พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 675


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๗๕

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๓


    ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นความจริง รู้ว่าเป็นยุงลายเป็นจริง หรือไม่ เป็นธรรม หรือไม่

    ผู้ฟัง รู้ ความรู้นั้นว่าเป็นยุงลาย เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่คุณวีระ แต่หลังจากเห็นแล้วคิด ไม่ว่าใคร ไม่ว่าจะเป็นคน เป็นสัตว์ใดๆ ทั้งสิ้น แม้ผู้ที่หมดกิเลสแล้วเห็นก็ต้องคิด มิฉะนั้นจะไม่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร เพราะฉะนั้นการคิดเป็นธรรมดา แต่มีกิเลสที่ยังไม่ได้ดับ หรือว่าได้ดับกิเลสแล้ว แม้เห็นก็ไม่มีกิเลสที่จะเกิดเหมือนคนที่ยังไม่ได้ดับกิเลส พอเห็นกิเลสเกิดก็ยังไม่รู้ว่าเป็นกิเลส เพราะฉะนั้นเรื่องความไม่รู้นี้มาก จะค่อยๆ ลดคลายไปได้ก็ด้วยการเข้าใจธรรมละเอียดขึ้น

    ผู้ฟัง ใช่ขณะนั้นก็เห็นเป็นยุงแน่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นกำลังเห็นยุงลายก็เป็นธรรม เดี๋ยวนี้ไม่มีใช่ไหม ยุงลาย

    ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้ไม่มี เดี๋ยวกลับไปก็ต้องมียุงลายแล้ว

    ท่านอาจารย์ นี่คิดถึงอนาคตแล้ว และถ้าต่อไปมีสิ่งอื่นที่ไม่ใช่ยุงลาย อุตส่าห์คิดว่าจะเห็นก็ไม่เห็น เสียเวลาใช่ไหม บางคนก็บอกว่าเป็นอนัตตาก็ดีเราทำอะไรก็ได้เพราะเป็นอนัตตา นั่นก็ไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นธรรม ความเห็นนั้นถูก หรือผิด รู้จริงๆ หรือไม่ หรือเพียงแต่จำว่าเป็นอนัตตา แต่ตัวเรากำลังจำแล้วยังคิดด้วยว่าจะทำอะไรก็ได้เพราะเป็นอนัตตา

    ผู้ฟัง ฉะนั้นการฟังขณะนี้มีธรรมเกิดขึ้นแน่นอนอยู่แล้วหลายๆ อย่าง ซึ่งก็ไม่รู้อยู่ดี

    ท่านอาจารย์ จนกว่าจะรู้ แสดงว่าธรรมเกิดดับเร็วมาก เป็นอดีตไปแล้ว และอนาคตก็เป็นปัจจุบันแล้วก็เป็นอดีตไปอีก โดยไม่รู้ เพราะฉะนั้นเห็นพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจากไม่รู้เป็นค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    อ.กุลวิไล ขอความหมายของคำว่า “สติ” ด้วย

    อ.วิชัย สติเป็นธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเป็นธรรมที่ดีงาม แต่ว่าโดยสภาพของสติก็เป็นสภาพที่ระลึกได้ อย่างเช่นบางครั้งเรากระทำกุศลเป็นประจำ หรือว่าฟังพระธรรมตอนเช้า มีความระลึกได้ไหมว่าเวลานี้ที่จะฟังพระธรรม สิ่งนี้ก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแต่ว่าเราสามารถที่จะพิจารณาถึงแม้ขณะนี้ที่ฟังพระธรรม ขณะใดก็ตามที่เป็นกุศลจิตมีสติเกิดร่วมด้วย คือระลึกได้ขณะนี้กำลังฟังพระธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นการฟังธรรม เพื่อละไม่ใช่เพื่อต้องการ หรือว่าเพื่อติด หรือว่าเพื่อได้ ละความไม่รู้ ละความไม่เข้าใจ ละความสงสัย ละความติดข้อง เพราะฉะนั้นการฟังธรรมไม่ใช่เพื่อประโยชน์คือเราจะได้อะไร จะมีสติปัฏฐาน หรืออะไรอย่างนั้น แต่ฟังเพื่อเข้าใจสิ่งซึ่งกำลังมี และไม่สามารถที่จะรู้ได้ด้วยตัวเอง และขณะที่กำลังฟังก็พิจารณาคือไม่ใช่เรา แต่สะสมที่จะรู้ว่าพระธรรมที่ทรงแสดงประโยชน์คือผู้ฟังเกิดความเข้าใจ

