พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 690


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๙๐

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓


    ผู้ฟัง เมื่อฟังเข้าใจ ท่านอาจารย์ก็จะย้ำเสมอว่าไม่มีอะไรนอกจากสภาพธรรมที่ปรากฏ เกิดแล้วก็ดับแล้วก็ไม่กลับมาอีก ซึ่งแม้ขั้นฟังเข้าใจนี้ก็จะกล่าาวได้ว่าถ้าสามารถรู้ได้อย่างนั้นจริงๆ ก็คงจะเบามาก

    ท่านอาจารย์ แล้วจะรู้ได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็ต้องอบรมเจริญปัญญา

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง หนทางเดียว

    ผู้ฟัง เท่าที่ได้ฟังมาประมาณ ๕ นาที ๑๐ นาทีก็พอเข้าใจว่าจุติเกิดแล้วปฏิสนธิจิตก็เกิด ซึ่งเหมือนกับตอนนี้ที่เกิดแล้วดับ แต่ก็ยังกลัวความตายอยู่ ยังไม่หายกลัว

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้ารู้ว่าขณะนี้ก็ตาย

    ผู้ฟัง ขณะนี้ก็ตาย หรือ

    ท่านอาจารย์ ทำไมไม่กลัว เห็นต้องดับ ได้ยินจึงเกิดได้

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะมีสิ่งซึ่งเกิดสืบต่อทำให้ไม่เสียดายสิ่งที่ดับไป เพราะฉะนั้นถ้าชาตินี้หมดไปก็มีชาติหน้า อุ่นใจไหมจะต้องเกิดอีก แต่จะเป็นอะไรเท่านั้น ชาตินี้เป็นมนุษย์ซึ่งต่างกับสัตว์เดรัจฉาน สัตว์เดรัจฉานก็เห็น มนุษย์ก็เห็น เห็นสิ่งเดียวกัน

    เสียงขณะนี้ที่ปรากฏ เปลี่ยนเสียงไม่ได้ ไม่ว่าชาติไหน ภาษาไหน เด็ก เล็ก ผู้ใหญ่ สุนัข แมวก็ได้ยินเสียงนี้ เสียงเป็นอื่นไม่ได้ แต่ว่าสัตว์ไม่สามารถที่จะเข้าถึงอรรถ หรือความหมายของเสียงที่สามารถเข้าใจความหมายของคำ ปัญญาไม่สามารถที่จะเกิด และเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังได้ เพียงแค่ได้ยิน ความสามารถก็เล็กน้อยมากคือเพียงแต่ว่าจะจำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน อย่างสัตว์เลี้ยงบางตัวก็จำเสียงได้ ดูเป็นสัตว์แสนรู้ที่ฉลาดแต่จะเท่าคนไหม ก็ไม่เท่า

    เพราะฉะนั้นถ้าเกิดเป็นอย่างนั้นได้ยินเสียงพระธรรมก็ไม่รู้เรื่อง ใช่ไหม กับขณะนี้ยังไม่จากโลกนี้ไป แต่ว่าสามารถจะเข้าใจได้ว่า จะเสียดายอะไรกับเมื่อกี้นี้ที่หมดแล้ว เสียดายอะไรกับชาติก่อนที่ผ่านมาแล้ว เพราะฉะนั้นจะเสียดายอะไรกับชาตินี้ซึ่งก็จะต้องเหมือนกับชาติก่อน คือต้องเป็นอย่างนี้ ชั่วคราว เมี่อถึงเวลา ใครก็ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ มีเงินทองนับแสนหมื่นล้านก็ซื้อเวลาที่จะไม่ให้จุติจิตเกิดได้ ซื้ออะไรไม่ได้ ซื้อความดีก็ไม่ได้ ต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

    ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงตรัสรู้ถึงเหตุปัจจัย เราก็ไม่สามารถที่จะอบรมคุณงามความดี สติ ปัญญาพอที่จะเข้าใจธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ ตายแล้วเกิดแล้วกลัวไหม

    ผู้ฟัง ตอนนี้ยังไม่ทราบว่ากลัวเกิด หรือเปล่า แต่ยังไม่อยากตาย

    ท่านอาจารย์ ไม่อยากตายแต่กำลังตาย เพราะมีสิ่งอื่นเกิดทำให้ไม่รู้ว่าเมื่อกี้นี้หมดสิ้นไปแล้วเหมือนยังเป็นเราอยู่ใช่ไหม แต่เวลาจะตายจริงๆ นี่ไม่รู้ตัวเลย สบายจริงๆ คือเหมือนหลับ แต่ว่าพอตื่นขึ้นก็อีกโลกหนึ่ง แต่ยังไม่ตายก็คือหลับตื่นขึ้นก็ยังเป็นคนนี้ ชอบไหมเป็นคนนี้ ปัญหามากไหม เรื่องมากไหม เดือดร้อน หรือไม่

    ผู้ฟัง ก็มีทุกอย่าง แต่ก็ยังไม่อยากจากคนนี้ อยากเป็นคนนี้ต่อไปอีก

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีสิ่งอื่นที่ดีกว่าก็ยังไม่เอาใช่ไหม

    ผู้ฟัง ก็ยังไม่เอา

    ท่านอาจารย์ ยังขอเป็นอย่างนี้อยู่

    ผู้ฟัง ยังขอเป็นอย่างนี้อยู่

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง ก็คงจะยึด ยึดลูก

    ท่านอาจารย์ เพราะความผูกพัน ความยึดมั่นในสิ่งที่มี และเข้าใจว่าเป็นของเรามานานแสนนาน

    ผู้ฟัง ขอบพระคุณ

    ท่านอาจารย์ เอาอย่างอื่นมาแลกก็ไม่เอา เอาชาติหน้าที่แสนสบายมาแลกก็ไม่เอา ใช่ไหม

    อ.คำปั่น ซึ่งเมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วความตายก็มี ๓ อย่าง ๑ ขณิกมรณะ เป็นการเกิดดับของสภาพธรรมคือจิต เจตสิก รูป เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปสิ่งนี้เป็นขณิกมรณะ อย่างที่ ๒ ก็คือสมมติมรณะ เป็นการตายโดยสมมติอย่างเช่นผู้ที่ตายจากชาติหนึ่งไปสู่อีกชาติหนึ่งก็เป็นสมมติมรณะ หรือว่าเป็นความตายโดยสมมติเกิดแล้วตาย เกิดแล้วตาย สิ่งนี้คือสมมติมรณะ และสุดท้ายก็คือการตายอย่างเด็ดขาดเป็นสมุจเฉทมรณะเป็นการตายของพระอรหันต์เพราะว่าไม่มีการเกิดขึ้นของจิต เจตสิก รูปอีก เป็นการตายอย่างเด็ดขาดจริงๆ

    อ.วิชัย ทุกท่านยังคงมีอกุศลธรรมอยู่ เพราะเหตุว่ายังไม่สามารถที่จะละได้เป็นสมุจเฉท เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่าความทุกข์ทางกายนี่ก็เป็นบางกาลบางโอกาส แต่ว่าถ้าเป็นความทุกข์เพราะโรคคือกิเลสทั้งหลาย อกุศลธรรมทั้งหลายก็ไม่ว่างเว้นเลย สามารถที่จะมีเหตุปัจจัยเกิดได้เสมอ อย่างเช่นการประสบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจก็อาจเกิดความโกรธ หรือประสบกับสิ่งที่น่าพอใจก็อาจจะเป็นไปด้วยความยินดีพอใจติดข้องจนถึงการที่จะต้องแสวงหามา

    ดังนั้น ก็จะเห็นว่าอกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อมีเหตุปัจจัยก็สามารถเกิดได้ แต่สิ่งที่สามารถที่จะละ ไม่ใช่ว่าเป็นตัวเราที่จะละได้ แต่ได้ทรงแสดงหนทางของการละนั้นคือการที่จะอบรมเจริญปัญญา ที่สามารถที่จะละสภาพธรรมที่เป็นกุศลธรรมที่เป็นปัญญาที่เจริญขึ้นจึงสามารถที่จะละได้จนถึงความเป็นสมุจเฉท ไม่ใช่เพียงแค่บรรเทาเท่านั้น

