พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 704


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๐๔

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔


    อ.กุลวิไล เชิญคุณธิดารัตน์ช่วยตอบคำถามเพื่อให้ความเข้าใจกับท่านผู้เขียนมาถามว่า “สติกับปัญญาไม่เกิดพร้อมกันได้ หรือไม่ ถ้าได้เพราะเหตุใด ถ้าไม่ได้เพราะเหตุใด”

    อ.ธิดารัตน์ พูดถึงสติ สติเป็นสภาพธรรมที่ดีงาม จะต้องเกิดกับจิตที่ดีงามด้วย ยกตัวอย่างกุศลมีหลากหลายประเภทมีกุศลทั้งประกอบด้วยปัญญาก็มี กุศลที่ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญาก็มี เพราะฉะนั้น เวลาที่เป็นกุศลที่ไม่มีกำลังมาก ช่น กุศลที่เป็นไปในทานในศีลเฉยๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญาได้ แต่เวลาที่ถึงแม้มีศรัทธาที่จะฟังธรรม แต่ขณะที่ไม่ได้เข้าใจธรรม ขณะที่มีศรัทธาตั้งใจฟังก็เป็นกุศลแล้วเพราะมีศรัทธา

    แต่ในขณะที่มีความเข้าใจด้วยขณะนั้นก็ประกอบด้วยปัญญา แม้กุศลจิตที่เรามีกุศลเจตนาที่จะฟังธรรมมีความเข้าใจทุกครั้งไหม บางครั้งก็ฟังไม่เข้าใจแต่มีศรัทธาที่จะฟัง เพราะฉะนั้น ศรัทธาที่จะฟังแต่ยังไม่เข้าใจ ในขณะที่เข้าใจมีทั้งศรัทธา มีทั้งสติ มีทั้งปัญญา และอย่างที่กล่าวถึง ถึงแม้กุศลประกอบด้วยปัญญาก็มีหลากหลาย มีตั้งแต่ขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นฟังธรรม และก็ขั้นที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งก็มีกำลังต่างๆ กันจนกระทั่งถึงระดับวิปัสสนาญาณถึงโพชฌงค์

    เพราะฉะนั้น มหากุศลก็มีทั้งจำแนกเป็น ๘ ประเภท ญาณสัมปยุตต์คือประกอบด้วยปัญญา ๔ ดวงจนกระทั่งถึงญาณวิปปยุตต์คือไม่ประกอบด้วยปัญญา และถึงแม้จะไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา มีสติแล้วเพราะสติเป็นธรรมที่เป็นโสภณสาธารณะแก่จิตฝ่ายดี ไม่ใช่แค่เพียงจิตชาติกุศลอย่างเดียว ชาติที่เป็นวิบากที่เป็นผลของกุศลก็คือมหาวิบากก็มีสติเกิดร่วมด้วย มหาวิบาก หรือว่าชาติวิบาก ก็มีทั้งวิบากที่ประกอบด้วยปัญญา และวิบากที่ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เราศึกษา และเรียนกันโดยรายละเอียด แต่จริงๆ ก็ไม่ได้อยู่ในหนังสือเพราะว่าเป็นสภาพธรรมที่ทำกิจขณะนี้ ขณะนี้จะมีกุศลจิตเกิดประกอบด้วยปัญญา หรือไม่ หรือว่าเป็นกุศลอย่างเพียงเล็กน้อยแต่ละท่านจะรู้ได้ด้วยตนเอง และแม้มีความเข้าใจธรรมแล้วก็ตามก็ไม่ใช่หมายความว่าจะต้องมีกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาทุกครั้งเป็นไปตลอด ก็สามารถจะมีกุศลที่มีกำลังอ่อนเล็กน้อยเป็นไปในการช่วยเหลือ เป็นไปในศีลในอะไรมีได้ในชีวิตประจำวันซึ่งมีอยู่อย่างสม่ำเสมอ แต่ในขณะที่มีความเข้าใจประกอบร่วมด้วยกุศลนั้นก็ประกอบด้วยปัญญา

    อ.กุลวิไล มีคำถามที่ถามว่า “มีสติจำเป็นต้องมีปัญญาไหม และก็มีปัญญาจำเป็นต้องมีสติไหม” เชิญคุณธีรพันธ์

