พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 684


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๘๔

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓


    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีธรรมคือจิต ธาตุรู้เกิดขึ้นไม่มีเจตสิกซึ่งปรุงแต่งให้จิตเกิด ไม่มีรูปที่กำลังปรากฏก็จะไม่มีอะไรทั้งสิ้น ถึงแม้ว่าจะมีรูปธรรมเกิดขึ้นเพราะอุตุ ความเย็น ความร้อนก็ทำให้เกิดพืชพรรณ ทำให้เกิดภูเขา ทำให้เกิดทะเล อะไรก็แล้วแต่ๆ ถ้าไม่มีธาตุรู้คือจิต และเจตสิกเกิดขึ้นรู้ก็ไม่มีอะไรปรากฏ

    เพราะฉะนั้นที่สำคัญที่สุดปรมัตถธรรมหมายความถึงธรรมสิ่งที่มีจริงแท้แน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ซึ่งก็จะมีปรมัตถธรรมที่เป็นประเภทต่างกัน ๔ อย่างคือ ปรมัตถธรรมอย่างหนึ่งเป็นจิต เป็นธาตุรู้ซึ่งเกิดขึ้นต้องรู้ รู้ที่นี่ไม่ใช่ปัญญาคือความเห็นถูกความเข้าใจถูก เพียงแต่รู้ว่าขณะนี้มีอะไร อย่างทางตาขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น เราเห็นบ่อยๆ แล้วเราก็ใช้คำว่า “เห็น” แต่เราไม่ได้เข้าใจจริงๆ ว่าเห็นมีจริง เป็นธรรมซึ่งเกิดขึ้นรู้สิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นในขณะนี้ เพราะฉะนั้นปรมัตถธรรมนี้โดยชื่อที่ทรงบัญญัติไว้ก็คือใช้คำว่า “จิต" " จิด ตะ” ภาษาไทยเราก็พูดธรรมดาคือจิต เหมือนรู้จักจิต เวลานี้กำลังมีจิต จิตกำลังทำอะไร ขณะนี้ที่เห็นจิตเกิดขึ้นเห็น จึงมีสิ่งที่กำลังปรากฏเพราะจิตเกิดขึ้น และก็เห็นสิ่งซึ่งปรากฏให้เห็นได้อย่างเดียว อย่างอื่นที่ไม่สามารถกระทบจักขุปสาท ไม่สามารถที่จะปรากฏให้เห็นได้ แม้มีจริง เช่นเสียงมีจริง ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรมแต่เสียงก็ไม่ใช่สภาพรู้ ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นได้ยินเสียง จะรู้ว่ามีเสียงไม่ได้ ใช่ไหม เสียงก็ไม่ปรากฏให้รู้ว่ามี

    เพราะฉะนั้นจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ จะเป็นทางตาคือขณะนี้ที่เห็นเป็นธาตุ คือจิตเกิดขึ้นเห็น ไม่ได้ทำอะไร เห็นทำอะไร หรือเปล่า เห็นเท่านั้น กำลังเห็นนั่นคือจิตเป็นใหญ่เป็นประธาน แต่จิตก็ต้องมีเจตสิกซึ่งเป็นสภาพนามธรรมเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกันอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น และก็รู้สิ่งเดียวกัน แต่เจตสิกมีถึง ๕๒ ประเภท ในเมื่อจิตคือ ๑ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ แต่ว่าเจตสิกแต่ละเจตสิกมีลักษณะ และมีกิจการงานของเจตสิกนั้นๆ

    เพราะฉะนั้นขณะนี้กล่าวถึงจิตตุปบาทคือการอุบัติ หรือการเกิดขึ้นของจิตรวมเจตสิกด้วย ไม่ต้องพูดยาวถ้าเข้าใจ ใช่ไหม ถ้าพูดถึงจิตก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นขณะนี้มีใคร หรือเปล่า หรือว่ามีจิตเกิดพร้อมเจตสิกซึ่งกำลังทำหน้าที่ แม้แต่ขณะที่กำลังเห็นก็เป็นจิต ๑ ขณะที่เกิดขึ้นเห็น กำลังได้ยินก็เป็นจิตอีก ๑ ขณะซึ่งไม่ใช่เห็นแต่เกิดขึ้นได้ยิน กำลังคิดนึกก็เป็นจิตอีกขณะซึ่งเกิดขึ้นไม่เห็น ไม่ได้ยิน แต่คิดนึก ธรรมดาไหม

