พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 718


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๑๘

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๔


    อ.วิชัย กราบเรียนท่านอาจารย์ มีข้อความในพระสูตรที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเกี่ยวกับธรรมที่ควรรู้ยิ่ง ว่าจักษุรูป จักษุสัมผัส แล้วก็เวทนา คือสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดแต่จักขุสัมผัสเป็นปัจจัย รวมถึงทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และก็ทางใจด้วย ว่าเป็นธรรมที่ควรรู้ยิ่ง การที่จะอบรมความรู้ในธรรมเหล่านี้ คือฟังว่ามีจักษุ มีรูป แต่ความรู้ความเข้าใจ เพียงฟังเช่นนี้จะเข้าใจอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ได้ยินคุณวิชัยพูดกว่าจะรู้จริงอย่างนั้น นานหรือไม่ เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่เป็นผู้ที่เข้าใจจริงๆ แล้วก็จะรู้ได้ว่า แม้แต่คำว่าธรรมที่ควรรู้ยิ่ง เคยคิดบ้างหรือไม่ อยากจะรู้โลกุตตรธรรม อยากจะรู้ธรรมอื่นๆ แต่ที่ทรงแสดงไว้คือธรรมที่ควรรู้ยิ่ง คือเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ขณะอื่น เดี๋ยวนี้กำลังเห็น ใช่หรือไม่ ตรงไหม ที่ทรงแสดง ธรรมที่ควรรู้ยิ่งเมื่อไหร่ เมื่อกำลังเห็นก็รู้เห็น ไม่ใช่รู้อื่น เพราะว่าถ้ารู้อื่น ไม่รู้เห็น มีประโยชน์อะไร ในเมื่อเห็นกำลังปรากฏ กำลังเห็น แล้วไม่รู้ความจริงของเห็น แต่จะไปรู้สิ่งอื่นก็ไร้สาระ เป็นโมฆะ เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นความจริงต้องจริง ทรงเตือนให้รู้ว่า อะไรเป็นธรรมที่ควรรู้ยิ่ง คือสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นถ้าไม่ได้มีความเข้าใจ เราก็พยายามไปหาแล้วก็อยากจะรู้ ธรรมที่ควรรู้ยิ่ง จักขุ ก็คือตา มีแน่ๆ ทุกคนกำลังมีตา เพราะมีเห็น ใครรู้จักตาบ้าง ได้ยินแต่ชื่อว่าตา แล้วก็รู้ว่ามีตา แต่ไม่รู้จักตา ถูกต้องหรือไม่ จากการที่ทรงแสดงให้พุทธบริษัทได้เริ่มเข้าใจความจริง ทั้งๆ ที่ความจริงคือมีตา ก็ไม่รู้จักตา ให้รู้ว่าตา เป็นสิ่งที่มีจริงชนิดหนึ่ง แต่ตาไม่เห็น ตาเป็นตา ทำไมตาไม่เป็นแขน ทำไมตาไม่เป็นขา แต่ตาเป็นตา เพราะเหตุว่าที่ใช้คำว่าตาในภาษาไทย และใช้คำว่าจักขุ ในภาษาบาลี หมายความถึงรูปชนิดหนึ่งที่อยู่กลางตา ไม่ใช่ตาขาวตาดำทั้งหมด แล้วก็เป็นรูปที่มีลักษณะพิเศษ ลักษณะใส ลักษณะใสทีนี่ก็ต้องเข้าใจความหมายด้วย ว่าเพราะสามารถที่จะกระทบกับสิ่งที่กระทบได้ เช่นขณะนี้ มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น เพียงพูดถึงอย่างเดียว แต่มีความเข้าใจจริงๆ นั่นก็คือประโยชน์ที่ได้จากการฟังธรรม เพราะว่าสิ่งนั้นมีจริง และเป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่ง เพราะฉะนั้นคำแรกที่ใช้คือจักขุ รู้แล้วหรือยัง ข้ามไปเลยเสมอๆ แต่ความจริงไม่ได้รู้

