พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 630


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๓๐

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓


    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีสภาพที่รู้เกิดขึ้นคิด ความคิดใดๆ ก็ไม่มี แต่คิดแล้วก็ดับทุกอย่างเกิดขึ้นแล้วก็ดับ นี่เป็นสิ่งซึ่งละเอียด และก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้นตามลำดับ มิฉะนั้น แล้วเราก็จะศึกษาแล้วเราก็ไปคิดว่าอยู่ในหนังสือ หรือว่าเทวดามาทูลถามแล้วพระผู้มีพระภาคก็ตรัสตอบ แต่ในขณะนั้นเป็นจิตที่กำลังคิดเรื่องเทวดา และกำลังคิดเรื่องพระผู้มีพระภาคตรัสตอบเทวดาว่าอย่างไร โดยที่ไม่มีเราแต่ขณะนั้นก็เป็นจิตที่คิด และในขณะนั้นก็มีจิตที่เห็น เพราะฉะนั้น จิตก็หลากหลายมาก แต่ไม่ใช่ของใครเลยจิตแต่ละขณะ แต่ละประเภทที่มีจริงๆ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นการศึกษาเรื่องจิตอย่างละเอียด จะเข้าใจคน หรือว่าเข้าใจจิต

    ผู้ฟัง ต้องเข้าใจจิต

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจจิต เมื่อคืนนี้หลับสนิทเป็นคน หรือว่าเป็นสัตว์ หรือเป็นสุนัข หรือเป็นแมว สภาพที่หลับสนิทเป็นคนไม่ได้เป็นสัตว์ไม่ได้ พอตื่นขึ้นมามีเห็น เห็นเป็นคน หรือเป็นสัตว์ ก็เป็นธรรมคือเป็นจิตซึ่งไม่ใช่ขณะที่หลับสนิท แต่เป็นขณะที่ตื่น เราใช้คำว่าตื่นตามภาษาที่เราสามารถที่จะเข้าใจได้ แต่ถ้าไม่มีจิตไม่มีหลับไม่มีตื่น แต่เพราะมีจิตหลับก็เป็นจิต ตื่นก็เป็นจิต ไม่ใช่ใครเลยตามเหตุตามปัจจัย ทุกคน ต้องใช้คำที่ทุกคนเข้าใจอยู่เพราะว่ามีจิตซึ่งต่างประเภทเป็นทั้งคนทั้งสัตว์แต่ละคนไป หลับแล้วใช่ไหม หลับก็หลับแล้ว สัตว์ก็หลับแล้ว ตื่นขึ้นที่ใช้คำว่ามนุษย์ หรือคนก็ตื่นเพราะเป็นจิต สัตว์ตื่นไหม ก็ตื่น เหมือนกัน หรือต่างกัน จิต พูดถึงจิต จิตต้องเป็นจิต จะเป็นอื่นไปไม่ได้ จิตที่หลับไม่ว่าที่ไหนทั้งสิ้น หมายความถึงขณะนั้นไม่มีโลกปรากฏ ไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่มีการคิดนึกใดๆ เลยทั้งสิ้น ใช้คำว่าหลับเพราะว่าไม่รู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด โลกไม่ปรากฏขณะใดก็ตามที่หลับสนิท ไม่ว่าใคร พระอรหันต์หลับสนิทไหม มีไหม มี มนุษย์ธรรมดาคนที่เป็นโจรผู้ร้าย หรือว่าจะเป็นใครก็ตามแต่หลับสนิท หลับก็คือหลับ ไม่ใช่ใคร นี่คือการศึกษาธรรมซึ่งเป็นธาตุ หรือเป็นจิตซึ่งเป็นธรรมที่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร แต่ว่าถ้าปัญญาไม่รู้อย่างนี้ ก็หลงยึดถือสภาพธรรมซึ่งแม้เกิดดับก็ไม่รู้ว่าเกิดดับ ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดว่าเที่ยง เป็นบุคคลต่างๆ สัญชาติต่างๆ หรือว่าเป็นสัตว์เป็นมนุษย์ต่างๆ พูดถึงจิตต้องเป็นจิตไม่ว่าใครทั้งสิ้น มนุษย์ตื่นสัตว์ตื่น เห็นเกิดเป็นคน หรือเป็นสัตว์ ถ้ากล่าวถึงจิตเป็นจิตเห็น เมื่อมีปัจจัยก็เกิดขึ้นรู้สิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น ว่าขณะนี้สิ่งที่ปรากฏให้เห็นเป็นอย่างนี้ ไม่ต้องเรียกอะไรทั้งสิ้น แต่รู้ว่าเป็นสิ่งที่มีจริงๆ และปรากฏได้เมื่อจิตเกิดขึ้นเห็นแล้วก็ดับไป เสียงปรากฏจิตที่ได้ยินเสียง ถ้าไม่มีจิตที่ได้ยินเสียงปรากฏไม่ได้เลย สัตว์ได้ยินเสียงไหม ได้ยิน คนได้ยินไหม ได้ยิน ต่างกันไหม จิตไม่ต่างเพราะว่าถ้าเป็นจิตเห็นเหมือนกันหมดไม่ว่าจิตเห็นของใคร ถ้าเป็นจิตได้ยินก็เหมือนกันอีก แต่ความต่างก็คือว่าผู้ที่เกิดเป็นมนุษย์เป็นจิตที่ต่างประเภทกันกับสัตว์เดรัจฉาน และยังต่างประเภทอีกมากมายเพราะว่าไม่ได้มีจิตแต่เฉพาะในโลกนี้ ที่อื่นๆ ยังมีอีกมาก มีทั้งสวรรค์ มีทั้งนรก มีทั้งเปรตล้วนแต่เป็นจิตที่เกิดขึ้นในที่นั้นๆ แต่ความเป็นจิตไม่ได้ต่างกันเลย ตามประเภทของจิตนั้นๆ ที่เกิดขึ้น จะเห็นที่โลกมนุษย์ หรือจะเห็นที่โลกไหน เห็นมีปัจจัยเกิดขึ้นเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเห็นแล้วก็ดับไป นี่คือการศึกษาพระธรรมศึกษาสิ่งที่มีจริง ให้เข้าใจความจริงว่าเป็นธรรมที่มีปัจจัยเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น กว่าจะรู้จริงๆ ว่าไม่ใช่เราเป็นแต่เพียงชั่วขณะที่แสนสั้นของสิ่งที่เกิดเพราะมีปัจจัยแล้วก็ดับไปทุกๆ ขณะอย่างเร็วที่สุดตั้งแต่เกิดจนตาย ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้จะรู้จักพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม เพราะคนอื่นไม่สามารถที่จะแสดงความจริงอย่างนี้ได้เลยซึ่งสามารถที่จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น และก็สามารถที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่มี แต่ละคนมีความสนใจที่จะศึกษาวิชาต่างๆ แต่นี่มีสิ่งที่มีจริงๆ แล้วศึกษาได้แล้วสามารถที่จะเข้าใจได้ และรู้ความจริงได้ ควรแก่การศึกษาไหม ควรแก่การที่จะเข้าใจให้ถูก และรู้ยิ่ง เพราะเหตุว่าจิตหลากหลายประเภทมาก ไม่ใช่มีแต่จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และจิตคิดนึก จิตคิดนึกหลากหลายมาก แต่ละคนก็ต่างคนต่างคิด มนุษย์กับสัตว์ คิดเป็นคิด หรือเปล่า เห็นไหมแค่คิด แต่ความหลากหลายของความคิดของมนุษย์กับความคิดของสัตว์ต่างกันมากไหม คนที่เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ไม่ใช่สัตว์เดรัจฉาน มีเสียงปรากฏสามารถที่จะเข้าใจเสียงมากมายเหลือเกินใช่ไหม แต่สัตว์สามารถเข้าใจได้เพียงเล็กน้อยไม่เหมือนมนุษย์ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ความจำของมนุษย์ซึ่งเป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งไม่ใช่จิตแต่เกิดกับจิตเป็นสภาพที่จำ ถ้าศึกษาธรรมโดยละเอียดแต่ละอย่างเป็นแต่ละอย่าง จำไม่ใช่จิต จำเกิดเมื่อไรก็มีหน้าที่อย่างเดียวคือจำ ไม่ทำหน้าที่อื่นเลยเช่นเดียวกับโลภะความติดข้อง เกิดเมื่อไหร่ที่ไหนกับใคร เปลี่ยนสภาพของความติดข้องให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย ไม่ว่าคน ไม่ว่าสัตว์ ไม่ว่าใคร โลภะเกิดเมื่อไหร่ก็ทำหน้าที่นั้น เพราะฉะนั้น สภาพธรรมเมื่อศึกษาแล้วก็จะรู้ความหลากหลายความต่างกันโดยละเอียดยิ่ง แม้แต่ความจำก็หลากหลายต่างกัน มนุษย์ก็จำได้มาก แม้แต่เสียงกี่เสียง กี่เสียงสามารถที่จะจำเป็นภาษาต่างๆ ได้ หลากหลายมาก และคนเดียวที่เกิดมาแล้วก็จำๆ พอได้ยินภาษาหนึ่งก็จำๆ พอได้ยินอีกภาษาหนึ่งก็จำๆ มีความสามารถในการจำเสียง และเข้าเสียงที่จำ แต่ถ้าเป็นสัตว์เดรัจฉานได้ยินเสียงอะไรบ่อยๆ ก็จำได้ใช่ไหม เจ้าของเป็นคนไทยพูดภาษาไทย สุนัข หรืออะไรก็ตามแต่ที่พอจะจำได้ ก็สามารถที่จะจำได้ในภาษานั้น แต่ถ้าไปพูดภาษาอื่นก็ไม่สามารถที่จะจำได้ แต่ถ้าเจ้าของใช้ภาษาอื่น และให้เขาคุ้นเคยบ่อยๆ ก็จำได้ เพราะฉะนั้น จิตหลากหลายมากมายแต่จิตเป็นจิต ไม่ใช่ของใคร และก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ถ้ามีความสามารถที่จะมีความเห็นถูก ว่าจิตเป็นสิ่งที่มีจริงแล้วก็เข้าใจขึ้นในความเป็นอนัตตาไม่ใช่ของใคร ก็จะรู้จักพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริงโดยละเอียด พูดถึงโลภะความติดข้อง มีใครไม่มีบ้างไหม สัตว์มีไหม ในนรกมีไหม ก็ต้องมี ธรรมเป็นธรรม แต่ความต่าง เห็นไหม ยิ่งมีความจำมากเท่าไหร่ ความติดข้องยิ่งมากมายมหาศาล เป็นวิชาการต่างๆ มากมาย สัตว์ทำอย่างนั้นได้ไหม มีความติดข้องเพียงทางตาเห็นเจ้าของก็ดีใจ ทางหูได้ยินเสียง ทางจมูกได้กลิ่นแน่นอนเหมือนกัน ลิ้นก็ลิ้มรส ถ้ารสนั้นกระทบกับลิ้นไม่ว่าลิ้นใครเปลี่ยนลักษณะของรสได้ไหม ไม่ได้ รสนั้นเอง แล้วเราบอกว่าสุนัขลิ้มรสนั้น มนุษย์ลิ้มรสนั้นแต่รสไม่เปลี่ยน รสเป็นรส และจิตที่ลิ้มรสจะไปรู้อื่นไม่ได้เลยนอกจากรู้รสที่กำลังปรากฏ แต่หลังจากเห็นแล้ว ได้ยินแล้วความต่างหลากหลายมาก เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นถึงว่าขึ้นอยู่กับจิตที่มีมากมายหลายประเภท เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมก็เริ่มจากการที่รู้ว่าเป็นสิ่งที่มีจริง และสิ่งที่สามารถจะรู้เป็นธาตุรู้ได้ สามารถจะรู้ได้เป็นใหญ่เป็นประธาน สามารถที่จะได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรสก็กำลังมีอยู่ในขณะนี้ ไม่ใช่ของใครเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ศึกษาละเอียดขึ้นก็จะเห็นว่าเป็นความจริงอย่างนั้น