    เพราะฉะนั้นไม่ว่าฟังธรรมที่ไหนไม่ใช่ทำตามคำบอกเล่า โดยที่ไม่รู้ไม่เข้าใจสิ่งที่มี ที่กำลังปรากฏ ด้วยเหตุนี้ถ้ายังไม่มีการเข้าใจพอ พูดถึงสติปัฏฐานก็เป็นแต่เพียงคำ และคำแปล แต่ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าสติปัฏฐานจริงๆ เป็นอนัตตา ถ้าไม่มีความเข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่มีทางที่สติปัฏฐานจะเกิดได้ จะอยากสักเท่าไรก็ไม่เกิด อยากจะเข้าใจแต่ด้วยความเป็นเรา เราจะเข้าใจ ก็ไม่เข้าใจว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้นการฟังธรรมจึงต้องละเอียด และมั่นคงในการที่จะรู้ว่า เพื่อละความไม่รู้ เพื่อละความสงสัย เพื่อละความติดข้อง ไม่ใช่เพื่อความต้องการใดๆ ทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ภาษาไทยที่ใช้คำว่า “สติ” ลองคิดดูว่าใช้อย่างไรบ้าง

    ผู้ฟัง ก็เข้าใจว่าระลึกได้ คิดได้

    ท่านอาจารย์ คนธรรมดาคิดอย่างนี้ หรือไม่ “สติคือระลึกได้” คนธรรมดาคิดอย่างนี้ หรือไม่ ระลึกอะไรได้ ระลึกว่า “วันก่อนไปเที่ยวที่หัวหิน” อย่างนี้ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นคนธรรมดาๆ เวลาใช้คำว่า “สติ” แล้วใช้คำว่า “ระลึกได้” นี้จะเข้าใจว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง คนธรรมดาก็เข้าใจว่าตอนนี้กำลังมีสติ มีสมาธิในการทำงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้เสร็จสิ้น ถ้าอย่างบางคนไม่มีสติเดินไปก็จะหกล้มได้ เตะโดนก้อนหินอะไรอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ แสดงว่าไม่ได้ศึกษาธรรมถ้าพูดอย่างนั้นก็เข้าใจอย่างนั้น แต่พอเริ่มศึกษาบ้างนิดๆ หน่อยๆ ก็เริ่มจะเปลี่ยนคำพูดใช่ไหม เช่นสติระลึกที่แข็ง นี่เปลี่ยนคำพูดแล้ว ทำไมระลึกที่แข็ง

    ผู้ฟัง ก็ในขณะนั้นมีสภาพแข็งที่เป็นธรรมปรากฏ

    ท่านอาจารย์ แล้วระลึกทำไม

    ผู้ฟัง สติระลึกได้ว่าแข็งเป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยแล้วดับ แล้วมีลักษณะเฉพาะตัวของธรรมแต่ละอย่างซึ่งแตกต่าง

    ท่านอาจารย์ กำลังพูดอยู่เดี๋ยวนี้มีแข็งปรากฏไหม

    ผู้ฟัง มีแข็งปรากฏ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นในขณะนี้ที่พูดยาวๆ อย่างนี้ก็ยังมีแข็งที่ปรากฏ กำลังรู้ตรงแข็งนั้น หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่รู้ทุกขณะ

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่รู้จะบอกว่ามีแข็งปรากฏได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็เป็นความตรงของการที่จะเข้าใจสติปัฏฐานซึ่งเป็นสติสัมปชัญญะ ซึ่งต้องมีความเห็นถูกในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังจนกระทั่งสามารถที่เริ่มรู้ลักษณะที่ปรากฏเฉพาะแต่ละอย่าง เพราะฉะนั้นผู้ตรงก็คือว่าเดี๋ยวนี้ฟังธรรมแล้ว และแข็งก็มีในชีวิตประจำวัน กำลังรู้แข็ง หรือไม่ นี่คือความตรง

