พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 677


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๗๗

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๓


    ท่านอาจารย์ เสียงขณะนี้เป็นเสียงก่อน หรือไม่

    ผู้ฟัง เสียงขณะนี้ไม่ใช่เสียงก่อน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขันธ์ทุกขันธ์ก็คือสิ่งที่เกิดแล้วก็ดับ ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรม หรือนามธรรม รวมทุกอย่างที่เกิดดับเป็นขันธ์ เสียงนกมี หรือไม่

    ผู้ฟัง เสียงนกมี

    ท่านอาจารย์ เสียงดนตรีมี หรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เสียงหมูมี หรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ อะไรหยาบ อะไรละเอียดต้องมานั่งแยกแยะ หรือไม่ หรือว่าขณะนั้นสภาพธรรมนั้นเกิดปรากฏเป็นอย่างนั้นหลากหลายในตัว ถ้าไม่หลากหลายก็หยาบเหมือนกันหมด หรือว่าละเอียดเหมือนกันหมด แต่เพราะความหลากหลายก็คือความต่างของสภาพธรรมนั้นๆ แล้วใครจะมาวัด ใครจะมากะเกณฑ์ ใครจะมาจำแนก นอกจากสิ่งที่สามารถจะรู้ได้

    รูปมนุษย์กับรูปเทพใครหยาบใครละเอียด แค่นี้ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เราจะต้องไปรู้ด้วยการสัมผัสด้วยการเห็น หรือด้วยอะไร แต่สิ่งนั้นมีจริงๆ แล้วเป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่ปัญญาของผู้ที่กำลังเข้าใจ เข้าใจได้แค่ไหน เพียงเข้าใจว่าเป็นรูปธรรมไม่ใช่เรา แค่นี้ก็ยากแล้วใช่ไหม และถ้าถามว่าขณะนี้มีตัวคุณประทีปไหม

    ผู้ฟัง ถ้าในขั้นการฟังไม่มี คิดเอาได้ว่ามี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นยังไม่ถึงการที่จะรู้ได้ว่าไม่มี ใช่ไหม เป็นแต่เพียงรูปแต่ละอย่างเกิดแล้วดับ แล้วจะไปรู้ว่าสิ่งไหนหยาบสิ่งไหนละเอียดไหม ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องไปคิดไปขวนขวาย แต่จะรู้กำลังของปัญญา ว่าถ้าสะสมปัญญาแล้วใครก็ห้ามไม่ได้ที่จะให้ปัญญาระดับไหนเกิดตามความจริงของสิ่งที่ปรากฏ จะให้เหมือนกันเท่ากันก็ไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ปัญญาของแต่ละบุคคลจึงต่างกันไป เป็นการสะสมการสืบต่อของแต่ละขันธ์ในสังสารวัฏฏ์

    อ.คำปั่น ธรรมที่เป็นขันธ์นั้นไม่พ้นจากขณะนี้ สภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมใดก็ตามเป็นขันธ์ทั้งนั้น เพราะเหตุว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับไป ไม่สามารถที่จะตั้งอยู่ได้ จากที่ไม่มี แล้วมีขึ้น เมื่อมีแล้วก็ดับไป นี่เป็นลักษณะของขันธ์ทรงไว้ซึ่งความว่างเปล่าจริงๆ เกิดแล้วดับ ว่างเปล่าจากการเป็นตัวตน สัตว์ บุคคลเพราะเหตุว่าเป็นเพียงธรรมแต่ละอย่าง แต่ละอย่างเท่านั้น

    และอีกคำหนึ่ง คำว่า “สังสารวัฏฏ์” ขณะนี้เป็นสังสารวัฏฏ์ หรือไม่ บางคนอาจคิดว่าสังสารวัฏฏ์นั้น กว้างๆ เลยหมายถึงการเวียนว่ายตายเกิด สิ่งนั้นเป็นการกล่าวที่กว้าง แต่ขณะนี้เป็นสังสารวัฏฏ์เพราะเหตุว่ากำลังมีสภาพธรรมกำลังเกิดดับสืบต่อกันอยู่อย่างไม่ขาดสาย นี่เป็นสังสารวัฏฏ์เป็นการท่องเที่ยวไปของสภาพธรรมจากจิตขณะหนึ่งไปอีกจิตอีกขณะหนึ่ง ได้เห็นบ้างได้ยินบ้างเป็นต้นเป็นสังสารวัฏฏ์ ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่กำลังมีในขณะนี้เป็นสังสารวัฏฏ์ และเป็นขันธ์ด้วย เพราะฉะนั้นการศึกษาพระธรรมก็เป็นการศึกษาเพื่อความเข้าใจธรรมที่มีจริง ที่กำลังปรากฏในขณะนี้เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องนั่นเอง

