พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 713


    ตอนที่ ๗๑๓

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔


    อ.อรรณพ ความจำพร้อมความเข้าใจในขั้นฟังมั่นคงขึ้น ก็เป็นปัจจัยให้สติระลึกรู้ตรงสภาพธรรม ปัญญาก็เข้าใจในสภาพที่สติระลึก และสัญญาในขณะนั้นก็ค่อยๆ จำในความเป็นธรรมที่ไม่ใช่เราจริงๆ แล้วปัญญาก็จะอบรมเจริญไปอีกจนกว่าสัญญานั้นจะจำในลักษณะสภาพธรรมที่ละเอียดขึ้นๆ ที่เป็นอภิธรรม และสูงสุดของอภิธรรมคืออะไร คือพระนิพพาน และปัญญาที่จะรู้พระนิพพาน ก็ต้องมีกำลังแล้วก็ละเอียด สัญญานั้นก็จำในสภาพพระนิพพาน ซึ่งเป็นสภาพที่สูญเปล่าจากตัวตนจริงๆ

    ผู้ฟัง ตลอดหลายปีที่ผ่านมาที่ผมได้มีโอกาส ได้ร่วมสนทนากับท่านอาจารย์ และท่านอาจารย์วิทยากร สิ่งที่ผมได้จากการที่ได้คุย ได้สนทนากับท่านอาจารย์ในแต่ละครั้งๆ ทำให้รู้ว่าไม่ว่าผมจะออกมาถามด้วยปัญหา ด้วยมีความรัก ความโกรธ ความชัง ดีใจ เสียใจเป็นทุกข์ ไม่ว่าชีวิตจะเป็นอย่างไร แม้แต่ที่จะออกมายืนพูดที่หน้าไมโครโฟน ท่านอาจารย์ก็ให้ความเข้าใจตลอด ไม่มีสักขณะเลยที่ว่า จะไม่ให้ความเข้าใจว่า ในขณะนั้นไม่มีนิรันดร์ ไม่มีตัวผม ตลอดหลายปีที่ผ่านมาที่ผมได้ฟังแล้วฟังเล่า ความมั่นใจในสัจจญาณก็ค่อยๆ เติบโตขึ้นๆ จนผมเริ่มที่จะมีความมั่นคงรู้ว่าสิ่งที่ท่านอาจารย์กล่าวนั่นคือความจริง และเป็นความจริงที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้ ทำให้ความมั่นคงที่เป็นสัจจญาณ เริ่มค่อยๆ มั่นคงขึ้น

    แม้จะมีความมั่นคงอย่างนี้ แต่ท่านอาจารย์ก็ได้กล่าวว่า ถ้ากิจจญาณไม่เกิด สติปัฏฐานไม่เกิดที่ใส่ใจที่จะรู้ลักษณะตรงที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจความจริง ความเป็นอนัตตาของธรรมได้

    ท่านอาจารย์ คุณนิรันดร์จำอะไร ขณะนี้

    ผู้ฟัง ขณะนี้ จำในสิ่งที่เห็น

    ท่านอาจารย์ จำในสิ่งที่เห็นว่าเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง จำว่าเป็นท่านอาจารย์ ที่เคยเห็นว่าเป็นอาจารย์

    ท่านอาจารย์ เห็นหรือไม่ จำว่าเป็นใคร เมื่อไหร่จะเริ่มจำว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ ยังไม่ได้เริ่มใช่หรือไม่ จำได้ว่าพูดคำนี้ ได้ยินคำนี้ ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้มีจริงๆ เป็นธาตุหรือเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นอย่างเดียวที่สามารถจะปรากฏให้เห็นได้ เพราะมีตา มีจักขุปสาท ลืมเรื่อยเลยใช่หรือไม่ ไปจำอย่างอื่น คือให้เห็นความจริงว่าสัญญาที่เคยสะสมมา จำผิด หรือจำถูก แต่จริงๆ แล้วก็เป็นปกติ เพราะเหตุว่าหลังจากเห็นแล้ว การเกิดดับสืบต่อของสิ่งที่ปรากฏ ปรากฏเป็นนิมิต หรือพร้อมนิมิต

