พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 679


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๗๙

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๓


    ท่านอาจารย์ โทสะทั้งหลายเกิดเพราะความติดข้อง เราก็รู้แต่ว่าคนนั้นโกรธ แล้วเราก็โกรธ แต่ว่าโกรธเป็นอะไร โกรธก็เป็นธรรม เกิดกับอะไร ถ้าไม่มีจิตที่จะเห็น จะได้ยิน โกรธก็เกิดไม่ได้ และเมื่อโกรธเกิดขึ้นแล้ว ดีไหม ใครเดือดร้อน โกรธเกิดที่ไหนไม่เป็นสุข จะไปทำให้คนที่มีความโกรธเป็นสุขเป็นไปไม่ได้ เพราะลักษณะนั้นเป็นสภาพที่เดือดร้อน แม้จิตในขณะนั้นก็มีโทสะคือความขุ่นเคืองใจเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นเดือดร้อนจริงๆ และถ้ามาก คิดดูปัญหาทั้งหลาย โทษทั้งหลาย ความไม่สงบทั้งหลายก็เกิดจากอกุศลทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโทสะ หรือโลภะ ทั้งหมดก็มาจากความไม่รู้คืออวิชชา หรือโมหะ

    เพราะฉะนั้นเริ่มเห็นจิตของตนเอง หรือยัง ประโยชน์ไม่ใช่ให้ไปรู้จิตของคนอื่น แต่จิตของแต่ละคนที่สะสมมามากมายในสังสารวัฏฏ์เป็นอาสยานุสยะ หมายความว่าอาสยะคือทั้งฝ่ายที่เป็นกุศลที่ดีงาม และทางฝ่ายที่ไม่ดีงามเป็นอกุศล เป็นอาสยะ เกิดแล้วดับไปก็จริงแต่สะสมสืบต่อในจิตขณะต่อไป มากขึ้นๆ จนกระทั่งยากต่อการที่จะละ หรือดับให้หมดสิ้นได้ นอกจากปัญญาจริงๆ ถ้าไม่ใช่ปัญญาไม่มีทางที่จะชำระล้างอกุศลซึ่งเกาะติดแน่นอยู่ในใจ ถ้าเป็นของที่เป็นสิ่งปกปรกเป็นรูปภายนอกก็ยังขัดล้างได้แม้ว่าจะใช้เวลาที่นาน แต่นามธรรมไม่มีอย่างอื่นนอกจากปัญญา

    เพราะฉะนั้นการที่ได้มีความเข้าใจในขั้นฟังทีละเล็กทีละน้อยก็สามารถที่จะมีความมั่นคงว่าเป็นธรรม ทุกอย่างเป็นธรรม โกรธเกิดขึ้นเห็นชัดมาก อนัตตา ไม่มีใครต้องการ เกิดแล้วแล้วก็ดับไปแล้วด้วย ทุกอย่างเป็นความจริง ทุกคำที่ได้ยิน แต่กว่าจะถึงความเป็นจริงด้วยความเข้าใจของตัวเอง และก็ไม่ใช่จิตอื่น จิตที่เคยเกิดดับสืบต่อเพราะความไม่รู้เป็นแต่ละ ๑ แต่ละ ๑ คือแต่ละขันธ์ แลกปลี่ยนกันไม่ได้ สับสนกันก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้นขณะนี้ต่างคนก็ต่างรู้ใช่ไหม รู้อะไร จิตของคนอื่น หรือของเรา ถ้าเป็นของคนอื่น แล้วไม่รู้จักจิตเรานี่ มีประโยชน์ไหม ไม่มี และไม่มีทางที่จะไปขัดเกลาสิ่งที่สะสมมาได้ ด้วยเหตุนี้จิตสะอาดไหม จิตของใครสะอาด สะอาดเมื่อไร ไม่สะอาดเมื่อไร ค่อยๆ จางลงไปบ้าง หรือยัง และก็จะดับหมดสิ้น คือเป็นผู้ที่บริสุทธิ์เพราะดับกิเลสแล้วแต่เมื่อยังไม่ถึงความเป็นอรหันต์ก็ยังเป็นเพียงผู้ที่บริสุทธิ์อยู่ แต่ยังไม่หมดจดจนกว่าจะดับหมดสิ้นซึ่งเป็นไปได้ เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรมต้องไม่ลืมว่าเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง และเพื่อการรู้ความจริงทุกคำที่มีในขณะนั้น ไม่ใช่ว่าไปรู้สิ่งที่ไม่สามารถจะรู้ได้