    เพราะฉะนั้นพระธรรมที่ทรงแสดงก็เพื่อให้ผู้ฟังเกิดความเห็นถูกว่าเป็นธรรม เมื่อเป็นธรรม จึงไม่ใช่ของใคร แต่ว่าเป็นสิ่งที่มีจริง และทรงแสดงความละเอียดยิ่ง ว่าอะไรเป็นปัจจัยให้เกิดจักขุ หรือที่เราใช้คำว่าตา เป็นรูปพิเศษที่สามารถกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะนี้ หูกระทบรูปนี้ไม่ได้ จมูกกระทบรูปนี้ไม่ได้ แข็งกระทบรูปที่กำลังปรากฏที่กำลังเห็นขณะนี้ไม่ได้ แต่มีรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นรูปที่มีลักษณะพิเศษ เรียกว่า ปสาท คือสามารถกระทบกับรูป ถ้าได้ยินคำว่า ปสาทรูป คือรูปที่สามารถกระทบกับรูป ชีวิตประจำวันที่บ้านมีกระจกหรือไม่ เดินผ่านกระจก เห็นอะไร ไม่เหมือนกับเดินผ่านประตู หน้าต่าง ซึ่งไม่ใช่กระจก ไม่มีอะไรปรากฏให้เห็นเลย ฉันใด นี่เป็นเพียงคำอุปมาที่ชีวิตประจำวันพอเข้าใจได้ แต่ว่ารูปพิเศษคือรูปที่ ใช้คำว่าใสเหมือนกระจก ที่ชาวบ้านสามารถที่จะเข้าใจได้ว่า ปรากฏว่ามีอะไรผ่าน เพราะฉะนั้นรูปนี้ก็สามารถจะกระทบกับสิ่งที่ผ่านหรือว่าสิ่งที่เกิด และสิ่งที่กระทบกัน เพราะฉะนั้นในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เพียงแค่เห็นขณะเดียว ขณะจิตหนึ่งซึ่งเห็น ไม่ใช่ขณะคิด ไม่ใช่ขณะที่กำลังโกรธ หรือกำลังเสียใจ เพียงชั่วขณะที่มีสิ่งปรากฏให้เห็น เพราะมีจิตธาตุรู้เกิดขึ้นเห็น ถ้าไม่มีธาตุรู้ ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่สามารถกระทบได้ ก็ไม่ได้ปรากฎ เหมือนอย่างโต๊ะ เก้าอี้ กระทบกัน ก็ไม่ได้มีอะไรที่จะปรากฏ เพราะไม่ใช่สภาพรู้ แต่เมื่อมีธาตุรู้หรือสภาพรู้ ไม่ให้เกิดได้หรือไม่ ถ้าจะคิดว่าไม่อยากให้ธาตุรู้เกิดเลย เพราะเกิดแล้วยุ่งมาก ลำบากมาก ไม่เหมือนธาตุที่ไม่รู้อะไร แต่ก็หยุดยั้งอะไรก็ไม่ได้ เพราะว่าเป็นธรรมซึ่งเป็นอนัตตา เกิดเมื่อมีปัจจัยเท่านั้นจึงเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้นไม่เป็นอย่างอื่น ถ้าจะห้ามจิตไม่ให้เกิด ก็ลองห้ามแข็งไม่ให้แข็งได้หรือไม่ ห้ามไฟไม่ให้ร้อนก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้นจึงเข้าใจความหมายของคำว่าธาตุ หรือธา-ตุ คือธรรมนั่นเอง เป็นสิ่งที่มีจริง และในขณะนี้สิ่งที่มีจริงอย่างหนึ่งก็คือจักขุปสาท รูปที่อยู่กลางตา ที่สามารถจะกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น แต่จักขุปสาท และรูปที่ปรากฏทั้งสองอย่างไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้นต้องมีธาตุรู้ ซึ่งอาศัยการกระทบกันของจักขุปสาทกับสิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นเห็น และดับไป เป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่ง ว่าในขณะนี้ใครก็ทำไม่ได้ ไม่มีใครสามารถที่จะทำ หรือจะสร้างธรรมหนึ่งธรรมใดให้เกิดขึ้นได้เลย บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่ใช่ของใคร เห็นเมื่อสักครู่นี้ดับแล้ว เป็นของใคร ดับไม่กลับมาอีกเลยในสังสารวัฎ แล้วจะเป็นของใครได้ ก็เป็นแต่เพียงธาตุ ซึ่งมีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับ แต่ธาตุรู้ซึ่งเป็นจิตเมื่อดับไปก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไป เกิดสืบต่อทันทีไม่มีระหว่างคั่น นี่คือการเกิดดับสืบต่อของธรรม ซึ่งต้องเข้าใจ