    อ.กุลวิไล ความไม่รู้ทำให้ยึดมั่นในขันธ์ว่าเป็นเรา เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    ผู้ฟัง คือโดยปกติแล้วก็ยังไม่ได้สนใจถึงการเกิดดับ

    ท่านอาจารย์ แล้วก็สนใจไหมว่าเรากำลังฟังธรรม หรือว่าฟังแล้วก็ไม่มีเรา เป็นธรรมยิ่งฟังก็ยิ่งเป็นธรรมแต่ละอย่าง

    ผู้ฟัง คือจริงๆ ก็มีความเข้าใจว่าทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม และก็ไม่ใช่เรา คือความเข้าใจเป็นแบบนี้

    ท่านอาจารย์ เพื่อจะได้รู้ตรงตามที่เข้าใจในขั้นต้น

    ผู้ฟัง แต่ว่าจริงๆ แล้ว ถ้าจะพูดไปจริงๆ แล้วทุกอย่างเกิดขึ้นแล้วก็หมดไป

    ท่านอาจารย์ รู้ หรือยัง

    ผู้ฟัง คือจริงๆ ป็นอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ แล้วรู้ หรือยัง

    ผู้ฟัง คือถ้าจะประจักษ์การเกิดขึ้นดับไปนี้ยัง

    ท่านอาจารย์ แล้วจะรู้ได้ไหม

    ผู้ฟัง จากการที่ศึกษาก็จะต้องรู้ได้ แต่จะให้มีความเชื่อว่าจะต้องรู้ได้ นี่ไม่อาจหาญถึงขนาดนั้น

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เชื่อ เสียงมีสักครู่นี้อยู่ไหน

    ผู้ฟัง ไม่มีแล้ว

    ท่านอาจารย์ ต้องไปเชื่อใครที่ไหน หรือไม่

    ผู้ฟัง คือยังสงสัยว่าทำไมหายไป

    ท่านอาจารย์ จะเปลี่ยนธรรมที่เกิดแล้วไม่หายไป หรือ แล้วเมื่อสักครุ่นี้เราตั้งต้นว่าทุกอย่างเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ สิ่งไหนจริงก็ต้องจริงไปตลอด จะไปเปลี่ยนทีหลังได้อย่างไร

    ผู้ฟัง แต่เนื่องด้วยว่ายังไม่ประจักษ์

    ท่านอาจารย์ แต่เข้าใจได้ไหมในขั้นต้น ไม่ใช่ฟังปุ๊บก็ประจักษ์อย่างนั้น ก็ไม่ต้องเรียนอะไรอีก

    ผู้ฟัง คือเข้าใจได้ขั้นต้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่ลืมความเข้าใจนี้ให้มั่นคงขึ้น และความจริงก็เป็นอย่างนั้น “ไม่มี แล้วมี แล้วก็หามีไม่” ทุกอย่าง ใครกำลังฟังธรรม

    ผู้ฟัง ก็ต้องเป็นเรา จริงๆ ไม่มี

    ท่านอาจารย์ จนกว่าจะไม่มีเรา นั่นคือความเข้าใจเพิ่มขึ้นเพราะเมื่อสักครู่บอกว่าไม่มีก็ต้องไม่มี

    ผู้ฟัง ทีนี้ความมั่นคงที่จะต้องไม่แปรเปลี่ยนก็คือต้องมีจุดประสงค์ในการฟังธรรมที่ชัดเจน ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ จุดประสงค์ที่ชัดเจนคือ

    ผู้ฟัง ฟังเพื่อละความเป็นตัวตน หรือความเป็นเรา

    ท่านอาจารย์ แล้วเมื่อไรจะละ

    ผู้ฟัง ก็ต้องมีความเข้าใจในธรรมมากเพิ่มขึ้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ฟังเพื่อเข้าใจ หรือไม่

