พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 692


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๙๒

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๔


    ท่านอาจารย์ เมื่อมีศรัทธาในกุศลแล้วก็ทำกรรมดีด้วย ก็ลองคิดดูว่าความต่างกันของเพียงศรัทธาในกุศลกับสามารถที่กระทำกุศลนั้นด้วยได้ นี่ก็เป็นขั้นของศรัทธาที่เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นก็เจริญกุศลทุกประการที่สามารถที่จะเป็นไปได้ เพราะเหตุว่าแม้กุศลเพียงนิดเดียวก็กระทำแล้วไม่ใช่เพียงแต่ศรัทธาในกุศล ใครทำกุศลก็อนุโมทนาแต่ว่าไม่ได้ทำกุศลกรรมนั้นเลย

    อ.วิชัย กราบท่านอาจารย์ อย่างเช่น ขณะที่ประสบกับสิ่งที่ไม่พอใจก็ทราบว่าขณะนั้นเป็นความขุ่นเคืองใจ ขณะนั้นเป็นลักษณะของสติที่เกิดขึ้นรู้ในลักษณะขณะที่ไม่พอใจขณะนั้น เป็นความรู้ที่เมื่อก่อนไม่พอใจก็ไม่ทราบว่าขณะนั้นไม่พอใจ แต่พอเพียงขุ่นใจเล็กน้อย สติก็สามารถระลึกได้ในขณะนั้น

    ท่านอาจารย์ เป็นเรา หรือเปล่า หรือว่าหมดความเป็นเราแล้วในขณะที่เพียงรู้ว่าขณะนั้นเป็นอกุศล หรือว่าเป็นลักษณะของความโกรธ เพราะฉะนั้นการฟังธรรมจะเห็นได้ว่าเกื้อกูลที่จะทำให้เป็นปัจจัยให้กุศลแต่ละขั้นเกิดขึ้น จากการที่ไม่เคยคิดว่าธรรมจะมีคุณถึงอย่างนี้ แต่ถ้าได้เริ่มเข้าใจในสิ่งที่ไม่เคยเข้าใจมาก่อน ก็เริ่มจะเห็นคุณ ขณะนั้นก็เป็นความดีอารักขาให้เห็นว่าควรที่จะได้มีการฟังต่อไป เพื่อจะได้ไม่เป็นความไม่รู้ต่อๆ ไปเรื่อยๆ

    เพราะฉะนั้นขณะนั้นที่เกิดระลึกได้ก็รู้ว่าขณะนั้นเป็นลักษณะของธรรม ขณะนั้นก็อารักขาไม่ให้เป็นอกุศลต่อไปเพราะขณะนั้นกำลังรู้ กำลังนึกได้ถึงสิ่งที่ได้ฟังมานานโลภะ โทสะ โมหะ แล้วตัวจริงๆ กำลังเกิด กำลังปรากฏ กำลังแสดงอาการชัดเจนว่านี่คือสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมานานแสนนาน พูดถึงโทสะแล้วโทสะก็กำลังเกิดขึ้นให้เห็นจริงๆ ขณะนั้นก็เป็นขั้นหนึ่งของความเข้าใจ แต่ถ้าสามารถที่จะสะสมความเข้าใจถูกในความเป็นธรรมแต่ละอย่าง ขณะนั้นก็สามารถที่จะเริ่มเข้าใจลักษณะที่เป็นธรรมของโทสะไม่ใช่เพียงเป็นแต่การระลึกได้รู้ว่าเป็นอาการของโทสะ เพราะฉะนั้นคนส่วนใหญ่ถ้าฟังเผิน ไม่อยากมีโทสะ ใช่ไหม เป็นไปได้ไหม