    เพราะฉะนั้นเมื่อไม่มีปัญญา ที่สามารถที่จะรู้ความจริงว่า สิ่งที่กำลังปรากฏเหมือนเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นดอกไม้ เป็นสิ่งต่างๆ จะเป็นอะไรก็ตาม ความจริงคือเป็นเพียงสิ่งที่สามารถจะปรากฏให้เห็นได้ เพราะฉะนั้นทางตาก็ยังไม่ได้เริ่มที่จะจำอย่างนี้ แต่จำคน จำสัตว์ จำเรื่องราวต่างๆ เสมอมา เพราะฉะนั้นเป็นผู้ที่ตรงว่า เริ่มบ้างหรือไม่ในขณะนี้ ขณะอื่นไม่ต้องพูดถึง แต่ขณะที่กำลังฟังพระธรรม แล้วก็มีสิ่งที่กำลังปรากฏอย่างนี้เดี๋ยวนี้ เริ่มเข้าใจเห็นหรือไม่ ความเข้าใจลักษณะของสิ่งที่มีว่าเป็นสิ่งที่เพียงปรากฏให้เห็นได้ ง่ายมากแค่หลับตา ความจริงแล้วใช่ไหม สิ่งที่กำลังปรากฏไม่ปรากฏเลย เพราะฉะนั้นความต่างของสิ่งที่มีจริงๆ ที่ปรากฏให้เห็นทางตากับการจำรูปร่างสัณฐานไม่ลืมเลย เป็นคนนั้นเป็นคนนี้ เป็นสิ่งนั้นเป็นสิ่งนี้ ก็แสดงให้เห็นว่ากว่าจะเปลี่ยน หรือจะเริ่มสะสมความเข้าใจถูกว่าตามความเป็นจริงแล้วไม่มีอะไร เพราะว่าขณะที่กำลังเห็น มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น อย่างอื่นมีไหม ได้ยินก็ไม่มี คิดนึกก็ไม่มี แขนก็ไม่มี เท้าก็ไม่มี เพื่อนก็ไม่มี ใครก็ไม่มี มีแต่เห็น เพราะฉะนั้นการฟังธรรมจึงเป็นผู้ที่ละเอียดที่จะเข้าใจความละเอียด และก็เป็นผู้ที่ตรงตามความเป็นจริงว่า เมื่อสะสมความไม่รู้ และความจำ ซึ่งเป็นอัตตสัญญา คือจำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นนก เป็นของต่างๆ กว่าจะเริ่มเข้าใจความจริง ไม่ใช่ให้ไปเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ให้พยายามไปให้ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร แต่สามารถที่จะเริ่มมีความเข้าใจแทรกขึ้น จากการที่ไม่เคยรู้เลย ว่าขณะนี้เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ เพียงแค่นี้หนึ่งทาง กายก็มี จมูกก็มี ลิ้นก็มี หูก็มี ก็เป็นเรื่องที่สามารถจะรู้ความจริงของธรรมขณะนั้น เมื่ออาศัยความเข้าใจจากการฟัง เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับความเข้าใจ การอบรมเจริญปัญญานี้ไม่ลืม เรื่องของความเข้าใจไม่ใช่เป็นเรื่องของความหวัง เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจแล้ว ขณะนั้นรู้หรือไม่ ละความไม่รู้ และความหวัง ทีละเล็กทีละน้อย ยิ่งมีความรู้เพิ่มขึ้นก็ละความไม่รู้

    เพราะฉะนั้นเมื่อรู้แล้ว จะหวังหรือไม่ ในเมื่อก็ยิ่งรู้ว่า หวังก็เป็นธรรมชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่ปัญญา เพราะฉะนั้นหวังทำไม ก็ไม่ใช่ปัญญาแล้วก็จะไปหวังได้อย่างไร อยู่ดีๆ ก็หวังจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม หวังว่าจะประจักษ์การเกิดดับ แต่ไม่ได้เข้าใจสิ่งที่เพียง กำลังปรากฏให้เห็น เพียงแค่หลับตาก็ไม่ปรากฏแล้ว