    วันก่อนนี้ เมื่อวานนี้ก็มีคนบอกว่ารู้แล้วทำไมต้องพูดเรื่องที่รู้แล้วธรรมดาๆ อย่างนี้คือเรื่องเห็นเรื่องได้ยิน แต่เขาไม่ได้เข้าใจว่าเขาไม่รู้ว่า เห็น หรือได้ยินเป็นธรรม เพราะฉะนั้นจะเชื่อว่ารู้แล้วได้อย่างไร ก็หลงยึดถือสิ่งที่เกิดแล้วก็ดับไปไม่เหลือว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง เพราะฉะนั้นให้ทราบความต่างของปรมัตถธรรมจิตเจตสิก ส่วนรูปไม่ใช่สภาพรู้ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ทั้งสิ้น บางคนก็บอกว่าสมองรู้เพราะเขาไม่ได้เข้าใจ ถ้าจับ อ่อน นิ่ม หรือแข็ง รู้อะไรไม่ได้

    เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมเป็นการศึกษาซึ่งต้องไตร่ตรองให้เข้าใจว่าก่อนฟังธรรมเคยรู้อย่างนี้ไหม เคยรู้ความละเอียดของจิต เจตสิก และรูป หรือไม่ นอกจากนั้นยังมีปรมัตถธรรมซึ่งต้องถึงด้วยปัญญาอีกระดับหนึ่ง ซึ่งมีความเข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้มั่นคง ละเอียด และเพิ่มขึ้นจึงจะสามารถรู้จักปรมัตถธรรมอีก ๑ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงคือนิพพานปรมัตถ์

    เพราะฉะนั้นในชีวิตประจำวันได้ยินคำอะไรอย่าข้าม และอย่าเผิน ถ้ามีคนพูดเรื่องปรมัตถธรรมคิดถึงอะไรในชีวิตประจำวัน ปรมัตถธรรมคือสิ่งที่มีจริงซึ่งไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนใดๆ เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป และสืบต่ออย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นก่อนฟังธรรมมีใครรู้บ้างว่าจิตเกิดดับ มีใครรู้บ้างว่ารูปเกิดดับ นี่คือความไม่รู้ อย่าคิดว่ารู้แล้วไม่ว่าจะเห็น หรือได้ยิน แต่ความจริงไม่รู้ ความจริงคือปรมัตถธรรม

    เพราะฉะนั้นในขณะนี้จิตเจตสิกเกิดขึ้น ทันทีที่เกิดขึ้นทำกิจการงาน เร็วมากดับแล้ว ใครรู้ ไม่มีใครรู้ แต่ว่าจิตเกิดดับ แต่จิตที่ดับไปแล้วเป็นปัจจัยทำให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันทีไม่มีระหว่างคั่น ทำไมพูดถึงเรื่องนี้ คือพูดถึงความจริงแท้ๆ ในขณะนี้เพื่อจะได้เข้าใจคำว่า “บัญญัติ” เพราะว่าขณะนี้มีแต่คำว่า “ปรมัตถธรรม” ซึ่งมีจริงๆ ได้แก่จิต เจตสิก รูป

