พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 612


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๑๒

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒


    ท่านอาจารย์ อย่าลืมว่า การพูด พูดได้หลายเรื่อง พูดรวมๆ ก็ได้ พูดแยกให้เห็นสภาพธรรมที่มีจริงแต่ละลักษณะก็ได้ ถ้าคนที่ไม่เคยฟังธรรมเลย และคุณประทีปบอกเขาว่า กำลังเห็นสิ่งที่สามารถปรากฏให้เห็นได้เท่านั้น ตลอดชีวิต กี่ภพกี่ชาติ เห็นเกิดขึ้นก็สามารถรู้ หรือเห็นเฉพาะสิ่งที่สามารถปรากฏให้เห็นได้เท่านั้น คนนั้นจะเข้าใจไหม ถ้าไม่เคยฟังพระธรรมเลย

    ผู้ฟัง คงต้องคุยกันนานครับเขาถึงจะเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ พอพูดอย่างนี้เขาเข้าใจได้ไหม

    ผู้ฟัง เข้าใจได้

    ท่านอาจารย์ ทันทีที่พูดอย่างนี้ เขาเข้าใจได้ไหม

    ผู้ฟัง ทันทีคงไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น นี่คือความลึกซึ้งเริ่มเห็นแล้วใช่ไหม นี่คือคนที่ไม่ได้ฟังเลย แต่สำหรับคนที่ได้ฟังแล้ว วันนี้คุยกันตอนรับประทานอาหารก็ได้ สิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ ดูซิว่าฟังแล้วเข้าใจทันทีว่า หมายความถึงอะไร หรือไม่เข้าใจ กำลังรับประทานอาหารมีช้อนส้อม มีอาหารต่างๆ แล้วบอกว่า มีสิ่งที่เพียงปรากฏให้เห็นได้ พูดถูก หรือพูดผิด ฟังธรรมแล้ว และกำลังรับประทานอาหาร ขณะนั้นมีหลายสิ่งหลายอย่าง มีถ้วย มีจาน มีคน มีช้อน มีส้อม อย่างที่เราคิดว่าเป็นอย่างนั้นๆ แต่ถ้ามีใครคนหนึ่งพูดว่า มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นได้ คนที่ฟังธรรมแล้วเข้าใจได้ไหมว่า หมายความถึงอะไร

    ผู้ฟัง ถ้าผู้นั้นมีความเข้าใจ สามารถรู้ได้ว่า เป็นธรรมจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ก็ที่ถามคนที่ฟังธรรมแล้ว สามารถเข้าใจได้ไหม นี่คือเข้าใจกับรู้เรื่องไงคะ คุณประทีปจะถามถึงรู้เรื่องกับเข้าใจ จึงต้องเป็นผู้ละเอียดที่จะรู้ว่า ขณะไหนเข้าใจ ขณะไหนรู้เรื่อง เพราะฉะนั้น ขณะนี้ที่กำลังฟังเรื่องสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ อย่างเดียวที่ปรากฏให้เห็นว่า มีจริงๆ ที่ปรากฏให้เห็นเท่านั้นเอง ไม่ว่าที่ไหนก็ตาม เดี๋ยวนี้ที่นี่พูดถึงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ เข้าใจไหม

    ผู้ฟัง เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ นี่คือเริ่มเข้าใจธรรม ตัวธรรมจริงๆ ไม่ใช่เพียงจำเรื่องราว และไม่รู้อยู่ที่ไหน ทั้งๆ ที่สิ่งที่มีจริงๆ และกำลังปรากฏให้เห็นได้จริงๆ แต่ไม่ต้องไปคิดถึงคำอื่นเลยทั้งสิ้น จะต้องคิดถึงคำว่า รูปารมณ์ วัณณธาตุ นิภา หรืออะไร หรือไม่ เรียกชื่ออะไร ไม่ต้องพูดแม้คำว่า ปรากฏให้เห็นได้ ก็กำลังปรากฏอยู่แล้วว่า สิ่งนี้มีจริง เป็นธรรม เป็นธาตุ

    นี่คือฟังธรรมแล้วเข้าใจว่า เป็นธรรม ทีละเล็กทีละน้อย ไม่ใช่ให้ประจักษ์การเกิดดับ ไม่ใช่ให้หมดความสงสัย ไม่ใช่ให้หมดความติดข้อง แต่เพียงเริ่มรู้ความจริงว่า กว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะประจักษ์แจ้งความจริงนี้ ทรงบำเพ็ญพระบารมีนานเท่าไร ได้ฟังพระธรรมจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ากี่พระองค์ กว่าสามารถถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เมื่อทรงตรัสรู้แล้วก็มีพระมหากรุณาที่ทรงแสดงความจริงให้กับคนที่ตลอดชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่รู้ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม

    เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้ เข้าใจไม่ใช่จำ และไม่ใช่เพียงรู้เรื่องของสิ่งที่มี แต่สิ่งที่มีในขณะนี้ ถ้าเข้าใจแล้ว เวลาได้ยินใครบอกว่า ขณะนี้มีเพียงสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นได้ เข้าใจทันที ยังไม่พอ ยังต้องรู้เฉพาะลักษณะที่เป็นอย่างนั้นด้วย นี่คือรู้เฉพาะทีละลักษณะ ปฏิปัตติ ถึงเฉพาะลักษณะทีละอย่าง ในขณะที่กำลังพูดถึงสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นในขณะนี้ ถึงเฉพาะความจริง คือ สิ่งนี้มีจริงๆ แค่นี้ ยังมีความเป็นเรา และความไม่รู้อีกมากมาย นี่เพียงเริ่มเข้าใจความหมายว่า ฟังรู้เรื่อง ฟังเข้าใจ ฟังแล้วกำลังรู้ลักษณะที่เป็นธรรม

    นี่คือความเจริญขึ้นของความเข้าใจจากขั้นฟัง และถ้าไม่ใช้คำว่า “สติ” หรือ “ปัญญา” เลย แต่ทำไมรู้ได้ว่า ขณะนี้สิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏมีจริงๆ เพียงแค่ปรากฏให้เห็นได้ เห็นไหม ทำไมสามารถเข้าใจได้ว่า แม้สิ่งนี้ก็เป็นเพียงสิ่งหนึ่งในหลายๆ สิ่ง ในสิ่งทั้งหมดที่มี เช่น แข็งก็มี เสียงก็มี แต่ไม่ได้ปรากฏให้เห็นได้เลย

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริงแต่ละอย่างก็มีลักษณะเฉพาะของตนๆ เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เกิดเป็นอย่างนั้นแล้วก็ดับไปทันที

    นี่คือเราไม่ต้องคิดเรื่องอื่นเลยทั้งหมด ไม่ต้องคิดถึงชื่อมากมาย แต่เริ่มเข้าใจก่อนในลักษณะของสิ่งที่มีจริง ถ้าเป็นท่านพระสารีบุตรฟังท่านพระอัสชิพูดถึงธรรม ท่านสงสัยไหม ต้องเป็นสิ่งที่กำลังมีจริง เกิดแต่เหตุ ถ้าไม่มีเหตุให้เกิดก็เกิดไม่ได้ เพราะท่านสะสมมาที่จะเข้าใจในความเป็นอนัตตา ในความเป็นธรรม แต่ผู้ที่ฟังแล้วยังไม่ถึงความเข้าใจ เพียงแต่จำเรื่อง หรือรู้เรื่อง ก็ต้องรู้ความจริงว่า แม้ฟังรู้เรื่อง และเข้าใจด้วยว่า ขณะนี้สิ่งที่มีแต่ละอย่าง มีเพราะปรากฏว่ามีจริงๆ เช่น แข็ง ทีนี้ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตาแล้ว แข็งมีจริงไหม

    ผู้ฟัง มีจริง

    ท่านอาจารย์ ฟังเข้าใจ รู้เรื่อง หรือรู้ลักษณะแข็ง

    ผู้ฟัง ฟังรู้เรื่อง และเข้าใจ ขอถามว่า ฟังธรรมรู้เรื่อง และเข้าใจเหมือนคนละอย่างกัน แต่ความรวดเร็วเหมือนไม่พรากจากกัน มาพร้อมๆ กัน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เราฟังเฉพาะสิ่งที่กำลังฟังให้เข้าใจ ไม่ไปคิดเอง คิดเองแล้วยุ่งแน่ๆ ถ้ากำลังฟังแล้วเข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง ไม่ใช่เพียงรู้เรื่อง แต่สามารถเข้าใจ และรู้เฉพาะลักษณะของสภาพธรรมทีละอย่างด้วย ถ้าสะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก พอจะรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนี้ด้วย

    เพราะฉะนั้น ไม่ควรคิดเรื่องอื่นในขณะที่กำลังฟัง ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ถูกต้องครับ

