเวลานี้ทุกคนมีอนัตตสัญญามากมายเลยใช่ไหม อนัตตสัญญาไปหมด ก็ไม่ใช่

    ผู้ฟัง สงสัยว่าความเข้าใจกับความจำ ยังไม่แล้ว คือท่านอาจารย์ก็พยายามอธิบาย แต่อาจว่าปัญญามีเพียงแค่นี้ คือเข้าใจไม่ได้ว่า ความเข้าใจที่มีกับความจำเพราะว่าเมื่อวานได้ยินคำหนึ่งว่า ปัญญามีเสื่อม แต่จริงๆ ความเข้าใจเดิมก็เหมือนกับว่า ปัญญาถึงแม้จะเกิดเพียงเล็กน้อยๆ ก็ค่อยๆ เจริญ แต่ว่าความจำก็อีกลักษณะหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง ก็เลยยิ่งสับสนไปใหญ่

    ท่านอาจารย์ ขอเชิญคุณอรรณพสนทนาด้วย

    อ.อรรณพ พี่สุกัญญาคิดว่าจำกับเข้าใจเหมือนกันไหม

    ผู้ฟัง ไม่เหมือนแน่นอน

    อ.อรรณพ แล้วต่างกันอย่างไร

    ผู้ฟัง คือจำเกิดกับจิตทุกขณะ แต่ปัญญาไม่ได้เกิดกับจิตทุกขณะ จะเกิดเมื่อมีเหตุ และปัจจัยที่ทำให้เกิด และเกิดกับจิตบางขณะ ยกตัวอย่างเช่น ในขณะที่ฟังธรรมถ้าไม่ได้ตั้งใจที่จะฟังจริงๆ ก็จะไม่เกิดความเข้าใจ เหมือนกับเสียงที่ผ่านหู และได้ยินเท่านั้น และบางทีก็มีจิตคิดนึกที่คิดถึงเรื่องราวอื่นๆ อย่างนี้ก็คือไม่ได้เข้าใจธรรม สงสัยว่าความเข้าใจในธรรมกับความทรงจำในธรรมต่างกันอย่างไร

    อ.อรรณพ ขณะที่เข้าใจพี่สุกัญญาก็ตอบอยู่แล้วว่ามีการจำด้วย จำต้องเกิดอยู่แล้วกับจิตทุกดวง เพราะฉะนั้น ตอนที่ปัญญาเกิดไม่ว่าจะเป็นปัญญาขั้นใด ปัญญาต้องเกิดกับจิตแล้วก็ต้องมีความจำด้วยใช่ไหม จำพร้อมความเข้าใจ ถูกไหม ปัญญาเกิดโดยไม่มีความจำได้ไหม

    ผู้ฟัง ต้องมีความจำ

    อ.อรรณพ เพราะฉะนั้น ที่บอกว่าทรงจำ อย่างท่านพระอานนท์ทรงจำพระธรรมวินัยได้มากมาย เป็นเอตทัคคะที่เป็นพหูสูตร เพราะว่าท่านต้องมีความเข้าใจ และมีความจำพร้อมความเข้าใจนั้น และความจำพร้อมความเข้าใจในเรื่องราวธรรมที่ถูกต้อง ปัญญาเกิดความจำก็จำไปจนกระทั่งปัญญามีกำลังขึ้นความจำนั้นก็จำในสภาพธรรมที่ละเอียดขึ้นตามลำดับ ตอนนี้นิพพานไม่ปรากฏ นิพพานไม่ได้เป็นอารมณ์ของปัญญา ปัญญายังไม่แก่กล้าถึงระดับที่จะมีพระนิพพานเป็นอารมณ์

    เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีความจำที่จะจำในลักษณะของพระนิพพาน ตอนนี้สติปัฏฐานยังไม่เกิดก็ยังไม่มีปัญญา ไม่มีสติที่ระลึกตรงลักษณะสภาพธรรม ก็ยังไม่มีความจำที่จำลักษณะสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ลักษณะจำก็เกิดพร้อมกับจิตนั่นเอง ถ้าจิตนั้นเป็นอกุศลก็จำแบบอกุศล พระองค์ท่านจึงทรงแสดงด้วยคำว่าอกุศลสัญญา ความจำในอกุศล เช่นรับประทานอาหารร้านนี้อร่อย เดี๋ยวเราก็ไปแล้ว หรือเพลงนี้ชอบ เดี๋ยวเราก็ไปฟังเพลงนี้