    เพราะฉะนั้นอวิชชาปิดบังอย่าง มหาศาลมากมาย จนกว่าปัญญาจะค่อยๆ ได้ยินได้ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ มั่นคง จนกระทั่งไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็สามารถที่จะรู้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่กำลังปรากฏ แค่นั้นเอง ไม่มีอะไรเกินกว่านั้นเลย

    เพราะฉะนั้นธรรมก็เป็นสิ่งซึ่งเป็นจริงแต่ลึกซึ้ง ถ้าไม่มีการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะไม่ได้ยินความจริงสักคำ ก็เป็นแต่เรื่องความไม่รู้ไปโดยตลอด เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปหวังที่จะเป็นวิปัสสนาญาณ ไม่ต้องหวังที่จะประจักษ์การเกิดดับ เพราะไม่รู้ แต่เมื่อเริ่มรู้เริ่มเข้าใจขึ้น ก็ไม่ต้องหวัง ถึงหวังเกิดก็รู้ว่าขณะนั้นก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นกว่าจะรู้ทั่วตามที่ได้ฟัง ตามที่ได้กล่าวบ่อยๆ ว่าทุกอย่างเป็นธรรม ทุกอย่างจริงๆ เริ่มละเอียดขึ้นด้วย เพราะเหตุว่าถ้ารู้อย่างหนึ่ง และก็รู้อีกอย่างหนึ่ง ก็จะทำให้รู้ไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องไปเรียกชื่อ อย่างขณะนี้ โดยความรวดเร็วของการเกิดดับ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ปรากฏให้เห็นแม้ดับแล้ว ทางใจก็ยังจำ และเพราะเห็นนั่นเอง ทำให้มีการรู้ในสิ่งที่เพิ่งดับไป เหมือนเป็นสิ่งเดียวกันเลย

    เพราะฉะนั้นโดยการศึกษาทราบว่าขณะนี้ รูปที่ปรากฏทางตามีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะแล้วก็ดับ มีภวังค์คั่น ต่อจากนั้นมโนทวารวิถี คือไม่ใช่เห็น แต่สามารถที่จะจำ และรู้สิ่งที่เพิ่งดับ โดยที่ว่ารวดเร็วจนขณะนี้บอกไม่ได้เลย ขณะนี้มีมโนทวารวิถีคั่น เมื่อสิ่งที่ปรากฏทางตาดับนับไม่ถ้วน แต่ฟังแล้วเข้าใจละความหวัง ใช่หรือไม่ เพราะรู้ว่าไม่ต้องหวัง ไม่เข้าใจคือเป็นไปไม่ได้เลย แต่เมื่อมีความเข้าใจขึ้น อะไรจะทำให้ความเข้าใจที่มีแล้วหายไปได้ ถ้าเป็นความเข้าใจจริงๆ เพราะฉะนั้น ก็ขึ้นอยู่กับปัญญาอย่างเดียว ในบรรดาสังขารธรรม สังขารขันธ์ทั้งหลาย ปัญญาประเสริฐสุด เพราะว่าสามารถที่จะรู้ความจริง เมื่อไหร่ ที่ไหน ความจริงก็เป็นความจริง

    ผู้ฟัง ความเข้าใจนั้นต้องนำไปสู่การที่จะใส่ใจในลักษณะที่กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ต้องคิดอะไรเลย จะนำไปไหน มาไหน เป็นเรา หรือเป็นใคร เพราะอดคิดไม่ได้ อดเป็นเราไม่ได้ ถ้ากล่าวถึงกิเลสที่ละเอียดยิ่งที่มีกำลัง ที่เป็นอนุสัยเราจึงสามารถที่จะเข้าใจแม้แต่คำถามที่ว่า ทำไม ๗ หรืออะไรอย่างนี้ แต่ต้องเป็นการไตร่ตรอง และเป็นความเข้าใจ ไม่ใช่เพียงบอก

