พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 674


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๗๔

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๓


    ท่านอาจารย์ ขณะนี้กำลังฟังธรรม หรือไม่ กำลังฟังอภิธรรม หรือไม่

    อ.กุลวิไล กำลังฟัง

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ต้องไปงานศพ แล้วก็จะได้ยินคำว่า “กุศลธัมมา อกุศลาธัมมา อพยากตาธัมมา” ก็เข้าใจว่าเป็นอภิธรรมที่ฟังไม่เข้าใจ แต่ความจริงธรรมคำเดียวก็ไม่เข้าใจถ้าไม่ศึกษา

    อ.กุลวิไล เพราะว่าขณะนี้เอง กุศลธรรมก็มี อกุศลธรรมก็มี อพยากตธรรมที่ไม่ใช่กุศลธรรม และอกุศลธรรมก็มี

    ผู้ฟัง สืบเนื่องจากพระสูตรที่นำมาศึกษา และก็เป็นช่วงเทศกาลถือศีลกินเจ ทีนี้ในพระสูตรที่ว่าหนทางบริสุทธิ์ก็จะมีอยู่ด้วยกัน ๕ ประการคือกรรม วิชชา ธรรม ศีล และชีวิตอันอุดม สนใจในประเด็นที่ว่าศีล เนื่องจากว่าตอนนี้ผู้คนก็จะถือศีลกินเจ การกินเจก็คือการละไม่กินเนื้อสัตว์ซึ่งคิดว่าเป็นศีลบริสุทธิ์ในข้อหนึ่ง และจากการฟังวิทยุในช่วงสองสามวันท่านอาจารย์ก็จะกล่าวถึงว่าอะไรเป็นศีล ก็จะมีเจตนาเจตสิก ความสำรวม ความงดเว้น และอะไรเป็นสมุฏฐานของศีล และก็ศีลมีอะไรบ้าง

    จะขอความกรุณาท่านอาจารย์ช่วยกล่าวรายละเอียดเรื่องศีล เพื่อที่จะให้ผู้คนที่ยังเข้าใจไม่ถูกหลายๆ คนรวมทั้งตัวดิฉันเองด้วย ให้เข้าใจถูกว่าจริงๆ แล้วพระพุทธองค์ทรงกล่าวถึงศีลไว้ว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ รู้สึกว่าต้องการธรรมเฉพาะกาล ไม่ว่าเทศกาลไหนก็จะหาธรรมมาเฉพาะกาลนั้นๆ แต่ความจริงธรรมเป็นอย่างนั้น หรือไม่ หรือว่าเป็นทุกกาล

    ผู้ฟัง จริงๆ ทุกขณะ ขณะนี้ก็เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เฉพาะกาลนี้ก็จะให้พูดเรื่องศีล กาลนั้นก็จะให้พูดเรื่องทาน หรืออะไร แต่การศึกษาพระธรรมเพื่อเข้าใจจริงๆ ในแต่ละคำที่ได้ยินได้ฟัง หรือใช้เองตั้งแต่เกิดจนตาย ถ้ายังไม่มีความเข้าใจเรื่องธรรม จะเข้าใจเรื่องศีลได้ไหม

    ผู้ฟัง ยังไม่เข้าใจธรรมก็ไม่เข้าใจเรื่องศีล

    ท่านอาจารย์ ก็จะพูดถึงศีลต่างๆ โดยไม่เข้าใจ แต่ว่าถ้าได้เข้าใจธรรมแล้วเรื่องศีลก็มี ทานก็มีทุกอย่างเป็นธรรมหมด และไม่ใช่เฉพาะกาลด้วย ถ้าคนอื่นเขาไม่สนใจที่จะเข้าใจเรื่องนี้ แต่ว่าคุณอรวรรณเข้าใจเรื่องศีลแล้ว จะอยากให้คนอื่นเป็นอย่างคุณอรวรรณ หรือไม่ หรือว่าเป็นไม่ได้แน่ แต่ละคนก็แต่ละฉันทะ แต่ละอัธยาศัย นี่คือคนที่เข้าใจธรรมจริงๆ ว่าธรรมทั้งหมดเป็นอนัตตาไม่ใช่อัตตา ถ้าเรามีความเข้าใจที่ถูกต้อง และคิดว่าคนอื่นอยากรู้อยากเข้าใจก็จะเกื้อกูลให้เขาเกิดความรู้ความเข้าใจ แต่ถ้าเขาไม่ได้สนใจที่จะเข้าใจแล้วเรายังอยากให้เขาเข้าใจเราเดือดร้อนไหม พูดเท่าไรก็ไม่เข้าใจ ไม่ศึกษาโดยละเอียดจริงๆ

