พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 705


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๐๕

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔


    ท่านอาจารย์ เวลานี้เป็นยุคสมัยที่คนนิยมใช้คำว่า “ปฏิบัติธรรม และไปปฏิบัติธรรม เพื่ออะไร”

    ผู้ฟัง เพื่อที่จะบรรลุกระมัง ผมก็ไม่ทราบเขาที่ไปนั่งแล้วก็หลับตา

    ท่านอาจารย์ อยู่บ้านลำบาก ไม่สงบ เดือดร้อน วุ่นวาย ทำงานก็วุ่นวาย อยู่ที่ไหนๆ ก็วุ่นวาย อยู่ป่าถ้าจะดี ใช่ไหม จะได้พ้นความวุ่นวายไป แต่ไม่ได้เข้าใจว่าความวุ่นวายที่เกิดขึ้นมาจากไหน ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะบ้าน หรือป่า แต่อยู่ที่จิต ทุกอย่างสำคัญที่จิต เพราะฉะนั้นจิตที่มีความเห็นที่ถูกต้องว่าจิตสงบจากอกุศลเป็นอย่างไร ขณะไหนก็สามารถที่จะอบรมเจริญความสงบให้มั่นคงขึ้น

    เพราะแม้แต่คนธรรมดาก็ยังรู้ความต่างกันของโทสะกับเมตตาได้ ใช่ไหม ยังไม่ได้ฟังอะไรเราก็บอกคนนั้นเมตตามากโอบอ้อมอารีใจดี คนนั้นร้ายกาจมากกายวาจาแย่มาก เรายังสามารถจะเห็นความต่างได้ แต่ว่าไม่ใช่ด้วยปัญญาที่จะรู้ได้ว่าแล้วจะไม่เป็นอกุศลได้อย่างไร แต่คนที่สะสมมาที่จะรู้ความต่าง และรู้ว่ากุศลเกิดขึ้นเมื่อไร และกุศลจะเพิ่มมากขึ้นได้อย่างไร ก็มี

    เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าทุกคนเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าคนในครั้งพุทธกาลสามารถที่จะรู้ที่จะเข้าใจแล้วก็อบรมเจริญสมถภาวนาบรรลุฌานกันทั้งหมดก็ไม่ใช่ ก็มีเป็นส่วนน้อย เหมือนคนในสมัยไหนก็ตาม หรือแม้สมัยนี้ก็เพียงแต่ไม่ชอบอกุศล โลภะ โทสะ โมหะ แต่ไม่มีปัญญาที่จะรู้ว่าแล้วกุศลจะเกิดขึ้นจนสามารถที่จะสงบจากอกุศลได้ด้วยการอบรมเจริญอย่างไร เพราะฉะนั้นคนก็ต่างกันไปมากทุกกาลสมัย

    ผู้ฟัง ถ้าเช่นนั้นคนสมัยนี้เข้าใจผิดได้ง่ายมากถ้าเผื่อว่าสมถภาวนาเกิดจากการที่เขาสะสมมาในอดีตชาติ เพราะฉะนั้นคนสมัยนี้เขาอาจเข้าใจผิดว่าพอเขาไปนั่งสมาธิแล้วเขากล่าวอ้างว่าจิตเขาสงบเพราะว่าเขาจะไปรู้จิตของเขาว่าเป็นกุศล และอกุศล

    ท่านอาจารย์ เขากล่าวอ้างกับคนที่รู้จริงๆ เหมือนกัน หรือไม่

    ผู้ฟัง คือเขาไปคิดเอง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น การที่คิดเองกับการที่รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นกุศลขณะนั้นว่าต่างกับขณะที่เป็นอกุศลเหมือนกัน หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เหมือน

    ท่านอาจารย์ แม้แต่โทสะกับเมตตาเป็นสภาพธรรมที่ต่างกัน ขณะที่เมตตาต้องไม่ใช่ขณะที่เป็นโทสะ และเห็นประโยชน์ของเมตตาไหม ท่านทั้งหลายที่กำลังมีโทสะใช่ไหม เดี๋ยวก็โกรธคนนั้น เดี๋ยวก็ไม่ชอบคนนี้แล้วเห็นประโยชน์ของเมตตา หรือไม่ ต้องเป็นปัญญาถึงสามารถที่จะมีเมตตาเพิ่มขึ้นได้