    อ.กุลวิไล ศึกษาพระไตรปิฎกที่ถูกต้องควรศึกษาอย่างไร และอรรถกถามีประโยชน์ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ กำลังศึกษา หรือไม่ พระไตรปิฎกก็คือพระพุทธพจน์ทั้งหมดซึ่งกล่าวถึงสภาพธรรมที่มีจริงๆ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เพียงแต่คำ ถ้าขณะนี้เข้าใจว่าเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดง ก็คือกำลังเริ่มเข้าใจไม่ต้องใช้คำว่า “ไตรปิฎก” ธรรมทั้งหมด พระวินัยเป็นธรรม หรือไม่

    อ.กุลวิไล เป็น

    ท่านอาจารย์ พระสูตรเป็นธรรม หรือไม่

    อ.กุลวิไล เป็น

    ท่านอาจารย์ พระอภิธรรมเป็นธรรม หรือไม่

    อ.กุลวิไล เป็น

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีมีธรรม จะมีอะไรๆ หรือไม่

    อ.กุลวิไล ไม่มี ท่านอาจารย์เคยบอกว่าถ้าเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะต้องเป็นการแสดงถึงสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เชิญคุณคำปั่นร่วมสนทนา

    อ.คำปั่น ขออนุญาตแสดงความเห็นเพิ่มเติมนิดหนึ่ง เพราะเหตุว่าพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงกว่าที่จะตรัสแต่ละคำๆ เป็นการสะสมพระบารมีของพระองค์ที่ตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง และทรงแสดงธรรมเพื่อให้สัตว์โลกนั้นได้เข้าใจตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้นเวลาที่พระองค์จะทรงแสดงแต่ละครั้งๆ ไม่ว่าจะเป็นพระสูตรใดก็ตามก็จะเตือนให้ผู้ฟังนั้นได้ตั้งใจจริงๆ เพื่อที่จะฟัง เพราะว่าสิ่งที่พระองค์จะทรงแสดงนั้นเป็นสิ่งที่มีจริง เพื่อจะได้ให้เข้าใจตามความเป็นจริง ซึ่งพระองค์ก็ตรัสเตือนก่อนที่จะได้แสดงธรรมทุกครั้งว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย” เป็นเครื่องเตือนแล้วใช่ไหมว่า ให้ท่านผู้ที่กำลังฟังนั้นได้มีความตั้งใจที่จะฟังเพื่อความเข้าใจจริงๆ เพราะเหตุว่าพระธรรมไม่ว่าเป็นส่วนใดก็ตามทั้งพระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรมก็ไม่พ้นไปจากธรรม

    เมื่อศึกษาด้วยความเคารพ ด้วยความนอบน้อม ด้วยความละเอียดรอบคอบ ผู้นั้นย่อมได้ประโยชน์ พระวินัยแสดงถึงความเป็นจริงของความประพฤติเป็นไปทางกาย ทางวาจาที่ส่องถึงจิตใจที่ละเอียดว่าสะสมอะไรมาบ้าง สะสมอะไรมามาก แม้แต่พระสูตร ถึงแม้ว่าจะทรงแสดงโดยปรารภเป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ แต่จริงๆ แล้วก็ไม่พ้นจากความเป็นไปของสภาพธรรมซึ่งก็คือจิต เจตสิก รูป และที่สำคัญพระอภิธรรมซึ่งเป็นธรรมในส่วนที่ละเอียดยิ่ง แสดงถึงความเป็นจริงของธรรมแต่ละอย่างๆ อย่างละเอียดลึกซึ้ง