    อ.วิชัย เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์กล่าวถึง จักขุ ขณะที่ฟังท่านอาจารย์ก็กำลังคิดถึงเห็น แล้วก็ต้องมีจักขุแน่ๆ แต่ก็ยังไม่เข้าใจในลักษณะของจักขุจริงๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะจักขุไม่ได้ปรากฏให้เห็น แล้วจะไปเข้าใจได้อย่างไร แต่กำลังฟัง ว่ามีแน่นอน ต้องมีรูปนี้ แต่รูปนี้จะไม่ปรากฏให้เห็นได้เลย ไม่มีสิ่งใดๆ ที่เป็นธรรมทั้งหมดที่จะปรากฏให้เห็นได้ นอกจากรูปที่กำลังปรากฏให้เห็นขณะนี้เท่านั้น ในบรรดาธรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นนามธรรม รูปธรรม จิต เจตสิก นิพพานใดๆ ก็ตามทั้งสิ้น สิ่งอื่นไม่สามารถจะปรากฏให้เห็นได้เลย นอกจากสิ่งนี้ ที่กำลังปรากฏอย่างนี้ เพราะฉะนั้นการฟังธรรมเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมี ว่าเป็นสิ่งหนึ่งซึ่งมีจริงๆ กำลังปรากฏ และความจริงที่แน่นอนก็คือ เพียงปรากฏให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่มีจริงเท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่นเลย

    อ.วิชัย หมายความว่า ถ้าฟังแล้วพิจารณาความเข้าใจก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดที่ฟังเป็นธรรม ก็คือรู้ว่าอะไรเป็นธรรม และก็เข้าใจธรรมที่ได้ฟังว่าเป็นธรรมด้วย จนกว่าจะถึงปัญญาที่แทงตลอดความจริง ซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณ ก็สามารถที่จะเข้าใจชัด ละความติดข้อง ความไม่รู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ต้องมาจากการฟัง เพราะฉะนั้นพระธรรมสมบูรณ์พร้อมปริยัติ ปฏิปัตติ และปฏิเวธ ปริยัติคือการรอบรู้ในสิ่งที่ได้ฟัง ไม่ใช่ฟังแล้วไม่เข้าใจ จะรอบรู้ได้หรือไม่ ก็ไม่ได้ใช่ไหม แต่ขั้นการฟังก็คือรอบรู้ในเหตุในผล ในความเป็นจริงในธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งเป็นจริงอย่างนั้น ไม่หวั่นไหว ไม่คลอนแคลนว่าเป็นเรา ในขั้นของการฟัง รู้ได้เลยว่าธรรมเป็นธรรม จักขุเป็นตา เกิด และดับไป โสต หูสามารถกระทบเสียง เกิด และก็ดับไป ก็ไม่มีอะไรเหลือเลย ก็เป็นความจริงแต่ละอย่าง เพียงคำเดียวคือคำว่าจักขุ ก็ยังมีอย่างอื่นอีกนอกจากตา เพราะฉะนั้นพระธรรมที่ทรงแสดง ๔๕ พรรษา ก็เพื่อให้เข้าใจความจริงในขณะที่กำลังฟัง และมีสิ่งที่สามารถจะเข้าใจได้ เพราะว่าสิ่งนั้นมีจริงๆ แล้วก็กำลังปรากฏด้วย เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่า ตาคือจักขุปสาทรูป มีจริง แต่ไม่ปรากฏ ใครจะรู้ แต่ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น และมีเห็น สามารถที่จะรู้ และเข้าใจได้