    นี่คือความจำ จำในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ด้วยโลภะบ้าง โทสะบ้างโมหะบ้าง นี่เป็นความจำที่เกิดประกอบกับอกุศลเจตสิก คือ โลภะ โทสะ และโมหะ เพราะฉะนั้น ความจำนั้นต้องเป็นอกุศลสัญญา แต่ถ้าความจำนั้นเกิดพร้อมกับศรัทธา หิริโอตตัปปะ สติ เป็นต้น ความจำนั้นก็ต้องเป็นกุศล ไม่ปราศจากความจำ จำแบบเป็นกุศล บางคนเขาเห็นเขารู้ว่าเขาให้ทาน มีความจำที่เป็นกุศลในขั้นทาน ขั้นศีล และกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาความจำนั้นก็ประกอบพร้อมความเข้าใจตั้งแต่จำเรื่องราวด้วยปัญญา

    อย่างเราฟังพระธรรม สุตมยปัญญามีคำนี้ใช่ไหม ปัญญาที่ถึง หรือสำเร็จได้โดยการฟัง ขณะนั้นสัญญาก็จำพร้อมความเข้าใจในระดับนั้น แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นการที่จะจำในลักษณะสภาพธรรมว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา จนกว่าปัญญาจะเกิดรู้ลักษณะสภาพธรรมความจำนั้นค่อยๆ จำว่าไม่ใช่เราขณะนั้นความจำเขาค่อยๆ มีกำลังขึ้นที่จะค่อยๆ จำว่า ความจำไม่ใช่เรา จนกระทั่งปัญญาเจริญขึ้นไปอีก รู้ความไม่เที่ยง เกิดดับของสภาพธรรม ความจำนั้นก็จำพร้อมกับปัญญาที่มีกำลังขึ้น ด้วยการรู้การเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรม ท่านจึงมีคำว่าอนิจจสัญญา ฉะนั้นอนิจจสัญญาเกิดโดยไม่มีปัญญาได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    อ.อรรณพ ไม่ได้ และอีกอย่างสภาพธรรมเหล่านี้เป็นสภาพของนามธรรมเป็นเจตสิกธรรมที่เกิดขึ้นแล้วเข้ากันสนิท เป็นสัมปยุตตธรรมกัน เพราะฉะนั้น ยากที่จะแยกลักษณะของสัมปยุตตธรรมออกมาให้ชัดๆ เพราะสภาพธรรมเหล่านี้เกิดประกอบพร้อมเข้ากันสนิทแต่ก็คนละลักษณะกัน

    อ.วิชัย ถ้าจะกล่าวคำว่านัตถิปัจจัย ได้ยินใช่ไหม จำได้ว่านัตถิปัจจัยหมายถึงอะไร เข้าใจไหม ยังไม่เข้าใจเลย แต่ว่าจำได้ว่าเป็นนัตถิปัจจัย แต่ถ้ากล่าวว่าความเป็นนัตถิปัจจัย คือความเป็นปัจจัยโดยความไม่มีอยู่ หมายความว่าจิตขณะหนึ่งเกิดขึ้น ไม่มีอยู่แล้ว คือดับไปแล้วจิตอื่นจึงจะสามารถเกิดได้ ใช่ไหม เพราะเหตุว่าจิตไม่สามารถจะเกิดขึ้นพร้อมกัน แต่เมื่อจิตขณะก่อนหน้านั้นดับไปแล้ว คือไม่มีอยู่แล้ว จิตขณะต่อไปจึงจะสามารถที่จะเกิดขึ้นมาได้ อย่างนี้ก็คือจิตขณะก่อนเป็นปัจจัยแก่จิตขณะหลังโดยความเป็นนัตถิปัจจัยคือความไม่มีอยู่

    ดังนั้นถ้าฟังบ่อยๆ คำอธิบายเริ่มจากนัตถิปัจจัยคืออะไรก็ไม่รู้ แต่เมื่อเริ่มฟัง พิจารณา และก็ค่อยๆ ที่จะเข้าใจขึ้นว่าคือความไม่มีอยู่ของจิตดวงก่อนนั่นแหละเป็นปัจจัย จิตขณะต่อไปจึงจะสามารถเกิดขึ้นได้ นี่คือเป็นตัวอย่างว่าเรื่องของสภาพธรรมความเข้าใจก็ต้องค่อยๆ เจริญขึ้นทีละเล็กทีละน้อย

    ผู้ฟัง ถ้าเข้าใจในเรื่องราวของธรรม ส่วนใหญ่จะเป็นเราเข้าใจ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 183
    7 ก.พ. 2567