    ทั้ง ๓ ปิฎกเพื่อความเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นการศึกษาพระธรรมในแต่ละครั้งๆ นั้นก็เพื่อความเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง ตราบใดที่ยังมีชิวิตอยู่ก็ยังมีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญาเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา และกุศลธรรมทั้งหลายด้วย

    อ.กุลวิไล มีผู้เพิ่งมาเรียนใหม่ถามว่า “วิปัสสนากับสติปัฏฐานต่างกันอย่างไร”

    ท่านอาจารย์ เพิ่งมาเรียนใหม่ก็ต้องตั้งต้นที่จะรู้ว่าธรรมคืออะไร ถ้ายังไม่รู้ว่าธรรมคืออะไรจะไม่มีการที่จะเข้าใจคำว่า “วิปัสสนา และสติปัฏฐาน”

    วิปัสสนาเป็นปัญญาที่รู้จริงในลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ที่เกิดแล้วปรากฏในขณะนี้ แค่นี้ก็งงแล้วใช่ไหม

    สติปัฏฐาน สติเป็นอะไร เป็นธรรม หรือว่าเป็นเรา ปัฏฐานคืออะไร ถ้าไม่มีสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่เกิดปรากฏ แล้วสติจะไประลึกรู้อะไร เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่ต้องมีความเข้าใจถูกตั้งแต่ต้นไม่ใช่เพียงแต่ได้ยินคำอะไร ก็อยากจะเข้าใจความหมายของคำนั้น แต่ว่าจะเข้าใจผิดแน่นอนเพราะว่าไม่ได้เข้าใจธรรมตั้งแต่ต้น

    อ.กุลวิไล เพราะว่าทั้งวิปัสสนา และสติปัฏฐานก็ไม่พ้นปัญญาที่รู้ธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้นั่นเอง แต่ก็เป็นปัญญาที่ต่างระดับกัน เพราะฉะนั้นท่านอาจารย์ถึงเน้นเรื่องความเข้าใจถูกในธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    ผู้ฟัง กิเลสขั้นกลางเกิด

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ มี หรือไม่

    ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้ดูเหมือนว่าเป็นลักษณะที่ละเอียด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นรู้ไม่ได้เพราะไม่ใช่เราจะรู้ แต่ต้องฟังเข้าใจ

    ผู้ฟัง จริงๆ แล้วฟังเข้าใจแต่ยังไม่พอ

    ท่านอาจารย์ ก็ฟังต่อไป

    ผู้ฟัง จะกราบเรียนถามท่านอาจารย์เพื่อไปใช้ในชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์ อย่าไปใช้ๆ กำลังฟังก็เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง

    ผู้ฟัง ตอนนี้เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นฟังอีกเข้าใจอีก ไม่ใช่คิดจะเอาไปใช้ เอาอะไรไปไม่ได้ แล้วแต่อะไรจะเกิด มีปัจจัยเกิดก็เกิด ใครคิดว่าเป็นเราจะเอาไปใช้นั่นคือไม่ได้เข้าใจธรรม ว่ายังไม่ได้เกิด แต่เราคิดว่าจะเป็นอย่างนั้นจะคิดว่าเป็นอย่างนี้ แต่ตามความเป็นจริงขณะนี้เห็นเกิดแล้ว ได้ยินเกิดแล้ว คิดเกิดแล้ว แล้วก็ดับแล้วด้วยแล้วอะไรจะเกิดต่อไปก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้

    เพราะฉะนั้นหมดปัญหาเรื่องจะเอาไปใช้ ฟังให้เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง และมีจริงๆ ขณะนี้ เกิดแล้วไม่ได้ไปใช้อะไร คุณบุษกรคิดละกิเลสแล้วละได้ไหม

    ผู้ฟัง ละไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แล้วทำไมคิด

    ผู้ฟัง คือสะสมมาว่าจะคิด แล้วจิตก็คิดอยู่เรื่อย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้ทราบแล้วใช่ไหม คิดอย่างไรก็ละกิเลสไม่ได้

    ผู้ฟัง ละไม่ได้ แต่คลายได้ใช่ไหม ถ้าเข้าใจธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น มีถ้าไม่ใช่ตัวคุณบุษกร ไม่ว่าจะคิด จะละ จะคลายอย่างไรก็ต้องไม่ใช่คุณบุษกร คุณบุษกรละไม่ได้ คลายไม่ได้เพราะเป็นคุณบุษกร