    เพราะฉะนั้นเมื่อจิต เจตสิกเกิดแล้วก็ดับไปรวดเร็วจนกระทั่งไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ แต่การเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าเที่ยง ทั้งสิ่งที่จิตกำลังรู้ และจิตด้วย เช่น ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏเพราะจิตเกิดขึ้นเห็น ดับแล้วทั้งสองอย่าง แต่ไม่ได้ปรากฏว่าทั้งสองอย่างดับไปเพราะความรวดเร็ว เพราะฉะนั้นการเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วของจิต ซึ่งเห็นสิ่งที่ปรากฏซึ่งเกิดดับอย่างรวดเร็วสืบต่อ ทำให้เห็นเป็นเพียงนิมิต (นิ มิด ตะ) ว่าสิ่งนั้นมีจริง เพราะว่าความรวดเร็วของจิตที่เกิดแล้วดับไปทันทีใครจะรู้ได้ ด้วยเหตุนี้แม้จะพูดเรื่องจิตก็เป็นสภาพที่เกิดดับสืบต่อปรากฏเป็นนิมิตให้รู้ว่าธาตุรู้มี เช่นเห็นขณะนี้ เห็นมี แต่เป็นจิตเจตสิกซึ่งเกิดขึ้นเห็นแล้วก็ดับสืบต่ออย่างเร็วมาก

    เพราะฉะนั้นถ้าไม่ได้รู้ความจริงของจิต และเจตสิก จึงรู้แต่เพียงว่ามีจิต และเจตสิกซึ่งใช้คำว่า “วิญญาณนิมิต” สำหรับจิต สำหรับเจตสิกก็เป็นความรู้สึกที่เป็นเวทนานิมิต เป็นความจำก็สัญญานิมิต จำได้ไหม จำได้ เพราะสภาพของเจตสิกที่จำไม่ใช่เพียง ๑ แต่ว่าเกิดดับสืบต่อจนปรากฏให้รู้ว่าความจำมี

    เพราะฉะนั้นการเกิดดับของเจตสิกอย่างเร็วทำให้เป็นนิมิตที่รู้ได้ว่ามีสิ่งนั้น แต่ความจริงสิ่งนั้นเกิดแล้วดับไป เกิดแล้วดับไป ขณะนี้เอง ลึกซึ้ง หรือว่าใครจะคิดเองอย่างนี้ได้ถ้าไม่ใช่การตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ยังไม่ถึงบัญญัติ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นที่จะเข้าใจบัญญัติจริงๆ คำนี้โดยถ่องแท้ไม่ใช่จำชื่อว่าเมื่อไม่ใช่ปรมัตถธรรมก็เป็นบัญญัติ แต่ถ้าไม่มีปรมัตถธรรม บัญญัติมีได้ไหม ก็ไม่ได้

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์บอกว่าในชีวิตนี้ ถ้าไม่เข้าใจคำที่ได้ยินก็เหมือนกับว่าพูดสิ่งที่ได้ยิน หรือว่าอะไรจนกระทั่งเกิดถึงตายแล้วก็ไม่เข้าใจ ทีนี้ในตอนนี้ท่านอาจารย์กำลังกล่าวถึงคำว่า “นิมิต” และคำว่า “บัญญัติ”

    ท่านอาจารย์ ตอนนี้ปรมัตถธรรมกับนิมิตก่อน

    ผู้ฟัง ปรมัตถธรรม นิมิต และก็บัญญัติ ปรมัตถธรรมความเข้าใจก็คือสิ่งที่มีจริง จริงก็คือกำลังเกิดขึ้นขณะนี้เช่นเห็น สิ่งที่ปรากฏทางตา ได้ยินเสียง และก็คิดนึกกับสิ่งที่เห็น และได้ยินแล้วคิดนึกสิ่งที่ไม่เห็นไม่ได้ยินด้วย ทีนี้ก็ยังไม่กระจ่างชัดที่ว่า นิมิตก็คือรู้ว่าเป็นเครื่องหมายของสิ่งที่เกิดดับเร็วมาก และก็ให้รู้ได้ว่าเป็นอะไร บัญญัติก็คือให้รู้ด้วยประการนั้นๆ ก็คือนิมิตที่เกิดดับเร็ว

