พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 631


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๓๑

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓


    อ.อรรณพ ขณะนี้ศรัทธามีแต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นศรัทธา ในขณะที่มีการฟังธรรม ในขณะที่สนใจต่อการที่จะได้ยินได้ฟังสิ่งที่เป็นประโยชน์ ขณะนั้นเป็นศรัทธาแต่ก็ไม่รู้แต่ศรัทธานี่เป็น ตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงสูงสุดเลย ถ้าไม่มีศรัทธาที่เริ่มจากการเห็นประโยชน์ในการฟังธรรมก็ไม่มีศรัทธาที่ยิ่งขึ้นเกิดพร้อมกับความเข้าใจ ไม่มีศรัทธาที่จะเห็นประโยชน์ของการรู้ความจริง คือสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ เข้าใจศรัทธาแล้วใช่ไหม

    ผู้ฟัง เข้าใจว่าศรัทธาเป็นเจตสิกฝ่ายดี

    ท่านอาจารย์ เข้าใจศรัทธาแล้ว รู้จักศรัทธาเดี๋ยวนี้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่รู้จัก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ฟังจนกว่าจะรู้จัก เพราะว่าศรัทธาไม่ใช่ใครเลย เป็นสิ่งที่มีจริงเป็นสภาพธรรมฝ่ายดี เพราะฉะนั้น การฟังธรรมก็คือการฟังเรื่องราวของธรรมจนกว่าจะสามารถรู้ลักษณะของธรรมนั้นๆ ได้ยินคำว่าศรัทธาอยากรู้จัก หรืออยากเข้าใจศรัทธา ได้ยินคำว่าสติอยากเข้าใจ หรืออยากรู้จักสติ

    ผู้ฟัง อยากทั้งหมด

    ท่านอาจารย์ อยากทั้งหมดก็ค่อยๆ เข้าใจทีละเล็กทีละน้อยตามลำดับ คือเข้าใจว่าธรรมหลากหลายมาก แต่ละอย่าง แต่ละอย่างไม่เหมือนกันเลย ละเอียดมาก มีปัจจัยก็เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น แม้ขณะนี้มีศรัทธาที่กำลังฟังพระธรรม แต่ศรัทธาเกิดแล้วดับแล้วโดยไม่รู้ว่าศรัทธามีลักษณะอย่างไร และไม่ใช่เราอย่างไร เพราะการฟังธรรมคือทุกอย่างเป็นธรรม โลภะก็เป็นธรรม ศรัทธาก็เป็นธรรม โทสะก็เป็นธรรม เมตตาก็เป็นธรรม ทั้งหมดก็เป็นธรรมที่ควรรู้ยิ่ง แต่ต้องเข้าใจว่าเป็นธรรมจริงๆ จุดประสงค์คือไม่ว่าอะไรก็ตามให้มีความเห็นที่ถูกต้องว่าเป็นธรรม จะฟังพระสูตร จะศึกษาพระอภิธรรมจากโลกนี้ไปก็คือมีความเข้าใจมั่นคงขึ้นว่าเป็นธรรม

    อ.วิชัย ขอสนทนากับคุณบุษกร ศรัทธาในที่นี้ก็กล่าวทรัพย์อย่างประเสริฐ ทรัพย์ก็หมายถึงเครื่องปลื้มใจ เรามีทรัพย์ก็เป็นที่น่ายินดีใช่ไหม ไม่ว่าจะเป็นเงิน หรือว่าทอง หรือว่าสิ่งต่างๆ ที่เป็นที่น่ายินดีพอใจ แต่ว่าศรัทธาก็เป็นทรัพย์อย่างประเสริฐ เพราะเหตุว่าถ้าเราพิจารณาสิ่งที่มีต่างๆ ก็เพราะเหตุว่าเป็นผลของกุศลกรรมที่กระทำไว้แล้วในอดีต ที่ได้ผลต่างๆ ในสิ่งที่ดี เพราะมีความเลื่อมใสศรัทธาในกุศลธรรมดังนั้นถ้าไม่มีศรัทธาการที่จะเจริญกุศลด้านต่างๆ ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าแม้จะมาฟังพระธรรมในขณะนี้ ก็เพราะเหตุว่าต้องมีศรัทธา ขณะที่ฟังแล้วเริ่มมีความเข้าใจ ขณะนั้นศรัทธาเริ่มเกิด มีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น ความเลื่อมใสพร้อมธรรมอื่นๆ ที่เป็นฝ่ายดีด้วยในขณะนั้น

