พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 608


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๐๘

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒


    ผู้ฟัง พอจะเข้าใจว่า ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ ไม่ใช่เฉพาะเหตุ ๖ เท่านั้น เป็นเหตุของเขาที่จะเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ ไม่มีเหตุ อะไรเกิดไม่ได้เลย แค่นี้ค่ะ ยังไม่ต้องไปถึงเหตุโน้นเหตุนี้อีกเยอะ เพราะขณะที่กำลังพูด ไม่ได้รู้ที่ธรรมนั้นเลย เห็นไหม อุปนิสยโคจร ทรงแสดงเพื่อให้รู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ ขณะที่เห็นมีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ใช่แข็ง ขณะที่แข็งปรากฏ ไม่ใช่มีสิ่งที่สามารถปรากฏทางตาได้ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น รู้เฉพาะลักษณะที่ปรากฏ ยังไม่ถึง แม้แต่จะฟังแล้ว เป็นอุปนิสัยที่จะให้รู้ว่า ไม่ใช่ไปให้เข้าใจอย่างอื่นเลย ให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงแต่ละลักษณะที่ปรากฏ ซึ่งแท้ที่จริงเกิดแล้วดับแล้วเร็วมาก

    เพราะฉะนั้น กว่าจะเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ก็ลองคิดดู อุปนิสยโคจร ฟังพระธรรมให้มีความเข้าใจ และอุปนิสัยที่เคยสะสมเป็นอกุศลต่างๆ ที่จะกั้นไม่ให้รู้ธรรม ลองคิดดูว่า ขณะนี้แม้มีธรรมปรากฏ อะไรกั้นไม่ให้รู้ธรรม คิดโน่นคิดนี่ ขณะนั้นฟังเข้าใจไหม ลืมไปแล้ว เมื่อกี้นี้ไม่ได้ยินแล้ว พูดอะไรก็ไม่รู้ กั้นแม้ความเข้าใจไหม ไม่สามารถจะกลับไป เพราะไม่ได้ยิน แล้วจะให้กลับไปคิดคำที่ไม่ได้ยินได้อย่างไร แล้วจะให้ไตร่ตรองคำที่ไม่ได้ยินได้อย่างไร ก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจความละเอียดของธรรม แม้เพียงเข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง ไม่ใช่คิดเรื่องอื่นเลยทั้งหมด ฟังเรื่องคาถาที่ท่านพระอัสชิกล่าวกับท่านพระสารีบุตร ฟังขณะนั้น คิดเรื่องอื่น

    อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ยากแสนยาก จึงได้ทรงแสดงอุปนิสยโคจร เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังฟัง ยังไม่ถึงเวลานั้นที่จะรู้เฉพาะเห็น รู้เฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น รู้เฉพาะแข็ง รู้เฉพาะสภาพที่กำลังรู้แข็ง รู้เฉพาะคิด รุ้เฉพาะเสียง

    นี่ก็เป็นเพียงการเข้าใจที่จะสะสมเป็นอุปนิสัย ขณะนี้ธรรมทั้งหลายที่เกิดพร้อมในขณะที่จิตเกิดขึ้น ๑ ขณะๆ วิตกก็ทำกิจจรด มนสิการก็ใส่ใจในสิ่งที่กำลังฟัง ทั้งหมดก็เป็นสภาพธรรม จนกว่าจะถึงกาลที่ธรรมเหล่านี้ หลังจากที่ได้ฟังมานานแสนนาน อย่าไปนับ ถ้าไม่เข้าใจก็อย่าไปคิดว่าอีกนานเท่าไร เพราะว่าก็กำลังเริ่มฟัง กำลังเริ่มจะค่อยๆ เข้าใจ แล้วจะไปคิดถึงวันไหนจะรู้อริยสัจธรรม คิดถึงการบำเพ็ญบารมีของแต่ละท่าน พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านานเท่าไร พระปัจเจกพุทธเจ้าเท่าไร พระมหาสาวกเท่าไร ก็เป็นเรื่องที่ไม่ต้องคิด เพราะได้มีโอกาสเกิดมาได้ฟังพระธรรม

    เพราะฉะนั้น ก็ฟังเพื่อเข้าใจ และรู้ความจริงว่าธรรมที่ฟังไป ประโยชน์ก็คือ เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏเฉพาะอย่าง แม้สั้นมากขณะนี้ ทีละเล็กทีละน้อย นั่นคือความจริง จนกว่าสามารถจะคลายความติดข้อง ซึ่งบังไม่ให้เห็นความจริงว่า สภาพธรรมนั้นเกิดดับ ขณะนี้เสียงเกิดแล้วดับแล้ว ไม่เห็นความจริงแล้ว หมดแล้ว ทุกอย่าง แข็งที่กำลังปรากฏ ในขณะที่กำลังได้ยินเสียง ไม่ใช่แข็ง

    เพราะฉะนั้น แข็งเกิดแล้วดับแล้ว โดยไม่รู้ ก็เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงกาลที่การได้ยินได้ฟังทั้งหมดเป็นอุปนิพันธะ ทำให้จิตเจตสิกผูกพันอยู่ที่สภาพธรรมเฉพาะที่กำลังปรากฏได้ทีละอย่าง

    เดี๋ยวนี้เป็นอย่างนั้นก็ได้ ไม่ใช่ห้ามไว้ อย่าเพิ่งเลย รอไปก่อน อีกเท่านั้นเท่านี้ ไม่ใช่เลย เราไม่สามารถจะรู้การสะสมของแต่ละคนได้ จะรู้ได้ต่อเมื่อสิ่งนั้นเกิด ถ้าขณะนี้สติสัมปชัญญะเกิด รู้ได้เลยว่า สะสมมาแล้ว ถ้าไม่มีการสะสมจะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏได้อย่างไร

    เราแปลคำว่า “สติ” ว่า ระลึกได้ แต่ไม่ใช่ระลึกเป็นเรื่อง เมื่อวานนี้ทำอะไร ไม่ใช่ระลึกเป็นชื่อ สติเป็นธรรมที่ระลึกได้ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ขณะใดที่สภาพนั้นปรากฏ ซึ่งปกติไม่ได้ปรากฏ เช่น แข็งทั้งวันไม่ได้ปรากฏลักษณะที่แข็งด้วยดี เพียงแต่ผ่านไปเร็วมาก เกิดปรากฏแล้วก็หมดไป กับขณะที่แม้ขณะนี้แข็งก็ปรากฏความแข็ง และขณะที่กำลังรู้ และเริ่มเข้าใจว่า นี่เป็นธรรม ยังไม่รู้มากกว่านี้เลย กุศล อกุศลใดๆ ก็คือคิดไปหมดเลย เพราะยังไม่รู้ว่า เป็นธรรม เพราะฉะนั้น เริ่มรู้จักธรรม ตื่นขึ้นมารู้ว่า ขณะนี้ไม่ใช่ขณะคิด ไม่ใช่ขณะที่เพียงเป็นเรื่องราวในพระไตรปิฎก แต่ลักษณะจริงๆ กำลังปรากฏความเป็นธรรม ให้เห็นว่าเป็นธรรม

    นี่คือไม่ต้องใช้ชื่อว่า “สติ” และอะไรล่ะที่เกิดรู้ธรรมปรากฏด้วยดีขณะนั้น ก็คือสภาพธรรมที่ทรงใช้คำบัญญัติว่า สติสัมปชัญญะ หรือสติปัฏฐาน นั่นเอง แต่ไม่ต้องไปคิดถึงชื่อ แต่รู้ลักษณะที่ต่าง ขณะที่ไม่ได้รู้ลักษณะหนึ่งลักษณะใด แต่กำลังรู้เฉพาะเกิดขึ้นตรงนั้นแล้วก็หมดไป นั่นคือเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น