    อ.วิชัย แม้การที่จะระลึกได้ในลักษณะของอกุศลคือความไม่สงบของอกุศลก็เป็นโทษของอกุศลอย่างหนึ่ง คือบุคคลที่จะมีปัญญาที่ละเอียดที่จะอบรมความสงบของจิตก็ต้องรู้เข้าใจในลักษณะแม้อกุศลด้วย เข้าใจแล้วก็รู้ตามความเป็นจริงว่าแม้อกุศลเพียงเล็กน้อยก็ไม่สงบ ขณะนั้นก็เป็นโทษอย่างหนึ่งของอกุศล

    ท่านอาจารย์ จึงได้เจริญกุศลเพราะเห็นโทษ

    อ.กุลวิไล ความสงบจากอกุศลก็มีจริง เพราะว่าทั้งหมดเป็นธรรม ถ้าไม่รู้จักธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงในขณะนี้ไม่สามารถจะรู้จักความสงบจากอกุศลได้ หรือจะกลายเป็นความติดข้องในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดแล้วคิดว่านี่คือความสงบจากอกุศล

    ช่วงนี้จะเป็นการสนทนาพื้นฐานพระอภิธรรมสนทนาเพื่อความเห็นถูกในสภาพธรรมที่เป็นอภิธรรม และไม่ใช่ขณะใด ขณะนี้เอง เพราะขณะต้องมีทั้งหมดคือมีสิ่งที่เป็นธรรม และเป็นสิ่งที่มีจริง เราศึกษาในส่วนของพระอภิธรรมก็ไม่พ้นสภาพธรรมที่ละเอียดลึกซึ้ง และมีจริงในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นจิต เจตสิก รูป และพระนิพพาน แต่ธรรมที่มีจริงที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่มีจริงเป็นจิต เจตสิก และรูป แต่ทั้งหมดก็คือธรรมนั่นเอง เพราะว่าถ้าเป็นธรรมแล้วต้องมีสภาวะ มีลักษณะ เพราะฉะนั้น การสนทนาเพื่อความเข้าใจถูกในสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ และธรรมเหล่านี้ก็ปรากฏในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ สำหรับธรรมที่เราสนทนาในช่วงของพื้นฐานพระอภิธรรมก็มีหลายท่านที่มีคำถามโดยเฉพาะเรื่องของจิต

    เพราะว่าจิตก็เป็นธรรม และจิตก็มีจริง ขณะนี้มีจิตแน่นอน ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมเราไม่ทราบว่าจิตเกิดขึ้นต้องรู้อารมณ์ จิตเป็นสภาพธรรมที่รู้แจ้งในอารมณ์ ก็ต้องมีสิ่งที่จิตรู้ แต่เพราะเราไม่ได้ยินได้ฟังพระธรรมแล้วก็มีความเข้าใจที่ผิดที่ยึดถือว่าจิตนั้นเป็นเรา อย่างขณะนี้หลายท่านก็มีการเห็น การได้ยิน และมีการคิดนึกซึ่งก็ล้วนแต่เป็นจิตทั้งหมด

    สำหรับสภาพธรรมที่เป็นจิตมีท่านที่เขียนมามีคำถามที่จะกราบเรียนท่านอาจารย์ ท่านถามว่า “กราบเรียนท่านอาจารย์สุจินต์ที่เคารพ ที่ท่านอาจารย์สุจินต์กล่าวว่า ขณะนี้รู้จักจิต หรือยัง ก็รู้ตัวเองว่ายังไม่รู้ แล้วที่ถูกต้อง รู้ขั้นไหน รู้อย่างไร ถึงจะเรียกว่ารู้จริงๆ ”

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นความมุ่งหวังที่อยากจะรู้จักจิตจริงๆ ขั้นไหน และรู้อย่างไร แต่ตามความเป็นจริงก็คือว่าฟังธรรมเพื่อเข้าใจ ไม่ว่าจะฟังอะไรก็ตาม ฟังเพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง เพราะฉะนั้นเวลานี้ ฟังธรรมเพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง ไม่ใช่ว่าหวังว่าแล้วจะรู้จักจิตได้อย่างไร จะรู้เมื่อไร จะรู้ระดับไหน นั่นคือเป็นความคิดที่ต้องการประโยชน์จากการฟัง แต่ไม่ใช่เพื่อที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง

    เพราะฉะนั้นก็คงจะต้องตั้งต้นกันอยู่เรื่อยบ่อยๆ เพราะว่าแม้แต่ข้อความในพระไตรปิฎกก็แสดงความลึกซึ้งอย่างยิ่งของสิ่งที่มี แต่ว่าถ้าไม่ใช่การเริ่มเข้าใจจริงๆ ทีละเล็กทีละน้อยก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจความลึกซึ้งของจิตที่ขณะนี้กำลังเป็นอย่างนั้นแต่ไม่รู้ เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่ชื่อ ธรรมทั้งหมดไม่ใช่ชื่อ

    ถ้าเราตั้งต้นบอกว่าสภาพธรรมมีสองอย่างคือ ลักษณะหนึ่งไม่รู้เลย และอีกลักษณะหนึ่งเป็นสภาพรู้ คนก็จำคำ ใช่ไหม ได้ยินแล้วก็จำว่าธรรมมีสองอย่าง อย่างหนึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้ และอีกอย่างหนึ่งเป็นธาตุรู้สภาพรู้ก็จำเพียงเท่านี้ แต่นั่นไม่ใช่จุดประสงค์ของการที่จะให้ไปจำคำ หรือจำเรื่อง แต่เป็นการเริ่มเข้าใจว่าขณะนี้มีอะไรจริงๆ เดี๋ยวนี้มีอะไรบ้าง เพื่อที่จะได้เข้าใจว่าสิ่งที่มีเนี้เรารู้ความจริงของสิ่งนั้นแล้ว หรือยัง เช่น ขณะนี้ถ้าไม่ถามก็ไม่รู้ว่ามีอะไรบ้าง แต่ถ้าถามว่าขณะนี้ เห็นไหม ตอบว่าอย่างไร เห็น แสดงว่าเห็นมีไม่ต้องเรียกว่าจิต ได้ไหม ไม่ต้องเรียกว่าธรรม ได้ไหม เพราะว่ามีเห็น กำลังมีเห็น การฟังก็คือเมื่อเห็นเป็นสิ่งที่มีจริงควรจะเข้าใจถูกต้องในเห็นที่กำลังเห็น เห็นไหมแค่นี้ แต่อาจไม่พอใจที่จะได้ยินเพียงเท่านี้อยากจะถึงการรู้จักจิต หรืออะไรต่างๆ ซึ่งความจริงไม่มีหนทางใดที่จะไปหาทางที่จะไปรู้จักด้วยการไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังมี

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้เริ่มปรารภ ตั้งต้นว่ามีสิ่งที่ปรากฏแน่ๆ และก็ฟังเพื่อเข้าใจความจริงของสิ่งที่ปรากฏ ขณะนี้กำลังเห็น มีสิ่งที่ถูกเห็น หรือรู้ว่าเห็นอะไร เพราะฉะนั้น ก็มีสิ่งสองอย่าง หรือจะใช้คำว่าธรรมก็ได้ สิ่งที่มีจริงเป็นธรรมทั้งหมด เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริงขณะเห็นก็เป็นธรรมสองอย่างเพราะจริงทั้งสองอย่าง เห็นก็จริง สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ก็จริง ทบทวนอย่างนี้ไม่ใช่ให้จำคำ แต่กำลังเห็นเพื่อว่าจะได้มีความเข้าใจเห็นที่กำลังเห็นจนกว่าจะเข้าใจได้ เพราะฉะนั้น ก็จะพูดเรื่องเห็นบ่อยๆ ย้ำแล้วย้ำอีกจนกว่าเริ่มที่จะเข้าใจเห็นที่กำลังเห็นว่า กำลังฟังเรื่องนี้ เรื่องเห็นในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้เอง แล้วก็รู้ตามความเป็นจริงว่าเห็นมีจริงๆ และสิ่งที่ปรากฏให้เห็นที่ถูกเห็น หรือกำลังปรากฏขณะนี้ ก็มี