    ผู้ฟัง แต่คิดว่าถ้าได้ทราบจริงๆ แล้วว่าศีลเป็นอย่างไรก็จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจแต่อาจจะยังไม่ได้เริ่มสนใจ

    ท่านอาจารย์ ศีลเป็นธรรม หรือไม่?

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ กุศลศีลมี หรือไม่?

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ อกุศลศีลมี หรือไม่?

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ คนชาวบ้านรู้ไหมว่ามีอกุศลศีล ถ้าไม่ได้ศึกษาธรรม

    ผู้ฟัง ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับการศึกษา คนที่ศึกษาก็เข้าใจ คนที่ไม่ศึกษาถ้าไม่อยากศึกษาก็ไม่ฟัง เห็นว่าการเข้าใจไม่มีประโยชน์ แต่ถ้าคนที่เห็นประโยชน์ก็ศึกษาให้ละเอียดขึ้น อพยากตศีลมีไหม เห็นไหมพระธรรมที่ทรงแสดงสี่สิบห้าพรรษาไม่เว้นสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน

    ผู้ฟัง ความบริสุทธิ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกันตลอดเลยใช่ไหม ทั้งปัญญา ทั้งเจตนา และอื่นๆ ก็มีศีล มีสมาธิประกอบกันเป็นมรรคทั้งหมด หรืออย่างไร เพราะว่าในพระสูตรท่านก็กล่าวว่าเหล่านี้เป็นมรรคทั้งหมด

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นเริ่มจากความเห็นถูกซึ่งเป็นปัญญา ก่อนที่เราจะกล่าวถึงมรรคองค์อื่นๆ เพราะว่าเรื่องของการฟังขณะนี้ก็คือฟัง แล้วก็ขณะใดที่เข้าใจก็คือเป็นสภาพธรรมที่ให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องว่าเป็นธรรมทั้งหมด

    ไม่ใช่ว่าฟังแล้วจะไปพิจารณา แต่ฟังแล้วเข้าใจขณะไหนหมายความสภาพธรรมที่เกิดพิจารณา ก็เกิดแล้วเข้าใจแล้วในขณะนั้น

    ผู้ฟัง ในการฟัง ความเข้าใจในขณะนั้นต้องเกิดระหว่างการที่มีสัจจญาณ และกิจญาณไปพร้อมกัน หรือไม่ หรือว่าจำเป็นจะต้องฟังจนเข้าใจว่าขณะนั้นเป็นความจริงเป็นเรื่องธรรมก่อน มีสัจจญาณก่อน

    ท่านอาจารย์ สัจจญาณเป็นภาษาบาลี ญาณคือความรู้ สัจจะคือความจริง เพราะฉะนั้นณะนี้มีความจริง และก็ฟังให้รู้ว่าความจริงในขณะนี้เป็นอะไร จนกระทั่งมีความเข้าใจที่มั่นคงว่าเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งเกิดจึงปรากฏ ถ้าไม่เกิดก็จะไม่ปรากฏว่ามีสภาพธรรมนั้นๆ เพราะฉะนั้นในขณะที่สภาพธรรมใดปรากฏ สภาพธรรมขณะนั้นก็คือกำลังเข้าใจว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา จนกระทั่งมีความมั่นคงจริงๆ ว่าเป็นธรรมนั่นคือปัญญาที่รู้ความจริงว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ถ้าเช่นนั้น ในคำถามที่ว่า “ควรเลือกเฟ้นธรรมโดยอุบายอันแยบคาย” ขณะนั้นเป็นลักษณะของปัญญาขั้นการฟัง

    ท่านอาจารย์ เข้าใจเป็นปัญญา

    ผู้ฟัง เข้าใจเป็นปัญญา

    ท่านอาจารย์ ขณะฟัง สามารถที่จะพิจารณาจนกระทั่งเข้าใจ ขณะนั้นก็เป็นการเลือกเฟ้นสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ไตร่ตรองจนกระทั่งเป็นความเข้าใจ

    ผู้ฟัง ถึงแม้จะเป็นขั้นการฟังเท่านั้น เข้าใจในขั้นการฟังเท่านั้นก็เป็นการเลือกเฟ้นแล้ว

    ท่านอาจารย์ คือเราไม่สามารถจะไปรู้แต่ละขณะจิต และแต่ละเจตสิกได้ ใช่ไหม แต่สามารถที่จะเข้าใจได้ว่า ขณะนี้ได้ยินเรื่องของสิ่งที่มีจริง และก็กำลังเข้าใจจากการฟัง โดยไม่ต้องไปคิดถึงจิต และเจตสิกแต่ละประเภทในขณะนั้น

    ผู้ฟัง คือก็ไปคิดตรงนั้นว่ากำลังฟังเรื่องของจิต แต่ว่าวาระที่เกิดขึ้นนี้ก็มีวาระที่เกี่ยวข้องกับการที่ปัญญาเกิดขึ้นหลายๆ ครั้งอาทิเช่นชวนจิตต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น ก็คิดว่าตรงนั้นเป็นลักษณะหน้าที่ของธรรมที่เขาทำหน้าที่การตัดสินใจ

    ท่านอาจารย์ จิตเจตสิกมีจริง เกิดดับเร็วมาก และก็เป็นจิตเจตสิกทั้งหมดโดยที่เราไม่รู้ แต่ฟังแล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อยว่าไม่ใช่เรา แต่เป็นจิต และเจตสิก

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์พยายามเน้นหลายๆ ครั้ง ซึ่งผมเองคิดว่าน่าจะเข้าใจได้ และเป็นประโยชน์ แต่จริงๆ แล้วตัวเองก็ยังไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ว่า ขณะนั้นก็เป็นการนึกคิดว่าเราจะทำศีล จะทำปัญญา หรือจะทำอะไรต่างๆ

    ท่านอาจารย์ ก็ลืมว่าคิดก็ไม่ใช่เรา และจะคิดอะไรก็บังคับบัญชาไม่ได้

    ผู้ฟัง แน่นอน

    ท่านอาจารย์ แม้แต่ขณะนี้กำลังคิดก็ยังไม่รู้ว่าคิด คิดแล้ว เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ความจริงจึงต้องศึกษาโดยละเอียด และค่อยๆ เข้าใจถูกต้องในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ว่าเป็นสิ่งที่มีจริงๆ จนกว่าจะรู้จริงแต่ละอย่างที่มีจริงๆ ไม่ปะปนกัน

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นแล้วก็ไม่ต้องไปกังวลว่าจะเข้าใจ หรือยัง หรือว่าจะอะไรทั้งสิ้น

    ท่านอาจารย์ ถ้ากังวลก็เป็นเรื่องหนักใจเป็นเรื่องไม่รู้ กำลังฟังเมื่อไรก็เข้าใจเมื่อนั้น และเข้าใจแล้วก็ไม่ลืมถ้าฟังบ่อยๆ ก็จะเกิดการนึกคิดถึงสิ่งที่ได้ฟังต่อไปก็ได้

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวโดยทั่วๆ ไปว่าการเข้าใจผิดในเรื่องของพระธรรมที่ทรงแสดงเป็นการทำลายพระศาสนา ตรงนี้เป็นการทำลายพระศาสนาอย่างไร

    ท่านอาจารย์ พระศาสนากล่าวถึงธรรมตามความเป็นจริงว่า “เป็นธรรมไม่ใช่เรา” แล้วก็ “เป็นอนัตตา” บังคับบัญชาไม่ได้ แต่ถ้ามีเราที่จะทำ สิ่งนั้นทำลายความถูกต้องตามความเป็นจริง หรือไม่ว่า “ความจริงไม่มีเรา” และก็เป็นอนัตตาด้วยบังคับบัญชาไม่ได้

    ผู้ฟัง ก็หมายความว่าต้องฟังพระธรรมจนเข้าใจก่อน

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เข้าใจอย่างเดียวไม่ต้องกังวล พอเข้าใจแล้วปัญญาก็ทำหน้าที่ของปัญญาตามกำลังของปัญญาด้วย