    อ.ธิดารัตน์ ท่านอาจารย์เหมือนกับเตือนให้รู้เลยว่า เราติดในสิ่งที่ปรากฏในขณะนี้มาก เพราะในขณะที่ท่านอาจารย์อธิบายว่า สิ่งที่ปรากฏขณะนี้ดับแล้ว หมดแล้ว ก็เหมือนกับขณะที่เราคิดว่าเราตื่น จริงๆ ก็คือเราฝัน เพราะไม่มีอะไรเหลือเลย แต่ความเข้าใจ หรือปัญญายังไม่มีกำลังมากพอที่จะมั่นคง และไม่หวั่นไหวในสภาพธรรมเหล่านั้น ถึงแม้จะเข้าใจ ขอกราบเรียนถามว่า คงไม่ใช่ปัญญาขั้นธรรมดาที่จะมั่นคงว่า สภาพธรรมเกิดแล้วดับไป โดยไม่หวั่นไหวเลย

    ท่านอาจารย์ ก็คงไม่ต้องเรียกชื่อ แต่ก็เป็นการเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเพิ่มขึ้น เพราะเหตุว่าฟังเรื่องสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ก็เป็นการรู้ได้ด้วยตัวเองว่า เข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังที่กำลังปรากฏแค่ไหน และสามารถจะรู้กว่านี้ได้ไหม และผู้ที่สามารถประจักษ์ความจริง ทรงแสดงความจริงอย่างนี้มีไหม ถ้ามีได้ ก็อบรมได้

    อ.ธิดารัตน์ หมายถึงว่าเริ่มต้นเข้าใจว่าเป็นธรรมก่อน ถึงแม้จะเข้าใจตามการศึกษาว่า สภาพธรรมนั้นเกิดแล้วดับ แต่เหมือนว่า ในเมื่อยังไม่ประจักษ์สภาพของการเกิดดับจริงๆ ของสภาพธรรมนั้น ก็ยังไม่เข้าใจลึกซื้งได้ว่า ขณะนี้เป็นฝัน

    ท่านอาจารย์ เพียงแค่ขณะนี้ก็มีสภาพธรรมที่จริงๆ แล้วเกิดดับ แต่ไม่รู้ ใช่ไหม อย่างเห็นก็ไม่ใช่ได้ยิน ไม่ใช่คิดนึก ก็แสดงอยู่แล้วว่า ขณะที่เห็นไม่ใช่ขณะที่คิด ไม่ใช่ขณะที่ได้ยิน และเวลาที่ได้ยินก็ต้องไม่มีขณะที่เห็น เกิดดับอยู่ตลอดเวลา แต่เพียงขั้นฟังไม่สามารถรู้ขณะที่เกิดดับ แต่เมื่อเกิดดับจริงๆ จะให้เปลี่ยนคำที่ทรงแสดงเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย เพราะตรัสรู้ถึงความจริงแท้ของธรรม ซึ่งไม่มีอะไรจะจริงกว่านี้ เกิดมีแน่นอน ดับมีแน่นอน และไม่กลับมาอีกแน่นอน

    เพราะฉะนั้น ฟังแล้วก็สะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในสิ่งที่มีจริงๆ ถ้าสะสมพอสมควร จะมีการคลายแม้เพียงเล็กน้อยไหม และคลายนี่ไม่ใช่คลายความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ คลายความไม่รู้ จากที่เคยไม่รู้ๆ ๆ ทุกวันๆ และได้ยินทุกวันๆ ก็เริ่มเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏแม้เพียงเล็กน้อย ก็ยังเริ่มมีได้ และเริ่มไปๆ ๆ จนกว่าจะมั่นคง ปัญญาก็เพิ่มขึ้นๆ ๆ จนสามารถประจักษ์ความจริงได้ เพราะเหตุว่าละความติดข้องด้วยความไม่รู้ ละการยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยความไม่รู้

    เพราะฉะนั้น เมื่อรู้เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ขณะใด สภาพธรรมเป็นอนัตตาก็เริ่มเกิด ขณะนั้นเป็นเพียงสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นเท่านั้นเอง