    อ.ธีรพันธ์ มีสติมีปัญญาด้วย จำเป็นไหม ไม่ใช่เป็นเรื่องของเราที่จะจำป็น หรือไม่จำเป็น แต่เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย สติเกิดขึ้นต้องเป็นไปในกุศล กุศลก็มีหลายขั้น ขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นการอบรมเจริญภาวนา การอบรมเจริญปัญญานั่นเอง

    สติเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่ดีงามเพราะว่าสติเกิดกับจิตที่เป็นกุศล ที่เป็นชาติวิบาก ชาติกิริยา เพราะฉะนั้นการที่จะมีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็ต่อเมื่อผู้นั้นมีการฟังธรรม มีการอบรมเจริญปัญญา มีความเข้าใจในสภาพธรรม เมื่อฟังบ่อยๆ มีการพิจารณาโดยถูกต้อง ปัญญาก็ค่อยๆ เกิดขึ้นได้โดยที่ไม่ต้องหวังว่าจะให้มีปัญญาเกิดร่วมด้วย หรือไม่ เพราะว่าโอกาสที่สติจะเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันในแต่ละขณะๆ ก็เป็นไปได้ยาก ใช่ไหม

    เพราะว่ากุศลในชีวิตประจำวันไม่เกิดบ่อยเหมือนกับอกุศล เพราะว่าอกุศลเกิดบ่อยมาก แต่ว่าสภาพธรรมเมื่อเป็นอกุศลเกิดขึ้นเป็นสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่เรา ไม่มีใครที่จะไปบังคับบัญชาให้สติเกิดขึ้น และต้องมีปัญญาเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบัญชาได้ แต่ว่าเมื่อมีการอบรมเจริญธรรมเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยปัญญาก็สามารถเกิดขึ้นได้ ขณะที่ปัญญาเกิดขึ้นสติเกิดแน่นอนไม่ต้องกังวล ปัญญาสามารถรู้ตามความเป็นจริงได้ กุศลขั้นทาน ขั้นศีล ไม่สามารถที่จะรู้ความเป็นจริงได้ว่าเป็นเพียงสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน แต่ปัญญาที่เกิดขึ้นจากการฟังค่อยๆ พิจารณา ค่อยๆ เข้าใจก็สามารถที่จะเห็นความเป็นธรรมซึ่งไม่ใช่เรา สติก็เป็นธรรม ปัญญาก็เป็นธรรม

    อ.กุลวิไล ทั้งสติ และปัญญาก็เป็นธรรม และมีจริงในขณะนี้ด้วย

    กราบเรียนท่านอาจารย์ มีผู้ที่เขียนมาว่า “ทำไมการไม่เข้าใจธรรมจึงเป็นอกุศล”

    ท่านอาจารย์ ก็ชัดเจนอยู่แล้ว “ไม่” ไม่เข้าใจแล้วจะเป็นกุศลได้อย่างไร

    อ.กุลวิไล การที่เราจะเข้าใจธรรมที่เป็นสติ และปัญญา จากการศึกษา เพราะทั้งหมดนี้เป็นธรรม และก็มีอยู่ในขณะนี้เอง

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เป็นเรื่องเราไปเรียนถึงชื่อว่าเราจะเข้าใจอะไร แม้แต่คำว่า”ธรรม”ก็เข้าใจว่าหมายความถึงสิ่งที่มีจริงๆ เดี๋ยวนี้กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นทุกคนก็เป็นผู้ที่ตรงว่ามีความเข้าใจธรรมขั้นไหน มากน้อยแค่ไหนด้วยตัวเอง

    ผู้ฟัง ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงว่า “เธอพึงละอกุศลวิตกที่เป็นไปในกาม ในการเบียดเบียน และเธอพึงเจริญกุศลวิตกที่เป็นไปในทาน ในศีล ในเมตตา ในความไม่เบียดเบียน”

    ทำไมพระพุทธเจ้าถึงได้ทรงแสดงไว้อย่างนี้ ทั้งๆ ที่เราก็ไม่สามารถที่จะไม่ให้อกุศลวิตกเกิดได้ และเราก็ไม่สามารถเป็นเราที่จะทำให้กุศลวิตกเกิดได้

    ท่านอาจารย์ ลองคิดในมุมกลับ ถ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า “เธอจงเจริญอกุศลวิตก” จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม

    ผู้ฟัง ไม่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็เห็นแล้วว่าผู้ที่เข้าใจถูกว่าธรรมใดเป็นธรรมฝ่ายดี ธรรมใดเป็นธรรมฝ่ายตรงกันข้ามคือไม่ดี ควรเจริญอย่างไหน แต่บังบัญชาไม่ได้ แต่ให้มีความเข้าใจถูก

    ผู้ฟัง หมายถึงว่าพระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเข้าใจว่ากุศลวิตกเป็นสิ่งที่ควรเจริญเป็นสิ่งที่จะนำประโยชน์มาให้

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ก็ให้คนอื่นได้ทราบด้วย ได้รู้ด้วย ให้เข้าใจถูกด้วย เพราะว่าบางคนชอบอกุศล จริง หรือไม่ ชอบโลภะ สนุกดีเท่าไรก็ไม่พอ แค่นี้น้อยไป แล้วพระผู้มีพระภาคตรัสว่าอย่างไร เพราะว่ารู้ตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้นก็ต้องเข้าใจว่าทรงแสดงสภาพธรรมตามความเป็นจริงให้ผู้ฟังมีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูก ไม่ใช่ด้วยความเป็นตัวตน แม้แต่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นเหตุให้เกิดอกุศล ถ้าไม่ละก็ไม่สามารถที่จะละอกุศลได้ ทรงแสดงเหตุ และผล ไม่ใช่ตรัสว่า ให้ละๆ ๆ โดยที่ไม่ได้แสดงเหตุว่าที่มีเพราะอะไร และที่ละเพราะอะไรละ

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์หมายถึงต้องเป็นปัญญาเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงจึงจะละอกุศลวิตกได้

    ท่านอาจารย์ พระธรรมทั้งหมดเป็นเรื่องของความเห็นถูกซึ่งเป็นปัญญาทุกคำ

    ผู้ฟัง จึงไม่มีตัวเราที่จะไปทำให้

    ท่านอาจารย์ ไม่มีตัวเรานั่นก็คือความเห็นถูก

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นจะต้องมีความเห็นถูกก่อนที่อกุศลวิตกจะหมดไปได้

    ท่านอาจารย์ เพราะมีมีความเห็นผิดมากมายซึ่งเป็นเหตุให้เกิดอกุศลมากมาย เพราะฉะนั้น ที่จะละอกุศลทั้งหลายได้ก็ต้องละความเห็นผิด และความไม่รู้ด้วย

    ผู้ฟัง อย่างในชีวิตประจำวัน เวลาที่ผมเห็นคนอื่นมีความคิดที่ไม่มีเหตุผลไม่ถูกต้องเป็นโทสะ เป็นความเบียดเบียนมีกายวาจาที่ประทุษร้าย ผมก็จะไม่เข้าใจว่าทำไมเขาจึงต้องทำอย่างนั้น ทำไมเขาถึงต้องคิดอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ แล้วทำไมคุณนิรันดร์คิดอย่างนั้น

    ผู้ฟัง นั่นแสดงให้เห็นว่าผมไม่เข้าใจว่าความคิด หรือวิตกเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    ท่านอาจารย์ ก็มัวแต่ไปคิดคนอื่นว่าทำไมเขาคิดอย่างนั้น ทั้งๆ ที่ตัวเองกำลังคิดอย่างนั้นก็ไม่รู้

    ผู้ฟัง ขณะนั้นก็ไม่เข้าใจว่าคิดอย่างนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดเป็นธรรมที่กว่าจะรู้ว่าเป็นธรรมจริงๆ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ใครทั้งสิ้น

    ผู้ฟัง ไม่ใช่แต่เฉพาะคนอื่น แม้แต่ตัวผมเองในวันๆ หนึ่งนี้ ผมไม่สามารถที่จะห้ามความคิดที่จะไปเบียดเบียนคนอื่น ความคิดที่จะเคียดแค้น หรือว่าพยาบาทต่างๆ

    ท่านอาจารย์ เมื่อไม่สามารถ ทำไมไม่เข้าใจให้ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ว่าเป็นธรรมที่มีจริงที่เกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดเพราะเหตุปัจจัยในขณะนั้นเป็นอย่างนั้นเพราะปัจจัยให้เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น

