พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 673


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๗๓

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๓


    ท่านอาจารย์ ได้ยินคำว่า “ทุกข์” มีทุกข์ หรือไม่ กำลังเป็นทุกข์ หรือไม่ ทุกคำนี้จะตอบไม่ได้ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม และต้องเป็นผู้ที่ตรง และจริงใจ

    ขณะนี้มีทุกข์ หรือไม่ คนที่ศึกษาแล้วบอกว่ามี ถ้าถามคนที่ตอบว่ามี จะถามว่าอะไรเป็นทุกข์ ใช่ไหม ถ้าบอกว่ามี ต้องตอบได้ ธรรมไม่ใช่เพียงแค่สำหรับตอบอย่างที่มีคนถามมาแล้วก็ตอบไป ไม่ใช่ แต่คำตอบทุกคำเพื่อเข้าใจ ถ้าตอบโดยไม่ได้ทำให้คนที่ถามเข้าใจคำตอบนั้นก็ไม่มีประโยชน์ เพราะว่าเป็นแต่เพียงคำตอบ คนนั้นก็ได้แต่คำตอบ เวลาที่ถูกถามก็ตอบได้แต่ว่าไม่เข้าใจสิ่งที่ตอบ เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ และต้องเห็นความสำคัญว่าการศึกษาธรรม ถ้าไม่เข้าใจจริงๆ เป็นโทษ เพราะเหตุว่าเข้าใจผิดก็เท่ากับทำลายพระศาสนาคือคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเข้าใจผิดจากพระธรรมที่ได้ทรงแสดง

    ด้วยเหตุนี้ต้องเป็นผู้ที่รอบคอบมีเจตนาตั้งแต่เกิดจนกระทั่งจะตายก็ยังมีเจตนา และระหว่างที่ยังไม่ตายก็มีเจตนาทั้งวัน แต่เจตนาทำอะไร เจตนาทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ หรือว่าเจตนาทำสิ่งซึ่งไร้ประโยชน์ และยังเป็นการสะสมสิ่งที่เป็นโทษด้วย นี่คือการที่จะต้องเข้าใจว่า “มรรคเจตนา” คือผู้ที่มีความตั้งใจที่จะดำเนินทางที่ทำให้เกิดปัญญา รู้ความจริงตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ต้องรู้จักพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าพระองค์เป็นผู้ที่ตรัสรู้ความจริง เพราะฉะนั้นท่านทรงแสดงหนทางให้ผู้ฟังตลอดสี่สิบห้าพรรษาเพื่อให้เกิดปัญญาของผู้ฟังที่จะเห็นความละเอียด

    เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีปัญญาแล้วอะไรจะทำให้จิตบริสุทธิ์ได้ แม้แต่จิตคำเดียว ในพระไตรปิฎกกล่าวถึงจิตประเภทต่างๆ ซึ่งถ้าไม่ศึกษาก็ไม่รู้ว่าขณะนี้ได้ยินคำว่าจิต รู้ว่ามีจิต และขณะนี้มีจิตอะไร ก็ไม่รู้ ด้วยเหตุนี้การศึกษาธรรมจึงเป็นเรื่องที่ตรง จริงใจ และละเอียดเพื่อเป็นความเข้าใจจริงๆ จึงจะเป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้นคุณชุณห์พอทราบใช่ไหม ขณะที่กำลังฟังเป็นเจตนาในการฟังสิ่งจะทำให้สามารถรู้หนทางที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระสาวกดำเนิน เพราะท่านเหล่านั้นเป็นผู้ที่ดับกิเลสด้วยปัญญา เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีปัญญาไม่มีความเห็นที่ถูกต้อง ความบริสุทธิ์จากกิเลสก็มีไม่ได้

    ผู้ฟัง จะเข้าใจธรรม เดินตามพระอริยมรรคไป

    ท่านอาจารย์ คุณชุณห์ใช้คำว่า “อริยมรรค” หมายความว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง หมายถึงมรรคมีองค์ ๘