    ต้องเข้าใจอย่างมั่นคง ไม่ต้องไปเสียเวลาคิด เสียเวลาละ เสียเวลาคลาย เมื่อไม่รู้ ยังคงเป็นเราอยู่ ก็เต็มไปด้วยความไม่รู้แล้วจะละความไม่รู้ได้อย่างไร เพราะถ้ายังคงไม่รู้อยู่กิเลสก็ยังมีอยู่

    ผู้ฟัง ทุกสิ่งทุกอย่างนี่เป็นอวินิพโภครูปใช่ไหม นั่นก็ต้องมีสี จริงๆ แล้วสีที่เห็นคือสีใส หรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ เวลาที่ก่อนศึกษาธรรมชีวิตก็เป็นปกติทุกอย่าง แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะศึกษาธรรมมีที่ว่างไหม มี แล้วเราจะเรียกที่ว่างนั้นว่าอะไร ไม่ได้แข็ง ไม่ได้อ่อนใช่ไหม ที่ว่างก็คงเป็นที่ว่าง

    เพราะฉะนั้นเวลาศึกษาธรรมไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากการเป็นจริงในชีวิตในชีวิตประจำวัน แต่ให้รู้ตามความเป็นจริงว่า ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุดินเป็นอากาศ หรือว่าแข็ง ธาตุไฟร้อน หรือว่าว่าง นี่ก็แสดงให้เห็นว่าธรรมดาๆ อย่างนี้ก็คืออากาศหมายความถึงช่องว่าง หรือที่ว่าง เวลาที่รูปเกิดเพราะปัจจัยต่างๆ ไม่ได้เกิดเพียงกลุ่มเล็กๆ เพียงกลุ่มเดียว กลาปเดียวแต่จะมีหลายๆ กลุ่ม

    อย่างขณะที่เกิดก็มีตั้ง ๓ กลุ่มใช่ไหม ไม่ใช่มีเพียงกลุ่มเดียว ทำไมเราถึงแยกเป็นกลุ่มเล็กๆ ออกเป็น ๓ ได้ถ้าไม่มีอากาศซึ่งเป็นช่องว่าง หรือที่ว่าง เพราะฉะนั้นเมื่อสิ่งนั้นมี แล้วไม่ใช่สภาพรู้ก็เป็นรูปชนิดหนึ่ง ต่างกับรูปอื่นเพราะมีจริงๆ ไม่ใช่ไม่มีเท่านั้นเอง ที่ตัวของคุณแก้วมีช่องว่างไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ทำไมไม่ติดกันหมด ทำไมเราสามารถที่จะแยกย่อยออกไปได้ว่าย่อยให้ละเอียดที่สุดแล้ว เล็กที่สุดก็ยังคงมีรูปที่แยกจากกันไม่ได้ ๘ รูปรวมกัน แสดงว่าใน ๒ กลาป หรือ ๒ กลุ่มต้องมีช่องว่าง จึงสามารถที่จะแยกรูปที่เกิดเป็น ๒ กลุ่ม ๓ กลุ่ม กี่กลุ่มก็ได้ใช่ไหม เพราะฉะนั้นเข้าใจอากาศ หรือยัง

    ผู้ฟัง เข้าใจ แต่ข้างนอก

    ท่านอาจารย์ อะไรก็ตามความเข้าใจของเราต้องตามลำดับ ที่ว่างๆ ทั้งหมดเป็นอากาศ แต่ตรงไหนมีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ที่นั่นไม่ใช่อากาศ อากาศมีเป็นช่องว่าง หรือที่ว่าง เวลาที่ธาตุดินเกิดขึ้นธาตุดินว่าง หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ว่าง

    ท่านอาจารย์ เพราะแข็ง ธาตุไฟเกิดขึ้นว่าง หรือไม่ ไม่มีลักษณะที่ร้อน หรือไม่ ไม่ใช่ นั่นจึงเป็นธาตุดิน ธาตุไฟ แล้วเวลาที่รูปเกิดขึ้นไม่ได้เกิดเพียงกลาป หรือกลุ่มเดียวแต่จะมีหลายๆ กลุ่มมากมายแล้วแต่ว่าเกิดเมื่อไร