    ท่านอาจารย์ ตอนนี้ขอเพียงปรมัตถธรรมกับนิมิตก่อนยังไม่ถึงบัญญัติ เพราะว่าถ้าจะกล่าวไม่ละเอียดอาจไม่เข้าใจบัญญัติเพียงแต่จำได้ แต่ตอนนี้เข้าใจปรมัตถธรรม เข้าใจนิมิตของปรมัตถธรรม หรือยัง เพราะปรมัตถธรรมเกิดดับเร็วมาก บอกว่ามีจิต จิตเกิดดับไปตั้งเท่าไรแล้ว ถ้ากำลังโกรธรู้ได้ใช่ไหมว่าโกรธ แต่โกรธนั้นเกิดดับไปเท่าไรแล้ว

    ไม่ใช่เพียง ๑ ขณะที่โกรธเกิดกับจิตแล้วดับไปแล้วเราจะรู้ได้ แต่เพราะเหตุว่าการเกิดดับสืบต่อปรากฏให้รู้ได้ แต่ไม่ใช่ให้รู้ตัวโกรธซึ่งเกิดกับจิตขณะก่อนแล้วก็ดับไป และโกรธขณะนี้ซึ่งเกิดกับจิตแล้วก็ดับไปอย่างเร็วมาก เพราะฉะนั้นการเกิดดับสืบต่อนี่เองจึงปรากฏตั้งขึ้นพร้อมนิมิตหมายความว่าเหมือนกับพร้อมกัน อย่างขณะนี้พอลืมตาก็เห็นแล้ว และก็รู้ว่าเห็นอะไร เหมือนกับพร้อมกัน แต่ความจริงไม่ใช่ สภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก เพราะฉะนั้นปรากฏการเกิดสืบต่อเป็นนิมิตให้รู้ได้ว่ามีจริงๆ อย่างเห็นเวลานี้ มีจริง แต่เห็นกี่ขณะที่เกิดแล้วดับแล้ว รู้ขณะที่จิตนั้นเพียงเกิดแล้วดับไหม จึงจะชื่อว่าเป็นธรรมที่ไม่ใช่นิมิต แต่ถ้าไม่มีการเกิดดับสืบต่อนิมิตก็ไม่ปรากฏ ถ้าคุณอรวรรณจะเดินออกไปข้างนอกห้องก็ไม่มีการปรากฏของคุณอรวรรณแล้ว ใช่ไหม

    เพราะฉะนั้นการเกิดดับสืบต่อก็ปรากฏเป็นนิมิตต่างๆ ให้จำได้ว่ามีสิ่งนั้น แต่ไม่ใช่หมายความว่าให้รู้ความจริงว่าสิ่งนั้นเกิดดับจนกระทั่งสามารถที่จะรู้ได้ว่าสิ่งที่ปรากฏนี้เป็นนิมิตของสิ่งซึ่งเกิดดับ

    อ.กุลวิไล พูดถึงปรมัตถธรรมกับนิมิตนี้ ปรมัตถธรรมก็คือจิตเจตสิก และรูปที่เกิดดับสืบต่อนั่นเองในขณะนี้เป็นนิมิต ท่านอาจารย์กล่าวถึงรูปนิมิตก็คือรูปที่ปรากฏทางตา หรือว่าเวทนานิมิตเป็นนามธรรมเป็นเจตสิกที่ให้รู้ได้ เวลาที่ท่านเจ็บ หรือว่ามีความรู้สึกก็สามารถจะรู้ได้เพราะว่าขณะนั้นมีนิมิตของเวทนา หรือสัญญานิมิต ท่านอาจารย์ถามว่าจำอะไรได้ เราก็จะจำได้ว่าที่นี่ที่ไหน ในขณะนั้นก็มีการเกิดดับสืบต่อของสัญญานั่นเองเป็นสัญญานิมิต