    อ.วิชัย ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ลืม ข้ามความสำคัญว่าอารักขาที่นี่หมายความว่าให้ถึงความเข้าใจถูกว่าเป็นธรรมคืออุปนิพันธด้วย จนกระทั่งสามารถฟังเรื่องธรรม ถ้าขณะนั้นรู้ว่าเป็นโทสะเป็นสิ่งที่ไม่ดีนั่นก็ยังไม่เข้าถึงความเป็นธรรม แต่ว่าในขณะที่โทสะนั้นกำลังปรากฏอาการของโทสะ มีความเห็นถูกความเข้าใจถูกว่านั่นเป็นธรรม นี่คือประโยชน์สูงสุดของการฟังธรรม ทุกวันๆ เพื่อให้สามารถรู้ว่าขณะนั้นก็เป็นลักษณะของธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ค่อยๆ สะสมการเข้าใจว่าเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้นขณะนี้ก็มีธรรม และก็ฟังเรื่องธรรม แต่ถึงกาลที่จะเข้าใจลักษณะที่เป็นธรรมของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ หรือยัง ถ้าไม่ใช่โทสะก็เป็นเห็นก็เหมือนกันใช่ไหม ก็คือเป็นธรรมทั้งนั้น

    อ.วิชัย ขณะนั้นก็ทราบว่าความรู้ความเข้าใจก็ยังไม่เพียงพอ ก็เพียงแค่รู้แต่ยังไม่ใช่เป็นการรู้ในลักษณะความเป็นธรรมจริงๆ เพียงทราบว่ามีความขุ่นใจเกิดขึ้น แต่ไม่ใช่เป็นการถึงการรู้ลักษณะจริงๆ ของโทสะนั้นจริง

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะว่าโทสะนั้นก็ดับแล้วในขณะที่กำลังคิด เพราะฉะนั้นก่อนที่โทสะนั้นจะดับมีลักษณะอาการที่ปรากฏแล้วเริ่มเข้าใจ นี่ก็คืออุปนิพันธโคจร อารมณ์ที่ทำให้สามารถที่สติสัมปชัญญะจะเกิด และรู้เฉพาะลักษณะที่เป็นธรรม

    ผู้ฟัง ถ้าจะเป็นคนดีก็ต้องเป็นตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ในรายละเอียดที่จะเป็นอย่างนี้จะอย่างไร

    ท่านอาจารย์ กำลังเป็นคนดีที่ฟังธรรม แต่ต้องเป็นผู้ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมซึ่งขณะนี้เกิดดับแต่ละทวาร

    ผู้ฟัง นั่นหมายความว่า การเป็นคนดีจริงๆ แล้วถ้าเป็นขณะจิตก็คือเป็นกุศล และถ้าฟังธรรมเข้าใจก็จะเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งหมายความว่าถ้าจะเป็นคนดีเดี๋ยวนี้ก็แล้วแต่ว่า อย่างขณะนี้ถ้าตั้งใจฟัง จิตไม่แว๊บไปที่อื่น ก็กำลังฟังให้เข้าใจสิ่งที่เป็นธรรมขณะนี้ที่ปรากฏให้รู้ได้

    ท่านอาจารย์ ก็ฟังให้เข้าใจความละเอียดแล้วก็ความลึกซึ้งของธรรมซึ่งเป็นไปเพื่อรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏเพื่อละการยึดถือว่าเป็นเรา คุณอรวรรณมีอกุศลไหม

    ผู้ฟัง มากเลย

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรม หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ ก็ตอบได้ แต่เวลาที่อกุศลกำลังเกิดรู้ไหมว่าขณะนั้นเป็นธรรม

    ผู้ฟัง โดยมากก็ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ จนกว่าจะถึงขณะนั้น

    ผู้ฟัง ถ้าเช่นนั้นก็จะขออนุญาตไปที่ประเด็นที่ ๒ และขอนุญาตอ่าน “บางท่านก็อาจไม่ได้พิจารณาโดยละเอียดว่า ในการศึกษาธรรมมีตัณหาแอบแฝงอยู่ หรือไม่ เพราะเหตุว่าบางคนอาจพอใจที่เป็นผู้รู้ธรรม หรือว่าเป็นผู้ที่เก่ง แทนที่จะรู้เพื่อขัดเกลา ยิ่งรู้ก็ยิ่งละ นี้จึงจะเป็นการศึกษาธรรมที่ถูกต้อง”

