พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 642


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๔๒

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๓


    ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นทั้งเห็น ธรรมเป็นทั้งได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึกเดี๋ยวนี้เป็นธรรม เพราะฉะนั้น ไม่มีอะไรที่พ้นจากธรรมเลย แม้แต่ความคิดก็รู้ล่วงหน้าไม่ได้ว่าขณะต่อไปจะคิดอะไร เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ จะเป็นกุศลอะไร อกุศลอะไรไม่รู้จนกว่าสิ่งนั้นเกิด และที่รู้ก็คือรู้ว่าลักษณะนั้นเป็นธรรมที่หลากหลาย ก่อนที่จะเกิดเป็นอย่างนี้ ไม่ได้เป็นอย่างนี้ แต่เมื่อเกิดเป็นอย่างนี้ก็จะไม่เกิดเป็นอย่างอื่น เพราะว่าเกิดแล้วเป็นอย่างนี้ก็คือ ๑ ขณะที่เกิดเป็นอย่างนี้เป็น ๑ขันธ์แล้วก็ดับไป และก็ไม่กลับมาอีกเลย

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ ก็คงจะนานที่จะสามารถว่าให้ทุกอย่างไม่เกิดขึ้นได้เลย

    ท่านอาจารย์ รู้ความจริง นานเท่าไหร่ก็เป็นความจริง แต่ถ้ารู้ไม่จริงเร็วๆ เร็วเท่าไหร่ก็ไม่จริง

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ ความเข้าใจผิด บางครั้งช่างง่ายเหลือเกินที่จะเข้าใจสิ่งๆ นั้นว่าผิด แต่ถ้ามีการพิจารณาที่ถูกต้อง ถูกต้องเป็นถูกไม่ใช่ผิด ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง นั่นคือปัญญาสามารถที่จะตรงว่าลักษณะที่ผิดจะถูกไม่ได้

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ ขันธ์ ๕ ทั้งหมดที่มีขึ้นมาก็ต้องเกิดขึ้นอีก ชาติหน้าก็ต้องเห็นอีก ได้ยินอีก

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่ใช่ของเก่า ใหม่หมดเลยทุกขณะ

    ผู้ฟัง เป็นบุคคลใหม่

    ท่านอาจารย์ ทุกขณะใหม่หมด เพราะอะไร สิ่งที่ดับแล้วไม่กลับมาอีก เพราะฉะนั้น จะเป็นสิ่งที่เก่าแล้วกลับมาไม่ได้

    ผู้ฟัง จำไม่ได้ด้วยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าพูดถึงภพชาติ จำได้เฉพาะชาตินี้ และจำไม่ได้หมดด้วย เมื่อวานนี้ใครรับประทานอะไรบ้าง แค่นี้ก็จำไม่ได้ แค่เมื่อวานนี้เอง เมื่อเช้าก็ยังจำไม่ได้ หรือใครจำได้ คิดอะไร เห็นไหม เมื่อเช้านี้คิดอะไร ก็ไม่รู้จำไม่ได้ คิดแล้วหมดแล้ว ไม่มีทางเลยที่จะจำจนกระทั่งสามารถที่จะรู้ว่าขณะนั้นเป็นอะไรที่จำไว้