    ท่านอาจารย์ ต้องรู้จักคำว่าอริยะจริงๆ คืออะไร ไม่ใช่อย่างภาษาไทยที่เข้าใจ เป็นอริยมรรคใช่ไหม เมื่อสักครู่ใช้คำนี้ เพราะฉะนั้นทำไมใช้คำว่ามรรคนี้ว่า "อริยะมรรค"

    ผู้ฟัง เพราะดับไปสู่อริยบุคคล

    ท่านอาจารย์ เป็นหนทางประเสริฐที่จะนำไปสู่ความเป็นอริยบุคคล บุคคลซึ่งเป็นผู้ที่มีปัญญาดับกิเลสได้ถึงความบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลส

    ผู้ฟัง จะเลือกเฟ้นธรรมโดยอุบายอันแยบคายหมายถึงอย่างไร ขอความกรุณาท่านอาจารย์ช่วยขยายความ

    ท่านอาจารย์ พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ธรรม เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีจริงทุกอย่างเป็นธรรม ถ้าไม่ลืม ใครเลือกเฟ้นธรรมโดยความแยบคาย เรา หรือว่าเป็นธรรมที่เป็นความเห็นที่ถูกต้อง

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ จากการฟัง ขณะที่ฟัง ทุกคนที่เกิดมาแล้วก็มี “โสตประสาท” คือรูปที่สามารถกระทบเสียงเป็นปัจจัยให้เกิดการได้ยินซึ่งเป็นจิตประเภทหนึ่ง ซึ่งเกิดเพราะเสียง และโสตประสาท และก็กรรมที่ได้ทำไว้เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดได้ยิน ไม่ว่าจะเป็นเสียงที่น่าพอใจ หรือไม่น่าพอใจก็ตาม เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ ได้ยินมาก แต่ว่าไตร่ตรองในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง หรือไม่ โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องของธรรมไตร่ตรองในสิ่งที่ได้ยิน ได้ฟังว่าเป็นธรรม หรือไม่ กำลังฟังธรรม หรือไม่ ฟังแล้วเข้าใจธรรม หรือไม่ หรือฟังแล้วเข้าใจถูกต้องว่าสิ่งที่ได้ฟังไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่สิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ที่จะทำให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเพิ่มขึ้น

    เพราะฉะนั้นในขณะที่กำลังฟังนั่นเอง การไต่รตรอง การพิจารณาในความถูกต้องของสิ่งที่ได้ฟังเป็นธรรมไม่ใช่เรา ถ้าจะกล่าวก็คือเป็นการพิจารณาไตร่ตรองในการที่จะเข้าใจถูกในสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟัง มรรคมีองค์ ๘ ได้แก่อะไร ได้แก่สภาพธรรมที่มีจริง เช่น ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ภาษาบาลีใช้คำว่าสัมมาทิฏฐิ ซึ่งหมายความถึงปัญญา ต้องมีใช่ไหม มี เพราะว่าถ้าไม่มีความเห็นถูกจะไปทางไหน ได้ยินแต่คำว่า “มรรค มรรค” ก็จะไป แต่ไปทางไหนถ้าไม่มีปัญญา ถ้าไม่มีความเข้าใจถูกว่ามรรคนั้นได้แก่อะไร เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมนั้นต้องทราบว่าทุกอย่างเป็นธรรมก็จริง แต่ธรรมที่มีในขณะนี้จะพ้นจากธรรมที่เป็นธาตุรู้ และสภาพที่ไม่รู้ ไม่ได้

    ธรรมมีสองอย่าง สภาพซึ่งรู้เช่นเห็น ได้ยิน คิดนึก สุข ทุกข์ จำได้ทั้งหมด หลากหลายมากเป็นชีวิตประจำวัน และก็เป็นธรรมซึ่งต่างโดยประเภท ที่เป็นสภาพธรรมที่ไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้ประเภทหนึ่ง และอีกประเภทหนึ่งก็สามารถที่จะรู้อะไรได้ คือกำลังรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ เช่นกำลังเห็น รู้ว่ามีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น ถูกต้องไหม กำลังได้ยิน รู้ว่ามีเสียงที่กำลังปรากฏให้ได้ยิน ถูกต้องไหม?