    แต่สองอย่างนี้ไม่ใช่อย่างเดียวกัน สิ่งที่กำลังปรากฏก็ปรากฏเมี่อมีการเห็นเท่านั้น ถ้าไม่เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะที่เห็นจะปรากฏไม่ได้ นี่คือพยายามให้เข้าถึงลักษณะของธรรมจริงๆ ในขณะนี้ ว่าขณะนี้มีเห็น และก็มีสิ่งที่ถูกเห็น หรือว่ากำลังปรากฏให้เห็น ทั้งสองอย่างเป็นธรรม แม้แต่ตั้งต้นนี้ก็เป็นการเข้าใจแล้วว่าไม่มีเรา ถ้าเป็นผู้ที่ได้ฟังมามากก็สามารถที่จะรู้ได้ว่าไม่มีเราในขณะที่กำลังเห็นขณะนี้ เพราะเหตุว่า “เห็นเป็นเห็น” เกิดขึ้นเห็นแล้วก็มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น เวลาได้ยิน ไม่ใช่เห็นแล้ว แต่ว่ามีเสียงกับมีได้ยิน เพราะฉะนั้นไม่ต้องเรียกชื่อ เสียงก็เป็นเสียง เมื่อเป็นสิ่งที่มีจริงก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ปรากฏว่ามี เมื่อมีการได้ยินเท่านั้น ถ้าไม่มีการได้ยินเสียงก็ปรากฏไม่ได้

    เพราะฉะนั้นเริ่มเข้าใจ ไม่มีเรา ขณะเห็น มีแต่เห็น ถูกต้องไหม เมื่อไรที่ปรากฏว่าไม่มีอะไรทั้งสิ้นนอกจากเห็นกับสิ่งที่ปรากฏให้เห็น เมื่อนั้นก็จะละคลายการยึดถือสภาพธรรม และความจำว่าเป็นเรา เพราะว่าเริ่มจำถูกต้องในขณะที่กำลังมีสิ่งที่ปรากฏให้จำความเป็นจริงของสิ่งนั้น

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรมก็เป็นเรื่องที่บางคนฟังมาแล้ว ๓๐ ปีก็บอกว่ายังไม่รู้จักจิตเหมือนกับไม่ได้รู้จักตัวธรรม ก็จริง เพราะเหตุว่าฟังเรื่องของธรรม และเรื่องของธรรมก็ตรงกับลักษณะของธรรม แต่ว่ายังไม่ถึงเวลา หรือวาระที่จะมีความเข้าใจชัดเจน ถูกต้อง ในสิ่งที่กำลังปรากฏ และได้ฟังมาแล้ว เพราะฉะนั้นสะสมความเห็นถูกความเข้าใจถูกโดยไม่หวังอะไรในขณะที่ฟังเพียงฟังให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ ซึ่งจะไม่รู้เลยว่าในขณะนั้นมีคุณค่ามาก เพราะเหตุว่ามีการที่จะได้เริ่มเข้าใจสิ่งที่มีซึ่งยากที่จะเข้าใจได้ และก็ยังมีศรัทธาในการที่จะฟังต่อไปอีก เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งที่ยากแต่ก็จริง ซึ่งใครๆ ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ชัดเจนเพียงด้วยการฟัง แต่เริ่มจากการรู้ว่าสิ่งนี้มีจริง เดี๋ยวก็ลืมอีกแล้ว ใช่ไหม ไปเรื่องอื่น ไม่เข้าใจเห็น เพราะว่าเห็นจะเห็นแล้วก็จะได้ยินแล้วก็จะคิดนึก ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่ง เพราะเหตุว่าที่เข้าใจว่าเป็นชีวิต หรือว่าเป็นเรา ถ้าไม่มีสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็ไม่มีเราไม่มีสิ่งที่มีชีวิตเลย

    เพราะฉะนั้นการฟัง เพื่อละความไม่รู้ ถ้ามีความมั่นคงก็จะมีการเป็นผู้มีปกติ และก็จะเห็นกำลังของการสะสมของความเข้าใจซึ่งจะเกิดเข้าใจ แม้ขั้นคิดถึง ระลึกได้ว่าขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นอย่างนี้

    อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์กล่าวว่าขณะที่เราศึกษา หรือฟังธรรมนี้ ไม่ใช่ว่าสนใจที่จะไปจำชื่อ หรือจำคำ แต่ต้องรู้ธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ท่านอาจารย์กล่าวว่าไม่มีเราในขณะที่เห็น ทุกท่านเข้าใจอย่างไรเพราะว่าความเป็นเรายึดมั่นในเห็นแล้วเห็นก็เป็นธรรมด้วย เป็นสิ่งที่มีจริงเป็นจิต อยากรู้จักจิตแต่เห็นเป็นจิต แล้วขณะที่เห็นก็ต้องมีสิ่งที่ถูกเห็นด้วย

    เพราะฉะนั้น ธรรมสองอย่างในขณะที่เห็นในขณะนี้ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกเห็น นั่นก็คือสิ่งที่ปรากฏได้ทางตา และจิตที่เห็นขณะนี้แอง เพราะฉะนั้น ธรรมสองอย่างนี้ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตน และไม่ใช่เราด้วย เพราะว่าเห็นไม่ใช่ขณะที่เราคิดว่าเห็นนั้นเป็นเรา

    กราบท่านอาจารย์ ช่วงเช้าถ้าหากว่าหลายท่านฟังแนวทางเจริญวิปัสสนาท่านอาจารย์ก็จะให้ความเข้าใจระหว่างสภาพธรรมที่เห็นกับสภาพธรรมที่คิดหลังจากเห็น ซึ่งก็เป็นสภาพธรรมคนละอย่างกัน หลายท่านถ้าศึกษาธรรมแล้วไม่ใส่ใจ หรือไม่สนใจที่จะรู้สิ่งที่ปรากฏในขณะนี้ก็ดูเหมือนกับว่ายังไม่รู้จักเห็น แล้วเห็นก็เป็นจิตด้วยแต่ดูเหมือนเป็นเราตลอด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ให้ไปทำอะไร ไม่ต้องทำอะไร ฟังเมื่อสักครู่นี้เข้าใจไหมว่าขณะนี้เห็นมีจริงๆ และสิ่งที่ปรากฏให้เห็นก็มีจริง นี่คือเริ่มต้นที่จะรู้ว่าเป็นความจริง และก็เป็นธรรม เพราะว่าถ้ากล่าวว่าเป็นธรรมก็คือไม่ใช่ใครสามารถจะไปเป็นเจ้าของ หรือว่าบันดาลให้เกิดขึ้น หรือว่าไม่ให้ดับไปได้

    ธรรมเป็นธรรม ฟังเพื่อให้เข้าใจว่าขณะนี้เริ่มรู้จักธรรมว่าคือสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้น กำลังเห็นก็เป็นธรรมอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏให้เห็น เพราะฉะนั้นความต่างกันของสองอย่างคือ สิ่งที่ปรากฏไม่สามารถจะรู้อะไรได้ แต่ถ้าไม่มีธรรม หรือธาตุสิ่งที่มีจริงที่กำลังเห็น สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ปรากฏไม่ได้ ไม่กี่ประโยคแต่ว่าถ้ามีความเข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น ก็เป็นการรู้ความจริง ไม่ว่าขณะที่กำลังเห็น หรือกำลังได้ยิน เช่น เสียง เสียงก็มีน่าอัศจรรย์ไหม มีได้อย่างไง ใครไปทำให้เสียงเกิดขึ้น จากไม่มีแล้วก็มีเสียงปรากฏ แต่ว่าถ้าไม่มีธรรมที่ได้ยินไม่เกิดการได้ยินขึ้น เสียงก็ปรากฏไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น จากตาที่เห็นมีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นกับการเห็นแล้วก็มีเสียงปรากฏเพราะมีได้ยิน นี่ก็คือธรรม ถ้ากล่าวว่าธรรมมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาไทยคนนั้นคนนี้ หรือเปล่าก็ไม่มี แต่จำเป็นต้องมีคำที่จะแสดงให้รู้ว่าหมายความว่าสภาพธรรมอะไร