    อ.คำปั่น ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงผู้เน่าใน เป็นคำไพเราะ เพราะเตือนให้ไม่ประมาท ซึ่งภาษาในพระไตรปิฎกใช้คำว่า ผู้เน่าในภายใน ถึงแม้ผู้นั้นจะมีอวัยวะภายใน คือ ตับ ไต หัวใจ เป็นต้น ไม่เน่า จึงเป็นเครื่องเตือนใจที่ดี เพราะเหตุว่าแต่ละท่านในแต่ละวันก็มากไปด้วยอกุศล สะสมอกุศล พอกพูนอกุศลมากขึ้นๆ ก็ทำให้เน่าในภายในด้วยอกุศล หรือด้วยกิเลส จึงไม่มีทางอื่นเลยที่จะทำลาย หรือมีเครื่องแก้ไขความเน่าในด้วยกิเลส นอกจากการฟังพระธรรมเท่านั้น สะสมความเข้าใจพระธรรมทีละเล็กทีละน้อย ในแต่ละวัน บ่อยๆ เนืองๆ ก็จะทำให้คลายจากอกุศลประการต่างๆ ทำให้จิตสะอาดขึ้นๆ อย่างเช่นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ ก็ฟังธรรม และอบรมเจริญปัญญาเป็นปกติจนกระทั่งบรรลุเป็นพระอริยบุคคล เป็นผู้มีจิตสะอาดขึ้นๆ จนกว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ที่มีจิตใจสะอาดที่สุด เพราะไม่มีกิเลสเกิดขึ้นอีกเลย ดับพืชเชื้อของกิเลสได้หมดสิ้น และเป็นผู้ที่ไม่ต้องมีการเกิดอีกเลยในสังสารวัฏ

    นี่คือจุดสูงสุดของการศึกษาธรรม คือ เป็นไปเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อเข้าในความจริง ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น เพราะเหตุว่าการดับกิเลสต้องอาศัยปัญญาเท่านั้น และปัญญาจะมาจากไหน ถ้าไม่อาศัยการอบรมในชีวิตประจำวัน อย่างเช่นในขณะนี้ที่กำลังศึกษาเป็นปกติ ไม่ประมาทในการอบรมเจริญปัญญา เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง

    ท่านอาจารย์ เน่าในแล้วมีกลิ่นด้วย หรือเปล่า

    อ.คำปั่น เน่าในแล้วมีกลิ่นเหม็นด้วย เพราะป็นสิ่งที่ไม่สะอาด กิเลสเป็นสิ่งที่ไม่สะอาด อกุศลเป็นสิ่งที่ไม่สะอาด

    ท่านอาจารย์ ในพระไตรปิฎกใช้คำว่า “กลิ่นดิบ” หมายความถึงอกุศล เวลาที่เราได้กลิ่นที่รู้ได้ทางฆานปสาท กลิ่นไม่สะอาด กลิ่นไม่หอม น่ารังเกียจ ไม่ชอบแม้แต่เพียงเข้าใกล้ แต่ถ้ารู้กลิ่นที่น่ารังเกียจยิ่งกว่านั้น คือ กิเลส จะไม่อยากเข้าใกล้ด้วยความรังเกียจที่จะถูกต้องสิ่งที่สกปรก ไม่สะอาด แต่ไม่เข้าใกล้เพราะเป็นหิริ และโอตตัปปะ

    เพราะฉะนั้น เมื่อมีปัญญาแล้ว เห็นตามความเป็นจริงเมื่อไร ก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดความละอาย รังเกียจในอกุศลทั้งปวง แม้เพียงเล็กน้อย ตามกำลังของปัญญา