    ผู้ฟัง ในผู้เริ่มศึกษาแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรคือคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า และตรงตามความเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ โดยมากทุกคนจะกล่าวถึงผลให้ไม่มีกิเลส กิเลสเป็นสิ่งที่ไม่ดี ทำให้เกิดความทุกข์ต่างๆ การเบียดเบียนประทุษร้ายต่างๆ แต่ไม่ได้บอกว่าคืออะไร เพราะฉะนั้น แทนที่จะพูดถึงสิ่งซึ่งกำลังมีแต่ไม่รู้ และไปให้ทำให้คิดอะไรต่างๆ ก็ไม่มีทางที่คนนั้นจะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่าแท้ที่จริงแล้วเกิดแล้วต้องตาย อยู่ในโลกไหนก็ตลอดไปไม่ได้เลย แต่ก่อนจะตายทำอะไรบ้าง มีความรู้ความเข้าใจอะไร หรือเปล่า มีสุขมีทุกข์ มีดีมีชั่วแล้วก็จากโลกนี้ไป โดยไม่รู้อะไรเลย แล้วก็ไปเพียรคิดว่ามีเราที่จะต้องเป็นคนดี ที่จะต้องบังคับจิตที่จะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ก็เป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าใครจะบังคับสภาพธรรมที่เกิดแล้ว เกิดแล้วเป็นอย่างนี้ อย่างได้ยิน เกิดได้ยิน ได้ยินแล้วใครจะไปบังคับได้ยินซึ่งเกิดแล้ว ได้ยินได้ หรือก่อนได้ยิน ใครจะไปบอกให้ได้ยิน โดยที่ได้ยินไม่เกิดขึ้น ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น การที่จะเข้าใจถูกต้องก็คือว่า มีธรรมที่เกิดแล้วทั้งหมด ที่ปรากฏตามเหตุตามปัจจัย บังคับบัญชาไม่ได้ จะบังคับบัญชาอะไร เกิดแล้วดับแล้ว เพราะฉะนั้น จะให้ทำอะไรนอกจากเข้าใจให้ถูกต้องว่าเป็นธรรมซึ่งมีจริงแล้วไม่ใช่ของใครด้วย เป็นไปตามลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ เพราะฉะนั้น เกิดเป็นมนุษย์ต่างกับเกิดเป็นสัตว์ไหม ต่างกันที่ไหน ถ้าเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วมีโลภะ โทสะ โมหะ ทุกวันๆ ต่างกับสัตว์ไหม ไม่ต่างกันเลยเอารูปร่างออก ใจของแต่ละคนกำลังเป็นอกุศลเหมือนกันหมดเลยไม่ว่าใคร สัตว์เดรัจฉานก็มีอกุศล แล้วจะบอกว่าคนดีกว่าสัตว์ในขณะที่อกุศลจิตเกิดได้ไหม ในขณะนั้นไม่ได้ ธรรมต้องตรง อกุศลเป็นอกุศล ถ้ามีเมตตาเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่ต่างกับอกุศลใช่ไหม เป็นของใคร หรือเปล่า เกิดแล้วเป็นเมตตาแล้ว แล้วก็ดับแล้วด้วย นี่คือความจริง เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริงซึ่งแสดงความไม่เที่ยงตั้งแต่เกิดจนตายแต่ละขณะเกิดแล้วก็ดับแล้วไม่กลับมาอีก เป็นอย่างนี้ตลอดตั้งแต่เกิดจนตาย สิ่งต่างๆ มีจริงเพียงชั่วคราวสั้นมากแล้วก็จากไป จำไม่ได้เลยสักอย่างเดียวเหมือนชาติก่อน รู้จักใครบ้างที่นี่ มีคนที่กำลังปรากฏขณะนี้ หรือยัง ชาติก่อน ยังไม่มีเลย แต่มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดเป็นอย่างนี้ฉันใด จากโลกนี้ไป ยังไม่จากก็ยังไม่มีปัจจัยที่จะให้เกิดเป็นคนอื่น คนใหม่ที่ไม่ใช่คนนี้ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ต้องมีจิตขณะสุดท้ายของชาตินี้เกิดแล้วดับ จึงจะเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น ที่ไหนก็แล้วแต่ปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น แต่ไม่มีอะไรที่จะเป็นอย่างนี้เหมือนในชาตินี้อีกเลย เพราะฉะนั้น นี่ก็คือธรรมซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปอย่างนี้ตามเหตุตามปัจจัย นานแสนนานในสังสารวัฏฏ์ ไม่ว่าจะเป็นข้อความใดในพระไตรปิฏกก็ได้กล่าวถึงเรื่องความไม่เที่ยง ในอดีตก่อนสมัยพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ ก่อนๆ ไปอีกก็กล่าวถึงสิ่งที่มีจริง และจากขณะนี้ก็จะไปสู่ขณะต่อไปอีกนานแสนนาน ก็คือว่าเป็นธรรมซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบัญชาได้