    อ.กุลวิไล เมื่อวานนี้มีการสนทนาพระสูตร จากสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค สมิทธิสูตร ซึ่งท่านกล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่ามาร ขอสรุปข้อความสั้นๆ ก่อนที่จะนำประเด็นมาสนทนา เพราะว่าหลายท่านก็อาจจะยังมีคำถามข้องใจเกี่ยวกับมาร ซึ่งจากพระสูตรเมื่อวานที่ได้สนทนากัน ท่านพระสมิทธิเข้าไปเฝ้าพระผู้มีภาคเจ้า และได้กราบทูลถึงเหตุที่ทรงบัญญัติว่ามาร ทรงบัญญัติว่าสัตว์ ทรงบัญญัติว่าทุกข์ และเหตุที่ทรงบัญญัติว่าโลกตามลำดับ ซึ่งมีด้วยกัน ๔ สูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสตอบว่า เพราะมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ มีรูป มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีโผฏฐัพพะ และธรรม และมีจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์เหล่านั้นพร้อมกับธรรมที่เกิดร่วมด้วยคือเจตสิก อยู่ ณ ที่ใด การบัญญัติว่ามารก็มีอยู่ ณ ที่นั้น การบัญญัติว่าสัตว์ก็มีอยู่ ณ ที่นั้น การบัญญัติว่าทุกข์ก็มีอยู่ ณ ที่นั้น และการบัญญัติว่าโลกก็มีอยู่ ณ ที่นั้น แต่ถ้าไม่มีตา ไม่มีหู ไม่มีจมูก ไม่มีลิ้น ไม่มีกาย ไม่มีใจ และธรรมที่เกิดร่วมด้วย ก็ไม่มีการบัญญัติว่ามาร สัตว์ ทุกข์ และโลกนั่นเอง

    กราบเรียนท่านอาจารย์ถึงประเด็นที่เราได้สนทนากัน แล้วก็เกี่ยวข้องกับพระสูตรเมื่อวาน เพราะว่ายังมีหลายท่าน อาจจะยังมีความไม่เข้าใจว่า สิ่งที่เรียกว่ามารเป็นอย่างไร โดยนัยของพระสูตรนี้

    ท่านอาจารย์ ขอเชิญคุณคำปั่น ให้ความหมายของมารในภาษาบาลี

    อ.คำปั่น คำว่ามารหรือภาษาบาลีก็คือ มา-ระ เมื่อแปลโดยศัพท์แล้วหมายถึง ฆ่าหรือว่าเบียดเบียน นี้คือโดยศัพท์ มาจาก มา-ระ-ธาตุ ลงในอรรถว่าตายหรือว่าแตกดับ ซึ่งเมื่อกล่าวถึงมาร ก็ต้องกล่าวถึงว่ามารมีกี่ประเภทเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้น มารมีด้วยกัน ๕ ประเภท ประเภทที่หนึ่งคือขันธมาร ซึ่งก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไป นี้คือมารประการที่ ๑ เรียกว่าขันธมาร ประการที่ ๒ คือกิเลสมาร สภาพธรรม ที่ทำให้จิตใจเศร้าหมองเป็นมาร เพราะว่าขณะที่อกุศลหรือว่ากิเลสเกิดขึ้น ขณะนั้นก็ตัดเสียซึ่งความดี ตัดเสียซึ่งกุศลธรรม นี้คือในเรื่องของกิเลสมาร มารประการที่ ๓ คืออภิสังขารมาร ซึ่งก็เป็นเจตนาที่กระทำกรรม คือกระทำบุญบ้าง กระทำบาปบ้าง ซึ่งก็ทำให้วนเวียนอยู่ในวัฏฏะ มีการเกิดแล้วก็มีการตาย มารประการที่ ๔ คือ มัจจุมาร คือความตาย เป็นผู้ฆ่าจริงๆ เพราะว่าความตายทำให้สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ในภพนี้ในชาตินี้ หมดโอกาสที่จะได้สะสมความดีประการต่างๆ ในภพนี้ชาตินี้ นี่คือมารประการที่ ๔ มัจจุมาร มาร คือความตาย และมารประการสุดท้ายที่ ๕ คือเทวบุตรมาร เป็นมารที่เป็นเทวดา แต่ว่าเป็นเทวดาที่มีความเห็นผิดคอยขัดขวางผู้อื่น ไม่ให้กุศลจิตเกิดขึ้น เป็นผู้คอยขัดขวางในการทำความดีของผู้อื่น นี้คือโดยประมวลในเรื่องของมารทั้งหมด ๕ ประเภท

    ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรม ไม่ใช่เพียงได้ยินชื่อ จำหัวข้อ จำพระสูตร แต่ว่าเพื่อที่จะเข้าใจจริงๆ แม้แต่คำว่ามาร เพราะเหตุว่าพระธรรมที่ทรงแสดงเพื่อเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ขอเชิญกล่าวถึง ขันธมาร คุณคำปั่นทบทวนอีกครั้งนึง

    อ.คำปั่น ขันธมาร คือ ขันธ์เป็นมาร เพราะว่าขันธ์ก็คือสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไป ทรงไว้ซึ่งความว่างเปล่า เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    ท่านอาจารย์ ฟังธรรมเพื่อเข้าใจธรรม ได้ยินคำว่ามาร ได้ยินคำว่า ขันธ์ ถ้าไม่มีธรรมคือไม่มีจิต ไม่มีเจตสิก ไม่มีรูป ซึ่งเป็นขันธ์ ๕ จะมีมารหรือไม่ เพราะฉะนั้นก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อน มารเป็นสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีจริง จะพ้นจากจิต เจตสิก รูป ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น สิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้นชั่วคราวแล้วก็หมดไป ถ้าไม่มีขันธ์คือไม่มีจิต เจตสิก รูป อะไรๆ ก็ไม่มี ก็ต้องไม่มีการปรากฏเลย ด้วยเหตุนี้การปรากฏของสิ่งที่มีตลอดไปไม่หยุดเลย แม้ว่าจะมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับไม่สิ้นสุด เป็นมารหรือไม่ในความหมายที่ว่า ถ้าไม่มี ดีกว่าหรือไม่

    การศึกษาธรรมต้องฟังจนกระทั่งค่อยๆ เข้าใจ กว่าจะค่อยๆ เห็นพระธรรมที่ทรงแสดงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์สูงสุดแต่ละคำ เพราะฉะนั้นเพียงได้ยินคำว่า ขันธมาร แล้วก็ไปคิดถึง ขันธ์ ได้แก่ จิต เจตสิก รูป ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทุกอย่าง แล้วก็ไปเรียกว่ามารแค่นั้น ก็ไม่ได้เข้าถึงความเข้าใจจริงๆ ว่ามารที่นี่ต้องหมายความถึง ถ้าไม่มีสภาพธรรมใดๆ เลยจะมีมารหรือไม่ ก็ไม่มี แต่เมื่อมีสภาพธรรมแล้ว สภาพธรรมนั่นเองเป็นมาร เพราะเหตุว่าเกิดแล้วดับไม่สิ้นสุด ทนทุกข์ทรมานกันแค่ไหนในสังสารวัฎ คิดถึงแต่เรื่องติดข้อง คิดถึงแต่เรื่องความเพลิดเพลิน คิดถึงแต่เรื่องสิ่งที่น่าพอใจทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ทราบหรือไม่ว่า เพียงชั่วคราวแล้วก็ไม่เหลือเลย และข้อสำคัญ คือต้องเป็นอย่างนี้ตลอดไป ถ้าไม่มีการรู้ความจริงของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นเป็นมารหรือไม่ ต้องมี ต้องเกิด ต้องเห็น ต้องได้ยินไม่สิ้นสุด

    อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์กล่าวว่า ถ้ามีสภาพธรรมที่เกิดดับไม่มีสิ้นสุด ดีไหม ถ้าเป็นผู้ที่ไม่มีปัญญา ไม่ได้อบรมปัญญาที่เห็นถูกในสภาพธรรม ก็คงไม่รู้ว่ามีธรรมที่เกิดดับอยู่ในขณะนี้ แต่สภาพธรรมที่เกิด และดับไปไม่มีสิ้นสุด ก็เพราะยังมีปัจจัย เพราะฉะนั้นขันธ์จึงเป็นมาร