    ดังนั้นพระธรรมวินัยนี้จึงแสดงหนทางตั้งแต่เบื้องต้นจนสามารถที่จะละอกุศลธรรมทั้งหลายเป็นสมุจเฉทได้ สำหรับอกุศลธรรมต่างๆ โดยสภาพของอกุศลธรรมนั้นๆ อย่างเช่นทรงแสดงถึงความเป็นโอฆะห้วงน้ำใหญ่ กามโอฆะคือความยินดีพอใจในรูปในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสต่างๆ ก็จะเห็นว่าเป็นเหมือนกับห้วงน้ำที่ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง ซ้าย ขวา หน้า หลัง ทั้งหมด แต่ละคนก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าวันๆ หนึ่งก็เต็มไปด้วยความยินดีพอใจ

    แค่ลืมตาก็มีความพอใจ หรือไม่ ในสิ่งต่างๆ ที่ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัส ก็เต็มไปด้วยความพอใจยินดีเหมือนกับห้วงน้ำที่เต็มทั้งหมด ไม่สามารถที่จะหลีกพ้นได้ ทรงแสดงโดยนัยต่างๆ โอฆะ โยคะ ต่างๆ นิวรณธรรมต่างๆ ก็แสดงถึงสภาพของอกุศลธรรมต่างๆ ที่เป็นลักษณะอย่างนั้นๆ เพื่อให้เข้าใจ เพื่อให้รู้ตามความเป็นจริงว่าอกุศลธรรมต่างๆ ก็มีลักษณะอุปมาเหมือนกับที่ทรงแสดง

    อ.คำปั่น อุปมาหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือความเป็นโรค ขณะนี้ทุกคนก็เป็นโรค เป็นโรคกิเลส พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ทรงแสดงไว้ว่าผู้ที่ปฏิญญาว่าตัวเองไม่เป็นโรคตลอด ๑ ปีก็มี ๒ ปีก็มี จนกระทั่ง ๑๐๐ ปีก็มี นี้คือไม่เป็นโรคทางกายแต่ผู้ที่จะปฏิญญาว่าตัวเองไม่เป็นโรคทางใจไม่มี นอกจากพระอรหันต์เท่านั้น

    พระอรหันต์เป็นผู้ที่ไม่มีโรคทางใจคือไม่มีกิเลสอีกแล้ว กราบเรียนถามท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าเมื่อสักครู่ก็มีการกล่าวถึงชีวิต เพราะว่าการเกิดในแต่ภพแต่ละชาติโดยเฉพาะการเกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นเรื่องที่ยาก แล้วทีนี้การดำเนินชีวิตของแต่ละคน แต่ละท่านนั้นก็มีความแตกต่างกันจึงมีข้อความที่ควรจะพิจารณาว่า “เป็นผู้ที่มีชีวิตที่ว่างเปล่าจากประโยชน์กับไม่ว่างเปล่าจากประโยชน์” นั้นเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ประโยชน์เป็นกุศล หรืออกุศล

    อ.คำปั่น ประโยชน์ต้องเป็นกุศลธรรม

    ท่านอาจารย์ แล้วไม่ใช่ประโยชน์

    อ.คำปั่น ก็คือเป็นอกุศลธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเวลานี้ก็ตอบได้แล้ว ใช่ไหม

    กลัวตายเป็นธรรม หรือเปล่า ตอบง่ายจริงๆ เห็นเป็นธรรมไหม ก็ตอบง่ายอีก แต่ว่าเข้าใจจริงๆ หรือไม่ว่าเป็นธรรม แล้วการที่ใครก็ตามที่อยากจะตาย คิดจะตายนั้นเพราะรักตัว หรือเปล่า เพราะว่าไม่ต้องการให้ตนเองมีสภาพอย่างนั้น ถ้าลองเปลี่ยนจากสภาพที่อยากจะตายเป็นสภาพอื่นอยากจะตายไหม ก็ไม่อยากจะตาย แต่ว่าพอถึงสภาพที่ไม่น่าพอใจเพราะความรักตัวก็ทำให้ไม่อยากจะอยู่ในสภาพนั้นต่อไป

    ใครก็ตามที่คิดอยากจะตายอย่าเพิ่งตาย ดีไหม เพราะว่ามีโอกาสที่จะทำความดี ตายแล้วใครรู้ว่าจะทำความดีได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการฟังธรรม หรือการช่วยเหลือคนอื่น หรืออะไรต่างๆ ก็ตาม