    ผู้ฟัง เรียนคุณคำปั่น ท่านผู้ฟังบอกว่าฟังจากวิทยุว่า "ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง" ตบะแปลว่า "เผา" คำว่าฌานก็แปลว่า "เผา" เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ขอความกรุณาช่วยอธิบายคำว่าเผาทั้งตบะ และฌาน และจะรวมศรัทธาด้วยก็ได้

    อ.คำปั่น ก่อนที่จะไปถึงเผาก็ขอเพิ่มเติมเรื่องศรัทธาจะเห็นได้ว่าเทวดาได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "อะไรเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจที่ประเสริฐของคนในโลกนี้" ซึ่งก็จะเห็นได้ว่าในชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคล สิ่งที่เป็นเครื่องปลื้มใจที่ทำให้เกิดความยินดีพอใจหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทอง สิ่งเหล่านี้ก็เป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิตในปัจจุบัน แต่ว่าไม่ใช่ที่พึ่งที่แท้จริง ไม่ใช่สิ่งที่ประเสริฐที่แท้จริงเหมือนกับสภาพธรรมฝ่ายดีก็คือกุศลธรรมทั้งหลาย โดยยกเอาศรัทธาขึ้นเป็นประธาน ทรัพย์ที่ประเสริฐเหล่านี้นำมาซึ่งคุณประโยชน์แก่ผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์อย่างเดียวเท่านั้น ไม่นำมาซึ่งทุกข์ซึ่งโทษเลยต่างกับทรัพย์ในทางโลกก็คือทรัพย์สินเงินทอง บางครั้งก็นำมาซึ่งความอันตรายแก่ชีวิตก็มีใช่ไหม ไม่ใช่ที่พึ่งที่แท้จริง สิ่งที่จะเป็นที่พึ่งที่แท้จริงก็ต้องเป็นกุศลธรรมทั้งหลายโดยยกเอาศรัทธาขึ้นเป็นประธาน เพราะมีศรัทธาจึงมีการฟังธรรม มีการศึกษาธรรมมีการอบรมเจริญปัญญาท่านจึงได้พรรณาถึงคุณของศรัทธาไว้มากมายจริงๆ ว่าแม้แต่ศรัทธาก็เป็นเพื่อนของคนด้วย เพราะเหตุว่าเป็นเพื่อนของบุคคลผู้ที่จะไปสู่สวรรค์ และเป็นเพื่อนของผู้จะบรรลุพระนิพพาน อันนี้ก็แสดงถึงศรัทธาที่เจริญขึ้นไปตามลำดับ จนกระทั่งสูงสุดคือสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ สูงสุดก็คือพระอรหันต์นั่นเอง นี้คือคุณของศรัทธา เมื่อกล่าวถึงศรัทธาก็ไม่ได้กล่าวถึงเฉพาะศรัทธาอย่างเดียวก็ต้องหมายถึงสภาพธรรมอื่นๆ ที่เกิดร่วมกับศรัทธาด้วยเช่นเดียวกัน ผู้มีศรัทธาเป็นผู้ไม่ยากจน สำหรับประเด็นคำถามที่ท่านผู้ถามได้ถามถึงสภาพธรรมที่เป็นเครื่องเผาบาป ก็มีหลายนัยจริงๆ แม้แต่ขันติซึ่งเป็นความอดทนก็เป็นสภาพธรรมที่เผาบาปเช่นเดียวกัน เป็นพระโอวาทที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานแก่พุทธบริษัทว่า ขณะที่มีความอดทนเกิดขึ้นก็ต้องเป็นไปในทางที่ดีงามเท่านั้นถึงจะเป็นเครื่องเผาบาปอกุศลได้ ยกตัวอย่าง อย่างเช่นขณะที่ฟังธรรมก็ต้องมีความอดทน ถ้าไม่อดทนก็คงจะไม่ฟังแต่เมื่อมีความอดทนในขณะนั้นก็มีการฟัง เมื่อมีการฟังแล้วก็ย่อมมีการเข้าใจที่เจริญขึ้น เพิ่มขึ้น ขณะที่อดทนที่จะฟังนั้นก็เป็นเครื่องเผาอกุศลไปในตัวด้วย เผาความไม่รู้ และในขณะที่กุศลจิตเกิด อกุศลไม่สามารถที่จะเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น เพราะว่าเป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกันเป็นปฏิปักษ์กันอย่างสิ้นเชิง จะไม่เกิดร่วมกัน เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่เป็นฝ่ายดีเกิดขึ้นเมื่อไหร่ อกุศลธรรมไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ ก็ใชัคำว่า "เผา" ในขณะที่กุศลจิตเกิดในขณะนั้นนั่นเอง และเผาอีกประการหนึ่งที่ท่านผู้ถามได้ถามคือฌานก็เป็นเรื่องที่ไกลตัวจริงๆ เพราะเหตุว่าเป็นกุศลขั้นสูงกว่ากามาวจรกุศล หรือว่าเป็นกุศลขั้นสูงกว่ากุศลที่เป็นไปในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทาน ศีลก็ดี เป็นเรื่องของสภาพจิตที่มีกำลังเป็นมหคตกุศลเกิดขึ้นสามารถที่จะข่ม หรือว่าเผาอกุศลได้ขณะที่ฌานจิตเกิดขึ้นในขณะนั้นนั่นเอง ก็เป็นเรื่องที่ไกลตัว