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีสติสัมปชัญญะเกิดก็เพียงคิด หรือคาดคะเนเรื่องของโลภะ เรื่องของโทสะ เรื่องของวิบาก เรื่องของกุศล แต่ก็เป็นแต่เพียงความคิดจากการฟัง และก็สามารถที่จะรู้ว่าเป็นธรรมหลากหลาย แม้ว่าจะได้ยินได้ฟังอย่างนี้ก็ยังไม่รู้จักสักอย่างเดียวถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการที่จะพูดถึงธรรมก็ต้องตั้งแต่เริ่มต้นคือเรื่องราวของธรรมจนกระทั่งถีงสามารถเริ่มจะเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้

    ผู้ฟัง จริงๆ แล้วท่านอาจารย์ก็ให้เริ่มที่ละความเห็นผิดว่าธรรมนี้เป็นสัตว์ตัวตน หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใด ให้เริ่มต้นเข้าใจก่อนว่าจริงๆ แล้วเป็นธรรม แต่ละลักษณะที่เกิดตามเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไปไม่กลับมาอีกเลยในสังสารวัฏฏ์

    ท่านอาจารย์ พูดถึงโลภะขณะนี้ก็มีโลภะแต่ก็ไม่รู้ จนกว่าจะรู้ลักษณะที่เป็นธรรมแต่ละอย่าง

    ผู้ฟัง กำลังเข้าใจสิ่งที่กำลังฟังก็คือเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้

    ท่านอาจารย์ เราจึงต้องเรียน จิตขณะเห็นมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร ฟังทำไม เพื่อเห็นถูกว่าเป็นธรรม บังคับบัญชาไม่ได้ที่จะไม่ให้เจตสิกทั้ง ๗ ประเภทนี้เกิดร่วมกับจิตเห็น แต่หลังเห็นแล้วก่อนที่จะมีการได้ยิน สิ่งที่ปรากฏทางตายังไม่ได้ดับไป ทั้งๆ ที่มีอายุสั้นมาก อวิชชา และโลภะก็เกิดเป็นปกติมากกว่ากุศล จนกว่ากุศลจะมีกำลังที่สามารถจะเกิดได้แทนอกุศล

    เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เพียงพูดเรื่องตำรา แต่ว่าทั้งหมดที่ฟังถึงความละเอียดก็เพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตาว่าธรรมเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่เรา เป็นธาตุแต่ละอย่าง

    ผู้ฟัง สิ่งนี้ก็เป็นตัวอย่างคือถ้าเข้าใจขั้นฟังความเข้าใจนั้น ก็จะเห็นความเป็นธรรมไม่ใช่สัตว์ตัวตนมากขึ้น

    ท่านอาจารย์ คือเข้าใจ เข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้จากการฟังแล้วค่อยๆ เข้าใจว่าเป็นธรรมจนกว่าจะรู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏให้รู้ได้ เป็นธรรมดาเป็นปกติ ธรรมคือขณะนี้ฟังให้เข้าใจเป็นปกติ เพราะว่าเมื่อเกิดแล้วปฏิสนธิ ดับไป ต่อจากนั้นเป็นปวัตติ ต้องมีความเป็นไปซึ่งปฏิสนธิประมวลมา ไม่ว่าจะเห็น หรือจะหลับไม่เห็น และหลับแล้วก็ตื่นขึ้นมาได้ยินแล้วก็คิดนึก ทั้งหมดแต่ละขณะเป็นไปตามปัจจัยที่ได้สะสมมาทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้นชีวิตก็คือปฏิสนธิเกิดแล้วก็ต้องเป็นไปซึ่งเราก็เห็นว่าไม่มีใครสามารถที่จะเลือกได้เลยแต่ละชีวิต แม้กระทั่งถึงขณะสุดท้ายคือจุติจิตเกิดที่จะพ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ขณะไหนก็ได้ นี่คือให้มีความเข้าใจที่มั่นคงว่าเป็นธรรมที่มีลักษณะที่หลากหลาย ยิ่งฟังยิ่งเข้าใจว่าเป็นธรรมจนกระทั่งสามารถที่จะเริ่มเข้าใจธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นปกติทุกอย่างถ้าผิดปกติก็คือเป็นเราด้วยความไม่รู้ หรือว่าด้วยความต้องการ