    ผู้ฟัง โดยความเป็นจริงแล้วผมไม่อยากที่จะให้มีความคิดอย่างนั้นเกิดขึ้น ไม่อยากเบียดเบียนใคร เกิดขึ้นเองเพราะเหตุปัจจัย

    ท่านอาจารย์ ไม่มีใครอยาก เหมือนคุณนิรันดร์

    ผู้ฟัง แต่เป็นเพราะสภาพการสะสมของจิต มีเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นที่จะเป็นอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ เหมือนกันหมด ถ้าไม่มีปัจจัยก็เกิดไม่ได้ เป็นอย่างนั้นไม่ได้

    ผู้ฟัง หนทางเดียวที่ท่านอาจารย์บอกคือให้เข้าใจตามความเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ ว่าเป็นธรรมซึ่งเกิดแล้วด้วย ตามเหตุตามปัจจัย แล้วก็ดับแล้วด้วย

    ผู้ฟัง จึงจะเป็นต้นเหตุให้ละอกุศลวิตกที่เกิดขึ้นอีกเลย ใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ เพราะรู้ความจริงมากขึ้นจนกระทั่งเป็นธรรมทั้งหมด

    อ.คำปั่น กราบขออนุญาตแสดงความเห็นในประเด็นที่คุณนิรันดร์ได้ยกขึ้นมาเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาจริงๆ ซึ่งท่านอาจารย์ก็ได้กล่าวไปเมื่อสักครู่ว่าสภาพธรรมเป็นจริงอย่างไร พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงแสดงไปตามความเป็นจริงอย่างนั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงนั้นเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ไม่ใช่เรื่องลึกลับเป็นสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน แต่เพราะไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้ศึกษาพระธรรม ก็ไม่รู้สภาพธรรมตามความป็นจริง

    เพราะฉะนั้น จึงเห็นประโยชน์ของการมีโอกาสได้ฟังพระธรรมจริงๆ ว่า เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญาคือความเข้าใจถูกเห็นถูก เพราะว่าสิ่งที่มีจริงทั้งหมดนั้นมีในชีวิตประจำวันแม้แต่ในเรื่องของอกุศลธรรมก็เป็นสิ่งที่มีจริง พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงแสดงไปตามความเป็นจริงว่าอกุศลธรรมนั้นเป็นธรรมฝ่ายดำ เป็นโทษโดยส่วนเดียว ให้ผลเป็นทุกข์ ไม่ควรที่จะสะสมให้มีมากขึ้น

    สิ่งนี้คือแสดงไปตามความจริงของพระธรรม หรือแม้กระทั่งธรรมฝ่ายดีคือกุศลธรรมประการต่างๆ นั้นเป็นสิ่งที่ควรอบรมควรเจริญให้มีขึ้นในชีวิตประจำวัน เพราะว่ากุศลนำมาซึ่งความสุขนำมาซึ่งคุณประโยชน์โดยส่วนเดียว เพราะฉะนั้น พระองค์ทรงตรัสรู้ตามความเป็นจริงอย่างไร พระองค์ก็ทรงแสดงไปตามความเป็นจริงอย่างนั้น แต่ผู้ที่จะมีอัธยาศัยเป็นไปในทางใดนั้น ก็เป็นไปตามการสะสมของบุคคลนั้น ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่สามารถที่จะบังคับใครให้เป็นกุศลได้ ก็ต้องเป็นเรื่องของความเข้าใจของผู้นั้นว่าจะน้อมไป เป็นไป ในทางกุศลเพิ่มมากขึ้น หรือไม่ นี้คือเป็นประโยชน์ของการฟังพระธรรมจริงๆ ผู้ที่ไม่ได้ฟังพระธรรมย่อมเสื่อมจากประโยชน์ทั้งหลาย เสื่อมจากกุศลประการต่างๆ ในชีวิตประจำวันโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือเสื่อมจากปัญญาที่จะทำให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้นการได้มีโอกาสศึกษาพระธรรมนั้นเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญาจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือได้เข้าใจสิ่งที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ เมื่อมีความรู้ความเข้าใจสภาพธรรมมากยิ่งขึ้นก็จะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้กุศลธรรมประการต่างๆ เจริญขึ้นตามลำดับขั้นของปัญญาด้วย