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมเป็นสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเข้าใจได้ แต่ว่ารู้ยาก แม้แต่คำว่า "ฌาน" โดยนัยอื่นก็มีด้วย ขอเชิญคุณธิดารัตน์

    ผู้ฟัง ฌาน คือโดยหลายนัยเป็นฌานก็คือเพ่ง หรือเผาธรรมฝ่ายตรงกันข้าม เพราะฉะนั้น เวลาที่เป็นฝ่ายกุศลก็จะเผาฝ่ายของอกุศล ขณะที่อกุศลเกิดขณะนั้นก็เผาธรรมฝ่ายตรงข้ามก็คือทำให้กุศลไม่เกิดโดยนัยนี้ก็มี และโดยรายละเอียดขององค์ฌาน ลักษณะของปีติซึ่งเกิดกับจิตได้หลายประเภท ทั้งฝ่ายกุศลก็ได้ฝ่ายอกุศลก็ได้ก็เป็นฌานโดยความเป็นปัจจัยวิตก วิจาร ปีติ ลักษณะของสุข หรือลักษณะของเอกัคคตาเจตสิกซึ่งเป็นความตั้งมั่นในอารมณ์ ส่วนใหญ่ก็สามารถที่จะเกิดได้ทุกขณะของจิตที่เราใช้ความหมายโดยความละเอียดที่เรียกว่าขณิกสมาธิเหล่านี้ ก็เป็นธรรมที่เป็นฌานปัจจัย เวลาที่เป็นกุศลก็จะรู้สึกว่าจิตมีความผ่องใส และความผ่องใส หรือศรัทธาที่เราใช้คำว่าความเชื่อ เป็นความเชื่อแล้วก็ทำตามๆ กันอย่างนั้นไม่ใช่ศรัทธา ลักษณะของศรัทธาจะต้องเป็นกุศลทำให้จิตนั้นผ่องใส มีการเชื่อในกุศลธรรมเป็นลักษณะ หรือว่าเป็นความเชื่อในพระรัตนตรัย หรือเป็นความเชื่อในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่ามีจริงๆ เชื่อในพระธรรมเมื่อมีการศึกษาธรรมเชื่อในความเป็นเหตุเป็นผลของธรรม และธรรมนั้นมีจริงๆ เชื่อในพระธรรม และเชื่อในพระอริยสงฆ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติดีตามคำสอนมีจริง เชื่อในกรรม และผลของกรรม นี่คือเป็นความเชื่อที่ถูกต้อง ซึ่งประกอบด้วยศรัทธา และถ้าเป็นการพิจารณาที่เป็นเหตุเป็นผลศรัทธานั้นก็เป็นปัจจัยให้ปัญญา หรือความเข้าใจถูกเกิดร่วมด้วย