    ผู้ฟัง ดูเหมือนว่าถ้าไม่ฟังให้เข้าใจ หรือว่าเห็นความลึกซึ้งตรงนี้ว่าความเป็นอนัตตา ความจริงเป็นอย่างไรก็ศึกษาเช่นนั้น ว่าทุกอย่างเป็นอนัตตา ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แต่พอฟังเสร็จก็มีตัวตนไปทำ ถ้าเข้าใจจริงๆ ไตร่ตรองจริงๆ ก็สามารถแยกได้ว่าอันนั้นใช่ธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงให้สาวก หรือผู้ฟัง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ธรรมไม่ใช่สำหรับฟังแล้วเชื่อ แต่ฟังแล้วพิจารณาก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่ากำลังพูดถึงสิ่งที่มีจริงๆ และกำลังเริ่มเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงนั้น หรือเปล่า ค่อยๆ เข้าใจขึ้นมากน้อยแค่ไหน แต่ต้องไม่ลืมว่าธรรมเป็นจริงเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ไม่ใช่ว่าวันนี้เป็นอย่างนี้ และต่อไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง ความจริงต้องเป็นความจริง โดยตลอด

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์บอกว่าฟังก็ฟังไปเรื่อยๆ ฟังเท่าไรก็ไม่พอ เข้าใจเท่าไรก็ไม่พอ จนกว่าจะถึงรู้ลักษณะสิ่งที่ปรากฏก่อนจึงจะกล่าวได้ว่าพอแล้ว

    ท่านอาจารย์ ยัง ต้องถึงความเป็นพระอรหันต์

    ผู้ฟัง คืออาจจะเป็นเพราะว่าที่นี่สอนว่าให้รู้ว่าลักษณะธรรมเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ ก็ค่อยๆ เข้าใจไป ค่อยๆ ฟังไป แต่ถ้าที่อื่นเขาให้ดู ให้เห็นเลยลักษณะที่ปรากฏขณะนั้น โดยที่ไม่ได้สนใจว่าจะเป็นตัวตน หรือไม่เป็นตัวตนก็คิดว่าเห็นได้ก็ให้ดูอย่างนี้ หรือเปล่า ก็ทำให้รู้สึกแตกต่างกัน ที่นี่ช้า

    ท่านอาจารย์ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษาเพื่ออะไร เพื่อให้เข้าใจ เพราะฉะนั้น ถ้าสภาพธรรมขณะนี้กำลังมีแล้วไม่เข้าใจ แล้วไปทำอะไร ขอประทานโทษ ผู้ฟังมีสิทธิ์ที่จะฟังแล้วคิด แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องเชื่อ เพราะฉะนั้น ใครจะพูดอะไรก็ฟังแล้วพิจารณาให้เข้าใจในเหตุผล

    ผู้ฟัง ฟังให้เข้าใจ ช้า ทีละน้อย ทีละน้อย

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อน ที่ว่าช้าหมายความว่าต้องการอะไร รีบไปไหน

    ผู้ฟัง ต้องการเห็นผลอย่างเร็ว

    ท่านอาจารย์ เห็นผลคืออะไร

    ผู้ฟัง เห็นผลคือเห็นลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ก็มีลักษณะกำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง แต่ท่านอาจารย์สอนไม่ให้ทำ ให้เข้าใจใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อน แล้วคุณวรศักดิ์ทำซิ