    ผู้ฟัง มีความสั่นคลอนอยู่ตลอดเวลา

    ท่านอาจารย์ ไปคิดถึงเรื่องความสั่นคลอนก็ไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังฟังใช่ไหม ไม่ต้องไปคิดเรื่องสั่นคลอน เรื่องอะไรทั้งสิ้น ทุกคำที่ฟังนี่จริงไหม ค่อยๆ เข้าใจว่าเป็นความจริงอย่างนั้น หรือไม่

    ผู้ฟัง คือจริง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ฟังอีก พิจารณาอีก จริงไหม ไม่ต้องไปคิดเรื่องสั่นคลอนไม่สั่นคลอน เข้าใจเมี่อไรก็ค่อยๆ เข้าใจจริงๆ เพิ่มขึ้น

    อ.อรรณพ การเรียนสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ที่บัณฑิตไม่สรรเสริญหนึ่งอย่าง กับการที่ท่านแสดงมงคลข้อที่ว่าด้วยความเป็นผู้มีศิลปะ ก็คือศิลปวิทยาการทั้งหลายเป็นมงคล สองอย่างนี้จะสอดคล้องกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ชื่อว่าเรียนคือไม่รู้จึงเรียน ใช่ไหม ไม่รู้กับรู้อะไรดีกว่ากัน

    อ.อรรณพ รู้ดีกว่า และท่านกล่าวว่าการเรียนสิ่งที่บัณฑิตทั้งหลายไม่สรรเสริญ แต่ท่านก็แสดงว่าศิลปะวิทยาการทั้งหลายเป็นมงคล

    ท่านอาจารย์. ก็ระหว่างรู้กับไม่รู้ ศิลปะมีจะรู้ หรือไม่รู้

    อ.อรรณพ รู้

    ท่านอาจารย์ รู้ก็ดีแล้ว ก็เป็นประโยชน์ใช้ประโยชน์ได้ เมื่อถึงกาลที่จะเป็นประโชน์ก็เป็นประโยชน์ได้ ทำกับข้าวก็ไม่เป็น แล้วทำอย่างไรดี คนก็ตั้งมากมาย ไข่มี หมูมี ผักก็มีทำอย่่งไรดี กับคนที่ทำเป็น เป็นดี หรือไม่เป็นดี สร้างบ้านสร้างไม่เป็น เย็บผ้าเย็บไม่เป็น ทำนาทำไม่เป็น อะไรๆ ก็ไม่เป็นเลยสักอย่างเดียว กับทำได้แล้วยังสามารถที่จะใช้ความรู้นั้นในทางกุศล ในทางที่เป็นประโยชน์ก็ได้ด้วย เพียงแต่ว่ารู้กับไม่รู้อะไรดีกว่ากัน ก็เป็นคำตอบที่ชัดเจนอยู่แล้ว

    อ.อรรณพ เพราะฉะนั้นถ้าฟังไม่ดีก็คิดว่าการเรียนรู้ หรือสะสมศิลปวิทยาต่างๆ เดี๋ยวบัณฑิตท่านไม่สรรเสริญ

    ท่านอาจารย์ และถ้าเทียบ รู้ไปหมดทุกอย่างแต่ไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ อะไรดี ก็ต้องเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาตามลำดับ

    อ.อรรณพ เพราะฉะนั้น คัมภีร์ที่แสดงถึงความจริงอย่างนั้นจึงจะเป็นคัมภีรจริงๆ เพราะว่าเป็นคำสอนที่แสดงถึงสิ่งที่เป็นคัมภีรก็คือสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ ก่อนที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้เมื่อครั้งที่เป็นพระโพธิสัตว์ พระองค์มีศิลปะ หรือสิปปะ หรือไม่

    อ.อรรณพ มากมาย

    ท่านอาจารย์ ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าถ้าไม่มีแล้วก็จะตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยไม่มีสิปปะ หรือศิลปะเลยได้ไหม เพราะว่ากว่าจะถึงพระชาติที่จะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ระหว่างนั้นก็จะต้องเป็นผู้ที่ละเอียดอย่างยิ่งในทุกอย่างแม้แต่ความคิด แม้แต่เหตุผลจึงสามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่ละเอียดได้ ถ้าคนที่ไม่ละเอียด ยาก และไม่มีทางที่จะรู้ความจริงได้เพราะไม่ละเอียด