    ท่านอาจารย์ ได้ฟังเรื่องศรัทธา คุณบุษกรอยากเข้าใจศรัทธา หรือว่ามีศรัทธาที่จะเข้าใจศรัทธา

    ผู้ฟัง คือฟังแล้วมีศรัทธาที่จะเข้าใจศรัทธา

    ท่านอาจารย์ รู้ได้อย่างไร

    ผู้ฟัง จากการฟัง

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่อยากเข้าใจศรัทธา หรือ

    ผู้ฟัง อยากก็ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ทำไมไม่ได้ เป็นธรรมไม่ใช่ หรือ

    ผู้ฟัง เป็นธรรมถ้าอยากก็เป็นโลภะ

    ท่านอาจารย์ ถ้าโลภะเกิดก็เป็นโลภะ จะไม่ได้ หรือ

    ผู้ฟัง แล้วอยากมีศรัทธา ถ้าอยากมีศรัทธาแล้วศรัทธาไม่เกิด ก็เกิดไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ฟังให้เข้าใจคำถามที่ว่า คุณบุษกรอยากเข้าใจศรัทธา หรือมีศรัทธาที่จะเข้าใจศรัทธา

    ผู้ฟัง คือขณะที่ฟังก็เข้าใจว่ามีศรัทธาที่มาฟังแล้วศรัทธาก็เกิด

    ท่านอาจารย์ และขณะที่อยากเข้าใจศรัทธา

    อ.กุลวิไล ถ้าเป็นความต้องการขณะนั้นก็เป็นไปกับอกุศล

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ใครรู้ ต้องเป็นปัญญาจริงๆ ที่สามารถจะรู้ได้ เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมไม่ใช่เหมารวมไป คิดเอาเอง แต่ทุกคำที่ได้ยินได้ฟังต้องไตร่ตรอง และเป็นความเข้าใจจริงๆ ว่ากำลังฟังเรื่องศรัทธา และเข้าใจสภาพของศรัทธาว่าขณะนั้นไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ แต่ว่าศรัทธาขณะนั้นเป็นไปในทางกุศลทั้งสิ้นในขณะที่ให้ทานก็ต้องมีศรัทธาใช่ไหม มีสติ มีอโลภะ มีอโทสะ มีธรรมที่เกิดกับจิตที่เป็นธรรมฝ่ายดี เวลาจิตหนึ่งขณะเกิดขึ้น จะมีนามธรรมที่ไม่ใช่จิตแต่เกิดกับจิต ดับพร้อมจิต และนามธรรมที่เกิดกับจิตนี้หลากหลายมาก ทั้งหมดก็มีลักษณะเฉพาะของตนๆ สภาพธรรมที่เกิดกับจิตชื่อว่าเจตสิก (เจ ตะ สิก กะ) หรือภาษาไทยใช้คำว่าเจตสิก เกิดกับสภาพธรรมอื่นไม่ได้เลยนอกจากเกิดกับจิต จิตมีอะไรเป็นอารมณ์คือจิตกำลังรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เจตสิกที่เกิดกับจิตเป็นธาตุรู้ก็ต้องรู้สิ่งเดียวกัน แต่ว่าทำหน้าที่ต่างๆ กัน อย่างศรัทธาไม่ใช่สติ ไม่อโลภะ ไม่ใช่อโทสะ เห็นความละเอียดไหมว่าหนึ่งขณะจิต จะมีเจตสิที่เกิดร่วมด้วยไม่เท่ากันแล้วแต่ประเภทของจิต ถ้าเป็นเจตสิกฝ่ายไม่ดีเกิดก็ทำให้จิตนั้นเป็นจิตที่เป็นอกุศล ถ้าโสภณเจตสิกเกิดกับจิตคือเจตสิกฝ่ายดีเกิดกับจิต