    ผู้ฟัง จริงๆ แล้วทุกสิ่งที่ท่านอาจารย์กล่าวก็มีลักษณะที่ปรากฏให้รู้ได้ คือก็จะบอกว่าเป็นตัวอย่างที่บอกให้รู้ว่าเมื่อห้าปีที่แล้วกับขณะนี้ การฟังเข้าใจก็ทำให้เข้าใจว่า ฟังสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้มากขึ้นกว่าไปคิดว่าศัพท์คำนี้เขามีคำจำกัดความว่าอย่างไรโดยที่ไม่ได้ใส่ใจลักษณะที่ปรากฏขณะนี้

    ท่านอาจารย์ เห็นความละเอียดของความคิดไหม แม้แต่จะได้ยินว่าก่อนอื่นที่จะสนทนาธรรมที่จะเข้าใจธรรมก็ต้องรู้ว่าธรรมคืออะไร ก็กลายไปเป็นทฤษฎีว่าต่อจากนี้ไปพอได้ยินคำอะไรก็ต้องคืออะไร เห็นไหม นี่คือความหลากหลายของความคิดจนกว่าจะเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ ที่รู้ว่าการฟังธรรมนั้น เพื่อไตร่ตรอง และให้เข้าใจความจริงของธรรมไม่ใช่ให้ต้องไปตั้งเป็นทฤษฎีว่าพอพูดถึงอะไร ก็นั่นคืออะไรๆ แต่ที่พูดอย่างนี้หมายความว่าให้รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร หรือคืออะไร แต่ไม่ใช่ให้พอถึงอะไรก็คำถามว่าคืออะไร แต่ว่าถ้าจะพูดถึงสิ่งที่เราไม่รู้ เสียเวลา เสียประโยชน์ พูดไปก็ไม่รู้

    ถ้าจะพูดเรื่องปฏิจจสมุปปาทะแล้วก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรมเดี๋ยวนี้ ก็ไปนั่งคิดว่าปฏิจจสมุปปาทะคืออะไร ก็มาใหม่อีกรูปแบบหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นว่าความคิด และการสะสมมาที่จะคิดอย่างนี้ก็จะตามไปเรื่อยๆ จนกว่าฟังเข้าใจว่าการฟังธรรมนี้เพื่อให้มีความเข้าใจก่อนตามลำดับขั้นเช่น “ธรรมคืออะไร” ไม่ใช่ไปตั้งคำถามแต่ฟังแล้วรู้ไหม ตั้งแต่ฟังมาว่า “ธรรมคืออะไร” คือสิ่งที่มีจริงๆ ขณะนี้มีความมั่นคงแค่ไหนที่จะรู้ว่าทุกอย่างที่มีลักษณะที่ปรากฏว่ามีเป็นธรรมแต่ละอย่างๆ

    อ.กุลวิไล เชิญคุณวิชัย

    อ.วิชัย ท่านอาจารย์กล่าวถึงว่า “คุณของแม้แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือแม้สาวก หรือแม้ผู้ที่แสดงธรรม ผู้ฟังก็ไม่ใช่เพียงแค่ชื่นชม และก็อนุโมทนาเท่านั้น” แต่ที่สำคัญ การแทนคุณที่ดีที่สุดคือต้องประพฤติปฏิบัติตาม ก็ฟังคำว่า “ประพฤติปฏิบัติตาม” ก็ฟังผ่านๆ ก็ดูเหมือนจะเข้าใจ แต่ถ้ากล่าวโดยความละเอียดแล้วสภาพของจิตใจนี้ ถ้าบุคคลเพียงฟังแต่ไม่มีความจริงใจ หรือว่าใส่ใจที่จะเข้าใจ สิ่งนั้นก็อาจเพียงฟังแล้วผ่านๆ แต่ความหมายของคำว่า “ประพฤติปฏิบัติตาม” จะมุ่งหมายถึงความมีความใส่ใจสนใจ หรือว่าเพื่อความรู้พิเศษอย่างไร