    ผู้ฟัง ชาตินี้มีชาติเดียวที่จำกันได้

    ท่านอาจารย์ แต่ว่าไม่หมด ความจริงสภาพจำต้องจำแต่ไม่สามารถที่จะตรึกลึก นึกถึงสิ่งที่ได้จำแล้วได้หมดเพราะจำทุกขณะจิต ถ้าจำทุกขณะจิตเราจะรู้ไหมว่าจำมากมายสักแค่ไหน เพราะว่าจิตขณะนี้ก็เกิดดับมากมายนับไม่ถ้วน นี่ถึงจะเข้าใจความหมายว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา และก็เป็นอนัตตาด้วยคือบังคับบัญชาไม่ได้ จะไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ เกิดแล้วจะไม่ให้ดับก็ไม่ได้อยากจะให้จิตประเภทนั้นเกิดก็ไม่ได้ อยากจะไม่ให้จิตประเภทนี้เกิดก็ไม่ได้ เพราะว่าทั้งหมดเป็นธรรม ทั้งหมดเป็นธรรมก็คือเดี๋ยวนี้ ต้องไม่ลืมว่าเดี๋ยวนี้ จนกว่าจะเข้าใจสิ่งที่มีเดี๋ยวนี้ว่าเป็นธรรม นั่นคือการเริ่มรู้จักตัวธรรมไม่ใช่เพียงชื่อธรรม ด้วยเหตุนี้ธรรมเป็นสิ่งที่เข้าใจแล้วจะทำให้สามารถที่จะรู้ว่าสิ่งที่เราพูด หรือคิดนี่คืออะไร โกรธเป็นธรรมที่มีจริง ไม่ใช่เป็นธาตุที่รู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏเพราะไม่ใช่จิต เพราะฉะนั้น บางกาลความรู้สึกก็โสมนัสเป็นจิตที่ดีสบายใจ แต่บางครั้งก็ทุมนัสจิตเสียไม่ดีเพราะขณะนั้นมีความรู้สึกที่ไม่สบายเกิดกับจิตนั้น เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่าเราเลือกไม่ได้ เพราะว่าแม้จิตเกิดใครเลือกให้จิตเกิดได้ ใครทำให้จิตเกิดได้ ใครจะทำให้เจตสิกอะไรเกิดร่วมกับจิตในขณะนั้นได้ ไม่มีทางเป็นไปได้เลยเพราะต้องไม่ลืมว่าธรรมเป็นอนัตตา ทั้งหมดเลย ทุกชนิดทุกประเภท ธรรมทั้งหมด ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่เว้น เพราะฉะนั้น การฟังธรรม ขณะนี้ทุกคนฟังธรรมเพื่อเข้าใจธรรม ไม่ใช่เพื่อทำอย่างไรจะไม่โกรธ พอโกรธจะเกิดก็บอกหน่อย อย่างนั้นอย่างนี้ อย่างนี้อย่างนั้นแต่ว่าไม่รู้จักโกรธ เพราะฉะนั้น ถ้าจะรู้จักโกรธก็คือฟังเรื่องโกรธด้วยความเข้าใจขึ้น โกรธมีจริงๆ โกรธเมื่อไหร่บ้าง เห็นไหม แม้แต่โกรธเมื่อไหร่บ้าง ไม่ต้องเป็นความคิดเรื่องราวใดๆ โกรธได้ไหม เห็นไหม เรายังไม่รู้จักโกรธละเอียดพอ เพราะฉะนั้น เพียงแต่ฟังมาว่าปกติเราอดคิดไม่ได้ หลังจากเห็นแล้วก็คิด เพราะฉะนั้น คิดด้วยความโกรธในสิ่งที่เป็นเรื่องที่เรากำลังคิด ไม่มีใครขณะนั้นเลยนอกจากคิด คิดได้เป็นเรื่องต่างๆ เพราะฉะนั้น ถ้าขณะนั้นโกรธ ใครเป็นคนคิดเรื่องให้โกรธ ใครเป็นคนคิดเรื่องให้โกรธ กำลังคิดแล้วก็โกรธก็เกิด แล้วใครเป็นคนคิดทำให้เรื่องนั้นเกิด ไม่มีเลยใช่ไหม นอกจากการสะสมมาจากการเห็นบ้าง ได้ยินบ้างจำไว้ไม่ลืมจึงทำให้คิดด้วยความโกรธ คิดเองใช่ไหม แล้วก็โกรธเองด้วย ไม่มีใครไปทำให้ความโกรธเกิด แล้วไม่มีใครไปทำให้จิตคิดเรื่องนั้นด้วย เพราะฉะนั้น ทั้งจิตคิดเองตามปัจจัย โกรธก็เองตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจความละเอียดแม้ไม่คิดก็โกรธ จริง หรือเปล่า ถ้าไม่ได้ฟังธรรมไม่เข้าใจเลย ถ้าไม่คิดจะโกรธได้อย่างไร เพียงแค่เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ได้ยินเสียงที่ไม่น่าพอใจ ยังไม่ได้คิดเลย เสียงฟ้าร้องหลายคนกลัวมาก ฝนตกนี่ไม่กลัวแต่ฟ้าร้องมากๆ กลัว ใช่ไหม แล้วก็ยังไม่รู้ว่าเป็นฟ้าที่ร้องเพียงเสียงที่กระทบกับหูก็เกิดไม่ชอบไม่พอใจ หรือว่าตกใจ หรือว่ากลัว เพราะฉะนั้น โทสะมีหลายลักษณะไม่ใช่เพียงแต่ความโกรธอย่างเดียว ความกลัว ความขุ่นใจ ความไม่พอใจทั้งหมดขณะนั้นที่เกิดกับความรู้สึกที่ตรงกันข้ามกับความรู้สึกเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ หรือโสมนัส ขณะนั้นก็เป็นโทมนัสถ้าเกี่ยวกับทางใจ เพราะฉะนั้น ยังไม่ทันจะคิดก็โกรธได้ เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจโกรธไม่ใช่ไปนั่งจับคำนั้นมาเรื่องนี้มาแล้วก็คิดเอา แต่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้ยินได้ฟังนี่ การฟังด้วยการไตร่ตรองทำให้เราสามารถที่จะเข้าใจเป็นความเข้าใจของเราเอง โดยไม่ต้องใครพูด พูดที่ไหน พูดเมื่อไหร่ แต่สิ่งไรก็ตามที่ได้ยิน เมื่อไรก็ตามจากที่ไหนก็ตาม อ่านเอง หรือว่าคิดตามที่อ่านก็ตาม ขณะนั้นก็ให้ทราบว่าเป็นสิ่งที่กำลังมีจริงๆ เป็นจริงๆ ในขณะนั้นโดยไม่ต้องไปกังวลว่าใครพูดคำนี้ ถ้าฟังธรรมขณะนี้เป็นธรรมทั้งหมดเลย ใครคิดว่าไม่ใช่ธรรมบ้าง ทั้งหมดเป็นธรรมแล้วก็เป็นอนัตตาด้วย ถ้าฟังแล้วเข้าใจขึ้นใครพูด คนโน้น หรือคนนี้ หรือว่าผู้รู้จริงๆ จึงสามารถที่จะพูดความจริงในขณะนี้ได้ เพราะฉะนั้น ผู้รู้จริงแสดงความจริงให้คนอื่นได้รู้จริง อย่างขณะนี้ที่นี่ไม่ใช่พระวิหารเชตวัน ไม่ใช่พระวิหารเวฬุวัน แต่ข้อความที่ได้ตรัสแล้วณ. สถานที่นั้นๆ ก็ยังเป็นเสียงในภาษาต่างๆ ที่สามารถที่จะให้เข้าใจความจริงทุกกาลสมัยได้ เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่เข้าใจธรรมรู้ไหม ว่าใครเป็นคนรู้จริง และก็แสดงความจริงนั้นโดยแม้ไม่ต้องเอ่ยชื่อเลยก็ต้องรู้ว่ามีผู้ที่รู้จริง ยิ่งฟังยิ่งจริง ยิ่งฟังยิ่งรู้ เพราะฉะนั้น ใครถ้าไม่ใช่ผู้ที่รู้จริงแม้จะไม่เอ่ยนามว่าพุทธะ หรือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ความเป็นจริงก็คืออย่างนั้น เพราะฉะนั้น การฟังไตร่ตรองแล้วจะรู้ว่าใครเป็นคนพูด พูดเอง หรือเปล่า หรือว่าพูดจากความจริงที่ได้รู้แล้วจึงพูดคำจริงให้คนอื่นได้ค่อยๆ พิจารณาเข้าใจขึ้นด้วย ด้วยเหตุนี้ถ้าจะพูดถึงความโกรธมีจริงๆ เป็นธรรมบังคับบัญชาไม่ได้เป็นอนัตตา แล้วก็ไม่จำกัดในขณะที่คิดด้วยแม้ไม่คิด เห็นยังไม่รู้เลยว่าเป็นอะไร ความไม่พอใจเกิดแล้วมากน้อยก็แล้วแต่โดยไม่รู้เลย เพราะฉะนั้น มีปฏิฆานุสัย ปฏิฆะคือการกระทบกระทั่ง เวลาที่วันหนึ่งๆ เรามีชีวิตอยู่เห็นเดือดร้อนเลยใช่ไหม แต่พอเดือดร้อนเพราะการกระทบ กระทั่งที่แรงพอที่จะทำให้เกิดความขุ่นใจ หรือไม่พอใจได้ เพราะฉะนั้น พร้อมที่จะเกิดเมื่อถึงกาลที่จะเกิด ถ้าศึกษาธรรมโดยละเอียดเห็นความรวดเร็วของจิตจะรู้ได้เลยไม่มีใครไปยับยั้ง เพราะฉะนั้น เราไม่รู้เลยว่าโกรธ โกรธได้ทั้งวัน ทั้งหมดเลยที่ปรากฏทางตา หรือหู หรือจมูก หรือลิ้น