จิตนั้นจึงเป็นโสภณคือเป็นกุศลเป็นสภาพธรรมที่ดีงาม เพราะฉะนั้น การที่จะเข้าใจธรรมไม่ใช่ฟังแล้วเราสามารถที่จะตัดสินขณะจิตของเราได้ว่าขณะนี้เป็นโลภะ หรือขณะนี้เป็นกุศล หรือขณะนี้เป็นวิบาก หรือว่าขณะนี้เป็นกิริยา เพราะว่าจิตเกิดขึ้นไม่ว่าจิตใดๆ ทั้งสิ้นต้องเป็น ๑ ใน ๔ คือเกิดขึ้นเป็นกุศล ๑ หรือว่าเกิดขึ้นเป็นอกุศล ๑ เป็นเหตุที่จะให้จิตที่เป็นผลเกิดขึ้น จิตที่เป็นผลของกุศลกรรม และอกุศลกรรมที่เป็นปัจจัยให้จิตนั้นเกิดจิตที่เป็นผลคือวิบากจิต ภาษาบาลีก็คือวิปาก กรรมทำมาแล้วมากมายแต่ว่ากรรมใดสุกงอมพร้อม หมายความว่าสุกงอมตามภาษาบาลีคือพร้อมที่จะเป็นปัจจัยให้จิตที่เป็นผลของกรรมนั้นเกิด จิตที่เกิดขึ้นก็เป็นผลของกรรมนั้นคือเป็นวิบากจิต เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังฟังถ้าเป็นผลของกุศลกรรมก็ยังต่างกันออกไปว่า จิตที่เป็นผลของกุศลกรรมที่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็มีแล้วก็จิตที่เป็นผลของกรรมที่ไม่มีโสภณเจตสิก หรืออกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็มี นี่คือการที่เราจะเข้าใจจิตแต่ไม่ใช่ประมาณเอาเองว่า ขณะนี้ศึกษามาว่าจิตเห็นขณะนี้เป็นวิบาก ถูกต้องเพราะเหตุว่าจิตเห็นเป็นวิบากเป็นผลของกรรม แต่ขณะนี้กำลังรู้จิตอะไร บอกได้ไหม หรือว่ากุศลจิตซึ่งเกิดสลับกับอกุศลจิต ถ้ายังไม่สามารถที่จะรู้ว่าเป็นนามธรรมเป็นธาตุที่ไม่ใช่รูปธรรม ทั้งหมดที่เป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้จะเป็นจิต และเจตสิกอย่างหนึ่งอย่างใด จิตก็ไม่ใช่เจตสิก เจตสิกก็ไม่ใช่จิต เพราะฉะนั้น ยิ่งเจตสิกแต่ละชนิดแล้วก็เกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก แล้วเราก็จะคิดเองประมาณเองว่าขณะนั้นเป็นอย่างนั้น ขณะนี้เป็นอย่างนี้เป็นสิ่งซึ่งเพียงคิดแต่ว่าไม่ใช่การประจักษ์แจ้งลักษณะที่แท้จริงของธรรม ซึ่งปัญญาขั้นคิดขั้นเข้าใจไม่สามารถที่จะละความเป็นเรา หรือความเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือความเป็นตัวตนได้ จนกว่าจะรู้จริงๆ ว่าเป็นอนัตตา คือเป็นธรรมแต่ละอย่าง เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นธรรมแต่ละอย่างก็ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น คำถามที่ว่าคุณบุษกรอยากเข้าใจศรัทธา หรือมีศรัทธาที่จะเข้าใจศรัทธา