    เพราะฉะนั้นตราบใดที่ยังเป็นมนุษย์นี้ก็เป็นโอกาสที่ประเสริฐที่จะสามารถบำเพ็ญความดี หรือทำความดีได้ทุกโอกาส แล้วก็ไม่ควรประมาทแม้ความดีเพียงเล็กน้อยด้วย เพราะขณะใดก็ตามที่กุศลจิตไม่เกิดขณะนั้นเป็นอกุศล แล้วก็ไม่ใช่ขณะเดียวเพิ่มขึ้นๆ แต่ละขณะมากมายมหาศาล และก็อยากจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม หรืออยากจะมีสิ่งที่เป็นโลกธรรมฝ่ายดีโดยที่อกุศลยังเต็มอยู่ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าถ้าอกุศลกรรมได้กระทำแล้วก็เป็นปัจจัยที่จะให้ทุกอย่างที่รู้ทางตา จมูก ลิ้น กายเป็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ

    ข้อสำคัญที่สุด ได้สิ่งที่น่าพอใจแล้วก็ยังติดข้องเอามาทำไม เอามาติดแล้วก็เพิ่มความติดขึ้น ละก็ไม่ได้ ไม่มีปัญญาที่จะละ แต่ก็ยังอยากได้เพื่อที่จะเอามาเพิ่มขึ้นในความเป็นโทษ เพราะเหตุว่าที่อยากจะตายเพราะไม่ได้สิ่งที่พอใจ ถ้าได้สิ่งที่พอใจก็ไม่อยากจะตายใช่ไหม แล้วเวลาที่ได้สิ่งที่พอใจแล้วก็ยังติดข้องในสิ่งนั้นอีก ก็ไม่มีทางที่จะรู้ว่าทั้งหมดนี้เป็นทุกข์เพราะเหตุว่า เกิดแล้วก็หมดไป ไม่มีสิ่งใดที่เป็นของใครจริงๆ สักอย่างเดียว

    แม้แต่ร่างกายขณะนี้ทำไมถึงพูดถึงอสุภะ และมรณะ เพื่อที่จะให้รู้ความจริงว่าตราบใดที่ร่างกายนี้ยังไม่เน่าเปื่อย ยังไม่ขึ้นพอง ยังไม่มีกลิ่นเหม็น ยังเคลื่อนไหวได้เพราะเหตุว่ายังมีจิต แต่พอไม่มีจิตก็ไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ พูดก็ไม่ได้ รับประทานอาหารก็ไม่ได้ จะทำความดีอะไรก็ไม่ได้ทั้งนั้น แล้วก็ทุกคนก็ไม่พ้นสภาพนี้ เอาไปให้ใครเอาไหม รูปร่างกายอย่างนั้นแม้มารดาก็ไม่ต้องการ

    แต่ว่าตราบใดที่ยังไม่ถึงความเป็นอย่างนั้น ควรที่จะเห็นประโยชน์ของการเป็นมนุษย์ เพราะเหตุว่ามนุษย์สามารถที่จะทำกุศลได้ทุกประการ เกิดมาเพราะกุศลกรรมทำให้เป็นมนุษย์ แต่ก็ยังไม่พอเพราะว่าสะสมอกุศลมามาก เพราะฉะนั้นทำความดีทุกโอกาสก็ยังไม่พอต้องเข้าใจธรรมด้วย เพราะว่าหลายคนเกิดมาเป็นคนดีตามการสะสมแต่ก็เป็นคนที่ไม่สามารถที่จะรู้จักธรรมตามความเป็นจริงได้

    เพราะฉะนั้นเมื่อสิ่งนี้มีจริง ควรไหมที่จะรู้เพราะความรู้ไม่เสียหาย การฟังแต่ละครั้งทำให้มีความเห็นถูกความเข้าใจถูกในสิ่งที่มีจริงๆ พอแล้วไหม หรือว่าโลภะมาแล้ว ไม่รู้เลยว่าจริงๆ แล้วขณะที่เข้าใจเป็นอย่างหนึ่ง แต่ขณะที่เพียงอยากจะรู้สิ่งที่ขณะนั้นไม่ได้ปรากฏ คิดถึงเรื่องอื่นทันทีเพราะโลภะ

    เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ ก็จะไม่พ้นจากอกุศลซึ่งอาศัยพระธรรมที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียดอย่างยิ่งใน ๔๕ พรรษา แสดงให้เห็นว่าการที่จะรู้สภาพธรรมเดี๋ยวนี้ไม่ใช่สิ่งที่ง่าย และถ้าตราบใดยังหนาแน่นด้วยความไม่รู้ และกิเลสทุกประการจะไปรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้อย่างไร

    ด้วยเหตุนี้ถ้าศึกษาพระธรรมจะเห็นว่าทรงแสดงอย่างละเอียดยิ่ง ทั้งในเรื่องของทาน ในเรื่องของศีล ในเรื่องความสงบของจิต ในเรื่องของปัญญา เพื่อที่จะเกื้อกูลให้อกุศลที่หนาแน่นค่อยๆ ลดน้อยลง มีทางไหนที่พระธรรมจะทำให้สิ่งที่เป็นอกุศลลดลงไปได้ทรงแสดงทุกประการเพื่อที่จะให้สามารถรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏได้ ถ้าตราบใดที่ยังหนาแน่นด้วยอกุศลสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ไม่ได้ปรากฏตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่าปัญญาไม่สามารถที่จะเข้าใจความจริงของสิ่งที่ปรากฏ

    แม้แต่คำเดียวก็ไม่ควรลืม มีสิ่งที่กำลังปรากฏรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ หรือยัง แต่ถ้าฟังแม้แต่คำว่าเป็นธรรมที่มีจริงๆ เป็นธรรมที่สามารถปรากฏให้เห็นความจริงว่าธรรมนี้มี ถ้าศึกษาเรื่องรูปธรรมก็จะรู้ได้ว่าสิ่งที่ไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้เป็นธรรมที่มีจริงเกิดเป็นสิ่งนั้นแต่ละสิ่ง แต่ละสิ่ง เช่นเสียงมีจริงเกิดแล้วเป็นเสียงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ กลิ่นมีจริงเกิดแล้วเป็นกลิ่นเป็นอย่างอื่นไม่ได้ รสเปรี้ยว หวาน มัน เค็มมีจริงๆ เกิดแล้วเป็นอย่างนั้นปรากฏให้รู้ได้ เย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็ง วันนี้ที่กำลังปรากฏก็เป็นสิ่งที่มีจริงที่ปรากฏให้รู้ได้ แม้สิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นก็ไม่ต่างกับเย็นร้อน อ่อน แข็งที่ปรากฏให้รู้ได้ฉันใด สิ่งที่มีจริงอย่างหนึ่งกำลังปรากฏให้เห็นได้ให้รู้ได้ว่าสิ่งนั้นมี

    เพราะฉะนั้น รูปเหล่านี้เป็นรูปหยาบเพราะสามารถจะปรากฏให้เห็นว่ามีจริงๆ แสดงว่าสิ่งใดที่กำลังปรากฏในขณะนี้สิ่งนั้นมีจริงแล้วก็เป็นรูปแต่ละอย่างที่ปรากฏว่ามีจริง แล้วก็รูปหยาบ ๗ รูปคือสิ่งที่ปรากฏทางตา ๑ ทางหู ๑ ทางจมูก ๑ ทางลิ้น ๑ ทางกาย ๓ แข็งปรากฏ เย็นปรากฏ ไหวปรากฏนั่นก็เป็น ๓ รูปที่สามารถจะปรากฏให้รู้ได้ทางกายรวม ๗ รูป สิ่งที่ปรากฏทางตา ๑ เสียงปรากฏทางหู ๑ กลิ่นปรากฏทางจมูก ๑ รสปรากฏทางลิ้น ๑ และก็รูปที่ปรากฏทางกาย ๓ รูปเป็น ๗ หยาบไหม คือสามารถปรากฏให้เห็นว่ามีจริงใครๆ ก็ปฏิเสธไม่ได้ แล้วก็มีรูปซึ่งถ้าปราศจากรูปนี้สิ่งต่างๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กายปรากฏไม่ได้เลยเพราะว่าเป็นรูปที่มีที่กายซึ่งสามารถจะกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏแต่ละทาง เช่นจักขุประสาทไม่มีใครมองเห็นจักขุประสาทแต่ขณะใดที่เห็นก็รู้ว่ามีรูปหนึ่งซึ่งอยู่กลางตาไม่ได้อยู่ข้างหลัง ไม่ได้อยู่ที่แขน ไม่ได้อยู่ที่เท้าแต่ว่าอยู่กลางตา และก็เป็นรูปที่เมื่อเกิดแล้วก็ต้องดับด้วยมองเห็นการอุปปัตติของธรรมที่จะปรากฏให้เห็นได้ คือแม้แต่สิ่งที่กระทบจักขุประสาทก็ต้องเป็นสิ่งที่เกิดแล้วยังไม่ดับ เพราะว่ารูปเกิดดับเร็วมาก