    ท่านอาจารย์ ที่ใช้คำว่า “นิมิต” เพราะว่าไม่ได้รู้การเกิดดับของธรรมนั้นซึ่งสืบต่อ อย่างขณะนี้เห็น เพียงรู้ว่าเห็นจิตเกิดดับเท่าไรแล้ว แต่ว่าถ้าไม่สืบต่อจนเป็นนิมิตให้รู้ว่าเห็นเป็นอย่างนี้ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ใช่ไหม ในเห็นที่มีแต่เกิดแล้วดับแล้วทั้งนั้น แต่ว่าสืบต่อจนกระทั่งปรากฏว่ามีสิ่งที่กำลังเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    เพราะฉะนั้นกว่าความไม่รู้จะหมด เห็นไหมว่าเราไม่รู้ไม่เข้าใจธรรมแม้ว่าเราจะฟังชื่อ และเรื่องราวของธรรม แต่เราไม่ได้เข้าใจถึงความลึกซึ้งของธรรมว่าจิตเกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้นขณะนี้สิ่งที่ปรากฏเป็นนิมิตของปรมัตถธรรมทั้งหมดที่เกิดดับ เพราะว่าถ้าไม่มีปรมัตถธรรมอะไรก็ไม่มี แต่เมื่อมีปรมัตถธรรมซึ่งเกิดดับสืบต่อเร็วมากจนปรากฏเป็นนิมิต เราก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่าขณะนี้สิ่งที่ปรากฏเป็นนิมิตของปรมัตถธรรม

    เพราะว่าตัวปรมัตถธรรมเล็กน้อยสั้นมาก จิตเกิดแล้วก็ดับไป มีอายุที่สั้นคือขณะเกิดอุปาทะไม่ใช่ขณะดับคือภังคะ และระหว่างที่ยังไม่ดับเมื่อเกิดแล้วยังไม่ดับก็เป็นฐีติขณะของจิต สุดที่จะประมาณได้ว่าเร็วแค่ไหน เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมต้องเป็นผู้ที่ละเอียดที่จะรู้ว่าไม่มีทางที่จะละความเป็นตัวตน ถ้าไม่ได้เข้าใจจริงๆ เป็นความเข้าใจ ไม่ใช่เพียงแต่การฟังแล้วก็จำเรื่องราว แต่ต้องเข้าใจเดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้สิ่งที่ปรากฏเป็นนิมิต แต่ต้องมีปรมัตถธรรมซึ่งเกิดดับสืบต่อแล้วแต่ว่าจะเป็นนิมิตของอะไร ถ้าเป็นนิมิตของความรู้สึกไม่ใช่เพียง ๑ ขณะซึ่งความรู้สึกนั้นเกิดกับจิตแล้วดับต้องหลายขณะ จนกระทั่งปรากฏเป็นนิมิตของความรู้สึกนั้นว่าเป็นความรู้สึกเฉยๆ หรือว่าเป็นความรู้สึกทุกข์ทางกาย หรือทางใจ หรือโสมนัสทางใจ เป็นต้น

    ให้เข้าใจก่อนว่าพื้นฐานคืออย่างนี้ ให้รู้ว่าอยู่ในโลกของนิมิต (นิ มิด ตะ) มากี่ภพกี่ชาติในสังสารวัฏฏ์ ถ้าไม่เข้าใจตามความเป็นจริง ถ้าไม่มีผู้ที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีเพื่อรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงทุกภพชาติ ก็จะไม่มีการได้ยินได้ฟังเรื่องปรมัตถธรรม ธรรมที่มีจริงเกิดเพราะมีเหตุปัจจัย เปลี่ยนแปลงไปไม่ได้ ปัจจัยทำให้เกิดเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น เมื่อแล้วก็ดับไป แล้วก็ปรากฏเป็นนิมิตให้รู้ว่าอยู่ในโลกของนิมิต