    ผู้ฟัง คือถ้าตอบท่านอาจารย์ว่ามีศรัทธาที่จะเข้าใจศรัทธา จริงๆ ก็ยังไม่ได้เข้าใจศรัทธา แล้วจริงๆ ที่มาถามก็เพื่อที่ว่าอยากรู้จักศรัทธา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีใครสามารถตอบแทนคุณบุษกรได้ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ตั้งแต่ต้นชั่วโมงเป็นเรื่องศรัทธา ศรัทธามีลักษณะที่ผ่องใส จิตผ่องใสมีลักษณะเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าจะรู้สภาพที่ผ่องใสของจิตที่มีศรัทธาเจตสิกซึ่งมีสภาพที่ผ่องใสเกิดขึ้นได้อย่างไร ใช่ไหม ความผ่องใสที่นี่หมายความว่าไม่มีอกุศลเจตสิกใดๆ เกิดร่วมด้วยในขณะนั้น ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะเมื่อไหร่เมื่อนั้นผ่องใส เพราะว่าขณะนั้นถ้าเป็นกุศล ก็เป็นกุศลจิตไม่ใช่วิบากจิตแต่ถ้าเป็นผลของกุศลซึ่งเป็นผลของธรรมฝ่ายดีก็มีวิบากเจตสิกซึ่งเป็นโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยได้ แต่ความละเอียดก็คือว่ากุศลกรรมที่ได้ทำแล้วเป็นปัจจัยให้ผลเกิดขึ้นแน่นอน เหตุมีแล้วที่จะไม่ให้ผลเกิดเป็นไปไม่ได้ เพียงแต่ว่าเมื่อไหร่ พร้อมด้วยปัจจัยที่จะให้ผล หรือยัง กรรมมีมากมายพร้อมที่จะให้ผลได้เมื่อมีเหตุปัจจัยเท่านั้น ในสังสารวัฏฏ์ทำกรรมมามากมายนับไม่ถ้วน ชาตินี้ชาติดียวก็มากมายนับไม่ถ้วน จะรู้ได้อย่างไรว่ากรรมไหนพร้อมที่จะให้ผลเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเวลาที่ผลเกิดขึ้นเพราะมีเหตุเกิดแล้ว ผลต่างกันเป็นสองอย่างเป็นจิตที่ต่างกันคือเป็นวิบากจิตที่เป็นผลของกรรมที่ไม่มีมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยประเภทหนึ่ง ชื่อว่าอเหตุกจิตเพราะว่าไม่มีอโลภเจตสิก ไม่มีอโทสเจตสิก ไม่มีอโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย เราไม่รู้เลยว่าขณะเห็นเดี๋ยวนี้เป็นผลของกรรมเพราะว่ายังไม่รู้สภาพที่เป็นนามธรรม เป็นผลของกรรมอะไรจะรู้ไหม เพียงแค่เห็นยังไม่รู้เลยว่าเป็นกุศลวิบาก หรืออกุศลวิบาก นอกจากนั้นถึงจะเป็นกุศลวิบาก หรืออกุศลวิบากก็ยังไม่รู้ว่าเป็นผลของกรรมอะไรอีก และยังไม่รู้ว่าชาติไหนอีกในสังสารวัฏฏ์ เพราะฉะนั้น ที่จะให้เราตอบโดยความไม่รู้โดยการเดาก็รู้ได้ว่าไม่ใช่ขณะที่กำลังรู้จริงๆ ด้วยปัญญาที่ได้อบรมแล้วจนสามารถที่จะรู้ความเป็นธรรมแล้วถึงจะรู้ความละเอียดว่าเป็นธรรมที่เป็นธรรมอะไร

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ และคณะวิทยากรเรื่องศรัทธา วันนี้ได้ความกรุณาจากท่านอาจารย์ได้อธิบายให้ฟัง ธรรมดาก็ไม่รู้จักศรัทธา รู้แต่ชื่อ และขณะธรรมปรากฏก็ไม่เข้าใจ คือเวลาฟังท่านอาจารย์บรรยาย หรือที่เทปที่เราฟังอยู่เมื่อตั้งใจฟังจิตก็จะผ่องใส ถ้าเราไม่ตั้งใจฟังก็จะไม่ผ่องใส ขณะที่ผ่องใสอันนั้นจะเรียกว่าศรัทธาใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ อย่างหนึ่งซึ่งไม่ควรจะเป็นคือชอบเรียกชื่อ เรียกอย่างนี้ถูกไหม แต่ควรเป็นความเข้าใจจริงๆ อย่างคำถามเมื่อกี้นี้ ถ้าไม่ใช่คุณบุษกรตอบใครตอบก็ได้ใช่ไหม ที่ว่า "อยากจะเข้าใจศรัทธา หรือมีศรัทธาที่จะเข้าใจศรัทธา" เหมือนกัน หรือไม่เหมือนกัน