    เพราะฉะนั้น เวลาเห็นสิ่งที่น่ารังเกียจด้วยความเป็นตัวตน ด้วยความไม่ชอบ ทำให้ไม่อยากเข้าใกล้ แต่ถ้าเป็นปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริงว่า สิ่งที่น่ารังเกียจกว่านั้น คืออกุศลทั้งปวง ขณะนั้นก็จะเกิดหิริ อตัปปะ ตามกำลังของปัญญา โดยไม่รู้เลยว่า ขณะนี้เป็นธรรมทั้งหมด ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นเพราะมีหิริเจตสิก โอตตัปปเจตสิก อโลภะ อโทสเจตสิก สภาพธรรมที่ดีงามทั้งหลาย ขาดสัก ๑ ใน ๑๙ ประเภทไม่ได้เลย เป็นปัจจัยที่จะเกิดขึ้น เป็นจิตชั่วขณะที่ดีงาม และรังเกียจที่จะให้มีกลิ่นดิบ หรือมีความเน่าในที่ยังไม่ได้รักษา

    ผู้ฟัง ปัญหาเรื่องคิด วิตก และสติ

    ท่านอาจารย์ ทำไมมีปัญหาเรื่องคิด แล้วก็เรื่องวิตกด้วย

    ผู้ฟัง ก็คิดถึงท่านอาจารย์ ไม่ทราบว่าเป็นบางขณะที่คิดไปนั่นเป็นสติ ที่คิดระลึก

    ท่านอาจารย์ คิดถึงใครแล้วเป็นสติที่คิดหรือ ถ้าอย่างนั้นคิดถึงใครสักคนเวลานี้ก็เป็นสติแล้วหรือ นี่เป็นการสับสน

    ผู้ฟัง อาจจะเป็นชื่อ หรือเป็นเรื่องราวที่คิด

    ท่านอาจารย์ ถึงคิดถึงชื่อ หรือเรื่อง เป็นสติ หรือเปล่า เราใช้คำว่า “สติ” ต้องรู้จักความหมายของคำนั้นด้วย และรู้ลักษณะของคำนั้นด้วย ไม่ใช่เพียงใช้คำ

    ผู้ฟัง ขณะที่คิดชื่อเรื่อง และพิจารณาสิ่งที่ปรากฏ คือ เป็นสภาพธรรมขณะนั้นจะเรียกว่าอะไร

    ท่านอาจารย์ ทำไมต้องเรียก กำลังรู้แข็ง ต้องเรียกแข็งไหม

    ผู้ฟัง เป็นการสื่อถึง

    ท่านอาจารย์ แต่ขณะที่กำลังรู้ ต้องเรียกไหม ยังไม่ต้องสื่อ

    ผู้ฟัง ไม่ต้องเลย โดยเฉพาะสำหรับตนเอง แต่ขณะนี้ต้องสื่อให้ท่านอาจารย์เข้าใจด้วยครับ เพราะขณะนั้นคิดปรากฏ เราก็ไม่สามารถอธิบายได้

    ท่านอาจารย์ มีคิดใช่ไหม

    ผู้ฟัง มีคิด

    ท่านอาจารย์ แล้วทำไมบอกว่ามีสติ ไปเอาชื่อสติมาจากไหน แล้วเอามาใส่คิดได้อย่างไร

    ผู้ฟัง เพราะขณะนั้นกำลังพิจารณาที่ปรากฏ และมีลักษณะหนึ่งที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ มีสิ่งที่สามารถปรากฏให้เห็นได้ ถ้าฟังยังไม่เข้าใจก็ฟังจนกว่าจะเข้าใจได้ว่า ขณะใดก็ตามที่เห็น เห็นสิ่งที่มีจริงๆ แน่นอน แต่จะไม่รู้เลยว่า สิ่งนี้มีจริงถ้าจิตไม่เกิดขึ้นเห็นสิ่งนั้น ไม่ใช่สิ่งนั้นเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ แต่เป็นสิ่งที่สามารถปรากฏให้เห็น ขณะที่เห็นกำลังเห็นเท่านั้น ไม่ต้องไปคิดนึกว่าเป็นอะไร เพียงเป็นธรรมที่ปรากฏกำลังปรากฏให้เห็นจริงๆ