    อ.อรรณพ เพราะฉะนั้นเวลาที่เราได้อ่าน หรือศึกษาชาดกตอนเด็กๆ เราก็สนุกเพราะเป็นเหมือนเรื่องเป็นนิทานอย่างนี้ พอที่จะเข้าใจได้ พญาวานรกับจระเข้บ้าง หรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่ แต่ชาดกทั้งหลายก็แสดงถึงการสะสมสิปปะของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะฉะนั้นการสะสมความรู้ต่างๆ ท่านอาจารย์ก็พูดง่ายๆ ว่า “รู้ดีกว่าไม่รู้”

    ท่านอาจารย์ ยิ่งขณะนี้ยิ่งชัดเจน ใช่ไหม ทุกคนอยู่ที่นี่ฟังธรรมเพราะสิปปะ หรือไม่ ถ้าไม่มีสถานที่ ไม่มีเครื่องขยายเสียง ไม่มีเครื่องบันทึก ไม่มีทุกสิ่งทุกอย่างเลยจะสามารถได้ฟังธรรมอย่างนี้ไหม ใช่ไหม ขอเชิญคุณวิชัย

    อ.วิชัย ก็เป็นเรื่องของจิตใจคือสามารถที่จะอาศัยศิลปะในการที่จะกระทำประโยขน์ หรือว่าจะกระทำในทางทุจริตก็ได้ขึ้นอยู่กับว่าจิตนั้นเป็นกุศลไหม อย่างเช่นบางบุคคลก็มีศิลปะในการทำอาหารก็มาจัดให้บุคคลอื่นได้รับประทาน หรือกระทำสิ่งต่างๆ มากมายในการจัดการ ก็สามารถอาศัยศิลปะต่างๆ ในการที่จะกระทำประโยชน์ต่อพระศาสนา หรือต่อบุคคลอื่นได้

    แต่บางบุคคลก็อาศัยศิลปะในการที่จะกระทำทุจริตต่างๆ สิ่งนี้ก็เป็นเรื่องของจิตถ้าเป็นอกุศลจิตขณะนั้นก็เป็นกลิ่นดิบแน่นอน เพราะเหตุว่าขณะนั้นเป็นอกุศล แต่ถ้าพิจารณาโดยความเป็นกุศลซึ่งธรรมก็ไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อมีการศึกษามีความเข้าใจธรรมก็มีลักษณะอย่างนั้น อย่างเช่นการที่จะอธิบายกลิ่นดิบประเภทต่างๆ ที่เป็นอกุศลในทางกายทางวาจาต่างๆ ที่แสดงออกมาในพระสูตรนี้ก็แสดงถึงอกุศลที่เป็นไปในการกระทำสิ่งต่างๆ ทางกาย ทางวาจา ขณะนั้นก็แสดงถึงจิตใจที่เป็นไปในการที่จะกระทำออกมาทางกายทางวาจา เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมเมื่อเข้าใจแล้วจะกล่าวโดยนัยไหนก็สามารถที่จะเข้าใจได้

    ท่านอาจารย์ ธรรมต้องค่อยๆ เข้าใจตามลำดับถูกต้องถึงจะเป็นความจริงไม่สับสน แค่รู้กับไม่รู้ อะไรดีกว่ากัน รู้ภาษาจีนดีไหม รู้ภาษาอังกฤษดีไหม รู้โน่นรู้นี่ดีไหม

    ถ้าเป็นความรู้จริงมีประโยชน์ทุกอย่าง เมื่อรู้แล้วจิตเป็นกุศล หรือเป็นอกุศลนี่คนละเรื่องแล้ว คนไม่รู้ก็เป็นอกุศลได้ คนรู้ก็เป็นอกุศลได้ ไม่ได้เกี่ยวกัน

    ผู้ฟัง อย่างเราไปเรียนรู้เรื่องการปล้น ก็ไม่น่าจะดี

    ท่านอาจารย์ คนละเรื่อง นั่นอกุศลแล้ว เพราะฉะนั้นกุศลกับอกุศล กุศลอีกเรื่องหนึ่ง คราวนี้เรื่องรู้กับไม่รู้