    ท่านอาจารย์ ในขณะนี้มีแข็ง หรือไม่มี

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ รู้เรื่อง หรือเข้าใจ

    ผู้ฟัง รู้เรื่องด้วย เข้าใจด้วย

    ท่านอาจารย์ รู้เฉพาะลักษณะแข็ง หรือยัง

    ผู้ฟัง ยัง

    ท่านอาจารย์ นี่คือความต่างกันว่า ธรรมมีจริงๆ แม้ฟังรู้เรื่อง และเข้าใจ แต่ก็ไม่รู้ลักษณะนั้นด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องว่า เป็นสิ่งที่เรากำลังพูดถึงทั้งหมด ไม่ว่าจะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็เป็นสิ่งที่มีเดี๋ยวนี้ที่กำลังพูดถึง แต่เป็นเรากำลังฟัง และเข้าใจเพียงแค่เรื่องราว หรือกำลังเข้าใจสภาพธรรม หรือกำลังรู้เฉพาะลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังพูดถึงทีละอย่าง ด้วยการเริ่มเข้าใจถูกต้องว่า นั่นคือธรรมตัวจริง จึงมีเรื่องของธรรมนั้นมากมายเหลือเกิน เพราะไม่รู้มาก สงสัยไปหมด จึงต้องฟังมาก จึงจะเข้าใจเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง นัยนี้เองที่อาจารย์วิชัยช่วยอธิบายว่า การรู้เรื่องราวกับเข้าใจนั้นต้องเป็นความเข้าใจของที่ผู้ฟังธรรมเอง ซึ่งแต่ละคนไม่เหมือนกัน ในขณะที่ผมกำลังตั้งฟังธรรมจากท่านอาจารย์ แต่มีเสียงโทรศัพท์ดัง ทันทีอกุศลจิตเกิดอย่างแรง แล้วก็ว่าไม่น่าทำอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ อกุศลจิตเกิดอย่างแรง พอเข้าใจได้ แต่ไม่น่าจะทำอย่างนี้ หมายความว่าอย่างไร ลืมหมดเลยตั้งแต่คำแรกว่า “ธรรม” ลืมว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ถ้ารู้ว่า เป็นธรรมก็ดี ไม่มีใคร ต่างคนก็สะสมมาอย่างนั้น คิดอย่างนี้ได้ก็สบาย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ความรู้ไม่พอ อย่างไรๆ ก็ไม่พอ จนกว่าจะเข้าใจขึ้นจริงๆ แล้วรู้เฉพาะลักษณะของธรรมทีละเล็กทีละน้อยจนมั่นคง

    ผู้ฟัง มีคำถามต่อ การฟังรู้เรื่อง เรื่องธรรมกับฟังเข้าใจธรรม ดูเหมือนว่าต้องฟังให้รู้เรื่อง เรื่องธรรมก่อนจึงจะสามารถเข้าใจธรรมได้ อย่างนั้น หรือไม่

    ท่านอาจารย์ แน่ใจหรือว่าเป็นอย่างนั้น บางคนรู้เรื่องเยอะมาก แทบจะท่องได้หมดเลย แต่เข้าใจ หรือไม่ว่า เดี๋ยวนี้เป็นธรรม

    ผู้ฟัง แต่ถ้าฟังไม่รู้เรื่อง

    ท่านอาจารย์ รู้ชื่อ รู้จำนวน รู้เรื่อง รู้คำ แต่เข้าใจ หรือไม่ว่า เป็นธรรม

    ผู้ฟัง เท่าที่ทราบท่านอาจารย์ก็สอนเรื่องจิต ๘๙ รูป ๒๘ แต่ให้ทราบธรรมคือเดี๋ยวนี้ ขณะนี้

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีคนบอกว่า สติปัฏฐานมี ๔ จำได้หมดเลย กายานุปัสสนาสติปัฏฐานกี่บรรพ แต่ละบรรพมีอะไรบ้าง เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน พูดได้หมด ทั้งภาษาไทย ภาษาบาลี เข้าใจธรรมหรือไม่ มีผู้บอกว่าสติปัฏฐานพูดไม่กี่นาทีก็จบ ลองดูซิคะว่า กี่นาที เอามาอ่านจับเวลาเลยว่ากี่นาที จบแล้ว เข้าใจอะไร หรือไม่

    ผู้ฟัง นั่นหมายความว่าอาจจะรู้เรื่อง แต่ไม่เข้าใจเรื่องของความจริงที่มีในขณะนี้

    ท่านอาจารย์ เรื่องของธรรม ถ้าไม่มีธรรม อะไรก็ไม่มี เพราะฉะนั้น ฟังธรรม ศึกษาธรรม รู้เรื่องธรรม ต้องหมายความถึงเรื่องของธรรมซึ่งมีตัวธรรมจริงๆ เพราะฉะนั้น ผู้นั้นก็จะรู้ได้ว่า เพียงรู้ชื่อ รู้เรื่อง หรือรู้ตัวธรรมจริงๆ