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า จิตเกิดดับเร็วแค่ไหน เพียงแค่มีสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น เป็นธาตุที่สามารถปรากฏให้เห็นได้ แต่ความรวดเร็วของการเกิดดับสืบต่อจนกระทั่งปรากฏว่า พร้อมนิมิตเลย แยกไม่ออกเลย แต่จริงๆ สิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้เป็นแต่เพียงสามารถกระทบจักขุปสาท ปรากฏแล้วดับไป แล้วจะเป็นนิมิตที่ยังคงเหมือนมีอยู่ขณะนี้ได้อย่างไร ถ้าไม่เกิดซ้ำกันๆ บ่อยๆ

    ผู้ฟัง แต่ตามความเป็นจริงก็เหมือนมีอยู่ ซ้ำกันจนไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ไม่รู้เลย เหมือนปรากฏพร้อมกันด้วยซ้ำไป พอเห็นก็ปรากฏให้เห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดพร้อมกันเลย นี่คือการแสดงความรวดเร็วของการเกิดดับของจิต

    ผู้ฟัง ก็เพราะยากตรงนี้ จึงสอบถามท่านอาจารย์ถึงจิตเห็น จิตได้ยินบ่อยๆ และไม่สามารถเข้าใจถึงลักษณะที่กล่าวได้

    ท่านอาจารย์ ก็มีคำถามว่า แล้วคนที่สามารถรู้ได้ มีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ แล้วคนไม่สามารถรู้ได้มีไหม ๒ คนนี้ต่างกันที่ตรงไหน

    ผู้ฟัง ต่างกันตรงความเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ถ้ายังไม่สามารถรู้ได้ หมายความว่าความเข้าใจยังไม่พอ แต่ก็ไปคิดว่าเมื่อไรจะรู้ เมื่อไรจะรู้ แทนที่กำลังค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย เป็นปกติ เมื่อไม่เข้าใจก็คือไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจแล้วก็หมดไป ได้ยินอีกก็สะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูกจนกว่าจะมั่นคง เพราะยังมีอีกมากนักที่จะต้องมั่นคงขึ้นจนกระทั่งสามารถรู้ลักษณะที่เป็นธรรมที่เห็น

    ผู้ฟัง ฟังให้เข้าใจง่ายๆ เริ่มต้นจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ แต่ว่าจิตก็ไม่สามารถน้อมไปถึงลักษณะได้จริงๆ

    ท่านอาจารย์ เคยทราบประวัติของผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมไหม

    ผู้ฟัง เคย

    ท่านอาจารย์ ตอนแรกๆ นานแสนนานมาแล้ว ท่านรู้ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ก็คงจะเหมือนอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ แล้วนานเท่าไรท่านรู้

    ผู้ฟัง ต้องเป็นแสนกัปขึ้นไป

    ท่านอาจารย์ คำถามของคุณบุษกรนานเท่าไรแล้วที่ได้ฟัง

    ผู้ฟัง เท่าที่จำได้ก็แค่ไม่เกิน ๔ ปี

    ท่านอาจารย์ ไม่สำคัญเลยว่านานเท่าไร สำคัญว่าได้ยินแล้วมีสภาพธรรมปรากฏ แล้วเข้าใจแค่ไหน เป็นเครื่องตอบในตัว ไม่ต้องถามใครเลย ถ้าเข้าใจเพียงเท่านี้ ไม่มีทางรู้ความจริงของสภาพธรรมซึ่งเกิดแล้วดับไปอย่างเร็วมาก แต่เริ่มสะสมความเห็นถูกว่า เป็นธรรม ข้อสำคัญที่สุดของการฟังธรรม คือ ให้เข้าใจถูกขึ้นว่า เป็นธรรมจริงๆ แล้วก็เป็นอนัตตาด้วย พอเข้าใจคำว่า เป็นธรรม ก็ลืมคำว่า อนัตตา

    ผู้ฟัง บางครั้งฟังแล้วก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ก็ลืมว่า เป็นธรรม ก็ลืมอยู่นี่ แค่ ๒ คำ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ลืมตลอด ๒ คำนี้ จนกว่าจะไม่ลืม ขณะนี้ที่ฟังมีแข็งไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ตรงแข็ง