    จักขุประสาทขณะนี้ที่เป็นรูปที่ทำให้เกิดจิตเห็นในขณะนี้ก็ต้องขณะที่เกิดแล้วยังไม่ดับ เห็นไหมการอุบัติของทั้งสองอย่างตามกรรมที่ทำให้จิตเห็นเกิดขึ้นเห็นแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้นเราสามารถที่จะเข้าใจถึงสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม และเป็นรูปธรรม เพราะเมื่อสักครู่เราพูดแต่เฉพาะธาตุที่มีจริง และก็ปรากฏให้รู้ หยาบเพราะปรากฏให้รู้ว่ามี คือให้เห็นได้ว่ามี รูปนี้มีแน่ๆ กำลังปรากฏให้เห็น เสียงก็มีแน่ๆ กำลังปรากฏให้ได้ยิน ถ้ากลิ่นปรากฏใครจะปฏิเสธว่าขณะนั้นไม่มีกลิ่นได้ไหม ก็ไม่ได้เพราะกลิ่นปรากฏ

    รวมรูปทั้งหมดที่เป็นรูปหยาบ ๑๒ รูปคือที่ปรากฏทางตา หู จมู กลิ้น กาย ๗ แล้วก็จักขุประสาท โสตประสาท ฆานประสาท ชิวหาประสาท กายประสาทอีก ๕ รูปเป็นรูปหยาบ ๑๒ รูป แต่รูปไม่ได้มีเพียงแค่ ๑๒ รูปหยาบ

    เพราะฉะนั้นการแสดงธรรมคือสิ่งที่มีจริงก็แสดงตามความเป็นจริงโดยประการทั้งปวง ขณะนี้ในชีวิตประจำวันไม่มีการที่จะไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสโดยเลือกไม่ได้ เป็นการอุปปัตติเกิดขึ้นจากการประจวบกันเพราะกรรมเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้นเราก็ค่อยๆ เข้าใจชีวิตประจำวันละเอียดขึ้นว่าเลือกไม่ได้เป็นธรรมที่เป็นอนัตตาไม่ว่าจะเป็นธรรมประเภทใดๆ ก็ตาม

    เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้จะติดข้องในสิ่งที่เพียงปรากฏแล้วก็หมดไปไหม ใครไม่ติดข้องบ้าง เป็นผู้ที่ตรง สัจจะเป็นความจริง ติดข้องก็เป็นธรรม ไม่ได้บังคับว่าอย่าติดข้อง แต่ให้รู้ตามความเป็นจริงว่าใครไม่ติดข้อง ผู้ที่มีความรู้ชัดเจนประจักษ์แจ้งอริยสัจธรรมจะเป็นผู้ที่ไม่ติดข้องตามลำดับ แต่ว่าไม่ใช่จะถึงความเป็นพระอรหันค์โดยทันที

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรมเพื่อเข้าใจความจริง และถ้าไม่มีปัญญาขั้นเข้าใจความจริงขั้นต้น ไม่มีทางที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏซึ่งเป็นการแทงตลอดธรรมที่จริงเป็นอริยสัจจะคือไม่เปลี่ยนเลยสำหรับผู้รู้ความจริงนั้น

    เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทุกคนมักจะข้ามคืออยากจะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม แต่ลืมว่ากำลังเข้าใจธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้ หรือไม่ ถ้าไม่เข้าใจธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้ ซึ่งไม่ประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมในขณะนี้แล้วจะไปประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมอะไรที่ยังไม่เกิด ยังไม่ได้ปรากฏ เพราะฉะนั้นทุกอย่างต้องเป็นความละเอียดความลึกซึ้ง และก็เป็นไปเพื่อละ และก็เป็นไปเพื่อความรู้