    อ.กุลวิไล ถ้าเรียนไปปล้นก็เป็นคัมภีร์ที่ไร้ประโยชน์เพราะเป็นกลิ่นดิบ เป็นอกุศลธรรม

    ท่านอาจารย์ ก็ขึ้นอยู่กับการใช้คำว่าคัมภีร์อีก กลายเป็นเล่มเป็นตำราแต่ไม่ใช่เป็นความลึกซึ้งของสิ่งที่ได้ศึกษา เพราะฉะนั้นแต่ละคำไม่ใช่เราพูดไปโดยไม่รู้ เพราะว่าถ้าไม่ศึกษาธรรมจริงๆ ตั้งแต่เกิดจนตายพูดคำที่ไม่รู้ทั้งนั้น จะว่ารู้คำไหน ลองคิด ถ้าไม่ศึกษาธรรมตั้งแต่เกิดจนตายพูดคำที่ไม่รู้ทั้งนั้น สงสัยไหม คำไหนเป็นคำที่ไม่รู้ทั้งนั้น เคยพูดว่าจิตไหม

    อ.กุลวิไล เคย

    ท่านอาจารย์ แล้วรู้จักจิต หรือไม่

    อ.กุลวิไล ตอนนั้นไม่รู้แน่นอน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ตั้งแต่เกิดจนตายถ้าไม่ศึกษาธรรมก็จะพูดคำที่ไม่รู้จัก

    อ.กุลวิไล วิญญาณยังเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ตายแล้วด้วย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นแต่ละคำมีความหมายเช่นคัมภีรหมายความถึงลึกซึ้ง ไม่ได้หมายความถึงหนังสือตำรับตำรา แต่เป็นความลึกซึ้งของธรรมของข้อความที่มี ไม่ใช่ว่าถ้าอย่างนั้นคัมภีร์นั้นก็ไม่มีประโยชน์ คัมภีร์นั้นก็ไม่มีประโยชน์ คัมภีร์คืออะไรก่อน แล้วประโยชน์คืออะไร คือต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ แล้วก็จะไม่สับสน

    ผู้ฟัง เคยฟังเทปบางเทปบอกว่าการศึกษาธรรม ถ้าศึกษาผิดไม่ศึกษายังดีกว่า เหมือนกับว่าไม่ได้ไปเดินในหนทางที่ผิดก็คือมีชีวิตอยู่ไปวันๆ

    ท่านอาจารย์ แทนที่จะไปทางสวรรค์ก็ไปทางนรก แทนที่จะไปทางดับกิเลสก็ไปทางที่เพิ่มกิเลส

    ผู้ฟัง จะเป็นตัวอย่างว่าไม่รู้ดีกว่า ไม่รู้ธรรมที่ผิด

    ท่านอาจารย์ นั่นไม่รู้ แต่ถ้ารู้แล้วต้องดีกว่า นั่นไม่รู้ต่างหากไม่ใช่รู้ รู้ต้องรู้ความจริง ความถูกต้องจึงชื่อว่ารู้

    ผู้ฟัง แต่ถ้าไปเรียนแล้วก็ไปรู้ธรรมผิดๆ

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้รู้ธรรม เข้าใจเองว่ารู้ เข้าใจเองว่ารู้แต่ไม่รู้ มิจฉาทิฏฐิรู้ หรือไม่ เป็นปัญญา หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ แล้วอย่งไร เป็นความไม่รู้ หรือเป็นความรู้ “มิจฉาทิฏฐิ”

    ผู้ฟัง มิจฉาทิฏฐิเป็นความไม่รู้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเมื่อไม่ใช่สิ่งที่จริง และถูกต้อง ต้องไม่รู้ไม่ใช่รู้ ไม่รู้ความจริง เพราะฉะนั้นความจริงเป็นความจริง การรู้ความจริงมีประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นวิชาการใดๆ ทั้งสิ้นต้องรู้จริง ถึงจะเป็นประโยชน์

    ผู้ฟัง สภาพธรรมไม่ว่าจะเป็นรูปธรรม หรือนามธรรมก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แต่ว่าจริงๆ แล้วนามธรรมย่อมต่างจากรูปธรรม