    ผู้ฟัง แม้กระทั่งเราฟังพระธรรมแล้ว เราก็คิดว่าเข้าใจแต่ความจริงเข้าใจผิด หรือเข้าใจถูกก็ยังไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ เข้าใจเรื่องราว หรือชื่อ แต่ถ้าเข้าใจเรื่องราวแล้วอยากจะไปรู้ตัวนั้นเช่นรู้ว่าขณะนี้มีเจตนาเจตสิก มีเวทนาคือความรู้สึก มีผัสสเจตสิก มีทั้งนั้นแล้วอยากจะไปรู้ทีละอย่างให้ชัดเจน ถูก หรือผิด

    ผู้ฟัง สิ่งนั้นก็ผิด

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นฟังให้เข้าใจก่อน เพราะว่าปัญญาขั้นนี้ไม่สามารถจะรู้ลักษณะที่กำลังเกิดดับในขณะนี้แต่ละอย่าง แต่เมื่อฟังแล้วมีความมั่นคงว่าปัญญาสามารถที่จะเริ่มเข้าใจสิ่งที่มีจริงตั้งแต่ขั้นการฟังละเอียดขึ้น เข้าใจขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะคุ้นเคย หรือชินกับลักษณะที่เป็นธรรมตามที่ได้ฟัง ด้วยปัญญาอีกระดับหนึ่ง แล้วก็ถึงปัญญาที่สามารถประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรมนั้นก็ต้องมาจากการฟังเข้าใจนั่นเอง

    เพราะว่าพระศาสนามีปริยัติ ปฏิปัตติ ปฏิเวธ เพราะฉะนั้นขั้นฟังแล้วเราจะเป็นตัวเราที่จะไปทำ ให้รู้สิ่งนั้นสิ่งนี้ก็ไม่ถูกต้อง เพราะว่าแม้แต่ความหมายของคำว่า “ปฏิ ปัตติ” ในภาษาบาลีก็ไม่ได้รู้ตรงที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงถึง “ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ” ปริยัติไม่ใช่ปฏิบัติ ปฏิบัติก็ไม่ใช่ปฏิเวธ

    ผู้ฟัง สิ่งนั้นก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างที่จะยากแม้กระทั่งความเข้าใจขั้นพื้นฐานแค่เรื่องราวก็เข้าใจยากอยู่แล้ว เพราะว่าพอฟังแล้วเราคิดว่าเข้าใจแล้วพยายามที่จะใช้ความเข้าใจนั้นออกมาซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง หรืออธิบายออกมาไม่ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ได้เข้าใจว่าไม่ใช่เราเลยเป็นเราตลอด แม้แต่กำลังฟังธรรมก็กำลังเป็นเราฟัง

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่นี้เขากล่าวกันถึงเรื่องของศีล ศีลนี้ก็ค่อนข้างจะยากอยู่แล้ว

    ท่านอาจารย์ ถ้าเราเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยตามลำดับขั้นจะไม่ยาก เพราะว่าศีลคือปกติ ยากไหมปกติ ปกติคือเป็นอกุศลศีล ศีลคือปกติ

    เวลาที่อกุศลจิตเกิดเป็นปกติไหม หรือว่าไม่ปกติ มีปัจจัยที่เกิดอกุศล อกุศลก็เกิด ไม่ใช่อกุศลจะเกิดโดยไม่มีปัจจัย หรือว่าปัญญาจะเกิดโดยไม่มีปัจจัยก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นทุกอย่างเป็นปกติ เพราะฉะนั้นศีลคือปกติ กายเป็นปกติไหม วาจาเป็นปกติไหม ใจก็เกิดขึ้นเป็นไปตามปกติ ไม่ผิดปกติของสภาพธรรมที่มีปัจจัยนั้นๆ ที่จะเป็นอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้นจึงมีคำว่า “อกุศลศีล” เพราะอะไร เพราะปกติจิตเป็นอกุศล ถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้วเวลาที่กุศลจิตเกิดจะให้กล่าวคำร้ายๆ จะให้ทำสิ่งที่ชั่วๆ ได้ไหมเวลาที่จิตเป็นกุศล ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นในขณะนั้นกาย วาจา ก็เป็นกุศลศีล แล้วสำหรับผู้ที่หมดจดจากกิเลสดับกิเลสหมดเป็นพระอรหันต์แล้ว กุศลก็ไม่มี อกุศลก็ไม่มีเพราะอะไร เพราะถ้ายังเป็นกุศลเป็นอกุศลก็เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดผล แต่ผู้ที่เป็นพระอรหันต์แล้วการกระทำใดๆ ของท่านตั้งแต่ดับกิเลสหมดแล้วก็เป็นปกติ แต่เป็นอพยากต คือไม่ใช่ทั้งกุศลไม่ใช่ทั้งอกุศล เพราะเหตุว่าไม่เป็นปัจจัยที่จะให้ผลคือวิบากเกิด