    ผู้ฟัง เพราะว่า คิดว่าทำไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ทำไม่ได้แต่ค่อยๆ เข้าใจได้ไหม

    ผู้ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ แน่นอนยิ่งฟังก็ต้องเข้าใจได้ทีละน้อยๆ

    ท่านอาจารย์ รู้จักคำว่า "อวิชชา" ไหม เคยได้ยินไหม คำนี้

    ผู้ฟัง ความไม่รู้

    ท่านอาจารย์ แล้ววิชชา

    ผู้ฟัง ความรู้

    ท่านอาจารย์ อวิชชาไม่รู้อะไร

    ผู้ฟัง ไม่รู้อะไร

    ท่านอาจารย์ ไม่รู้แม้สิ่งที่กำลังปรากฏ ก็ไม่รู้ แล้ววิชชารู้อะไร

    ผู้ฟัง รู้สิ่งที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ วิชชาจะไปรู้สิ่งที่ไม่ปรากฏได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แล้วอวิชชาจะไปไม่รู้สิ่งที่ไม่ปรากฏได้ไหม

    ผู้ฟัง อวิชชาก็ไม่รู้อยู่แล้ว สิ่งที่ไม่ปรากฏอย่างไรก็ไม่รู้อยู่แล้ว

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น มีสิ่งที่ปรากฏ อวิชชาคือไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ วิชชาคือมีความเห็นถูกต้อง ไม่ใช่ให้ไปดูอะไร ดูก็เห็น ทางตาก็กำลังเห็นมีสิ่งที่ปรากฏแล้วเข้าใจอะไร รู้ หรือเปล่าว่าสิ่งที่ปรากฏคืออะไร และเห็นขณะนี้ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏ เกิดขึ้นได้อย่างไร ไม่ใช่ให้ไปไม่รู้อะไรแล้วไปทำอะไร ให้ไม่รู้ต่อไป

    ผู้ฟัง ก็ให้ดูก็ดูได้ แต่ก็ไม่เข้าใจอะไร

    ท่านอาจารย์ ดูอะไร ไม่เข้าใจก็ไม่มีประโยชน์ พระธรรม ๔๕ พรรษาที่ทรงแสดงเพื่อให้เข้าใจ

    ผู้ฟัง ต่างกันก็คือตรงที่ปัญญาใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ มิฉะนั้น จะพูดเรื่องเห็นทำไม ในเมื่อกำลังเห็น มีเห็นจริงๆ พูดเรื่องเห็นให้เข้าใจความจริงของเห็น มีได้ยิน มีเสียง พระไตรปิฎกทั้งหมดก็พูดเรื่องเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทุกอย่างที่มีจริงให้มีความเห็นที่ถูกต้องว่าเป็นธรรมแต่ละอย่าง มีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างเร็ว จนกระทั่งไม่สามารถที่จะเห็นการเกิดขึ้น และดับไปได้ ไม่ประจักษ์ ไม่แทงตลอดสภาพธรรมขณะนี้ ซึ่งเห็นไม่ใช่ได้ยิน เห็นได้ยินไม่ได้ ได้ยินก็เห็นไม่ได้ แต่เสมือนว่ามีทั้งเห็น และได้ยินเพราะความรวดเร็ว เพราะฉะนั้นกว่าจะรู้ความจริงต้องค่อยๆ เป็นปัญญาที่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏทีละเล็กทีละน้อยจากขั้นฟัง และก็รู้ว่าแม้ฟังก็ยังไม่ได้รู้สภาวะลักษณะของเห็นที่กำลังเห็นว่าเป็นธรรมที่เกิดแล้วก็ดับ