    ผู้ฟัง ไม่เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ แล้วคนอื่นตอบได้ไหม นอกจากตัวเอง ตัวเองต้องเป็นปัญญาด้วย ไม่ใช่ตัวเองคิดเทียบเคียงแล้วเรียกอย่างนี้ได้ไหม ไม่ใช่เรื่องเรียกแต่ต้องเป็นเรื่องเข้าใจสภาพธรรมจริงๆ เพราะฉะนั้น ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดเวลาที่ถามเพราะต้องการ หรืออยากที่จะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นเห็นลักษณะของความต้องการ หรือเปล่าแต่ขณะที่ฟังธรรมเรื่องศรัทธา ขณะที่ฟังมีศรัทธาที่จะเข้าใจศรัทธา เพราะฉะนั้น วันนี้เราพูดเรื่องศรัทธามาก็หลายท่านที่กล่าวถึงศรัทธา เพราะฉะนั้น จะสามารถเข้าใจได้ไหมในสภาพของจิตซึ่งขณะนั้นที่กำลังอยากเข้าใจ กับขณะที่มีศรัทธาที่จะเข้าใจ ถ้ามีศรัทธาที่จะเข้าใจจะคิดถึงเรื่องอื่นไหม จะกระวนกระวายนึกไปโน่นไปนี่ไหม เพราะว่ากำลังมีศรัทธาที่จะเข้าใจความหมาย และลักษณะของศรัทธากำลังได้ยินได้ฟัง เพราะฉะนั้น ขณะที่ฟังนั้นแหละแล้วก็เป็นกุศลจิตมีศรัทธาที่จะเข้าใจศรัทธา แต่ว่ายังไม่ได้ฟังแล้วก็อยากเข้าใจศรัทธาก็ต่างกับขณะที่กำลังฟัง เป็นธรรม เป็นกุศลจิต และขณะนั้นก็มีศรัทธาเกิดด้วยขณะที่กุศลจิตเกิดที่จะเข้าใจศรัทธา นี่ก็เป็นความละเอียดที่ต่างกันซึ่งต้องเป็นผู้ที่ตรง ไม่ใชเรียกชื่อ

    ผู้ฟัง ขออนุโมทนากับท่านอาจารย์อย่างน้อยฟังธรรมก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้นแต่ทีละขณะ หรือว่าบางครั้งที่เราไม่เข้าใจก็จะไม่ผ่องใส ถ้าเข้าใจธรรมขณะที่ท่านอาจารย์กล่าว หรือว่าธรรมตอนนั้นที่เราต้องการที่จะเข้าใจก็ไม่ผ่องใส แต่ว่าถ้าเราฟังแล้วเข้าใจจะผ่องใส อนุโมทนาท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ แล้วผ่องใสเพราะคิดนึกก็ได้ว่าผ่องใส หรือว่าขณะนั้นกำลังรู้ลักษณะที่ผ่องใส ซึ่งเป็นไปได้ไหมถ้าไม่รู้ว่าลักษณะนั้นเป็นธรรมก่อน เพราะว่าสภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก ยังไม่ทันจะรู้อะไรก็ดับแล้ว ดับไปแล้ว ทั้งที่ปรากฏชั่วคราว เพราะฉะนั้น ต้องเป็นปัญยาที่ถึงกาละที่จะรู้เฉพาะลักษณะที่กำลังปรากฏ และก็เข้าใจถูกต้องในขณะนั้น จึงสามารถที่จะรู้ว่าเป็นธรรมแต่ละลักษณะได้

    ผู้ฟัง จากที่เรียน หรือฟัง ถ้าอยากจิตขณะนั้นก็จะวุ่นวาย แต่เราฟังเข้าใจก็จะสงบแล้วก็ฟังเข้าใจแต่ละขณะๆ จะไม่เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ปัญญาเท่านั้นที่สามารถรู้ความจริง และขณะใดที่มีความเห็นถูกขณะนั้นก็ละความสงสัย ละความเห็นผิด ละความไม่รู้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 175
    13 ม.ค. 2567