    อ.วิชัย เพราะเหตุว่าเมื่อพิจารณาว่าก่อนฟังพระธรรม ก็มีการเห็น แต่ก็ยังไม่มีความเข้าใจเลยว่าเป็นธรรม จนมีโอกาสได้ฟังแล้วก็ได้เข้าใจ และก็พิจารณาถึงว่า แม้กำลังเห็นหรือว่าสิ่งที่ปรากฏ ก็เป็นธรรมแต่ละอย่าง ก็เป็นเพียงขั้นเข้าใจ และพิจารณา

    ท่านอาจารย์ แต่ก็ไม่ลืม พระธรรมที่ทรงแสดงว่า เป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่ง เป็นการเตือนให้รู้ กำลังเห็น ปัญญาความเห็นถูก เห็นถูกในอะไร เห็นถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่สิ่งอื่น และเป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่งจริงๆ

    อ.วิชัย กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์

    อ.กุลวิไล กล่าวถึงผลของกรรม และกรรม ซึ่งก็ไม่พ้นขณะนี้เอง ท่านอาจารย์ให้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมในขณะนี้ ที่จะเป็นกรรม และผลของกรรม

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นต้องทราบว่าคืออะไร ถ้าไม่รู้ว่าคืออะไร เราฟังไปแล้วเราก็ไม่ได้เข้าใจชัดเจน เพราะฉะนั้นถ้าศึกษาธรรมทีละคำ แล้วก็มีความเข้าใจในสิ่งนั้น ก็จะสามารถเข้าใจคำอื่นๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับคำนั้นด้วย เช่นที่จะกล่าวว่า มือที่มองไม่เห็นหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่จริงๆ แล้ว เวลาใช้คำว่ากรรม กรรมคืออะไร

    อ.กุลวิไล กรรมก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นเจตนา จงใจขวนขวายที่จะกระทำ

    ท่านอาจารย์ ปรมัตถธรรม ๔ คือธรรมที่มีจริง คือ จิต ๑ ไม่ปะปนกับอย่างอื่น เจตสิก ๑ คือเจตสิก ไม่ใช่จิต ไม่ใช่รูป รูป ๑ ไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก นิพพาน ๑ รวมเป็น ๔ แต่จิตก็หลากหลายมาก เพราะเหตุว่า สภาพธรรมที่ทำให้เกิดจิตมีมาก เพราะฉะนั้นจิตก็ต้องต่างกันมาก เจตสิกคือสภาพธรรม ซึ่งเกิดกับจิต จิตจะเกิดตามลำพังไม่ได้เลย ทุกครั้งที่กล่าวถึงจิต หมายรวมถึงเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นในภาษาบาลีจะใช้คำว่าจิตตุปบาท หมายความว่าการเกิดของจิตต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ว่าเวลาที่กล่าวถึงจิต กล่าวถึงสภาพธรรมซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ ในภาษาบาลีใช้คำว่าอารัมมณะ อารัมพนะ แต่ภาษาไทยก็ใช้คำว่าอารมณ์ เมื่อมีสภาพรู้ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้คู่กัน จะมีจิตโดยไม่มีอารมณ์ไม่ได้ เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่มีจิตเกิดขึ้นรู้ ก็จะต้องมีอารมณ์คือสิ่งที่ถูกรู้ และทุกครั้งที่จิตเกิดต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นจิตหลากหลายกันเป็นประเภท ได้ ๘๙ ประเภท อย่างใหญ่ๆ หรือว่าโดยพิเศษก็ ๑๒๑ ประเภท เจตสิกก็มี ๕๒ ชนิด อย่างใหญ่ๆ อีกเหมือนกัน หมายความว่าความละเอียดก็มีระดับขั้นของเจตสิกประเภทนั้นๆ แล้วก็รูปก็มีต่างกันไป ทั้งหมดก็แสดงไว้ว่า ๒๘ รูป ส่วนนิพพานก็ไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป เพราะฉะนั้นเวลาที่กล่าวถึงธรรม จะพ้นจากสภาพธรรมซึ่งมีปัจจัยเกิดปรากฎในขณะนี้ไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ขณะนี้มีจิต มีเจตสิก มีรูป ซึ่งต้องรู้ด้วย ว่าที่ใช้คำว่ากรรม เป็นอะไร