    ผู้ฟัง ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นสภาพรู้ หรือธาตุรู้เป็นจิต ที่เราใช้คำว่า “จิต” คือธาตุรู้ สภาพรู้ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ แต่ก็ยังมีสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมที่เกิดกับจิตแต่ไม่ใช่จิต ซึ่งใช้คำว่า “เจตสิก” เช่นจำ หรือว่าโกรธ หรือว่าสงสัย ทั้งหมดจริง หรือไม่ สงสัยมีจริงๆ หรือไม่?

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มีรูปร่างให้เห็นไหม มีสีสันมีกลิ่นไหม?

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ แต่สงสัยเกิด สงสัยทำอย่างอื่นไม่ได้ สงสัยก็เป็นความจริงประเภทหนึ่งซึ่งไม่ใช่จิตแต่เป็นนามธรรม เพราะฉะนั้นนามธรรมมีสองอย่างคือจิต และเจตสิก เพราะฉะนั้น เวลาที่กล่าวถึงสภาพธรรมต้องชัดเจน

    ไม่ลืมว่าในสากลจักรวาลที่มีธรรม ๑ คือเป็นธรรมทั้งหมด ๒ คือเป็นสภาพที่ไม่รู้อะไรเป็นรูปธรรมประเภทหนึ่ง และสภาพที่ต่างจากรูปธรรมเพราะสามารถจะเห็น จะได้ยิน จะคิดนึกเป็นนามธรรมเป็น ๒ และถ้ากล่าวโดยลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวันก็มี ๓ อย่าง คือมีจิต มีเจตสิก มีรูป นี้คือเบื้องต้นที่จะเข้าใจความหมายของคำว่ามรรคมีองค์ ๘ มิฉะนั้น มรรคมีองค์ ๘ แล้วก็มีชื่อแต่ว่าเป็นอะไร

    เพราะฉะนั้นก่อนอื่นต้องทราบว่าสภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวันคือนามธรรม ๒ จิตเป็นธาตุที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ เสียงมีหลายเสียง แต่ทุกเสียงจิตรู้แจ้งในแต่ละเสียง จึงเป็นการรู้ความต่างของสิ่งที่ปรากฏหลากหลายมาก เพราะจิตเกิดขึ้นเป็นสภาพที่รู้แจ้ง และเมื่อจิตเกิดแล้วก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเป็นนามธรรม จิตจะเกิดตามลำพังไม่ได้

    เพราะฉะนั้นเมื่อจิตซึ่งเป็นธาตุรู้เกิด ก็จะต้องมีธาตุรู้ซึ่งเป็นนามธรรมเกิดร่วมด้วยแต่ไม่ใช่จิต สภาพนั้นใช้คำว่า “เจ ตะ สิ กะ” หมายความถึงธรรมที่เป็นนามธรรมที่เกิดกับจิต เกิดในจิต รู้สิ่งเดียวกับจิต เพราะเมื่อเป็นนามธรรมที่เกิดต้องรู้ เมี่อเกิดกับจิตก็รู้สิ่งเดียวกับจิต และก็ดับพร้อมจิตด้วย เพราะฉะนั้นเจตนาเป็นธรรม หรือไม่?

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ เป็นรูปธรรม หรือนามธรรม?

    ผู้ฟัง เป็นนามธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นจิต หรือเป็นเจตสิก?

    ผู้ฟัง เป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ เป็นมรรคมีองค์ ๘ หรือไม่?

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร?

    ผู้ฟัง เพราะว่าเจตนาเป็นเจตสิกแต่มรรคมีองค์ ๘ ที่ศึกษามาก็ไม่มีเจตนาอยู่ในนั้น

    ท่านอาจารย์ มรรคมีองค์ ๘ เป็นรูป หรือไม่?

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เป็นจิต หรือไม่?

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เป็นอะไร?