    เพราะฉะนั้นในขณะที่เกิด ปฏิสนธิเกิดขณะแรกมีรูป ๓ กลาป หรือ ๓ กลุ่ม ทำไมจึงแยกเป็น ๓ กลาป หรือ ๓ กลุ่มได้ถ้าไม่มีช่องว่าง ก็แยกไม่ได้ก็ต้องติดกันหมดใช่ไหม เพราะฉะนั้นสิ่งที่ว่างคือว่างจากสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ว่างจากรูปอื่นๆ แต่ว่าช่องว่างมีแน่นอนไม่ใช่ไม่มี และก็ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ จะเรียก หรือไม่เรียกอะไรก็คือช่องว่างมีแล้วกัน ใช่ไหม จะเรียกว่าอากาศ หรือไม่เรียกว่าอากาศก็ได้ทั้งสิ้น แต่สิ่งนั้นมี

    เพราะฉะนั้นเวลานี้ ความเข้าใจของเราตั้งแต่ก่อนที่จะได้ฟังธรรม ช่องว่างที่ว่างก็มีใช่ไหม อากาศ แล้วเมื่อฟังแล้วก็รู้ว่าที่ใดที่ไม่ใช่ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่ใช่รูปธาตุใดๆ และก็ไม่ใช่สภาพรู้ ขณะนั้นก็เป็นสิ่งที่มีจริงจะเรียก หรือไม่เรียกก็ได้

    ผู้ฟัง อย่างเวลายืนอย่างนี้มันจะมีลักษณะเป็นเย็นนี่ก็ไม่ใช่จากอากาศแน่นอน

    ท่านอาจารย์ มีลักษณะอะไร กำลังเย็น

    ผู้ฟังเย็นปรากฏ

    ท่านอาจารย์ เย็นมีจริงๆ ไม่ได้ว่าง ไม่ใช่ไม่มีลักษณะที่เย็น

    ผู้ฟัง ทีแรกเข้าใจว่าเป็นอากาศที่มากระทบ

    ท่านอาจารย์ ไปคิดถึงอากาศ ขณะที่เย็นปรากฏ

    ผู้ฟัง ฟังจนกว่าเราจะเข้าใจ ไม่ว่าสภาพธรรม กิเลสที่จะละเอียด หรือจะหยาบ หรือจะกลาง

    ท่านอาจารย์ ฟังอะไรเข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง ไม่ใช่ไปคิดอย่างอื่น ทุกครั้งที่ฟังเข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง เมื่อสักครู่ฟังเรื่องอากาศ เข้าใจไหม

    ผู้ฟัง เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เข้าใจเรื่องอะไร

    ผู้ฟัง ตอนต้นชั่วโมงก็ฟังเรื่องของอากาศ

    ท่านอาจารย์ แล้วเข้าใจอะไร

    ผู้ฟัง เข้าใจว่าอากาศเป็นความว่างเปล่า

    ท่านอาจารย์ ฟังอะไรก็ให้เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง เพราะฉะนั้นขันธ์เกิด หรือไม่

    ผู้ฟัง ขันธ์เกิด

    ท่านอาจารย์ ว่างเปล่า หรือไม่

    ผู้ฟัง ขันธ์ ว่างเปล่า

    ท่านอาจารย์ ว่างจากอะไร ขอเชิญฟังคำอธิบายจากคุณวิชัย

    อ.วิชัย สิ่งที่มีจริง แล้วก็เกิดขึ้นเป็นขันธ์ ไม่ว่าจะเกิดขึ้น หรือว่าจะเป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน หยาบ ละเอียด ทราม ประณีตก็ตาม เพราะฉะนั้นโดยขันธ์คือว่างเปล่าจากตัวตนจากบุคคล สัตว์บุคคลคือไม่ใช่ของใคร เช่นแข็งในขณะนี้มีจริงเกิดขึ้น หรือไม่ มี เป็นขันธ์ไหม