    อ.คำปั่น ท่านอาจารย์ก็ให้ความเข้าใจความจริง ชีวิตจะมีค่าก็ต้องเป็นชีวิตที่ดำเนินไปในทางที่ถูกต้องดีงาม เป็นกุศลธรรม ตราบใดที่ยังมีลมหายใจก็ยังมีโอกาสที่จะได้สะสมความดี ได้สะสมการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาต่อไป

    ท่านอาจารย์ แล้วถ้าตายไปเสียก่อนที่จะได้ฟัง ได้เข้าใจนี้น่าเสียดายไหม มัจจุมาร มารที่กั้นประโยชน์คือไม่ได้มีโอกาสที่จะได้ฟัง และเข้าใจเพราะตายเสียก่อน

    อ.คำปั่น เพราะว่าไม่ทราบว่าจะตายเมื่อใด ขณะที่ยังไม่ตายก็เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้สะสมการฟังพระธรรมเพื่อความเข้าใจธรรมยิ่งขึ้น จริงๆ แล้วความตายก็เป็นสิ่งที่ทุกคนหลีกไม่พ้น ไม่ว่าจะอยู่บนอากาศ จะอยู่ในซอกเขา หรือว่าจะอยู่ในห้วงน้ำลึกๆ ก็ไม่สามารถที่จะรอดพ้นจากความตายได้

    ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดแล้วไม่ตาย ที่นั้นไม่มี หรือแม้กระทั่งจะพยายามไม่ให้ตัวเองไม่ตายความพยายามนั้นก็ไม่มีเช่นเดียวกัน ก็กลับมาที่เรื่องความตายอีกนิดหนึ่ง เรียนถามอาจารย์ธีรพันธ์ จริงๆ แล้วเวลาที่ท่านอาจารย์ได้แสดงธรรมในรายการแนวทางเจริญวิปัสสนาก็จะมีการยกพระสูตรต่างๆ ชาดกต่างๆ ก็จะมีชาดกอยู่ชาดกหนึ่งคืออนนุโสจิยชาดก ซึ่งก็มีข้อความธรรมที่พระโพธิสัตว์ได้แสดงไว้ก็น่าสนใจทีเดียวว่า “เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็ควรเอ็นดู มีเมตตาต่อกัน เมื่อตายไป ก็ไม่ควรเศร้าโศกถึง”

    อาจารย์ธีรพันธ์จะอธิบายให้ความเข้าใจในเรื่องนี้แก่ผู้ฟังอย่างไร

    อ.ธีรพันธ์ ผ่านไปแล้วก็จะไปเอ็นดูเขาได้อย่างไร ตายไปแล้วเป็นบุคคลไหนก็ไม่ทราบ ระลึกถึงผู้มีพระคุณ ผู้ที่มีอุปการคุณ ระลึกถึงคราวใดจิตใจก็มีความเอ็นดูแล้วก็น้อมไปที่จะประพฤติปฏิบัติตามเห็นคุณของผู้นั้น เห็นขณะนี้ ถ้ามีเมตตาปรารถนาดีต่อกันเล็กน้อย นิดๆ หน่อยๆ ก็เป็นเหตุปัจจัยให้มีเมตตาเพิ่มขึ้นได้ เห็นประโยชน์ของการเจริญกุศล

    อ.คำปั่น เมตตาก็เปรียบเสมือนน้ำ น้ำเย็นๆ ใครดื่มก็เย็นใช่ไหม คนดีดื่มก็เย็น คนไม่ดีดื่มก็เย็น เปรียบเสมือนกับเมตตาทั่วไปหมดทั้งคนที่ดี และคนไม่ดี ไม่จำกัด

    อ.อรรณพ คำกล่าวของพระโพธิสัตว์นี้คือการแสดงถึงกรรมฐานที่ควรเจริญในชีวิตประจำวันอยู่บ่อยๆ เนืองๆ แต่ไม่สั่งให้ทำคือเป็นเรื่องของการที่เมื่ออยู่ด้วยกันก็ต้องมีการพบปะมีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์ควรที่จะเป็นโลภะติดข้องไหมในสัตว์บุคคล ควรที่จะเป็นโทสะในสัตว์บุคคลไหม ไม่ควร เพราะฉะนั้นก็ต้องฟังพระธรรมไปจนกว่าปัญญาค่อยๆ รู้ความจริงที่แสนรู้ได้ยาก


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 183
    16 ม.ค. 2567