    ผู้ฟัง เป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ นี่คือเริ่มที่จะเข้าใจว่าเจตสิกหลากหลายมาก ทุกขณะต้องมีจิต และเจตสิกเกิดแล้วก็ดับไปไม่เที่ยง แล้วก็มีรูปซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ว่าเจตนาเป็นเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่มีจริงซึ่งเป็นความจงใจเป็นความตั้งใจขวนขวายที่จะกระทำ เจตนาเป็นปัญญา หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นเจตนาที่มีในชีวิตประจำวันตามปกติไม่ใช่มรรคมีองค์ ๘ ถูกไหม?

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ แล้วเจตนาที่เกิดกับโลกุตตรจิต หรือจิตที่กำลังมีปัญญาเกิดร่วมด้วย เจตนานั้นเป็นมรรค หรือไม่ ถ้ากล่าวถึงอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นมรรคมีองค์ ๘ หรือไม่ ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นถ้าใครต้องการจะรู้แจ้งนิพพานแล้วก็จงใจ ตั้งใจที่จะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วคิดว่า เมื่อจงใจขวนขวายอย่างมากแล้วก็จะรู้นิพพาน หรือว่าจะดับกิเลส ได้ไหมเพียงด้วยความจงใจนั้น

    ผู้ฟัง ไม่ได้แน่นอน

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่เจตสิก ๘ ประเภท เจตสิกอื่นซึ่งเกิดร่วมด้วยในขณะนั้นไม่ใช่มรรคมีองค์ ๘ จากการตรัสรู้ และทรงแสดงโดยความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น เจตนาที่เป็นไปในมรรคมีไหม ที่มาฟังต้องการที่จะมีปัญญาที่จะรู้ความจริงที่จะดับกิเลส หรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มีเจตนาที่จะมาฟัง เข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง หรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เข้าใจเป็นมรรคได้ไหม?

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นมรรคมีองค์ ๘ ก็คือเจตสิก ๘ ซึ่งไม่ใช่เจตนาเจตสิก

    ผู้ฟัง ทีนี้คำว่า “พรหมจรรย์” หมายความว่าการประพฤติปฏิบัติในความงามสามส่วนคือมีอโลภะ อโทสะ อโมหะเป็นต้น พวกนี้เพื่อที่จะเข้าใจธรรมให้ดีขึ้นเป็นการประพฤติเพื่อนำไปสู่ความผ่องแผ้วของจิต ในการเข้าใจธรรม

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นง่ายๆ ธรรมดา “พรหม” เป็นผู้ประเสริฐกว่าคนธรรมดา หรือไม่ ด้วยคุณธรรม ประเสริฐที่นี่ต้องด้วยคุณธรรมไม่ใช่ด้วยอย่างอื่น เพราะฉะนั้นพรหมจรรย์คือความประพฤติที่ประเสริฐ เพราะฉะนั้นเมื่อมรรคเป็นหนทางที่จะนำไปสู่การดับกิเลส มรรคเป็นพรหมจรรย์ หรือไม่?

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นความละเอียดของคำว่าพรหมจรรย์ยังมีอีกมากในพระไตรปิฎก แต่เริ่มศึกษาเราจะไปรู้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปไม่ได้ ต้องค่อยๆ ไตร่ตรอง ค่อยๆ เข้าใจในความละเอียด เพราะว่าถ้าพบคำนี้ในที่หนึ่งก็มีความเข้าใจเฉพาะในที่นั้น แต่ถ้าได้ศึกษากว้างขวางมากขึ้น ละเอียดขึ้นก็จะพบคำเดียวกันในที่อื่นซึ่งมีความหมายอย่างอื่นด้วย เพราะฉะนั้นความรู้ไม่ได้จำกัดเฉพาะในที่เดียว แต่ว่าถ้ามีความเข้าใจในความเป็นจริงของธรรมคือสิ่งที่มีจริงแล้ว ก็จะรู้ได้ว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียดยิ่ง ซึ่งแม้พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้ทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ก็ไม่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีที่จะถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่จะทรงแสดงความละเอียดของธรรมโดยประการทั้งปวง ที่จะอนุเคราะห์สัตว์โลกให้สามารถมีความเข้าใจได้ แต่พระปัญญาเหนือยิ่งกว่าที่ทรงแสดง แสดงให้เห็นว่าไม่ควรประมาท และไม่ควรคิดเองด้วย ถ้าตัดคำอื่นที่คิดเองออกก็จะเข้าใจพรหมจรรย์ในความหมายหนึ่ง ความประพฤติที่ประเสริฐก็คือการอบรมเจริญปัญญาที่จะดับกิเลส