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าบางคนศึกษาธรรมแบบวิชาการที่ต้องการเพียงความรู้อย่างหนึ่ง แต่ไม่ได้คิดถึงประโยชน์ของการที่เข้าใจ แล้วเมื่อเข้าใจแล้วมี หรือที่จะไม่ประพฤติปฏิบัติตามเท่าที่จะเป็นไปได้ตามกำลังของความเข้าใจ

    เพราะฉะนั้นนี่ก็เป็นความละเอียดที่คุณวิชัยกล่าวถึง ก็เป็นประโยชน์ที่ว่าบางคนฟังแล้วว่าธรรมไม่ใช่เพียงฟัง แต่ว่าสำหรับประพฤติปฏิบัติตามก็ดูสั้นไป แต่ต้องไม่ลืมว่า “ธรรมเป็นอนัตตา” ไม่มีใครสามารถจะเป็นตัวตนที่จะประพฤติปฏิบัติตามได้ แต่ที่จะประพฤติปฏิบัติตามได้เพราะมีปัญญาความเห็นถูก และเห็นประโยชน์ของสิ่งนั้น แล้วแต่ว่าจะมีความเห็นถูกมากน้อยประการใด การประพฤติปฏิบัติตามก็ตามกำลังของปัญญา ไม่อย่างนั้นฟังเผินๆ ได้ยินแล้วก็จะประพฤติปฏิบัติตาม แล้วจะประพฤติปฏิบัติตามอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ละเอียด

    ผู้ฟัง การฟังธรรมแค่ให้รู้เรื่องราว รู้ให้จริง รู้ให้ตรงก็มีประโยชน์มาก มีศิษย์เหมือนกัน ศิษย์คนที่หนึ่งในสถานธรรมนี่บอกว่า “ท่านอาจารย์สอนปริยัติไม่ได้สอนปฏิบัติ เขาต้องไปเรียนที่อื่น” ศิษย์คนที่สองบอกว่า “ท่านอาจารย์สอนปฏิบัติไม่ได้สอนปริยัติ ก็ต้องไปเรียนที่อื่นอีก” แล้วศิษย์คนที่สามบอกว่า “ท่านอาจารย์สอนปรมัตถธรรมไม่ชักจูงเด็กเข้าวัดทำให้ศาสนาหมดเร็ว”

    อยากให้ท่านอาจารย์ชี้แจงศิษย์ทั้งสามคนนี้

    ท่านอาจารย์ ปริยัติคือพระพุทธพจน์ เพราะฉะนั้นการศึกษาปริยัติคือการศึกษาพระพุทธพจน์ซึ่งแสดงถึงธรรมที่มีจริงให้เกิดความเข้าใจถูก เป็นการรอบรู้จริงๆ จนกว่าจะมีการมั่นคงมั่นใจว่าเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้นถ้าจะใช้คำว่า “ปฏิบัติธรรม” ก็คือยังไม่รู้ว่าปฏิ ปัตติคืออะไร เพราะฉะนั้น ปฏิ ปัตติ จะมีไม่ได้ถ้าไม่มีปริยัติ ด้วยเหตุนี้พระธรรมที่ทรงแสดงคือ ปริยัติ ปฏิปัตติ และปฏิเวธตามลำดับขั้น ไม่ได้ทรงแสดงว่าปฏิเวธก่อนแล้วจึงเป็นปฏิบัติแล้วถึงจะเป็นปริยัติ หรือแม้แต่จะกล่าวว่าปฏิบัติก่อนแล้วถึงจะรู้เป็นปริยัติก็ไม่ใช่ เพราะเหตุว่าทุกคนเกิดมามีความไม่รู้ และจะมีการรู้ได้โดยการศึกษา