    ผู้ฟัง เราก็จะไปคิดแต่ละทาง

    ท่านอาจารย์ กำลังนั่งคิดแต่ละทาง ทางตาเห็นก็ไม่รู้ กำลังนั่งคิดแต่ละทาง ทางหูเสียงปรากฏก็ไม่รู้ ไปนั่งคิดแต่ละทาง ทั้งๆ ที่แต่ละทางปรากฏชั่วขณะที่เกิดแล้วดับเร็วมาก แต่นี่แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่มีจริงเกิดแล้วดับแล้วด้วยความไม่รู้ เหมือนไม่ปรากฏ จึงสงสัยว่าแต่ละทางนั้นเป็นอย่างไร เห็นไหมทั้งๆ ที่ก็ปรากฏ กำลังคิดว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างไร ก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้ว แล้วเสียงที่ปรากฏ หรือสิ่งที่ปรากฏทางหูเป็นอย่างไร ในขณะที่มีเสียง แต่ไปนั่งคิดโดยไม่รู้เสียงที่กำลังปรากฏ ลักษณะนั้นเป็นธรรม

    นี่ถึงมีคำถามว่า รู้เฉพาะเรื่องราว หรือเข้าใจ หรือถึงเฉพาะลักษณะชองสภาพธรรมด้วยปัญญาที่เข้าใจในความเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ได้เข้าใจเพิ่มว่า ถ้ามัวไปคิดอย่างนั้นก็ไม่รู้สภาพธรรมที่ปรากฎ

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ก็มีสิ่งที่ปรากฏ แล้วไปสงสัยเสียด้วยว่าเป็นอย่างไร กำลังมีอย่างนั้นแท้ๆ จะให้คุณอรวรรณอธิบายเสียงที่ปรากฏแล้วดับไป จะใช้คำอะไรอธิบาย

    ผู้ฟัง คือตัวธรรมไม่มีอะไรอธิบาย ลักษณะเป็นอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ จะเอาอะไรไปอธิบายไม่ได้ เพราะปรากฏกับจิตได้ยิน จิตอื่นไม่มีทางที่จะได้ยินอย่างนั้น เพียงแต่จำแล้วคิดเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง ทุกอย่างเกิดจากเหตุปัจจัย และเป็นอนัตตา ดังนั้นในการดำเนินชีวิตประจำวันก็ต้องมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ก็ต้องน้อมไปที่จะระลึกแบบนี้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่มีกฎเกณฑ์เลย เข้าใจธรรม ถ้าเข้าใจจริงๆ จะมานั่งคิดไหมว่า ทางหูเป็นอย่างไร ทางตาเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง ก็ทราบว่า การเพ่งเล็งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ ถูก หรือไม่ถูก เกิดแล้ว แต่รู้ไหมว่าเป็นธรรม ทั้งหมดที่ได้ฟังไม่ต้องห่วงใยกังวลอะไรเลยทั้งสิ้น จะควรไม่ควร จะต้องไม่ต้อง เข้าใจธรรมว่าเป็นธรรม แล้วเกิดแล้วด้วย ไม่มีใครไปทำ ไม่ต้องเดือดร้อน เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างอื่นไม่ได้แล้ว เพราะเกิดแล้วเป็นอย่างนั้นแล้ว กำลังเดือดร้อนเรื่องอะไร หรือไม่ ห้ามไม่ได้ มีปัจจัยเกิดแล้ว ดับแล้ว ดับแล้วยังกังวล ยังเยื่อใย ก็เลยไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ขอสนทนากับอาจารย์คำปั่น ขอให้อธิบายความรู้ ๓ อย่าง รู้ด้วยสัญญา รู้ด้วยวิญญาณ รู้ด้วยปัญญา