    เพราะฉะนั้นต่อไปนี้พูดแล้วก็ต้องระวัง คือพูดคำที่รู้จัก หรือคำที่เข้าใจ เพราะถ้าไม่ได้ศึกษาธรรมทุกคนที่เกิดมาพูดคำที่ไม่รู้จักเช่นคำว่าจิตก็พูด คำว่ากุศลก็พูด คำว่าอกุศลก็พูด แต่คืออะไรไม่รู้ พระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์คือหัวข้อ แต่มีคำมากกว่านั้นอีก และพอได้ยินคำไหนก็อยากจะรู้คำนั้น อยากจะรู้คำนั้นๆ แต่รู้ไหม จะเข้าคำนั้นได้ก็ต่อเมื่อมีความเข้าใจตามลำดับ ไม่ใช่เพียงได้ยินชื่อ เปิดพจนานุกรมแล้วก็คิดว่าเข้าใจแล้ว ไม่ใช่อย่างนั้น ต้องเป็นเรื่องของการศึกษาจริงๆ

    เพราะฉะนั้นถ้าจะตอบคำของคุณชุณห์หมดทุกคำในพระไตรปิฎกแต่ละคำคืออะไร คืออะไร แต่ว่าไม่ได้เข้าใจจริงๆ เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีประโยชน์คือเข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ก่อน

    อ.กุลวิไล มีผู้ที่เขียนคำถามมาเรียนถามท่านอาจารย์ว่า “ขอให้ท่านอาจารย์บรรยายลักษณะของการเกิดดับของนามรูปที่ปรากฏต่อผู้ที่มีปัญญาถึงขั้นที่ประจักษ์ได้อย่างละเอียดด้วย”

    ท่านอาจารย์ แล้วใครฟัง ใครเป็นคนฟัง คนที่มีปัญญาถึงระดับนั้น หรือว่ายังไม่รู้อะไร พูดถึงนิพพานหลายคนอยากรู้มาก นิพพานคืออะไร และก็ยังไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้แล้วจะรู้นิพพานได้ไหม

    อ.กุลวิไล ไม่ได้ เพราะว่าสภาพธรรมที่เกิดดับก็ไม่พ้นจิต เจตสิก และรูปนั่นเองเป็นสังขารธรรม ถ้าเราไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เราจะไปรู้สิ่งที่ไม่มีในชีวิตประจำวันอย่างนิพพานไม่ได้ ฉันใด เรายังไม่รู้สภาพธรรมที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม แล้วเราจะรู้ถึงการเกิด และดับไปของสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็ขอทราบความจริงใจของผู้ถาม ขณะนี้มีสิ่งที่รู้ หรือยัง แล้วก็จะรู้สิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ หรือว่าจะไม่รู้สิ่งที่มีจริงในขณะนี้ แต่จะรู้อย่างอื่นซึ่งไม่มีในขณะนี้ สภาพธรรมขณะนี้เกิดดับแน่นอนแต่ยังไม่รู้ เพราะฉะนั้นจากการไม่รู้จะไปรู้การเกิดดับทันทีเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แม้พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมว่า “สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นก็ต้องดับเป็นธรรมดา” เป็นธรรมดาคือไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลง บังคับ ยับยั้ง หรือว่าทำให้เป็นอย่างอื่นได้เพราะเป็นสัจจธรรม เป็นความจริงของสิ่งนั้น