    อ.กุลวิไล เป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ เป็นเจตสิก เพราะเหตุว่าจิตเกิดขึ้นไม่จำ ไม่มีความติดข้อง เพียงเป็นธาตุที่เป็นใหญ่ในการรู้แจ้ง สิ่งที่กำลังปรากฏ ส่วนเจตสิกที่เกิดกับจิตต่างก็ทำหน้าที่ของเจตสิกนั้น และมีลักษณะหลากหลายไป เจตสิก ๑ ซึ่งต้องเกิดกับจิตทุกประเภททุกขณะ ก็คือเจตนาเจตสิก ภาษาบาลีใช้คำว่าเจตนา ภาษาไทยเราจะได้ยินคำว่าเจตนา ทำอะไรผิดก็บอกว่าไม่ได้เจตนา แต่ทำดีเจตนาหรือไม่ นี่ก็เป็นเรื่องที่ใช้คำ ที่ยังไม่ได้เข้าใจ เพราะว่ายังไม่ได้ศึกษาธรรม แต่ถ้าศึกษาธรรมก็คือทั้งหมดไม่ใช่เรา จิตก็ไม่ใช่เรา เจตสิกแต่ละประเภทก็ไม่ใช่เรา และเจตสิกซึ่งกำลังเกิดกับจิตในขณะนี้ หนึ่งประเภทคือเจตนาเจตสิก ต้องเกิดทุกครั้ง เจตนาเป็นเจตสิกหรือสภาพธรรมที่จงใจ ตั้งใจ ขวนขวายที่จะกระทำ เวลาเกิดขึ้น จะต่างกับเจตสิกอื่น เพราะเจตสิกอื่น อย่างผัสสเจตสิกเป็นสภาพที่กระทบอารมณ์ เมื่อผัสสเจตสิกกระทบอารมณ์ใด จิตก็เกิดรู้อารมณ์นั้นพร้อมกับขณะที่ผัสสเจตสิกเกิดนั่นเอง ด้วยเหตุนี้จิตกับเจตสิกซึ่งเป็นปัจจัยอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น ไม่ได้แยกจากกันเลย เกิดพร้อมกัน และก็ดับพร้อมกัน และก็รู้อารมณ์เดียวกันด้วย เพราะฉะนั้นในขณะที่เห็น ถ้าไม่มีผัสสเจตสิก จิตเห็นเกิดได้หรือไม่

    อ.กุลวิไล ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ ถ้าไม่มีจิต ผัสสเจตสิกเกิดได้หรือไม่

    อ.กุลวิไล ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะเจตสิกต้องเกิดกับจิต ด้วยเหตุนี้นอกจากผัสสเจติก ก็ยังมีเจตนาเจตสิก ซึ่งเป็นความจงใจ เวลานี้รู้จักลักษณะของสภาพจิตหรือไม่ ไม่รู้ รู้ว่ามีกำลังเห็น แล้วรู้ลักษณะของเจตสิกหรือไม่ ไม่รู้ แต่ก็รู้ว่าต้องมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย และเป็นสภาพที่ขวนขวาย ดูเหมือนไม่เห็นขวนขวายทำอะไรเลยใช่หรือไม่ จิตก็เกิดแล้วก็ดับ พร้อมเจตสิกที่เกิดด้วยกัน แต่แม้กระนั้นในขณะที่จิตเกิดขึ้น เจตสิก ๗ ประเภท ต่างทำกิจของตนๆ ซึ่งเจตนาก็ไม่ใช่ผัสสเจตสิก ผัสสะเพียงกระทบ แล้วแต่ว่าเป็นจิตประเภทใด รู้อารมณ์ใด ส่วนเจตนาขวนขวายกระทำกิจ คิดดู เพียงแค่นั้นเอง เป็นลักษณะของธาตุซึ่งเกิดขึ้นแล้วต้องเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นในขณะนี้ จิตเห็นเกิดพร้อมกับเจตนาเจตสิก เจตนาเจตสิกคือสภาพที่ขวนขวายกระทำกิจเท่านั้น และจิตก็เห็นผัสสะก็กระทบ แต่ว่าวันหนึ่งๆ มีเจตนาที่จะทำกุศล หรือเป็นอกุศลบ้างหรือไม่ เจตนาเปลี่ยนแล้ว จากการที่เพียงเกิดกับจิตเห็น มาเกิดกับโลภเจตสิก หรือว่าโทสเจตสิกก็ได้ เพราะฉะนั้นในขณะที่เกิดยินดีต้องการ ขณะนั้นมีกำลังพอที่จะเพิ่มขึ้น ที่จะให้ได้สิ่งนั้นมาหรือเปล่า เพราะความจงใจนั้น ถ้าไม่ใช่ในทางสุจริต ก็เป็นทางทุจริตก็ได้หรือไม่ ด้วยความต้องการ เมื่อมีความต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ได้โดยสุจริต เจตนาความจงใจที่จะให้ได้มา ก็กระทำทุจริต เพราะฉะนั้นในขณะนั้นก็คือสภาพที่ขวนขวายจงใจ ซึ่งเป็นลักษณะของกรรมหรือการกระทำนั้นๆ นั่นเอง

    เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ถ้าละเอียด ก็กล่าวไม่จบถึงลักษณะของเจตนา ที่มีในพระไตรปิฎกโดยประการอื่นๆ แต่เริ่มเข้าใจ ว่าเจตนาเป็นสภาพที่มีจริง และจิตที่เป็นวิบาก เจตนาที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นวิบาก คือเป็นผลของกรรมนั้นเอง เพราะฉะนั้นก่อนอื่น ในบรรดาธรรมทั้งหมด เจตนาเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่ขวนขวาย จงใจ เป็นกัมมปัจจัย เป็นปัจจัยที่ขวนขวายกระทำกรรม แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะเกิดกับจิตประเภทใด แต่ที่ทุกคนเข้าใจก็คือ กุศลเจตนา และอกุศลเจตนา เจตนาที่จะสงเคราะห์คนยากไร้ คนลำบาก น้ำท่วม ไฟไหม้ ขาดแคลน ไร้ที่อยู่เหล่านี้เป็นต้น ขณะนั้นก็มีความตั้งใจ จงใจ เป็นกุศลที่พอจะรู้ได้ มองเห็นเจตนาหรือไม่ ไม่เห็น แต่เมื่อมีรูป เจตนาก็เป็นปัจจัยให้รูปเกิดเคลื่อนไหวไปตามเจตนา เพราะฉะนั้นจึงมีการกระทำที่เป็นกุศล และอกุศลทางกาย และทางวาจา เพราะเจตนาซึ่งเป็นเจตสิกขณะนั้นเกิดขึ้น เป็นปัจจัยให้รูปนั้นเป็นไปในทางกุศลหรือว่าในทางอกุศล โดยที่รูปไม่ใช่สภาพรู้เลย แต่ว่าสามารถที่จะเห็นจากกายบ้าง วาจาบ้าง ว่าขณะนั้น เจตนาเป็นอะไร เจตนาที่จะกล่าวคำที่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนใจ คำหยาบ คำด่า มีหรือไม่ ขณะที่มีวาจาอย่างนั้น เพราะเจตนาเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น ขณะใดก็ตามที่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนเป็นทุกข์ นั้นคืออกุศลกรรม แต่ถ้ายังไม่ได้กระทำให้คนอื่นเดือดร้อน เป็นอกุศลจิต แต่ว่ายังไม่ถึงระดับขั้นที่จะทำให้เกิดความเดือดร้อนกับคนอื่น จึงไม่ใช่อกุศลกรรม เมื่ออกุศลกรรมเกิดแล้วเป็นเหตุ จะมีผลหรือไม่ ก็ต้องมีผล แต่เจตนาซึ่งเป็นกรรมก็ไม่มีใครมองเห็น เพราะเป็นนามธรรม แต่สามารถที่จะเห็นการกระทำทางกาย ทางวาจา ซึ่งเป็นไปตามเจตนานั้นๆ และที่กล่าวถึงมือที่มองไม่เห็น สามารถที่จะให้อะไรเกิดขึ้นก็ได้ เหมือนทำด้วยมือ แต่เพราะไม่ใช่รูป ก็มองไม่เห็น ใช่หรือไม่ อย่างขณะแรกที่เกิด ทุกคนต้องมีจิตขณะแรกที่เกิด จึงเป็นคนนี้ได้ ไม่ใช่มีแต่เฉพาะรูป แต่ต้องมีนามธรรมคือจิต เจตสิกเป็นผลของกรรม มองเห็นหรือไม่ว่าจากโลกก่อนมาสู่โลกนี้ ใครพามา จะไปทางเครื่องบิน รถยนต์ บางคนก็สงสัย อยู่ที่นี่ มนุษย์โลก และไปสวรรค์ได้อย่างไร ใช่หรือไม่ แต่ว่ากรรมทำได้ทุกอย่าง เพราะเหตุว่าความจงใจ ความตั้งใจ เป็นกัมมปัจจัยที่จะกระทำให้เกิดแม้ปฏิสนธิจิต ที่ไหนก็ได้ จากนี่ไปสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ก็ได้ ไปสู่อเวจีมหานรกก็ได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นมือที่มองไม่เห็น ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะคิดได้ว่าจะไปได้ทางไหน แต่ว่ากรรมคือมือที่มองไม่เห็น