    ผู้ฟัง ซึ่งก็ต่างจากสัตว์เดรัจฉาน ตรงนี้ด้วยเช่นกันใช่ไหม เพราะว่าเขามีเมตตาได้ บางครั้งการมีเมตตาของเขายังดีกว่าขณะที่มนุษย์โกรธ แต่ว่าเขาฟังอย่างไรก็ไม่เข้าใจ เขาก็ไม่เห็นเขาก็ไม่รู้ว่าเห็นเป็นธรรมอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะฉะนั้น เกิดมาเป็นมนุษย์ต่างกับสัตว์แล้วใช่ไหม และจะยังความเป็นมนุษย์ ยิ่งขึ้นคือสามารถจะเข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ หรือว่าจะปล่อยให้ผ่านเหมือนสัตว์เดรัจฉาน เกิดมาก็ไม่รู้อะไรเลย ที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏก็เป็นไปไม่ได้ นี่คือความต่าง เพราะฉะนั้น ประโยชน์ของการเป็นมนุษย์ก็ควรจะเป็นประโยชน์แท้จริงยิ่งขึ้น

    ผู้ฟัง คือทาน ศีล คิดว่าเดรัจฉานก็จะมีได้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ มีความเมตตาได้ตามกาละ

    ผู้ฟัง ขอบพระคุณ

    ผู้ฟัง กราบเรียนถามท่านอาจาย์เรื่องของศรัทธา เช่นศรัทธาในท่านอาจารย์ ศรัทธาในบุคคลโน้นบุคคลนี้ ตรงนี้ต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ใช้คำว่าศรัทธา แต่ไม่รู้ว่าศรัทธาคืออะไร เพราะฉะนั้น ต้องเริ่มต้น ใช้คำไหน พูดคำไหนก็ควรที่จะเข้าใจคำนั้นด้วย พูดอะไรไปโดยไม่รู้ มีประโยชน์อะไร พูด พูดไปเรื่องนั้น เรื่องนี้ตั้งแต่เกิดจนตายก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไรแล้วจะมีประโยชน์อะไร แต่ว่าศึกษาธรรมไม่ใช่อย่างนั้นเลย พระธรรมที่ทรงแสดงให้เกิดความเห็นถูก ทุกคำที่ใช้ต้องมีความเห็นถูก เพราะฉะนั้นคนที่ไม่ได้ศึกษาก็ใช้คำว่าศรัทธา ใช้คำว่าสติ ใช้คำว่าปัญญา แต่ไม่ใช่สภาวะธรรมคือธรรมที่เป็นศรัทธา ที่เป็นสติ ที่เป็นปัญญา เพราะฉะนั้น ศรัทธาคืออะไร เชิญอรรณพ

    อ.อรรณพ ศรัทธาคือสภาพธรรมที่ดีงาม มีความเลื่อมใสในสิ่งที่ถูกต้อง ในขณะที่ศรัทธาเกิดกับจิตใดจิตนั้นก็เป็นจิตที่ดีงาม ศรัทธาเป็นสภาพที่ปรุงแต่งเป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้จิตนั้นผ่องใสเหมือนกับสารส้มที่เราแกว่งตะกอนก็ตก น้ำก็ใส เหมือนแก้วมณีของพระจักรพรรดิ์สามารถทำให้ทุกอย่างผ่องใส ขณะนี้ศรัทธามีแต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นศรัทธา ในขณะที่มีการฟังธรรม ในขณะที่สนใจต่อการที่จะได้ยินได้ฟังสิ่งที่เป็นประโยชน์ ขณะนั้นเป็นศรัทธาแต่ก็ไม่รู้ แต่ศรัทธานี่เป็น ตั้งเบื้องต้นจนถึงสูงสุดเลย ถ้าไม่มีศรัทธาที่เริ่มจากการเห็นประโยชน์ในการฟังธรรมก็ไม่มีศรัทธาที่ยิ่งขึ้น ที่เกิดพร้อมกับความเข้าใจ ไม่มีศรัทธาที่จะเห็นประโยชน์ของการที่จะรู้ความจริงที่กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ เข้าใจศรัทธาแล้วใช่ไหม

    ผู้ฟัง เข้าใจว่าศรัทธาเป็นเจตสิกฝ่ายดี

    ท่านอาจารย์ เข้าใจศรัทธาแล้วรู้จักศรัทธาเดี๋ยวนี้ไหม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 175
    13 ม.ค. 2567