    ถ้ามีความเข้าใจตามลำดับอย่างนี้ แล้วได้ยินชื่อเรื่องว่า “วิสุทธิมรรค” จะกล่าวถึงอกุศลศีล หรือกุศลศีลเราก็สามารถที่จะเข้าใจได้ ในเมื่อถ้าไม่ศึกษาเราก็คิดว่าศีลต้องเป็นกุศลอย่างเดียว แต่ความจริงศีลคือปกติของกาย วาจาซึ่งเป็นไปตามจิต เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่จะพูดถึงศีลที่เป็นกุศล เพราะเหตุว่าสมาทานศีล หรือว่าอาราธนาศีล จะไปให้เกิดอกุศล ขอให้เกิดอกุศลกันได้ หรือไม่ อกุศลไม่ต้องขอมีอยู่แล้ว

    เพราะฉะนั้นสมาทานศีลหมายความว่าอะไร “สะ มา ทา นะ” หรือสมาทานคือถือเอาเป็นข้อประพฤติปฏิบัติ อย่างเวลาที่เห็นใครละเว้นการฆ่ายุงรู้เลยว่าคนนั้นไม่ต้องไปอาราธนา หรือไม่ต้องไปกล่าวคำสมาทานเลยใช่ไหม แต่เป็นการที่บุคคลนั้นถือเป็นข้อประพฤติปฏิบัติของเขาที่เขาจะไม่ฆ่าสัตว์ หรือคนที่ไม่พูดคำที่ไม่จริงก็ไม่ต้องไปสมาทาน แต่ขณะใดที่วิรัติขณะนั้นก็คือว่า เขาถือเอาเป็นข้อปฏิบัติของเขาว่าเขาจะไม่พูดสิ่งที่ไม่จริง

    เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตามที่มีเจตนาศีล ตั้งใจที่จะถือสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นข้อประพฤติปฏิบัติซึ่งปกติของคฤหัสถ์ก็ควรจะมีศีลห้าเป็นปกติ เพราะว่าเราจะห้ามอกุศลไม่ให้เกิดไม่ได้ แต่อกุศลที่มีกำลังจนกระทั่งถึงทุจริตกรรมที่เบียดเบียนคนอื่น สิ่งก็เป็นการล่วงศีลที่ควรจะไม่ทำควรจะเว้นใช่ไหม เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตามที่ใครเว้นการฆ่าสัตว์ ขณะนั้นเรารู้ได้ว่าถือเอาเป็นข้อประพฤติปฏิบัติของเขา

    เพราะฉะนั้นถ้าเราจะสอนเด็กๆ ไม่ให้ทำร้ายไม่ให้เบียดเบียนจนกระทั่งเป็นอุปนิสัย เขาก็จะถือเอาสิ่งนั้นเป็นข้อประพฤติปฏิบัติที่เขาจะไม่ทำ

    อ.กุลวิไล พูดถึงความหมายของศีลคือปกติ ขณะนี้เองก็มีศีลเพราะว่าสภาพธรรมก็มีจริง และปกติที่เป็นกุศล หรือกุศล

    ท่านอาจารย์ กำลังฟังธรรมนี่เป็นศีล หรือไม่ ต้องดูที่จิต เพราะว่าจิตเกิดดับเร็วมาก

    ผู้ฟัง ความแตกต่างของการเว้น พอยุงมาจะกัดเรา หรืออะไรก็แล้ว หรือเรารู้ว่าเป็นยุง แต่เพราะว่าเรารู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติของยุงที่จะมากัด