    เพราะฉะนั้นวิบากคือผลของกรรม ก็ได้แก่จิต และเจตสิก เพราะรูปไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น เมื่อกรรมที่เป็นเหตุ เป็นนามธาตุก็เป็นปัจจัยให้นามธาตุคือจิต และเจตสิก ที่เป็นผลของกรรมเกิดขึ้น ขณะแรกในชีวิตคือที่ใช้คำว่าปฏิสนธิจิต หมายความว่าเกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน แสดงว่าชาติก่อนมีแล้ว ใช่หรือไม่ ต้องจากชาติก่อนคือจิตขณะสุดท้ายของชาติก่อนดับ เป็นปัจจัยให้จิตขณะแรกของชาตินี้เกิด มองไม่เห็นเลย พาไปที่ไหน ชาติก่อนอยู่ที่ไหนพามาแล้วสู่ที่นี่ โลกนี้ เพราะฉะนั้นกรรมหนึ่งที่กระทำแล้ว ในชาตินี้หรือในชาติไหนก็ตามแต่ ที่สามารถจะเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดได้ พอจิตขณะสุดท้ายของชาตินี้ดับ ไปแล้วสู่ที่ต่างๆ ตามกรรมที่ได้กระทำกรรม ๑ เพราะฉะนั้นก็เป็นมือที่มองไม่เห็น พามาแล้วสู่โลกนี้ แล้วพามาสบายหรือไม่ พามาให้เป็นอย่างไร ให้ออกจากโลกนี้ยังไม่ได้ จากโลกนี้ไปยังไม่ได้ ยังต้องอยู่ในโลกนี้ ใครทำ มองไม่เห็นเลย ใช่หรือไม่ แต่กรรมที่ทำให้ดำรงความเป็นบุคคลนี้ยังไม่ถึงกาลที่จะสิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ ก็ต้องอยู่ไปในโลกนี้ เพราะฉะนั้นอยู่ไป อยู่อย่างไร เกิดแล้ว และปฏิสนธิจิตก็ดับ ไม่มีสภาพธรรมใด ซึ่งเกิดแล้วไม่ดับ แล้วก็ดับอย่างเร็วสุดที่จะประมาณได้ แม้ขณะนี้เดี๋ยวนี้ จิตก็เกิดดับ เจตสิกที่เกิดพร้อมกับจิตดับพร้อมจิต โดยที่ไม่รู้เลย ว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมก็คือ ให้เข้าใจสิ่งที่มี ซึ่งไม่เคยเข้าใจ ทุกคำ แม้แต่คำว่ากรรม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 183
    22 ก.พ. 2567