    ท่านอาจารย์ โดยมากเราก็จะติดชื่อ แต่ว่าตามความเป็นจริงต้องเป็นความละเอียดที่ไม่ต้องไปจำชื่อ เพราะเหตุว่าขณะนี้มีสภาพธรรม คืออาจล้างความคิดเก่าๆ ที่คิดว่าเราจะต้องไปจำชื่อไว้แล้วถึงจะรู้ว่าเป็นอะไร แต่ความจริงแม้ไม่มีชื่อแต่ก็มีธรรมที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นก่อนอื่นสิ่งที่กำลังมีคือธรรม ขณะนี้เราไม่ได้เข้าใจตามความจริงของสิ่งนั้นเลย มีสิ่งที่ปรากฏทางตาแค่ปรากฏให้เห็นก็ไม่รู้ว่าเป็นสิ่งที่มีจริงชนิดหนึ่งเกิดแล้ว เคยคิดอย่างนี้ไหม เดี๋ยวนี้ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเดี๋ยวนี้ก็เป็นสิ่งที่มีจริงอย่างหนึ่งซึ่งเกิดแล้วปรากฏ ไม่ต้องไปทำอย่างอื่นแต่มีสิ่งที่มีแล้วก็กำลังค่อยๆ เข้าใจสิ่งนี้ โดยไม่ต้องไปเรียกว่าธรรม หรือนามธรรม หรือรูปธรรมใดๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่ให้รู้ว่ามีสิ่งที่มีจริงกำลังปรากฏ แล้วฟังเพื่อเข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏเท่านั้นเอง นี่ก็ตอนหนึ่งยังไม่ต้องใช้คำว่า “ธรรม หรือว่านามธรรม หรือรูปธรรม” แต่เมื่อสนทนากันก็จำเป็นที่จะต้องพูดว่าจะใช้คำอะไรที่ทำให้เข้าใจความหมายของสิ่งมีจริงทั้งหมด ปรากฏเมื่อไรก็ตามสิ่งที่มีจริงนั้นก็ใช้คำว่า “ธรรม” เพราะเหตุว่ามีลักษณะหลากหลาย ให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมีแต่ไม่ใช่ให้ไปจำชื่อเพื่อที่จะได้เรียก

    เพราะฉะนั้นเวลานี้ความเข้าใจก็คือสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ ตั้งต้นแล้วตั้งต้นอีกเริ่มแล้วเริ่มอีกที่จะไม่ลืมว่า “มีจริงๆ กำลังปรากฏ” ให้ค่อยๆ เข้าใจเท่านี้ก่อนอได้ไหม เพราะฉะนั้นเวลานี้เราไม่ได้คิดถึงเรื่องอื่น คิดถึงเรื่องที่บ้านไหม คิดถึงเพื่อน หรือไม่ คิดถึงงาน หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าเป็นเวลาที่จะได้เข้าใจถูกต้องว่า ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เข้าใจขึ้นในความเป็นจริงตามที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ถ้าพระองค์ไม่ทรงตรัสรู้จะไม่มีใครพูดถึงความจริงขณะนี้ มีแต่เรื่องราวตั้งแต่เกิดแล้วก็จำอะไรได้เหมือนกับสิ่งนั้นยังมี ความจริงไม่มี มีแต่สิ่งที่กำลังปรากฏซึ่งเกิดแล้วดับแล้วด้วย นี่เป็นความลึกซึ้งของธรรมซึ่งไม่ใช่ใครไปรู้ หรือตั้งใจไปทำให้รู้ แต่ฟังจนกระทั่งเป็นความเข้าใจที่มั่นคงว่านี่เป็นสิ่งที่ยังไม่รู้ และจะไม่รู้ถ้าไม่มีการฟังพระธรรม

    เพราะฉะนั้นเวลานี่สิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ มากไหม หลากหลายไหม ถ้าเราไม่มีความละเอียดเราก็ไม่สนใจที่จะรู้ว่าอะไรกัน ใช่ไหม มากอะไร หลากหลายอย่างไร แต่ถ้าเราไม่คิดเรื่องอื่น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตานี่ก็อย่างหนึ่ง เสียงเห็นไหมก็เป็นความจริงอีกอย่างหนึ่ง คิดก็เป็นความจริงอีกอย่างหนึ่ง คือเป็นผู้ที่เริ่มมีความละเอียดที่จะเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ โดยที่ไม่มีชื่อ และไม่มีเรื่องราวของสิ่งนั้น มีแต่ลักษณะที่ปรากฏให้รู้ว่ามีจริงแล้วยังไม่รู้