    ผู้ฟัง เป็น

    อ.วิชัย แข็งรู้อะไร หรือไม่

    ผู้ฟัง แข็งไม่รู้อะไร

    อ.วิชัย ดังนั้นเป็นขันธ์อะไร

    ผู้ฟัง รูปขันธ์

    อ.วิชัย เป็นรูปขันธ์ เป็นลักษณะอย่างหนึ่ง ก็คือถ้ากล่าวโดยขันธ์ แข็งเป็นรูปขันธ์ ไม่ว่าจะแข็งมาก แข็งน้อย แข็งขนาดไหนก็ตาม แข็งนั้นก็ต้องเป็นขันธ์ แข็งนี้เป็นตัวตนสัตว์บุคคล หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    อ.วิชัย ดังนั้น แข็งก็เป็นขันธ์ คือว่างเปล่าจากสัตว์บุคคลตัวตน สิ่งนี้คือกล่าวโดยแข็งเป็นรูปขันธ์ สี สิ่งที่ปรากฏทางตาเกิดขึ้น หรือไม่ มีจริงไหมขณะนี้

    ผู้ฟัง มีจริงๆ

    อ.วิชัย เป็นขันธ์ หรือไม่ เป็น ดังนั้นแข็งเกิดขึ้นมีจริงเป็นขันธ์ เมื่อกล่าวก็คือแข็งเป็นรูปขันธ์คือไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตน ดังนั้นอากาศ หรือช่องว่างเรียกว่าปริจเฉทรูป ช่องว่างระหว่างรูป แข็งเป็นช่องว่าง หรือไม่

    ผู้ฟัง แข็งไม่ใช่ช่องว่าง

    อ.วิชัย ดังนั้นช่องว่างระหว่างกลุ่ม หรือว่ากลาป สิ่งนั้นเรียกว่าเป็นปริจเฉทรูป เพราะเหตุว่ารูปเกิดขึ้นอย่างน้อยต้องมี ๘ รูปเกิดเป็นกลุ่ม ไม่ใช่เกิดเพียงรูปเดียวแข็งจะเกิดเพียงแข็งอย่างเดียวไม่ได้ ดังนั้นรูปที่เกิดโดยสมุฏฐาน ๔ คือกรรม จิต อุตุ อาหารอย่างน้อยที่สุดต้องมี ๘ รูป ดังนั้นเมื่อเกิดเป็นกลุ่ม ๘ รูป กลุ่มไม่ใช่มีกลุ่มเดียวใช่ไหม ก็มีหลายๆ กลุ่ม ดังนั้น ช่องว่างระหว่างกลุ่ม หรือว่าแต่ละกลาปเรียกว่าเป็นปริจเฉทรูป ปริจเฉทรูปมีจริงไหม

    ผู้ฟัง มีจริงๆ

    อ.วิชัย คือต้องมีแน่นอน คือต้องมีช่องว่างระหว่างกลาป หรือว่ากลุ่มของรูปที่เกิดพร้อมๆ กันต้องมีช่องว่างจะไม่ติดกัน ดังนั้นสิ่งที่เป็นปริจเฉทรูปที่มีจริงเป็นขันธ์ หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็น

    อ.วิชัย เพราะเหตุว่าเรากล่าวตอนต้นแล้ว สิ่งที่มีจริง และเกิดขึ้นเป็นขันธ์ ปริจเฉทรูปเป็นขันธ์อะไร

    ผู้ฟัง ปริจเฉทรูปต้องเป็นรูปขันธ์

    อ.วิชัย เพราะอะไรเป็นรูปขันธ์

    ผู้ฟัง เพราะว่าไม่รู้อะไร

    อ.วิชัย เพราะเหตุว่าเป็นสภาพที่ไม่รู้อะไร ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นแข็งก็ตาม สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ตาม หรือแม้ช่องว่างระหว่างกลาปของรูปก็ตามเป็นรูปขันธ์

    ท่านอาจารย์ ก็ฟังต่อไปอีกจนกว่าจะเข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง ตอนนี้เข้าใจสิ่งที่กำลังฟังแล้วใช่ไหม