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ แข็งปรากฏ เป็นอนัตตา หรือเปล่า ไม่ใช่ไปจำชื่ออนัตตา แล้วก็ลืมสภาพที่มีจริงซึ่งเป็นอนัตตาทุกอย่าง คิดเป็นอนัตตา หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ แข็งเป็นอนัตตา หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ ขณะกำลังรู้แข็ง แข็งเป็นอนัตตา หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ขณะกำลังรู้แข็ง เป็นค่ะ

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรม หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ เกิด หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เกิดขึ้นค่ะ

    ท่านอาจารย์ รู้เกิด หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ขณะที่เกิดไม่รู้

    ท่านอาจารย์ แล้วดับ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ขณะดับก็ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ และความจริงเกิดดับ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ความจริงเกิดดับ มีจริงๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ความรู้น้อยมากกว่าจะประจักษ์การเกิดดับได้จริงๆ

    ผู้ฟัง เช่นนี้ก็เข้าใจตรงนี้บ่อยๆ เนืองๆ ก็สามารถน้อมถึงตรงนั้นได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เราน้อมเลย เริ่มเข้าใจเมื่อไร นั่นคือจิต และเจตสิกในขณะที่ฟังสะสม เป็นสภาพของสังขารขันธ์ น้อมไปเอง ไม่มีเราน้อม น้อมไปสู่การจะฟังอีก น้อมไปสู่การฟังแล้วกำลังค่อยๆ เข้าใจขึ้นอีก จนกระทั่งสามารถที่จะรู้ลักษณะที่กำลังกล่าวถึงว่า เป็นธรรม ความจริงเป็นธรรม เพราะมีจริงๆ กำลังปรากฏลักษณะที่มีจริงๆ เมื่อลักษณะนั้นเกิด โดยไม่สามารถบังคับบัญชาได้ ก็เป็นอนัตตา และมีอะไรที่ไม่ใช่อนัตตา ที่ไม่ใช่ธรรม ถ้าเข้าใจอย่างนี้

    ผู้ฟัง ทุกอย่างเป็นอนัตตา คือพูดตามได้

    ท่านอาจารย์ ตอนนี้ไม่ใช่พูดตาม ตอนนี้หมายความว่ามีลักษณะของธรรมหนึ่งปรากฏ เข้าใจลักษณะนั้นว่า มีจริงๆ ไม่ต้องบอก ปรากฏแล้ว จะไม่จริงได้อย่างไร แต่ความรู้ว่า เป็นธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเกิดแล้วดับ ยังไม่ถึงกาลที่จะรู้ได้ แต่ความจริงก็คือสภาพนั้นต้องเกิดแล้วก็ดับด้วย

    เพราะฉะนั้น ปัญญาจริงๆ ก็คือเมื่อเข้าใจขึ้น ก็สามารถที่จะคลายความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะเพิ่มขึ้น

    นี่กล่าวเพียงเห็น นี่กล่าวเพียงแข็ง ยังมีคิด ชอบ ทุกอย่างเป็นธรรมทั้งนั้น แล้วฟังต่อไปเข้าใจขึ้นอีก หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เข้าใจขึ้นได้

    ท่านอาจารย์ ทีละมากๆ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่เลย

    ท่านอาจารย์ ทีละเล็กทีละน้อย

    ผู้ฟัง จิตเป็นสภาพเกิดแล้วก็ต้องดับไป เจตสิกด้วย รูปเกิดแล้วดับไป เพราะอะไรทำให้เกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไรทำให้เกิด มีใครทำได้ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่มี แต่เป็นลักษณะที่สะสมของเจตนา

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ยังไม่ได้พูดถึงเจตนา กำลังพูดถึงจิต เจตสิก รูป จิตเกิด เจตสิกเกิด รูปเกิด แล้วเกิดมาได้อย่างไร คำถามคือมีใครทำให้เกิดได้ หรือเปล่า


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 175
    25 ก.พ. 2567