    เพราะฉะนั้นขณะนี้เพียงผู้ฟังที่ถามสามารถที่จะมีความเข้าใจขึ้น ว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้เกิดจึงปรากฏ และเมื่อเกิดแล้วดับทันทีเร็วมาก เร็วสุดที่จะประมาณได้ ถ้าศึกษาก็จะยิ่งค่อยๆ เข้าใจความละเอียด และการที่สภาพธรรมขณะนี้ปรากฏเป็นอย่างนี้เพราะการเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วสุดที่จะประมาณได้ จนไม่เห็นการเกิดดับ แต่สามารถจะเข้าใจลักษณะของธรรมแต่ละอย่าง จนกระทั่งรู้ว่าเมื่อสภาพธรรมหนึ่งปรากฏสภาพธรรมอื่นจะปรากฏไม่ได้

    เช่นในขณะที่เสียงปรากฏ เสียงเป็นสิ่งที่สามารถกระทบกับโสตประสาทแล้วก็เป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นได้ยินเสียง เพราะฉะนั้นขณะนั้นต้องมีเสียงจะมีอย่างอื่นได้ไหม ไม่ได้ แล้วต้องมีโสตประสาทรูปด้วยที่ยังไม่ดับ เพราะถ้าดับไปเสียงไม่กระทบโสตประสาทจะปรากฏได้อย่างไร เพราะว่าเสียงเป็นรูป รูปเดียวที่สามารถจะกระทบกับโสตประสาทได้ และถ้าจิตไม่เกิดขึ้นได้ยินเสียง ใครจะรู้ว่ามีเสียง

    ที่ทุกคนได้ยินเสียง รู้ว่ามีเสียงเพราะจิตซึ่งเป็นธาตุรู้เกิดได้ยินเสียงนั้น เสียงนั้นจึงปรากฏว่ามี และขณะนี้ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่ได้ยินแต่เป็นเห็นแต่เสมือนว่าพร้อมกัน เพราะฉะนั้นการเกิดดับนั้นรวดเร็วแค่ไหน เพราะว่าสภาพธรรมที่ปรากฏ ต้องปรากฏทีละ ๑ เสียงปรากฏ แข็งปรากฏไม่ได้เพราะเสียงกำลังปรากฏ เสียงปรากฏ กลิ่นปรากฏไม่ได้เพราะเสียงกำลังปรากฏ นี่คือความเล็กน้อยซึ่งเป็นความรวดเร็วของธาตุรู้ซึ่งเกิดขึ้นรู้แล้วก็ดับไป รู้แล้วก็ดับไปตลอดเวลา

    แต่ว่าขณะที่กล่าวถึงความลึกซึ้ง ความละเอียดยิ่ง และการที่ธรรมทั้งหลายไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมีเพื่อรู้ความจริงของธรรม แต่ไม่ใช่เพื่อสามารถที่จะเปลี่ยนธรรมใดๆ ได้ เพราะมิฉะนั้นแล้วก็ไม่ใช่ธรรมแน่ๆ ถ้าใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริง มีความลึกซึ้งอย่างยิ่ง

    อย่างที่ผู้ถามกล่าวถึงเรื่องการเกิดดับ และได้กล่าวถึงว่าสภาพธรรมปรากฏทีละ ๑ จริงๆ ๒ ไม่ได้เพราะเหตุว่าจิตเกิดขึ้น ๑ ขณะเป็นธาตุรู้ก็ต้องรู้เฉพาะสิ่งที่จิตนั้นเกิดขึ้นรู้เท่านั้นจะรู้อย่างอื่นไม่ได้ และยังมีความละเอียดอีกมากมายในสี่สิบห้าพรรษาทรงแสดง เพราะฉะนั้นความลึกซึ้ง หรือความละเอียดอย่างยิ่งคือความหมายของอภิธรรม เพราะว่าธรรมไม่ใช่ง่ายๆ