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมก็คือรู้จักตัวธรรมก่อน ขณะนี้เป็นธรรมจริงๆ แล้วก็ใช้คำเพื่อให้รู้ว่าหมายความถึงธรรมอะไร เพราะว่าธรรมหลากหลายมาก จากการตรัสรู้ และการทรงแสดงธรรม พระผู้มีพระภาคทรงรู้แจ้งสภาพธรรมที่ปรากฏว่าเพราะเกิดขึ้นจึงปรากฏ ถ้าไม่มีการเกิดขึ้นก็ไม่มีอะไร แต่เมื่อเกิดแล้วความหลากหลายก็คือว่าทางตาเป็นอย่างหนึ่ง ทางหูเป็นอย่างหนึ่ง ทางจมูกเป็นอย่างหนึ่ง ทางลิ้นเป็นอย่างหนึ่ง ทางกายเป็นอย่างหนึ่ง ทางใจก็กำลังคิดนึกเรื่องราวต่างๆ

    เพราะฉะนั้น ทุกคนเกิดมาแล้วก็คิดแต่ไม่รู้จักคิดว่าขณะนั้นทำไมเราแลกความคิดกันไม่ได้ ต่างคนต่างคิดตามการสะสมของการที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง แล้วก็มีความคิด มีความรู้กับสิ่งที่เห็นบ้างได้ยินบ้างอย่างไร ก็จำแล้วก็คิด เพราะฉะนั้น ทั้งหมดก็คือธรรมตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งก็มีการเห็น การได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก ทั้งหมดเป็นจิต เพราะเหตุว่าเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ ได้ยินเสียง มนุษย์ได้ยิน แมวได้ยิน ต่างกัน หรือเหมือนกัน ได้ยินกับเสียง ถ้าไม่มีรูปร่างเราก็จะไม่รู้ ไม่มีคำที่จะบอกว่านก หรือคน หรือสัตว์เดรัจฉาน หรือจะเป็นเปรต อสุรกาย สัตว์นรก หรืออะไรก็ตามแต่ เราพูดถึงธรรมที่ได้ยิน เพราะฉะนั้น ไม่มีรูปร่างใดๆ เจือปนเลยทั้งสิ้น นี่คือการที่จะเข้าใจธรรมจริงๆ แต่ละอย่างซึ่งเกิดแล้วดับแล้วไม่กลับมาอีกเลยทุกขณะ นี่คือการที่จะได้ฟังจนกระทั่งมีความเข้าใจถูกต้องในสิ่งที่ปรากฏ

    อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์กล่าวถึงไม่มีรูปร่างเจือปนในสภาพรู้ หรือขณะที่เห็นเพราะว่าเห็นเป็นธาตุรู้นั่นเอง รูปร่างสัณฐานไม่มี แต่เราไปนึกถึงในที่นั้นก็ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    ท่านอาจารย์ แค่หลับตาก็พิสูจน์ธรรมได้แล้วใช่ไหมว่าจริง สิ่งที่กำลังปรากฏขณะลืมตาไม่ได้ปรากฏเลย ปรากฏไม่ได้ขณะที่หลับตา เพราะฉะนั้น ก็แสดงความจริงทุกขณะซึ่งไม่ได้เคยคิดเลยว่า ธรรมที่กำลังปรากฏมีจริง ปรากฏให้เห็น ต่างกับทางอื่นแล้วก็ต่างกับสิ่งอื่นๆ ทั้งหมด แข็งก็เห็นไม่ได้ รสก็เห็นไม่ได้ กลิ่นก็เห็นไม่ได้ มีสิ่งเดียวจริงๆ ในบรรดาธรรมทั้งหมดซึ่งปรากฏให้เห็นได้คือสิ่งที่กำลังปรากฏเมื่อกำลังเห็น