    อ.คำปั่น ก็เป็นความจริงอย่างนั้น เพราะโดยสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม ก็เป็นสภาพรู้อยู่แล้ว ทีนี้ก็ขึ้นอยู่ว่า รู้โดยสภาพธรรมอะไร อย่างจิตก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ เพราะว่าลักษณะของจิตก็คือ วิชชานนลักขณัง มีลักษณะรู้แจ้งซึ่งอารมณ์ หรือรู้แจ้งซึ่งอารมณ์เป็นลักษณะ เมื่อจิตเกิดขึ้นก็ต้องรู้อารมณ์ ไม่มีจิตประเภทที่เกิดขึ้นแล้วจะไม่รู้อารมณ์ อันนี้คือรู้โดยความเป็นจิต คือเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์นั้น เช่น ขณะเห็น จักขุวิญญาณเกิดขึ้นทำเพียงกิจเดียว คือ ทัสนกิจ คือ รู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเท่านั้น แล้วก็ดับไป อันนี้คือรู้โดยวิญญาณ หรือรู้โดยจิตนั่นเอง อย่างที่ ๒ คือ รู้โดยสัญญา มี ญา อยู่ข้างหลัง หมายถึงรู้ สัญญาเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นเจตสิกประเภทหนึ่งที่เป็นสภาพธรรมที่จำในอารมณ์ที่กำลังปรากฏ และที่สำคัญก็คือเจตสิกประเภทนี้ต้องเกิดกับจิตทุกประเภทอยู่แล้ว ประการที่ ๓ รู้โดยปัญญา ปชานนัง คือ รู้ทั่ว รู้ชัด ซึ่งก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นรู้สภาพธรรมที่กำลังมี กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

    อันนี้เป็นลักษณะการรู้ ๓ อย่าง รู้โดยวิญญาณ คือโดยจิต รู้โดยสัญญา และโดยปัญญา

    อ.นิภัทร พึ่งตัวเองน่าจะดี ทำไมต้องวิตกกังวล รู้ว่าตัวเองไม่ดี จะได้แก้ไข ส่วนที่เสียหายอยู่นั้น คือไม่รู้ว่า ตัวเองไม่ดี นึกว่าดีหมด สิ่งที่ตัวทำ คำที่ตัวพูดดีหมด ถ้าเห็นคนชี้โทษ ชี้ความผิดของเรา ให้นึกว่า คนนั้นเขาบอกขุมทรัพย์ ควรคบคนอย่างนั้น เพราะคบคนอย่างนั้นมีแต่ดี ไม่มีเสีย คือคนเราโดยมากมักไม่รู้ว่า ตัวเองบกพร่อง คิดว่าตัวเองเก่ง ดี ทั้งๆ ที่ไม่เก่ง ไม่ดี ก็ว่าดี พูดผิดก็ว่าถูก ที่โลกเดือดร้อนก็เพราะอย่างนี้ คนอื่นผิดหมด เราเท่านั้นถูก หรือพวกอื่นผิด พวกเราถูก มันก็เสียหาย เพราะปุถุชนจะดีทั้งแท่งไม่มี จะเสียทั้งหมดก็ไม่มี มีทั้งดีบ้าง เสียบ้าง ส่วนที่ดีเราก็เอาไว้ ส่วนที่เสียก็ทิ้งไป ก็เท่านั้นเอง ขณะนี้ที่ตัวเรามีอะไรบ้าง ธรรมไม่ได้อยู่ที่หนังสือ อยู่ที่เรา ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง ให้เข้าใจธรรม อย่าไปอ่านแต่หนังสือ อ่านหนังสือมีความมุ่งหมายที่ชี้บอกว่า ธรรมอยู่ที่นี่ อย่าไปหาที่อื่น จะหาที่อื่นจะไม่เจอ เพราะความจริงปรากฏในชีวิตประจำวันของเรา

    อ.ธีรพันธ์ เมื่อวานสนทนาเรื่องธรรมที่บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า การเพ่งโทษผู้อื่นทำให้อาสวะของผู้เพ่งโทษผู้อื่นเจริญ เพราะมัวมองหาอกุศลของคนอื่น แต่ไม่เห็นอกุศลของตัวเอง ไม่ทราบว่าขณะนั้นอกุศลเกิดขึ้นแล้วโดยไม่รู้ตัว และเป็นอาสวะที่หมกดองเพิ่มขึ้นๆ อันนี้คือการเพ่งโทษผู้อื่น แต่ผู้เห็นโทษของตัวเอง พยายามขัดเกลา ก็จะเจริญในธรรมวินัย เพราะกิเลสไม่ได้อยู่ที่คนอื่น แต่เกิดกับผู้นั้นเอง ธรรมที่ควรพิจารณาเนืองๆ คือ เราย่อมติเตียนตนเองได้โดยศีล หรือไม่ อีกประการหนึ่ง เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายผู้เป็นวิญญูชนพิจารณาแล้ว ติเตียนเราได้โดยศีล หรือไม่ การขัดเกลานอกจากติเตียนหาโทษของตนเองแล้ว ท่านผู้รู้มีปัญญาเห็นโทษของผู้นั้น ก็รับฟังคำชี้แนะ คำเตือนของผู้มีปัญญา เพราะคิดว่าไม่มีความไม่ดี แต่จริงๆ แล้วมองไม่เห็น ต้องรับฟัง และพิจารณา


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 175
    11 มี.ค. 2567