    เพราะฉะนั้นถ้าใครก็ตามที่เข้าใจธรรม ธรรมทั้งหมดเป็นอภิธรรม และจะใช้คำว่าปรมัตถธรรมก็ได้ หมายความว่าเป็นสิ่งที่มีจริงที่จริงที่สุดไม่มีความจริงอื่นยิ่งกว่านี้ก็คือปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจธรรมก็คือเข้าใจปรมัตถธรรม เข้าใจอภิธรรม เห็นมีเป็นธรรม เป็นอภิธรรม หรือไม่ เห็น

    อ.กุลวิไล เป็น

    ท่านอาจารย์ ถ้าดูคัมภีร์พระอภิธรรม จะมีจักขุวิญญาณ พระสูตรมีจักขุวิญญาณไม่เที่ยง หรือไม่ มี แล้วทำไมจะกล่าวว่าจักขุวิญญาณ หรือว่าจิตเห็น หรือธรรมไม่ใช่อภิธรรม คนที่ไม่เข้าใจความละเอียดลึกซึ้งของธรรม ก็คิดว่าธรรมกับอภิธรรมนี่ต่างกัน แต่ถ้าไม่มีธรรมใดๆ อภิธรรมมีไหม แต่เพราะเหตุว่าธรรมลึกซึ้ง แม้แต่ขณะนี้ธรรมเกิดดับก็ไม่รู้ จึงทรงแสดงความละเอียดอย่างยิ่งเพื่อให้ผู้ที่ได้ฟัง พิจารณาจนกระทั่งเป็นความเห็นที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ที่คุณกุลวิไลกล่าวถึงบางคนอาจเคยได้ยินคำว่า “ธรรมไม่ใช่อภิธรรม” ก็จะได้เข้าใจด้วย

    อ.กุลวิไล ไม่ว่าจะเป็นธรรม หรืออภิธรรมก็คือขณะนี้เอง เพราะว่าเป็นสิ่งที่มีจริง และก็ละเอียดยิ่ง รู้ได้ด้วยปัญญา

    ท่านอาจารย์ ขอถามอีกนิด ขณะนี้กำลังฟังธรรม หรือไม่ กำลังฟังอภิธรรม หรือไม่

    อ.กุลวิไล กำลังฟัง

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ต้องไปงานศพ แล้วก็จะได้ยินคำว่า “กุศลธัมมา อกุศลาธัมมา อพยากตาธัมมา” ก็เข้าใจว่าเป็นอภิธรรมที่ฟังไม่เข้าใจ แต่ความจริงธรรมคำเดียวก็ไม่เข้าใจถ้าไม่ศึกษา

    อ.กุลวิไล เพราะว่าขณะนี้เอง กุศลธรรมก็มี อกุศลธรรมก็มี อพยากตธรรมที่ไม่ใช่กุศลธรรม หรืออกุศลธรรมก็มี


    Tag  ทุกข์  ตรงและจริงใจ  มรรคเจตนา  อริยมรรค  อริย  อริยบุคคล  หนทางประเสริฐ  โสตประสาท  กรรม  ปัจจัย  ไตร่ตรอง  พิจารณา  มรรคมีองค์ ๘  สัมมาทิฏฐิ  ปัญญา  ความเข้าใจถูก  จิต  เจตสิก  รูป  สงสัย  ความจริง  สากลจักรวาล  รูปธรรม  นามธรรม  โลกุตตรจิต  เจตสิก ๘  เจตนาเจตสิก  พรหมจรรย์  ความประพฤติที่ประเสริฐ   พรหม   อโลภะ  อโทสะ  อโมหะ  พระปัจเจกพุทธเจ้า  กุศล  อกุศล  สิ่งที่มีประโยชน์  นิพพาน  สภาพธรรม  นามธรรม  รูปธรรม  สังขารธรรม  การเกิดดับ  เป็นธรรมดา  สัจจธรรม  ปัจจัย  โสตประสาท  โสตประสาทรูป  ธาตุรู้  อภิธรรม  ปรมัตถธรรม  คัมภีร์พระอภิธรรม  พระสูตร  จักขุวิญญาณ  จิตเห็น  กุศลธรรม  อกุศลธรรม  อพยากตธรรม  
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 183
    24 ธ.ค. 2566