    ผู้ฟัง เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ คุณอรรณพจะเพิ่มเติมเรื่องอากาศไหม

    อ.อรรณพ รูป ไม่ว่าจะเกิดจากสมุฏฐานหนึ่งสมุฏฐานใด ทีละสมุฏฐานคือกรรม หรือจิต หรืออุตุ หรืออาหารก็ตาม แต่ละกลุ่มของรูปต้องมีรูปอย่างน้อย ๘ รูป และกลุ่มของรูป ๘ หรือ ๙ หรือ ๑๐ หรือจนถึง ๑๓ แล้วแต่ว่าจะเกิดจากสมุฏฐานใด

    กลุ่มของรูปไม่ได้อยู่ติดกัน แต่มีช่องว่างระหว่างกลุ่ม หรือระหว่างกลาป ช่องว่างนั้นคือปริจเฉทรูป ซึ่งถ้าไม่มีปริจเฉทรูปแทรกคั่นกลาป หรือกลุ่มของรูป สิ่งของต่างๆ ก็จะติดกันพืดไปหมด อย่างไม้ทำไมเราเลื่อยได้ ใช่ไหม หรือเหล็กก็ยังตัดได้ หรือแข็งกว่าเหล็กก็ยังเอาสิ่งที่แข็งกว่าเช่นเพชรก็เอาไปตัดพวกอัญมณีที่มีความแข็งรองๆ ลงไปได้ เพราะว่ามีปริจเฉทรูป แต่ทีนี้ธาตุก็ต่างกันไปอย่างของแข็งมากๆ อย่างเพชรก็มีปริจเฉทรูปแทรกคั่น แต่ก็จะต่างไปกว่าสื่งที่มีน้ำหนักเบา หรืออย่างไม้ ก็หนาแน่นน้อยกว่า ก็เป็นความต่างกันของธาตุ

    เพราะฉะนั้นต้องมีปริจเฉทรูปซึ่งเป็นช่องว่างอยู่แทรกคั่นยิบเลย ที่เราเห็นเป็นเสาเป็นอะไรอย่างนี้ เราเห็นนี่คือเป็นนิมิต สิ่งนี้เป็นนิมิตเป็นบัญญัติ แต่อาศัยนิมิตนั้น เห็นเป็นนิมิตแต่ว่าต้องมีกลุ่มของรูป ตรงนั้นเป็นไปตามนั้นก็ต้องมีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชาต่างๆ และแต่ละกลุ่มก็มีปริจเฉทรูปแทรกคั่น มิฉะนั้น ก็ไม่สามารถจะแบ่ง หรือตัดอะไรได้ ในร่างกายเราที่แตกสลายไปแยกส่วนไป รูปไม่ได้อยู่ติดกัน ซึ่งในเมื่อเป็นช่องว่างระหว่างกลาป ช่องว่างนั้นไม่ใช่นามธรรม เป็นช่องว่างระหว่างกลุ่มที่เป็นรูปธรรมก็ต้องเป็นรูปด้วย แต่เป็นรูปที่ไม่ได้มีสภาวลักษณะเฉพาะเป็นของสภาพนั้น ไม่เหมือนแข็งก็แข็ง จะแข็งมาก แข็งน้อยก็คือแข็ง ร้อนจะร้อนมาก จะร้อนน้อยจนลงไปถึงเย็น ก็คือเย็นร้อนซึ่งเป็นลักษณะธาตุไฟที่มีลักษณะอย่างนั้น

    แต่ปริจเฉทรูปเป็นช่องว่างระหว่างกลุ่มของรูปไม่ได้มีสภาวลักษณะเป็นของรูปนั้น แต่เป็นรูปเพราะว่าไม่ได้เป็นนามธรรม ถึงเป็นช่องว่างแต่ท่านก็แสดงว่าเป็นรูปหนึ่งในรูป ๒๘ เป็นรูปที่ไม่มีสภาวะเป็นอสภาวรูป แต่พระองค์ท่านก็ต้องแสดงว่าเป็นรูปเพราะเพื่อจะแสดงว่ากลุ่มของรูปไม่ได้อยู่ติดกันพืดไปหมด แต่แทรกคั่นด้วยปริจเฉทรูป ยิบเลยเรียกว่าแทรกเข้าไปในทุกๆ กลาปในระหว่างกลาป ทุกๆ ระหว่างกลาป