    ท่านอาจารย์ ของเราที่จะฆ่า หรือว่าของเราที่จะไม่ฆ่า

    ผู้ฟัง นั้นเป็นลักษณะที่คล้ายๆ กับว่าเป็นของเราที่จะไม่ฆ่า

    ท่านอาจารย์ มิได้ ธรรมทั้งหมดเป็นธรรม แต่ความรู้ของเราแค่ไหน ถ้ายังมิใช่พระโสดาบันบุคคลก็เป็นเรา ยังคงเป็นเราอยู่

    ผู้ฟัง ดังนั้นอยู่ที่ความเข้าใจด้วยใช่ไหม หมายความถึง

    ท่านอาจารย์ เข้าใจว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง เข้าใจว่าไม่ควรฆ่า ก็ท่องมาว่าองค์ประกอบของศีลว่าเป็นอย่างนั้นๆ สิ่งนี้เราไม่ทำ สิ่งนี้ก็ยังเป็นตัวตนทั้งนั้น

    ท่านอาจารย์ เวลาที่ใครจะฆ่าใคร มีความเห็นใจคนที่ถูกฆ่า หรือไม่ เขาเจ็บแน่ ตายแน่ใช่ไหม เพราะฉะนั้นมีความเห็นใจ มีความเข้าใจในบุคคลนั้น หรือไม่

    เพราะฉะนั้นคนที่ไม่ฆ่าต้องเป็นคนที่รู้ เราฉันใดคนอื่นก็ฉันนั้น ไม่ทำร้ายใครแม้แต่วาจา เราอยากจะได้ยินคำนั้นไหม ถ้าเราไม่อยากจะได้ยินแล้วเราพูดคำนั้นให้คนอื่นฟัง แล้วเป็นอย่างไรเขากับเราก็ต้องเหมือนกัน เพราะฉะนั้นขณะใดที่กุศลจิตเกิดสมาทานคือ ถือเป็นข้อประพฤติปฏิบัติโดยไม่ต้องมีใครมาบอก โดยที่ไม่ต้องมีใครมาสั่งแต่ว่าผู้นั้นเห็นประโยชน์ หรือว่าเห็นโทษของการเบียดเบียนทำร้ายบุคคลอื่น ขณะที่ล่วงศีลหมายความว่าเบียดเบียนบุคคลอื่นแน่นอน

    ผู้ฟัง ใช่ ขณะที่ล่วงศีลเบียดเบียนคนอื่นแน่นอนแต่มีลักษณะคล้ายๆ กับว่า การที่จะตั้งใจ หรือที่จะทำมันก็จะต้องมีความเข้าใจว่า

    ท่านอาจารย์ เจตนาเป็นศีล

    ผู้ฟัง เจตนาเป็นศีล แต่ว่าจริงๆ แล้วเจตนาเป็นศีลขณะนั้นเกิดขึ้นไม่ฆ่ายุง คือมีเจตนาที่จะไม่ฆ่าแต่จะต้องมีความรู้ หรือความเข้าใจว่ายุงนั้นมีชีวิต หรืออะไรต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น

    ท่านอาจารย์ ไม่จำเป็นต้องคิดมาก ใช่ไหม

    ผู้ฟัง แต่มันคิดเร็ว

    ท่านอาจารย์ คุณวีระจะฆ่าต้นไม้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นการฆ่าหมายความถึงต้องเป็นสิ่งที่มีชีวิต ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ต้องเป็นสิ่งที่มีชีวิต

    ท่านอาจารย์ แล้วก็ละเว้นไม่ฆ่า เพราะอะไร เพราะคนนั้นมีอัธยาศัย “สีลุปนิสัย” ถือเป็นข้อประพฤติ ไม่ต้องมานั่งบอกว่าเราถือ ชั้นถือ ข้าพเจ้าถือ ก็ไม่ต้องพูด แต่ว่าเป็นอัธยาศัยที่เป็นอย่างนั้น ที่จะประพฤติอย่างนั้น

    ผู้ฟัง สิ่งนั้นเป็นศีลสำหรับคนนั้นแล้ว หมายความคนนั้นเขาคุ้นเคยที่จะปฏิบัติอย่างนั้น ที่จะเป็นอย่างนั้น หมายความว่าเขาเข้าใจในเรื่องของความเป็นผู้มีศีล