    อ.กุลวิไล เพราะฉะนั้นปัญญาจึงเป็นความเห็นถูกในสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง

    กราบท่านอาจารย์มีผู้เขียนมาถามว่า “วินัยของพระภิกษุสงฆ์สามารถยืดหยุ่นตามสมัยได้ หรือไม่ เพราะเหตุใด”

    ท่านอาจารย์ ต้องรู้ว่าวินัยคืออะไร เพื่ออะไร แล้วจะเปลี่ยนไปทำไม

    อ.กุลวิไล ขอเชิญคุณคำปั่นให้ความเข้าใจว่า “วินัยคืออะไร”

    อ.คำปั่น วินัยเป็นเรื่องของการขัดเกลา หรือว่าการกำจัดกิเลสซึ่งจะเห็นได้ว่าผู้ที่มีอัธยาศัยน้อมไปในการที่จะสละอาคารบ้านเรือนสู่เพศบรรพชิต ซึ่งเป็นเพศที่สูงกว่าคฤหัสถ์ก็จะต้องมีความจริงใจในการที่จะศึกษาพระธรรมในการฟังพระธรรมเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองให้ยิ่งขึ้น

    พระผู้มีพระภาคเจ้ามีการทรงบัญญัติพระวินัยข้อต่างๆ โดยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นก่อนพระองค์ถึงจะบัญญัติ เพื่อเป็นเครื่องให้พระภิกษุ หรือเพศบรรพชิตนั้นได้มีการสำรวม ได้มีการระมัดระวังตามสิกขาบทที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้ ซึ่งก็จะเป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลส เป็นไปเพื่อความประพฤติที่ดีงามทางกาย ทางวาจา ซึ่งก็รวมถึงจิตใจที่ดีงามด้วย เพราะเหตุว่าพระวินัยทุกข้อ ทุกสิกขาบทเป็นไปเพื่อความประพฤติที่ดีงามทั้งนั้นเลย

    ถ้าหากมีการสำรวมระมัดระวังตามสิกขาบทที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้ก็จะไม่เกิดโทษเลย ในทางตรงกันข้ามถ้าหากว่ามีการล่วงละเมิด มีการทำผิดพระวินัยที่พระองค์ทรงบัญญัติ ไม่ว่าจะเป็นยุคใดสมัยใดไม่มีการเปลี่ยนแปลง เมื่อทำผิดสิกขาบทก็คือมีโทษ โทษทั้งหมดเลย โทษทางพระวินัยเรียกว่าอาบัติ อาบัตินี้มีหลายประเภทหลายระดับ ตั้งแต่สูดสุดขาดจากความเป็นพระภิกษุแก้ไขไม่ได้เลย เป็นอันตรายมาก

    นอกจากนั้นก็ยังมีสิกขาบทข้ออื่นๆ ซึ่งเมื่อต้องเข้าแล้วสามารถแก้ไขได้โดยการกระทำคืน มีการแสดงต่อหน้าพระภิกษุด้วยกัน เป็นต้น สิ่งนี้เป็นการกระทำคืนตามพระวินัยเพื่อจะได้มีการสำรวมระมัดระวังให้ดีในการที่จะไม่ล่วงละเมิดสิกขาบทนั้นๆ อีก

    อ.กุลวิไล เชิญคุณอรรณพเพิ่มเติมสำหรับประเด็นนี้

    อ.อรรณพ เมื่อพระผู้พระภาคเจ้าได้ดับขันธปริพานไปแล้ว แม้พระเถระผู้ทรงคุณในสมัยนั้นก็ยังประชุมกันว่า “จะไม่เพิ่ม จะไม่ถอน จะไม่เปลี่ยนแปลงพระวินัยใดๆ " แล้วยุคนี้สมัยนี้เราเป็นใคร เข้าใจวิ-น-ย แค่ไหน แล้วการที่พระองค์ท่านจะทรงบัญญติสิกขาบทแต่ละข้อ เพราะพระองค์ทรงประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง จึงทรงรู้ว่าอย่างไรควร อย่างไรไม่ควร สำหรับเพศบรรพชิตผู้ออกจากเรือน บวชประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเจ้า