    อ.กุลวิไล แล้วสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาก็ไม่รู้อะไร หลายท่านคงแปลกใช่ว่าทำไมไม่ใช่สภาพที่รู้อะไร เพราะว่าถ้าเราศึกษาเราจำคำได้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาต้องเป็นรูปธรรม แต่ขณะที่เห็นนั้นเป็นนามธรรม นี่คือการจำชื่อจำคำ แต่ขณะนี้เองต้องมีการเห็น แล้วก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตาให้เห็นด้วย สีสันมากมาย สีก็เป็นรูปรูปหนึ่ง ลองกระทบสัมผัสที่เรียกว่าคนสัตว์สิ่งของ ก็ต้องมีลักษณะที่มีจริง ดูเหมือนว่าถ้าเราเห็นสิ่งของก็ไม่ใช่ใช่ธาตุรู้อยู่แล้วเพราะว่าไม่รู้อะไร มีสีสันมากมาย และปรากฏได้ทางตา แต่พอที่เป็นที่คน หลายท่านก็ไปยึดว่าน่าจะมีธาตุรู้ด้วย แต่จริงๆ รูปก็คือรูปนั่นเองที่ปรากฏได้ทางตา แต่รูปที่เป็นสัตว์เป็นคนก็ต้องต่างจากรูปที่ไม่มีใจครองเพราะว่าขณะนั้นรูปที่เป็นสัตว์บุคคลก็ต้องมีธาตุรู้สภาพรู้ด้วย แต่รูปก็เป็นรูป เพราะว่าที่กายที่เรียกว่าเป็นคนก็ต้องมีสีสัน และก็ต้องมีรูปที่เกิดกับธาตุดินด้วย

    ท่านอาจารย์ ถ้าเราจะไปรู้เรื่องราวของธรรมมากๆ แต่ก็ไม่รู้ว่าขณะนี้เป็นธรรมตรงตามเรื่องราวต่างๆ ที่เราได้ยินก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรเพราะเป็นแต่เพียงการจำเรื่อง แต่จุดประสงค์ที่ทรงแสดงคือแสดงธรรมที่มีจริง ให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องว่าเป็นธรรมแน่นอน ไม่ใช่เป็นคนหนึ่งคนใด ไม่ใช่เป็นสัตว์ ไม่ใช่เป็นโต๊ะเป็นเก้าอี้เพราะเป็นธรรมแต่ละอย่างจริงๆ มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง ถ้าสามารถจะรู้ได้อย่างนี้ได้จริงๆ ก็รู้ได้ว่าเข้าใจถูกในสิ่งซึ่งไม่เคยมีความเข้าใจมาก่อน เช่น พอเห็นก็เห็นคนทันที ไม่รู้ว่าเพราะอะไรจึงเป็นอย่างนั้น หรือว่าถ้าไม่ใช่คนก็เห็นเป็นโต๊ะเป็นเก้าอี้ทันทีโดยไม่เข้าใจว่าทำไม อย่างไรจึงได้เป็นอย่างนั้น อย่างเด็กเกิดใหม่ เห็นไหม รู้ไหมว่าเห็นอะไร ไม่มีทางเลย

    เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่าเห็นจริงๆ นั้นเห็นเฉพาะสิ่งที่ปรากฏ แต่ถ้าเห็นบ่อยๆ ขึ้นจนกระทั่งจำรูปร่างสัณฐานได้ยังไม่รู้จักชื่อแต่ก็รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร เพราะฉะนั้น สัตว์เดรัจฉานไม่มีชื่อจะเรียกสิ่งต่างๆ มากมายอย่างมนุษย์ ภาษาต่างๆ แต่ก็สามารถที่จะรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏให้เห็นเป็นอะไรจากการจำ เพราะฉะนั้น ต้องมีสิ่งที่ปรากฏก่อน มีการเห็นก่อนแล้ว ก็ตามความเป็นจริงอะไรปิดบังไม่ให้เห็นว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้เป็นเพียงธรรมที่ปรากฏให้เห็นได้ ก็เพราะเหตุว่าธรรมทุกอย่างเกิดดับสืบต่อเร็วสุดที่จะประมาณได้ เพราะฉะนั้น ชั่วขณะสั้นแสนสั้นของธรรมแต่ละอย่างที่เกิดแล้วดับแล้วไม่สามารถจะปรากฏว่าเป็นอะไรได้เลย ต่อเมื่อใดสภาพนั้นเกิดแล้วดับแล้วซ้ำๆ ลักษณะนั้นก็ปรากฏเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งทางธรรมใช้คำว่า “นิ-มิด-ตะ”

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 183
    23 ธ.ค. 2566