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่บุคคล บางคนไม่ได้เข้าใจธรรมแต่สะสมการไม่ฆ่าสัตว์ ที่บ้านลองสังเกตดูมีญาติ มีเด็กเล็กๆ มีพี่น้องใครฆ่าอะไรง่ายๆ ใครเว้นไม่ฆ่า ยุงซักตัวก็พยายามที่จะเอาออกไปข้างนอกเพราะว่า ยุงกัดก็เจ็บก็ไม่อยากถูกกัด แต่ก็ไม่ฆ่า จะอยู่ลำบากจะไปกินใครที่ไหน จะไปกัดใครที่ไหนก็ไม่ว่าเพียงแต่ว่าขอที่จะไม่ฆ่า หรือว่าไม่ฆ่าในขณะนั้นเป็นอัธยาศัย เพราะฉะนั้นแต่ละคนมีทานนุปนิสัย สีลุปนิสัย ภาวนุปนิสัยตามการสะสมแต่ละขณะที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปก็สะสมอยู่ในจิตที่จะทำให้เป็นผู้ที่มั่นคง หรือไม่มั่นคง

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นผมคงจะล่วงศีลตลอดถึงแม้ว่าจะตั้งใจว่าจะรักษาศีล เช่นเรื่องของการพูด สิ่งนี้เป็นเรื่องง่ายมากที่จะพูดบิดไปทางนั้น บิดไปทางนี้เพื่อให้เรื่องนั้นดีขึ้น หรืออะไรก็แล้วแต่ ไม่ทำร้ายเขา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่ใช่คุณวีระแต่เป็นธรรม กุศลจิตเกิดดับไป อกุศลจิตเกิดได้

    ผู้ฟัง สิ่งนั้นก็สลับกัน

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นอะไร

    ผู้ฟัง ขณะนั้นเป็นธรรมอยู่แล้ว

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดเป็นธรรม

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นผู้ที่เข้าใจในเรื่องของธรรมก็คือการเข้าใจว่าขณะนี้เป็นธรรมเท่านั้น หรือว่าไม่ต้องไปสนใจในเรื่องว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ คือเราโดยมาก เราจะคาดคะเน คิดถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น และคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว เพราะฉะนั้นตอนนี้คุณวีระกำลังเป็นอะไรก็ไม่ได้คำนึงถึงสิ่งที่กำลังเป็น แต่คิดถึงว่าต่อไปจะทำอย่างนั้น หรือที่แล้วมาเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นขณะนั้นก็ไม่สามารถรู้ความจริงว่าเป็นธรรม ก็ต้องไปคิดว่าเข้าใจเป็นธรรม หรือว่าต้องคิดว่าเป็นธรรม หรือต้องรู้ว่าเป็นธรรม นั่นคือพูดถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่าอะไรจะเกิด แม้แต่ซักขณะหนึ่งต่อจากขณะนี้ก็รู้ไม่ได้ แต่ว่ามีอะไรจะเกิดขึ้นเป็นไป ก็เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ทำให้สามารถที่จะเห็นความจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ตรงนี้นิดหนึ่งว่า ถ้าเกิดความเข้าใจคือมีปัญญาเกิดขึ้นแล้ว ถึงจะไม่ฆ่ายุง

    ท่านอาจารย์ ปัญญาดับไหม

    ผู้ฟัง รวดเร็วเหลือเกินที่ว่าจะดับ

    ท่านอาจารย์ แล้วก็ไม่มีอกุศลเกิดเลย หรือว่าอกุศลก็ยังเกิดได้ เพราะว่ายังไม่ได้ดับอกุศล

    ผู้ฟัง ขณะนี้ใช่ บางครั้งพอเสียงวี้มาก็อยากจะตบแล้ว แต่อ้อไม่ควรจะตบเพราะเขาเป็นสิ่งมีชีวิต แต่ขณะนั้นก็อาจรวดเร็วมากที่ว่าไม่ต้องคิดถึงขนาดนั้น