หรือกายแม้ยังไม่คิดก็สามารถที่จะเป็นปัจจัยให้ความโกรธซึ่งยังไม่ดับ เพราะฉะนั้น ก็มีปัจจัยที่จะเกิดตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้น พิจารณาแล้วก็รู้ว่าแม้ไม่คิดก็โกรธ แต่เวลาคิดไม่มีใครให้เราคิดใช่ไหม ลองคิดซิว่าต่อไปจะคิดอะไร ไม่รู้เพราะยังไม่เกิดแต่มีปัจจัยที่จะคิด แล้วเวลาที่คิดสิ่งนั้นโกรธไหม ชอบไหม สนุกไหม ก็แล้วแต่ว่าขณะนั้นเป็นจิตประเภทไหนที่คิดเรื่องนั้น ความรู้สึกในเรื่องที่คิดนั้นก็เป็นอย่างนั้น ถ้าคิดถึงผู้มีคุณ มารดาบิดาผู้มีคุณจิตที่คิดก็เป็นอย่างหนึ่ง ถ้าคิดถึงคนไม่ดีจิตที่คิดก็เป็นอีกอย่างหนึ่งใช่ไหม ใครบังคับบัญชา ใครเลือกว่าให้คิดเรื่องอะไร และให้ความรู้สึกในขณะที่คิดเป็นอย่างไรก็ไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบัญชาได้ เพราะฉะนั้น การฟังธรรมเพื่อเข้าใจธรรมจนกว่าสามารถที่จะเข้าใจตัวธรรมจริงๆ ในขณะนี้ตามปกติว่าเป็นสิ่งที่เราเคยได้ยินได้ฟังเป็นเรื่องเป็นราวของความจริงของสิ่งนั้น เพราะฉะนั้น การฟังเป็นพื้นฐานที่จะทำให้สามารถเข้าถึงความจริงซึ่งเป็นธรรมของแต่ละสิ่งซึ่งเราพูดถึงบ้าง อ่านบ้าง คิดบ้างในสิ่งนั้นๆ ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นๆ ก็ปรากฏเกิดแล้วก็ดับไป ดับไปที่นี่ไม่เดือดร้อนเลย ใช่ไหม ดับแล้วหมดแล้วหายไปแล้วก็ไม่เดือดร้อน เพราะมีสิ่งใหม่เกิดแล้ว สนใจสิ่งใหม่ลืมเลยว่าสิ่งเมื่อกี้นี้หายไปไหน หายไปจริงๆ ใช้คำว่าหายไปคือหาอีกไม่ได้กลับมาอีกไม่ได้เลยแต่ละขณะ แต่ว่ามีสิ่งอื่นซึ่งเกิดก็เลยไม่รู้ความจริงว่าสิ่งที่มีเมื่อกี้นี้หมดไป สิ้นไป ดับไปไม่กลับมาอีกเลย เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ หรือความไม่โกรธ หรืออะไรก็ตามทั้งสิ้นเป็นธรรมแต่ละลักษณะ มีลักษณะปรากฏความต่างความหลากหลายของสภาพธรรมซึ่งมีปัจจัยปรุงแต่งเกิดแล้วดับแล้วไม่กลับมาอีกเลย แล้วไม่ซ้ำ และไม่เหมือนเก่า ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นใช่ไหม แล้วก็มีธาตุที่กำลังรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏคือกำลังเห็นจริงๆ แต่ว่าสิ่งที่ปรากฏให้เห็นขณะนี้ไม่ใช่เมื่อกี้นี้เลย เกิดแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว แล้วจิตขณะที่เห็นขณะนี้ก็ไม่ใช่จิตที่เห็นเมื่อกี้นี้ด้วย เพราะฉะนั้น ก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ และหลากหลายตามปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น นี่คือแทนที่เราจะไปสนใจเรื่องอื่นแต่ให้เข้าใจแม้คำว่า "ธรรม" เพราะมีธรรมจริงๆ ซึ่งกว่าจะเข้าใจได้ก็ต้องอาศัยการไตร่ตรอง และก็การฟัง แต่ไม่ใช่ไปคิดเรื่องราวโดยที่ไม่รู้ว่าขณะนี้กำลังพูดถึงสิ่งที่เป็นธรรมแต่ละอย่าง พูดถึงโทสะความขุ่นใจ ใครก็อาจกำลังมีก็ได้ใช่ไหม พูดถึงความพอใจ ใครก็ได้ก็อาจกำลังมีก็ได้ และก็หมดไปแล้วด้วย และก็ไม่กลับมาอีกแล้วด้วย คือพูดให้เข้าใจความจริงว่าเป็นธรรมทั้งหมดไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง

    อ.กุลวิไล เชิญคุณสุกัญญา

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ ตื่นขึ้นมาก็โกรธ

    ท่านอาจารย์ ก่อนนอนต้องโกรธแน่ๆ เลยใช่ไหม พอตื่นมาก็นึกถึงเรื่องก่อนนอนนั่นแหละ

    ผู้ฟัง ก็จะจำไม่ค่อยได้เพราะว่าส่วนใหญ่จะหลับโดยไม่ค่อยรู้ตัว

    ท่านอาจารย์ นี่คือความไม่รู้ ไม่รู้เลยแม้ก่อนหลับซึ่งยังไม่หลับก็ต้องเป็นกุศล หรืออกุศลด้วย

    ผู้ฟัง ถ้าไม่รู้ก็คือไม่รู้ตลอดไป

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร ความไม่รู้มีจริงๆ เป็นอวิชชา

    ผู้ฟัง จากการที่ฟังธรรมก็พอรู้ขึ้นบ้าง เมื่อก่อนนี้ตื่นขึ้นมาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าขณะนั้นเป็นความพอใจ หรือไม่พอใจที่เกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ ส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนี้ใช่ไหม แต่ผู้ที่เข้าใจธรรมจะเข้าใจไหมว่าแม้ขณะนั้นก็เป็นธรรมแน่นอน เห็นไหมความไม่รู้ก็ไม่รู้แม้แต่ว่าลักษณะของสภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้นเปลี่ยนไม่ได้ก็ยังไม่รู้มีความเป็นเรา แล้วนั่นอะไร อยู่ที่ไหน ก็มีแต่ความคิดขึ้นมาแทนที่โดยที่ลักษณะที่มีขณะนั้นก็ไม่รู้ว่านั่นก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง แล้วถ้าไม่รู้อย่างนี้เมื่อไหร่จะหมดความสงสัย เมื่อไหร่จะละความเป็นตัวตน เมื่อไหร่จะรู้แจ้งความจริงของสภาพธรรมซึ่งเกิดดับ เพราะฉะนั้น อาศัยความรู้ความเข้าใจอย่างเดียว ไม่ต้องกังวลถึงอย่างอื่นเลย

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กำลังจะกล่าวให้เข้าใจว่าเมื่อรู้ว่าเป็นลักษณะของ

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่มีจริงขณะนั้น

    ผู้ฟัง ก็คือธรรม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง จะคลายก็คือขณะนั้นไม่ใช่เราเพราะว่าประเดี๋ยวก็มีธรรมอื่นปรากฏแน่ๆ โดยไม่ต้องเตรียมอะไรทั้งสิ้น

    ผู้ฟัง แต่ส่วนใหญ่มักจะไปคิดต่อว่าเป็นโทสะประเภทไหน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น คิดเกิดแล้วก็เป็นธรรม คิดอะไรตอนที่กำลังไม่รู้เพราะว่าคิดยังไม่เกิด ยังไม่รู้ว่าจะคิดอย่างนี้

    ผู้ฟัง ไม่ดี หรือจะได้รู้ลักษณะของธรรมละเอียดขี้นว่าเป็นโทสะประเภทไหน

    ท่านอาจารย์ ใครดี ดีเป็นใคร หรือดีเป็นธรรม ฟังธรรมก็เราดีขึ้น ไม่ดี หรือที่เราเข้าใจ ฟังธรรมแต่เป็นเราเข้าใจ และเราดี แล้วเมื่อไหร่จะรู้ว่าดีก็เป็นธรรม เข้าใจก็เป็นธรรม ฟังธรรมเพื่อเข้าใจว่าเป็นธรรมใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ ลืมแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าจะมีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่อเข้าใจธรรมยิ่งขึ้น