    เพราะฉะนั้น เป็นพระปัญญาคุณของพระองค์ที่พระองค์ท่านทรงรู้ว่าจะบัญญัติสิกขาบทใดเพื่อเป็นการขัดเกลาที่สมควรกับเพศบรรพชิต เพราะฉะนั้น พระเถระในยุคนั้นไม่ใช่ท่านปัญญาน้อย ปัญญามาก ท่านยังไม่เปลี่ยนแปลงพระวินัยเพราะท่านเข้าใจว่าพระวินัยคืออะไร แล้วพระวินัยใครเป็นผู้บัญญัติ ภิกษุอื่นไม่สามารถที่จะบัญญัติพระวินัยได้นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    เพราะฉะนั้นแทนที่จะคิดที่จะไปเปลี่ยน ปรับพระวินัยให้เข้ากับยุคสมัย ควรที่พุทธบริษัทจะได้ศึกษาให้เข้าใจพระวินัยว่าลึกซี้งโดยกิจแต่ละข้ออย่างไร ท่านที่มีฉันทะที่ศึกษาพระวินัย ท่านก็เป็นผู้เห็นความละเอียดขึ้น

    ผู้ฟัง จากการศึกษาสมถภาวนานี้จะต้องมีปัญญาด้วย เพราะฉะนั้นปัญญาของสมถภาวนานี้เป็นสิ่งเดียวกับปัญญาของวิปัสสนาภาวนา หรือไม่

    ท่านอาจารย์ วิปัสสนารู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่สมถภาวนาอบรมความสงบให้เกิดขึ้น ต่างกันไหม

    ผู้ฟัง ต่างกันครับ ทีนี้ผู้ที่เจริญสมถภาวนา ผู้นั้นกล่าวว่าเขามีปัญญาที่จะรู้ว่าขณะนี้จิตเป็นกุศล หรืออกุศล

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่รู้จะละอกุศลได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้ ทีนี้ผมก็เลยงงว่า อย่างเรามาศึกษานี้มีลำดับว่าตอนนี้เราอยู่ในขั้นฟังก็ไม่รู้ว่าจิตเป็นกุศล หรืออกุศล รู้แต่เป็นขั้นปริยัติ กว่าที่จะรู้ว่าจิตเป็นกุศลอกุศลนี้แสนยากมาก จึงกราบเรียนถามว่าผู้ที่เจริญสมถภาวนาเขาลำดับอย่างไรถึงได้ไปรู้ว่าจิตเป็นกุศล หรืออกุศล

    ท่านอาจารย์ คุณณรงค์เคยโกรธไหม

    ผู้ฟัง ถ้าอกุศลแบบแรงๆ นี้ก็รู้ได้โดยไม่ต้องศึกษาใช่ไหม แต่อย่างที่บอกว่าหลังเห็นแล้วเป็นอกุศลนี่ ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเพียงระดับนี้จะเจริญสมถภาวนาไหม เพราะฉะนั้น ถ้ารู้ละเอียดกว่านั้นเห็นโทษไม่ใช่อยาก วันนี้คุณณรงค์มีความยินดีพอใจไหม กามฉันทนิวรณ์ในอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง ในทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

    ท่านอาจารย์ เห็นโทษ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ ไม่เห็น จะเจริญสมถะไหม

    ผู้ฟัง ไม่เห็นก็ไม่เจริญ แต่ส่วนใหญ่ผมเห็นคนถามก็เห็นโทษของโกรธกันทั้งนั้น

    ท่านอาจารย์ พยาปาทนิวรณ์ ต้องละนิวรณ์คืออกุศลทั้งหมดเพราะเห็นโทษ ไม่ใช่เพราะอยากมีกุศล

    ผู้ฟัง ผู้ที่เจริญสมถภาวนานี่เขาเห็นโทษด้วยตัวเอง หรือเขามาฟังธรรมแล้วเห็นโทษ

    ท่านอาจารย์ ด้วยตัวเองหมายความว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง คืออย่างเช่นพวกเรา

    ท่านอาจารย์ สมถภาวนามีก่อนการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น เขาเห็นโทษเอง