    เพราะฉะนั้นการศึกษาทุกอย่างไม่ว่าจะเรียนเรื่องอะไรก็เพื่อรู้เพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังเรียน เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง มีใครบ้างที่จะรู้ และเข้าใจโดยไม่ศึกษา ปริยัติคือพระพุทธพจน์แต่ละคำมีใครที่จะรู้โดยไม่ศึกษา แม้แต่คำว่า “ธรรม” ถ้าจะถามว่าคืออะไรสำหรับผู้ที่ไม่ศึกษาจะตอบได้ไหมว่า ขณะนี้เป็นธรรม ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม

    และพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงก็ทรงแสดงความจริงของธรรมคือสิ่งที่มีจริงทั้งหมดโดยประการทั้งปวงเพื่อให้ผู้ที่ได้ฟังมีความเข้าใจที่มั่นคงเป็นสัจจญาณ ว่าขณะนี้เป็นธรรม ทุกอย่างเป็นธรรม ไม่มีใครสามารถที่จะเป็นเจ้าของ หรือว่าทำให้เกิดขึ้นได้ บังคับบัญชาไม่ได้สักอย่างเดียว

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรมเพื่อมีความเข้าใจ และขณะที่กำลังเข้าใจเรื่องราวมีความรอบรู้ในปริยัติที่ตรง ที่จะไม่ผิดพลาด เป็นปัจจัยให้มีการเริ่มเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ทรงแสดงเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องสติ เรื่องปัญญา พูดเองไม่ได้ คิดเองก็ไม่ได้แต่ละอย่าง เพราะฉะนั้นขณะนี้มีสภาพธรรมที่เป็นจิต และเจตสิกเกิดพร้อมกันดับพร้อมกัน แล้วใครจะรู้ถ้าไม่ศึกษา แล้วจะไปปฏิบัติอะไร จะรู้อะไร

    เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องแต่ละคนที่สะสมมา เพราะฉะนั้นก็ขออนุโมทนาในบุญแต่ปางก่อนของแต่ละคนที่สะสมความเป็นผู้ตรง เป็นผู้ที่มีเหตุผล และก็มีความมั่นคงในการที่จะเข้าใจธรรมเพื่อละคลายความไม่รู้ เพราะว่าอกุศลทั้งหลายมี เกิดขึ้นเพราะความไม่รู้ไม่ใช่เพราะความรู้ที่ถูกต้อง

    เพราะฉะนั้นตราบใดที่ยังมีอกุศล หรือมีความไม่รู้อยู่ อกุศลนั้นก็ไม่มีทางที่จะดับได้ แล้วใครชอบอกุศลบ้าง ทุกคนก็บอกไม่ชอบแต่มี ไม่ชอบก็มีๆ ไปเรื่อยๆ ก็แสดงให้เห็นว่ายังไม่พบหนทางที่จะทำให้รู้ความจริงซึ่งจะทำให้อกุศลนั้นสามารถที่จะถึงการดับได้ไม่เกิดอีก ลองคิดถึงคำที่ได้ฟังอกุศลที่สะสมมานานแสนนานประมาณไม่ได้ ถ้าจะใช้คำก็คือว่าแสนโกฏิกัปป์ก็ยังไม่พอกับการที่สภาพธรรมเกิดดับสืบต่อด้วยความไม่รู้ สะสมมาที่จะแม้เกิดก็ไม่รู้ต่อไปอีก ตายแล้วก็ไม่รู้ต่อไปอีก เกิดขึ้นมาก็ไม่รู้ต่อไปอีกเรื่อยๆ กับการที่สามารถที่จะเห็นถูกเข้าใจถูกจนถึงการดับกิเลสซึ่งมีอยู่ในจิตสืบต่อนอนเนื่องทุกขณะได้ไม่เกิดอีก