    ท่านอาจารย์ ถ้าพบคนที่จะกำลังทำร้าย จิตขณะนั้นเป็นอะไร เคยตั้งใจไว้ว่าจะไม่ต่อสู้ หรือว่าจะไม่ฆ่าก็แล้วแต่ แต่ถึงเวลาจริงๆ ใครจะรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่ถ้าเป็นผู้ที่ดับกิเลสแล้วถึงความเป็นพระอริยบุคคลเป็นพระโสดาบัน จะไม่มีการทำร้ายสัตว์อื่นให้ถึงแก่ชีวิต เพราะฉะนั้น แม้แต่คำสั้นๆ “ไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว หรือสิ่งที่ยังไม่มาถึง” เพียงเท่านี้ปัญญาระดับไหน ถ้าเป็นปัญญาที่กำลังรู้ลักษณะของธรรมขณะนี้เพราะได้ฟังจนสามารถที่จะเริ่มเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏในความเป็นจริง ว่าขณะนี้กำลังเข้าใจเห็น เพราะมีเห็น กำลังเริ่มที่จะรู้ว่าเห็นก็คือสภาพที่กำลังเห็นไม่มีรูปร่างใดๆ แต่มีจริงเป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งกำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ และสิ่งที่ปรากฏก็เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งสามารถกระทบจักขุประสาท และปรากฏว่ามี ไม่ใช่ไม่มี เวลานี้มีกำลังปรากฏให้เห็น ขณะนั้นไม่ได้คิดถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว และไม่ได้คำนึงถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง พร้อมกันนั้นถ้าปัญญาถึงระดับที่ละความติดข้อง ทันทีนั้นเลยมีสภาพธรรมอื่นปรากฏก็เห็นความไม่เที่ยง การเกิดขึ้น และดับไป

    เพราะฉะนั้นแม้แต่ความหมายของคำว่า “ไม่เที่ยงเกิดดับ” ก็แล้วแต่กำลังของปัญญาที่สามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะว่าสิ่งนี้เกิดปรากฏแล้วดับ สิ่งที่ดับไปแล้วก็ไม่มีทางที่จะกลับมาปรากฏได้ ดับแล้วก็คือว่าไม่กลับมาอีก เพราะฉะนั้นกำลังของปัญญาก็มีตั้งแต่ขั้นการฟัง เข้าใจ และอบรมความมั่นคงที่จะรู้ว่าเป็นธรรมไม่ว่าจะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตั้งแต่เกิดจนตายก็เป็นธรรมทั้งหมด

    ผู้ฟัง ที่ฟังนี้เข้าใจ แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นยุงลายก็ยังคิดถึงความร้ายของยุงลาย

    ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นความจริง รู้ว่าเป็นยุงลายเป็นจริง หรือไม่ เป็นธรรม หรือไม่

    ผู้ฟัง รู้ ความรู้นั่นว่ายุงลายเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่คุณวีระ แต่หลังจากเห็นแล้วคิด


    Tag  กรรม  วิชชา  ธรรม  ศีล  ชีวิตอันอุดม  กุศลธรรม  อกุศลธรรม  อพยากตธรรม  ศีล  ทาน  ฉันทะ  อนัตตา  อัตตา  กุศลศีล  อกุศลศีล  มรรค  ปัญญา  สมาธิ  สัจจญาณ  กิจญาณ  ญาณ  สัจจะ  เลือกเฟ้นธรรม  วาระ  ชวนจิต  ไม่ใช่เรา  จิต  เจตสิก  เป็นธรรมไม่ใช่เรา  เป็นอนัตตา  ความจริงไม่มีเรา  เวทนาเจตสิก  ผัสสเจตสิก  ปริยัติ  ปฏิปัตติ  ปฏิเวธ  ปฏิบัติ  ปัจจัย  ศีลคือปกติ  ปัจจัย  พระอรหันต์  อพยากต  วิสุทธิมรรค  ศีลคือปกติ  สมาทานศีล  อาราธนาศีล  วิรัติ  คฤหัสถ์  เจตนาศีล  ศีลห้า  ทุจริตกรรม  ล่วงศีล  อุปนิสัย  ข้อประพฤติปฏิบัติ  โสดาบันบุคคล  ล่วงศีล  ทานนุปนิสัย  สีลุปนิสัย  ภาวนุปนิสัย  อัธยาศัย  ไม่เที่ยงเกิดดับ  กำลังของปัญญา  เป็นธรรม  อบรมความมั่นคงว่าเป็นธรรม  
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 183
    24 ธ.ค. 2566