    ผู้ฟัง ตอนนี้มีแข็ง กำลังรู้แข็ง

    ท่านอาจารย์ กำลังรู้แข็งเพราะได้ยินคำว่า “แข็ง” หรือเพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะว่าแข็งมีจริง

    ท่านอาจารย์ เพราะเลือกให้สติรู้ตรงนั้น ตรงนี้ได้ไหม เพราะฉะนั้นความเป็นปกติเห็นไหมปกติเราคิด หรือไม่ คิด แล้วคิดเรื่องอื่นใช่ไหม แต่มีปัจจัยที่จะทำให้คิดถึงแข็ง ปกติ เพราะฉะนั้นคิดเรื่องแข็งเป็นปกติไหม

    ผู้ฟัง ปกติ

    ท่านอาจารย์ เหมือนคิดเรื่องอื่น ต้องเห็นความเป็นปกติของธรรม แต่ขณะที่กำลังรู้ที่แข็ง รู้เป็นความปกติ หรือไม่ว่าขณะนั้นไม่ใช่เราที่กำลังรู้ เพราะฉะนั้นกว่าจะเป็นความเข้าใจขึ้นในลักษณะ ใช้คำว่า “ตามรู้” สตินี้ ไม่ใช่ตามรู้สิ่งที่หมดไป

    ตามรู้ คือสิ่งใดกำลังปรากฏ รู้ทันทีไม่มีเวลาที่จะรีรอ หรือจะต้องไปคิดอะไรถึงจะเห็นความเป็นอนัตตาของสติ ซึ่งจากฟังแล้วรู้ว่าแข็งมีจริงเกิดขึ้นปรากฏเล็กน้อยแล้วหมดไป เพียงปรากฏว่าเป็นหนึ่งขณะหนึ่งอย่างในสังสารวัฏฏ์แล้วก็ไม่กลับมาอีก จึงสามารถที่จะค่อยๆ คลายเยื่อใยความติดข้อง การยึดถือในสิ่งที่แข็งว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง แล้วทำให้เกิดในความยินดีติดข้องขึ้น

    เพราะฉะนั้นปัญญาก็มีหลายระดับ และกว่าปัญญาที่จะค่อยๆ เห็นประโยชน์ว่าไม่ใช่มุ่งไปให้รู้ลักษณะแข็ง เพราะว่าใครก็รู้แข็งได้แต่ไม่เข้าใจแข็ง ถูกต้องไหม ใครก็รู้ลักษณะของแข็ง และรู้ขณะที่สติสัมปชัญญะเกิดโดยความเป็นปัจจัยเป็นปกตินิดหนึ่งก็รู้ได้ แต่ไม่สามารถที่จะละความติดข้องในแข็งว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด จนกว่าลักษณะนั้นจะปรากฏกับปัญญาที่รู้เฉพาะสิ่งนั้น ไม่มีสิ่งอื่นเลย คำว่า “เลย” คือในขณะที่อย่างอื่นก็ไม่มีด้วย

    เพราะฉะนั้นเรื่องของการฟังเป็นเรื่องการละ ไม่ใช่ยิ่งไปพยายามทำให้เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ละเพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่ตรงว่าขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ พูดเรื่องสติปัฏฐาน พูดเรื่องสติสัมปชัญญะ แต่มีปัญญาที่สามารถทำให้เป็นปัจจัยที่สติจะเกิดโดยความเป็นอนัตตา ที่จะรู้ลักษณะนั้นโดยไม่หวั่นไหว และขณะนั้นก็รู้ว่าเป็นธรรมที่เป็นธรรมดาแต่รู้ตามความเป็นจริงว่ายังไม่ได้ละเยื่อใย หรือการยึดถือในสภาพธรรมนั้น เพราะเหตุว่าจะละได้ก็ต่อเมื่อสภาพธรรมนั้นปรากฏการเกิดขึ้น และดับไป ก็เป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆ เข้าใจแต่ว่าไม่ใช่พอได้ยินก็อยากจะรู้อยากจะเข้าใจ แล้วไปเพียรที่จะให้มีสิ่งนั้น โดยที่ว่าไม่ใช่การเข้าใจธรรมเพื่อละความเป็นตัวตน