    เพราะฉะนั้นถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่รู้จักพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เคยอุปมาว่า “เหมือนพระอาทิตย์สว่างด้วยปัญญา” แต่ชาวโลกนี้ไม่รู้จัก แต่ว่าพระธรรมที่ทรงแสดงอุปมาเหมือนกับแสงอาทิตย์ไกลแสนไกลมาจากดวงอาทิตย์ แต่สำหรับผู้ที่เห็นประโยชน์ก็สามารถที่จะศึกษาจนกระทั่งมีการเข้าใจว่าแสงนี้มาจากพระอาทิตย์ หรือมาจากดวงอาทิตย์ ไม่ใช่มาจากความคิดของเราเอง ไม่มีใครสามารถที่จะคิดอย่างนี้ได้

    เพราะฉะนั้นคนที่ได้สะสมมาก็เห็นคุณค่ามหาศาลยิ่งใหญ่กว่าอย่างอื่นที่มีโอกาสได้ฟัง และเข้าใจพระธรรม แต่ต้องเริ่มจากการฟังไม่ใช่ปฏิบัติแล้วก็ไม่มีปริยัติ และเมี่อมีการฟังเข้าใจแล้วปัญญาก็ค่อยๆ เจริญขึ้น เจริญจนกระทั่งสามารถที่จะรู้ความจริงในขณะนี้ที่กำลังปรากฏ นี่จึงจะเป็นปัญญา แต่ถ้าไม่สามารถที่จะมีความเห็นถูกความเข้าใจถูกในขณะที่สิ่งนี้กำลังปรากฏเป็นปัญญา หรือเป็นอวิชชา

    เพราะฉะนั้นแม้ปัญญาแต่ความรู้ความเห็นถูกซึ่งสามารถอบรมเจริญได้ บุคคลที่มีความเข้าใจผิดก็ไม่รู้ว่าเมื่ออบรมแล้วเจริญแล้วสามารถที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้เองจึงชื่อว่าเป็นปัญญา เพราะฉะนั้นถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้ทั้งหมดปิดกั้นการเจริญขึ้นของปัญญา เพราะคิดว่าปัญญาไม่สามารถจะรู้ความจริงของสิ่งกำลังปรากฏในขณะนี้ได้ แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระสาวกทั้งหมดรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่ไปรู้สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือว่าสิ่งที่ล่วงไปแล้วแต่ขณะที่สิ่งนี้กำลังปรากฏอย่างนี้เองสามารถที่มีการจะเริ่มเข้าใจถูก จนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสได้

    ด้วยเหตุนี้ใครก็ตามที่คิดว่าไม่ต้องศึกษาพระธรรม ไม่รู้จักพระรัตนตรัย ไม่รู้จักพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และใครที่คิดว่าจะปฏิบัติโดยที่ไม่ศึกษาธรรม ปฏิบัติเพื่อรู้อะไร ตอบได้ไหมว่าเพื่อรู้อะไร สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้รู้ได้ไหม ถ้าไม่รู้นั่นชื่อว่าปัญญา หรือ เพราะฉะนั้นถ้าปฏิบัติไม่ใช่การที่อบรมจนกระทั่งปัญญารู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ ปฏิบัติคืออะไร ก็คือความไม่รู้

    ผู้ฟัง คิดไม่เหมือนกัน สามคนสามแบบ ก็แสดงว่าแค่เรื่องราวก็ไม่รู้แล้ว แล้วจะมีทางจะไปถึงรู้ปรมัตถ์ได้ไหม หมดทางแล้ว

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็คิดถึงกาลวิบัติ ไม่ใช่กาลสมบัติ ไม่ใช่สมัยคนที่ได้อบรมเจริญปัญญาเพียงฟังพระธรรมก็สามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏแล้วละการยึดถือว่าเป็นเรา ไม่ใช่เพียงแต่เข้าใจ ยังต้องถึงการละการยึดถือว่าเป็นเราด้วย ธรรมละเอียดมากมีศรัทธาในกุศล ก็เป็นกุศลที่ให้ผลระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นถ้าเป็นการทำกุศลซึ่งไม่ใช่เพียงแต่มีศรัทธาเท่านั้นไม่ต้องกล่าวถึงใช่ไหมว่าประโยชน์ต้องมากกว่าเพียงการที่มีศรัทธาในกุศล


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 183
    16 ม.ค. 2567