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรม ลองคิดถึงผู้ที่ฟังขณะนี้ น้อมไปหรือยัง ที่จะเห็นการไม่มีสาระของขันธ์ ซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ยับยั้งไม่ได้เลย ต้องเกิด เมื่อสักครู่นี้ดับไปแล้วก็มีสภาพธรรมเกิด ที่จะไม่ให้มีสภาพธรรมเกิด เป็นไปไม่ได้เพราะว่ามีปัจจัยที่จะทำให้สภาพธรรมนั้นเกิด แล้วก็จะเป็นอย่างนี้ตลอดไป คิดดู เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ใครเลย นอกจากสภาพธรรม ซึ่งเกิด และก็ทำกิจหน้าที่นั้นๆ ตั้งแต่เกิดจนตาย แล้วเกิดอีก แล้วก็เป็นอย่างนี้อีกไม่สิ้นสุด ควรที่จะถึงการสิ้นสุดหรือไม่ ถ้าไม่มีเลย เพราะฉะนั้นแต่ละคนที่ฟังกว่าจะน้อมใจไปตามคำที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ ก็จะรู้ได้ว่า ถ้าไม่ใช่ปัญญาจริงๆ มองไม่เห็นเลยว่าการที่จะมีขันธ์ มีนามธรรม รูปธรรมเกิดดับไปเรื่อยๆ ไม่ดีอย่างไร หรือว่าเป็นมารอย่างไร ถ้าใช้คำว่ามาร ก็ต้องไม่ใช่สิ่งที่ควรที่จะให้มีไปเรื่อยๆ

    อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์ก็ถามว่า ถ้าไม่มีสภาพธรรมใดๆ เลย จะมีมารหรือไม่ ฉะนั้น การบัญญัติว่า มาร ก็เพราะว่ามีสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อในขณะนี้ แต่เราไม่รู้ธรรมตามความเป็นจริง สิ่งเหล่านี้ผู้รู้เห็นว่าเป็นมาร

    ท่านอาจารย์ ยังไม่เห็นว่าเป็นมารสำหรับผู้ไม่รู้ แม้แต่ขณะนี้ แต่ถ้าฟังแล้วก็เข้าใจธรรมขึ้น ไม่มีเสียเลยมิดีกว่าเกิดแล้วก็ดับ และก็ไม่เหลือเลย เกิดแล้วก็ดับแล้วก็ไม่เหลือเลย แล้วก็ไม่มีอะไรเลย นอกจากสภาพธรรม ซึ่งไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร เกิดขึ้นทำกิจการงานนั้นๆ แล้วก็ดับไป แล้วก็หยุดยั้งไม่ได้ที่จะให้เป็นอย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เห็นภาระ เห็นความเหน็ดเหนื่อยหรือไม่ เห็นความที่ต้องเป็นไป หรือว่าก็ดี

    อ.กุลวิไล ความไม่รู้เรามีมาก เพราะฉะนั้นทุกคนคงไม่เดือดร้อน ถ้าทุกคนได้รับกุศลวิบาก แต่เมื่อใดได้รับอกุศลวิบากเมื่อไหร่ จะรู้ว่าเป็นทุกข์

    ท่านอาจารย์ กุศลวิบากคือผลของกุศล เที่ยงหรือไม่ คงอยู่ตลอดไปหรือไม่ หรือเพียงชั่วปรากฏทางตาเล็กน้อย ปรากฏทางหูเล็กน้อย ปรากฏทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็เล็กน้อยสั้นแสนสั้น และก็ไม่เหลือเลย และก็จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ตอนนี้รู้จักมาร พบมารหรือยัง ไม่ต้องไปหาที่ไหนเลย หรือใครยังไม่เห็นมาร ทุกขณะที่เกิดดับเป็นมาร เพราะว่าไม่สิ้นสุด

    อ.กุลวิไล เชิญคุณคำปั่น สำหรับนัยที่ ๒ คำว่ามาร

    อ.คำปั่น เป็นมารประเภทที่ ๒ คือกิเลสสมาร มารคือกิเลส กิเลสหมายถึงเครื่องเศร้าหมองของจิต

    ท่านอาจารย์ ทั้งๆ ที่ขันธ์ก็ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่ก็ยังมีขันธ์ที่เลว เพิ่มขึ้นใช่หรือไม่ ที่ทำให้เศร้าหมอง และก็ไม่สามารถที่จะละคลายให้หมดไปได้เลย ถ้าไม่มีความเห็นที่ถูกต้อง ถ้าไม่มีการฟังพระธรรม แม้แต่ขณะนี้ กิเลส และอกุศลเกิดหรือไม่ มีหรือไม่ ถ้าไม่รู้จะละได้อย่างไร

    เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่จะพูดเรื่องละกิเลส ละความเศร้าหมอง ละอกุศล ถ้าไม่รู้ว่าขณะไหนเป็นกิเลส เป็นอกุศล ละไม่ได้แน่นอน ด้วยเหตุนี้ การฟังพระธรรมก็เพิ่มเห็นมาร นอกจากขันธ์ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับ ยับยั้งไม่ได้ และไม่สิ้นสุด ถ้าตราบใดที่ยังมีเหตุที่จะให้เกิด ในบรรดาขันธ์ทั้งหลายก็ยังมีขันธ์ประเภทที่เลว ที่เศร้าหมอง มีใครเป็นทุกข์บ้างหรือไม่วันนี้ หรือว่าพ้นทุกข์กันหมดแล้ว แต่ไม่รู้ว่าเป็นทุกข์ใช่หรือไม่ ไม่รู้ตั้งแต่ความรู้สึกซึ่งไม่แช่มชื่นก็เป็นทุกข์ เพราะเหตุว่าขณะใดก็ตามที่ความรู้สึกอย่างนั้นเกิดจะเป็นสุขไม่ได้ เดือดร้อนรำคาญใจ แล้วแต่ว่ากิเลสนั้นจะมากมายสักแค่ไหน เวลาที่มีความเป็นสุข สุขเวทนาเกิดเพลิดเพลินยินดี ติดข้องเห็นทุกข์หรือไม่ ไม่เห็นใช่ไหม เพราะเหตุว่าขณะนั้นกำลังเป็นความรู้สึกที่สบาย แต่ว่ามีความปรารถนาในสิ่งนั้นแล้ว ลองดู และเมื่อปรารถนาแล้ว แสวงหาขวนขวายหรือไม่ที่จะได้ ถ้าได้ตามกำลังในทางสุจริตก็ไม่เดือดร้อนมาก แต่ว่าถ้าไม่สามารถที่จะได้ในทางสุจริตก็ทำทุจริตกรรม ความเลวก็ยิ่งเพิ่มขึ้น กิเลสก็ยิ่งเพิ่มขึ้น แม้แต่เพียงความรู้สึกเล็กน้อยที่ติดข้องดูเหมือนไม่น่ารังเกียจ แล้วก็เล็กน้อยมาก แต่มากขึ้นหรือไม่ ตราบใดที่ไม่รู้ ไม่มีทางที่จะลดน้อยลงไปได้เลย เพราะฉะนั้นเมื่อมีมากอย่างนั้น มีหรือที่วันหนึ่งจะไม่กระทำทุจริตกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่เลว เพราะฉะนั้นในบรรดาขันธ์ทั้งหลาย ก็ยังมีกิเลสมาร ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เลวด้วย

    อ.กุลวิไล การอบรมปัญญา ก็เพื่อรู้ธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งสภาพธรรมที่เป็นกิเลสก็มีจริง ฉะนั้นถ้าเราไม่รู้จักลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แล้วก็ยังยึดถือว่าเป็นเรา ก็ย่อมเป็นผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั่นเอง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นคนอื่นช่วยไม่ได้เลย นอกจากพระธรรมที่ทรงพระมหากรุณาแสดงให้ผู้ฟังเกิดปัญญาของตนเอง ต้องเป็นปัญญาของตัวเอง

    อ.กุลวิไล เชิญคุณคำปั่น กล่าว มาร นัยที่๓

    อ.คำปั่น มารประการที่ ๓ ก็คืออภิสังขารมาร มารคืออภิสังขาร อภิสังขารหมายถึงสภาพธรรมที่ปรุงแต่งอย่างยิ่ง ซึ่งก็ได้แก่เจตนา เป็นกุศลกรรมบ้าง เป็นอกุศลกรรมบ้าง ซึ่งก็เป็นเหตุให้มีการเกิดในภพภูมิต่างๆ วนเวียนอยู่ในวัฏฏะ ยังไม่สิ้นสุดในการเดินทางในสังสารวัฎ

    ท่านอาจารย์ ธรรมที่เป็นเหตุที่จะต้องเกิดอีก ก็คือเจตนาเจตสิก


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 183
    9 ก.พ. 2567