    อบรมเพื่อละ เพื่อคลายความติดข้อง ถ้าติดข้องยังไม่รู้ก็ไม่ต้องไปคำนึงถึง สติปัฏฐานเกิดบ้างไหม บางคนก็ชอบถามกัน เกิดกี่ครั้ง สติปัฏฐานรู้อะไร ชื่อเป็นกาย หรือเวทนา หรือจิต หรือธรรม นั่นไม่ไม่มีประโยชน์เพราะว่าไม่ได้ละอะไร กำลังฟังขณะนี้กำลังละอะไรบ้าง หรือไม่ ละความไม่รู้ซึ่งเกิดจากการไม่เคยฟัง รู้ว่าเป็นธรรมทั้งนั้นแต่ไม่ได้ปรากฏ เวลาที่สติเกิดขณะนั้นต้องเป็นสภาพธรรมที่ดีงาม ขณะนั้นต้องมีโสภณเจตสิกที่ดีงามเกิดร่วมด้วย แต่เหมือนสิ่งที่มีในความมืด เพราะแม้มีก็ไม่ได้เห็นตามความเป็นจริงแต่ละลักษณะ เพียงแต่เริ่มฟัง และเริ่มเข้าใจว่าจริงๆ เป็นธรรมซึ่งละเอียดทุกขณะ ไม่ใช่ตัวตน ฟังจนกว่าจะเป็นความเข้าใจขึ้นเท่านั้น และความเข้าใจที่ถูกต้องก็จะมีความมั่นคงขึ้นกระทำกิจของความเข้าใจถูกคือปัญญาตามลำดับขั้นของกำลังของปัญญา เพื่อละ

    อ.กุลวิไล จะเห็นถึงความเข้าใจในการฟัง ฟังเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงที่จะเป็นปัจจัยให้สติเกิดรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงเป็นปกติ เพราะว่าไม่มีเราที่จะทำ หรือที่จะรู้ แต่สิ่งเหล่านี้ที่มีในขณะนี้ ก็แล้วแต่ว่ามีธรรมใดปรากฏไม่พ้น ๖ ทาง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจซึ่งก็ต้องมีสิ่งที่เป็นจริง และเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ได้รับฟังจากท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านก็เล่าว่าท่านเห็นประโยชน์จากการที่ไม่เคยเข้าใจว่าอะไรเป็นธรรม และก็มีการฟังแล้วเริ่มเข้าใจขึ้น ท่านเห็นประโยชน์ท่านก็ชักชวนมิตรสหายให้ฟัง ท่านผู้นั้นก็มาฟังแต่ว่าไม่ชอบ เพราะเหตุว่าท่านถาม แต่ดิฉันไม่ได้ตอบแต่ถามท่าน ท่านก็บอกว่าท่านมาถาม ต้องการคำตอบ เพราะฉะนั้นไม่ชอบที่จะถูกถาม แต่ท่านทราบไหมว่าถ้าไม่ถามจะรู้ไหมว่าท่านรู้ หรือไม่รู้อะไร ไม่มีทางเลยเพียงฟังแล้วมีคำถามก็ตอบ ถามก็ตอบ ถามมาก็ตอบไปแล้วคนฟังได้ประโยชน์อะไร

    ถ้าเป็นประโยชน์จริงๆ เป็นมิตรจริงๆ ต้องให้สิ่งที่ประเสริฐที่ถูกต้องคือความเข้าใจ จะมาก หรือจะน้อยก็ตามเพราะว่าการสนทนาธรรมก็ต้องมีทั้งถาม และตอบ และถ้าไม่มีการสอบถามจะรู้ได้อย่างไรว่าผู้ฟังๆ แล้วเข้าใจถูกเข้าใจผิดมากน้อยแค่ไหน และคำตอบต้องมาจากการคิด ถ้าท่านไม่คิดเลยท่านจะตอบได้ไหม ก็ตอบไม่ได้ใช่ไหม