    เพราะฉะนั้นก็เริ่มฟังสิ่งที่ปรากฏทางตามีจริงเกิดแล้วดับแล้ว แน่นอนเพราะว่าเกิดแน่แล้วก็ดับแน่ เพราะว่าสภาพธรรมจะปรากฏพร้อมกันหลายๆ อย่างไม่ได้ ต้องปรากฏจริงๆ เพียงทีละอย่างเพราะอะไร เพราะว่าลักษณะของธรรมไม่เหมือนกันแล้วจะให้มาปรากฏพร้อมกันทีเดียวได้อย่างไร ก็เป็นไปไม่ได้ ที่รู้ว่าต่างก็แสดงความจริงว่าไม่พร้อม อย่างหนึ่งต้องปรากฏแล้วอีกอย่างหนึ่งจึงปรากฏ เมื่อสิ่งที่ปรากฏนั้นดับไปแล้ว แต่เพราะความรวดเร็วมากยากที่ใครจะรู้ได้ จึงมีผู้ที่บำเพ็ญพระบารมีตรัสรู้ถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า สามารถที่จะกล่าวถึงความจริงเดี๋ยวนี้โดยประการต่างๆ เพื่อให้รู้ตามความเป็นจริงนั้นๆ

    เพราะฉะนั้นความเข้าใจของเราต้องมั่นคง และก็ตามลำดับด้วย พอพูดถึงธรรมไม่ได้คิดเรื่องชื่อคนนั้นคนนี้ เหตุการณ์นั้นเหตุการณ์นี้ แต่ว่าคิดถึงสิ่งที่กำลังมี ถึงระดับนี้ หรือยัง พอเอ่ยคำว่า “ธรรม” พอได้ยินคำว่า “ธรรม” ก็ไม่คิดถึงอย่างอื่นนอกจากสิ่งที่กำลังปรากฏ นี่จึงจะเป็นผู้ที่ฟังแล้วเข้าใจว่าสิ่งที่มีจริงเป็นธรรมซึ่งมีปรากฏแต่ไม่เคยรู้ และสิ่งที่ปรากฏก็เลือกไม่ได้ ใช่ไหม ขณะนี้จะไม่ให้เห็นได้ไหม เห็นแล้วแต่ไม่รู้ แต่พอจะรู้ว่าเห็นนี้เป็นสิ่งซึ่งมีความจริงซึ่งไม่เคยรู้มาก่อน ก็ฟังต่อไปเพื่อเข้าใจขึ้นเท่านั้น แล้วเข้าใจนั้นก็คือว่าบังคับบัญชาไม่ได้จะให้เข้าใจมากน้อยเท่าไร แต่จากการฟังก็เข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น

    และวันหนึ่งก็จะถึงการรู้แจ้งความจริงของสภาพธรรมตรงตามที่ได้เข้าใจ แต่ไม่ใช่ด้วยความหวัง รอ แต่เป็นเพราะรู้ว่าเข้าใจขึ้นแค่ไหน ใครจะรู้นอกจากตัวเองใช่ไหม ถามใครได้ไหม ฟังมาสิบปีเข้าใจแค่ไหนถามคนอื่นได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่พูดถึงสิ่งที่มีจริง ก็กำลังพูดถึงเดี๋ยวนี้ เสียงมีจริง มีแล้วก็ไม่มีแล้วก็ไม่กลับมาอีกในสังสารวัฏฏ์ นี่คือความจริงซึ่งถ้าไม่ลืมก็จะสะสมจนกระทั่งสามารถที่จะเกิดที่ไหน อย่างไร เห็นอะไร ก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า ความจริงของสิ่งที่ปรากฏก็คือเป็นเพียงสิ่งเกิดปรากฏแล้วหมดไป เท่านั้นเองนี่คือธรรม เพราะฉะนั้นก็หลากหลายมีทั้งเสียง มีทั้งสีที่ปรากฏทางตา มีทั้งกลิ่น มีทั้งคิดนึก มีทั้งสุขทั้งทุกข์ ศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจความจริงให้รู้ความจริงว่าเป็นธรรม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 183
    15 ม.ค. 2567