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า “เมื่อวานนี้มีผู้ที่บอกว่า ทำไมมาศึกษาเรื่องเห็น เรื่องได้ยิน ก็เป็นเรื่องที่รู้แล้วเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตประจำวัน” ซึ่งถ้าไม่ฟังที่ท่านอาจารย์กล่าวอย่างนี้ก็ไม่รู้ว่า เห็น หรือได้ยิน หรือคิดนึกนี้เขาเกิดดับเร็ว แต่สิ่งที่ปรากฏให้รู้ได้นั้นก็เป็นนิมิตของสิ่งนั้น แต่ศึกษาให้รู้ว่าความจริงว่ามีปรมัตถ์ หรือว่ามีจิตเห็น หรือว่าสัญญาที่จำได้ หรือเวทนาที่รู้สึก เกิดดับเร็วมาก และปรากฏเป็นนิมิตให้รู้ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเราจะประมาณได้พอสมควรว่าจิตเกิดดับเร็วแค่ไหน เพราะปรากฏนิมิตแล้ว กว่าจะปรากฏเป็นนิมิตได้ไม่ใช่จิต ๑ ขณะ และสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นก็ไม่ใช่เพียงรูปเดียวที่เกิดแล้วดับไป ถ้าอย่างนั้นก็ไม่มีนิมิต

    ผู้ฟัง พื้นฐานตรงนี้ดูเหมือนว่าถ้าคนที่ไม่สะสมมาที่จะเข้าใจก็เหมือนว่า มาเรียนอะไรกันเรื่องเห็น เรื่องได้ยินเป็นชีวิตประจำวันธรรมดาๆ

    ท่านอาจารย์ ใครรู้ชีวิตประจำวันธรรมดาๆ ใครรู้ความจริง

    ผู้ฟัง ก็ต้องเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ท่านอาจารย์ แล้วเทียบได้ไหม พอฟังอย่างนี้ คนที่ไม่ได้ศึกษาธรรม จะคิดให้เข้าใจความจริงอย่างนี้เองได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แม้แต่เพียงจะเข้าใจให้ถูกต้อง และผู้ที่ไม่ใช่คิด แต่ประจักษ์ความจริงนี้ด้วยพระองค์เอง ก็ลองคิดดูว่าเมื่อไรจะคลายความไม่รู้ที่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา และธาตุที่กำลังเห็น เพราะฉะนั้นลาภที่เหนือลาภใดๆ "ลาภานุตริยะ" ลาภที่ประเสริฐสุด คือการมีศรัทธาในการที่ได้ฟังพระธรรมเพราะว่าบางคนไม่เห็นประโยชน์ ไม่ได้ประโยชน์อย่างเรื่องที่เล่าเมื่อวานนี้ใช่ไหม สนุกสนานเฮฮาเพื่อนฝูงเยอะแยะดูจะมีประโยชน์กว่า

    ผู้ฟัง นั่นหมายถึงว่าในผู้ที่เริ่มฟังก็เหมือนว่าต้องไตร่ตรองสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้แล้วมากล่าวให้สัตว์โลกฟัง ว่าเป็นอย่างนี้ ธรรมเป็นอย่างนี้ แล้วก็มีศรัทธาที่จะฟังว่าสิ่งนี้จริง เพราะฟังไปฟังมาก็เข้าใจว่าไม่มีอะไรจริงมากกว่ารู้ได้ ๖ ทาง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นในบรรดาสัจจะทั้งหลายอริยสัจจะเป็นยอดประเสริฐกว่าสัจจะทั้งหลาย ใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แล้วก็สิ่งนี้เป็นอย่างนี้กำลังเผชิญหน้าแล้วไม่อยากจะรู้ความจริงของสิ่งนี้ หรือ ถ้าไม่รู้ก็ไม่เป็นไร ก็ไม่รู้ไปเรื่อยๆ ออกจากสังสารวัฏฏ์ไม่ได้ ก็ต้องเป็นอย่างนี้ ตายแล้วก็ต้องเกิด เกิดแล้วก็ต้องตาย ตายแล้วก็ต้องเกิดไปเรื่อยๆ แล้วกว่าจะตายทุกข์แค่ไหน มีบ้าง หรือเปล่า หรือมีแต่สุขทั้งนั้น ไม่เคยกังวล ไม่เคยห่วงใย ไม่เคยเจ็บป่วยไม่เคยอะไร หรือ ไม่เคยลำบากคือหิวบ้าง หรือ