    เพราะฉะนั้นความคิดเป็นการคิดด้วยความแยบคาย คิดแล้วตอบ หรือว่าไม่คิดเลยก็ตอบ หรือว่าคิดบ้างไม่คิดบ้างก็ตอบ นี่ก็แสดงถึงประโยชน์จริงๆ ว่าประโยชน์จริงๆ ต้องเป็นของผู้ฟัง และก็จะเป็นปัญญาของท่านผู้ฟังก็เป็นความคิดของท่านเอง เพราะฉะนั้นเมื่อถามท่านผู้นั้น ท่านที่ยินดีสนทนา ถามไปท่านก็ตอบมา ถามไปก็ตอบมา ในที่สุดก็เป็นคำตอบของท่านที่เป็นคำถามของท่าน เป็นคำตอบด้วยการคิดของท่านเอง ค่อยๆ คิดในที่สุดท่านก็ตอบคำถามนั้นได้ด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นต้องให้คนอื่นตอบแล้วท่านไม่รู้เพราะท่านไม่คิด

    อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์เคยถามว่า จุดประสงค์ของการถามเพื่ออะไร ต้องการคำตอบ หรือต้องการเข้าใจในสิ่งที่ฟัง เพราะถ้าเป็นความเข้าใจก็เป็นปัญญานั่นเอง เพราะถ้าต้องการคำตอบ ก็ต้องการจะรู้เพียงแค่คำตอบ แต่ไม่รู้สิ่งที่มีจริงในขณะนี้

    ท่านอาจารย์ ทุกคำถามท่านตอบได้จริงๆ ลองถามสักอย่างท่านตอบได้แน่นอนเพียงแต่ว่าท่านไม่เคยคิด ท่านก็เลยเหมือนกับว่าท่านไม่รู้แล้วท่านตอบไม่ได้ แต่เป็นเพียงคำถามให้ท่านคิด ก็คิดแล้วท่านก็ตอบได้

    ผู้ฟัง อยากรู้ว่า “ธรรมคืออะไร” ก็ศึกษาไปซึ่งบางครั้งในการเริ่มต้นปัญญายังไม่พอที่จะทราบว่าสิ่งนั้นใช่ตำราที่เป็นธรรมที่แท้จริง หรือเป็นประโยชน์ที่แท้จริงที่ทำให้เราเข้าใจธรรม หรือไม่

    ท่านอาจารย์ เพราะเรารู้ว่าไม่ว่าเราจะเรียนอะไรก็ตามเราก็ยังไม่ได้เข้าใจธรรม ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นคัมภีร์ที่ว่านั้นจะเป็นคัมภีร์ที่จะทำให้เราเข้าใจธรรม หรือไม่ คือไม่ใช่เราเอาคำมาแล้วเราก็คิด แต่จริงๆ แล้วคัมภีร์คืออะไร ถ้าเรารู้จัก เราก็สามารถที่จะรู้ได้ว่าที่เรากำลังศึกษา หรือเรากำลังฟังทำให้เราเกิดความเข้าใจอะไร ต่างจากที่เราไม่เคยเข้าใจ หรือไม่ โดยแม้ไม่ต้องเรียกว่า “คัมภีร์”

    คือการศึกษาธรรมนี้ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่เราไม่รู้อะไรแล้วก็ศึกษาทุกอย่าง หาว่าอะไรเป็นธรรม แต่ต้องรู้ว่าพระธรรมที่ทรงแสดงตรัสรู้โดยพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นพระธรรมที่ทรงแสดงจะไม่เหมือนคัมภีร์อื่น หรือไม่ ไม่ใช่ว่าทุกอย่างเป็นคัมภีร์หมด หรือว่าคัมภีร์อะไรในโลกนี้ทั้งหมด อะไรจะมีประโยชน์อะไรไม่มีประโยชน์ แต่ก็ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่าก่อนที่จะได้ฟังธรรมไม่เคยรู้เรื่องธรรม

    เพราะฉะนั้นเมื่อฟังธรรมแล้วก็รู้ว่าขณะนี้เป็นธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงหลังจากที่ได้ตรัสรู้แล้ว ๔๕ พรรษา เพราะฉะนั้นก็เป็นสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ เมื่อฟังที่ไหน อย่างไร จากไหนก็ตามแต่ หรือจะอ่านที่ไหน อย่างไรก็ตามแต่ สามารถจะทำให้เกิดความรู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าขณะนี้เป็นธรรม นั่นคือไม่ต้องไปเคร่งครัดอยู่กับคำว่าคัมภีร์ หรือว่าประโยชน์ หรือไม่มีประโยชน์ แต่ประโยชน์ไม่ว่าจากหนังสือ หรือจากวิทยุ หรือจากจากการสนทนาธรรมก็คือว่า “ทำให้เข้าใจสิ่งที่มีในขณะนี้” และก็ตรงกับพระธรรมที่ทรงแสดง และประมวลไว้เป็น ๓ ปิฏก และอรรถกถา เพราะฉะนั้นเราก็พอจะรู้ได้ใช่ไหมว่าอะไรมีประโยชน์ อะไรไม่มีประโยชน์