    ท่านอาจารย์ ก่อนฟังธรรม คุณณรงค์เห็นว่าโทสะดีไหม

    ผู้ฟัง นี้เห็นเลยว่าไม่ดี แต่จริงๆ ถามว่าเห็นโทษไหม ก็ไม่เชิงเพราะว่า

    ท่านอาจารย์ ไม่ดีเป็นโทษ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ดีในแง่ที่ว่าอาจทำให้ไม่สบายใจ อึดอัด ใช่ไหม แต่ว่าไม่ได้เห็นโทษว่าจะสะสมไป

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ไม่เจริญสมถภาวนา ยังไม่เห็นโทษเมื่อไร ไม่เจริญสมถภาวนา แต่อยากสงบซึ่งไม่ใช่สมมถภาวนา

    ผู้ฟัง จริงๆ กราบเรียนท่านอาจารย์ถ้ายังไม่มาฟังธรรม สมถภาวนาก็ไม่รู้จัก

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องใช้คำ เพียงแต่ว่าไม่อยากโกรธ

    ผู้ฟัง ไม่อยากโกรธ ตอนนั้นก็คิดแต่ว่าไม่อยากให้คนมาทำให้เราโกรธ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่เจริญสมถภาวนาเพราะไม่เห็นโทษ

    ผู้ฟัง บุคคลสมัยก่อนที่จะมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาเห็นโทษเองได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ก็เขาเห็นละเอียดกว่าเพราะเขาสะสมมาที่จะรู้ว่าโกรธเกิดเพราะอะไร แม้ไม่รู้จักว่าไม่ใช่เราเป็นธรรมแต่เขาก็ยังสามารถที่จะรู้ความต่างของกุศลจิต และอกุศลจิตด้วย

    ผู้ฟัง แต่ตรงเห็นโทษของโกรธก็ยังไม่ค่อยสงสัย แต่เห็นโทษของว่าเราเห็นอะไรแล้วไปติดชอบ ตรงนี้

    ท่านอาจารย์ ปัญญาต่างกัน มิฉะนั้นก็คงไม่มีนักบวช ก่อนการที่พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงธรรมก็มีผู้ที่บวชเป็นปริพาชกเป็นนักบวชต่างๆ มากมาย

    ผู้ฟัง พวกนั้นเขาก็มีปัญญาแล้ว

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ว่าถูกผิดแค่ไหน เพียงแต่ว่าไม่ชอบก็อยากจะหลีกไปแต่ก็ไม่มีความรู้อะไร หรือว่าเป็นบุคคลที่สะสมมาที่จะมีปัญญาเห็นโทษแล้วก็ยังรู้วิธี หรือว่าการที่จิตจะไม่เป็นอกุศลเพราะอะไร

    อย่างขณะนี้ทุกคนมีอกุศลเกิดแล้ว แต่ว่าจะไม่มีอกุศลได้เพราะอะไร รู้ไหม แต่คนเหล่านั้นรู้ เพราะฉะนั้นก็เป็นปัญญาระดับที่สามารถที่จะรู้ว่าจิตจะสงบจากอกุศลเพราะอะไร

    ผู้ฟัง ถ้าเช่นนั้นก็สรุปว่า ผมมีความไม่เข้าใจมากในเรื่องของสมถภาวนา

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นต้องทราบว่าเป็นการอบรมปัญญา เกิดขึ้นเพื่อสงบจากอกุศล

    ผู้ฟัง ถ้าฟังอย่างนี้แล้ว คืออย่างวิปัสสนาภาวนาฟังแล้วชัดเจนว่ามีการมาอบรมคือฟังธรรมแล้วมีเป็นขั้นๆ ว่าปริยัติ ปฏิปัตติ ปฏิเวธ แต่สมถภาวนานั้นคล้ายๆ กับว่าเขามีปัญญาที่สะสมมาแต่ชาติปางก่อนโดยตัวเขาเองเพราะว่าไม่ต้องฟังธรรมเนื่องจากยังไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างนั้น หรือ

    ท่านอาจารย์ ยุคนี้ สมัยนี้ มีหลายคนทำไมปฏิบัติธรรม ที่ใช้คำว่าปฏิบัติธรรม หรือไปปฏิบัติธรรม เพื่ออะไร

    ผู้ฟัง ที่ไปผิดทาง หรือ

    ท่านอาจารย์ เวลานี้เป็นยุคสมัยที่คนนิยมใช้คำว่าปฏิบัติธรรม และไปปฏิบัติธรรมเพื่ออะไร

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 183
    16 ม.ค. 2567