    เพราะฉะนั้นก็เป็นรูปขันธ์ แต่เป็นรูปขันธ์ที่ไม่มีลักษณะรูป ไม่มีสภาวะเพราะเป็นช่องว่างระหว่างกลุ่มของรูป

    ผู้ฟัง สภาพธรรมต้องปรากฏขึ้นทีละอย่าง

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะว่าจิตเกิดขึ้น ๑ ขณะเป็นสภาพที่รู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ และก็มีเอกัคคตาเจตสิก ตั้งมั่นในอารมณ์ เพราะฉะนั้นจะเป็นสองไม่ได้เพราะอารมณ์เดียว

    ผู้ฟัง แต่โดยสภาพของ

    ท่านอาจารย์ ประสาทรูป

    ผู้ฟัง ที่มีอยู่ที่เกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ ดับแล้วไม่รู้ เร็วมาก

    ผู้ฟัง แต่เมื่อมีสิ่งมากระทบก็ต้องกระทบ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง แล้วเดี๋ยวนี้จะรู้ได้อย่างไรว่ากระทบ หรือไม่กระทบ

    ผู้ฟัง ต้องรู้

    ท่านอาจารย์ กำลังเห็นมีโสตประสาทรูปไหม

    ผู้ฟัง กำลังเห็นมีโสตประสาทรูปไหม?

    ท่านอาจารย์ เมื่อสักครู่นี้บอกว่ากรรมทำให้กัมมชรูป หรือรูปที่เกิดจากกรรมเกิดทุกอนุขณะของจิตใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เปลี่ยนได้ไหม

    ผู้ฟัง เปลี่ยนไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น กำลังเห็นมีโสตประสาทรูปไหม

    ผู้ฟัง ต้องมี

    ท่านอาจารย์ รู้ไหม ไม่รู้ มีก็ไม่รู้ เกิดแล้ว ดับแล้วก็ไม่รู้ แล้วในขณะที่มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา กระทบกับจักขุประสาทรูป ขณะนั้นมีโสตประสาทรูปไหม

    ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏทางตากระทบกับจักขุประสาทรูป

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นมีโสตประสาทรูปไหม


    Tag  โทสะ  ติดข้อง  โกรธ  ธรรม  จิต  เห็น  ได้ยิน  อกุศล  โลภะ  ความไม่รู้  อวิชชา  โมหะ  สังสารวัฏฏ์  อาสยานุสยะ  ปัญญา  รูป  นามธรรม  ทุกอย่างเป็นธรรม  อนัตตา  ขันธ์  จิตสะอาด  กิเลส  บริสุทธิ์  รู้ความจริง  พระไตรปิฎก  อรรถกถา  พระพุทธพจน์  ไตรปิฎก  พระวินัย  พระสูตร  พระอภิธรรม  สัตว์โลก  กุศลธรรม  วิปัสสนา  สติปัฏฐาน  ปัฏฐาน  ปัจจัย  อวินิพโภครูป  สี  ช่องว่าง  ที่ว่าง  กลาป  กลุ่ม  อากาศ  สภาพรู้  รูป  ดิน  น้ำ  ไฟ  ลม  ปฏิสนธิ  การเกิด  ธาตุดิน  ธาตุน้ำ  ธาตุไฟ  ธาตุลม  รูปธาตุ  ขันธ์  อดีต  อนาคต  ปัจจุบัน  หยาบ  ละเอียด  ทราม  ประณีต  รูปขันธ์  ปริจเฉทรูป  พืด  สมุฏฐาน ๔  กรรม  จิต  อุตุ  อาหาร  นิมิต  บัญญัติ  สี  กลิ่น  รส  โอชา  สภาวลักษณะ  อสภาวรูป  รู้แจ้ง  อารมณ์  เอกัคคตาเจตสิก  จักขุประสาทรูป  
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 183
    16 ม.ค. 2567