    ผู้ฟัง แต่ทีนี้ในผู้เริ่มศึกษาบางครั้งก็จะไม่สามารถทราบได้ว่า สิ่งนี้ใช่ หรือไม่ใช่ เพราะว่าทุกตำราที่สอน หรือทุกท่านที่สอนก็จะบอกว่า สิ่งนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า

    ท่านอาจารย์ คุณอรวรรณเห็นนี่มีจริงๆ หรือไม่

    ผู้ฟัง มีจริง

    ท่านอาจารย์ ถ้าสามารถที่จะเข้าใจเห็นควรเข้าใจไหม

    ผู้ฟัง ควรเข้าใจอย่างยิ่ง

    ท่านอาจารย์ มีประโยชน์ไหม

    ผู้ฟัง มีประโยชน์

    ท่านอาจารย์ นี่ก็คือเราไม่ต้องไปคิดว่าใครพูดเรื่องอะไร มีจริง หรือไม่มีจริงก็พิสูจน์ได้ด้วยตัวเอง ขณะนี้ก็มีเห็น มีคิด และก็มีความรู้สึกต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่มีจริง ถ้าสามารถจะเข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงได้ สิ่งนั้นก็ควรทึ่จะเข้าใจ ไม่ใช่ไปคิดว่าต้องเป็นตำราเล่มนี้ หรือว่าต้องคนนั้นเขียน แต่ว่าอะไรก็ตามที่ทำให้สามารถที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงในขณะนี้นั่นเป็นประโยชน์

    ผู้ฟัง แต่ในบางครั้งในการที่เริ่มต้นศึกษาผู้สอนก็ยังไม่ได้พูดถึงเห็นขณะนี้

    ท่านอาจารย์ แล้วพูดถึงอะไร

    ผู้ฟัง ก็เหมือนกับว่าไปทำอะไรเพื่อหาอะไรสักอย่าง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นคนฟังจะไปทำ ไปหาไหม ในเมื่อมีสิ่งที่กำลังปรากฏแล้วก็ไม่ได้เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง เมื่อไม่ศึกษาก็ดูเหมือนว่า เห็น ได้ยินแสนจะธรรมดาในชีวิตประจำวัน จะเป็นธรรมที่ควรรู้ยิ่งได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ แล้วพระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร เห็นไหม คนก็คิดไปตามแบบของคน และผู้ที่รู้ความจริงก็เห็นว่าสิ่งไหนที่คนอื่นควรจะรู้ด้วย

    ผู้ฟัง กลับมาสู่ว่าการที่จะฟังให้เข้าใจได้ว่า สิ่งที่เห็น สิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้ หรือว่าได้ยินเสียงขณะนี้เป็นธรรม หรือเป็นความจริงที่ควรรู้ยิ่ง ก็คือต้องสะสมในการที่จะฟังให้เข้าใจได้

    ท่านอาจารย์ แม้แต่วันนี้ หรือเมื่อวานนี้ หรือเมื่อวันก่อน และต่อไปเนี่ย คุณอรวรรณอยากจะเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ขณะนี้ หรือไม่ หรือว่าพอแล้ว ฟังแล้วก็เท่านั้นเอง หรือว่ายังไม่รู้ความจริงของสิ่งที่มีจริง และจะรู้ได้หนทางเดียว รู้ว่าคำสอนนี้สอนถึงความละเอียดยิ่งของสิ่งที่มี และกำลังมีด้วย ให้รู้ด้วย เมื่อไรที่ฟังเข้าใจก็เริ่มเข้าใจถูกขึ้นไม่ใช่คิดเอง