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ การเข้าใจธรรมก็คือเข้าใจว่าสิ่งที่มีจริงนั้นเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ที่กำลังปรากฏเป็นลักษณะของธรรมทั้งนั้นเลยแต่ละลักษณะต่างๆ หลากหลายกันไป

    ผู้ฟัง ถ้ายังไม่ได้เข้าใจแบบนี้ก็ยังไม่ต้องเข้าใจอย่างอื่นแล้วใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ก็กำลังมีสิ่งที่กำลังปรากฏแล้วไม่เข้าใจแล้วจะไปเข้าใจอะไรได้ สิ่งที่ผ่านไปแล้วเข้าใจได้ไหม สิ่งที่ยังไม่มาถึงเข้าใจได้ไหม และถ้าไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏจะเข้าใจอะไร

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ คือฟังธรรมแล้วให้เข้าใจว่าเป็นธรรมเริ่มต้นที่ว่า

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ให้ ฟังธรรมเพื่ออะไร

    ผู้ฟัง เพื่อเข้าใจว่าเป็นธรรม ทีนี้จากการฟังว่าเป็นธรรมตรงนี้เพียงคำเดียวก็ยากแล้ว

    ท่านอาจารย์ ไม่มีใครว่าง่าย

    ผู้ฟัง คือเริ่มต้นจากเข้าใจว่าขณะที่โทสะเกิดก็เป็นลักษณะของสภาพธรรม ทีนี้อยากจะให้ท่านอาจารย์ช่วยกรุณาอธิบายว่าลักษณะของธรรมที่จะเข้าใจลักษณะว่าเป็นธรรมแต่ละลักษณะๆ

    ท่านอาจารย์ โทสะมีจริงไหม

    ผู้ฟัง มีจริงๆ

    ท่านอาจารย์ เป็นคุณบุษกร หรือว่าเป็นอะไร หรือเป็นสิ่งที่มีจริง นั่นคือความหมายของธรรม

    ผู้ฟัง แต่เข้าใจว่าเป็นขณะที่โทสะกำลังเกิดแล้วรู้ลักษณะตรงโทสะขณะนั้นไม่มีบุษกร

    ท่านอาจารย์ เข้าใจขณะนี้ว่าโทสะมีจริงๆ ไม่ต้องเรียกชื่อว่าธรรม โทสะก็เป็นธรรม

    ผู้ฟัง แต่ความจริงแล้วยังไม่ได้เข้าใจถึงว่าลักษณะของสภาพธรรมทีละอย่างๆ ก็เลยทำให้มีตัวตนเข้าไปเดือดร้อน

    ท่านอาจารย์ คำตอบเหมือนเดิมแต่ถ้าค่อยๆ เข้าใจขึ้นก็จะรู้ได้ว่าเข้าใจขึ้นจากการฟังบ่อยๆ และก็ไตร่ตรองด้วย