    ผู้ฟัง ชีวิตจริงที่ท่านอาจารย์กล่าวมาก็มีกันทุกคน เพราะฉะนั้นก็ศึกษาธรรม

    ท่านอาจารย์ แล้วก็ตายแล้วอย่างไร

    ผู้ฟัง แล้วก็เกิดอีก

    ท่านอาจารย์ แล้วก็ไม่รู้อีก

    อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์กล่าวว่าเราอยู่ในโลกของนิมิตด้วยความไม่รู้ และเราก็ยึดติดข้องในนิมิต ท่านกล่าวถึงว่าไม่ติดในนิมิต และอนุพยัญชนะ ขณะนั้นเรายึดถือในสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ด้วยตัณหาบ้าง ด้วยทิฏฐิบ้าง แล้วสังสารวัฏฏ์ก็ยืดยาว อกุศลธรรมก็มากในชีวิตประจำวัน จะเห็นว่าวัฏฏะยังมีอยู่มาก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นแต่ละคำมีความละเอียดมากแม้แต่ไม่ติดในนิมิต และอนุพยัญชนะ ถ้าคนนั้นไม่รู้จักนิมิต ติดแล้ว ไม่มีทางที่จะรู้ความจริง

    เพราะฉะนั้นเวลาได้ยินคำว่า “อิน ทรี ยะ สัง วะ ระ หรืออินทรียสังวร” ถ้าคนชอบคำ คำเยอะๆ แล้วก็อยากจะรู้ว่าคำนั้นเป็นอย่างไร อินทรีย หรืออิน ทรี ยะคือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีไหมเดี๋ยวนี้ มี สังวรคืออะไร เห็นไหม ได้ยินแต่คำ พูดแต่คำที่ไม่รู้จักจริงๆ เพราะฉะนั้น กว่าจะรู้จักจริงๆ สุดรอบของอินทรียสังวรคือขณะที่ไม่ติดในนิมิตอนุพยัญชนะเพราะรู้ว่าเป็นนิมิต และอนุพยัญชนะ แต่ถ้าไม่รู้ ติดแล้ว ติดอยู่ตลอดเวลาด้วยความไม่รู้ แต่พอรู้เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏเกิดดับสืบต่อให้หลงเข้าใจว่าสิ่งนั้นเที่ยง มีจริงๆ ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นหมดแล้วดับแล้วตลอดเวลา เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ไม่ติดในนิมิตอนุพยัญชนะ เพราะปัญญาที่มีความเห็นถูกว่าขณะนี้เป็นนิมิตเท่านั้น

    ใครสักคนที่เราคิดว่ามีจริงๆ ความจริงก็คือนิมิตของรูปนั้น ถ้าไม่มีจิต เจตสิกเราจะคิดไหมว่ารูปนั้นเป็นสัตว์เป็นบุคคลต่างๆ เพราะฉะนั้นทั้งหมดมาจากความเข้าใจทึ่ต้องละเอียดจริงๆ ไม่ใช่กล่าวง่ายๆ ว่าอย่าไปติดในนิมิตอนุพยัญชนะ ใครไปไม่ติดได้ ไม่มีทางเป็นไปได้ แม้ฟังอย่างนี้ก็ยังติดขณะที่ไม่รู้ว่าขณะนี้เป็นจิตเจตสิกซึ่งเกิดแล้วดับไปเป็นนิมิตแล้วก็ไม่รู้ ก็ยังคงติดในนิมิต

    เพราะฉะนั้นกว่าจะแม้แต่เพียงคิดได้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ นั่นจึงจะรู้ว่าไม่ใช่นิมิตเป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ แต่ถ้ายังเป็นคนนั้นคนนี้สิ่งนั้นสิ่งนี้ก็คือนิมิตแล้ว เพราะฉะนั้นปัญญาสามารถที่จะทำให้เข้าใจในสิ่งที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น ถ้าเห็นประโยชน์ของการที่จะเข้าใจความจริงเพราะว่าเป็นสัจจะที่ประเสริฐกว่าสัจจะอื่นๆ ทั้งหมดใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ใครจะรู้ หรือไม่รู้ความจริงก็เป็นความจริงอย่างนี้