    ผู้ฟัง เมื่อยิ่งฟังมากก็จะทราบว่าธรรมลึกซึ้งเห็นได้ยาก และธรรมเห็นได้ยากเพราะลึกซึ้ง ยิ่งฟังก็จะยิ่งชัดว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะว่าท่านอาจารย์ก็พูดถึง เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ได้ยินเสียง สิ่งเหล่านี้ก็ปรากฏอยู่ขณะนี้ แต่ก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าเป็นธรรมอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ฟังไม่พอ ทุกคนฟังว่าขณะนี้เห็นมี เกิดเพราะเหตุปัจจัยก็ได้ยินได้ฟัง ไม่ใช่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง ถ้าไม่มีจักขุประสาทขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นจะปรากฏไม่ได้ ก็ฟังอีกเพราะว่าฟังบ่อยครั้งด้วย แล้วถึงแม้ว่าจะมีจักขุประสาทรูปที่สามารถที่จะกระทบสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นในขณะนี้ และก็มีสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ซึ่งต้องกระทบรูปนั้น และก็ต้องมีจิต ธาตุรู้เกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา จึงสามารถที่จะกำลังปรากฏอย่างนี้ในขณะนี้ได้ ฟังบ่อยๆ แต่ความลึกซึ้งคือชั่วขณะที่จิตเห็นเกิดแล้วดับอย่างอื่นมีไหมขณะนั้น ไม่มี แต่ความเป็นเรายังอยู่เต็มเป็นเรากำลังนั่ง แล้วก็กำลังเห็น แล้วก็กำลังฟัง

    เพราะฉะนั้นสภาพธรรมยังไม่ได้ปรากฏเป็นทีละ ๑ ลองคิดถึงธาตุซึ่งเราใช้คำว่า “จักขุวิญญาณธาตุ” ไม่ใช่ “โสตวิญญาณธาตุ” ไม่ใช่ธาตุอื่นๆ แต่เป็นธาตุชนิดหนึ่งเกิดเมื่อมีการกระทบกันของจักขุประสาทรูปกับสิ่งที่กำลังปรากฏ และต้องถึงกาลที่กรรมจะทำให้เห็นด้วย ถ้าไม่ถึงกาลที่กรรมจะทำให้เห็น ก็เห็นไม่ได้ และสิ่งที่ปรากฏให้เห็นก็เป็นสิ่งที่น่าพอใจบ้าง ไม่น่าพอใจบ้างเลือกได้ไหม ก็ไม่ได้ เปลี่ยนรูปซึ่งเป็นรูปที่น่าพอใจให้เป็นรูปที่ไม่น่าพอใจได้ไหม เปลี่ยนไม่ได้ และใครจะไปทำให้รูปนั้นมากระทบกับจักขุประสาทได้ไหม ก็ไม่ได้ ใช่ไหม

    รูปก็เกิดดับเป็นเรื่องของรูปไป เป็นรูปที่น่าพอใจ หรือไม่น่าพอใจ จักขุประสาทก็เกิดดับตามกรรมที่ทำให้ยังไม่ตาบอด ยังมีจักขุประสาทรูปพร้อมที่จะกระทบกับสิ่งที่กระทบได้ เมื่อถึงกาลคิดดู ของกรรมที่จะให้ผลใครก็ยับยั้งจิตเห็นไม่ให้เกิดไม่ให้เห็นไม่ได้ เพราะว่าถึงกาลที่ต้องเห็น และชั่วขณะที่เห็นเกิดขึ้นแล้วดับ แล้วอย่างไร เรายังมาทรงจำว่าเป็นเรากำลังนั่งอยู่ตรงนี้กำลังเห็น

    เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่ลึกซึ้งคือยังไม่ได้ปรากฏตามความเป็นจริงว่าแต่ละอย่างก็เป็นแต่ละ ๑ ไม่เหมือนกัน อย่างจักขุวิญญาณธาตุ ใช้คำว่า “ธาตุ” ซึ่งเป็นธาตุรู้ซึ่งเกิดขึ้นเพราะอาศัยจักขุประสาท ไม่ใช่โสตวิญญาณธาตุ เห็นไหม แสดงความเป็นธาตุที่หลากหลายมาก และแต่ละอย่างมีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับไปแล้วก็ไม่กลับมาอีก เพราะฉะนั้น เมื่อสภาพธรรมที่ได้ฟังอย่างนี้ ฟังบ่อยๆ ฟังแล้วฟังอีก


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 183
    24 ธ.ค. 2566