    อ.วิชัย ถ้าเราศึกษาก็เข้าใจว่าอกุศลทั้งหลายจะเป็นโทสะก็ตาม โลภะก็ตาม หรือโมหะมูลจิตก็ตาม ขณะนั้นก็เป็นไปด้วยความไม่รู้ อย่างเช่นขณะที่เราคิด และก็ขุ่นเคืองใจในสิ่งใดก็ตาม ขณะนั้นก็เป็นไปด้วยความไม่รู้ว่าความจริงนั้นคืออะไร เป็นธรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย แต่ขณะที่ฟังธรรมขณะนี้เริ่มที่จะค่อยๆ เข้าใจระลึกได้ว่าธรรมขณะที่กำลังคิดถึงก็เป็นนามธรรมที่กำลังคิดถึงในสิ่งที่ล่วงมาแล้วขณะนั้นก็ไม่ใช่เป็นความขุ่นใจแต่เป็นเป็นความคิดถึงแล้วแต่ว่าขณะนั้นเป็นจิตอะไรซึ่งก็ยังไม่รู้ แม้ขณะนี้จิตอะไรเกิดขึ้นก็ไม่รู้ เพราะเหตุว่าความรู้ความเข้าใจที่จะเกิด หรือว่าสติที่จะระลึกได้ในลักษณะที่กำลังปรากฏยังไม่เกิดขึ้น แต่ต้องอาศัยความเข้าใจจากขั้นการฟังค่อยๆ สั่งสมมากขึ้นจนมีกำลังมากขึ้นที่จะรู้ในลักษณะของจิตที่กำลังเกิดขึ้นเป็นไปว่าจิตอะไรที่กำลังเป็นไป แต่ก็ไม่ได้มุ่งหมายที่จะนึกถึงเป็นคำๆ ว่าจะให้เป็นจิตนั้นจิตนี้แต่ว่ามีลักษณะจริงๆ เพื่อรู้เพื่อเข้าใจว่าเป็นธรรม ไม่ใช่จะเพียงศึกษาแล้วก็เพียงกล่าวชื่อได้ถูกต้อง อันนั้นก็มิใช่จุดประสงค์แต่ให้รู้ว่าขณะใดก็ตามที่มีธรรมซึ่งขณะที่กำลังกล่าวถึง ว่าคิดถึง ว่ากำลังโกรธนี่ขณะนั้นก็เป็นจิตที่กำลังคิด โดยที่ไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นจิตที่กำลังคิด เมื่อฟังธรรมมากขึ้นมีความเข้าใจมากขึ้น สติสามารถระลึกได้ในขณะนี้ทันที แม้ในขณะอื่นก็ตามก็เป็นปกติในชีวิตประจำวันที่เมื่อมีความเข้าใจมากขึ้นก็จะไม่กังวลในสิ่งอื่นว่าสิ่งที่ล่วงมาแล้วว่าเป็นอย่างไรเกิดดับมากน้อยแค่ไหนก็เป็นสิ่งที่จิตที่กำลังคิดทั้งหมดเลย โดยที่ไม่รู้ว่าขณะนั้นก็เป็นจิตที่กำลังคิดแต่เมื่อมีการฟังเข้าใจมากขึ้นก็จะระลึกได้ ในธรรมที่กำลังมี และกำลังปรากฏในขณะนี้

    ท่านอาจารย์ คุณสุกัญญา ฟังแล้วถึงอย่างไรก็โกรธใช่ไหม

    ผู้ฟัง ก็ถ้ามีเหตุก็โกรธ

    ท่านอาจารย์ ถึงอย่างไรๆ ก็โกรธ แล้วจะต้องไปคิดถึงโกรธทำไม ถึงอย่างไรก็โกรธ มีใครบ้างไหมที่จะไม่โกรธ ถ้าไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล เพราะฉะนั้น ถึงอย่างไรก็โกรธ แล้วไปคิดทำไม เรื่องโกรธเมื่อยังไม่โกรธ ใช่ไหม แต่เวลาโกรธเกิดขึ้นรู้ ที่ได้ฟังมาทั้งหมดคุณสุกัญญาจะไม่เห็นความเป็นไปของสังขารขันธ์ ไม่มีเราที่จะทำอะไรได้เลย ฟังความคิดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ในทางที่จะเห็นโทษของอกุศล และเห็นประโยชน์ของกุศล แต่เมื่อยังไม่เกิดขึ้นก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าอะไรจะเกิด โทสะก็เกิดได้ตราบใดที่ยังมีเหตุที่จะให้เกิดโทสะ โละภะความติดข้อง หรือความเมตตาก็เกิดได้ เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดแล้วจึงรู้การทำงานของสังขารขันธ์ น่าอัศจรรย์ไม่มีใครสามารถจะรู้เจตสิกแต่ละเจตสิกที่เกิดกับจิตแต่ละขณะว่ากำลังทำงานแล้วแต่ว่าถ้าเป็นฝ่ายกุศลก็ค่อยๆ น้อมไปสู่การที่จะอารักขาไม่ให้จิตที่เป็นอกุศลเกิด เพราะเวลาที่โกรธเกิด เราก็ไม่รู้ว่าเมื่อโกรธเกิดแล้วต่อจากนั้นอะไรจะเกิด อาจจะเป็นความสงสาร หรือว่าความเมตตาในบุคคลที่เราโกรธ คิดว่าเขาไม่ดี เขาไม่ดีเราควรจะเป็นอย่างไร ควรจะเกลียด ควรจะโกรธ หรือควรจะไม่ดีอย่างเขา หรือว่าเขาไม่ดีเขาต้องได้รับผล การสะสมความโกรธ และก็จะทำให้มีกำลังที่จะประทุษร้ายเบียดเบียน หรือทำสิ่งซึ่งคิดไม่ถึงว่าจะทำได้ ก็ทำได้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 175
    13 ม.ค. 2567