    อ.กุลวิไล อย่างรูปารมณ์นี้ก็คือสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นนิมิตของรูปารมณ์ เพราะว่ามีการเกิดดับสืบต่อของรูปที่ปรากฏทางตา ถ้าไม่ใช่เป็นปัญญาที่รู้ถึงการเกิดดับของสภาพธรรมก็ยังเห็นนิมิตของสิ่งที่เกิดดับสืบต่อ ฉันใด เวลาที่เรานึกถึงบ้านขณะนี้เราอยู่ที่นี่ก็มีรูปารมณ์ แต่เวลาเรานึกถึงบ้านก็ไม่มีรูปารมณ์ปรากฏในขณะนั้น แต่เราก็คิดได้ซึ่งขณะนั้นก็ต้องมีนิมิตที่เป็นวิญญาณนิมิตแต่ไม่มีรูปารมณ์ที่เป็นรูปนิมิต

    ท่านอาจารย์ ถ้าขณะใดที่ไม่รู้ว่ากำลังเห็นเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ขณะนั้นก็ติดในนิมิตอนุพยัญชนะแล้ว วันหนึ่งแค่ไหน อวิชชามากแค่ไหน เพราะฉะนั้นถ้าไม่ศึกษาโดยละเอียดรอบคอบจริงๆ จะมุ่งไปละกิเลสโดยไม่มีปัญญาที่จะเข้าใจให้ถูกต้องเป็นไปไม่ได้เพราะเห็นเป็นนิมิตก็คือติดข้องแล้ว เป็นอวิชชาแล้วเพราะไม่รู้ความจริง

    แต่เมื่อไรเริ่มเข้าใจถูกต้องว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ค่อยๆ ไปทีละเล็กทีละน้อยจนกระทั่งเข้าใจอย่างมั่นคง ไม่ลืม เพราะว่าเข้าใจบ่อยๆ ระลึกได้บ่อยๆ และก็ความจริงก็เป็นอย่างนั้น เพียงไม่เห็นก็ไม่ปรากฏแล้ว

    อ.กุลวิไล ก็จะเห็นถึงความรวดเร็วของจิต ไม่ต้องพูดถึงรูปทั้งๆ ที่รูปก็อายุมากกว่าจิต แต่จิตก็เกิดดับสืบต่อเร็วมาก


    Tag  จิตตุปบาท  ธรรมที่มีจริงแท้แน่นอน  ความเห็นถูก  ความเข้าใจถูก  จักขุปสาท  จิตตุปบาท  อุบัติ  การเกิดขึ้นของจิต  สุดรอบของอินทรียสังวร  สมอง  นิพพานปรมัตถ์  เห็นเป็นเพียงนิมิต  วิญญาณนิมิต  เวทนานิมิต  สัญญานิมิต  ลึกซึ้ง  ปรมัตถธรรมกับนิมิต  นิมิตของปรมัตถธรรม  ตั้งขึ้นพร้อมนิมิต  เป็นธรรมที่ไม่ใช่นิมิต  การเกิดดับสืบต่อ  นิมิตของสิ่งที่เกิดดับ  อุปาทะ  ฐิติ  ภังคะ  ความเป็นตัวตน  โลกของนิมิต  ธาตุที่กำลังเห็น  ลาภที่เหนือลาภใดๆ  ลาภานุตริยะ  ลาภที่ประเสริฐสุด  นิมิตและอนุพยัญชนะ  สุดรอบของอินทรียสังวร  สัจจะที่ประเสริฐ  ความรวดเร็วของจิต  นิมิตและอนุพยัญชนะ  ปรมัตถธรรมกับนิมิต  ลาภานุตริยะ  สมอง  อุบัติ  
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 183
    23 ธ.ค. 2566